วัตถุประสงค์ของศูนย์วิจัยปัญหาสุรา
- สร้างองค์ความรู้ในด้านอุปสงค์ อุปทาน ผลกระทบ มาตรการ และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุรา
- สนับสนุนการเผยแพร่องค์ความรู้ในด้านอุปสงค์ อุปทาน ผลกระทบ มาตรการ และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุรา แก่ภาคีเครือข่าย รวมถึงสาธารณชน และการนำองค์ความรู้ไปใช้ในกระบวนการนโยบายสุรา และขับเคลื่อนสังคมในประเทศไทย
- พัฒนาศักยภาพทางวิชาการของภาคีเครือข่ายและสังคมในกระบวนการจัดการกับปัญหาจากสุราในประเทศไทย
เป้าหมายการดำเนินงานของศูนย์วิจัยปัญหาสุรา
จากแผนผังผลลัพธ์การดำเนินงานของ สสส. สำนักหนึ่ง[1] สามารถใช้เป็นกรอบในการกำหนดผลลัพธ์การดำเนินงานของศูนย์วิจัยปัญหาสุราได้ดังนี้ (ผลผลิต/ผลลัพธ์ระดับ 1 ถึง 3 เป็นผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้จากการทำงานของศวส. เอง แต่ผลลัพธ์ระดับ 4 ถึง 6 ต้องอาศัยกลไกของภาคส่วนอื่นร่วมด้วยในการทำให้บรรลุได้)
• ผลลัพธ์ระดับ 6 เป้าหมายสูงสุด (Ultimate Goal) ของการควบคุมปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ ความชุก อัตราตาย และภาระโรคจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุราลดลง ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งตรงกับผลลัพธ์ระดับสูงสุด (ผลกระทบด้านสุขภาพระดับประชากร) ตามแผนผังผลลัพธ์ของการดำเนินงานของ สสส. สำนักหนึ่ง
• ผลลัพธ์ระดับ 5 การจะบรรลุผลกระทบระดับ 6 ดังกล่าว จะต้องทำให้เกิดผลลัพธ์สองด้านที่สำคัญ (ผลลัพธ์ด้านพฤติกรรม และด้านสิ่งแวดล้อมระดับประชากร) คือ หนึ่ง ในด้านตัวผู้ดื่มสุราเอง คือต้องมีจำนวนผู้ดื่มลดลง โดยต้องทำให้ไม่มีจำนวนนักดื่มหน้าใหม่เกิดขึ้น หรือมีอัตราการเกิดนักดื่มหน้าใหม่ลดลง และนักดื่มหน้าเก่าต้องหยุดหรือเลิกดื่ม ซึ่งจำนวนและอัตราของนักดื่มนี้จะส่งผลให้ปริมาณการดื่มสุราต่อหัวประชากรต่อปีลดลง (Annual Per Capita Alcohol Consumption: APC) และสอง ในด้านสิ่งแวดล้อมทางสังคมของประเทศ คือการทำให้มีพื้นที่ทางสังคมที่ปลอดสุราเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการทำให้ประชากรเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ยากขึ้น และกิจกรรมทางสังคมที่มีการดื่มสุรามีจำนวนน้อยลง
• ผลลัพธ์ระดับ 4 เป็นการขยายผลการดำเนินงานควบคุมปัญหาสุราที่มีประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นในระดับประเทศ นั่นคือ ภาคีหลักที่ทำงานควบคุมปัญหาสุราต้องทำงานได้อย่างเป็นระบบ โดยภาคีภาครัฐต้องทำให้เกิดนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเครื่องดื่มฯ มากขึ้น มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาระบบบริการดูแลรักษาผู้มีปัญหาสุขภาพจากการดื่มสุรา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่มีประสิทธิภาพในระดับชาติ นอกจากนี้ ภาคีภาคประชาชนก็ต้องทำงานอย่างเป็นระบบเช่นกัน โดยการทำให้เกิดชุมชนเข้มแข็งทุกภาคส่วน และคนในสังคมตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสุรา และพร้อมใจกันมีส่วนร่วมในการควบคุมปัญหาดังกล่าว (ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า การจะเกิดผลลัพธ์ตั้งแต่ระดับสี่ขึ้นไป ต้องอาศัยความร่วมมือขององค์กรภาคส่วนอื่นด้วย บทบาทของศวส.ในการทำให้เกิดผลลัพธ์ในระดับนี้ จึงเป็นเพียงการสนับสนุนให้เกิดการขยายผลเชิงระบบเท่านั้น โดยอาศัยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในระดับหนึ่งถึงสาม)
• ผลลัพธ์ระดับ 3 คือ การสร้างกลไกสนับสนุนเพื่อทำให้ภาคีระบบหลักที่ทำงานด้านการควบคุมปัญหาสุรามีแผนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ โดย ศวส. ในฐานะที่เป็นองค์กรทางวิชาการจะต้องทำงานร่วมกันกับภาคีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพัฒนาศักยภาพภาคี (ยุทธศาสตร์ที่สามของศวส.) เช่น สำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสำนัก/กรม/กอง อื่นๆ ของกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า รวมทั้งนักวิชาการ/นักวิจัยในสถาบันการศึกษา และนักวิชาการ/นักวิจัยอิสระ ในการสร้างกลไกการทำงานด้านควบคุมปัญหาสุราที่มีประสิทธิภาพขึ้นมาในแต่ละองค์กรเหล่านี้ และเกิดการเรียนรู้ร่วมกันอย่างมีระบบ
• ผลผลิตระดับ 2 จัดเป็นผลผลิตด้านกระบวนการ ซึ่งเป็นการนำผลจากการสร้างองค์ความรู้ที่เป็นพันธกิจหลักของศวส. (ผลผลิตระดับ 1 และเป็นยุทธศาสตร์ที่หนึ่งของศวส.) มาใช้ในการผลักดันนโยบายด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสื่อสารเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมต่อการดื่มสุรา ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สองของศวส. (การเผยแพร่และใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้) ตัวชี้วัดผลผลิตที่จะเกิดขึ้นในระดับนี้ คือ การมีกิจกรรมผลักดันหรือชี้นำนโยบายฯ และการมีกิจกรรมด้านสื่อมวลชน เพื่อเผยแพร่ความรู้และปรับทัศนคติของสังคม
• ผลผลิตระดับ 1 เป็นผลลัพธ์หลักของการดำเนินงานของศวส. ในฐานะเป็นองค์กรวิชาการที่มีพันธกิจหลักในการสร้างองค์ความรู้ด้านการจัดการกับปัญหาสุรา เป็นยุทธศาสตร์ที่หนึ่งของศวส. ประกอบด้วย การสนับสนุนชุดโครงการวิจัยมุ่งเป้า งานเฝ้าระวังสถานการณ์ งานสังเคราะห์และประเมินผลนโยบาย งานวิจัยทั่วไปและเร่งด่วน และงานวิจัยวิทยานิพนธ์ ซึ่งวัดได้จาก การมีข้อมูล ข้อสนเทศ ความรู้ กิจกรรม และพื้นที่ต้นแบบด้านการจัดการกับปัญหาสุราเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีความถูกต้องตามหลักฐานวิชาการ และเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย
นอกจากนี้ แผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ พ.ศ.๒๕๕๓[2] ได้กำหนดเป้าหมายเชิงกลไกของนโยบายไว้สี่ประการคือ
• ควบคุมและลดปริมาณการดื่มสุราในสังคม
• ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และควบคุมความชุกของการดื่มสุรา
• ลดความเสี่ยงของการดื่มสุรา ทั้งในมิติของปริมาณและรูปแบบการดื่ม และพฤติกรรมหลังการดื่มสุรา
• จำกัดและลดความรุนแรงของปัญหาจากการดื่มสุรา
เนื่องจากศวส.เป็นหน่วยงานวิชาการที่มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนการจัดการปัญหาสุราในประเทศไทย จึงกำหนดเป้าหมายของการทำงานตามแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติด้วย
[1] นพ. บัณฑิต ศรไพศาล. แผนปฏิบัติการสามปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ถึง ๒๕๖๓ ประเด็น NCDs, บุหรี่ สุรา ยาเสพติด (อาหาร กิจกรรมทางกาย) ของคณะหนึ่ง สสส. บรรยายที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ วันที่ ๘–๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๐.
[2] ทักษพล ธรรมรังสี, สุวรา แก้วนุ้ย. แผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ. กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ; 2552.
ขอบเขตการดำเนินงาน
ศูนย์วิจัยปัญหาสุรากำหนดขอบเขตการดำเนินงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน การควบคุม การจัดการปัญหาจากการบริโภคสุรา ในมิติทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาธารณสุข และสังคมศาสตร์ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่าย ผลักดันนโยบาย และขับเคลื่อนสังคม