วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากล
_________
งด ลด ดื่มแอลกอฮอล์ = ยุติความรุนแรง
“ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากลด้วยการไม่ดื่มแอลกอฮอล์”
นอกจากแอลกอฮอล์จะจัดเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งปี 2030 ในเป้าหมายที่ 3 สุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่แล้วนั้น ยังนับเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายที่ 16 สันติภาพและความยุติธรรม โดยเฉพาะในเป้าหมายที่ 16.1 ลดการใช้ความรุนแรง และการเสียชีวิตจากความรุนแรงทุกรูปแบบ และทุกหนแห่งอีกด้วย ซึ่งสามารถยืนยันได้จากงานวิจัย ดังนี้
- จากข้อมูลโครงการสำรวจการได้รับผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ของผู้อื่นในประเทศไทย1 โดยกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ใหญ่ที่มีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีอยู่ในความดูแล จำนวน 937 คน พบว่า ร้อยละ 24.6 เด็กที่ตนดูแลอยู่ได้รับผลกระทบจากการดื่มของคนอื่น โดยเป็นผลกระทบจากการถูกตีหรือทำร้ายร่างกายร้อยละ 1.7
- จากการศึกษาลักษณะและผลกระทบของภัยเหล้ามือสองต่อสมาชิกครอบครัวในชนเผ่าลาหู่ในจังหวัดเชียงราย2 พบว่า ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,031 คน มีผู้หญิงและกลุ่มอายุน้อยกว่าและเท่ากับ 15 ปี เคยถูกลวนลามทางเพศร้อยละ 6.0 และร้อยละ 4.5 ตามลำดับ
- ผลการศึกษาประสบการณ์ (ปัญหา) ของผู้หญิงจากผลกระทบจากการดื่มสุราของสมาชิกใน ครอบครัว3 พบว่า ผู้หญิงได้รับผลกระทบด้านคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ การเงินของครอบครัว และผู้ดื่มสุรายังสร้างความรุนแรงต่อกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ ในบ้านทั้งเด็ก เยาวชน คนชราและผู้พิการ
- ผลกระทบจากการดื่มสุราที่มีต่อเด็ก ร้อยละ 16 ของประเทศ เคยได้รับผลกระทบจากการดื่มสุราของคนรอบข้าง โดยปัญหาที่พบมากที่สุด คือ ความรุนแรงในครอบครัวร้อยละ 7.5 ซึ่งความรุนแรงดังกล่าวประมาณร้อยละ 30 – 35 เกิดจากพ่อและแม่ของเด็กที่ดื่มสุราเอง และถ้าคนรอบข้างดื่มหนัก (Binge Drinking) หรือดื่มบ่อย (Regular Drinking) เด็กจะมีโอกาสเกิดผลกระทบเพิ่มสูงขึ้นถึง 4.8 และ 1.9 เท่า ตามลำดับ เมื่อเทียบกับการไม่มีคนรอบข้างดื่มสุรา4
- จากผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของสามีกับความรุนแรงจากคู่สมรสในผู้หญิงหลังคลอด จำนวน 1,207 คน ในโรงพยาบาลของรัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในจังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดเลย และจังหวัดชัยภูมิ พ.ศ. 25665 พบว่า หญิงตั้งครรภ์ร้อยละ 4.7 เคยถูกสามีกระทำความรุนแรงขณะตั้งครรภ์ โดยร้อยละ 4.1 เคยถูกกระทำความรุนแรงทางวาจา ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด รองลงมาเป็นการถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกายร้อยละ 1.1 และการถูกกระทำความรุนแรงทางเพศร้อยละ 0.9 โดยสามีที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นบางครั้งและดื่มหนัก และสามีที่ดื่มประจำและดื่มหนัก จะเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้เกิดความรุนแรงต่อภรรยาที่ตั้งครรภ์ถึง 16.9 เท่า และ 12.8 เท่า ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับสามีที่ไม่ดื่มเลย
จากข้อมูลข้างต้น สะท้อนให้เห็นผลกระทบในมิติของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กและสตรีจากการดื่มแอลกอฮอล์ของบุคคลในครอบครัวและบุคคลรอบข้าง โดยแอลกอฮอล์มีความสัมพันธ์ที่ทำให้ผู้ดื่มขาดการยับยั่งชั่งใจ ควบคุมตัวเองไม่ได้ รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการทำร้ายร่างกายและการคุมคามทางเพศนั่นเอง ดังนั้น การงด ลด การดื่มแอลกอฮอล์ จึงเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดและยุติความเสี่ยงในการเกิดความรุนแรงต่อคนที่คุณรัก ครอบครัว และสังคม
________
เอกสารอ้างอิง
[1] อรทัย วลีวงศ์ และคณะ. (2558). รายงานโครงการศึกษาวิจัย การศึกษาผลกระทบของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อบุคคลรอบข้างผู้ดื่ม ในประเทศไทย (ระยะที่ 1). ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา.
[2] ธวัชชัย อภิเดชกุล และคณะ. (2561). ลักษณะและผลกระทบของภัยเหล้ามือสองต่อสมาชิกครอบครัวในชนเผ่าลาหู่. ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา.
[3] ไมซาเร๊าะ ขุนรักษ์ หมานระเด็น และคณะ. (2564). พื้นที่ชีวิตของผู้หญิง (Living Space of Women) : ประสบการณ์การเผชิญสถานการณ์ (ปัญหา) ของผู้หญิงกับบุคคลในครอบครัวที่ดื่มสุรา. ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา.
[4] พลเทพ วิจิตรคุณากร และคณะ. (2564). การสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อบุคคลรอบข้างผู้ดื่มในประเทศไทย. ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา.
[5] ไพฑูรย์ สอนทน และคณะ. (2566). ความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของสามีกับความรุนแรงจากคู่สมรสในผู้หญิงหลังคลอดในโรงพยาบาลของรัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข. ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา.