จากข่าวที่ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเตรียมเสนอรัฐบาลให้มีการขยายเวลาปิดสถานบริการออกไปจนถึง 04.00 น. เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภาคกลางคืน ในอีกด้านหนึ่ง สถานบริการที่เปิดให้บริการช่วงกลางคืนมักจะมีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันเป็นกิจกรรมหลักในสถานบริการ การขยายเวลาเปิดสถานบริการ ถือเป็นการเพิ่มการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งการเข้าถึงที่เพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดที่สัมพันธ์กับการบริโภคและผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้น
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อสุขภาพก่อให้เกิดโรคกว่า 200 โรค นอกจากนี้ยังถือเป็นยาเสพติดที่ก่อให้เกิดผลกระทบบุคคลอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดื่มโดยตรงมากที่สุด ซึ่งผลกระทบดังกล่าวก็วกกลับไปก่อให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจ เช่น ต้นทุนในด้านการรักษาพยาบาลผ่านสวัสดิการสุขภาพของรัฐ ความเสียหายจากอุบัติเหตุ ต้นทุนด้านการบังคับใช้กฎหมาย ผลิตภาพในระบบเศรษฐกิจที่สูญเสียไปจากการบาดเจ็บและเสียชีวิต เป็นต้น รัฐจึงควรชั่งน้ำหนักให้ดีระหว่างการรายได้ของกิจการในภาคกลางคืนที่เพิ่มขึ้นกับ ต้นทุนที่เกิดจากการบริโภคแอลกอฮอล์
ทางศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) จึงขอนำเสนอข้อมูลผลกระทบทางเศรษฐกิจจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งจัดทำโดย ผศ.ดร.ธัชนันท์ โกมลไพศาล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการดังกล่าวเป็นการประเมินต้นทุนผลกระทบทางสังคมจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2560 พบว่า ในปีดังกล่าวการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าถึง 86,000 ล้านบาท โดยมูลค่าความเสียหายส่วนใหญ่เกิดจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรคิดเป็น 82,000 ล้านบาท ส่วนต้นทุนที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ต้นทุนในการรักษาพยาบาล และต้นทุนของการังคับใช้กฎหมาย ซึ่งก็ต้องใช้งบประมาณจากภาษีทั้งสิ้น
ดังนั้น รัฐบาลจึงควรตรึกตรองให้ดีว่าการให้สถานบริการเปิดได้ถึงตี 4 และหวังว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้นั้น จะคุ้มค่ากับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรในวัยทำงานที่เพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อผลิตภาพทางเศรษฐกิจที่ลดลงในระยะยาว ผลกระทบอื่นๆ ที่เกิดจากแอลกอฮอล์สุดท้ายก็กลับมาเป็นต้นทุนของรัฐทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นกรณีค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรม แบบนี้อาจเป็นการได้ที่ไม่คุ้มเสีย
เอกสารอ้างอิง: ผศ. ดร.ธัชนันท์ โกมลไพศาล, รายงานวิจัยโครงการการประเมินต้นทุนผลกระทบทางสังคมจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยประจำปี พ.ศ.2560