ดราม่า vs ข้อเท็จจริง ฉลากเหล้าเบียร์

“#ฉลากน่ากลัว”
“#ฉลากสยอง”
“#ฉลากโง่เราจะตายกันหมด”

แฮทแท็กที่กำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในตอนนี้ อาจจะเป็นความพยายามที่จะสร้างกระแสให้สังคมเห็นว่า ร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ. …. ของกระทรวงสาธารณสุขที่กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปในขณะนี้ เป็นกฎหมายที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นประโยชน์ หรือเป็นผลเสียต่ออุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทย จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมาย จึงอยากชวนตั้งคำถามว่า แล้วข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร?

ทำไมต้องมีฉลากคำเตือนด้านสุขภาพบนขวดเหล้าเบียร์?

บทบาทสำคัญของฉลากคำเตือนด้านสุขภาพบนขวดหรือกระป๋องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ การให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเครื่องดื่มฯ ให้กับผู้บริโภค เป็นการทำให้สังคมและผู้บริโภคเห็นว่า  เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แตกต่างจากสินค้าทั่วไป เพราะเป็นสินค้าที่เป็นอันตรายและก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ได้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนบทบาททางวัฒนธรรมของสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเปลี่ยนจากการยอมรับมันโดยไม่ได้ไตร่ตรองในชีวิตประจำวัน มาเป็นการคิดถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างรอบคอบมากขึ้น และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า ฉลากคำเตือนด้านสุขภาพส่งผลต่อความรู้ ความตระหนัก ความตั้งใจ และการรับรู้ต่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีผลกระทบในระยะสั้นต่อการดื่มและพฤติกรรมเสี่ยงจากการดื่ม ประเทศต่าง ๆ จำนวน 47 ประเทศ มีการบังคับให้มีฉลากคำเตือนด้านสุขภาพบนขวดหรือภาชนะบรรจุเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ เนื้อหาของฉลากคำเตือนมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ยกตัวอย่าง เช่น

  • ประเทศฝรั่งเศสและออสเตรเลีย เน้นความเสี่ยงและผลกระทบจากการดื่มระหว่างตั้งครรภ์บนฉลากคำเตือน
  • ประเทศแอฟริกาใต้ มีฉลากคำเตือนด้านสุขภาพอย่างน้อย 1 ใน 7 ข้อความที่กำหนดไว้แล้ว รวมถึงความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและการเสพติด ซึ่งเทียบเคียงกับของประเทศไทย
  • ประเทศแคนาดา เขตยูคอน (Yukon Territory) มีฉลากคำเตือนด้านสุขภาพ โดยออกแบบชุดข้อความที่เป็นคำเตือนเกี่ยวกับมะเร็ง ดังแสดงในภาพที่ 1


    ภาพที่ 1 ฉลากคำเตือนความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งบนภาชนะบรรจุแอลกอฮอล์ในงานวิจัยในเขตยูคอน (Yukon Territory) ประเทศแคนาดา   ทำซ้ำจาก Schoueri-Mychasiw N, Weerasinghe A, Vallance K, et al. (2020) Examining the impact of alcohol labels on awareness and knowledge of national drinking guidelines: A real-world study in Yukon, Canada. Journal of Studies on Alcohol and Drugs, 81 262-272. doi:10.15288/jsad.200.81.262 under a CC-BY-4.0 license.

การศึกษาของประเทศแคนาดาเน้นว่า ฉลากมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดื่มในกรอบเวลาที่สั้น เช่น ในทันทีที่เห็นฉลากคำเตือน หรือคาดว่า จะลดการซื้อหาเครื่องดื่มในร้านค้า หรือลดการเติมเครื่องดื่มลงในแก้วเมื่อมองเห็นฉลากคำเตือนเหล่านี้ แล้วหยุดคิด และตัดสินใจวางเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลง หรืออาจจะส่งผลกระทบหลังจากเวลานั้นเล็กน้อย เช่น มีการพูดคุยกับสมาชิกครอบครัว ลูกหลาน เมื่อได้เห็นฉลากคำเตือนด้านสุขภาพบนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม

สรุปได้ว่า ฉลากที่เห็นได้ชัดเจนพร้อมข้อความคำเตือนด้านสุขภาพ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์และมีประสิทธิผลในระดับชุมชน เพื่อให้รับทราบแนวทางข้อแนะนำด้านการดื่มสุรา ส่งเสริมความตระหนักรู้ความเสี่ยงต่อมะเร็งจากการดื่ม และลดการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเก็บไว้ในตู้เย็นที่บ้าน

กลไกประสิทธิผลของฉลากคำเตือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


ปัญหาฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปัจจุบันที่น่ากังวลมีอะไรบ้าง?

          ฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยในปัจจุบันมีขนาดเล็ก ตัวอักษรอ่านยาก และจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการสนับสนุนมาตรการกำหนดข้อความคำเตือนบนฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2565 โดยสวนดุสิตโพล พบว่า กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 60 ไม่เคยอ่านฉลากก่อนซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และในกลุ่มที่อ่านฉลาก ร้อยละ 47 ให้ความสำคัญเฉพาะข้อมูลความเข้มข้นของปริมาณแอลกอฮอล์ และร้อยละ 17 ให้ความสำคัญปริมาณบรรจุ โดยมีเพียงร้อยละ 9.3 ที่อ่านคำเตือน นั่นอาจสะท้อนได้ว่า ฉลากคำเตือนแบบตัวหนังสือที่มีอยู่อาจไม่โดดเด่นพอ และจากการศึกษาการรับรู้และความคิดเห็นต่อรูปแบบฉลากคำเตือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี 2560 พบว่า กลุ่มเยาวชนส่วนใหญ่เสนอว่า อยากให้มีรูปภาพคำเตือนร่วมกับข้อความคำเตือนด้วย ซึ่งข้อความคำเตือนควรมีลักษณะสั้น กระชับ และควรเน้นให้เห็นโทษและผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ควรเน้นคำว่า “ตาย” “พิการ” “มะเร็งตับ” โดยออกแบบสีและขนาดให้มองเห็นได้ง่ายทั้งในที่มืดด้วย และภาพคำเตือนควรมีขนาดที่ใหญ่ ติดบริเวณด้านหน้าขวดคู่กับตรายี่ห้อ โดยกลุ่มตัวอย่างให้เหตุผลว่า ภาพคำเตือนทำให้รู้สึกกลัวไม่กล้าดื่มหรือลดความอยากซื้อ ได้มากกว่าการแสดงข้อความคำเตือนเพียงอย่างเดียว


ร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า ไม่สอดคล้องกับการเร่งผลักดันฟื้นฟูและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จริงหรือไม่?

เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ คือการมุ่งเน้นในการลดความดึงดูดของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อกลุ่มเด็กและเยาวชน ยังไม่มีหลักฐานวิชาการที่ชี้ให้เห็นว่า การออกแบบฉลากน่ากลัวมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) เพราะสิ่งจูงใจที่ทำให้นักท่องเที่ยวมาประเทศไทยไทยไม่ใช่การขาย การดื่ม หรือฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่นักท่องเที่ยวส่วนมากอยากมาเที่ยวประเทศไทยเพราะต้องการมาเที่ยวทะเล ป่าเขา ชื่นชมธรรมชาติที่งดงาม ชื่นชอบอาหารที่เอร็ดอร่อย หรือมองว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ราคาถูก ทั้งโรงแรมที่พักและอาหารการกินเมื่อเทียบกับคุณภาพ ประเทศไทยไม่ใช่แหล่งแอลกอฮอล์ระดับโลกแบบเดียวกับฝรั่งเศสหรืออิตาลี นอกจากนี้ ยังไม่เคยมีการสำรวจที่บ่งว่า นักท่องเที่ยวจะหลีกเลี่ยงการมาเมืองไทย หรือแม้กระทั่งหลีกเลี่ยงการดื่มเบียร์ในประเทศไทย เพียงเพราะฉลากมีข้อความและภาพน่ากลัว และที่สำคัญ ฉลากไม่ได้ทำให้รสชาติแอลกอฮอล์เสียไป ไม่มีหลักฐานว่า การเปลี่ยนแปลงลักษณะคำเตือนบนฉลากจะทำให้ต้นทุนของการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่อาจส่งเสริมการท่องเที่ยวเสียด้วยซ้ำไป เนื่องจากการมีคำเตือนในฉลากอาจช่วยสร้างความตระหนักและลดโอกาสในการเกิดการดื่มที่มากจนเป็นอันตราย และอุบัติเหตุทางถนน

ถึงแม้ว่ายังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนที่แสดงถึงผลของฉลากต่อพฤติกรรมการบริโภค แต่นักวิชาการนานาชาติได้ให้ข้อสังเกตว่า

  • การที่ผู้บริโภคสามารถรับรู้ & จดจำความเสี่ยงและอันตรายของผลิตภัณฑ์ได้ ถึงแม้ว่าจะเลือกที่จะละเลยไม่ปฏิบัติตามคำเตือน ก็ถือเป็นความสำเร็จของมาตรการนี้แล้ว
  • ฉลากคำเตือนอาจไม่สามารถที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มได้ทุกครั้ง แต่จะสร้างความตระหนักว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าธรรมดาทั่วไป
  • รูปแบบ ดีไซน์ และรายละเอียดของคำเตือนที่บังคับใช้ยังอยู่มีข้อจำกัดมาก โดยเฉพาะประสิทธิภาพในการสื่อสารผู้บริโภค
  • ฉลากคำเตือนเป็นมาตรการที่ลงทุนต่ำและความคุ้มค่า เทียบการการรณรงค์ประชาสัมพันธ์อื่นๆ ในการสื่อสารข้อมูลความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์
  • มาตรการฉลากคำเตือนน่าจะมีศักยภาพช่วยเสริมประสิทธิผลของมาตรการอื่นๆ หากนำไปเชื่อมโยงกัน เช่น มาตรการการรณรงค์ของชุมชนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายแอลกอฮอล์ หรือ เพิ่มความเคร่งครัดของกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

สุดท้ายนี้ จากหลักฐานทางวิชาการ เป็นที่แน่นอนว่า ฉลากคำเตือนทำหน้าที่เป็นเครื่องมือ ณ จุดสุดท้ายที่จะทำให้ผู้บริโภคมีความรู้ ความตระหนักต่อโทษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และฉุกคิดตรึกตรองอีกครั้ง ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่าลืมว่า ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะรู้ข้อมูลความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ต่างกับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ก่ออันตรายต่อสุขภาพของผู้ดื่มและผู้อื่นได้


เอกสารอ้างอิง:

  • Martin-Moreno, J. M., Harris, M. E., Breda, J., Møller, L., Alfonso-Sanchez, J. L., & Gorgojo, L. (2013). Enhanced labelling on alcoholic drinks: reviewing the evidence to guide alcohol policy. European journal of public health, 23(6), 1082-1087.
  • Scholes-Balog, K. E., Heerde, J. A., & Hemphill, S. A. (2012). Alcohol warning labels: unlikely to affect alcohol-related beliefs and behaviours in adolescents. Australian and New Zealand journal of public health, 36(6), 524-529.
  • Schoueri-Mychasiw, N., Weerasinghe, A., Stockwell, T., Vallance, K., Hammond, D., Greenfield, T. K., McGavock, J., & Hobin, E. (2021). Use as directed: do standard drink labels on alcohol containers help consumers drink (ir) responsibly? Real-world evidence from a quasi-experimental study in Yukon, Drug and alcohol review, 40(2), 247-257.
  • Schoueri-Mychasiw, N., Weerasinghe, A., Vallance, K., Stockwell, T., Zhao, J., Hammond, D., McGavock, J., Greenfield, T. K., Paradis, C., & Hobin, E. (2020). Examining the impact of alcohol labels on awareness and knowledge of national drinking guidelines: a real-world study in Yukon, Canada. Journal of studies on alcohol and drugs, 81(2), 262-272.
  • Thomas, G., Gonneau, G., Poole, N., Cook, J. (2014). The effectiveness of alcohol warning labels in the prevention of fetal alcohol spectrum disorder: a brief review. The International Journal of Alcohol and Drug, 3(1), 91-103.
  • World Health Organization (2018) Global Status Report on Alcohol and Health 2018, Geneva.
  • Wilkinson, C., & Room, R. (2009). Warnings on alcohol containers and advertisements:  international experience and evidence on effects. Drug and alcohol review,
  • 28(4), 426-435.
  • สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (2565) การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการสนับสนุนมาตรการกาหนดข้อความคำเตือนบนฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สานักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค
  • กนิษฐา ไทยกล้า และคณะ (2560) การรับรู้และความคิดเห็นต่อรูปแบบฉลากคำเตือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • อรทัย วลีวงศ์ (2566) ผลการทบทวนข้อมูลวิชาการมาตรการฉลากและบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ
  • อรทัย วลีวงศ์ และ ญาณิศา พุ่มสุทัศน์ (2567) ข้อพิจารณาสำหรับการพัฒนามาตรการฉลากและบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริบทประเทศไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ
Privacy Settings
We use cookies to enhance your experience while using our website. If you are using our Services via a browser you can restrict, block or remove cookies through your web browser settings. We also use content and scripts from third parties that may use tracking technologies. You can selectively provide your consent below to allow such third party embeds. For complete information about the cookies we use, data we collect and how we process them, please check our Privacy Policy
Youtube
Consent to display content from - Youtube
Vimeo
Consent to display content from - Vimeo
Google Maps
Consent to display content from - Google
Spotify
Consent to display content from - Spotify
Sound Cloud
Consent to display content from - Sound

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors