รศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่างถึงกรณีที่รัฐบาลกำลังจะดำเนินการนโยบายขยายเวลาเปิดสถานบริการถึง 04.00 น. ใน 5 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ สถานบริการในท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดภูเก็ต จังหวัดชลบุรี จังหวัดเชียงใหม่ และท้องที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และตามกฎกระทรวงฉบับนี้จะขยายเวลาให้สถานบริการในทุกท้องที่ทั่วประเทศสามารถเปิดบริการในคืนส่งท้ายปีเก่า 31 ธันวาคม ไปจนถึงเวลา 06.00 น. ของวันปีใหม่ 1 มกราคม 2567 โดยตนเองเป็นห่วงว่านโยบายนี้อาจส่งผลให้เกิดผลกระทบเชิงลบตามมามากกว่าความคาดหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องอุบัติเหตุจราจรที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในช่วงเวลาดังกล่าว และยังเพิ่มการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเยาวชนอีกด้วย ซึ่งยังไม่เห็นมาตรการที่ชัดเจนในการควบคุมหรือจัดการกับผลกระทบเชิงลบ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ และระบบเยียวยาหรือดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ
รศ.ดร.นพ.พลเทพ กล่าวต่อว่า นอกจากการดื่มแล้วขับที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุจราจรแล้วนั้น แอลกอฮอล์ยังมีฤทธิ์ทำให้ผู้ดื่มลดหรือขาดความยับยั้งชั่งใจ และการตัดสินใจบกพร่อง ที่อาจนำไปสู่การคุกคามทางเพศ โดยมีงานวิจัยชี้ชัดว่า บทบาทของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการล่วงละเมิดทางเพศมีความสำคัญมาก ประมาณ 50% ของการล่วงละเมิดทางเพศ กระทำโดยผู้ชายที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งไม่ว่าการคุกคามทางเพศจะเกิดขึ้นในระหว่างหรือหลังการดื่มหรือไม่ก็ตาม เหยื่อหรือผู้ถูกกระทำไม่ได้มีส่วนที่ทำให้เกิดการคุกคามทางเพศนี้ขึ้นมา แต่ผู้กระทำคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบการกระทำของตนเองทั้งทางกฎหมายและศีลธรรมจรรยา นอกจากนี้พฤติกรรมการดื่มสุรายังสัมพันธ์กับจำนวนและความรุนแรงในสังคม และเวลาในการให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานบันเทิงมีความเชื่อมโยงกับสถิติช่วงเวลาการเกิดอาชญากรรม เช่น การทำร้ายร่างกาย การทะเลาะวิวาท การทำลายข้าวของและทรัพย์สินสาธารณะ เป็นต้น ซึ่งการควบคุมเวลาในการขายและการให้บริการของสถาบันเทิงสามารถช่วยป้องกันและลดปัญหาอาชญากรรมลงได้ เพราะอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัดเป็นปัญหาที่ป้องกันและควบคุมได้ ดังนั้น ก่อนปีใหม่นี้ รัฐต้องแสดงให้เห็นว่าหลังจากที่มีการขยายเวลาแล้ว อุบัติเหตุจราจรไม่เพิ่มขึ้น และมาตรการที่ดำเนินการอยู่มีความคุ้มค่า โดยหลังจากวันที่ 15 ธันวาคมนี้ไปจนถึงหลังปีใหม่ รัฐต้องติดตามประเมินผลของมาตรการเป็นระยะและนำเสนอผลที่เกิดขึ้นต่อสาธารณชน เพื่อช่วยในการปรับปรุงมาตรการให้เหมาะสมต่อการปกป้องสุขภาพและชีวิตของประชาชน โดยความเสี่ยงนี้ไม่ควรรอนาน