News, ข่าวเด่น

ประกาศทุนวิจัย รอบที่ 2

โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากการสำรวจในประเด็นที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายใต้ “โครงการจัดทำระบบความรู้เพื่อสนับสนุนการป้องกันและควบคุมปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย

News, ข่าวเด่น, บทความ, สาระน่ารู้, เลือกโดยบรรณาธิการ

เหล้า รถหรู สำนึก อำนาจ และการให้อภัย

โดย…ดร.วิทย์ วิชัยดิษฐ

กาลครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ในประเทศสารขัณฑ์

มีชายสองคนทำพลาดเหมือนกัน คือเมาแล้วขับรถชนคนตาย

ทั้งสองเหตุการณ์ ชายที่ก่อเหตุเป็นเศรษฐี-มหาเศรษฐี ผู้ที่เสียชีวิตเป็นตำรวจ ต่างกันที่ยศของผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิตในเหตุการณ์

ทั้งสองเหตุการณ์เป็นข่าวใหญ่ เริ่มแรกสังคมสารขัณฑ์โกรธเศรษฐีผู้ก่อเหตุ และมองว่าเศรษฐีแต่ละคนจะต้องใช้เงิน เส้นสายและอำนาจ ดิ้นให้ตนเองหลุดและไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ แน่ๆ

แล้วความเหมือนก็สิ้นสุดตรงนั้น

เศรษฐีสารขัณฑ์คนแรก ติดต่อครอบครัวผู้เสียหาย พร้อมชดเชยและเยียวยาทั้งทางการเงินอย่างเต็มที่ แต่ที่สังคมคาดไม่ถึงยิ่งกว่า คือ เศรษฐีกลับติดตามอาการผู้เสียหายทุกวัน บวชขอขมา พร้อมแจ้งว่าตนพร้อมรับความผิดตามกระบวนการศาลยุติธรรมอย่างเต็มที่ เมื่อศาลตัดสินแบบพร้อมลดหย่อนโทษ สิ่งแรกที่เศรษฐีคนนั้นทำคือกราบเท้าครอบครัวผู้เสียหายและสัญญาว่าจะเลิกดื่มตลอดชีวิต

เศรษฐีสารขัณฑ์คนที่สองเป็นลูกมหาคหบดี ร่ำรวยกว่าเศรษฐีคนแรกเป็นร้อยเท่า แต่กลับชดใช้ค่าเสียหายให้ครอบครัวผู้ตายไม่ถึงเสี้ยวหนึ่งของที่เศรษฐีคนแรกช่วยผู้ตายในคดีตน และแทนที่จะยอมขึ้นศาล กลับหนีความผิดไปอยู่ดินแดนอันไกลโพ้น โดยที่เจ้าตัวไม่เคยมาสารภาพหรือยอมรับว่าตนเคยทำผิดพลาดใดๆ ไปทั้งสิ้น นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่อง “แปลกๆ” เกิดขึ้นมากมายจนถึงปัจจุบัน

ปฏิกิริยาของสังคมสารขัณฑ์ต่างกันโดยสิ้นเชิง

ผู้คนในสังคมพร้อมให้อภัยเศรษฐีคนแรก ถึงขั้นที่ว่าต่อมามีข่าวว่าเศรษฐีคนนั้นอาจต้องเข้าคุก หลายคนพร้อมจะมาปกป้องเขาด้วยซ้ำ

ในทางกลับกัน ผู้คนในสังคมโกรธเศรษฐีคนที่สองมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเวลาผ่านไปและมีเหตุการณ์ “แปลกๆ” เกิดขึ้น ความแค้นยิ่งทวีคูณ

เศรษฐีคนที่สอง ถึงจะมีเงินหนีไปอยู่ต่างแดนได้ แต่เศรษฐีคนนั้นหนีความจริงไปไม่ได้ เมื่อมีคนอื่นไปพบเห็นหรือจำเขาได้ในต่างแดน และพยายามเรียกชื่อเขาให้เขาเผชิญความจริง สิ่งเดียวที่เขาทำได้คือหลบหน้าด้วยความอับอาย และย้ายที่พักไปเรื่อยๆ โดยต้องระแวงตลอดเวลาว่าจะมีใครมาเห็นตนหรือไม่

ในขณะที่เศรษฐีคนแรก ไม่ได้หนีไปไหน เผชิญหน้ากับความจริง เขาก็ไม่จำเป็นต้องหลบหน้าหรืออยู่ด้วยความอับอาย และที่สำคัญคือครอบครัวของผู้เสียหายพร้อมที่จะให้อภัยเขา หากได้การอภัยเช่นนี้แล้ว หัวใจเขาคงเป็นอิสระ ไม่ว่าตัวเองจะอยู่ที่ไหนหรือทำอะไรก็ตาม

ความสบายใจและเป็นอิสระตรงนี้ ต่อให้เป็นคนรวยขนาดทายาทเศรษฐีหมื่นล้าน ก็หาซื้อไม่ได้ครับ

แต่เศรษฐีคนที่สองมีทางออก

โดยธรรมชาติ มนุษย์เราพร้อมที่จะให้อภัย เพื่อให้ตัวเองก้าวข้ามความโกรธและเริ่มกระบวนการเยียวยาได้

การให้อภัย ไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อได้รับเงินเยียวยา ชดเชยค่าเสียหาย

การชดเชยค่าเสียหายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเยียวยา แต่อาจไม่ใช่ส่วนหลัก

การจ่ายเงินเป็นเรื่องง่าย ไม่ต้องเผชิญหน้าใคร

การยอมรับผิดและการแสดงความรับผิดชอบ เป็นสิ่งที่ยากกว่า เพราะผู้ที่กระทำผิดจะต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่ตนเองทำโดยตรง ยอมรับว่าตนเองทำไม่ดี และพร้อมรับผลที่ตามมาโดยไม่มีเงื่อนไข

ซึ่งการเผชิญหน้ากับสิ่งไม่ดีที่ตนเองได้ทำไปนี้จะต้องใช้ทั้งความกล้าหาญ ความถ่อมตน และสามัญสำนึก — การแสดงออกถึงคุณลักษณะเหล่านี้จะช่วยให้ผู้เสียหายและครอบครัวพร้อมเปิดใจของตนเองมากขึ้น และเริ่มต้นเยียวยาจิตใจตนเองได้

และนั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่หรือ??

อนึ่ง…………..

ทั้งสอง “เหตุการณ์สมมุติ” นี้ จะไม่เกิดขึ้นเลย หากเศรษฐีในเรื่องนั้นไม่ขับรถหลังดื่มเหล้า ดังนั้นขอแนะนำทุกคนว่า หากเราไปดื่มแล้วอยากเอารถกลับบ้าน ควรให้เพื่อนที่ไม่ดื่มช่วยขับรถพาเรากลับ หรือเรียก Grab หรือแท็กซี่ให้ไปส่งกลับบ้าน แล้ววันรุ่งขึ้นหายเมาแล้วค่อยมารับรถ ค่าจอดรถเกินเวลาไม่กี่บาท แต่อนาคตและชีวิตของเราและผู้อื่น เป็นสิ่งที่ประเมินค่ามิได้

อย่างไรก็ดี เนื่องจากทั้งสอง “เหตุการณ์สมมุติ” นี้ มีแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าเราอยากจะทำให้ประเทศสารขัณฑ์มีปัญหาเรื่องอุบัติภัยจราจรลดลง เราน่าจะทำอะไรได้บ้าง

1. “อย่า หา ทำ” — การดื่มสุราทุกระดับมีผลต่อความสามารถในการขับขี่ทั้งสิ้น งานวิจัยในสหรัฐฯ พบว่าอุบัติเหตุเมาแล้วขับและมีคนตาย 15% เกิดขึ้นแม้ว่าผู้ขับจะมีแอลกอฮอล์อยู่ในระดับที่กฏหมายกำหนด [1] หลังดื่มสุราเข้าไป แอลกอฮอล์ในเลือดจะพุ่งสู่ระดับสูงสุดในเวลา 30-90 นาทีหลังดื่ม หลังจากนั้นการขจัดแอลกอฮอล์จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ (ดื่มหนึ่งแก้ว ต้องใช้เวลาขจัดประมาณหนึ่งชั่วโมง) ดังนั้นคนที่ดื่มหนักตอนกลางคืน แม้กระทั่งเช้าวันต่อมาก็ยังอาจมีระดับแอลกอฮอล์สูงเกินกำหนดอยู่ และเกิดอันตรายขณะขับรถได้ ดังนั้นทางที่ดีที่สุด คือ อย่าดื่มแล้วขับรถกลับบ้านเอง ให้เรียกแท็กซี่หรือ Grab กลับบ้าน หรือให้เพื่อนที่ไม่ได้ดื่มช่วยพากลับบ้าน

2. หากผู้ใดใช้แอลกอฮอล์ร่วมกับสารเสพติดกระตุ้นประสาท (เช่น โคเคน) ห้ามขับรถเด็ดขาด!! ไม่ว่าจะดื่มน้อยแค่ไหน หรือใช้สารดังกล่าวน้อยแค่ไหนก็ตาม — เมื่อใช้แอลกอฮอล์ร่วมกับโคเคน แอลกอฮอล์จะทำให้ระดับโคเคนในเลือดพุ่งสูงขึ้น และร่างกายจะสร้างสารโคคาเอทิลีน (cocaethylene) ขึ้นมา ซึ่งส่งผลต่อความนึกคิดและระบบประสาท [2,3] ทำให้ผู้เสพมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น เป็นอันตรายมากต่อตนเอง ผู้โดยสาร และผู้สัญจรทุกคนบนถนน ดังนั้นจึงไม่ควรขับรถเด็ดขาด ไม่ว่าในกรณีใดๆ

3. ควรจะพิจารณาลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ตามกฎหมายลงจากเดิม 0.5 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์เป็น 0.2 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ — หากผู้ขับขี่ใช้แอลกอฮอล์ร่วมกับสารอื่น เช่น โคเคน ยาบ้า ยาไอซ์ อัลปราโซแลม หรือกัญชาทางการแพทย์ สารนั้นสามารถที่จะมีทำปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์ได้ (แม้ในจำนวนน้อยนิด) ส่งผลให้สมรรถนะการขับขี่ด้อยลงจนเป็นอันตรายแก่ผู้อื่นได้ [2,3]

4. ควรจะจัดให้มีจุดสุ่มตรวจแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ทั่วประเทศ ให้ประชาชนที่ขับขี่ยานพาหนะโดยทั่วไปตระหนักว่าทุกคนสามารถถูกสุ่มตรวจได้เสมอ โดยมีโอกาสถูกสุ่มตรวจอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง และดำเนินการจับกุมและลงโทษผู้ละเมิดกฏหมายอย่างจริงจัง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่ดื่มไม่ขับรถ และผู้ที่ขับรถไม่ดื่ม เพิ่มความปลอดภัยทั้งกับตนเองและผู้อื่นได้

5. หากเกิดอุบัติเหตุทางถนน ควรตรวจระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ทุกคน ไม่ว่าจะมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตหรือไม่ และควรตรวจระดับสารเสพติด เช่น กัญชา ยาบ้า โคเคน ยากล่อมประสาทและยานอนหลับด้วย หากพบว่ามีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกินกำหนด หรือมีสารเสพติด ให้ดำเนินคดีกับผู้ขับขี่ตามกฏหมาย รวมทั้งส่งต่อให้ได้รับการดูแลบำบัดรักษาตามความเหมาะสม

หากทำเช่นนี้แล้ว ชาวสารขัณฑ์ทุกคน ไม่ว่าจะดื่มสุราหรือไม่ คนที่มีรถขับ คนที่โดยสารยานพาหนะ หรือแม้แต่คนเดินถนน ต่างก็จะมีความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น หากอุบัติเหตุทางถนนที่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุราและการใช้สารเสพติดลดลง และเป็นการลดภาระการทำงานของตำรวจ อัยการ และผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดด้วย

หมายเหตุ: เรื่องทั้งหมดที่เล่ามาเป็นเรื่องสมมุติ หากมีเนื้อหาใกล้เคียงกับผู้ใด ถือเป็นเหตุบังเอิญทั้งสิ้น

อ้างอิง

1. https://www.ajpmonline.org/article/S0749-3797(20)30040-4/fulltext

2. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/30195242/

3. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/30007323/

News, ข่าวเด่น, สาระที่น่าสนใจ, สาระน่ารู้, เลือกโดยบรรณาธิการ

อิทธิพลของความเชื่อทางการเมือง ต่อพฤติกรรมสุขภาพ (ตอนที่ 1)

โดย…ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

ผมเขียนบทความชิ้นนี้ ในขณะที่ทั่วประเทศกำลังเผชิญหน้ากับทางแพร่งของการเลือกข้างทางการเมืองที่สำคัญครั้งหนึ่งของประเทศชาติ ในยามที่โลกทั้งใบกำลังเผชิญหน้ากับโรคระบาดครั้งใหญ่ในรอบหนึ่งร้อยปี ในอนาคตอันใกล้นี้วิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในโลกในรอบหลายร้อยปีจะถาโถมเข้าสู่รัฐเล็กรัฐใหญ่ในโลกอย่างไม่เลือกหน้า Globalization ที่ได้กลายเป็นทางเลือกหลักในการพัฒนาโลกตั้งแต่หลังยุครัฐชาติ ได้เชื่อมโลกทั้งใบไว้มากกว่าช่วงสมัยใด ๆ ของมนุษยชาติ ได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่จะทำให้วิกฤตโลกนั้นกระทบต่อกันอย่างที่เห็น เมื่ออนาคตอันใกล้มีวิกฤตขนาดใหญ่เช่นนี้ จึงไม่แปลกอะไรที่ผู้คนจะตั้งคำถามถึงแนวคิดทางการเมืองที่จะนำคนในชาติเผชิญหน้ากับวิกฤต เหตุผลที่สำคัญมาก ๆ ที่ต้องเลือกแนวคิดทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่งในการเผชิญหน้ากับภาวะคุกคามก็เพราะความหมายที่แท้จริงของการเมืองนั้นคือ แนวคิดในการบริหารทรัพยากรในสังคมใดสังคมหนึ่ง หากมีมนุษย์รวมกลุ่มมากกว่าหนึ่งคน เป็นธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันที่ต้องสร้างระบบการเมืองขึ้นมาเพื่อให้ทรัพยากรถูกแจกจ่าย และ ผู้ในในสังคมนั้น ๆ อยู่รอดมากที่สุด อำนาจทางการเมืองจะถูกแปรรูปไปเป็นอำนาจอื่น ๆ อีกหลากหลายรูปแบบ จึงไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไรที่คนรุ่นใหม่หลายพันหลายหมื่นคนทั่วประเทศ จะออกมาเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพื่อความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีกว่า แกนเรื่องสำคัญที่ดึงดูดคนจำนวนมากให้ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องเดียวกันอย่างพร้อมเพรียงกันมิใช่สิ่งอื่นใด นอกจากแกนความคิดทางการเมือง ตัวอย่างเพียงหนึ่งเดียวนี้พอจะแสดงให้เห็นได้ว่า เรื่องการเมืองมันสำคัญต่อจินตนาการของผู้คน และสำคัญต่อระเบียบชีวิตของผู้คนบนโลกนี้เช่นไร  

          ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา โลกผ่านการถกคิดและการต่อสู้ของแนวคิดทางการเมืองครั้ง สำคัญของคู่ตรงข้ามทางความคิดการเมืองมาหลายครั้งรวมไปถึงการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการเมืองทั้งหลาย แม้เหตุผลที่แท้จริงจะไม่ชัดเจนและไม่ใช่สิ่งที่พิสูจน์ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ได้ง่าย แต่เชื่อว่าการปฏิวัติทุกครั้งในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้น ปรัชญาทางการเมืองได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการหลอมความคิดคนร่วมสร้างจินตนาการแห่งชีวิตให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมทางการเมืองแบบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประชาธิปไตย สังคมนิยม เสรีนิยม อำนาจนิยม เผด็จการนิยม คอมมิวนิสต์ ศาสนานิยม อนุรักษ์นิยม ล้วนแล้วแต่มีปรัชญาที่ร้อยเรียงจินตนาการร่วมของผู้สนับสนุนให้เป็นเนื้อเดียวกันได้ ความเชื่อทางการเมืองได้สร้างแบบแผนของการดำเนินชีวิตจากจินตนาการถึงคุณค่าสำคัญของความเชื่อทางการเมืองนั้น ๆ (core value) จึงเป็นเหตุให้ผู้คนที่มาจากสังคมที่นับถือคนละความเชื่อทางการเมือง มีแนวโน้มที่จะมีความคิด จินตนาการต่อชีวิต และรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน รูปแบบชีวิตในที่นี้หมายถึงรูปแบบชีวิตของคนส่วนมากในทุก ๆ เรื่อง

การยกตัวอย่างเปรียบเทียบที่ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดคงต้องเปรียบเทียบประชากรของประเทศที่ปกครองคนละระบอบการเมืองที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง เช่น หากเรานึกถึงสภาพโดยทั่วไปของชายหนุ่มที่เกิดและเติบโตในประเทศสหรัฐอเมริกา และ สภาพโดยทั่วไปของชายหนุ่มที่เกิดและเติบโตจากประเทศเกาหลีเหนือ แม้เราที่อยู่ประเทศไทยจะไม่เคยเดินทางไปทั้งประเทศสหรัฐอเมริกาและเกาหลีเหนือ แต่จินตนาการจากข้อมูลที่เรารับรู้ที่ผ่านมา จะพอทำให้เราคาดเดาได้ว่า ชายหนุ่มจากสหรัฐอเมริกา น่าจะมีบุคลิคนิสัยเป็นอย่างไร ให้คุณค่ากับเรื่องอะไรบ้าง รวมไปถึง น่าจะมีพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง ในขณะเดียวกันหากเราคิดต่อในประเด็นเดียวกันกับชายหนุ่มจากเกาหลีเหนือ คงพบคำตอบคล้ายกันกับผมที่คิดว่า ชายหนุ่มจากเกาหลีเหนือโดยทั่วไปแล้ว คงมีบุคลิกนิสัยใจคอแตกต่างจากอเมริกัน สิ่งที่เขาให้คุณค่าน่าจะต่างกัน รวมไปถึงพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตในแต่ละวันก็ต่างกันกับอเมริกันหนุ่ม โชคดีที่ผมมีโอกาสได้สัมผัสพบเจอชายหนุ่มทั้งจากเกาหลีเหนือและสหรัฐอเมริกา ทำให้ผมพิสูจน์ได้ว่า ข้อสันนิษฐานในเรื่อง ค่าเฉลี่ยในจินตนาการของผมต่อคนพลเมืองสองประเทศนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจริง ๆ

          คราวนี้กลับมาในเรื่องพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งเป็นใจความหลักของเนื้อหาในบทความนี้ มีนักวิจัยช่างสังเกตจำนวนหนึ่งได้ตั้งคำถามว่า หากรูปแบบการเมืองที่ใช้ปกครองส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนภายใต้ระบอบการปกครองนั้น ๆ  แล้ว สำหรับพฤติกรรมทางสุขภาพ ความเชื่อทางการเมืองส่งผลอย่างไรกับประเด็นนี้บ้าง ก่อนจะไปที่ผลการสำรวจและการศึกษาที่เคยผ่านมา อยากลองให้ผู้อ่านทุกท่านได้ลองจินตนาการดู เอาแค่พฤติกรรมสุขภาพไม่กี่เรื่องก็พอครับ เรื่องการรับประทานอาหาร การออกกำลัง กายสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ ท่านผู้อ่านคิดว่ารูปแบบการเมืองของรัฐชาติใดรัฐชาติหนึ่ง จะส่งผลต่อพฤติกรรมสุขภาพของคนในรัฐนั้น ๆ อย่างไร ลองใส่ความคิดเห็นของท่านลงในตารางช่องว่างข้างล่างนี้ดูนะครับ

 รับประทานอาหารออกกำลังกายสูบบุหรี่ดื่มแอลกอฮอล์
สังคมนิยม    
คอมมิวนิสต์    
ประชาธิปไตย    
ศาสนานิยม    
สมบูรณาญาสิทธิราชย์    

ในปี ค.ศ. 2000 J J Murrow และ คณะ (1) ได้ศึกษาความสัมพันธ์ของความเชื่อทางการเมือง และพฤติกรรมสุขภาพ สมมติฐานที่เขาตั้งขึ้นมาก็คงคล้ายกับคนขี้สงสัยหลายคนในโลกว่า ถ้าคนเราอยู่ภายใต้รูปแบบการปกครองและกระแสความเชื่อทางการเมืองที่ต่างกัน จะมีพฤติกรรมสุขภาพเป็นแบบไหนและเป็นอย่างไร แม้หน้าที่หลักของรัฐบาลใด ๆ ในโลกจะต้องดูแลสวัสดิภาพ (ซึ่งรวมไปถึงสุขภาพ) ของประชาชนเหมือนกัน แต่หากแนวคิดทางการเมืองต่างกัน การจัดลำดับความสำคัญในแต่ละสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจะแตกต่างกันด้วย ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นพื้นที่ศึกษาของงานวิจัยชิ้นนี้แม้จะอยู่ในระบอบปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ในประเทศก็มีแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน เช่น เสรีนิยม – อนุรักษ์นิยม ซึ่งให้คุณค่าในหลายสิ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง นิยามสำคัญของความเป็นเสรีนิยม คือ ความก้าวหน้า ความคิดเปิดกว้าง เปิดรับความหลากหลาย กล้าคิดกล้าทำ พร้อมเปลี่ยนแปลง เสรีนิยมมักตามด้วยการเปิดตลาดเสรีเพื่อให้เกิดการแข่งขันสูงสุด และให้ตลาดควบคุมตัวเอง  ส่วนเมื่อเอ่ยถึงอนุรักษ์นิยม นิยามของคำนี้คือ เชื่อมั่นในการปกครองอย่างผูกขาดโดยคนชั้นสูง (aristocratic ideology) เชื่อในการเมืองเชิงประจักษ์ หรือ เรียกว่าไม่โลกสวยทางการเมือง (political pragmatism) คำนึงถึงบริบทและสถานการณ์มากกว่าอุดมการณ์ที่เกินจริง เชื่อในเรื่องการควบคุมความคิดและพฤติกรรม  วิธีการสำรวจที่ทีมวิจัยนี้ได้ทำคือการไปสัมภาษณ์เก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างประมาณ 4,200 คน สอบถามพวกเขาด้วยคำถามสองกลุ่มคือ คำถามกลุ่มแรกคือกลุ่มคำถามเกี่ยวกับการให้คุณค่าในสิ่งต่าง ๆ (self-report characterizations) ซึ่งใช้เพื่อแยกกลุ่มตัวอย่างออกตามแนวคิดทางการเมืองที่กลุ่มตัวอย่างนับถือ แบ่งออกเป็นสามกลุ่มคือ อนุรักษ์นิยม ทางสายกลาง และเสรีนิยม

คำถามกลุ่มสองเป็นคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพ โดยถามทั้งในพฤติกรรมสุขภาพด้านบวก เช่น การให้คุณค่าต่อตัวเอง การดูแลตัวเอง เป็นต้น และคำถามที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มพฤติกรรมสุขภาพที่เป็นด้านลบต่อสุขภาพ เช่น การรับประทานอาหาร การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นอนุรักษ์นิยมเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างระมัดระวังในการมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระมัดระวังต่อปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านสิ่งแวดล้อม กฎหมาย โครงสร้างสังคม กลุ่มที่มีค่านิยมทางการเมืองแบบสายกลางโดดเด่นในด้านการเคารพต่อตัวเอง เชื่อมั่นในคุณค่าของตัวเอง (Self-actualization) และมีแนวโน้มที่จะสนใจเรื่องพฤติกรรมสุขภาพด้านบวกน้อยที่สุด ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่มีค่านิยมทางการเมืองแบบเสรีนิยม เป็นกลุ่มที่ใส่ใจเรื่องความเสี่ยงทางสุขภาพและปัจจัยการป้องกันสุขภาพของปัจเจกบุคคล (ตนเอง) สูงสุด

          ขยับไปดูการศึกษาจากประเทศที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยบ้าง สังคมนิยม และ แนวทางคอมมิวนิสต์ เคยเป็นปฏิปักษ์สำคัญของแนวทางการปกครองแบบประชาธิปไตย อันที่จริงแล้ว แนวทางทั้งสองต่างถกกันเรื่องสิทธิในการกระจายอำนาจแก่ผู้คนหมู่มากในสังคมทั้งสิ้น แต่ในทางปฏิบัติการกระจายอำนาจของทั้งสองรูปแบบแตกต่างกัน คอมมิวนิสต์ได้กลายเป็นระบอบการปกครองหลักของประเทศในฝั่งยุโรปตะวันออก จากอิทธิพลของการปฏิวัติของบอลเชวิคในรัสเซีย คอมมิวนิสต์ได้รื้อถอน ค่านิยมเดิมในสมัยก่อนโซเวียต อันได้แก่ ระบอบเจ้าขุนมูลนายในสมัยการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใต้ราชวงศ์โรมานอฟของรัสเซีย คำสอนทางศาสนาแบบคริสต์นิกายออโธดอกซ์ ข้อค้นพบจากการเก็บข้อมูลอย่างกว้างขวางของนักวิจัยในยุคสมัยนั้นพบว่า การเปลี่ยนระบอบการปกครองในช่วงเวลานั้น ได้ก่อให้เกิดพฤติกรรมลบต่อสุขภาพหลายอย่าง และ หนึ่งในวัฒนธรรมใหม่ที่เกิดขึ้นหลังคอมมิวนิสต์คือการดื่มเหล้าอย่างหนักของคนในสังคมรัสเซีย (2,3) หนึ่งในข้อสันนิษฐานที่กล่าวถึงกันคือ สังคมใดก็ตามที่มีการอุปถัมภ์ของรัฐในระดับสูง จะลดปราถนาต่อการมีสุขภาพที่ดีของปัจเจกบุคคล และแน่นอนว่าระบอบคอมมิวนิสต์ที่รัฐเป็นผู้จัดการทุกสิ่ง ทำให้ประชาชนเชื่อว่า หากวันหนึ่งเจ็บไข้ได้ป่วย รัฐก็ต้องช่วยรับผิดชอบความเจ็บป่วยนั้น จนละเลยการสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่ดี (4) และอีกเหตุผลสำคัญคือ ความเชื่อการเมืองแบบคอมมิวนิสต์นั้นปฏิเสธความเชื่อทางศาสนาทั้งหมด ซึ่งทำให้ผู้คนในสหภาพโซเวียตดื่มวอดก้าและสูบบุหรี่มากขึ้น (5)

เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายกลายเป็นประเทศเล็กประเทศน้อยกว่าสิบหกประเทศ นักระบาดวิทยาก็ยังคงตั้งคำถามในประเด็นเดิมว่า ในกลุ่มประเทศที่แยกออกมาจากรัสเซีย ความเป็นสังคมนิยมและความเป็นประชาธิปไตยในแต่ละประเทศจะส่งผลต่อพฤติกรรมสุบภาพอย่างไร ก็พบคำตอบคล้ายเดิมคือ ประเทศที่มีแนวโน้มเป็นสังคมนิยมมากกว่า ประชาชนในประเทศมีแนวโน้มจะดูแลรักษาสุขภาพตัวเองได้น้อยกว่า คนที่นิยมในแนวทางสังคมนิยมมีแนวโน้มจะดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าเมื่อเทียบกับคนต่อต้านสังคมนิยม (3) นอกจากนั้นคนที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์มักมีไลฟ์สไตล์ด้านสุขภาพที่ดีมากกว่าเมื่อเทียบกับคนที่นิยมในคอมมิวนิสต์ (2)   

จะเห็นได้ว่า แค่ค่านิยมทางการเมืองที่แตกต่างกัน ก็ทำให้คนมีพฤติกรรมสุขภาพแตกต่างกัน แม้ว่าคนจะอยู่ในภูมิภาคหรือชาติพันธ์เดียวกัน แต่เพียงแค่ต่างเวลาต่างการปกครอง ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพแล้ว บทความตอนนี้ขอนำเสนอเกริ่นไว้ก่อน ว่าแนวคิดทางการเมืองที่ใช้สร้างนโยบาย กฎหมาย และ รูปแบบการปกครอง ส่งผลต่อวิถีชีวิตของคนมากขนาดไหน สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านการส่งเสริมและป้องกันสุขภาพ ก็จะได้เห็นภาพชัดขึ้นว่า แนวทางทางการเมืองที่แบบใดจะก่อให้เกิดความคิดตอบสนองต่อประชาชนและสร้างพฤติกรรมสุขภาพแบบไหน เราจะได้นำกลับไปคิดและวางแผนให้เหมาะสมกับบริบทแนวคิดทางการเมืองที่มีอิทธิพล ณ ห้วงเวลานั้น ๆ ครับ ตอนต่อไป ผมจะนำเสนอข้อค้นพบจากการสำรวจแนวคิดทางการเมืองและพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์จากการรวบรวมข้อมูลมากกว่า 50 ปี ในประเทศสหรัฐอเมริกา น่าสนใจมากครับ ติดตามอ่านตอนต่อไปในเร็ว ๆ นี้ครับ

เอกสารอ้างอิง

  1. Murrow JJ, Coulter RL, Coulter MK. Political ideologies and health-oriented beliefs and behaviors: an empirical examination of strategic issues. J Health Hum Serv Adm. 2000;22(3):308-345.
  2. Cockerham WC, Hinote BP, Cockerham GB, Abbott P. Health lifestyles and political ideology in Belarus, Russia, and Ukraine. Soc Sci Med. 2006 Apr 1;62(7):1799–809.
  3. Cockerham WC, Snead MC, DeWaal DF. Health Lifestyles in Russia and the Socialist Heritage. J Health Soc Behav. 2002;43(1):42–55.
  4. Shkolnikov VM, Cornia GA, Leon DA, Meslé F. Causes of the Russian mortality crisis: Evidence and interpretations. World Dev. 1998 Nov 1;26(11):1995–2011.
  5. Population NRC (US) C on, Bobadilla JL, Costello CA, Mitchell F. The Anti-Alcohol Campaign and Variations in Russian Mortality [Internet]. Premature Death in the New Independent States. National Academies Press (US); 1997 [cited 2020 Aug 5]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK233403/
News, ข่าวเด่น

ประกาศศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) เรื่อง การสนับสนุนทุนวิจัยเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2563

ประกาศทุนวิจัย-ศวส-2563-2

Infographic, News, ข่าวเด่น, สื่อเผยแพร่

ผลการสำรวจ โครงการสำรวจการรับรู้ถึงความเสี่ยงและพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (สำรวจครั้งที่ 4)

Infographic-phase4-2

News, ข่าวเด่น, รายงานวิจัย, สื่อเผยแพร่

รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการสำรวจการรับรู้ถึงความเสี่ยงและพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (สำรวจครั้งที่ 4)

Final-Report_Drinking-during-COVID-19_Phase4-2

Infographic, News, ข่าวเด่น, สื่อเผยแพร่

ผลการสำรวจการรับรู้ถึงความเสี่ยงและพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (สำรวจครั้งที่ 2)

Info-Drinking-on-Covid-19-Phase-2-1

1 2 11 12 13 14 15 16 17
Privacy Settings
We use cookies to enhance your experience while using our website. If you are using our Services via a browser you can restrict, block or remove cookies through your web browser settings. We also use content and scripts from third parties that may use tracking technologies. You can selectively provide your consent below to allow such third party embeds. For complete information about the cookies we use, data we collect and how we process them, please check our Privacy Policy
Youtube
Consent to display content from - Youtube
Vimeo
Consent to display content from - Vimeo
Google Maps
Consent to display content from - Google
Spotify
Consent to display content from - Spotify
Sound Cloud
Consent to display content from - Sound

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors