รัฐไทยอ้างเศรษฐกิจ ปลดล็อค กม.คุมเหล้า เมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบาย
นางสาวจินตนา จันทร์โคตรแก้ว สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า จากที่รัฐบาลได้มีความพยายามลดหย่อนนโยบายควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเอื้อประโยชน์ในการกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา เช่น มาตรการขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การลดภาษีไวน์ การสนับสนุนการผลิตสุราชุมชน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่การดำเนินมาตรการดังกล่าวเกิดประโยชน์มากกว่าความสูญเสียของประเทศจริงหรือไม่นั้น รัฐยังไม่เคยพูดถึงสิ่งที่จะเกิดตามมาหรือแม้แต่การเตรียมมาตรการรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และนับจากวันที่มีการขยายเวลาในพื้นที่นำร่อง 15 ธันวาคม 2566 ถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีวี่แววของการติดตามและประเมินผลของนโยบายเช่นกัน ทั้งที่องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยและกระทรวงสาธารณสุขยืนยันผลการศึกษาเกี่ยวกับความคุ้มค่าของการดำเนินนโยบายแอลกอฮอล์ประกอบไปด้วย การควบคุมวัน เวลา สถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการควบคุมโฆษณา การควบคุมการดื่มแล้วขับและการคัดกรองและบำบัดรักษาให้มีประสิทธิภาพ ภายใน 5 ปี หากภาครัฐลงทุนเพียง 22 ล้านล้านบาท จะได้ผลประโยชน์จากการรักษาประสิทธิภาพของคนวัยทำงานที่ไม่ต้องลางานขาดงานสูงถึง 59 ล้านล้านบาท โดยทุก 1 บาทที่รัฐลงทุนในการดำเนินมาตรการจะได้รับประโยชน์กลับมา 2.64 บาท และแทนที่รัฐบาลจะลงทุนกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตในระยะยาว เช่น การพัฒนาคุณภาพการศึกษา การพัฒนาฝีมือแรงงาน แต่กลับใช้นโยบายที่หวังผลระยะสั้น ที่นำไปสู่การสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว
สำหรับการลดภาษีไวน์เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หากลองพิจารณากลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ดื่มไวน์ คือ ผู้มีรายได้สูง แทนที่รัฐบาลจะเก็บภาษีจากการจำหน่ายไวน์เพื่อเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขให้เกิดขึ้นในสังคม แต่กลับเอื้อผลประโยชน์ให้บริษัทผลิตไวน์และผู้บริโภคที่มีรายได้สูง และนำไปสู่การเพิ่มความเหลื่อมล้ำ ซึ่งคนที่ได้รับผลกระทบจากการดื่มมากที่สุด คือ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทั้งค่าใช้จ่ายทางสุขภาพที่ต้องแบกรับจากโรคไม่ติดต่อ และปัญหาทางสังคม เช่น ปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัวที่พบมากในกลุ่มครัวเรือนที่ยากจน เห็นตัวอย่างได้จากประเทศสกอตแลนด์ เมื่อรัฐบาลประกาศใช้มาตรการนโยบายการกำหนดราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขั้นต่ำ รวมทั้งไวน์ นำไปสู่การลดการตายที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงถึงร้อยละ 13.4 และอัตราการผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลได้ร้อยละ 4.1
ส่วนการเพิ่มเวลาขายกระตุ้นให้มีนักท่องเที่ยวมากขึ้นนั้น ในทางกลับกัน ประเทศกลับเสียผลประโยชน์จากค่ารักษาพยาบาลและความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนนและการทะเลาะวิวาท รวมทั้งอาชญากรรมที่ตามมา รวมถึงภาพลักษณ์ของประเทศในการเป็นประเทศท่องเที่ยวแบบปลอดภัย จากประสบการณ์ของประเทศออสเตรเลียในรัฐนิวเซาท์เวลส์ในเขตเมืองนิวคาสเซิล ได้มีการลดเวลาเปิดผับจากตี 5 เป็นตี 3.30 และห้ามรับลูกค้าเพิ่มหลังเวลาตี 1.30 แต่ยังนั่งดื่มได้จนถึงตี 3.30 หลังจากการดำเนินมาตรการมีการศึกษาพบว่า คดีทำร้ายร่างกายลดลงร้อยละ 34 เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนดำเนินมาตรการ เช่นเดียวกันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่กรุงอัมสเตอร์ดัมประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้มีการประกาศขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกไป 1 ชั่วโมงเพื่อกระตุ้นนักท่องเที่ยว แต่เมื่อมีการขยายเวลาขายกลับพบว่า อัตราของการเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 ในพื้นที่ที่มีการขยายเวลาขายเมื่อเทียบกับพื้นที่ควบคุม นอกจากนี้การขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำไปสู่อาชญากรรม อุบัติเหตุ ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยในการท่องเที่ยว
การผลิตสุราชุมชน กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ถึงแม้การผลิตสุราชุมชนจะเป็นการกระจายรายได้จากรายใหญ่ไปสู่รายย่อย แต่ผลที่ตามมาอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย ทั้งการควบคุมมาตรฐานของสุราที่ส่งผลเสียต่อผู้บริโภคในภายหลัง การที่ต้องเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าตรวจโรงผลิตสุราชุมชนที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเป็นมาตรการที่ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะ “รัฐบาลมองเห็นผลประโยชน์ระยะสั้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ประเทศต้องทนรับผลเสียจากนโยบายไปอีกยาว” คุณจินตนากล่าว