ก่อนสงกรานต์ พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา มีการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอันหนึ่งจากองค์กรแนวร่วมรณรงค์ให้สังคมปลอดภัยจากภัยแอลกอฮอล์ และ ประชาชนกลุ่มหนึ่ง ให้รัฐบาลพิจารณาออกคำสั่งห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ในวันที่ 13 เมษายน ซึ่งเป็นวันสงกรานต์ใหญ่ ช่วงเวลาของการนำประเด็นนี้มาพูดในวงสาธารณะเริ่มขึ้นประมาณต้นเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง กระแสเลือกตั้งที่มาแรงจึงกลบประเด็นนี้ให้เป็นประเด็นรอง รวมถึงพรรคการเมืองแทบทุกพรรคไปจนถึงรัฐบาล ต่างไม่มีใครกล้านำประเด็นนี้ไปเล่นต่อ นโยบายแบบขัดความสนุกของประชาชนล่อแหลมต่อการเสียคะแนนนิยม ถ้าทู่ซี้ผลักดันขึ้นมาจริง ๆ ในช่วงใกล้สงกรานต์ด้วย คงไม่ดีต่อคะแนนเสียง แต่ถ้าผลักดันเรื่องที่ทำให้คนได้สนุกกันอย่างกัญชาเสรี อันนี้ก็อาจจะถูกใจคนหมู่มากได้ ในมุมมองของคนติดตามเรื่องนโยบายเพื่อป้องกันผลกระทบของแอลกอฮอล์ต่อสังคม ถือว่าสงกรานต์ปีนี้เราไม่มีมาตรการอะไรใหม่ไปกว่าปีที่ผ่านมา เมื่อมาตรการทุกอย่างคงเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คนไทยก็คนเดิม ๆ สงกรานต์ไทยก็แบบเดิม ๆ ก็เดาได้ว่าผลกระทบจากแอลกอฮอล์ในช่วงสงกรานต์ก็น่าจะยังไม่เปลี่ยนอะไรมาก

หนึ่งในเหตุการณ์ที่กระทบกับขวัญกำลังใจบุคลากรสาธารณสุขไทยที่สุดในช่วงสงกรานต์ปีนี้ คือ เหตุการที่วัยรุ่นเข้ามาตีกันในโรงพยาบาล เกิดจากเหตุติดพันที่เกิดขึ้นก่อนหน้า เมื่อนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล ก็ตามสานต่อกันถึงที่ สมัยที่ผมยังเป็นหมอฝึกหัดในโรงพยาบาลประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่อง ความดุของนักเลงเจ้าถิ่น ทุกครั้งที่อยู่เวรห้องฉุกเฉิน ในความรู้สึกของแพทย์ พยาบาลในห้องฉุกเฉิน เราจะมีประเภทของคนไข้ที่ไม่อยากให้เข้ามาในช่วงที่อยู่เวรเลยคือ

– คนไข้ที่คนเมาที่ประสบอุบัติเหตุมา แม้ว่าจรรยาบรรณทางการแพทย์จะสอนให้เรารักษาคนไข้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แต่อดมีอารมณ์ไม่ได้เวลาที่เห็นคนเมาแล้วขับรถจนเกิดอุบติเหตุต้องเข้าห้องฉุกเฉิน ผมมักมีคำถามถามถึงเจ้าหน้าที่ส่งตัวเสมอว่าคนไข้ชนใครมาบ้างไหม ถ้าชนมาก็ยิ่งทำให้เรา (ในตอนนั้น) มีอารมณ์มากยิ่งขึ้น คนไข้กลุ่มนี้นอกจากเมาพูดไม่รู้เรื่อง ไม่ให้ความร่วมมือในการรักษา บางครั้งก็โวยวาย ทำร้ายร่างกายแพทย์ พยาบาลได้ จะให้น้ำเกลือ เจาะเลือดก็ต้องระวังตัวมากกว่าเดิม เพราะเข็มในมือเราพร้อมจะโดนปัดกวาดจากมือเท้าคนไข้อยู่ตลอดเวลา

– คนไข้วัยรุ่นที่ถูกส่งเข้ามาเพราะมีเรื่องทะเลาะวิวาท ซึ่งส่วนมากที่เคยเจอก็มักเมามาด้วย เราต้องระวังอยู่เสมอว่าจะมีใครตามมาเช็คบิล คนไข้เราบนเตียงไหม ห่วงทั้งคนไข้และชีวิตตัวเอง ตอนที่คนไข้ไปแย้ว ๆ ข้างนอกนั่นเราไม่รู้หรอกว่าเขาซ่าขนาดไหนเวลาอยู่กับพรรคพวกตัวเองข้างนอก แต่ตอนนอนบนเตียงถูกเข้ามาในห้องฉุกเฉิน มักนอนหงอยน่าสงสาร ถ้าโดนคู่อริมาบวกเพิ่มคงแย่ทั้งคนรักษาและคนไข้

ชีวิตที่เจอคนไข้เมาแล้วบาดเจ็บจากทั้งสองกรณีเข้ามาในโรงพยาบาลเกือบทุกครั้งที่อยู่เวร จนตอนนั้นตั้งปณิธานกับตัวเองเลยว่า ถ้าเป็นไปได้ไม่อยากเจอคนเมาในห้องฉุกเฉินอีกแล้ว ซึ่งปณิธานนี้ได้บรรลุเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันผมไม่ได้ออกตรวจในห้องฉุกเฉินมาหลายปี เลยไม่ได้เจอคนไข้ประเภทนี้เลย แต่ก็ได้ทำงานอีกรูปแบบหนึ่งที่จะช่วยให้เพื่อนร่วมวิชาชีพของผมตอนนี้ได้พบกับปัญหาจากคนเมาลดลง นั่นคือการเป็นนักวิชาการด้านนโยบายแอลกอฮอล์ ถ้าทำได้สำเร็จตามความตั้งใจจริง ๆ คงลดคนไข้เมาแล้วขับ เมาแล้วทะเลาะวิวาทได้หลายแสนคนต่อปี นั่นคือความฝันที่อยากให้เป็นจริงนะครับ

เล่าถึงความรู้สึกที่โดนคุกคามในห้องฉุกเฉินเพิ่มนิดหนึ่ง เผื่อให้คนที่ไม่ใช่แพทย์พยาบาลได้นึกออก โดยทั่วไปแล้วห้องฉุกเฉินของรพ.ประจำจังหวัดมักเป็นสถานที่ที่มีความวุ่นวายตลอดเวลา นอกจากต้องรับคนไข้ฉุกเฉินในพื้นที่ใกล้เคียงกับรพ.แล้ว ยังต้องรับคนไข้หนักที่โรงพยาบาลประจำอำเภอดูแลไม่ได้เข้ามารักษาต่อในโรงพยาบาลจังหวัด ในวันปกติความวุ่นวายก็จะพอดีกับอัตรากำลังแพทย์ พยาบาล ที่จัดไว้ แต่ถ้าถึงช่วงเทศกาลเมื่อไหร่ ความวุ่นวายจะเพิ่มเป็นทวีคูณ ใคร ๆ ก็อยากหยุดงานในวันเทศกาลทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ทำงานโรงพยาบาล งานอื่น ๆ ถึงวันหยุดก็หยุดพักผ่อน ไม่ต้องทำงานก็ไม่กระทบใคร แต่เมื่อถึงวันหยุดยาว วันที่คนเดินทางกันมากขึ้น คนสังสรรค์กันมากกว่าปกติ อุบัติเหตุก็มากกว่าปกติ คนไข้ก็มากขึ้นด้วย แต่จำนวนคนทำงานในโรงพยาบาลลดลงจากวันปกตินะครับ หมอ พยาบาลที่จับฉลากต้องอยู่เวรในช่วงเทศกาลเลยน่าสงสารสุดด้วย

ประการฉะนี้ ในความรู้สึกของเจ้าหน้าที่ เขาคิดว่าการเดินทางมาทำงานเพื่อช่วยเหลือชีวิตคนไข้ก็ถือว่าเสียสละมากแล้ว โดยเฉพาะช่วงเทศกาลหยุดยาวที่คนไข้มากขึ้นงานหนักขึ้น แต่หากต้องได้รับบาดเจ็บ หรือ เสียชีวิตจากการมาทำงาน ก็คงเป็นเรื่องสะเทือนขวัญกำลังใจอย่างที่สุด ประเทศเราเคยมีเหตุความรุนแรงในห้องฉุกเฉินตั้งแต่ บุกเข้ามามีเรื่องทำร้ายเจ้าหน้าที่โดยตรง ไปจนถึงมีเรื่องกันยังไม่จบก็พาพรรคพวกมาสาดอาวุธกันที่โรงพยาบาล โดยไม่สนใจว่าผู้ป่วยคนอื่นและเจ้าหน้าที่จะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง

คราวนี้ลองมาดูว่าสาเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล เราจะพบว่าจากเหตุการตัวอย่างที่เรายกขึ้นมานำเสนอ สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงมีปัจจัยจาก 2 ส่วน อันหนึ่งคือตัวผู้รับบริการ และ อีกส่วนหนึ่งคือคุณภาพของการบริการ ในส่วนปัจจัยที่เกิดจากผู้รับบริการ มีกรณีของวัยรุ่นเข้ามาต่อยตีกันในโรงพยาบาลหลายกรณี หากตามไปอ่านในรายละเอียดของแต่ละกรณี ก็จะพบว่าผู้ก่อเหตุกลุ่มนี้มักมีอาการเมาสุราด้วย

เคยมีนักวิจัยในไทยทำการสำรวจเรื่องลักษณะการใช้ความรุนแรงในสถานพยาบาล (นภัสวรรณ พชรธนสาร, 2560) ซึ่งพื้นที่การศึกษาอยู่ในเขตจังหวัดภาคตะวันออกของไทย ก็พบว่า ร้อยละ 60 ของบุคลากรใน รพ. เคยได้รับประสบการณ์ตรงเรื่องความรุนแรงในสถานพยาบาล ร้อยละ 80 ของเหตุความรุนแรงมักเกิดขึ้นในห้องฉุกเฉิน และ สองสาเหตุสำคัญที่สุดที่เป็นเหตุให้มีการใช้ความรุนแรงคือ รอรับการบริการที่นานเกินไป (ร้อยละ 77) และ เมาสุรา (ร้อยละ 70)

ผมคงไม่ลงรายละเอียดในเรื่องคุณภาพการบริการมากนัก เนื่องจากไม่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง แต่จะคุยกันให้ตกผลึกว่าเราจะร่วมกันสร้างความปลอดภัยให้กับบุคลากรในสถานพยาบาลจากคนเมาได้อย่างไร

ปัญหาอยู่ตรงไหน?

ผมจะเชื่อมโยงแค่สองอย่างคือ ความรุนแรงในสถานพยาบาลและคนเมาเท่านั้น เพื่อให้เกิดข้อเสนอทางนโยบายในประเด็นนี้ได้ คนไทยตอนนี้อยู่ในสังคมที่ว่า หากมีชีวิตอยู่นานพอ จะต้องเคยได้รับผลกระทบจากคนเมา จากการสำรวจประชาชนไทย พบว่า 8 ใน 10 เคยมีประสบการณ์ได้รับผลกระทบจากภัยแอลกอฮอล์มือสอง ภัยของแอลกอฮอล์มือสองได้ขยายขอบเขตลุกลามไปยังพื้นที่ที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะไปถึงได้ เมื่อพูดถึงภัยแอลกอฮอล์มือสอง ในสามัญสำนึกของคนไทยคงเข้าใจว่าผู้ได้รับผลกระทบนั้นควรใกล้ชิดกับแอลกอฮอล์มากพอ คนที่ควรจะได้รับความเดือดร้อนจากคนเมา ควรเป็นคนที่มีบ้านเรือนใกล้แหล่งบันเทิงที่มีคนดื่มกินกันมาก ๆ โดยเฉพาะแหล่งที่วัยรุ่นมั่วสุม คนที่ทำงานในสถานบันเทิงที่อาจถูกลวนลามโดยคนเมา คนที่ขายเหล้า (ร้านเหล้าที่ขายกลางคืนมักปิดประตูมิดชิดด้วยเหตุนี้) ภรรยาและครอบครัวของนักดื่ม เป็นต้น คนที่ไม่ได้อยู่ในวงใกล้ชิดกับการดื่มแอลกอฮอล์นั้นอยู่ไกลจากสามัญสำนึกของเราว่าจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์ แต่ในปัจจุบัน มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นแล้ว ผลกระทบจากภัยแอลกอฮอล์มือสองได้รุกล้ำไปยังหลายเขตหลายพื้นที่ ที่สังคมไม่คาดว่าจะมี แต่มันเกิดขึ้น นอกจากสถานพยาบาลที่พื้นที่เชิงจินตภาพค่อนข้างไกลจากนักดื่ม หมายความว่า คงไม่มีคนปกติคนไหนพาเหล้าไปดวดดื่มกันในโรงพยาบาลให้เมากัน เพราะภาพของโรงพยาบาลกับเหล้ามันไปด้วยกันไม่ได้ แต่อย่างที่ปรากฏในหลายกรณี ทุกวันนี้เรามีคนเมาเข้าไปสร้างความเดือดร้อนให้คนป่วยและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้ เมื่อไม่กี่เดือนก่อน วัด กับ โรงเรียน ซึ่งถือเป็นสองสถานที่ที่ไม่ควรสัมพันธ์กับแอลกอฮอล์ หรือสมควรจะได้รับความเดือดร้อนจากแอลกอฮอล์ ก็กลายเป็นพื้นที่ที่ถูกรุกล้ำให้ได้รับผลกระทบจากภัยแอลกอฮอล์มือสองไปแล้ว

เมื่อไม่ขีดเส้นให้ชัดเจนว่า ต้องมีพื้นที่พิเศษบางอย่างที่ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเกิดเหตุจากคนเมาขึ้น อนาคตคงพอเห็นภาพว่าจะมีเหตุแบบนี้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ

จะขีดเส้นอย่างไรให้คมชัดและได้ผลจริง

ในตรรกะขั้นนี้เราต้องตกลงกันก่อนว่าแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าธรรมดา เป็นสินค้าพิเศษที่ต้องควบคุม หากการควบคุมมันไม่มีประสิทธิภาพ ความพิเศษของมันก็จะทำให้เกิดผลเสียต่อสังคมโดยรวม สังคมที่เจริญทางความคิดก็ค้าขายแอลกอฮอล์กันได้ แต่วิธีควบคุมนั้นต้องมี

ความรุนแรงจากแอลกอฮอล์ที่รุกล้ำเข้าในสถานที่พิเศษดังกล่าว เป็นผลพวงจากการควบคุมแอลกอฮอล์ในพื้นที่ปกติของมันไม่ได้ หากควบคุมได้มันคงไม่ออกมาสร้างความเดือดร้อนภายนอกพื้นที่ที่จำกัดมันไว้ ดังนั้นหากเรากำลังคิดจะหาวิธีที่ที่ทำให้สถานพยาบาล วัด หรือ โรงเรียน ปลอดภัยจากภัยแอลกอฮอล์มือสอง การแก้ปัญหาไม่ใช่การไปจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัยเพิ่ม สร้างรั้วให้แน่นหนาขึ้น หรือ ทำที่ตรวจจับอาวุธก่อนเข้าสถานที่ทั้งสามนี้ แต่วิธีการที่ดีกว่าในการจัดการแก้ปัญหานี้คือการควบคุมแอลกอฮอล์ในพื้นที่ที่มันถูก ซื้อ ขาย และ ดื่ม ให้ดี

ในช่วงวันปกติ เรามีมาตรการควบคุม โดยการจำกัดเวลาขาย จำกัดสถานที่ขาย จำกัดอายุผู้ซื้อ มาตรการเหล่านี้ถ้าบังคับใช้อย่างจริงจังก็คงลดปัญหาได้มาก แต่ในทางปฏิบัติเราพบว่าร้านค้าปลีกในประเทศมีมากเกินกว่าจำนวนผู้บังคับกฎหมายที่จะกวดขันได้หลายเท่า ร้านค้าปลีกตามชุมชนจึงไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบนี้ ในต่างประเทศจึงมีการเพิ่มระเบียบพิเศษว่าด้วยการร่วมรับผิดชอบของร้านค้าที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้นักดื่มที่ออกไปก่อความเสียหายนอกร้าน (Dram shop liability) กลไกลนี้จะช่วยทำให้ร้านค้าต้องกวดขันระเบียบให้มากขึ้น ไม่จำหน่ายให้กับเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่จำหน่ายให้บุคคลที่มีท่าทีจะทำอันตรายต่อสังคมหากมีอาการมึนเมา เช่น คนขับรถมาด้วยตัวเอง

แต่ในช่วงเทศกาลที่คนรวมตัวกันมากขึ้น กิจกรรมมีมากกว่าช่วงปกติ มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น มีการเดินทางไปและกลับจากบ้านมายังพื้นที่สาธารณะ มีการพบปะของกลุ่มคนที่มาจากต่างที่ต่างถิ่น ร่วมกับการมีอาการมึนเมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การจัดการปัญหาที่จะตามมาจึงกลายเป็นเรื่องซับซ้อน เราจึงมีทางเลือกไม่กี่ทางสำหรับการแก้ไขปัญหานี้

ทางเลือกแรก คือ แก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เตรียมรับความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นจากการดื่มแอลกอฮอล์ ในทุกสถานที่ ทุกสถานการณ์ ทุกเวลา ความรับผิดชอบจะกลายเป็นของประชาชนแทบทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ที่มีการให้ดื่ม หรือ ไม่มีการให้ดื่ม

ทางที่สอง คือจัดการทดลองมาตรการควบคุมต่าง ๆ ให้เข้มงวดขึ้น ห้ามขายแอลกอฮอล์ตามเวลาที่กำหนด ห้ามขายให้คนอายุไม่ถึง จำกัดปริมาณ เรามีเวลาในการทำสิ่งนี้มานานหลายปี และเห็นได้ชัดว่าไม่ได้ลดปัญหาลง

ทางที่สาม คือ งดเว้นการขายในช่วงเทศกาลไปเลย แม้จะดูเป็นทางเลือกที่สุดโต่ง แต่ไม่ใช่ทางเลือกที่ไร้เหตุผล การขายแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลก่อปัญหาตามมามากมาย ถ้าไม่มีมาตรการทดลองทางสังคมที่ใหญ่พอก็ไม่มีทางทราบได้ว่าสรุปแล้วปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลนั้นมีมูลเหตุที่แท้จริงจากแอลกอฮอล์หรือไม่ ทางเลือกนี้มีรายละเอียดคือ ห้ามการซื้อขายในช่วงเทศกาล ใครอยากดื่มอยากฉลองก็วางแผนซื้อให้เสร็จสิ้นก่อนเข้าช่วงเทศกาล การซื้อก่อนเทศกาลจะทำให้การดื่มมีแบบแผนมากขึ้น อย่างน้อยก็ลดการขับรถออกจากบ้านมาดื่มกินข้างนอกได้ ต่อมาคือ การห้ามการดื่มในที่สาธารณะ หากจะดื่มก็ไปดื่มพื้นที่ส่วนตัว ปัญหาของช่วงเทศกาลคือคนมารวมตัวกันมาก แอลกอฮอล์ได้ลดระดับความยับยั้งชั่งใจของคน ถ้ามีแค่ 1 เปอร์เซ็นที่เข้าร่วมเทศกาลหนึ่ง ๆ ที่เสียการควบคุมสติสัมปชัญญะก็ถือว่ามีคนจำนวนมากพอจะทำให้เกิดความเสียหายใหญ่ ๆ แล้ว เทศกาลหนึ่งที่มีคนเข้าร่วมเฉลี่ย 5,000 นับที่ 1 เปอร์เซ็น ก็ 50 คนแล้ว คนจำนวนเท่านี้ที่ขาดความยับยั้งชั่งใจ มองหน้าเขม่นกันก็ตีกันฆ่ากันให้ตายได้ จะตามไปทำร้ายคนในวัด ในบ้านพัก ในโรงพัก ในโรงพยาบาลก็ทำได้หมด เพราะสามัญสำนึกขาดหายไป เมื่อสร่างเมาก็เศร้าโศกเสียใจกับสิ่งที่ตนทำ เหมือนกรณีที่หนุ่มวัยรุ่นใช้ขวดปากฉลามแทงเข้าคอของพลทหารที่เข้าไประงับเหตุทะเลาะวิทวาทจนเสียชีวิตในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมานี่เอง

นี่คือกระบวนการที่สังคมต้องรีบขีดเส้นให้ชัด ว่าเส้นแบ่งของแอลกอฮอล์ในสังคมควรอยู่ที่ใด และ ที่ใดที่ไม่ควรให้ปัญหาจากแอลกอฮอล์ไปปรากฎอยู่ ถ้าไม่รีบทำก็เตรียมใจได้ล่วงหน้า ว่าอนาคตคงจะมีเรื่องแย่ ๆ ในสถานที่ที่ไม่ควรจะเกิดไปเรื่อย ๆ ครับ

Privacy Settings
We use cookies to enhance your experience while using our website. If you are using our Services via a browser you can restrict, block or remove cookies through your web browser settings. We also use content and scripts from third parties that may use tracking technologies. You can selectively provide your consent below to allow such third party embeds. For complete information about the cookies we use, data we collect and how we process them, please check our Privacy Policy
Youtube
Consent to display content from - Youtube
Vimeo
Consent to display content from - Vimeo
Google Maps
Consent to display content from - Google
Spotify
Consent to display content from - Spotify
Sound Cloud
Consent to display content from - Sound

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors