โดยทั่วไป นักดื่มมักจะค่อยๆดื่ม ดื่มไปคุยกับเพื่อนไปกินกับแกล้มและเติมเบียร์ไป ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ร่างกายได้ค่อยๆทำลายและขับแอลกอฮอล์ออกจากกระแสเลือดซึ่งนั่นจะทำให้แอลกอฮอล์ไม่คั่งอยู่ในร่างกายของผู้ที่ดื่มมากนัก แต่ในกรณีแข่งดื่มเบียร์เป็นเหยือกๆในเวลาจำกัดนี้ จะมีลักษณะเหมือนเทแอลกอฮอล์พรวดเข้าไปในกระแสเลือดโดยไม่เว้นช่วงเวลาให้ร่างกายขับแอลกอฮอล์ออก จึงเกิดภาวะที่เรียกว่าแอลกอฮอล์เป็นพิษ (alcohol intoxication) ต่อร่างกาย และปริมาณน้ำในร่างกายที่เพิ่มขึ้นขึ้นมามากก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะ water intoxication ซึ่งส่งผลให้เกิดสมองบวมและระดับเกลือแร่ในเลือดเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วซึ่งเป็นอันตรายได้เช่นกัน
ในส่วนของพิษจากแอลกอฮอล์ หากดูตารางระดับของแอลกอฮอล์ในเลือดที่ส่งผลต่ออาการหรือความผิดปกติต่างๆจะพบว่า ที่ระดับแอลกอฮอล์ขนาดสูงอาจทำให้ผู้ดื่มหมดสติ ชีพจรช้าลง การหายใจแย่ลง จนถึงหยุดหายใจได้ ทั้งนี้เนื่องจากแอลกอฮอล์ออกฤทธิ์เป็นสารกดประสาท และในขนาดที่สูงระดับนี้ มันสามารถกดสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการหายใจและการรู้สึกตัวของผู้ที่ดื่มได้ ดังนั้น การดื่มเบียร์ เหล้า หรือไวน์ปริมาณมากในระยะเวลาอันสั้นจึงอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
โดย นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ
หลังจากผลการชันสูตรศพของพริตตี้สาวที่เสียชีวิตหลังจากรับงานเอนเตอร์เทนในปาร์ตี้แห่งหนึ่ง ซึ่งพบว่าพริตตี้รายดังกล่าวเสียชีวิตจากภาวะแอลกอฮอล์เกินขนาด โดยพบว่ามีค่าแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึง 418 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ เราเพิ่งได้รับข่าวสลดใจเรื่องวิศวกรหนุ่มรายหนึ่งที่ไปร่วมงานฉลอง และมีการดื่มเบียร์แข่งขันกันบนเวที กติกาคือใครซดเบียร์หมดเหยือกก่อนคนนั้นชนะ น่าเศร้ามากครับที่กิจกรรมที่หวังจะสร้างความสนุกกลับกลายเป็นกิจกรรมที่คร่าชีวิตคน พรากเอาชีวิตหนุ่มอนาคตไกลไปจากคนรัก
หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ก็มีการเผยแพร่ความรู้ ประชาสัมพันธ์ทั้งจากแพทย์ จากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหลายท่าน จากภัยอันตรายของการรับแอลกอฮอล์เข้าร่างกายปริมาณมากในครั้งเดียว ว่าสามารถทำให้เสียชีวิตได้ เหตุการณ์เพิ่งผ่านไปข่าวยังไม่ทันซา ก็เกิดการเสียชีวิตจากเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง
แอลกอฮอล์เป็นสินค้าไม่ปกติ ต้องควบคุม
ข้อความที่อยากจะเตือนสตินักท่องปาร์ตี้ วัยรุ่นหนุ่มสาว และนักดื่มทั้งหลายอีกครั้งคือ แอลกอฮอล์ไม่เคยเป็นสินค้าปกติ ที่ไม่ต้องการการควบคุมการบริโภค ไม่ว่าจะพิจารณาจากบรรทัดฐานของสังคมใดก็ตาม ในทางวิทยาศาสตร์มีข้อสนับสนุนทางทฤษฎีมากมายว่าแอลกอฮอล์เป็นพิษต่อร่างกายทั้งในระยะสั้น และ ระยะยาว พฤตกิรรมการดื่มหนักในเวลาสั้น ๆ แบบที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตในกรณีพริตตี้หรือหนุ่มวิศวะ มีศัพท์เฉพาะที่เรียกว่า Binge drinking ภาวะดังกล่าวนี้นิยามคือการดื่มที่มากกว่า 5 ดื่มมาตรฐานในเพศชาย และ 4 ดื่มมาตรฐานเพศหญิง ภายในเวลาน้อยกว่า 2 ชั่วโมง (1 หน่วยเท่ากับ เบียร์ 1 กระป๋อง ไวน์ 1 แก้ว เหล้า 1 แก้ว)
การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากในช่วงเวลาสั้น ๆ จะยิ่งเพิ่มอันตรายมากขึ้น ในกรณีดังต่อไปนี้
เมื่อแอลกอฮอล์เข้าไปในเลือดมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะแสดงอาการเป็นพิษออกมาตามระดับแอลกอฮอล์ที่อยู่ในเลือด โดยเริ่มตั้งแต่ การเมา เรื่อยไปจนถึงอาการคลื่นไส้อาเจียน อารมณ์เปลี่ยนแปลง หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดปกติ ไปจนถึงการเสียชีวิต
แอลกอฮอล์จะมือหนึ่งมือสองก็ล้วนอันตราย และสร้างหายนะต่อสังคม
เนื่องจากผมเคยถูกเชิญเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องยาเสพติดหลายเวที ซึ่งผู้ฟังมักเป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำงานด้านยาเสพติดมานาน แต่มีคำถามหนึ่งที่ผมถามแล้วไม่ค่อยได้รับคำตอบที่ถูกต้องนักจากผู้ถูกถาม คำถามนั้นคือ ยาเสพติดชนิดใดที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินมากที่สุด (วัดจากทั่วโลก) ผมมักได้รับคำตอบว่าเป็นเฮโรอีนบ้าง แอมเฟตามีนบ้าง หรือโคเคน ซึ่งคำตอบดังกล่าวมาจากการรับรู้ว่า ใครก็ตามที่เข้าไปในวังวนของเฮโรอีน ยาบ้า หรือ โคเคนแล้ว ยากมากที่จะเอาชีวิตหลุดจากวงจรนี้ เกือบทั้งหมดต้องใช้ชีวิตในฐานะทาสยาเสพติด และมีหลายครั้งที่กลุ่มคนเหล่านี้จบชีวิตด้วยการใช้ยาเสพติดเกินขนาด แต่ในความเป็นจริง ยาเสพติดที่อันตรายที่สุดกลับเป็นยาเสพติดที่หาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป นั่นคือแอลกอฮอล์ คำตอบที่ได้ในเรื่องนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ แต่การวิเคราะห์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากการรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่ทั่วโลก ถึงผลกระทบของยาเสพติดแต่ละชนิด ต่อตัวผู้ใช้ (ผลกระทบด้านร่างกาย จิตใจ ที่สูญเสียจากการติดยาเสพติดนั้น ๆ อัตราการตายจากยาเสพติดนั้น ๆ และการสูญเสียสัมพันธ์ภาพและทรัพย์สิน) และ ผู้อื่นที่ไม่ได้ใช้ (ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม อาชญากรรม และ ครอบครัว) แม้ว่าแอลกอฮอล์จะไม่ใช่ยาเสพติดอันดับหนึ่งที่ฆ่าชีวิตผู้ใช้โดยตรงจากการใช้เกิดขนาด แต่เมื่อรวมผลกระทบทั้งหมดที่มันสร้างขึ้น แอลกอฮอล์คือมหันตภัยอันดับหนึ่งจากยาเสพติดทุกชนิดในโลก ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะแอลกอฮอล์เป็นยาเสพติดที่เข้าถึงง่าย มีจำนวนผู้บริโภคมาก จึงสร้างผลกระทบได้มาก แม้จะมีผลกระทบต่อผู้ดื่มในระยะสั้นไม่มากเท่ายาเสพติดชนิดอื่น แต่ผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ดื่มในระยะยาวมากกว่ายาเสพติดชนิดอื่น ๆ
ในประเด็นเรื่องการเสียชีวิตของพริตตี้สาวที่เกิดจากการดื่มหนักดื่มเร็ว จนทำให้แอลกอฮอล์ในเลือดเกินขนาด อันตรายจากแอลกอฮอล์เป็นพิษไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากในประเทศไทยเรายังไม่มีระบบการเก็บสถิติในเรื่องดังกล่าว จึงเปรียบให้เห็นได้ยากว่าขนาดของปัญหานี้ใหญ่ขนาดไหน แต่จากการเก็บสถิติการเสียชีวิตด้วยภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษในสหรัฐอเมริกา พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วทุก ๆ วัน จะมีผู้เสียชีวิตจากการดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาดในประเทศสหรัฐอเมริกา 6 คน หรือปีละ 2,400 คน ซึ่งไม่ใช่น้อย ๆ เลยสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว การแพทย์เป็นอันดับหนึ่งของโลก มีระบบเฝ้าระวังมากมาย ถ้าลองย้อนกลับมาดูประเทศไทย ที่มีพฤติกรรมการดื่มที่อันตรายมากถึง 3.4% ของประชากร ก็ไม่แน่ว่าเราน่าจะมีการเสียชีวิตจากเหตุดังกล่าวทุก ๆ วัน และมีเพียงบางกรณีเท่านั้นที่ปรากฎในข่าวกระแสหลัก
สาขาวิชาระบาดวิทยา อาคารบริหาร ชั้น 6 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 15 ถ.กาญจนวนิช ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
โทรศัพท์ : 083-5775533 (เวลาราชการ 08.30 - 16.30 น.)
Copyright © 2019 CAS All rights reserved.