ฝากถามรัฐ ผลลัพธ์ของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ สรุปใครได้ประโยชน์⁉️
ถามย้ำอีกที เมื่อไหร่รัฐจะให้ความสำคัญกับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน หรือแค่หลับหูหลับตา มองไม่เห็นผลกระทบของมาตรการขยายเวลาเปิดสถานบริการ
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2566 เวลาประมาณ 06.00 น. เกิดอุบัติเหตุบนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ขาเข้าเมือง หน้าอำนวยมอเตอร์แอร์ 2 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ หนุ่มบิดมอเตอร์ไซค์กลับจากเที่ยวสถานบันเทิงช่วงเช้ามืด พุ่งประสานงารถจักรยานยนต์ตำรวจจราจรกำลังขี่ไปทำงาน บาดเจ็บสาหัส มีสติแต่ไม่สามารถขยับตัวได้
เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 ช่วงเวลาประมาณ 04.20 น. เกิดเหตุหนุ่มเมาขับเก๋งซิ่งแหกด่านตำรวจจราจรบนถนนพระราม 4 พุ่งชน “จ่าตำรวจ” ขณะปฏิบัติหน้าที่ตรวจวัดแอลกอฮอล์รถอีกคัน อัดร่างกับประตูรถอย่างจังเจ็บสาหัส แต่ยื้อไม่ไหวจนเสียชีวิตในที่สุด ส่วนหนุ่มผู้ก่อเหตุอยู่ในสภาพเมาพูดจาแทบไม่รู้เรื่อง ตรวจวัดแอลกอฮอล์ได้สูงถึง 187 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หลังสร่างเมายอมรับว่าไปดื่มกับเพื่อนมาจริง และอ้างว่ามองไม่เห็นด่านตำรวจ จากกรณีดังกล่าว แม้แต่ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ บัณฑิต ผู้บังคับการตำรวจจราจร ได้ฝากถึงนักเที่ยวราตรีผ่านสื่อว่า หากรู้ตัวว่าต้องไปดื่มให้นั่งรถแท็กซี่ไป เวลากลับบ้านจะได้ไม่เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และไม่ไปทำร้ายคนในครอบครัวคนอื่น
เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 เวลา 04.30 น. เกิดเหตุรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ตํารวจสายตรวจ ซึ่งออกปฏิบัติหน้าที่ตรงสี่แยก รพ.ป่าตอง โดยผู้ก่อเหตุให้การว่า ขี่รถจากห้างสรรพสินค้ามุ่งหน้ามายังแยก รพ.ป่าตอง เมื่อถึงบริเวณ 4 แยกไฟแดง ตนฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง และชนกับรถจักรยานยนต์ตํารวจสายตรวจ ทำให้ได้รับบาดเจ็บ เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจวัดแอลกอฮอล์ที่ สภ.ป่าตอง ผลตรวจปรากฏว่า มีปริมาณแอลกอฮอล์ 114 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จึงจับกุมผู้ก่อเหตุในข้อหา “ขับขี่รถขณะเมาสุราเฉี่ยวชนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ”
แม้ระยะเวลาผ่านไปหลายเดือน แต่ความเสียใจยังตราตรึงอยู่ในใจเสมอของครอบครัวผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากการดื่มแล้วขับ นอกจากเป็นการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักของครอบครัวแล้วนั้น สังคมและประเทศชาติยังต้องสูญเสียบุคคลที่มีศักยภาพอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพียงเพราะการดื่มแล้วขับ
จากทั้งสามเหตุการณ์ข้างต้น อาจเป็นกระจกที่สะท้อนให้เห็นผลกระทบที่เกิดจากการขยายเวลาให้บริการของสถานบันเทิงจาก 02.00 น. ถึง 04.00 น. และเมื่อพิจารณาห่วงโซ่ของผลกระทบนี้ พบว่า จากการขยายเวลาสถานบริการจากเวลา 02.00 น. ถึง 04.00 น. เป็นการเพิ่มภาระงานให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร จากเดิมที่สถานบันเทิงปิดเวลา 02.00 น. เจ้าหน้าที่อาจจะตั้งด่านตรวจถึง 02.30 – 03.00 น. แต่กลับต้องอดหลับอดนอนเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้น ป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิดวินัยจราจรจนถึง 04.30 น. ซ้ำร้ายในขณะปฏิบัติหน้าที่กลับตกเป็นเหยื่ออุบัติเหตุทางถนนจากการดื่มแล้วขับ ซึ่งมีหลักฐานทางวิชาการยืนยันแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงเวลาซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านนั่งดื่มนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอัตราการเกิดอันตรายมากขึ้น แม้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตจะได้รับการเยียวยาจากเงินสวัสดิการเพราะเป็นข้าราชการตำรวจ และเงินเยียวยาจากที่ผู้ก่อเหตุยินดีชดเชยให้นั้น แต่คงไม่คุ้มค่ากับชีวิตคนหนึ่งคนที่ยังสามารถสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติได้มากกว่าตีค่าเป็นเงินตรา หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจที่กำลังออกปฏิบัติหน้าที่และที่กำลังขี่รถจักรยานยนต์ไปทำงานต้องเข้ารับการรักษาตัวและมีโอกาสเป็นบุคคลทุพพลภาพจากอุบัติเหตุ แล้วถ้าหากเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ ไม่ได้เป็นข้าราชการ ไม่มีสิทธิสวัสดิการ ไม่มีต้นทุนชีวิตหรือแม้แต่ค่ารักษาพยาบาล จะมีโอกาสหรือไม่ที่สังคมจะได้เห็นเหตุการณ์นี้ผ่านสื่อออนไลน์ หรือจะได้รับการเยียวยาต่างๆ อย่างที่ควรจะเป็น จึงอยากฝากถามรัฐ ท่านแน่ใจหรือว่าผลลัพธ์ของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้ปากท้องของประชาชนดีขึ้นจริงๆ คนที่ได้ประโยชน์คือประชาชนทุกคน และนี่เป็นแค่ตัวอย่างอุบัติเหตุที่ออกข่าวในพื้นที่จังหวัดนำร่อง แต่ยังมีเหตุการณ์อีกมากมายจากการตกเป็นเหยื่อน้ำเมาที่ไม่ได้เป็นข่าว อยากถามรัฐอีกทีว่า เมื่อไหร่ท่านจะให้ความสำคัญกับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน หรือแค่หลับหูหลับตา มองไม่เห็นผลกระทบของมาตรการขยายเวลาเปิดสถานบริการ สนใจแค่เม็ดเงินที่ยังไม่รู้เลยว่าจะได้มากกว่าเสีย เพราะแม้กระทั่งการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมพฤติกรรมขับขี่ยานพาหนะหลังการดื่ม ก็ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งสถานบริการหรือร้านค้าเองควรมีส่วนรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ เพราะสถานบริการหรือร้านค้าอยู่ในข่ายของการก่อช่องภัยแก่เหตุจะเกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งรัฐสามารถที่จะช่วยยับยั้งไม่ให้ปัญหาลุกลามไว้ได้แต่ต้น หากสนับสนุนการออกกฎหมายการรับผิดของสถานประกอบการ และคงไม่เกิดวาทกรรมอันสวยหรูที่ทางธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำมาใช้ในการสื่อสารการตลาด “ดื่มอย่างรับผิดชอบ” ด้วยการให้นักดื่มทั้งหลายรับผิดชอบอยู่ฝ่ายเดียว หรือตำรวจต้องมาฝากข้อความวอนขอนักเที่ยวราตรีดื่มแล้วกลับด้วยรถแท็กซี่ ทั้งที่รัฐเองสามารถใช้อำนาจโดยชอบธรรมในการคุ้มครองสุขภาพประชาชนไทย
ที่มาข่าว:
https://mgronline.com/local/detail/9660000112927
https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2764071
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_8198152
เอกสารอ้างอิง:
1) Nepal, S., Kypri, K., Tekelab, T., Hodder, R. K., Attia, J., Bagade, T., Chikritzhs, T., & Miller, P. (2020). Effects of extensions and restrictions in alcohol trading hours on the incidence of assault and unintentional injury: systematic review. Journal of studies on alcohol and drugs, 81(1), 5-23.
2) Wilkinson, C., Livingston, M., & Room, R. (2016). Impacts of changes to trading hours of liquor licences on alcohol-related harm: a systematic review 2005-2015. Public health research & practice, 26(4), 1-7.