ภาระโรคที่เกิดจากมะเร็งที่สัมพันธ์กับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วโลกในปี 2563
“ดื่มน้อย ดื่มปานกลาง ก็ยังทำให้เกิดมะเร็งได้”
องค์กรนานาชาติเพื่อการวิจัยด้านมะเร็ง (International Agency for Research on Cancer (IARC)) เปิดเผยผลการศึกษาล่าสุด ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ The Lancet Oncology ซึ่งพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ประมาณ 741,000 คนทั่วโลก ในปี 2563 มีสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุรา สามในสี่รายเป็นผู้ชาย ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าการดื่มแบบเสี่ยง และการดื่มหนัก (มากกว่าสองหน่วยดื่มมาตรฐานต่อวัน) จะเป็นสัดส่วนหลักที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็ง (ร้อยละ 86 ของจำนวนผู้ป่วยมะเร็งที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) การดื่มปริมาณน้อยถึงปานกลาง (ไม่เกินสองหน่วยดื่มมาตรฐานต่อวัน) ก็เป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการดื่มสุราเช่นกัน นั่นคือ ประมาณหนึ่งในเจ็ดของผู้ป่วยมะเร็งที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นผู้ดื่มปริมาณน้อยหรือปานกลาง ซึ่งคิดเป็นจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ประมาณมากกว่า 100,000 รายต่อปี
ในจำนวนผู้ป่วยมะเร็ง 741,000 คนทั่วโลก ในปี 2563 นี้ ร้อยละ 26 เป็นมะเร็งหลอดอาหาร ร้อยละ 21 เป็นมะเร็งตับ และร้อยละ 13 เป็นมะเร็งเต้านม ส่วนที่เหลือเป็นมะเร็งลำไส้ ช่องปาก ทวารหนัก คอหอย และกล่องเสียง ร้อยละ 12, ร้อยละ 10, ร้อยละ 9, ร้อยละ 5 และร้อยละ 4 ตามลำดับ
(ปริมาณการดื่ม 2 หน่วยดื่มมาตรฐาน เทียบได้เท่ากับ ไวน์ที่มีดีกรีแอลกอฮอล์ 12-13% ประมาณ 2 แก้ว ๆ ละ 100 มล. เบียร์ที่มีดีกรีแอลกอฮอล์ 4.5-5% ประมาณ 2 กระป๋องหรือหนึ่งขวดใหญ่ เหล้าสี/เหล้าขาวที่มีดีกรีแอลกอฮอล์ 35-40 % ประมาณ 2 เป็ก ๆ ละ 30 มล.)
______
ที่มา: องค์กรนานาชาติเพื่อการวิจัยด้านมะเร็ง (International Agency for Research on Cancer (IARC) https://www.iarc.who.int/infographics/latest-global-data-on-cancer-burden-and-alcohol-consumption/?fbclid=IwAR0L49zmNpW5awIF60S9mC4-1oVd2jWCGNNqcADYtG1K8nwzo916x5c3D_g