ถึงแม้ช่วงงดเหล้าเข้าพรรษาจะเป็นโอกาสที่ดีในการลดละเลิกการดื่มให้ร่างกายได้พัก แต่รู้หรือไม่ว่าไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเลิกดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างปลอดภัยด้วยตนเอง
การดื่มแอลกอฮอล์ทางการแพทย์แบ่งไว้เป็นหลายระดับ มีตั้งแต่ดื่มแบบเสี่ยงต่ำ (low-risk use) คือ ดื่มในระดับภายใต้ขนาดดื่มมาตรฐาน และยังไม่เกิดปัญหาจากการดื่ม จนไปถึงดื่มแบบเสี่ยงสูงและดื่มแบบอันตราย (hazardous use/harmful use) นั่นคือ ดื่มเกินกว่าขนาดมาตรฐานหรือดื่มจนเกิดปัญหาในด้านต่างๆ ซึ่งอาจสามารถหยุดดื่มได้ด้วยตนเอง และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่มีภาวะติดแอลกอฮอล์ (alcohol dependence) ซึ่งควบคุมการดื่มของตนเองไม่ได้แม้จะเกิดผลเสียจากการดื่มตามมามากมายแล้วก็ตาม ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่หากทำการงดเหล้าเข้าพรรษาด้วยตนเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์แล้วอาจเกิดอันตรายได้
ผู้ที่มีภาวะติดแอลกอฮอล์นั้น มักจะเป็นผู้ที่ดื่มเป็นประจำทุกวัน ดื่มหนัก และดื่มนานเป็นปีๆ ซึ่งอาการอย่างหนึ่งที่มักเกิดขึ้นก็คือ การติดสารทางกาย ได้แก่ การที่ต้องเพิ่มปริมาณการดื่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ฤทธิ์เมาเท่าเดิม (tolerance) และเมื่อหยุดดื่มกระทันหันก็จะเกิดอาการถอนแอลกอฮอล์ (withdrawal) ขึ้น ซึ่งอาการถอนแอลกอฮอล์นี้มักจะเริ่มมีอาการตั้งแต่วันแรกของการหยุดดื่ม ได้แก่ มือสั่น ใจสั่น เหงื่อออก รู้สึกร้อนวูบวาบ ปวดศีรษะ และคลื่นไส้อาเจียน โดยในวันที่สอง บางรายอาจมีอาการชักเกร็งกระตุกและหมดสติได้ ซึ่งหากอาการเป็นมากโดยไม่ได้รับการรักษาอาจมีภาวะสับสนร่วมกับอาการถอนแอลกอฮอล์ (delirium tremens, alcohol withdrawal delirium) ซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางร่างกายที่อันตรายมากมาย
โดยทั่วไป ผู้ที่มีภาวะติดแอลกอฮอล์แล้วต้องการหยุดดื่ม แพทย์มักจะให้ยาช่วยลดอาการถอน เช่น ยากลุ่ม benzodiazepines เพื่อลดอาการ withdrawal ให้น้อยที่สุดและเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการหยุดแอลกอฮอล์กระทันหัน ดังนั้น หากท่านมีภาวะติดแอลกอฮอล์และตั้งใจหยุดดื่มในช่วงเทศกาลนี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการหยุดดื่มกระทันหัน และสามารถหยุดดื่มได้อย่างปลอดภัยตลอดช่วงเทศกาลและตลอดไป
เบียร์มีสารประกอบหลักเป็นแอลกอฮอล์ ซึ่งโดยทั่วไปเบียร์จะมีระดับแอลกอฮอล์ประมาณ 5% by volume นั่นคือ 100 mL ของเบียร์จะมีแอลกอฮอล์อยู่ 5 mL และแอลกอฮอล์มีความหนาแน่นประมาณ 0.79 เท่าของน้ำ ดังนั้นในเบียร์ 100 mL จะมีแอลกอฮอล์อยู่ 5×0.79 = 3.95 กรัม โดยในเบียร์หนึ่งเหยือกจะมีปริมาณเบียร์ประมาณ 1000 mL ฉะนั้น แอลกอฮอล์ในเบียร์หนึ่งเหยือกจะเท่ากับ 39.5 กรัม หรือ 3950 มิลลิกรัม คิดเป็น 395 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ (mg%)
โดยทั่วไป นักดื่มมักจะค่อยๆดื่ม ดื่มไปคุยกับเพื่อนไปกินกับแกล้มและเติมเบียร์ไป ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ร่างกายได้ค่อยๆทำลายและขับแอลกอฮอล์ออกจากกระแสเลือดซึ่งนั่นจะทำให้แอลกอฮอล์ไม่คั่งอยู่ในร่างกายของผู้ที่ดื่มมากนัก แต่ในกรณีแข่งดื่มเบียร์เป็นเหยือกในเวลาจำกัดนี้ จะมีลักษณะเหมือนเทแอลกอฮอล์พรวดเข้าไปในกระแสเลือดโดยไม่เว้นช่วงเวลาให้ร่างกายขับแอลกอฮอล์ออก จึงเกิดภาวะที่เรียกว่าแอลกอฮอล์เป็นพิษ (alcohol intoxication) ต่อร่างกาย
หากดูตารางระดับของแอลกอฮอล์ในเลือดที่ส่งผลต่ออาการหรือความผิดปกติต่างๆจะพบว่า ที่ระดับแอลกอฮอล์ 395 mg% อาจทำให้ผู้ดื่มหมดสติ ชีพจรช้าลง การหายใจแย่ลง จนถึงหยุดหายใจได้ ทั้งนี้เนื่องจากแอลกอฮอล์ออกฤทธิ์เป็นสารกดประสาท และในขนาดที่สูงระดับนี้ มันสามารถกดสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการหายใจและการรู้สึกตัวของผู้ที่ดื่มได้ ดังนั้น การดื่มเบียร์ เหล้า หรือไวน์ปริมาณมากในระยะเวลาอันสั้นจึงอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
สาขาวิชาระบาดวิทยา อาคารบริหาร ชั้น 6 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 15 ถ.กาญจนวนิช ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
โทรศัพท์ : 083-5775533 (เวลาราชการ 08.30 - 16.30 น.)
Copyright © 2019 CAS All rights reserved.