โดย…ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ
ผมเขียนบทความชิ้นนี้ ในขณะที่ทั่วประเทศกำลังเผชิญหน้ากับทางแพร่งของการเลือกข้างทางการเมืองที่สำคัญครั้งหนึ่งของประเทศชาติ ในยามที่โลกทั้งใบกำลังเผชิญหน้ากับโรคระบาดครั้งใหญ่ในรอบหนึ่งร้อยปี ในอนาคตอันใกล้นี้วิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในโลกในรอบหลายร้อยปีจะถาโถมเข้าสู่รัฐเล็กรัฐใหญ่ในโลกอย่างไม่เลือกหน้า Globalization ที่ได้กลายเป็นทางเลือกหลักในการพัฒนาโลกตั้งแต่หลังยุครัฐชาติ ได้เชื่อมโลกทั้งใบไว้มากกว่าช่วงสมัยใด ๆ ของมนุษยชาติ ได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่จะทำให้วิกฤตโลกนั้นกระทบต่อกันอย่างที่เห็น เมื่ออนาคตอันใกล้มีวิกฤตขนาดใหญ่เช่นนี้ จึงไม่แปลกอะไรที่ผู้คนจะตั้งคำถามถึงแนวคิดทางการเมืองที่จะนำคนในชาติเผชิญหน้ากับวิกฤต เหตุผลที่สำคัญมาก ๆ ที่ต้องเลือกแนวคิดทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่งในการเผชิญหน้ากับภาวะคุกคามก็เพราะความหมายที่แท้จริงของการเมืองนั้นคือ แนวคิดในการบริหารทรัพยากรในสังคมใดสังคมหนึ่ง หากมีมนุษย์รวมกลุ่มมากกว่าหนึ่งคน เป็นธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันที่ต้องสร้างระบบการเมืองขึ้นมาเพื่อให้ทรัพยากรถูกแจกจ่าย และ ผู้ในในสังคมนั้น ๆ อยู่รอดมากที่สุด อำนาจทางการเมืองจะถูกแปรรูปไปเป็นอำนาจอื่น ๆ อีกหลากหลายรูปแบบ จึงไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไรที่คนรุ่นใหม่หลายพันหลายหมื่นคนทั่วประเทศ จะออกมาเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพื่อความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีกว่า แกนเรื่องสำคัญที่ดึงดูดคนจำนวนมากให้ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องเดียวกันอย่างพร้อมเพรียงกันมิใช่สิ่งอื่นใด นอกจากแกนความคิดทางการเมือง ตัวอย่างเพียงหนึ่งเดียวนี้พอจะแสดงให้เห็นได้ว่า เรื่องการเมืองมันสำคัญต่อจินตนาการของผู้คน และสำคัญต่อระเบียบชีวิตของผู้คนบนโลกนี้เช่นไร
ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา โลกผ่านการถกคิดและการต่อสู้ของแนวคิดทางการเมืองครั้ง สำคัญของคู่ตรงข้ามทางความคิดการเมืองมาหลายครั้งรวมไปถึงการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการเมืองทั้งหลาย แม้เหตุผลที่แท้จริงจะไม่ชัดเจนและไม่ใช่สิ่งที่พิสูจน์ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ได้ง่าย แต่เชื่อว่าการปฏิวัติทุกครั้งในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้น ปรัชญาทางการเมืองได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการหลอมความคิดคนร่วมสร้างจินตนาการแห่งชีวิตให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมทางการเมืองแบบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประชาธิปไตย สังคมนิยม เสรีนิยม อำนาจนิยม เผด็จการนิยม คอมมิวนิสต์ ศาสนานิยม อนุรักษ์นิยม ล้วนแล้วแต่มีปรัชญาที่ร้อยเรียงจินตนาการร่วมของผู้สนับสนุนให้เป็นเนื้อเดียวกันได้ ความเชื่อทางการเมืองได้สร้างแบบแผนของการดำเนินชีวิตจากจินตนาการถึงคุณค่าสำคัญของความเชื่อทางการเมืองนั้น ๆ (core value) จึงเป็นเหตุให้ผู้คนที่มาจากสังคมที่นับถือคนละความเชื่อทางการเมือง มีแนวโน้มที่จะมีความคิด จินตนาการต่อชีวิต และรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน รูปแบบชีวิตในที่นี้หมายถึงรูปแบบชีวิตของคนส่วนมากในทุก ๆ เรื่อง
การยกตัวอย่างเปรียบเทียบที่ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดคงต้องเปรียบเทียบประชากรของประเทศที่ปกครองคนละระบอบการเมืองที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง เช่น หากเรานึกถึงสภาพโดยทั่วไปของชายหนุ่มที่เกิดและเติบโตในประเทศสหรัฐอเมริกา และ สภาพโดยทั่วไปของชายหนุ่มที่เกิดและเติบโตจากประเทศเกาหลีเหนือ แม้เราที่อยู่ประเทศไทยจะไม่เคยเดินทางไปทั้งประเทศสหรัฐอเมริกาและเกาหลีเหนือ แต่จินตนาการจากข้อมูลที่เรารับรู้ที่ผ่านมา จะพอทำให้เราคาดเดาได้ว่า ชายหนุ่มจากสหรัฐอเมริกา น่าจะมีบุคลิคนิสัยเป็นอย่างไร ให้คุณค่ากับเรื่องอะไรบ้าง รวมไปถึง น่าจะมีพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง ในขณะเดียวกันหากเราคิดต่อในประเด็นเดียวกันกับชายหนุ่มจากเกาหลีเหนือ คงพบคำตอบคล้ายกันกับผมที่คิดว่า ชายหนุ่มจากเกาหลีเหนือโดยทั่วไปแล้ว คงมีบุคลิกนิสัยใจคอแตกต่างจากอเมริกัน สิ่งที่เขาให้คุณค่าน่าจะต่างกัน รวมไปถึงพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตในแต่ละวันก็ต่างกันกับอเมริกันหนุ่ม โชคดีที่ผมมีโอกาสได้สัมผัสพบเจอชายหนุ่มทั้งจากเกาหลีเหนือและสหรัฐอเมริกา ทำให้ผมพิสูจน์ได้ว่า ข้อสันนิษฐานในเรื่อง ค่าเฉลี่ยในจินตนาการของผมต่อคนพลเมืองสองประเทศนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจริง ๆ
คราวนี้กลับมาในเรื่องพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งเป็นใจความหลักของเนื้อหาในบทความนี้ มีนักวิจัยช่างสังเกตจำนวนหนึ่งได้ตั้งคำถามว่า หากรูปแบบการเมืองที่ใช้ปกครองส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนภายใต้ระบอบการปกครองนั้น ๆ แล้ว สำหรับพฤติกรรมทางสุขภาพ ความเชื่อทางการเมืองส่งผลอย่างไรกับประเด็นนี้บ้าง ก่อนจะไปที่ผลการสำรวจและการศึกษาที่เคยผ่านมา อยากลองให้ผู้อ่านทุกท่านได้ลองจินตนาการดู เอาแค่พฤติกรรมสุขภาพไม่กี่เรื่องก็พอครับ เรื่องการรับประทานอาหาร การออกกำลัง กายสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ ท่านผู้อ่านคิดว่ารูปแบบการเมืองของรัฐชาติใดรัฐชาติหนึ่ง จะส่งผลต่อพฤติกรรมสุขภาพของคนในรัฐนั้น ๆ อย่างไร ลองใส่ความคิดเห็นของท่านลงในตารางช่องว่างข้างล่างนี้ดูนะครับ
รับประทานอาหาร | ออกกำลังกาย | สูบบุหรี่ | ดื่มแอลกอฮอล์ | |
สังคมนิยม | ||||
คอมมิวนิสต์ | ||||
ประชาธิปไตย | ||||
ศาสนานิยม | ||||
สมบูรณาญาสิทธิราชย์ |
ในปี ค.ศ. 2000 J J Murrow และ คณะ (1) ได้ศึกษาความสัมพันธ์ของความเชื่อทางการเมือง และพฤติกรรมสุขภาพ สมมติฐานที่เขาตั้งขึ้นมาก็คงคล้ายกับคนขี้สงสัยหลายคนในโลกว่า ถ้าคนเราอยู่ภายใต้รูปแบบการปกครองและกระแสความเชื่อทางการเมืองที่ต่างกัน จะมีพฤติกรรมสุขภาพเป็นแบบไหนและเป็นอย่างไร แม้หน้าที่หลักของรัฐบาลใด ๆ ในโลกจะต้องดูแลสวัสดิภาพ (ซึ่งรวมไปถึงสุขภาพ) ของประชาชนเหมือนกัน แต่หากแนวคิดทางการเมืองต่างกัน การจัดลำดับความสำคัญในแต่ละสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจะแตกต่างกันด้วย ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นพื้นที่ศึกษาของงานวิจัยชิ้นนี้แม้จะอยู่ในระบอบปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ในประเทศก็มีแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน เช่น เสรีนิยม – อนุรักษ์นิยม ซึ่งให้คุณค่าในหลายสิ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง นิยามสำคัญของความเป็นเสรีนิยม คือ ความก้าวหน้า ความคิดเปิดกว้าง เปิดรับความหลากหลาย กล้าคิดกล้าทำ พร้อมเปลี่ยนแปลง เสรีนิยมมักตามด้วยการเปิดตลาดเสรีเพื่อให้เกิดการแข่งขันสูงสุด และให้ตลาดควบคุมตัวเอง ส่วนเมื่อเอ่ยถึงอนุรักษ์นิยม นิยามของคำนี้คือ เชื่อมั่นในการปกครองอย่างผูกขาดโดยคนชั้นสูง (aristocratic ideology) เชื่อในการเมืองเชิงประจักษ์ หรือ เรียกว่าไม่โลกสวยทางการเมือง (political pragmatism) คำนึงถึงบริบทและสถานการณ์มากกว่าอุดมการณ์ที่เกินจริง เชื่อในเรื่องการควบคุมความคิดและพฤติกรรม วิธีการสำรวจที่ทีมวิจัยนี้ได้ทำคือการไปสัมภาษณ์เก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างประมาณ 4,200 คน สอบถามพวกเขาด้วยคำถามสองกลุ่มคือ คำถามกลุ่มแรกคือกลุ่มคำถามเกี่ยวกับการให้คุณค่าในสิ่งต่าง ๆ (self-report characterizations) ซึ่งใช้เพื่อแยกกลุ่มตัวอย่างออกตามแนวคิดทางการเมืองที่กลุ่มตัวอย่างนับถือ แบ่งออกเป็นสามกลุ่มคือ อนุรักษ์นิยม ทางสายกลาง และเสรีนิยม
คำถามกลุ่มสองเป็นคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพ โดยถามทั้งในพฤติกรรมสุขภาพด้านบวก เช่น การให้คุณค่าต่อตัวเอง การดูแลตัวเอง เป็นต้น และคำถามที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มพฤติกรรมสุขภาพที่เป็นด้านลบต่อสุขภาพ เช่น การรับประทานอาหาร การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นอนุรักษ์นิยมเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างระมัดระวังในการมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระมัดระวังต่อปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านสิ่งแวดล้อม กฎหมาย โครงสร้างสังคม กลุ่มที่มีค่านิยมทางการเมืองแบบสายกลางโดดเด่นในด้านการเคารพต่อตัวเอง เชื่อมั่นในคุณค่าของตัวเอง (Self-actualization) และมีแนวโน้มที่จะสนใจเรื่องพฤติกรรมสุขภาพด้านบวกน้อยที่สุด ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่มีค่านิยมทางการเมืองแบบเสรีนิยม เป็นกลุ่มที่ใส่ใจเรื่องความเสี่ยงทางสุขภาพและปัจจัยการป้องกันสุขภาพของปัจเจกบุคคล (ตนเอง) สูงสุด
ขยับไปดูการศึกษาจากประเทศที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยบ้าง สังคมนิยม และ แนวทางคอมมิวนิสต์ เคยเป็นปฏิปักษ์สำคัญของแนวทางการปกครองแบบประชาธิปไตย อันที่จริงแล้ว แนวทางทั้งสองต่างถกกันเรื่องสิทธิในการกระจายอำนาจแก่ผู้คนหมู่มากในสังคมทั้งสิ้น แต่ในทางปฏิบัติการกระจายอำนาจของทั้งสองรูปแบบแตกต่างกัน คอมมิวนิสต์ได้กลายเป็นระบอบการปกครองหลักของประเทศในฝั่งยุโรปตะวันออก จากอิทธิพลของการปฏิวัติของบอลเชวิคในรัสเซีย คอมมิวนิสต์ได้รื้อถอน ค่านิยมเดิมในสมัยก่อนโซเวียต อันได้แก่ ระบอบเจ้าขุนมูลนายในสมัยการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใต้ราชวงศ์โรมานอฟของรัสเซีย คำสอนทางศาสนาแบบคริสต์นิกายออโธดอกซ์ ข้อค้นพบจากการเก็บข้อมูลอย่างกว้างขวางของนักวิจัยในยุคสมัยนั้นพบว่า การเปลี่ยนระบอบการปกครองในช่วงเวลานั้น ได้ก่อให้เกิดพฤติกรรมลบต่อสุขภาพหลายอย่าง และ หนึ่งในวัฒนธรรมใหม่ที่เกิดขึ้นหลังคอมมิวนิสต์คือการดื่มเหล้าอย่างหนักของคนในสังคมรัสเซีย (2,3) หนึ่งในข้อสันนิษฐานที่กล่าวถึงกันคือ สังคมใดก็ตามที่มีการอุปถัมภ์ของรัฐในระดับสูง จะลดปราถนาต่อการมีสุขภาพที่ดีของปัจเจกบุคคล และแน่นอนว่าระบอบคอมมิวนิสต์ที่รัฐเป็นผู้จัดการทุกสิ่ง ทำให้ประชาชนเชื่อว่า หากวันหนึ่งเจ็บไข้ได้ป่วย รัฐก็ต้องช่วยรับผิดชอบความเจ็บป่วยนั้น จนละเลยการสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่ดี (4) และอีกเหตุผลสำคัญคือ ความเชื่อการเมืองแบบคอมมิวนิสต์นั้นปฏิเสธความเชื่อทางศาสนาทั้งหมด ซึ่งทำให้ผู้คนในสหภาพโซเวียตดื่มวอดก้าและสูบบุหรี่มากขึ้น (5)
เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายกลายเป็นประเทศเล็กประเทศน้อยกว่าสิบหกประเทศ นักระบาดวิทยาก็ยังคงตั้งคำถามในประเด็นเดิมว่า ในกลุ่มประเทศที่แยกออกมาจากรัสเซีย ความเป็นสังคมนิยมและความเป็นประชาธิปไตยในแต่ละประเทศจะส่งผลต่อพฤติกรรมสุบภาพอย่างไร ก็พบคำตอบคล้ายเดิมคือ ประเทศที่มีแนวโน้มเป็นสังคมนิยมมากกว่า ประชาชนในประเทศมีแนวโน้มจะดูแลรักษาสุขภาพตัวเองได้น้อยกว่า คนที่นิยมในแนวทางสังคมนิยมมีแนวโน้มจะดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าเมื่อเทียบกับคนต่อต้านสังคมนิยม (3) นอกจากนั้นคนที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์มักมีไลฟ์สไตล์ด้านสุขภาพที่ดีมากกว่าเมื่อเทียบกับคนที่นิยมในคอมมิวนิสต์ (2)
จะเห็นได้ว่า แค่ค่านิยมทางการเมืองที่แตกต่างกัน ก็ทำให้คนมีพฤติกรรมสุขภาพแตกต่างกัน แม้ว่าคนจะอยู่ในภูมิภาคหรือชาติพันธ์เดียวกัน แต่เพียงแค่ต่างเวลาต่างการปกครอง ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพแล้ว บทความตอนนี้ขอนำเสนอเกริ่นไว้ก่อน ว่าแนวคิดทางการเมืองที่ใช้สร้างนโยบาย กฎหมาย และ รูปแบบการปกครอง ส่งผลต่อวิถีชีวิตของคนมากขนาดไหน สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านการส่งเสริมและป้องกันสุขภาพ ก็จะได้เห็นภาพชัดขึ้นว่า แนวทางทางการเมืองที่แบบใดจะก่อให้เกิดความคิดตอบสนองต่อประชาชนและสร้างพฤติกรรมสุขภาพแบบไหน เราจะได้นำกลับไปคิดและวางแผนให้เหมาะสมกับบริบทแนวคิดทางการเมืองที่มีอิทธิพล ณ ห้วงเวลานั้น ๆ ครับ ตอนต่อไป ผมจะนำเสนอข้อค้นพบจากการสำรวจแนวคิดทางการเมืองและพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์จากการรวบรวมข้อมูลมากกว่า 50 ปี ในประเทศสหรัฐอเมริกา น่าสนใจมากครับ ติดตามอ่านตอนต่อไปในเร็ว ๆ นี้ครับ
เอกสารอ้างอิง
- Murrow JJ, Coulter RL, Coulter MK. Political ideologies and health-oriented beliefs and behaviors: an empirical examination of strategic issues. J Health Hum Serv Adm. 2000;22(3):308-345.
- Cockerham WC, Hinote BP, Cockerham GB, Abbott P. Health lifestyles and political ideology in Belarus, Russia, and Ukraine. Soc Sci Med. 2006 Apr 1;62(7):1799–809.
- Cockerham WC, Snead MC, DeWaal DF. Health Lifestyles in Russia and the Socialist Heritage. J Health Soc Behav. 2002;43(1):42–55.
- Shkolnikov VM, Cornia GA, Leon DA, Meslé F. Causes of the Russian mortality crisis: Evidence and interpretations. World Dev. 1998 Nov 1;26(11):1995–2011.
- Population NRC (US) C on, Bobadilla JL, Costello CA, Mitchell F. The Anti-Alcohol Campaign and Variations in Russian Mortality [Internet]. Premature Death in the New Independent States. National Academies Press (US); 1997 [cited 2020 Aug 5]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK233403/