News, ข่าวเด่น, บทความ, สื่อเผยแพร่

“อินฟลูสายเหล้า”: เทรนด์บุคคลธรรมดา และ nano influencer ที่อาจชี้นำการดื่ม

“อินฟลูสายเหล้า”: เทรนด์บุคคลธรรมดาและ nano influencer ที่อาจชี้นำการดื่ม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่
ผู้จัดการโครงการการศึกษา พัฒนา ขยายผลการเฝ้าระวังและจัดการความรู้ผลิตภัณฑ์เสี่ยงสุขภาพ

ประเทศไทย มี “อินฟลูเอนเซอร์” จำนวนสูงถึง 2 ล้านราย เป็นที่สองรองจากประเทศอินโดนีเซีย ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) อุตสาหกรรมที่มีการใช้การตลาดอินฟลูเอนเซอร์มากที่สุดของประเทศไทยในปี 2565 อันดับ 1 ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม คิดเป็นสัดส่วนถึง 39% เหตุผลที่ใช้อินฟลูเอนเซอร์ คือ เพื่อจูงใจให้ซื้อสินค้า สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้ที่มีพฤติกรรมชมการรีวิวจากอินฟลูเอนเซอร์ก่อนตัดสินใจซื้อ พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า การตลาดอินฟลูเอนเซอร์มีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยอย่างมาก อินฟลูเอนเซอร์แบ่งเป็น 4 ระดับ ตั้งแต่ระดับ nano influencer มีจำนวนผู้ติดตามตั้งแต่ 1,000 ถึง 10,000 ราย ไปจนถึงระดับ mega ที่มีผู้ติดตาม 1ล้านรายเป็นต้นไป ซึ่งอินฟลูเอนเซอร์ระดับ nano คือ บุคคลธรรมดา นั่นเองที่มีผู้ติดตามระดับพันรายขึ้นไป

ข้อดีของการใช้การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นระดับ nano หรือการเป็นบุคคลธรรมดา คือการเข้าถึงที่ง่าย ดูสมจริง ดูจริงใจมากกว่าโฆษณาตรง เหมือนเพื่อนเล่าให้ฟังแบบปากต่อปาก เห็นการใช้สินค้าโดยตรงด้วยตนเอง มีการบรรยายสรรพคุณแบบเล่าให้ฟัง ชี้เป้าแหล่งขายและบอกราคาอย่างแนบเนียน การตลาดผ่าน nano อินฟลูเอนเซอร์ มีความน่าสนใจและมีจำนวนอินฟลูเอนเซอร์จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะตอบโจทย์ทางจิตวิทยาผู้บริโภคว่า มนุษย์จะเชื่อคนใกล้ตัว เชื่อเพื่อนหรือคนธรรมดารายอื่นๆ และคิดว่าจริงมากกว่าการใช้ดารา การใช้อินฟลูเอนเซอร์ ไม่ว่าระดับใด เพื่อนำเสนอสินค้า บรรยายสรรพคุณ บอกข้อดี สาธิต แสดงให้เห็น บอกแหล่งขาย ราคา ก็เพื่อการชักจูงใจ ชวนให้สนใจ จดจำชื่อยี่ห้อได้ และนำไปสู่การซื้อสินค้าในที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการกดซื้อทันทีผ่านตะกร้าสินค้าอัตโนมัติที่อินฟลูเอนเซอร์ฝากลิงค์ไว้ในสื่อที่ตนเองนำเสนอ หรือจำชื่อยี่ห้อ จำคุณสมบัติได้เพื่อทดลองใช้และซื้อในภายหลัง

ในการใช้การตลาด nano อินฟลูเอนเซอร์ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือ “อินฟลูสายเหล้า” ก็มีให้พบเห็นจำนวนหลายรายในสื่อ social media โดยมีการสื่อสารอย่างแนบเนียน นำเสนอเครื่องดื่ม ดื่มให้ชมหรือไม่ดื่มให้ชมแต่บรรยายคุณสมบัติ และแสดงตราสินค้าให้เห็นอย่างชัดเจนหรือบอกชื่อยี่ห้ออย่างชัดเจน ถึงแม้บุคคลนั้นจะไม่ได้เป็นผู้ขายโดยตรงก็ตาม ไม่ได้เปิดร้าน แต่เป็นผู้นำเสนอคอนเทนต์ ที่อาจมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการซื้อการใช้ให้ผู้รับสารอยากตามรอยอินฟลูเอนเซอร์ กระตุ้นความสนใจและความคิด และตอบสนองจิตวิทยาของผู้บริโภคสมัยใหม่ที่จะค้นหาคอนเทนต์ของอินฟลูเอนเซอร์หรือฟังรีวิวก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า ซึ่งนับเป็นการโฆษณารูปแบบหนึ่ง ส่งเสริมแบรนด์ เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการขายผ่านสื่อ ผ่านบุคคล ถือว่า เป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารการตลาดนั่นเอง ทั้งนี้ อินฟลูเอนเซอร์สายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แตกต่างจากคนทั่วไปที่อาจแสดงภาพงานเลี้ยง กำลังทานอาหาร สังสรรค์แล้วติดขวดเครื่องดื่ม ตรงที่เจตนาในการส่งเสริมการขาย ความถี่ในการนำเสนอ ความชัดเจนและเจตนาในการประชาสัมพันธ์ชื่อสินค้า ถึงแม้จะเป็นบุคคลธรรมดาเหมือนกัน

ในด้านผลกระทบของอินฟลูเอนเซอร์ต่อการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลวิจัยจำนวนมากต่างบ่งชี้ตรงกันว่า การรับชมอินฟลูเอนเซอร์สายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีผลทำให้วัยรุ่นระดับมัธยม ดื่มเพิ่มขึ้น ผลการวิจัยกลุ่มนักเรียนมัธยมปลายจำนวน 3,121 รายในไต้หวัน พบว่า วัยรุ่นที่รับชมอินฟลูเอนเซอร์สายรีวิวเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีแนวโน้มจะดื่มและจะซื้อเพิ่มมากขึ้น

ผลวิจัยจาก Strowger, Guzman, Ward, Braitman (2023) พบว่า ทั้งอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นนักแสดง อินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นบุคคลธรรมดาและอินฟลูเอนเซอร์ประเภทอื่นๆ ต่างมีผลต่อการดื่มที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้รับชมที่เป็นวัยรุ่น ผลวิจัยจาก Vranken, Beullens, Geyskens, Matthes (2023) พบว่า วัยรุ่นชอบรับชมอินฟลูเอนเซอร์สายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอินฟลูเอนเซอร์สายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่อการเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นทางบวก Hendriks, Wilmsen, Dalen, Gebhardt (2020) ระบุว่า ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใช้อินฟลูเอนเซอร์เพื่อเลี่ยงกฎหมายในการเข้าถึงเยาวชน ผลวิจัยยังพบว่า อินฟลูเอนเซอร์จะเสนอคอนเทนต์ที่สื่อถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในแนวบวกผสานไปกับวิถีชีวิต และมีผลต่อการดื่มในกลุ่มวัยรุ่นอายุน้อย

ด้วยอิทธิพลจูงใจและการนำเสนออย่างแนบเนียนของอินฟลูเอนเซอร์และจำนวนอินฟลูเอนเซอร์ที่ทวีมากขึ้น WHO จึงระบุว่า ต้องมีการควบคุมการตลาดดิจิตัล โดยเฉพาะการสื่อสารข้ามประเทศด้วยการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ หลายประเทศ อย่างอังกฤษ นอร์เวย์ และสหรัฐอเมริกา มีระเบียบที่บังคับให้อินฟลูเอนเซอร์แสดงความสัมพันธ์ว่า ได้รับจ้างมาจากแบรนด์ที่อินฟลูเอนเซอร์รับรีวิวสินค้าให้ เพื่อเป็นความยุติธรรมต่อผู้บริโภคและผู้รับชม และพบว่า เริ่มมีเสียงเรียกร้องในประเทศไทยให้มีการควบคุมคอนเทนต์ในสื่อดิจิตัลด้วยเช่นกัน เพื่อปกป้องเยาวชนต่อเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงและไม่ผ่านการคัดกรองใดๆ ทาง สภาพัฒน์ฯ ได้เสนอให้มีกฎหมายควบคุม เช่นเดียวกับในต่างประเทศ ส่วนสภาองค์กรของผู้บริโภค มีข้อเสนอยกร่างจรรยาบรรณขั้นพื้นฐานเพื่อเป็นแนวทางให้อินฟลูเอนเซอร์ และควรมีกฎหมายกำกับ พร้อมขึ้นทะเบียนอินฟลูเอนเซอร์เพื่อให้ผู้นำเสนอคอนเทนต์ต้องร่วมรับผิดชอบกรณีหากมีการกระทำไม่เหมาะสม

อ้างอิงข้อมูลจาก:
1) ตลาดอินฟลูเอนเซอร์โตต่อเนื่อง แต่ตัวตนต้องชัดเจนจึงจะอยู่รอด. สืบค้น 8 มีนาคม 2567 จาก https://www.dataxet.co/media-landscape/2024-th/influencer มกราคม 2567.
2) อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มไทยติดโผใช้”อินฟลูเอนเซอร์” มากที่สุด. สืบค้น 8 มีนาคม 2567 จาก กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1102638.
Chun-Yin Hou, Tzu-Fu Huang, Fong-Ching Chang, Tsu-En Yu, Tai-Yu Chen, Chiung-Hui Chiu, Ping-Hung Chen, Jeng-Tung Chiang, Nae-Fang Miao, Hung-Yi Chuang. (2023 May). Behav Sci (Basel). 13(5): 374.doi: 10.3390/bs13050374.
3) Strowger,Guzman,Ward,Braitman. (2023). Following social media influencers who share alcohol-related content is associated with college drinking. Drug and Alcohol Review. ;43(1):86-97.doi: 10.1111/dar.13694.
4) Vranken,Beullens,Geyskens,Matthes. (2023). Under the influence of (alcohol)influencers? A qualitative study examining Belgian adolescents’ evaluations of alcohol-related Instagram images from influencers. Journal of Children and Media, 17:1, 134-153, DOI: 10.1080/17482798.2022.2157457.
5) Hendriks,Wilmsen,Dalen,Gebhardt. (2020).Picture me drinking: alcohol-related posts by Instagram influencers popular among adolescents and young adults. Frontiers in Psychology, 10,DOI:10.3389/fpsyg.2019.02991.
6) ไทยควรมีกฎหมายคุม “อินฟลูเอนเซอร์” หรือไม่. สืบค้น 8 มีนาคม 2567 จาก สำนักข่าวไทย https://tna.mcot.net/business-1330246.

News, ข่าวเด่น, บทความ, สาระที่น่าสนใจ, สาระน่ารู้

โฆษณา และการส่งเสริมการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลต่อการดื่มของเด็กและเยาวชน

Article-17-โฆษณาและการส่งเสริมการตลาดฯ-For-web

Privacy Settings
We use cookies to enhance your experience while using our website. If you are using our Services via a browser you can restrict, block or remove cookies through your web browser settings. We also use content and scripts from third parties that may use tracking technologies. You can selectively provide your consent below to allow such third party embeds. For complete information about the cookies we use, data we collect and how we process them, please check our Privacy Policy
Youtube
Consent to display content from - Youtube
Vimeo
Consent to display content from - Vimeo
Google Maps
Consent to display content from - Google
Spotify
Consent to display content from - Spotify
Sound Cloud
Consent to display content from - Sound

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors