การลดหย่อนนโยบายควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วยการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้จริงหรือ
โดย นางสาวจินตนา จันทร์โคตรแก้ว สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ
รัฐบาลได้มีความพยายามลดหย่อนนโยบายควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเอื้อประโยชน์ในการกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา เช่น มาตรการขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การลดภาษีไวน์ การสนับสนุนการผลิตสุราชุมชน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่การดำเนินมาตรการดังกล่าวเกิดประโยชน์มากกว่าความสูญเสียของประเทศจริงหรือ
ประเทศไทยประสบความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีละ 165,450.5 ล้านบาทหรือประมาณร้อยละ 1.05 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (1) รัฐบาลกลับมองผลระยะสั้นที่เกิดขึ้น ผลเสียที่ตามมา กลับทวีคูณ การสูญเสียดังกล่าวเกิดจากการสูญเสียผลิตภาพที่เกิดจากการตายก่อนวัยอันควรและความพิการที่ไม่สามารถทำงานได้ ทั้งที่ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ การดำเนินมาตรการที่ก่อให้การตายก่อนวัยอันควรและความพิการที่เกิดขึ้นย่อมนำไปสู่ผลเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้ไม่คุ้มเสีย แต่ละปีมีประชากรไทยเสียชีวิตเนื่องจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 4 หมื่นคนต่อปีทั้งที่เกิดจากโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บทางถนน (2) โดยเฉพาะในชายไทยอายุ 30-59 ปีที่อยู่ในวัยทำงานเกิดการสูญเสียปีสุขภาวะที่จะมีสุขภาพดีทั้งที่เกิดจากความพิการและการตายก่อนวัยอันควร เนื่องจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 163,000 ปี หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของการสูญเสียปีสุขภาวะทั้งหมด จำนวนปีดังกล่าวแทนที่ชายไทยจะนำไปสร้างผลิตภาพให้กับเศรษฐกิจไทย (3) แทนที่รัฐบาลจะลงทุนกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตในระยะยาว เช่น การพัฒนาคุณภาพการศึกษา การพัฒนาฝีมือแรงงาน แต่กลับใช้นโยบายที่หวังผลระยะสั้น ที่นำไปสู่การสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุหลักนำไปสู่โรคไม่ติดต่อหลายสาเหตุ เช่น มะเร็ง โรคตับ โรคหัวใจ (4) ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำไปสู่ภาระทางสุขภาพที่รัฐบาลจะต้องแบกรับในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยและกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับความคุ้มค่าของการดำเนินนโยบายแอลกอฮอล์ประกอบไปด้วย การควบคุมวัน เวลา สถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการควบคุมโฆษณา การควบคุมการดื่มแล้วขับและการคัดกรองและบำบัดรักษาให้มีประสิทธิภาพ ภายใน 5 ปีหากภาครัฐลงทุนเพียง 22 ล้านล้านบาทจะได้ผลประโยชน์จากการรักษาประสิทธิภาพของคนวัยทำงานที่ไม่ต้องลางานขาดงานสูงถึง 59 ล้านล้านบาท โดยทุก 1 บาทที่รัฐลงทุนในการดำเนินมาตรการจะได้รับประโยชน์กลับมา 2.64 บาท (5)
การลดภาษีไวน์กระตุ้นเศรษฐกิจจริงเหรอ ผู้บริโภคไวน์ส่วนใหญ่ คือ ผู้มีรายได้สูง แทนที่รัฐบาลจะเก็บภาษีจากการจำหน่ายไวน์เพื่อเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ให้เกิดขึ้นในสังคม แต่กลับเอื้อผลประโยชน์ให้บริษัทผลิตไวน์และผู้บริโภคที่มีรายได้สูง จากหลักฐานองค์การอนามัยโลกได้ยืนยันชัดเจนเกี่ยวกับประสิทธิภาพของมาตรการทางภาษีและราคาในการลดการบริโภคการดื่มและความสูญเสียทางสุขภาพและสังคม นอกจากนี้การลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำไปสู่การเพิ่มความเหลื่อมล้ำ คนที่ได้รับผลกระทบจากการดื่มมากที่สุด คือ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทั้งค่าใช้จ่ายทางสุขภาพที่ต้องแบกรับจากโรคไม่ติดต่อ และปัญหาทางสังคม เช่น ปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัวที่พบมากในกลุ่มครัวเรือนที่ยากจน(6) การลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำไปสู่ความถ่างกว้างของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยโดยไม่จำเป็น ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินมาตรการราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อปกป้องสุขภาพประชาชน คือ ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อรัฐบาลประกาศใช้มาตรการนโยบายการกำหนดราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขั้นต่ำ รวมทั้งไวน์ นำไปสู่การลดการตายที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงถึงร้อยละ 13.4 และอัตราการผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลได้ร้อยละ 4.1 (7) จากการศึกษาที่ถูกรวบรวมอย่างเป็นระบบได้ยืนยันประสิทธิผลของมาตรการภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นำไปสู่การลดการป่วยและการตายจากโรคและการบาดเจ็บ (8)
การเพิ่มเวลาขายกระตุ้นให้มีนักท่องเที่ยวมากขึ้น ในทางกลับกัน ประเทศกลับเสียผลประโยชน์จากค่ารักษาพยาบาลและความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนนและการทะเลาะวิวาท รวมทั้งอาชญากรรมที่ตามมา รวมถึงภาพลักษณ์ของประเทศในการเป็นประเทศท่องเที่ยวแบบปลอดภัย จากประสบการณ์ของประเทศออสเตรเลียในรัฐนิวเซาท์เวลส์ในเขตเมืองนิวคาสเซิล ได้มีการลดเวลาเปิดผับจากตี 5 เป็นตี 3.30 และห้ามรับลูกค้าเพิ่มหลังเวลาตี 1.30 แต่ยังนั่งดื่มได้จนถึงตี 3.30 หลังจากการดำเนินมาตรการมีการศึกษาพบว่าคดีทำร้ายร่างกายลดลงร้อยละ 34 เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนดำเนินมาตรการ(9) เช่นเดียวกันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่กรุงอัมสเตอร์ดัมประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้มีการประกาศขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกไป 1 ชั่วโมงเพื่อกระตุ้นนักท่องเที่ยว[1] แต่เมื่อมีการขยายเวลาขายกลับพบว่า อัตราของการเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 ในพื้นที่ที่มีการขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่ไม่ได้ขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (10) นอกจากนี้การขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำไปสู่อาชญากรรม อุบัติเหตุซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยในการท่องเที่ยว
การผลิตสุราชุมชน กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ถึงแม้การผลิตสุราชุมชนจะเป็นการกระจายรายได้จากรายใหญ่ไปสู่รายย่อย แต่ผลที่ตามมาอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย ทั้งการควบคุมมาตรฐานของสุราที่ส่งผลเสียต่อผู้บริโภคในภายหลัง (11) การที่ต้องเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าตรวจโรงผลิตสุราชุมชนที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
สรุป
รัฐบาล มองแห็นผลประโยชน์ระยะสั้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ประเทศจะต้องทนรับผลเสียจากนโยบายที่เล็งเห็นเฉพาะผลระยะสั้นไปอีกยาว และส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะการดำเนินมาตรการขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดภาษีไวน์ และการสนับสนุนการผลิตสุราชุมชน นำไปสู่ความสูญเสียทางสุขภาพและสังคมของประชากรไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาว
เอกสารอ้างอิง
1. Luangsinsiri C, Youngkong S, Chaikledkaew U, Pattanaprateep O, Thavorncharoensap M. Economic costs of alcohol consumption in Thailand, 2021. Glob Health Res Policy. 2023;8(1):51.
2. สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ. รายงานภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย พ.ศ.2562. นนทบุรี: สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ 2566.
3. สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ. รายงานภาระโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย พ.ศ.2562. นนทบุรี: สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ; 2566.
4. Babor TF, Casswell S, Graham K, Huckle T, Livingston M, Österberg E, et al. Alcohol: No Ordinary Commodity: Research and public policy: Oxford University Press; 2022. Available from: https://doi.org/10.1093/oso/9780192844484.001.0001.
5. United Nations Thailand, Ministry of Public Health, United Nations Development Programme (UNDP), United Nations Inter-Agency Task Force (UNIATF) on the Prevention and Control of NCDs. Prevention and control of noncommunicable diseases in Thailand: The case for investment. Bangkok; 2021.
6. Bryant L, Lightowlers C. The socioeconomic distribution of alcohol-related violence in England and Wales. PLOS ONE. 2021;16(2):e0243206.
7. Wyper GMA, Mackay DF, Fraser C, Lewsey J, Robinson M, Beeston C, et al. Evaluating the impact of alcohol minimum unit pricing on deaths and hospitalisations in Scotland: a controlled interrupted time series study. The Lancet. 2023;401(10385):1361-70.
8. Wagenaar AC, Tobler AL, Komro KA. Effects of alcohol tax and price policies on morbidity and mortality: a systematic review. American Journal of Public Health. 2010;100(11):2270-8.
9. Kypri K, Jones C, McElduff P, Barker D. Effects of restricting pub closing times on night-time assaults in an Australian city. Addiction. 2011;106(2):303-10.
10. de Goeij MC, Veldhuizen EM, Buster MC, Kunst AE. The impact of extended closing times of alcohol outlets on alcohol-related injuries in the nightlife areas of Amsterdam: a controlled before-and-after evaluation. Addiction. 2015;110(6):955-64.
11. Manning L, Kowalska A. Illicit alcohol: public health risk of methanol poisoning and policy mitigation strategies. Foods. 2021;10(7).