นักวิชาการด้านนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลกยกประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีของการมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ช่วยลดการดื่มสุราและอัตราตายของประชาชนได้ แม้ว่าจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นก็ตาม
การพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ส่งผลต่ออายุขัยของประชาชนของประเทศนั้น ในประเทศที่ร่ำรวย ประชาชนมักมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่า และมีสาเหตุการตายที่ต่างไปจากประเทศที่ยากจน รวมทั้งมีอัตราตายของประชากรต่ำกว่าด้วย การพัฒนาทางเศรษฐกิจมีผลต่อการดื่มสุราด้วย ประเทศที่มีระดับรายได้สูงและรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูงมักมีระดับปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉลี่ยสูงกว่า และมีอัตราผู้ที่ไม่ดื่มต่ำกว่าประเทศที่มีรายได้น้อยหรือรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ ทั้งนี้เพราะ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้เป็นสินค้าอุปโภคที่จำเป็น การที่ประชาชนในประเทศยากจนไม่ดื่มสุราจึงมักเกิดจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจกลับเป็นปัจจัยหนึ่งที่นอกเหนือจากปัจจัยด้านศาสนา วัฒนธรรมประเพณีและสังคม ที่มีผลให้ประชาชนในประเทศดื่มสุรามากขึ้น เพราะเมื่อระดับเศรษฐกิจของประเทศขยับสูงขึ้น ประชาชนมีเงินจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นก็อาจจะนำไปซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และประเทศนั้นก็มักจะตกเป็นเป้าหมายของอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ที่จะขยายตลาดเช่นกัน ที่มักใช้โฆษณาและเทคนิคทางการตลาดเพื่อชักชวนให้คนดื่มสุรามากขึ้น
แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว การพัฒนาจากประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลางไปเป็นรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 กลับไม่ทำให้อัตราตายจากทุกสาเหตุและอัตราตายที่สัมพันธ์กับการดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประเทศมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ดีมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และมีระบบการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ดีที่ทำให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีราคาสูง นอกจากนั้น ยังมีการกำหนดอายุต่ำสุดของบุคคลที่จะซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เป็น 20 ปี และมีมาตรการจำกัดวันเวลา และสถานที่ในการซื้อและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเป็นการจำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางกายภาพที่มีประสิทธิภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเวียดนามซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากเช่นกัน จนทำให้ประเทศขยับจากประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางในช่วงเวลาเดียวกันกับประเทศไทย แต่ด้วยเหตุที่กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมทั้งการเก็บภาษีแอลกอฮอล์ของเวียดนามไม่ได้เข้มงวดเท่าประเทศไทย ระดับการบริโภคเครื่องดื่มของเวียดนามและอัตราตายที่สัมพันธ์กับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรเวียดนามจึงเพิ่มสูงขึ้นตามไปกับรายได้เฉลี่ยประชาชาติที่เพิ่มขึ้น ดังแสดงในตารางนี้
สรุปมาจากบทความ: Rehm, J*., Rovira, P., Shield, K., Sornpaisarn, B., Thang, V. V., & Room, R. (2024). Alcohol use, economic development and health burden: A conceptual framework. International Journal of Alcohol and Drug Research. https://doi.org/10.7895/ijadr.43
ศาสตราจารย์เจอร์เกน เรห์ม ผู้เขียนชื่อแรกของบทความนี้เป็นนักวิชาการด้านนโยบายแอลกอฮอล์ผู้มีชื่อเสียงระดับโลก และมีผลงานวิจัยด้านนโยบายแอลกอฮอล์และผลกระทบต่อสุขภาพและสังคมสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก