News, ข่าวเด่น, บทความ

นักวิชาการชี้ โฆษณาเหล้าเบียร์มีผลให้คนเริ่มดื่มหรือดื่มมากขึ้น


นักวิชาการชี้ โฆษณาเหล้าเบียร์มีผลให้คนเริ่มดื่มหรือดื่มมากขึ้น แนะการควบคุมโฆษณาแบบเบ็ดเสร็จมีประสิทธิภาพมากที่สุด การห้ามโฆษณาเพียงบางส่วนหรือการควคุมตนเองภาคสมัครใจของธุรกิจสุราไม่สามารถป้องกันการสัมผัสโฆษณาในเยาวชนได้

รศ.ดร.วิทย์ วิชัยดิษฐ นักวิชาการ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) และอาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบัน เด็กและเยาวชนทั่วโลกได้รับสื่อโฆษณาและกิจกรรมการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องในระดับสูงและเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ อุตสาหกรรมแอลกอฮอล์มีการขยายฐานลูกค้ามุ่งเป้าไปกลุ่มเยาวชน และกลุ่มผู้หญิง โดยพยายามจะเน้นไปที่ความสำคัญของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการสร้างบุคลิกลักษณะความเป็นตัวตนหรืออัตลักษณ์ของเยาวชน เนื้อหาการโฆษณาจึงได้รับการออกแบบเพื่อนำเสนอความตลกขบขัน ความคิดที่น่าสนใจ ภาพลักษณ์ สำนวน ถ้อยคำและสิ่งอื่นๆ ที่ใช้ได้ในการพูดคุยสื่อสารระหว่างเพื่อน เพื่อให้เยาวชนใช้สร้างอัตลักษณ์ที่สอดคล้องกัน หลักฐานทางวิชาการในปัจจุบันบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า โฆษณาหรือกิจกรรมการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลต่อการดื่ม มีการสรุปข้อมูลจากการทดลองในนักศึกษา ที่ให้ดูโฆษณาแอลกอฮอล์เทียบกับโฆษณาอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งพบว่า การดูโฆษณาแอลกอฮอล์มีผลเพิ่มเจตนาและพฤติกรรมการดื่มชัดเจน การเก็บข้อมูลระยะยาวในประชาชนทั่วไปก็ชี้ว่า การโฆษณามีผลทบต้น ยิ่งได้รับโฆษณาซ้ำๆ กันมากเท่าไหร่ ยิ่งมีพฤติกรรมการดื่มมากขึ้นเท่านั้น ในเยาวชนและคนหนุ่มสาว การได้รับโฆษณามีผลต่อการเริ่มดื่มในผู้ที่ไม่เคยดื่ม และการดื่มหนักในผู้ที่ดื่มอยู่แล้ว

ดร.วิทย์ กล่าวเสริมอีกว่า ในตลาดที่กำลังเติบโต การพยายามเปลี่ยนให้ผู้ที่ไม่ดื่มกลายเป็นนักดื่ม ถือเป็นหน้าที่สำคัญของการตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลยทีเดียว และการตลาดแนวนี้จะพยายามสร้างการยอมรับการดื่มให้กลายเป็นบรรทัดฐานสังคมในหลายวาระโอกาส ถ้าอิงตามทฤษฎีกระบวนการตีความสาร จะเห็นว่า การได้รับสารจากการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซ้ำๆ สารที่ผู้นั้นรับรู้ว่าเชื่อมโยงกับตนเอง จะค่อย ๆ ซึมลึกลงไปสู่ความรู้สึกนึกคิดของผู้รับสาร ทำให้มันพร้อมที่จะโผล่ออกมาในความนึกคิดได้ง่ายขึ้น หากอยู่ในภาวะที่ต้องตัดสินใจ กระบวนการนี้ คือกระบวนการสร้างบรรทัดฐาน หรือทำให้คนมองว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีอยู่อย่างแพร่หลายเป็นเรื่องธรรมดา (normalization) และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตปกติ ซึ่งเป็นการรับรู้ที่น่ากลัว และมีผลต่อพฤติกรรมของประชาชนในอนาคต ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นช้า ๆ และค่อยๆ สะสมมาเรื่อย ๆ จนผู้ที่ได้รับสื่อโฆษณาแทบจะไม่รู้ตัวว่า โฆษณามีผลต่อความรู้สึกนึกคิดของตนเพียงไร

ในด้านการควบคุมโฆษณาการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร.ศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว นักวิชาการ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) และอาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ในยุคปัจจุบันที่มีการใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลาย ทำให้เป็นการยากที่จะควบคุมการเข้าถึงโฆษณาของกลุ่มเยาวชนได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากแพล็ตฟอร์มผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียเอง การทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางโซเชียลมีเดีย พบว่า การกดไลค์ กดแชร์ การคลิกดูโฆษณา หรือการเข้าชมเว็บไซต์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น มีความสัมพันธ์ชัดเจนกับการเพิ่มการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่น่าเป็นห่วง คือ การครอบครองสินค้า ของใช้ ของที่ระลึกที่มีตราสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นที่นิยมในประเทศไทยในช่วงหลายปีมานี้จากการเข้าเป็นผู้สนับสนุนของทีมกีฬาโดยเฉพาะกีฬาฟุตบอลของธุรกิจแอลกอฮอล์ การศึกษาในประชาชนในประเทศไทยเองก็พบว่า ประชาชนที่ใช้สินค้าที่มีตราผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์มีโอกาสดื่มหนักมากกว่าประชาชนที่ไม่ใช้สินค้ามีตราดังกล่าว นอกจากนี้ การศึกษาวิจัยของทีมวิจัยเราเองซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง 89,154 คน จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติก็พบความสัมพันธ์เช่นเดียวกันกับการศึกษาในต่างประเทศ คือ ผู้ที่พบเห็นการโฆษณาแอลกอฮอล์มีโอกาสเป็นผู้ดื่มเพิ่มขึ้น 16% และมีโอกาสเป็นผู้ดื่มหนักเพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้พบเห็นการโฆษณา และในกลุ่มคนที่เป็นนักดื่มอยู่แล้วการพบเห็นโฆษณาจะเพิ่มโอกาสในการดื่มหนักขึ้นถึง 51%

นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้มีข้อมูลทั้งจากของต่างประเทศและประเทศไทยเอง จึงย้ำให้เห็นได้ชัดว่า การทำการโฆษณาการตลาดซึ่งมีเทคนิคหลากหลายส่งผลต่อการกระตุ้นการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งสิ้น ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารแพร่ผ่านกันได้ทางออนไลน์ การควบคุมการเข้าถึงโฆษณาหรือกิจกรรมการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉพาะกลุ่มประชากร รวมทั้งการควบคุมเฉพาะเนื้อหานั้นทำได้ยาก หรือในทางปฏิบัติอาจจะทำไม่ได้เลย การศึกษาในต่างประเทศในเรื่องด่านตรวจอายุในแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างเช่น ยูทูป ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ก็ยังพบว่า เทคโนโลยีในการระบุอายุของผู้เข้าชมไร้ประสิทธิภาพ หากต้องการปกป้องเยาวชนจากการถูกจูงใจให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การยังคงการควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบครบวงจรหรือการควบคุมแบบเบ็ดเสร็จจะส่งผลต่อการปกป้องเยาวชนได้ดีกว่าการควบคุมบางส่วน หรือการควบคุมภาคสมัครใจโดยภาคธุรกิจควบคุมกันเอง

News, ข่าวเด่น

“โทษนะครับ ผมไม่ดื่มเหล้าครับผม” D Gerrard ขอปฏิเสธแก้วเหล้าจากลูกค้า เพราะไม่ดื่ม ลูกค้าจึงเปลี่ยนเป็นน้ำเต้าหู้นมสดแทน นี่สิ Soft Power ของแทร่!!


“โทษนะครับ ผมไม่ดื่มเหล้าครับผม” D-Gerrard ขอปฏิเสธแก้วเหล้าจากลูกค้า เพราะไม่ดื่ม ลูกค้าจึงเปลี่ยนเป็นน้ำเต้าหู้นมสดแทน นี่สิ Soft Power ของแทร่!!

“บิ๊ก D Gerrard” ศิลปินฮิปฮอป ได้บอกเล่าเรื่องราวดีๆ ผ่านโซเชียลมีเดียส่วนตัว เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความประทับใจ หลังจากที่มีลูกค้ารายหนึ่งยื่นแก้วเหล้าให้ แต่ตนได้ปฏิเสธไปว่า “โทษนะครับ..ผมไม่ดื่มเหล้าครับผม แต่ถ้าเป็นนมหรือน้ำผลไม้จะยินดีเลยครับ!“ หลังจากพูดจบ ลูกค้าก็เดินกลับไปเปลี่ยนจากเหล้าเป็นน้ำเต้าหู้นมสดให้แทน!! ทางคุณบิ๊กจึงกล่าวขอบคุณแฟนคลับและร้าน “ขอบคุณที่เคารพทางเลือกและไม่ยัดเยียดเหล้าให้ผมนะครับ ขอบคุณร้านที่ให้ผมไปเล่น ทำให้ผมได้เจอแฟน ๆ น่ารัก ๆ ขอบคุณครับ”

บิ๊ก D Gerrard ศิลปินตัวอย่างที่ดี เท่ได้โดยต้องพึ่งเหล้า แต่พัฒนาวงการเพลงฮิปฮอปของไทยเป็น Soft Power ได้ ฝากสนับสนุนและติดตามผลงานของคุณบิ๊กกันนะคะ

เมื่อกลับมามองแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ต้องการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาใช้เป็นเครื่องมือสร้างซอฟพาวเวอร์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ในขณะที่ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าแนวทางนี้จะเกิดประโยชน์มากกว่าความสูญเสีย เพราะทุกวันนี้เรายังพบเห็นอุบัติเหตุบนท้องถนน การทะเลาะวิวาท ความรุนแรงทางเพศ และอาชญากรรมที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้งยังเป็นการลดทอนภาพลักษณ์ของประเทศในการเป็นประเทศท่องเที่ยวแบบปลอดภัย ประเทศแห่งวัฒนธรรม ในทางกลับกัน หากรัฐบาลเปลี่ยนแนวทางในการสร้างซอฟพาวเวอร์เป็นการสนับสนุนและพัฒนาวงการเพลงไทย ผลักดัน T-POP ให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก หรือแม้แต่การดื่มน้ำเต้าหู้นมสดแทนเหล้า น่าจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีและแน่นอนว่าแนวทางนี้ไม่สร้างผลกระทบต่อบุคคลอื่นและสังคมอย่างแน่นอน

#SoftPowerGenใหม่ไร้แอลกอฮอล์

News, ข่าวเด่น

นักวิชาการด้านนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลกยกไทยเป็นตัวอย่างที่ดีของการมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


นักวิชาการด้านนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลกยกประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีของการมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ช่วยลดการดื่มสุราและอัตราตายของประชาชนได้ แม้ว่าจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นก็ตาม

การพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ส่งผลต่ออายุขัยของประชาชนของประเทศนั้น ในประเทศที่ร่ำรวย ประชาชนมักมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่า และมีสาเหตุการตายที่ต่างไปจากประเทศที่ยากจน รวมทั้งมีอัตราตายของประชากรต่ำกว่าด้วย การพัฒนาทางเศรษฐกิจมีผลต่อการดื่มสุราด้วย ประเทศที่มีระดับรายได้สูงและรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูงมักมีระดับปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉลี่ยสูงกว่า และมีอัตราผู้ที่ไม่ดื่มต่ำกว่าประเทศที่มีรายได้น้อยหรือรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ ทั้งนี้เพราะ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้เป็นสินค้าอุปโภคที่จำเป็น การที่ประชาชนในประเทศยากจนไม่ดื่มสุราจึงมักเกิดจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจกลับเป็นปัจจัยหนึ่งที่นอกเหนือจากปัจจัยด้านศาสนา วัฒนธรรมประเพณีและสังคม ที่มีผลให้ประชาชนในประเทศดื่มสุรามากขึ้น เพราะเมื่อระดับเศรษฐกิจของประเทศขยับสูงขึ้น ประชาชนมีเงินจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นก็อาจจะนำไปซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และประเทศนั้นก็มักจะตกเป็นเป้าหมายของอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ที่จะขยายตลาดเช่นกัน ที่มักใช้โฆษณาและเทคนิคทางการตลาดเพื่อชักชวนให้คนดื่มสุรามากขึ้น

แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว การพัฒนาจากประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลางไปเป็นรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 กลับไม่ทำให้อัตราตายจากทุกสาเหตุและอัตราตายที่สัมพันธ์กับการดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประเทศมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ดีมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และมีระบบการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ดีที่ทำให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีราคาสูง นอกจากนั้น ยังมีการกำหนดอายุต่ำสุดของบุคคลที่จะซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เป็น 20 ปี และมีมาตรการจำกัดวันเวลา และสถานที่ในการซื้อและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเป็นการจำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางกายภาพที่มีประสิทธิภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเวียดนามซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากเช่นกัน จนทำให้ประเทศขยับจากประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางในช่วงเวลาเดียวกันกับประเทศไทย แต่ด้วยเหตุที่กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมทั้งการเก็บภาษีแอลกอฮอล์ของเวียดนามไม่ได้เข้มงวดเท่าประเทศไทย ระดับการบริโภคเครื่องดื่มของเวียดนามและอัตราตายที่สัมพันธ์กับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรเวียดนามจึงเพิ่มสูงขึ้นตามไปกับรายได้เฉลี่ยประชาชาติที่เพิ่มขึ้น ดังแสดงในตารางนี้

สรุปมาจากบทความ: Rehm, J*., Rovira, P., Shield, K., Sornpaisarn, B., Thang, V. V., & Room, R. (2024). Alcohol use, economic development and health burden: A conceptual framework. International Journal of Alcohol and Drug Research. https://doi.org/10.7895/ijadr.43
ศาสตราจารย์เจอร์เกน เรห์ม ผู้เขียนชื่อแรกของบทความนี้เป็นนักวิชาการด้านนโยบายแอลกอฮอล์ผู้มีชื่อเสียงระดับโลก และมีผลงานวิจัยด้านนโยบายแอลกอฮอล์และผลกระทบต่อสุขภาพและสังคมสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก

News, ข่าวเด่น, บทความ

การจำกัดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเพื่อควบคุมผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อความสงบสุข ความปลอดภัย และสุขภาวะของประชาชนโดยรวมจำเป็นแค่ไหน!?


การจำกัดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเพื่อควบคุมผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อความสงบสุข ความปลอดภัย และสุขภาวะของประชาชนโดยรวมจำเป็นแค่ไหน

โดย นางสาวจินตนา จันทร์โคตรแก้ว สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ

กฎหมายได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้เกิดความสงบสุขของคนในสังคมโดยรวม การควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เช่นกัน ปัจจุบันสังคมให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล จนบางครั้งอาจไม่ได้คำนึงถึงความสงบสุขโดยรวมของสังคม เช่นเดียวกันกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นประเด็นในสังคมที่หยิบยกออกมาโต้แย้งว่า ประเทศไทยมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลโดยใช้นโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากจนเกินไปจนไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ทั้งการจำกัดสถานที่ห้ามดื่มและห้ามขาย จำกัดเวลาการขาย การห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บทความนี้จะฉายภาพให้เห็นอีกด้านของผลกระทบและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิส่วนบุคคลเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในสังคม

ขอบเขตและสิทธิเสรีภาพของบุคคลในรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทยฉบับพุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๕ ระบุไว้ว่า สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะ ในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจํากัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทําการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น นั่นแสดงให้เห็นว่าการมีสิทธิเสรีภาพมีขอบเขต บุคคลมีสิทธิในการกระทำใดใด หากการกระทำดังกล่าวไม่ไปกระทบเสรีภาพของบุคคลอื่น ดังนั้นจึงขอไล่เรียงข้อโต้แย้งในคำกล่าวที่ว่า การควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลิดรอนสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเกินความจำเป็นดังนี้

  • การจำกัดสถานที่ห้ามขายและห้ามดื่มเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลหรือไม่ สังคมจะเป็นเช่นไร หากสามารถขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ทุกที่ หากสังคมเป็นเช่นนั้น การกระทำของบุคคลเพียงคนหรือสองคนอาจจะทำให้คนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนชายหาด ซึ่งชายหาดเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่คนทั่วไปใช้ชีวิตเพื่อพักผ่อนและใช้เวลาร่วมกัน แต่หากมีกลุ่มคนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วส่งเสียงดังทะเลาะวิวาท การเรียกร้องสิทธิแบบนี้มีความยุติธรรมกับคนที่ใช้พื้นที่ดังกล่าวจริงหรือ เช่นเดียวกัน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งรถโดยสารสาธารณะเป็นสถานที่สำหรับผู้เดินทางและคนในสังคมต้องการความปลอดภัยในชีวิต หากมีเพียงคนเดียวดื่มและส่งเสียงดัง อาจจะทำให้ผู้ร่วมโดยสารคนอื่นๆ รู้สึกไม่ปลอดภัย จากหลักฐานเชิงประจักษ์ การควบคุมสถานที่ห้ามขายและห้ามดื่มเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (1) นอกจากนี้การจำกัดใบอนุญาตในการห้ามขายก็มีความจำเป็นเนื่องจากจำนวนใบอนุญาตที่มากขึ้นนำไปสู่การดื่ม (2) และปัญหาที่ตามมา (3) ประเทศนิวซีแลนด์เป็นตัวอย่างในการจำกัดใบอนุญาตการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะร้านที่มีที่นั่งดื่ม โดยการที่จะมีร้านที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้นั้นจะต้องได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการหลากหลายภาคส่วน ในกระบวนการออกใบอนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น จะต้องมีการติดประกาศเพื่อให้ทราบล่วงหน้าว่า กำลังจะมีร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เปิดขึ้น และประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงสามารถคัดค้านการเปิดได้หากมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากร้านที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดังกล่าว (4) นอกจากนี้ ในสหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ได้มีความพยายามในการจำกัดจำนวนของร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะร้านแบบนั่งดื่ม (5, 6) เช่น ผับบาร์ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งเสียงและการทะเลาะวิวาทที่ตามมา เพื่อรักษาความสงบของพื้นที่ที่อยู่อาศัย ดังนั้น การจำกัดพื้นที่ห้ามดื่มและห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และจำนวนใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงจำเป็น เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้กระทบเพียงคนดื่ม แต่กระทบความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม
  • การจำกัดเวลาห้ามขายในบางช่วงเวลาเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลหรือไม่ การควบคุมเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความจำเป็น เพราะบางช่วงเวลามีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น จากข่าวกรณีที่มีคนขับรถกลับจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงใกล้รุ่งแล้วรถพุ่งชนนักปั่นจักรยานสองคนเสียชีวิต (7) เป็นกรณีตัวอย่างของผลกระทบว่า การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ทำให้เกิดผลที่ตามมาซึ่งไปกระทบสิทธิของผู้อื่น บางคนอาจจะมองว่า ประเทศอื่นมีการเปิดผับถึงตี 4 แต่หากไปดูสถิติในการลงทุนกับการรักษาความปลอดภัยโดยรวมนั้น ประเทศไทยยังห่างไกลจากประเทศเหล่านั้นอยู่มาก เช่น อัตราการสุ่มตรวจระดับแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ในประเทศนิวซีแลนด์ โดยเฉลี่ยแล้ว ใน 1 ปีพลเมืองที่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์มีโอกาสถูกตรวจระดับแอลกอฮอล์จากลมหายใจอย่างน้อย 1 ครั้ง (8, 9) ซึ่งประเทศชาติต้องลงทุนกับมาตรการดังกล่าวมหาศาลเพื่อทำให้คนไทยมีความปลอดภัยในชีวิตจากการดื่มและขับ และประเทศไทยเองก็มีปัญหาต่าง ๆ ที่ต้องเร่งแก้ไขมากมาย แล้วเราจะมีทรัพยากรเพียงพอเท่าประเทศเหล่านั้นเพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นไม่ให้ได้รับผลกระทบจริงหรือ นอกจากการดื่มแล้วขับ ยังไม่ได้รวมถึงผลกระทบอื่น ๆที่ ตามมา เช่น การส่งเสียงดังและทะเลาะวิวาท คดีอาชญากรรม
  • การห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการลิดรอนสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับพุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๓๔ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน  การควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นหากพิจารณาตามสิทธิส่วนบุคคล อาจจะเป็นการลิดรอนสิทธิในระยะสั้น แต่รัฐไม่ควรพิจารณาเพียงสิทธิเสรีภาพระยะสั้น เพราะการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลกระทบในระยะยาว เพราะการโฆษณาทำงานกับสมอง โดยการสร้างเนื้อหา ภาพและเสียงเพื่อกระตุ้นให้สมองมีการรับรู้และการเปิดรับผลิตภัณฑ์และแบรนด์ นำไปสู่การรู้สึกเป็นเจ้าของในแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์นั้น และหากสินค้าดังกล่าวเป็นอันตรายต่อสุขภาพ รัฐจึงควรเข้ามาปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากผลกระทบในระยะยาว ปัจจุบันสื่อและการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้เข้ามาผ่านช่องทางเดิมที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เทคโนโลยีทำให้สื่อและการโฆษณาเข้ามาอยู่ในทุกมุม ทุกกิจกรรมของชีวิต และหากคนกลุ่มที่น่ากังวลและควรปกป้องมากที่สุด คือ กลุ่มเยาวชน จะเลวร้ายแค่ไหนหากเด็กและลูกหลานของเราเห็นโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากคนที่มีชื่อเสียงและคนที่เขายกย่องเป็นประจำ จนมองว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องปกติและโก้เก๋ นำไปสู่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเขาต่อมา (10) และเมื่อปรากฏการณ์นั้นเกิดขึ้น ก็ไม่ต่างจากการมอมเมาเด็กและเยาวชน และชี้ทิศทางไปในทางที่เขาไม่ได้เลือกจากสิทธิและเสรีภาพที่เขามีจริง ๆ แต่เกิดจากการที่ผู้ใหญ่หรือบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เรียกร้องสิทธิในการโฆษณาเพื่อผลกระโยชน์ของตนในระยะสั้น แต่ลืมสิทธิและเสรีภาพของลูกหลานในอนาคตที่เขาไม่มีสิทธิเลือก ดังนั้น กฎหมายควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นจึงมีความจำเป็นในการจำกัดสิทธิเสรีภาพในระยะสั้น และปกป้องสิทธิเสรีภาพในระยะยาว และสร้างเส้นทางเลือกให้กับสิทธิในการมีสุขภาพดีของลูกหลานประชาชนไทย

สรุป
สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลมีได้ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้น ไม่กระทบกระเทือนความสงบเรียบร้อยและไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น ดังนั้นรัฐจึงมีความชอบธรรมในการจำกัดวัน เวลา และสถานที่ในการขายและดื่ม รวมทั้งการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะสิทธิในการดื่มและขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการโฆษณากระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมและสุขภาวะของสังคมโดยรวม

เอกสารอ้างอิง
1. World Health organization. “Best buys’ and other recommended interventions for the prevention and control of noncommunicable diseases: updated(2017) appendix 3 of the Global Action Plan for the Prevention and Control of Noncommunicable diseases 2013-2020. Geneva: World Health Organization; 2017.
2. Popova S, Giesbrecht N, Bekmuradov D, Patra J. Hours and days of sale and density of alcohol outlets: impacts on alcohol consumption and damage: a systematic review. Alcohol Alcohol. 2009;44(5):500-16.
3. Campbell CA, Hahn RA, Elder R, Brewer R, Chattopadhyay S, Fielding J, et al. The Effectiveness of Limiting Alcohol Outlet Density As a Means of Reducing Excessive Alcohol Consumption and Alcohol-Related Harms. American Journal of Preventive Medicine. 2009;37(6):556-69.
4. Sale and Supply of Alcohol Act 2012, (2012).
5. Wilkinson C, MacLean S, Room R. Restricting alcohol outlet density through cumulative impact provisions in planning law: Challenges and opportunities for local governments. Health & Place. 2020;61:102227.
6. Pliakas T, Egan M, Gibbons J, Ashton C, Hart J, Lock K. Do cumulative impact zones reduce alcohol availability in UK high streets? Assessment of a natural experiment introducing a new licensing policy. The Lancet. 2016;388:S94.
7. เดลินิวส์. ซ่อนเหล้า? หนุ่มวัย 26 ซิ่งเสยกลุ่มนักปั่นเสือภูเขากวาดยกแก๊งดับ2เจ็บ5. เดลินิวส์,. 2567 10 มีนาคม 2567.
8. Police across New Zealand performed more than three million breath screening tests (BSTs) in 2023, more than 26% above 2022 figures, and the most in a decade [Internet]. National News. 2024 [cited March,17, 2024]. Available from: https://www.police.govt.nz/news/release/breath-screening-tests-exceed-3-million-2023.
9. New Zealand Transport Agency. Driver licence holders dataset & API 2024 [Available from: https://opendata-nzta.opendata.arcgis.com/search?q=license%20holder.
10. Padon AA, Rimal RN, Siegel M, DeJong W, Naimi TS, JernFigan DH. Alcohol brand use of youth-appealing advertising and consumption by youth and adults. J Public Health Res. 2018;7(1):1269.

News, ข่าวเด่น, บทความ, สื่อเผยแพร่

“อินฟลูสายเหล้า”: เทรนด์บุคคลธรรมดา และ nano influencer ที่อาจชี้นำการดื่ม

“อินฟลูสายเหล้า”: เทรนด์บุคคลธรรมดาและ nano influencer ที่อาจชี้นำการดื่ม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่
ผู้จัดการโครงการการศึกษา พัฒนา ขยายผลการเฝ้าระวังและจัดการความรู้ผลิตภัณฑ์เสี่ยงสุขภาพ

ประเทศไทย มี “อินฟลูเอนเซอร์” จำนวนสูงถึง 2 ล้านราย เป็นที่สองรองจากประเทศอินโดนีเซีย ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) อุตสาหกรรมที่มีการใช้การตลาดอินฟลูเอนเซอร์มากที่สุดของประเทศไทยในปี 2565 อันดับ 1 ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม คิดเป็นสัดส่วนถึง 39% เหตุผลที่ใช้อินฟลูเอนเซอร์ คือ เพื่อจูงใจให้ซื้อสินค้า สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้ที่มีพฤติกรรมชมการรีวิวจากอินฟลูเอนเซอร์ก่อนตัดสินใจซื้อ พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า การตลาดอินฟลูเอนเซอร์มีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยอย่างมาก อินฟลูเอนเซอร์แบ่งเป็น 4 ระดับ ตั้งแต่ระดับ nano influencer มีจำนวนผู้ติดตามตั้งแต่ 1,000 ถึง 10,000 ราย ไปจนถึงระดับ mega ที่มีผู้ติดตาม 1ล้านรายเป็นต้นไป ซึ่งอินฟลูเอนเซอร์ระดับ nano คือ บุคคลธรรมดา นั่นเองที่มีผู้ติดตามระดับพันรายขึ้นไป

ข้อดีของการใช้การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นระดับ nano หรือการเป็นบุคคลธรรมดา คือการเข้าถึงที่ง่าย ดูสมจริง ดูจริงใจมากกว่าโฆษณาตรง เหมือนเพื่อนเล่าให้ฟังแบบปากต่อปาก เห็นการใช้สินค้าโดยตรงด้วยตนเอง มีการบรรยายสรรพคุณแบบเล่าให้ฟัง ชี้เป้าแหล่งขายและบอกราคาอย่างแนบเนียน การตลาดผ่าน nano อินฟลูเอนเซอร์ มีความน่าสนใจและมีจำนวนอินฟลูเอนเซอร์จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะตอบโจทย์ทางจิตวิทยาผู้บริโภคว่า มนุษย์จะเชื่อคนใกล้ตัว เชื่อเพื่อนหรือคนธรรมดารายอื่นๆ และคิดว่าจริงมากกว่าการใช้ดารา การใช้อินฟลูเอนเซอร์ ไม่ว่าระดับใด เพื่อนำเสนอสินค้า บรรยายสรรพคุณ บอกข้อดี สาธิต แสดงให้เห็น บอกแหล่งขาย ราคา ก็เพื่อการชักจูงใจ ชวนให้สนใจ จดจำชื่อยี่ห้อได้ และนำไปสู่การซื้อสินค้าในที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการกดซื้อทันทีผ่านตะกร้าสินค้าอัตโนมัติที่อินฟลูเอนเซอร์ฝากลิงค์ไว้ในสื่อที่ตนเองนำเสนอ หรือจำชื่อยี่ห้อ จำคุณสมบัติได้เพื่อทดลองใช้และซื้อในภายหลัง

ในการใช้การตลาด nano อินฟลูเอนเซอร์ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือ “อินฟลูสายเหล้า” ก็มีให้พบเห็นจำนวนหลายรายในสื่อ social media โดยมีการสื่อสารอย่างแนบเนียน นำเสนอเครื่องดื่ม ดื่มให้ชมหรือไม่ดื่มให้ชมแต่บรรยายคุณสมบัติ และแสดงตราสินค้าให้เห็นอย่างชัดเจนหรือบอกชื่อยี่ห้ออย่างชัดเจน ถึงแม้บุคคลนั้นจะไม่ได้เป็นผู้ขายโดยตรงก็ตาม ไม่ได้เปิดร้าน แต่เป็นผู้นำเสนอคอนเทนต์ ที่อาจมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการซื้อการใช้ให้ผู้รับสารอยากตามรอยอินฟลูเอนเซอร์ กระตุ้นความสนใจและความคิด และตอบสนองจิตวิทยาของผู้บริโภคสมัยใหม่ที่จะค้นหาคอนเทนต์ของอินฟลูเอนเซอร์หรือฟังรีวิวก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า ซึ่งนับเป็นการโฆษณารูปแบบหนึ่ง ส่งเสริมแบรนด์ เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการขายผ่านสื่อ ผ่านบุคคล ถือว่า เป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารการตลาดนั่นเอง ทั้งนี้ อินฟลูเอนเซอร์สายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แตกต่างจากคนทั่วไปที่อาจแสดงภาพงานเลี้ยง กำลังทานอาหาร สังสรรค์แล้วติดขวดเครื่องดื่ม ตรงที่เจตนาในการส่งเสริมการขาย ความถี่ในการนำเสนอ ความชัดเจนและเจตนาในการประชาสัมพันธ์ชื่อสินค้า ถึงแม้จะเป็นบุคคลธรรมดาเหมือนกัน

ในด้านผลกระทบของอินฟลูเอนเซอร์ต่อการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลวิจัยจำนวนมากต่างบ่งชี้ตรงกันว่า การรับชมอินฟลูเอนเซอร์สายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีผลทำให้วัยรุ่นระดับมัธยม ดื่มเพิ่มขึ้น ผลการวิจัยกลุ่มนักเรียนมัธยมปลายจำนวน 3,121 รายในไต้หวัน พบว่า วัยรุ่นที่รับชมอินฟลูเอนเซอร์สายรีวิวเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีแนวโน้มจะดื่มและจะซื้อเพิ่มมากขึ้น

ผลวิจัยจาก Strowger, Guzman, Ward, Braitman (2023) พบว่า ทั้งอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นนักแสดง อินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นบุคคลธรรมดาและอินฟลูเอนเซอร์ประเภทอื่นๆ ต่างมีผลต่อการดื่มที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้รับชมที่เป็นวัยรุ่น ผลวิจัยจาก Vranken, Beullens, Geyskens, Matthes (2023) พบว่า วัยรุ่นชอบรับชมอินฟลูเอนเซอร์สายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอินฟลูเอนเซอร์สายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่อการเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นทางบวก Hendriks, Wilmsen, Dalen, Gebhardt (2020) ระบุว่า ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใช้อินฟลูเอนเซอร์เพื่อเลี่ยงกฎหมายในการเข้าถึงเยาวชน ผลวิจัยยังพบว่า อินฟลูเอนเซอร์จะเสนอคอนเทนต์ที่สื่อถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในแนวบวกผสานไปกับวิถีชีวิต และมีผลต่อการดื่มในกลุ่มวัยรุ่นอายุน้อย

ด้วยอิทธิพลจูงใจและการนำเสนออย่างแนบเนียนของอินฟลูเอนเซอร์และจำนวนอินฟลูเอนเซอร์ที่ทวีมากขึ้น WHO จึงระบุว่า ต้องมีการควบคุมการตลาดดิจิตัล โดยเฉพาะการสื่อสารข้ามประเทศด้วยการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ หลายประเทศ อย่างอังกฤษ นอร์เวย์ และสหรัฐอเมริกา มีระเบียบที่บังคับให้อินฟลูเอนเซอร์แสดงความสัมพันธ์ว่า ได้รับจ้างมาจากแบรนด์ที่อินฟลูเอนเซอร์รับรีวิวสินค้าให้ เพื่อเป็นความยุติธรรมต่อผู้บริโภคและผู้รับชม และพบว่า เริ่มมีเสียงเรียกร้องในประเทศไทยให้มีการควบคุมคอนเทนต์ในสื่อดิจิตัลด้วยเช่นกัน เพื่อปกป้องเยาวชนต่อเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงและไม่ผ่านการคัดกรองใดๆ ทาง สภาพัฒน์ฯ ได้เสนอให้มีกฎหมายควบคุม เช่นเดียวกับในต่างประเทศ ส่วนสภาองค์กรของผู้บริโภค มีข้อเสนอยกร่างจรรยาบรรณขั้นพื้นฐานเพื่อเป็นแนวทางให้อินฟลูเอนเซอร์ และควรมีกฎหมายกำกับ พร้อมขึ้นทะเบียนอินฟลูเอนเซอร์เพื่อให้ผู้นำเสนอคอนเทนต์ต้องร่วมรับผิดชอบกรณีหากมีการกระทำไม่เหมาะสม

อ้างอิงข้อมูลจาก:
1) ตลาดอินฟลูเอนเซอร์โตต่อเนื่อง แต่ตัวตนต้องชัดเจนจึงจะอยู่รอด. สืบค้น 8 มีนาคม 2567 จาก https://www.dataxet.co/media-landscape/2024-th/influencer มกราคม 2567.
2) อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มไทยติดโผใช้”อินฟลูเอนเซอร์” มากที่สุด. สืบค้น 8 มีนาคม 2567 จาก กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1102638.
Chun-Yin Hou, Tzu-Fu Huang, Fong-Ching Chang, Tsu-En Yu, Tai-Yu Chen, Chiung-Hui Chiu, Ping-Hung Chen, Jeng-Tung Chiang, Nae-Fang Miao, Hung-Yi Chuang. (2023 May). Behav Sci (Basel). 13(5): 374.doi: 10.3390/bs13050374.
3) Strowger,Guzman,Ward,Braitman. (2023). Following social media influencers who share alcohol-related content is associated with college drinking. Drug and Alcohol Review. ;43(1):86-97.doi: 10.1111/dar.13694.
4) Vranken,Beullens,Geyskens,Matthes. (2023). Under the influence of (alcohol)influencers? A qualitative study examining Belgian adolescents’ evaluations of alcohol-related Instagram images from influencers. Journal of Children and Media, 17:1, 134-153, DOI: 10.1080/17482798.2022.2157457.
5) Hendriks,Wilmsen,Dalen,Gebhardt. (2020).Picture me drinking: alcohol-related posts by Instagram influencers popular among adolescents and young adults. Frontiers in Psychology, 10,DOI:10.3389/fpsyg.2019.02991.
6) ไทยควรมีกฎหมายคุม “อินฟลูเอนเซอร์” หรือไม่. สืบค้น 8 มีนาคม 2567 จาก สำนักข่าวไทย https://tna.mcot.net/business-1330246.

News, ข่าวเด่น

ดราม่า vs ข้อเท็จจริง ฉลากเหล้าเบียร์


ดราม่า vs ข้อเท็จจริง ฉลากเหล้าเบียร์

“#ฉลากน่ากลัว”
“#ฉลากสยอง”
“#ฉลากโง่เราจะตายกันหมด”

แฮทแท็กที่กำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในตอนนี้ อาจจะเป็นความพยายามที่จะสร้างกระแสให้สังคมเห็นว่า ร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ. …. ของกระทรวงสาธารณสุขที่กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปในขณะนี้ เป็นกฎหมายที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นประโยชน์ หรือเป็นผลเสียต่ออุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทย จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมาย จึงอยากชวนตั้งคำถามว่า แล้วข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร?

ทำไมต้องมีฉลากคำเตือนด้านสุขภาพบนขวดเหล้าเบียร์?

บทบาทสำคัญของฉลากคำเตือนด้านสุขภาพบนขวดหรือกระป๋องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ การให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเครื่องดื่มฯ ให้กับผู้บริโภค เป็นการทำให้สังคมและผู้บริโภคเห็นว่า  เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แตกต่างจากสินค้าทั่วไป เพราะเป็นสินค้าที่เป็นอันตรายและก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ได้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนบทบาททางวัฒนธรรมของสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเปลี่ยนจากการยอมรับมันโดยไม่ได้ไตร่ตรองในชีวิตประจำวัน มาเป็นการคิดถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างรอบคอบมากขึ้น และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า ฉลากคำเตือนด้านสุขภาพส่งผลต่อความรู้ ความตระหนัก ความตั้งใจ และการรับรู้ต่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีผลกระทบในระยะสั้นต่อการดื่มและพฤติกรรมเสี่ยงจากการดื่ม ประเทศต่าง ๆ จำนวน 47 ประเทศ มีการบังคับให้มีฉลากคำเตือนด้านสุขภาพบนขวดหรือภาชนะบรรจุเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ เนื้อหาของฉลากคำเตือนมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ยกตัวอย่าง เช่น

  • ประเทศฝรั่งเศสและออสเตรเลีย เน้นความเสี่ยงและผลกระทบจากการดื่มระหว่างตั้งครรภ์บนฉลากคำเตือน
  • ประเทศแอฟริกาใต้ มีฉลากคำเตือนด้านสุขภาพอย่างน้อย 1 ใน 7 ข้อความที่กำหนดไว้แล้ว รวมถึงความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและการเสพติด ซึ่งเทียบเคียงกับของประเทศไทย
  • ประเทศแคนาดา เขตยูคอน (Yukon Territory) มีฉลากคำเตือนด้านสุขภาพ โดยออกแบบชุดข้อความที่เป็นคำเตือนเกี่ยวกับมะเร็ง ดังแสดงในภาพที่ 1


    ภาพที่ 1 ฉลากคำเตือนความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งบนภาชนะบรรจุแอลกอฮอล์ในงานวิจัยในเขตยูคอน (Yukon Territory) ประเทศแคนาดา   ทำซ้ำจาก Schoueri-Mychasiw N, Weerasinghe A, Vallance K, et al. (2020) Examining the impact of alcohol labels on awareness and knowledge of national drinking guidelines: A real-world study in Yukon, Canada. Journal of Studies on Alcohol and Drugs, 81 262-272. doi:10.15288/jsad.200.81.262 under a CC-BY-4.0 license.

การศึกษาของประเทศแคนาดาเน้นว่า ฉลากมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดื่มในกรอบเวลาที่สั้น เช่น ในทันทีที่เห็นฉลากคำเตือน หรือคาดว่า จะลดการซื้อหาเครื่องดื่มในร้านค้า หรือลดการเติมเครื่องดื่มลงในแก้วเมื่อมองเห็นฉลากคำเตือนเหล่านี้ แล้วหยุดคิด และตัดสินใจวางเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลง หรืออาจจะส่งผลกระทบหลังจากเวลานั้นเล็กน้อย เช่น มีการพูดคุยกับสมาชิกครอบครัว ลูกหลาน เมื่อได้เห็นฉลากคำเตือนด้านสุขภาพบนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม

สรุปได้ว่า ฉลากที่เห็นได้ชัดเจนพร้อมข้อความคำเตือนด้านสุขภาพ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์และมีประสิทธิผลในระดับชุมชน เพื่อให้รับทราบแนวทางข้อแนะนำด้านการดื่มสุรา ส่งเสริมความตระหนักรู้ความเสี่ยงต่อมะเร็งจากการดื่ม และลดการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเก็บไว้ในตู้เย็นที่บ้าน

กลไกประสิทธิผลของฉลากคำเตือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


ปัญหาฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปัจจุบันที่น่ากังวลมีอะไรบ้าง?

          ฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยในปัจจุบันมีขนาดเล็ก ตัวอักษรอ่านยาก และจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการสนับสนุนมาตรการกำหนดข้อความคำเตือนบนฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2565 โดยสวนดุสิตโพล พบว่า กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 60 ไม่เคยอ่านฉลากก่อนซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และในกลุ่มที่อ่านฉลาก ร้อยละ 47 ให้ความสำคัญเฉพาะข้อมูลความเข้มข้นของปริมาณแอลกอฮอล์ และร้อยละ 17 ให้ความสำคัญปริมาณบรรจุ โดยมีเพียงร้อยละ 9.3 ที่อ่านคำเตือน นั่นอาจสะท้อนได้ว่า ฉลากคำเตือนแบบตัวหนังสือที่มีอยู่อาจไม่โดดเด่นพอ และจากการศึกษาการรับรู้และความคิดเห็นต่อรูปแบบฉลากคำเตือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี 2560 พบว่า กลุ่มเยาวชนส่วนใหญ่เสนอว่า อยากให้มีรูปภาพคำเตือนร่วมกับข้อความคำเตือนด้วย ซึ่งข้อความคำเตือนควรมีลักษณะสั้น กระชับ และควรเน้นให้เห็นโทษและผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ควรเน้นคำว่า “ตาย” “พิการ” “มะเร็งตับ” โดยออกแบบสีและขนาดให้มองเห็นได้ง่ายทั้งในที่มืดด้วย และภาพคำเตือนควรมีขนาดที่ใหญ่ ติดบริเวณด้านหน้าขวดคู่กับตรายี่ห้อ โดยกลุ่มตัวอย่างให้เหตุผลว่า ภาพคำเตือนทำให้รู้สึกกลัวไม่กล้าดื่มหรือลดความอยากซื้อ ได้มากกว่าการแสดงข้อความคำเตือนเพียงอย่างเดียว


ร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า ไม่สอดคล้องกับการเร่งผลักดันฟื้นฟูและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จริงหรือไม่?

เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ คือการมุ่งเน้นในการลดความดึงดูดของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อกลุ่มเด็กและเยาวชน ยังไม่มีหลักฐานวิชาการที่ชี้ให้เห็นว่า การออกแบบฉลากน่ากลัวมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) เพราะสิ่งจูงใจที่ทำให้นักท่องเที่ยวมาประเทศไทยไทยไม่ใช่การขาย การดื่ม หรือฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่นักท่องเที่ยวส่วนมากอยากมาเที่ยวประเทศไทยเพราะต้องการมาเที่ยวทะเล ป่าเขา ชื่นชมธรรมชาติที่งดงาม ชื่นชอบอาหารที่เอร็ดอร่อย หรือมองว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ราคาถูก ทั้งโรงแรมที่พักและอาหารการกินเมื่อเทียบกับคุณภาพ ประเทศไทยไม่ใช่แหล่งแอลกอฮอล์ระดับโลกแบบเดียวกับฝรั่งเศสหรืออิตาลี นอกจากนี้ ยังไม่เคยมีการสำรวจที่บ่งว่า นักท่องเที่ยวจะหลีกเลี่ยงการมาเมืองไทย หรือแม้กระทั่งหลีกเลี่ยงการดื่มเบียร์ในประเทศไทย เพียงเพราะฉลากมีข้อความและภาพน่ากลัว และที่สำคัญ ฉลากไม่ได้ทำให้รสชาติแอลกอฮอล์เสียไป ไม่มีหลักฐานว่า การเปลี่ยนแปลงลักษณะคำเตือนบนฉลากจะทำให้ต้นทุนของการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่อาจส่งเสริมการท่องเที่ยวเสียด้วยซ้ำไป เนื่องจากการมีคำเตือนในฉลากอาจช่วยสร้างความตระหนักและลดโอกาสในการเกิดการดื่มที่มากจนเป็นอันตราย และอุบัติเหตุทางถนน

ถึงแม้ว่ายังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนที่แสดงถึงผลของฉลากต่อพฤติกรรมการบริโภค แต่นักวิชาการนานาชาติได้ให้ข้อสังเกตว่า

  • การที่ผู้บริโภคสามารถรับรู้ & จดจำความเสี่ยงและอันตรายของผลิตภัณฑ์ได้ ถึงแม้ว่าจะเลือกที่จะละเลยไม่ปฏิบัติตามคำเตือน ก็ถือเป็นความสำเร็จของมาตรการนี้แล้ว
  • ฉลากคำเตือนอาจไม่สามารถที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มได้ทุกครั้ง แต่จะสร้างความตระหนักว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าธรรมดาทั่วไป
  • รูปแบบ ดีไซน์ และรายละเอียดของคำเตือนที่บังคับใช้ยังอยู่มีข้อจำกัดมาก โดยเฉพาะประสิทธิภาพในการสื่อสารผู้บริโภค
  • ฉลากคำเตือนเป็นมาตรการที่ลงทุนต่ำและความคุ้มค่า เทียบการการรณรงค์ประชาสัมพันธ์อื่นๆ ในการสื่อสารข้อมูลความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์
  • มาตรการฉลากคำเตือนน่าจะมีศักยภาพช่วยเสริมประสิทธิผลของมาตรการอื่นๆ หากนำไปเชื่อมโยงกัน เช่น มาตรการการรณรงค์ของชุมชนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายแอลกอฮอล์ หรือ เพิ่มความเคร่งครัดของกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

สุดท้ายนี้ จากหลักฐานทางวิชาการ เป็นที่แน่นอนว่า ฉลากคำเตือนทำหน้าที่เป็นเครื่องมือ ณ จุดสุดท้ายที่จะทำให้ผู้บริโภคมีความรู้ ความตระหนักต่อโทษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และฉุกคิดตรึกตรองอีกครั้ง ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่าลืมว่า ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะรู้ข้อมูลความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ต่างกับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ก่ออันตรายต่อสุขภาพของผู้ดื่มและผู้อื่นได้


เอกสารอ้างอิง:

  • Martin-Moreno, J. M., Harris, M. E., Breda, J., Møller, L., Alfonso-Sanchez, J. L., & Gorgojo, L. (2013). Enhanced labelling on alcoholic drinks: reviewing the evidence to guide alcohol policy. European journal of public health, 23(6), 1082-1087.
  • Scholes-Balog, K. E., Heerde, J. A., & Hemphill, S. A. (2012). Alcohol warning labels: unlikely to affect alcohol-related beliefs and behaviours in adolescents. Australian and New Zealand journal of public health, 36(6), 524-529.
  • Schoueri-Mychasiw, N., Weerasinghe, A., Stockwell, T., Vallance, K., Hammond, D., Greenfield, T. K., McGavock, J., & Hobin, E. (2021). Use as directed: do standard drink labels on alcohol containers help consumers drink (ir) responsibly? Real-world evidence from a quasi-experimental study in Yukon, Drug and alcohol review, 40(2), 247-257.
  • Schoueri-Mychasiw, N., Weerasinghe, A., Vallance, K., Stockwell, T., Zhao, J., Hammond, D., McGavock, J., Greenfield, T. K., Paradis, C., & Hobin, E. (2020). Examining the impact of alcohol labels on awareness and knowledge of national drinking guidelines: a real-world study in Yukon, Canada. Journal of studies on alcohol and drugs, 81(2), 262-272.
  • Thomas, G., Gonneau, G., Poole, N., Cook, J. (2014). The effectiveness of alcohol warning labels in the prevention of fetal alcohol spectrum disorder: a brief review. The International Journal of Alcohol and Drug, 3(1), 91-103.
  • World Health Organization (2018) Global Status Report on Alcohol and Health 2018, Geneva.
  • Wilkinson, C., & Room, R. (2009). Warnings on alcohol containers and advertisements:  international experience and evidence on effects. Drug and alcohol review,
  • 28(4), 426-435.
  • สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (2565) การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการสนับสนุนมาตรการกาหนดข้อความคำเตือนบนฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สานักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค
  • กนิษฐา ไทยกล้า และคณะ (2560) การรับรู้และความคิดเห็นต่อรูปแบบฉลากคำเตือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • อรทัย วลีวงศ์ (2566) ผลการทบทวนข้อมูลวิชาการมาตรการฉลากและบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ
  • อรทัย วลีวงศ์ และ ญาณิศา พุ่มสุทัศน์ (2567) ข้อพิจารณาสำหรับการพัฒนามาตรการฉลากและบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริบทประเทศไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ
News, ข่าวเด่น

รัฐไทยอ้างเศรษฐกิจ ปลดล็อค กม.คุมเหล้า เมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบาย!!


รัฐไทยอ้างเศรษฐกิจ ปลดล็อค กม.คุมเหล้า เมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบาย‼️

นางสาวจินตนา จันทร์โคตรแก้ว สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า จากที่รัฐบาลได้มีความพยายามลดหย่อนนโยบายควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเอื้อประโยชน์ในการกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา เช่น มาตรการขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การลดภาษีไวน์ การสนับสนุนการผลิตสุราชุมชน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่การดำเนินมาตรการดังกล่าวเกิดประโยชน์มากกว่าความสูญเสียของประเทศจริงหรือไม่นั้น รัฐยังไม่เคยพูดถึงสิ่งที่จะเกิดตามมาหรือแม้แต่การเตรียมมาตรการรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และนับจากวันที่มีการขยายเวลาในพื้นที่นำร่อง 15 ธันวาคม 2566 ถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีวี่แววของการติดตามและประเมินผลของนโยบายเช่นกัน ทั้งที่องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยและกระทรวงสาธารณสุขยืนยันผลการศึกษาเกี่ยวกับความคุ้มค่าของการดำเนินนโยบายแอลกอฮอล์ประกอบไปด้วย การควบคุมวัน เวลา สถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการควบคุมโฆษณา การควบคุมการดื่มแล้วขับและการคัดกรองและบำบัดรักษาให้มีประสิทธิภาพ ภายใน 5 ปี หากภาครัฐลงทุนเพียง 22 ล้านล้านบาท จะได้ผลประโยชน์จากการรักษาประสิทธิภาพของคนวัยทำงานที่ไม่ต้องลางานขาดงานสูงถึง 59 ล้านล้านบาท โดยทุก 1 บาทที่รัฐลงทุนในการดำเนินมาตรการจะได้รับประโยชน์กลับมา 2.64 บาท และแทนที่รัฐบาลจะลงทุนกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตในระยะยาว เช่น การพัฒนาคุณภาพการศึกษา การพัฒนาฝีมือแรงงาน แต่กลับใช้นโยบายที่หวังผลระยะสั้น ที่นำไปสู่การสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว

สำหรับการลดภาษีไวน์เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หากลองพิจารณากลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ดื่มไวน์ คือ ผู้มีรายได้สูง แทนที่รัฐบาลจะเก็บภาษีจากการจำหน่ายไวน์เพื่อเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขให้เกิดขึ้นในสังคม แต่กลับเอื้อผลประโยชน์ให้บริษัทผลิตไวน์และผู้บริโภคที่มีรายได้สูง และนำไปสู่การเพิ่มความเหลื่อมล้ำ ซึ่งคนที่ได้รับผลกระทบจากการดื่มมากที่สุด คือ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทั้งค่าใช้จ่ายทางสุขภาพที่ต้องแบกรับจากโรคไม่ติดต่อ และปัญหาทางสังคม เช่น ปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัวที่พบมากในกลุ่มครัวเรือนที่ยากจน เห็นตัวอย่างได้จากประเทศสกอตแลนด์ เมื่อรัฐบาลประกาศใช้มาตรการนโยบายการกำหนดราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขั้นต่ำ รวมทั้งไวน์ นำไปสู่การลดการตายที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงถึงร้อยละ 13.4 และอัตราการผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลได้ร้อยละ 4.1

ส่วนการเพิ่มเวลาขายกระตุ้นให้มีนักท่องเที่ยวมากขึ้นนั้น ในทางกลับกัน ประเทศกลับเสียผลประโยชน์จากค่ารักษาพยาบาลและความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนนและการทะเลาะวิวาท รวมทั้งอาชญากรรมที่ตามมา รวมถึงภาพลักษณ์ของประเทศในการเป็นประเทศท่องเที่ยวแบบปลอดภัย จากประสบการณ์ของประเทศออสเตรเลียในรัฐนิวเซาท์เวลส์ในเขตเมืองนิวคาสเซิล ได้มีการลดเวลาเปิดผับจากตี 5 เป็นตี 3.30 และห้ามรับลูกค้าเพิ่มหลังเวลาตี 1.30 แต่ยังนั่งดื่มได้จนถึงตี 3.30 หลังจากการดำเนินมาตรการมีการศึกษาพบว่า คดีทำร้ายร่างกายลดลงร้อยละ 34 เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนดำเนินมาตรการ เช่นเดียวกันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่กรุงอัมสเตอร์ดัมประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้มีการประกาศขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกไป 1 ชั่วโมงเพื่อกระตุ้นนักท่องเที่ยว แต่เมื่อมีการขยายเวลาขายกลับพบว่า อัตราของการเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 ในพื้นที่ที่มีการขยายเวลาขายเมื่อเทียบกับพื้นที่ควบคุม นอกจากนี้การขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำไปสู่อาชญากรรม อุบัติเหตุ ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยในการท่องเที่ยว

การผลิตสุราชุมชน กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ถึงแม้การผลิตสุราชุมชนจะเป็นการกระจายรายได้จากรายใหญ่ไปสู่รายย่อย แต่ผลที่ตามมาอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย ทั้งการควบคุมมาตรฐานของสุราที่ส่งผลเสียต่อผู้บริโภคในภายหลัง การที่ต้องเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าตรวจโรงผลิตสุราชุมชนที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเป็นมาตรการที่ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะ “รัฐบาลมองเห็นผลประโยชน์ระยะสั้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ประเทศต้องทนรับผลเสียจากนโยบายไปอีกยาว” คุณจินตนากล่าว

News, ข่าวเด่น, บทความ

การลดหย่อนนโยบายควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช่วยการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้จริงหรือ?


การลดหย่อนนโยบายควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วยการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้จริงหรือ

โดย นางสาวจินตนา จันทร์โคตรแก้ว สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ

รัฐบาลได้มีความพยายามลดหย่อนนโยบายควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเอื้อประโยชน์ในการกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา เช่น มาตรการขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การลดภาษีไวน์ การสนับสนุนการผลิตสุราชุมชน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่การดำเนินมาตรการดังกล่าวเกิดประโยชน์มากกว่าความสูญเสียของประเทศจริงหรือ

ประเทศไทยประสบความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีละ 165,450.5 ล้านบาทหรือประมาณร้อยละ 1.05 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (1) รัฐบาลกลับมองผลระยะสั้นที่เกิดขึ้น ผลเสียที่ตามมา กลับทวีคูณ การสูญเสียดังกล่าวเกิดจากการสูญเสียผลิตภาพที่เกิดจากการตายก่อนวัยอันควรและความพิการที่ไม่สามารถทำงานได้ ทั้งที่ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ การดำเนินมาตรการที่ก่อให้การตายก่อนวัยอันควรและความพิการที่เกิดขึ้นย่อมนำไปสู่ผลเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้ไม่คุ้มเสีย แต่ละปีมีประชากรไทยเสียชีวิตเนื่องจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 4 หมื่นคนต่อปีทั้งที่เกิดจากโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บทางถนน (2) โดยเฉพาะในชายไทยอายุ 30-59 ปีที่อยู่ในวัยทำงานเกิดการสูญเสียปีสุขภาวะที่จะมีสุขภาพดีทั้งที่เกิดจากความพิการและการตายก่อนวัยอันควร เนื่องจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 163,000 ปี หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของการสูญเสียปีสุขภาวะทั้งหมด จำนวนปีดังกล่าวแทนที่ชายไทยจะนำไปสร้างผลิตภาพให้กับเศรษฐกิจไทย (3) แทนที่รัฐบาลจะลงทุนกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตในระยะยาว เช่น การพัฒนาคุณภาพการศึกษา การพัฒนาฝีมือแรงงาน แต่กลับใช้นโยบายที่หวังผลระยะสั้น ที่นำไปสู่การสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุหลักนำไปสู่โรคไม่ติดต่อหลายสาเหตุ เช่น มะเร็ง โรคตับ โรคหัวใจ (4) ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำไปสู่ภาระทางสุขภาพที่รัฐบาลจะต้องแบกรับในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยและกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับความคุ้มค่าของการดำเนินนโยบายแอลกอฮอล์ประกอบไปด้วย การควบคุมวัน เวลา สถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการควบคุมโฆษณา การควบคุมการดื่มแล้วขับและการคัดกรองและบำบัดรักษาให้มีประสิทธิภาพ ภายใน 5 ปีหากภาครัฐลงทุนเพียง 22 ล้านล้านบาทจะได้ผลประโยชน์จากการรักษาประสิทธิภาพของคนวัยทำงานที่ไม่ต้องลางานขาดงานสูงถึง 59 ล้านล้านบาท โดยทุก 1 บาทที่รัฐลงทุนในการดำเนินมาตรการจะได้รับประโยชน์กลับมา 2.64 บาท (5)

การลดภาษีไวน์กระตุ้นเศรษฐกิจจริงเหรอ ผู้บริโภคไวน์ส่วนใหญ่ คือ ผู้มีรายได้สูง แทนที่รัฐบาลจะเก็บภาษีจากการจำหน่ายไวน์เพื่อเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ให้เกิดขึ้นในสังคม แต่กลับเอื้อผลประโยชน์ให้บริษัทผลิตไวน์และผู้บริโภคที่มีรายได้สูง จากหลักฐานองค์การอนามัยโลกได้ยืนยันชัดเจนเกี่ยวกับประสิทธิภาพของมาตรการทางภาษีและราคาในการลดการบริโภคการดื่มและความสูญเสียทางสุขภาพและสังคม นอกจากนี้การลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำไปสู่การเพิ่มความเหลื่อมล้ำ คนที่ได้รับผลกระทบจากการดื่มมากที่สุด คือ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทั้งค่าใช้จ่ายทางสุขภาพที่ต้องแบกรับจากโรคไม่ติดต่อ และปัญหาทางสังคม เช่น ปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัวที่พบมากในกลุ่มครัวเรือนที่ยากจน(6) การลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำไปสู่ความถ่างกว้างของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยโดยไม่จำเป็น ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินมาตรการราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อปกป้องสุขภาพประชาชน คือ ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อรัฐบาลประกาศใช้มาตรการนโยบายการกำหนดราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขั้นต่ำ รวมทั้งไวน์ นำไปสู่การลดการตายที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงถึงร้อยละ 13.4 และอัตราการผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลได้ร้อยละ 4.1 (7) จากการศึกษาที่ถูกรวบรวมอย่างเป็นระบบได้ยืนยันประสิทธิผลของมาตรการภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นำไปสู่การลดการป่วยและการตายจากโรคและการบาดเจ็บ (8)

การเพิ่มเวลาขายกระตุ้นให้มีนักท่องเที่ยวมากขึ้น ในทางกลับกัน ประเทศกลับเสียผลประโยชน์จากค่ารักษาพยาบาลและความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนนและการทะเลาะวิวาท รวมทั้งอาชญากรรมที่ตามมา รวมถึงภาพลักษณ์ของประเทศในการเป็นประเทศท่องเที่ยวแบบปลอดภัย จากประสบการณ์ของประเทศออสเตรเลียในรัฐนิวเซาท์เวลส์ในเขตเมืองนิวคาสเซิล ได้มีการลดเวลาเปิดผับจากตี 5 เป็นตี 3.30 และห้ามรับลูกค้าเพิ่มหลังเวลาตี 1.30 แต่ยังนั่งดื่มได้จนถึงตี 3.30 หลังจากการดำเนินมาตรการมีการศึกษาพบว่าคดีทำร้ายร่างกายลดลงร้อยละ 34 เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนดำเนินมาตรการ(9) เช่นเดียวกันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่กรุงอัมสเตอร์ดัมประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้มีการประกาศขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกไป 1 ชั่วโมงเพื่อกระตุ้นนักท่องเที่ยว[1] แต่เมื่อมีการขยายเวลาขายกลับพบว่า อัตราของการเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 ในพื้นที่ที่มีการขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่ไม่ได้ขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (10) นอกจากนี้การขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำไปสู่อาชญากรรม อุบัติเหตุซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยในการท่องเที่ยว

การผลิตสุราชุมชน กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ถึงแม้การผลิตสุราชุมชนจะเป็นการกระจายรายได้จากรายใหญ่ไปสู่รายย่อย แต่ผลที่ตามมาอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย ทั้งการควบคุมมาตรฐานของสุราที่ส่งผลเสียต่อผู้บริโภคในภายหลัง (11) การที่ต้องเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าตรวจโรงผลิตสุราชุมชนที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

สรุป
รัฐบาล มองแห็นผลประโยชน์ระยะสั้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ประเทศจะต้องทนรับผลเสียจากนโยบายที่เล็งเห็นเฉพาะผลระยะสั้นไปอีกยาว และส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะการดำเนินมาตรการขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดภาษีไวน์ และการสนับสนุนการผลิตสุราชุมชน นำไปสู่ความสูญเสียทางสุขภาพและสังคมของประชากรไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาว


เอกสารอ้างอิง
1. Luangsinsiri C, Youngkong S, Chaikledkaew U, Pattanaprateep O, Thavorncharoensap M. Economic costs of alcohol consumption in Thailand, 2021. Glob Health Res Policy. 2023;8(1):51.
2. สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ. รายงานภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย พ.ศ.2562. นนทบุรี: สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ 2566.
3. สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ. รายงานภาระโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย พ.ศ.2562. นนทบุรี: สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ; 2566.
4. Babor TF, Casswell S, Graham K, Huckle T, Livingston M, Österberg E, et al. Alcohol: No Ordinary Commodity: Research and public policy: Oxford University Press; 2022. Available from: https://doi.org/10.1093/oso/9780192844484.001.0001.
5. United Nations Thailand, Ministry of Public Health, United Nations Development Programme (UNDP), United Nations Inter-Agency Task Force (UNIATF) on the Prevention and Control of NCDs. Prevention and control of noncommunicable diseases in Thailand: The case for investment. Bangkok; 2021.
6. Bryant L, Lightowlers C. The socioeconomic distribution of alcohol-related violence in England and Wales. PLOS ONE. 2021;16(2):e0243206.
7. Wyper GMA, Mackay DF, Fraser C, Lewsey J, Robinson M, Beeston C, et al. Evaluating the impact of alcohol minimum unit pricing on deaths and hospitalisations in Scotland: a controlled interrupted time series study. The Lancet. 2023;401(10385):1361-70.
8. Wagenaar AC, Tobler AL, Komro KA. Effects of alcohol tax and price policies on morbidity and mortality: a systematic review. American Journal of Public Health. 2010;100(11):2270-8.
9. Kypri K, Jones C, McElduff P, Barker D. Effects of restricting pub closing times on night-time assaults in an Australian city. Addiction. 2011;106(2):303-10.
10. de Goeij MC, Veldhuizen EM, Buster MC, Kunst AE. The impact of extended closing times of alcohol outlets on alcohol-related injuries in the nightlife areas of Amsterdam: a controlled before-and-after evaluation. Addiction. 2015;110(6):955-64.
11. Manning L, Kowalska A. Illicit alcohol: public health risk of methanol poisoning and policy mitigation strategies. Foods. 2021;10(7).

1 2 3 17 18
Privacy Settings
We use cookies to enhance your experience while using our website. If you are using our Services via a browser you can restrict, block or remove cookies through your web browser settings. We also use content and scripts from third parties that may use tracking technologies. You can selectively provide your consent below to allow such third party embeds. For complete information about the cookies we use, data we collect and how we process them, please check our Privacy Policy
Youtube
Consent to display content from - Youtube
Vimeo
Consent to display content from - Vimeo
Google Maps
Consent to display content from - Google
Spotify
Consent to display content from - Spotify
Sound Cloud
Consent to display content from - Sound

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors