งานวิจัยล่าสุดจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานวิจัยระบบสุขภาพ (สวรส.) ภายใต้การนำของหัวหน้าโครงการวิจัย รศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยข้อมูลชัดเจนว่า ความหนาแน่นของร้านขายสุราส่งผลให้พฤติกรรมการดื่มของวัยรุ่นไทยพุ่งสูงขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นหญิงที่มีแนวโน้มดื่มหนักเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 23
งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567 โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติและข้อมูลใบอนุญาตจากกรมสรรพสามิตระหว่างปี พ.ศ. 2550 ถึง 2566 ครอบคลุมกลุ่มวัยรุ่นไทยอายุ 15 ถึง 19 ปี จำนวนกว่า 10,000 คน
รศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร หัวหน้าทีมวิจัยให้ความคิดเห็นว่า “ความหนาแน่นของร้านขายเหล้าใกล้บ้านเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วัยรุ่นเข้าถึงแอลกอฮอล์ได้ง่าย ผลลัพธ์ คือ พฤติกรรมการดื่มฯ เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเด็กผู้หญิงที่มีการดื่มหนัก (binge drinking) เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 23 ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ สำหรับวัยรุ่นชายก็เพิ่มโอกาสในการดื่มฯ สุราในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาเช่นกัน ประมาณร้อยละ 9”
การเข้าถึงแอลกอฮอล์ตั้งแต่วัยเยาว์อาจนำไปสู่ผลกระทบทางสุขภาพในระยะยาว ดังนั้น “ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องพิจารณาควบคุมจำนวนร้านขายสุราอย่างเข้มงวด เพื่อลดการเข้าถึงแอลกอฮอล์ในกลุ่มเยาวชนและปกป้องอนาคตของพวกเขา” รศ.ดร.นพ.พลเทพ กล่าวเสริม
จากการศึกษาพบว่า จำนวนใบอนุญาตขายสุราต่อประชากร 1,000 คน ระหว่างปี พ.ศ. 2550 ถึง 2566 มีค่าเฉลี่ยประมาณ 9 ใบอนุญาตฯ ต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งความหนาแน่นระดับนี้ถือว่าสูงเกินธรรมดาเป็นอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ
รศ.ดร.นพ.พลเทพ กล่าวปิดท้ายว่า “ประเทศไทยควรมีการดำเนินการอย่างจริงจังในการลดจำนวนใบอนุญาตจำหน่าย ประเทศไทยควรมีการปรับและพัฒนาแนวทางและกระบวนการออกใบอนุญาตรายใหม่และต่อใบอนุญาตรายเก่าให้เข้มงวดมากขึ้น ควรมีการใช้ข้อมูลต่าง ๆ ในระดับพื้นที่ มาพิจารณาการต่อใบอนุญาต เช่น การละเมิดกฎระเบียบ การมีผลกระทบต่อชุมชน ความคิดเห็นของประชาชนหรือหน่วยงานต่าง ๆ ในชุมชน”
เสียงจากเยาวชน: การเข้าถึงแอลกอฮอล์ง่ายเกินไป เสี่ยงทำร้ายอนาคตเยาวชนไทย
นักศึกษาแพทย์ เขมจิรา เจ๊ะบา นักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนักกิจกรรมเยาวชน ให้ความเห็นว่า “ถึงแม้ว่าตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศได้ขีดเส้นไว้ชัดเจนว่า ผู้ที่สามารถซื้อและบริโภคแอลกอฮอล์ได้ต้องมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ แต่ความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ในกลุ่มเยาวชนรู้ดีว่า แม้แต่เยาวชนอายุ 15 ปี ก็สามารถเข้าถึงแอลกอฮอล์ได้ เส้นที่รัฐธรรมนูญขีดไว้เป็นเพียงอุดมคติ ในฐานะเยาวชนไทยผู้ซึ่งถูกเรียกว่าอนาคตของชาติ ดิฉันมีความกังวลใจเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับการเพิ่มตัวของร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ขัดกับความหนักแน่นของรัฐธรรมนูญ”
นอกจากนั้นแล้ว นักศึกษาแพทย์ เขมจิรา ยังให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจว่า “เป็นที่ทราบกันดีว่า แอลกอฮอล์นั้นสามารถเป็นต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ และการทำร้ายร่างกาย ดิฉันเชื่อว่า เยาวชนทุกคนมีสิทธิในการอาศัยอยู่ในประเทศนี้อย่างปลอดภัย ปลอดภัยในที่นี้รวมทั้งสุขภาพกาย จิตและการอยู่อาศัย แต่ปัจจุบันสังคมและสื่อกำลังสนับสนุนภาพลักษณ์ของการดื่มแอลกอฮอล์ในทางบวก สร้างความสวยงามและความหรูหราในยาพิษ นั้นเปรียบเสมือนว่าสังคมกำลังค่อยๆ ละเมิดสิทธิของพวกเราที่ต้องการเติบโตขึ้นอย่างปลอดภัย” นักศึกษาแพทย์ เขมจิรา เจ๊ะบา ทิ้งท้ายไว้ว่า “ดิฉันขอเป็นตัวแทนของเยาวชนเพื่อส่งสาสน์ถึงผู้ใหญ่หรือรัฐบาลในการเรียกร้องสิทธิที่พวกเราควรได้รับความปลอดภัยที่เป็นพื้นฐาน สังคมที่ดีและสุขภาพที่มั่นคง”
งานวิจัยที่อ้างอิง:
Vichitkunakorn P, Assanangkornchai S, Thaikla K, Buya S, Rungruang S, Talib M, Duangpaen W, Bunyanukul W, Sittisombut M. Alcohol outlet density and adolescent drinking behaviors in Thailand, 2007-2017: A spatiotemporal mixed model analysis. PLoS One. 2024 Oct 31;19(10):e0308184. doi: 10.1371/journal.pone.0308184.
สาขาวิชาระบาดวิทยา อาคารบริหาร ชั้น 6 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 15 ถ.กาญจนวนิช ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
โทรศัพท์ : 083-5775533 (เวลาราชการ 08.30 - 16.30 น.)
Copyright © 2019 CAS All rights reserved.