อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว
จากข่าวการเสียชีวิตของดาราสาว น้ำตาล เดอะสตาร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้แถลงถึงสาเหตุ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ว่าเกิดจาก “วัณโรคหลังโพรงจมูก” ทำให้คนไทยหลายคนสงสัยถึงสาเหตุการเกิดวัณโรค ซึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดวัณโรค เช่น ภาวะที่ร่างกายอ่อนแอ การติดเชื้อ HIV การป่วยเป็นเบาหวาน และการอยู่ในพื้นที่แออัดที่มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อมากหรือมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นวัณโรค
แอลกอฮอล์นำไปสู่การเสียชีวิตจากวัณโรค มากกว่า อุบัติเหตุบนท้องถนน
แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่เกิดจากพฤติกรรมซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดวัณโรคที่คนทั่วไปไม่ทราบ หรือมองข้ามไป เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา วารสาร Lancet ซึ่งเป็นวารสารทางการแพทย์ชื่อดังระดับโลกได้ตีพิมพ์ รายงานการประมาณการภาระโรคที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์โดยใช้ข้อมูลจาก 195 ประเทศทั่วโลก (Alcohol use and burden for 195 countries and territories, 1990–2016: a systematic analysis for the Global Burden of Disease Study 2016) พบว่า แอลกอฮอล์ทำให้เกิดการเสียชีวิตทั่วโลกถึง 2.8 ล้านคนต่อปี โดยแอลกอฮอล์ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดการเสียชีวิตจากโรคนั้นๆ ข้อมูลที่น่าตกใจจากรายงานฉบับนี้ คือ โรคที่แอลกอฮอล์มีส่วนเกี่ยวข้องและทำให้เกิดการเสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งทั่วโลก คือ “วัณโรค” ซึ่งสูงกว่าการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนจากแอลกอฮอล์ซึ่งตามมาเป็นอันดับ 2 เสียอีก [1] ประมาณการกันว่า 10% ของการป่วยเป็นวัณโรคทั่วโลกมีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ [2]
ดื่มหนักเสี่ยงวัณโรค 3 เท่า !!!
ก่อนหน้านี้ในปี 2551 ทีมนักวิจัยจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้ตีพิมพ์งานวิจัยแบบ systematic review ที่เป็นการรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยหลายๆ ชิ้น และนำมาวิเคราะห์ร่วมกัน โดยได้รวบรวมผลงานวิจัย 21 ชิ้นเกี่ยวกับแอลกอฮอล์และวัณโรคนำมาวิเคราะห์ร่วมกัน พบว่า ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์แบบดื่มหนัก (40 กรัมต่อวันขึ้นไป) มีความเสี่ยงในการเกิดวัณโรคสูงเกือบ 3 เท่าของคนทั่วไป [3]
แอลกอฮอล์ก่อกวนการทำงานของเม็ดเลือดขาว และลดประสิทธิผลยารักษาวัณโรค
สาเหตุที่แอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรควัณโรค เนื่องจากแอลกอฮอล์ไปลดความสามารถในการทำงานของเม็ดเลือดขาวหลายชนิดซึ่งเป็นกลไกของร่างกายที่ใช้ในการกำจัดเชื้อวัณโรคที่เข้าสู่ร่างกาย ก่อนที่ลุกลามไปจนมีอาการป่วย เม็ดเลือดขาวที่ทำงานด้อยลงหากเราดื่มแอลกอฮอล์ เช่น macrophage, CD 4+ lymphocyte, CD 8+ lymphocyte ในกลุ่ม T cells ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จึงถือเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ นอกจากนี้ สำหรับคนที่ป่วยเป็นวัณโรคและกำลังทานยารักษา การดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลงเนื่องจากแอลกอฮอล์จะไปรบกวนการทำงานของยา Isoniazid ซึ่งเป็นตัวยาหลักในตำหรับยาที่ใช้รักษาวัณโรค [2]
การดื่มเหล้าดื่มเบียร์ ยังเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่คนทั่วไปกระทำกัน นอกเหนือจากอุบัติเหตุ โรคตับแข็ง มะเร็งตับที่ทุกคนทราบกันดี แอลกอฮอล์ยังก่อให้เกิดโรคที่เราไม่ค่อยนึกถึงกันได้อีกมาก “วัณโรค” ที่เพิ่งคร่าชีวิต น้ำตาล เดอะสตาร์ ไปก็ถือเป็นหนึ่งในโรคร้ายแรงที่เกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์ องค์การอนามัยโลกได้จัดให้แอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคกว่า 200 โรค [4] รวมไปถึงโรคมะเร็งอันดับหนึ่งในผู้หญิง คือ มะเร็งเต้านม และยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งอีกหลายชนิด ได้แก่ มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งในช่องปาก มะเร็งกล่องเสียง เป็นต้น การ ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำเพื่อลดโอกาสที่จะจากโลกนี้ไปก่อนวัยอันควร
ผู้เขียน : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพ. อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (CE-HSMR) และศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพ. อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว
อ้างอิง
- Griswold MG, Fullman N, Hawley C, Arian N, Zimsen SR, Tymeson HD, et al. Alcohol use and burden for 195 countries and territories, 1990–2016: a systematic analysis for the Global Burden of Disease Study 2016. The Lancet. 2018;392(10152):1015-35.
- Rehm J, Samokhvalov AV, Neuman MG, Room R, Parry C, Lonnroth K, et al. The association between alcohol use, alcohol use disorders and tuberculosis (TB). A systematic review. BMC public health. 2009;9:450. Epub 2009/12/08. doi: 10.1186/1471-2458-9-450. PubMed PMID: 19961618; PubMed Central PMCID: PMC2796667.
- Lönnroth K, Williams BG, Stadlin S, Jaramillo E, Dye C. Alcohol use as a risk factor for tuberculosis–a systematic review. BMC public health. 2008;8(1):289.
- World Health Organization. Global status report on alcohol and health 2014: World Health Organization; 2014.