“หญิงตั้งครรภ์สามารถดื่มแอลกอฮอล์ได้หรือไม่?”
หญิงตั้งครรภ์ที่ดื่มแอลกอฮอล์ช่วงปฏิสนธิหรือในช่วง 3 เดือนแรก พบว่าผลกระทบต่อทารกมีความรุนแรงแปรผันตรงกับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่ม เนื่องจากเป็นช่วงเวลาสร้างเซลล์ประสาท สมอง และอวัยวะอื่นๆ ซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อทารกทั้งพฤติกรรม พัฒนาการ รวมถึงการคลอดก่อนกําหนด การแท้งบุตร หรือทารกตายคลอด โดยกลุ่มอาการผิดปกติที่พบในทารก คือ “ FASD ” (Fetal Alcohol Spectrum Disorder)
จึงสรุปได้ว่า ไม่มีปริมาณแอลกอฮอล์ที่ชัดเจนที่บ่งบอกถึงความปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งตามข้อแนะนำของ WHO หรือแม้แต่ข้อแนะนำสำหรับบุคคลที่ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับปรับปรุงและพิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. 2565) ที่รับรองโดยกระทรวงสาธารณสุข ก็ยังยืนว่ามีหลักฐานวิชาการที่บ่งชี้ชัดเจนว่า ทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาหรือได้รับนมจากมารดาที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีโอกาสเกิดความผิดปกติทางร่างกาย พัฒนาการ และปัญหาพฤติกรรมได้สูงมาก ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์ทุกระยะและหญิงที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลย