โดย…ดร.วิทย์ วิชัยดิษฐ

กาลครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ในประเทศสารขัณฑ์

มีชายสองคนทำพลาดเหมือนกัน คือเมาแล้วขับรถชนคนตาย

ทั้งสองเหตุการณ์ ชายที่ก่อเหตุเป็นเศรษฐี-มหาเศรษฐี ผู้ที่เสียชีวิตเป็นตำรวจ ต่างกันที่ยศของผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิตในเหตุการณ์

ทั้งสองเหตุการณ์เป็นข่าวใหญ่ เริ่มแรกสังคมสารขัณฑ์โกรธเศรษฐีผู้ก่อเหตุ และมองว่าเศรษฐีแต่ละคนจะต้องใช้เงิน เส้นสายและอำนาจ ดิ้นให้ตนเองหลุดและไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ แน่ๆ

แล้วความเหมือนก็สิ้นสุดตรงนั้น

เศรษฐีสารขัณฑ์คนแรก ติดต่อครอบครัวผู้เสียหาย พร้อมชดเชยและเยียวยาทั้งทางการเงินอย่างเต็มที่ แต่ที่สังคมคาดไม่ถึงยิ่งกว่า คือ เศรษฐีกลับติดตามอาการผู้เสียหายทุกวัน บวชขอขมา พร้อมแจ้งว่าตนพร้อมรับความผิดตามกระบวนการศาลยุติธรรมอย่างเต็มที่ เมื่อศาลตัดสินแบบพร้อมลดหย่อนโทษ สิ่งแรกที่เศรษฐีคนนั้นทำคือกราบเท้าครอบครัวผู้เสียหายและสัญญาว่าจะเลิกดื่มตลอดชีวิต

เศรษฐีสารขัณฑ์คนที่สองเป็นลูกมหาคหบดี ร่ำรวยกว่าเศรษฐีคนแรกเป็นร้อยเท่า แต่กลับชดใช้ค่าเสียหายให้ครอบครัวผู้ตายไม่ถึงเสี้ยวหนึ่งของที่เศรษฐีคนแรกช่วยผู้ตายในคดีตน และแทนที่จะยอมขึ้นศาล กลับหนีความผิดไปอยู่ดินแดนอันไกลโพ้น โดยที่เจ้าตัวไม่เคยมาสารภาพหรือยอมรับว่าตนเคยทำผิดพลาดใดๆ ไปทั้งสิ้น นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่อง “แปลกๆ” เกิดขึ้นมากมายจนถึงปัจจุบัน

ปฏิกิริยาของสังคมสารขัณฑ์ต่างกันโดยสิ้นเชิง

ผู้คนในสังคมพร้อมให้อภัยเศรษฐีคนแรก ถึงขั้นที่ว่าต่อมามีข่าวว่าเศรษฐีคนนั้นอาจต้องเข้าคุก หลายคนพร้อมจะมาปกป้องเขาด้วยซ้ำ

ในทางกลับกัน ผู้คนในสังคมโกรธเศรษฐีคนที่สองมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเวลาผ่านไปและมีเหตุการณ์ “แปลกๆ” เกิดขึ้น ความแค้นยิ่งทวีคูณ

เศรษฐีคนที่สอง ถึงจะมีเงินหนีไปอยู่ต่างแดนได้ แต่เศรษฐีคนนั้นหนีความจริงไปไม่ได้ เมื่อมีคนอื่นไปพบเห็นหรือจำเขาได้ในต่างแดน และพยายามเรียกชื่อเขาให้เขาเผชิญความจริง สิ่งเดียวที่เขาทำได้คือหลบหน้าด้วยความอับอาย และย้ายที่พักไปเรื่อยๆ โดยต้องระแวงตลอดเวลาว่าจะมีใครมาเห็นตนหรือไม่

ในขณะที่เศรษฐีคนแรก ไม่ได้หนีไปไหน เผชิญหน้ากับความจริง เขาก็ไม่จำเป็นต้องหลบหน้าหรืออยู่ด้วยความอับอาย และที่สำคัญคือครอบครัวของผู้เสียหายพร้อมที่จะให้อภัยเขา หากได้การอภัยเช่นนี้แล้ว หัวใจเขาคงเป็นอิสระ ไม่ว่าตัวเองจะอยู่ที่ไหนหรือทำอะไรก็ตาม

ความสบายใจและเป็นอิสระตรงนี้ ต่อให้เป็นคนรวยขนาดทายาทเศรษฐีหมื่นล้าน ก็หาซื้อไม่ได้ครับ

แต่เศรษฐีคนที่สองมีทางออก

โดยธรรมชาติ มนุษย์เราพร้อมที่จะให้อภัย เพื่อให้ตัวเองก้าวข้ามความโกรธและเริ่มกระบวนการเยียวยาได้

การให้อภัย ไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อได้รับเงินเยียวยา ชดเชยค่าเสียหาย

การชดเชยค่าเสียหายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเยียวยา แต่อาจไม่ใช่ส่วนหลัก

การจ่ายเงินเป็นเรื่องง่าย ไม่ต้องเผชิญหน้าใคร

การยอมรับผิดและการแสดงความรับผิดชอบ เป็นสิ่งที่ยากกว่า เพราะผู้ที่กระทำผิดจะต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่ตนเองทำโดยตรง ยอมรับว่าตนเองทำไม่ดี และพร้อมรับผลที่ตามมาโดยไม่มีเงื่อนไข

ซึ่งการเผชิญหน้ากับสิ่งไม่ดีที่ตนเองได้ทำไปนี้จะต้องใช้ทั้งความกล้าหาญ ความถ่อมตน และสามัญสำนึก — การแสดงออกถึงคุณลักษณะเหล่านี้จะช่วยให้ผู้เสียหายและครอบครัวพร้อมเปิดใจของตนเองมากขึ้น และเริ่มต้นเยียวยาจิตใจตนเองได้

และนั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่หรือ??

อนึ่ง…………..

ทั้งสอง “เหตุการณ์สมมุติ” นี้ จะไม่เกิดขึ้นเลย หากเศรษฐีในเรื่องนั้นไม่ขับรถหลังดื่มเหล้า ดังนั้นขอแนะนำทุกคนว่า หากเราไปดื่มแล้วอยากเอารถกลับบ้าน ควรให้เพื่อนที่ไม่ดื่มช่วยขับรถพาเรากลับ หรือเรียก Grab หรือแท็กซี่ให้ไปส่งกลับบ้าน แล้ววันรุ่งขึ้นหายเมาแล้วค่อยมารับรถ ค่าจอดรถเกินเวลาไม่กี่บาท แต่อนาคตและชีวิตของเราและผู้อื่น เป็นสิ่งที่ประเมินค่ามิได้

อย่างไรก็ดี เนื่องจากทั้งสอง “เหตุการณ์สมมุติ” นี้ มีแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าเราอยากจะทำให้ประเทศสารขัณฑ์มีปัญหาเรื่องอุบัติภัยจราจรลดลง เราน่าจะทำอะไรได้บ้าง

1. “อย่า หา ทำ” — การดื่มสุราทุกระดับมีผลต่อความสามารถในการขับขี่ทั้งสิ้น งานวิจัยในสหรัฐฯ พบว่าอุบัติเหตุเมาแล้วขับและมีคนตาย 15% เกิดขึ้นแม้ว่าผู้ขับจะมีแอลกอฮอล์อยู่ในระดับที่กฏหมายกำหนด [1] หลังดื่มสุราเข้าไป แอลกอฮอล์ในเลือดจะพุ่งสู่ระดับสูงสุดในเวลา 30-90 นาทีหลังดื่ม หลังจากนั้นการขจัดแอลกอฮอล์จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ (ดื่มหนึ่งแก้ว ต้องใช้เวลาขจัดประมาณหนึ่งชั่วโมง) ดังนั้นคนที่ดื่มหนักตอนกลางคืน แม้กระทั่งเช้าวันต่อมาก็ยังอาจมีระดับแอลกอฮอล์สูงเกินกำหนดอยู่ และเกิดอันตรายขณะขับรถได้ ดังนั้นทางที่ดีที่สุด คือ อย่าดื่มแล้วขับรถกลับบ้านเอง ให้เรียกแท็กซี่หรือ Grab กลับบ้าน หรือให้เพื่อนที่ไม่ได้ดื่มช่วยพากลับบ้าน

2. หากผู้ใดใช้แอลกอฮอล์ร่วมกับสารเสพติดกระตุ้นประสาท (เช่น โคเคน) ห้ามขับรถเด็ดขาด!! ไม่ว่าจะดื่มน้อยแค่ไหน หรือใช้สารดังกล่าวน้อยแค่ไหนก็ตาม — เมื่อใช้แอลกอฮอล์ร่วมกับโคเคน แอลกอฮอล์จะทำให้ระดับโคเคนในเลือดพุ่งสูงขึ้น และร่างกายจะสร้างสารโคคาเอทิลีน (cocaethylene) ขึ้นมา ซึ่งส่งผลต่อความนึกคิดและระบบประสาท [2,3] ทำให้ผู้เสพมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น เป็นอันตรายมากต่อตนเอง ผู้โดยสาร และผู้สัญจรทุกคนบนถนน ดังนั้นจึงไม่ควรขับรถเด็ดขาด ไม่ว่าในกรณีใดๆ

3. ควรจะพิจารณาลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ตามกฎหมายลงจากเดิม 0.5 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์เป็น 0.2 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ — หากผู้ขับขี่ใช้แอลกอฮอล์ร่วมกับสารอื่น เช่น โคเคน ยาบ้า ยาไอซ์ อัลปราโซแลม หรือกัญชาทางการแพทย์ สารนั้นสามารถที่จะมีทำปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์ได้ (แม้ในจำนวนน้อยนิด) ส่งผลให้สมรรถนะการขับขี่ด้อยลงจนเป็นอันตรายแก่ผู้อื่นได้ [2,3]

4. ควรจะจัดให้มีจุดสุ่มตรวจแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ทั่วประเทศ ให้ประชาชนที่ขับขี่ยานพาหนะโดยทั่วไปตระหนักว่าทุกคนสามารถถูกสุ่มตรวจได้เสมอ โดยมีโอกาสถูกสุ่มตรวจอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง และดำเนินการจับกุมและลงโทษผู้ละเมิดกฏหมายอย่างจริงจัง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่ดื่มไม่ขับรถ และผู้ที่ขับรถไม่ดื่ม เพิ่มความปลอดภัยทั้งกับตนเองและผู้อื่นได้

5. หากเกิดอุบัติเหตุทางถนน ควรตรวจระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ทุกคน ไม่ว่าจะมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตหรือไม่ และควรตรวจระดับสารเสพติด เช่น กัญชา ยาบ้า โคเคน ยากล่อมประสาทและยานอนหลับด้วย หากพบว่ามีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกินกำหนด หรือมีสารเสพติด ให้ดำเนินคดีกับผู้ขับขี่ตามกฏหมาย รวมทั้งส่งต่อให้ได้รับการดูแลบำบัดรักษาตามความเหมาะสม

หากทำเช่นนี้แล้ว ชาวสารขัณฑ์ทุกคน ไม่ว่าจะดื่มสุราหรือไม่ คนที่มีรถขับ คนที่โดยสารยานพาหนะ หรือแม้แต่คนเดินถนน ต่างก็จะมีความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น หากอุบัติเหตุทางถนนที่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุราและการใช้สารเสพติดลดลง และเป็นการลดภาระการทำงานของตำรวจ อัยการ และผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดด้วย

หมายเหตุ: เรื่องทั้งหมดที่เล่ามาเป็นเรื่องสมมุติ หากมีเนื้อหาใกล้เคียงกับผู้ใด ถือเป็นเหตุบังเอิญทั้งสิ้น

อ้างอิง

1. https://www.ajpmonline.org/article/S0749-3797(20)30040-4/fulltext

2. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/30195242/

3. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/30007323/

Privacy Settings
We use cookies to enhance your experience while using our website. If you are using our Services via a browser you can restrict, block or remove cookies through your web browser settings. We also use content and scripts from third parties that may use tracking technologies. You can selectively provide your consent below to allow such third party embeds. For complete information about the cookies we use, data we collect and how we process them, please check our Privacy Policy
Youtube
Consent to display content from - Youtube
Vimeo
Consent to display content from - Vimeo
Google Maps
Consent to display content from - Google
Spotify
Consent to display content from - Spotify
Sound Cloud
Consent to display content from - Sound

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors