Infographic, News, ข่าวเด่น, สื่อเผยแพร่

ผลการทำนายความชุกและการตายที่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุราภายใต้มาตรการควบคุมการดื่มสุราตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกในบริบทประเทศไทย

News, ข่าวเด่น, บทความ

การควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อปกป้องเยาวชน: บทเรียนจาก สวีเดน นอร์เวย์ ไอร์แลนด์สกอตแลนด์ และอังกฤษ


โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่
ผู้จัดการโครงการการศึกษา พัฒนา ขยายผลการเฝ้าระวังและจัดการความรู้ผลิตภัณฑ์เสี่ยงสุขภาพ

โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบการโฆษณาแบบเดิม โดยลดการโฆษณาในสื่อดั้งเดิมลง ลดการโฆษณาตรง (direct advertising) หรือโฆษณาผลิตภัณฑ์ (product advertising) แต่พบว่าใช้การโฆษณาและสื่อสารการตลาดในสื่อโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม ทำให้พบเห็นการโฆษณาและสื่อสารการตลาดในสื่อโซเชียลมีเดียมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาจากธุรกิจเครื่องดื่มโฆษณาเองหรือการใช้รีวิวเวอร์ Youtuber Influencer หรือดาว Tiktok ช่วยรีวิวสินค้า ดื่มแล้วบรรยายสรรพคุณ ชี้เป้าสินค้า ชวนเที่ยวผับบาร์ แนะนำสินค้าใหม่ หรือชักชวนให้ดื่มในรูปแบบที่แนบเนียนมากขึ้น เป็นธรรมชาติมากขึ้นและกลมกลืนไปกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งการโฆษณาและการสื่อสารการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่พบเห็นได้ทั่วไปและเข้าถึงได้ง่ายผ่านสื่อโซเชียลมีเดียนั้น ย่อมเข้าถึงเยาวชนได้โดยง่ายเช่นกัน การพบเห็นโฆษณาบ่อยครั้งและขาดการกลั่นกรองที่เหมาะสมอาจสร้างและสะสมทัศนคติเชิงบวกเกี่ยวกับการดื่มตั้งแต่อายุยังน้อยและอาจทำให้กลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่ตั้งแต่อายุยังน้อยเช่นกัน การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงยังคงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะป้องกันการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเยาวชน โดยผลวิจัยจำนวนมากยืนยันว่าการดื่มแอลกอฮอล์มีผลกระทบต่อสมองเด็กในวัยเรียน ยกตัวอย่างเช่น เยาวชนอายุ 11-14 ปี ที่พบเห็นโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 3 ชิ้นต่อวันผ่านสื่อต่างๆ รอบตัว พบว่า เยาวชนที่ได้รับอิทธิพลจากแบรนด์ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมกีฬาที่แบรนด์นั้นจัดขึ้นหรือได้รับรางวัลหรือได้รับของที่ระลึกหรือเข้าร่วมกิจกรรมดนตรี ซึ่งมีแนวโน้มที่จะดื่มเครื่องดื่มแบรนด์นั้นๆ มากกว่าเยาวชนที่ไม่ได้รับอิทธิพลของโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึงร้อยละ 77

การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีความมุ่งมั่นในการปกป้องสิทธิของเยาวชน รวมทั้งปกป้องเยาวชนจากการเป็นเหยื่อการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งนับว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีจุดยืนที่เข้มแข็งที่สุด คือ ประเทศนอร์เวย์ เนื่องด้วยนอร์เวย์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบเบ็ดเสร็จหรือ Total ban advertising กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศนอร์เวย์ระบุไว้ว่าจำเป็นต้องควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าปกติและจำเป็นต้องจำกัดปริมาณการดื่มของประชากรนอร์เวย์ให้น้อยที่สุด ดังนั้นจึงต้องมีการควบคุมการสื่อสารและการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทุกด้านโดยมีข้อยกเว้นเพียงเล็กน้อย ซึ่งผลจากการควบคุมการสื่อสารและการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในนอร์เวย์ตั้งแต่ปี 1975 พบว่าการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง การควบคุมการสื่อสารการโฆษณาและการตลาดในนอร์เวย์นั้นมีการควบคุมทุกสื่อ แม้กระทั่งสื่อโซเชียลมีเดียและสื่อดิจิตัล รวมไปถึงเกมส์ ดนตรีออนไลน์ และกิจกรรมการตลาดอื่นๆ เช่น การเป็นสปอนเซอร์กิจกรรมทุกประเภท กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของนอร์เวย์ในหัวข้อการควบคุมเว็บไซต์ ระบุว่าหากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำเป็นต้องเปิดเว็บไซต์เพื่อแสดงบริษัทของตน การเข้าถึงเว็บไซต์จำเป็นต้องใส่รหัสสำหรับพนักงานบริษัทและคู่ค้าเท่านั้น โดยไม่สามารถเปิดให้สาธารณชนรับชมได้ทั้งหมด กฎหมายนี้ไม่อนุญาตให้มีกิจกรรมกีฬาทุกประเภทที่สนับสนุนโดยธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมการตลาดสื่อสารการตลาดทุกประเภท โดยพรรคการเมืองต่างๆ ในนอร์เวย์ให้การสนับสนุนกฎหมายนี้และเห็นพ้องร่วมกันว่า ควรควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะในมาตราที่ 9-2 ตามกฎหมายนี้ห้ามการแสดงโฆษณาและการสื่อสารสินค้าอื่นๆ ที่ใช้ตราเครื่องหมายเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ในประเทศสวีเดน การควบคุมการสื่อสารการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นับว่ามีความเข้มข้นอีกประเทศหนึ่ง เนื่องจากประเทศสวีเดนมีกฎหมาย Marketing Practices Act ซึ่งควบคุมกิจกรรมกลวิธีและ กลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อปกป้องสิทธิของผู้รับสารไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการตลาดที่ไม่เป็นธรรม (unfair marketing) และปกป้องเยาวชนจากโฆษณาและการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยกฎหมายนี้ระบุว่าการสื่อสารโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อบางประเภท เช่น สื่อดิจิตัล หรือการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ การส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือ ถือว่าเป็นกิจกรรมการตลาดที่ต้องห้าม เนื่องจากถือว่าไม่เป็นธรรมต่อการรับสารของผู้รับสาร นอกจากนี้ยังกำหนดนิยามให้ “เยาวชน คือ บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นต้นไป” หากต้องการสื่อสารใดๆ หรือกิจกรรมใดๆ ที่มุ่งตรงไปที่เยาวชนอายุ 12-18 ปี จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองทั้งหมด ส่วนการโฆษณาในสื่อโทรทัศน์วิทยุภาพยนตร์นั้นถูกห้ามทั้งหมด อย่างไรก็ตาม สวีเดนกำลังประสบปัญหาการเลี่ยงโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อโซเชียลมีเดีย ถึงแม้ว่ามีการใช้มาตรการธุรกิจกำกับตนเอง (Self regulating Code) ในกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่พบว่ามาตรการนี้ไม่เพียงพอในการควบคุมการสื่อสารเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโซเชียลมีเดียได้ ทำให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เปลี่ยนวิธีการจากโฆษณาตรงที่ถูกห้าม เป็นการสื่อสารการตลาดใน Facebook และ Instagram เป็นส่วนใหญ่แทน

ไอร์แลนด์ และสกอตแลนด์ เป็นอีกสองประเทศที่กำลังแก้ไขปัญหาการดื่มด้วยการขับเคลื่อนนโยบายควบคุมการโฆษณาและการสื่อสารเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยประเทศไอร์แลนด์มีกฎหมาย Public Health Alcohol Act ที่ควบคุมทั้งเนื้อหาและปริมาณการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งในปี 2019 เป็นต้นมา ประเทศไอร์แลนด์ได้ห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถสาธารณะทุกประเภท ห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโรงภาพยนตร์และสถานที่ใกล้สถานศึกษา ห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกิจกรรมกีฬา ต่อมาในปี 2021 พบว่า การรับรู้โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงหลังจากมีการห้ามโฆษณานั้น และมีการยุติการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโทรทัศน์ในปี 2025 เพื่อปกป้องเยาวชนและลดการดื่มของนักดื่มหน้าใหม่ที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ด้านรัฐบาลสกอตแลนด์ได้กล่าวว่า โรคที่เกิดจากการดื่มและผลกระทบจากการดื่มเป็นหนึ่งในภัยสุขภาพที่ยิ่งใหญ่ของสกอตแลนด์ ทำให้สกอตแลนด์ต้องมีมาตรการหลายประการในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และหนึ่งในนั้นคือการควบคุมการโฆษณานอกเหนือจากการกำหนดราคาขายขั้นต่ำ โดยสกอตแลนด์ได้ยุติการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่สาธารณะ ห้ามกิจกรรมการตลาดเชิงอุปถัมภ์ และควบคุมการส่งเสริมการขายในร้านค้า เมื่อปลายปี 2022 รัฐสภาสกอตแลนด์ได้มีข้อปรึกษาในการยกระดับการควบคุมการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม ตัวอย่างเช่น ลดเนื้อหาเชิงบวกเกี่ยวกับการดื่มและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมกิจกรรมกีฬาและอีเวนท์ที่ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปเกี่ยวข้อง รวมไปถึงการห้ามจัดแสดงสินค้าและบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านค้าและยุติการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อออนไลน์

นอกจากนี้ผลสำรวจในประเทศอังกฤษ พบว่าพ่อแม่กังวลเรื่องโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้าถึงเยาวชนในทุกทางและตลอดทั้งวัน โดยพ่อแม่ 71% ต้องการให้รัฐบาลมีมาตรการลดปริมาณและความถี่โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อโทรทัศน์และควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อโซเชียลมีเดียด้วยเช่นกัน โดยพ่อแม่ 67% คิดว่าการเห็นโฆษณาบ่อยครั้งทำให้เยาวชนคิดว่าการดื่มเป็นเรื่องปกติ ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจที่พบว่าเยาวชนอังกฤษอายุ 10-15 ปี เห็นโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าผู้ใหญ่ เป็นผลให้มีโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภท Alcopop เพิ่มขึ้น 51%

การควบคุมการโฆษณา สื่อสารการตลาด กิจกรรมการตลาด เนื้อหาการสื่อสารและกลยุทธ์การตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นหนึ่งในมาตรการจำเป็นที่ WHO กำหนดนอกเหนือจากมาตรการด้านราคาและภาษี การสื่อสารและโฆษณาที่ WHO กังวลมากที่สุด คือ การสื่อสารข้ามพรมแดนและการโฆษณาแฝงผ่านรายการข้ามพรมแดนที่ควบคุมได้ยาก ในปัจจุบันมีผลวิจัยจำนวนมากมายที่ระบุสอดคล้องตรงกันว่าการพบเห็นโฆษณาบ่อยครั้งในเนื้อหาเชิงบวกต่อสินค้ามีผลต่อการสั่งสมทัศนคติ การจดจำสินค้าและพฤติกรรมในด้านการซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเยาวชนที่รู้ตัวว่าไม่สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เมื่อยังเป็นเยาวชน แต่มีความคาดหมายว่าจะซื้อและดื่มเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้นการควบคุมการโฆษณาและการสื่อสารของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมทั้งเนื้อหา กลยุทธ์การตลาด และการเลี่ยงโฆษณาในสื่อโซเชียลมีเดียจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกประเทศและรวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นเดียวกัน

อ้างอิงข้อมูล:
1) How alcohol companies target young people. Available from https://preventionactionalliance.org/resources/how-alcohol-companies-target-young-people/
2) Marketing Towards kids. Available from https://movendi.ngo/the-issues/alcohol-facts/alcohol-marketing-kids
3) Norway. Availble from https://eucam.info/regulations-on-alcohol-marketing/norway/
4) Prohibition of alcohol advertising in Norway.Available from https://www.nhomd.no/contentassets/2903e65252854beda11b61c0e8d41a2d/prohibition-of-alcohol-advertising-in-norway–0918.pdf
5) Compliance with regulations and codes of conduct at social media accounts of Swedish alcohol brands. Available from https://helda.helsinki.fi/server/api/core/bitstreams/5a5aee2c-cb6f-4511-8956-7c9695e134ee/content
6) Review alcohol marketing restrictions in seven European countries.Available from https://www.drugsandalcohol.ie/36444/1/review-of-alcohol-marketing-restrictions-in-seven-european-countries.pdf
7) Should Alcohol marketing be restricted? Scotland should follow other European countries in banning alcohol sports advertising? Available from https://eucam.info/2023/10/26/should-alcohol-marketing-be-restricted-scotland-should-follow-other-european-countries-in-banning-alcohol-sports-advertising/
8) Parents in the UK Want limit On alcohol advertising-survey. Available from https://eucam.info/2024/05/13/parents-in-the-uk-want-limits-on-alcohol-advertising-survey

Infographic, News, ข่าวเด่น, สื่อเผยแพร่

รู้จักกับนิยามของการโฆษณาหรือการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


รู้จักกับนิยามของการโฆษณาหรือการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในปัจจุบันไม่ได้เป็นเพียง “การกระทำเพื่อให้คนเห็น ได้ยิน หรือรู้จักสินค้านั้น เพื่อประโยชน์ทางการค้า” เท่านั้น องค์การอนามัยโลก ได้แนะนำคำนิยามใหม่ของ การโฆษณาหรือการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้หมายรวมถึง

“การสื่อสารเพื่อการค้าหรือการกระทําในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการโฆษณา การส่งเสริมการขาย และการให้ทุนอุปถัมภ์ ซึ่งออกแบบเพื่อหวังผล/ส่งผล หรือมีแนวโน้มว่าจะส่งผล ในการเพิ่มการจดจำและความดึงดูดของสินค้า และ/หรือการเพิ่มการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์/ยี่ห้อที่อยู่ในท้องตลาดหรือผลิตภัณฑ์/ยี่ห้อใหม่”

ซึ่งหมายรวมถึง การออกแบบผลิตภัณฑ์ การใช้ตราเสมือนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สำหรับสินค้าอื่นที่ไม่ใช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Brand stretching) การรวมตราสินค้า (Co-branding) (การนำเอาตราสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปรวมกับตราสินค้ายี่ห้ออื่น) การแสดงรูปภาพผลิตภัณฑ์หรือตราสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อบันเทิงและการถ่ายทอดสดของสื่อรายการต่าง ๆ การทำกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate social responsibility activities) และการขายหรือให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่สถานศึกษาหรือสถานบริการสุขภาพ ทั้งนี้ยังรวมถึง การใช้เครื่องหมายการค้า (Trade mark) และเครื่องหมายรูปลักษณ์ (Trade Dress) (ได้แก่ ฉลาก บรรจุภัณฑ์ หีบห่อ รูปร่างของสินค้า เป็นต้น) ที่ออกแบบมาเพื่อให้ทำหน้าที่หลายอย่าง และใช้ในการสื่อสารเพื่อการค้าหรือการกระทำดังระบุไว้ข้างต้น”

นอกจากนี้ การโฆษณา ตามนิยามสมาคมการตลาดแห่งสหรัฐอเมริกา (AMA : American Marketing Association) คือ การจ่ายเงินในรูปแบบต่างๆ ของผู้อุปถัมภ์ (Sponsor) เพื่อส่งเสริมการขายสินค้าบริการหรือสนับสนุนแนวความคิด โดยระบุผู้อุปถัมภ์

ในด้านการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การโฆษณา ตามนิยามของ (AANA: The Australian Association of National Advertisers) Code of Ethics แห่งประเทศออสเตรเลีย คือ สารใดที่เผยแพร่ ออกอากาศ ตีพิมพ์โดยผ่านสื่อใดหรือกิจกรรมใดที่กระทำโดย หรือ เป็นตัวแทนของผู้โฆษณาหรือนักการตลาด โดยผู้โฆษณาหรือนักการตลาดสามารถควบคุมได้ และสารนั้นๆ สามารถดึงดูดความสนใจของสาธารณชนในลักษณาการที่ส่งเสริมสินค้า การบริการ บุคคล องค์กร หรือพฤติกรรมใด ทั้งทางตรงและทางอ้อม

นิยามนี้ มีองค์ประกอบหลักในการพิจารณาว่าเข้าข่ายการโฆษณาอยู่ 4 ประการ ดังนี้

  1. สารใดที่เผยแพร่ ออกอากาศ ตีพิมพ์โดยผ่านสื่อใดหรือกิจกรรมใด มีความหมายครอบคลุมทั้งสื่อดั้งเดิมและสื่อใหม่ โดยมีผู้โฆษณา เช่น street performance อาจถูกพิจารณาว่าเป็นโฆษณาด้วยก็ได้
  2. โดยผู้โฆษณาหรือนักการตลาดสามารถควบคุมได้ พิจารณาว่า หมายรวมถึงทั้งการว่าจ้างเป็นเงิน หรืออย่างอื่น หรือผู้โฆษณาหรือนักการตลาดมีส่วนร่วมหรือควบคุมสารนั้นๆ ในทางใดทางหนึ่ง
  3. สารนั้นๆ สามารถดึงดูดความสนใจของสาธารณชนในลักษณะการที่ส่งเสริมสินค้า การบริการ บุคคล องค์กร หรือพฤติกรรมใด พิจารณาว่าสารนั้นๆ คือ โฆษณา
  4. สารนั้นๆ มีกลุ่มเป้าหมายในประเทศออสเตรเลียและสารนั้นประชากรในประเทศสามารถเห็นหรือเข้าถึงได้

เอกสารอ้างอิง:
Pan American Health Organization (2017) Technical note: Background on alcohol marketing regulation and monitoring for the protection of public health. PAHO/NMH/17-003. Washington, DC: PAHO.


News, ข่าวเด่น, บทความ

บทบาทของภาคธุรกิจในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการจัดการและป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interests) และการแทรกแซงนโยบายของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

News, ข่าวเด่น, บทความ

รู้จัก.. มาตรการความรับผิดของร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กับ ผศ.ดร.สมัย โกรทินธาคม


รู้จัก.. มาตรการความรับผิดของร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กับ ผศ.ดร.สมัย โกรทินธาคม

Q1: เจ้าของร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะต้องมีความรับผิดทางกฎหมาย อย่างไร?
A1: ถ้าเราดู กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทย ปี 2551 จะห้ามขายให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี, ห้ามขายนอกเวลาที่กฎหมายกำหนด, ห้ามขายในสถานที่ต้องห้าม, และ ห้ามขายให้ลูกค้าผู้ซึ่งมีอาการมึนเมาแล้วครองสติไม่ได้ ผู้ฝ่าฝืน จะเจอบทลงโทษ ตามระบุ

Q2: ในต่างประเทศ เจ้าของร้านมีความรับผิดในเรื่องนี้ อย่างไรบ้าง?
A2: ไทยและทั่วโลกมีข้อกำหนดคล้ายกัน แต่บางประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา มีกำหนดเพิ่มเติมคือ ผู้ที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะร้านมีที่นั่งให้ดื่ม (On-Premises sale) ต้องมีหน้าที่ พึงระวังไม่ให้ลูกค้าดื่มจนเมามาย ถ้าลูกค้ารายนั้นมีอาการมึนเมาออกจากร้าน แล้วขับขี่ยานพาหนะ จนสร้างความเสียหายแก่ผู้อื่น ผู้ขายจะต้องมีส่วนร่วมรับผิดต่อความเสียหายนั้นด้วย ข้อกำหนดนี้เรียกว่า “Commercial Host Liability หรือ Dram Shop Liability”

Q3: เหตุผล ของการมีข้อบังคับอย่างนั้น คืออะไร?
A3: ฟังดู เป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย เหตุผลเรื่องนี้มาจากปัญหาเมาแล้วขับในอเมริกา สร้างความเสียหายเกิดขึ้นเป็นวงกว้างมาหลายสิบปี มีสถิติชี้ว่า ผู้ก่อเหตุที่เมาจากร้านที่นั่งดื่ม มีถึง 30-50% ของการเกิดเหตุ ศาลต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา จึงเปลี่ยนกรอบคิดจากเดิม ที่มุ่งเอาผิดเฉพาะผู้ดื่ม ซึ่งเป็นผู้ก่อเหตุโดยตรง ส่วนผู้ขายไม่ได้มีส่วนผิดใด ๆ เพราะผู้ขายอยู่ไกลแก่เหตุความเสียหาย คือ Remote Causation มันก็แค่ขาย ไง ไม่ได้เป็นผู้ที่ขับรถไปชนผู้อื่น นี่
แต่หลักคิด ทางนิติเศรษฐศาสตร์ (Law and Economics) ศาลจึงพิจารณาว่า เมื่อมีผู้ได้รับความเสียหายจากคนมึนเมา ฝ่ายใดควรต้องมีส่วนรับผิดบ้าง สรุปคือ มีเหตุผลอยู่ ที่ผู้ขายควรต้องร่วมรับผิดต่อผู้เสียหาย หากไม่ได้ระวัง ถือว่ามีส่วนก่อช่องภัย (Enabling) และ เป็นผู้ใกล้แก่เหตุแห่งความเสียหาย (Proximate Causation) ผู้ขายพึงต้องมีหน้าที่ยับยั้งปัญหาไว้แต่แรก การเพิกเฉยหน้าที่ดังกล่าว ย่อมนำพาให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น

จริงอยู่ ที่ผู้ขายมีสิทธิเสรีภาพในการขาย จะขายมากเพียงใดก็ได้ เพื่อให้มีรายได้สูงสุด แต่การขายเพื่อเป้าหมายรายได้สูงสุด โดยมิได้คำนึงความปลอดภัยต่อลูกค้าและผู้อื่น ที่อาจได้รับความเสียหายเลย ซึ่งเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดจากการขายและการดื่มนั้น มันก็ใช้ไม่ได้ เพราะสร้างภัยคุกคามต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของทุกคนในสังคม

เหตุผลของมาตรการนี้ มีไว้เพื่อให้ผู้ดื่มมีการดื่มอย่างพอประมาณ กำกับให้ผู้ขายปลีก ร้านอาหาร สถานบันเทิง ที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้มีการขายอย่างรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อลดปัญหาจากการดื่มและการขาย

Q4: อาจารย์ ช่วยยกตัวอย่างคดีความในต่างประเทศ มีกรณีใดบ้าง?
A4: ตัวอย่างที่ 1) คดีในแคนาดา Schmidt v. Sharpe et al. (1983) ในมลรัฐ Ontario ปี 2526 เยาวชน 2 คน ชื่อ Schmidt (อายุ 16 ปี) และ Sharpe (อายุ 19 ปี) เข้าไปบาร์ในโรงแรม AH104 ทั้งคู่สั่งเบียร์มาดื่ม รวม 3 ขวด จากนั้นเดินทางกลับ โดย Sharpe เป็นคนขับรถ ส่วน Schmidt เป็นผู้โดยสาร ต่อมารถเสียหลักช่วงเข้าทางโค้งจนพลิกคว่ำ Sharpe บาดเจ็บเล็กน้อย ส่วน Schmidt บาดเจ็บสาหัส ร่างกายเป็นอัมพาต ไม่มีอาการตอบสนองตั้งแต่บริเวณหน้าอกลงไป และ ปอดด้านซ้ายไม่ทำงาน

หลังประสบเหตุนั้น พบว่า Sharpe มีอาการมึนเมา ทนายของ Schmidt ฟ้องศาลว่า Sharpe ขับรถไม่ระวัง ทำให้ Schmidt ได้รับความเสียหาย และฟ้องเจ้าของโรงแรม ซึ่งพนักงานเสิร์ฟในความดูแล น่าจะประเมินได้ว่า Schmidt และ Sharpe เป็นเยาวชน อายุไม่ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายอนุญาตให้ดื่ม และ Sharpe มีอาการมึนเมาแล้ว จึงขอให้ Sharpe และ เจ้าของโรงแรม ชดใช้ค่าเสียหาย

ศาลชั้นต้นเห็นว่า พนักงานเสิร์ฟน่าจะทราบว่า ทั้งคู่เป็นเยาวชน แล้วยังขายให้ดื่มจนมึนเมา จึงมีความเสี่ยงแก่ผู้อื่นอาจได้รับความเสียหาย ส่วน Sharpe อ้างต่อศาลว่า ก่อนเกิดเหตุ Schmidt ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย ศาลจึงตัดสินให้ Sharpe รับผิด 55% เจ้าของโรงแรมรับผิด 15% ที่ขายให้ผู้มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ และ Schmidt มีส่วนรับผิด 30% ที่ประมาทร่วมด้วย (Contributory Negligence) เพราะไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ทั้งยอมโดยสารไปกับรถที่ผู้ขับมีอาการมึนเมา ศาลอุทธรณ์ และ ศาลสูงสุด ยืนยันตามคำตัดสินนั้น Schmidt ได้เงินชดเชยราว 163,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากถูกปรับลดลงไปแล้ว 30% ในฐานะที่ตนประมาทร่วม

ตัวอย่างที่ 2) ในอเมริกา เช่น ข่าวเมื่อ 19 พฤษภาคม 2566 นักข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง CBS8 แห่งมหานครซานดิเอโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย รายงานว่า นายโจนาธาน ซาราโกซา (Jonathan Ortiz Zaragoza) เด็กหนุ่มวัย 20 ปี ไปรับประทานอาหารที่ร้าน “Las Tres Cantinas” เมือง Chula Vista ในมหานครซานดิเอโก โดยเขาสั่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย ภายหลังออกจากร้านไปแล้ว ขับรถประสบอุบัติเหตุ จนเสียชีวิตคาที่

นักข่าวอ้างถึง เอกสารของสำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (The Department of Alcoholic Beverage Control-ABC) ที่เผยเหตุก่อนหน้า ระบุว่า นายซาราโกซา ไปนั่งดื่มในร้านนั้น ซึ่งเป็นอีกครั้งหนึ่งที่พนักงานเสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยไม่ได้ตรวจสอบบัตรประชาชนว่า เขามีอายุถึงเกณฑ์ตามกฎหมายอนุญาตให้ดื่มหรือไม่ ซึ่งในทุกมลรัฐของสหรัฐอเมริกา ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 21 ปี ก็แสดงว่า พนักงานฝ่าฝืนข้อบังคับดังกล่าว ใช่มั้ย

แล้วเจ้าหน้าที่ ยังสืบทราบว่า ก่อนที่นายซาราโกซา จะประสบเหตุร้าย เขามีอาการมึนเมาจากร้านนั้น จึงสั่งพักใบอนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้านดังกล่าว เป็นเวลา 1 เดือน และ เตือนว่า หากทางร้านมีการขายโดยผิดกฎหมายซ้ำอีกครั้ง จะถูกยกเลิกใบอนุญาตอย่างถาวร ทั้งนี้ เพื่อปกป้องชีวิตเยาวชนและความปลอดภัยของประชาชน

ส่วนเจ้าของร้านต้องมีส่วนชดใช้อย่างไรนั้น ไม่ปรากฏรายละเอียดในรายงานข่าว แต่เดาได้เลยว่า จะต้องเป็นไปตามกฎหมายของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีข้อกำหนดเรื่องความรับผิดของผู้ขาย ที่ขายให้ผู้มีอายุไม่ถึงเกณฑ์ จนมีอาการมึนเมา (Intoxicated Minors) แล้วเกิดความเสียหายขึ้นนั้น ต้องเจอบทลงโทษอย่างไร

ตัวอย่างที่ 3) หญิงสาวคนหนึ่งชื่อ โจน่า เบจโก้ (Jona Bejko) วัย 21 ปี เมืองเนเปิลส์ รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ได้เสียชีวิตอย่างน่าเศร้าในวันที่ 29 ตุลาคม 2566 เมื่อรถของเธอพุ่งชนและตกลงไปในคลอง แม่ของเธอ ตัดสินใจฟ้องร้านอาหาร ในข้อหาร้านนั้นละเมิดกฎหมาย Dram Shop Liability ของมลรัฐฟลอริดา ที่เสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป และ ร้านยังปล่อยให้ลูกของตนขับรถออกจากร้าน จนทำให้เสียชีวิต
จากรายงานของเจ้าหน้าที่ พบว่า โจน่า มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด สูงถึง 0.30% ซึ่งเกินกว่ากฎหมายในฟลอริดา ที่กำหนดไว้ คือ 0.08% ในแถลงการณ์ของทางครอบครัวของโจน่า กล่าวว่า การฟ้องร้องดังกล่าว พวกเขาต้องการสนับสนุน ให้มีการเตือนพนักงานบาร์และร้านอาหาร ถึงความรับผิดชอบในการเสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ หวังว่า การให้สถานประกอบการมีความรับผิดชอบ จะสามารถช่วยป้องกันครอบครัวอื่น ๆ ไม่ต้องเผชิญความโศกเศร้าเช่นนี้

Q5: ในรายละเอียดของมาตรการนั้น เป็นอย่างไร?
A5: เรื่องนี้เป็นเทคนิคทางกฎหมาย หลายมลรัฐของอเมริกา ยึดหลัก “ให้ผู้เสียหายเป็นฝ่ายพิสูจน์ว่า เจ้าของร้าน ประมาทเลินเล่ออย่างไร (Negligence Rule) ถึงเป็นสาเหตุให้ตนได้รับความเสียหาย จากผู้ขับที่เมาจากร้านนั้น” ซึ่งเป็นหลักการทางแพ่งโดยทั่วไป แต่ว่า หลายกรณีมันเป็นเรื่องยาก ที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เจ้าของร้านหรือทีมพนักงานเสิร์ฟ ประมาณเลินเล่ออย่างไร ร้านค้าย่อมต้องพ้นผิด
มลรัฐ Illinois จึงแก้เกม เพื่อลดภาระในการพิสูจน์ (Burden of Proof) โดยกำหนดกติกาว่า ให้สันนิษฐานก่อนไว้ก่อนเลยว่า เจ้าของร้านหรือทีมพนักงานเสิร์ฟมีความผิด “โดยเคร่งครัด (Strict Liability Rule)” เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ได้มีการขายตามกฎหมาย หรือ เป็นเพราะความประมาทเลินเล่อ ของผู้ที่ได้รับความเสียหายจากลูกค้าของตนเอง
จากงานศึกษาต่าง ๆ พบว่า การกำหนดความรับผิดของผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกรณีนี้ สามารถช่วยลดอุบัติเหตุร้ายแรงในสหัรัฐอเมริกา ได้อย่างมีนัยสำคัญ

Q6: อาจารย์คิดว่า ถ้าจะนำหลักการนี้ มาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย มีความเป็นไปได้หรือไม่ อย่างไร
A6: ผมว่า เป็นไปได้ คือเอาตรง ๆ นะ บทลงโทษเมาแล้วขับ ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก ในปัจจุบันนี้ แม้จะมีบทลงโทษหนัก แต่ก็ เอาไม่อยู่
1) พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 เปิดช่องไว้แล้วว่า ให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสนอต่อรัฐมนตรี เพื่อขอปรับเรื่อง “วิธีหรือลักษณะการจำหน่ายที่ต้องห้าม” ได้
2) ควรพิจารณาแก้คำว่า “ขายให้ผู้ที่มึนเมาครองสติไม่ได้” เพราะบังคับใช้ไม่ได้ จากการพูดคุยกับร้านค้าต่าง ๆ ส่วนใหญ่เห็นว่า การประเมินอาการลูกค้า “เมา หรือ ไม่เมา” ดูยาก จึงควรปรับเป็นคำว่า “ผู้มีอาการมึนเมาอย่างเห็นได้ชัด (Visibly Intoxicated)” อย่างในคู่มือของมลรัฐ Oregon เพื่อแนะนำร้านค้าต่าง ๆ
3) ประเทศไทย ควรเลือกหลักการ “ความรับผิดโดยเคร่งครัด (Strict Liability Rule)” ให้ผู้ขายต้องร่วมรับผิดในผลเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้อื่น จากลูกค้าผู้ซึ่งมึนเมาออกจากร้านตน โดยผู้ขายต้องมีภาระการพิสูจน์ในการนั้น ยกเว้นเป็นเหตุสุดวิสัย หรือ เป็นความประมาทเลินเล่อของผู้ได้รับความเสียหายนั้นเอง ผู้ขายจึงจะพ้นผิด พวกเราจะได้ไม่ต้องปวดหัว กับหลักการ “ประมาทเลินเล่อ (Negligence Rule)” ครับ

______
ผศ.ดร.สมัย โกรทินธาคม
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

News, ข่าวเด่น, บทความ

นักวิชาการชี้ โฆษณาเหล้าเบียร์มีผลให้คนเริ่มดื่มหรือดื่มมากขึ้น


นักวิชาการชี้ โฆษณาเหล้าเบียร์มีผลให้คนเริ่มดื่มหรือดื่มมากขึ้น แนะการควบคุมโฆษณาแบบเบ็ดเสร็จมีประสิทธิภาพมากที่สุด การห้ามโฆษณาเพียงบางส่วนหรือการควคุมตนเองภาคสมัครใจของธุรกิจสุราไม่สามารถป้องกันการสัมผัสโฆษณาในเยาวชนได้

รศ.ดร.วิทย์ วิชัยดิษฐ นักวิชาการ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) และอาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบัน เด็กและเยาวชนทั่วโลกได้รับสื่อโฆษณาและกิจกรรมการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องในระดับสูงและเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ อุตสาหกรรมแอลกอฮอล์มีการขยายฐานลูกค้ามุ่งเป้าไปกลุ่มเยาวชน และกลุ่มผู้หญิง โดยพยายามจะเน้นไปที่ความสำคัญของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการสร้างบุคลิกลักษณะความเป็นตัวตนหรืออัตลักษณ์ของเยาวชน เนื้อหาการโฆษณาจึงได้รับการออกแบบเพื่อนำเสนอความตลกขบขัน ความคิดที่น่าสนใจ ภาพลักษณ์ สำนวน ถ้อยคำและสิ่งอื่นๆ ที่ใช้ได้ในการพูดคุยสื่อสารระหว่างเพื่อน เพื่อให้เยาวชนใช้สร้างอัตลักษณ์ที่สอดคล้องกัน หลักฐานทางวิชาการในปัจจุบันบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า โฆษณาหรือกิจกรรมการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลต่อการดื่ม มีการสรุปข้อมูลจากการทดลองในนักศึกษา ที่ให้ดูโฆษณาแอลกอฮอล์เทียบกับโฆษณาอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งพบว่า การดูโฆษณาแอลกอฮอล์มีผลเพิ่มเจตนาและพฤติกรรมการดื่มชัดเจน การเก็บข้อมูลระยะยาวในประชาชนทั่วไปก็ชี้ว่า การโฆษณามีผลทบต้น ยิ่งได้รับโฆษณาซ้ำๆ กันมากเท่าไหร่ ยิ่งมีพฤติกรรมการดื่มมากขึ้นเท่านั้น ในเยาวชนและคนหนุ่มสาว การได้รับโฆษณามีผลต่อการเริ่มดื่มในผู้ที่ไม่เคยดื่ม และการดื่มหนักในผู้ที่ดื่มอยู่แล้ว

ดร.วิทย์ กล่าวเสริมอีกว่า ในตลาดที่กำลังเติบโต การพยายามเปลี่ยนให้ผู้ที่ไม่ดื่มกลายเป็นนักดื่ม ถือเป็นหน้าที่สำคัญของการตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลยทีเดียว และการตลาดแนวนี้จะพยายามสร้างการยอมรับการดื่มให้กลายเป็นบรรทัดฐานสังคมในหลายวาระโอกาส ถ้าอิงตามทฤษฎีกระบวนการตีความสาร จะเห็นว่า การได้รับสารจากการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซ้ำๆ สารที่ผู้นั้นรับรู้ว่าเชื่อมโยงกับตนเอง จะค่อย ๆ ซึมลึกลงไปสู่ความรู้สึกนึกคิดของผู้รับสาร ทำให้มันพร้อมที่จะโผล่ออกมาในความนึกคิดได้ง่ายขึ้น หากอยู่ในภาวะที่ต้องตัดสินใจ กระบวนการนี้ คือกระบวนการสร้างบรรทัดฐาน หรือทำให้คนมองว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีอยู่อย่างแพร่หลายเป็นเรื่องธรรมดา (normalization) และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตปกติ ซึ่งเป็นการรับรู้ที่น่ากลัว และมีผลต่อพฤติกรรมของประชาชนในอนาคต ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นช้า ๆ และค่อยๆ สะสมมาเรื่อย ๆ จนผู้ที่ได้รับสื่อโฆษณาแทบจะไม่รู้ตัวว่า โฆษณามีผลต่อความรู้สึกนึกคิดของตนเพียงไร

ในด้านการควบคุมโฆษณาการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร.ศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว นักวิชาการ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) และอาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ในยุคปัจจุบันที่มีการใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลาย ทำให้เป็นการยากที่จะควบคุมการเข้าถึงโฆษณาของกลุ่มเยาวชนได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากแพล็ตฟอร์มผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียเอง การทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางโซเชียลมีเดีย พบว่า การกดไลค์ กดแชร์ การคลิกดูโฆษณา หรือการเข้าชมเว็บไซต์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น มีความสัมพันธ์ชัดเจนกับการเพิ่มการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่น่าเป็นห่วง คือ การครอบครองสินค้า ของใช้ ของที่ระลึกที่มีตราสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นที่นิยมในประเทศไทยในช่วงหลายปีมานี้จากการเข้าเป็นผู้สนับสนุนของทีมกีฬาโดยเฉพาะกีฬาฟุตบอลของธุรกิจแอลกอฮอล์ การศึกษาในประชาชนในประเทศไทยเองก็พบว่า ประชาชนที่ใช้สินค้าที่มีตราผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์มีโอกาสดื่มหนักมากกว่าประชาชนที่ไม่ใช้สินค้ามีตราดังกล่าว นอกจากนี้ การศึกษาวิจัยของทีมวิจัยเราเองซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง 89,154 คน จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติก็พบความสัมพันธ์เช่นเดียวกันกับการศึกษาในต่างประเทศ คือ ผู้ที่พบเห็นการโฆษณาแอลกอฮอล์มีโอกาสเป็นผู้ดื่มเพิ่มขึ้น 16% และมีโอกาสเป็นผู้ดื่มหนักเพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้พบเห็นการโฆษณา และในกลุ่มคนที่เป็นนักดื่มอยู่แล้วการพบเห็นโฆษณาจะเพิ่มโอกาสในการดื่มหนักขึ้นถึง 51%

นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้มีข้อมูลทั้งจากของต่างประเทศและประเทศไทยเอง จึงย้ำให้เห็นได้ชัดว่า การทำการโฆษณาการตลาดซึ่งมีเทคนิคหลากหลายส่งผลต่อการกระตุ้นการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งสิ้น ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารแพร่ผ่านกันได้ทางออนไลน์ การควบคุมการเข้าถึงโฆษณาหรือกิจกรรมการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉพาะกลุ่มประชากร รวมทั้งการควบคุมเฉพาะเนื้อหานั้นทำได้ยาก หรือในทางปฏิบัติอาจจะทำไม่ได้เลย การศึกษาในต่างประเทศในเรื่องด่านตรวจอายุในแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างเช่น ยูทูป ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ก็ยังพบว่า เทคโนโลยีในการระบุอายุของผู้เข้าชมไร้ประสิทธิภาพ หากต้องการปกป้องเยาวชนจากการถูกจูงใจให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การยังคงการควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบครบวงจรหรือการควบคุมแบบเบ็ดเสร็จจะส่งผลต่อการปกป้องเยาวชนได้ดีกว่าการควบคุมบางส่วน หรือการควบคุมภาคสมัครใจโดยภาคธุรกิจควบคุมกันเอง

News, ข่าวเด่น

นักวิชาการด้านนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลกยกไทยเป็นตัวอย่างที่ดีของการมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


นักวิชาการด้านนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลกยกประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีของการมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ช่วยลดการดื่มสุราและอัตราตายของประชาชนได้ แม้ว่าจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นก็ตาม

การพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ส่งผลต่ออายุขัยของประชาชนของประเทศนั้น ในประเทศที่ร่ำรวย ประชาชนมักมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่า และมีสาเหตุการตายที่ต่างไปจากประเทศที่ยากจน รวมทั้งมีอัตราตายของประชากรต่ำกว่าด้วย การพัฒนาทางเศรษฐกิจมีผลต่อการดื่มสุราด้วย ประเทศที่มีระดับรายได้สูงและรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูงมักมีระดับปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉลี่ยสูงกว่า และมีอัตราผู้ที่ไม่ดื่มต่ำกว่าประเทศที่มีรายได้น้อยหรือรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ ทั้งนี้เพราะ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้เป็นสินค้าอุปโภคที่จำเป็น การที่ประชาชนในประเทศยากจนไม่ดื่มสุราจึงมักเกิดจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจกลับเป็นปัจจัยหนึ่งที่นอกเหนือจากปัจจัยด้านศาสนา วัฒนธรรมประเพณีและสังคม ที่มีผลให้ประชาชนในประเทศดื่มสุรามากขึ้น เพราะเมื่อระดับเศรษฐกิจของประเทศขยับสูงขึ้น ประชาชนมีเงินจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นก็อาจจะนำไปซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และประเทศนั้นก็มักจะตกเป็นเป้าหมายของอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ที่จะขยายตลาดเช่นกัน ที่มักใช้โฆษณาและเทคนิคทางการตลาดเพื่อชักชวนให้คนดื่มสุรามากขึ้น

แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว การพัฒนาจากประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลางไปเป็นรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 กลับไม่ทำให้อัตราตายจากทุกสาเหตุและอัตราตายที่สัมพันธ์กับการดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประเทศมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ดีมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และมีระบบการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ดีที่ทำให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีราคาสูง นอกจากนั้น ยังมีการกำหนดอายุต่ำสุดของบุคคลที่จะซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เป็น 20 ปี และมีมาตรการจำกัดวันเวลา และสถานที่ในการซื้อและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเป็นการจำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางกายภาพที่มีประสิทธิภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเวียดนามซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากเช่นกัน จนทำให้ประเทศขยับจากประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางในช่วงเวลาเดียวกันกับประเทศไทย แต่ด้วยเหตุที่กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมทั้งการเก็บภาษีแอลกอฮอล์ของเวียดนามไม่ได้เข้มงวดเท่าประเทศไทย ระดับการบริโภคเครื่องดื่มของเวียดนามและอัตราตายที่สัมพันธ์กับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรเวียดนามจึงเพิ่มสูงขึ้นตามไปกับรายได้เฉลี่ยประชาชาติที่เพิ่มขึ้น ดังแสดงในตารางนี้

สรุปมาจากบทความ: Rehm, J*., Rovira, P., Shield, K., Sornpaisarn, B., Thang, V. V., & Room, R. (2024). Alcohol use, economic development and health burden: A conceptual framework. International Journal of Alcohol and Drug Research. https://doi.org/10.7895/ijadr.43
ศาสตราจารย์เจอร์เกน เรห์ม ผู้เขียนชื่อแรกของบทความนี้เป็นนักวิชาการด้านนโยบายแอลกอฮอล์ผู้มีชื่อเสียงระดับโลก และมีผลงานวิจัยด้านนโยบายแอลกอฮอล์และผลกระทบต่อสุขภาพและสังคมสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก

News, ข่าวเด่น, บทความ

การจำกัดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเพื่อควบคุมผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อความสงบสุข ความปลอดภัย และสุขภาวะของประชาชนโดยรวมจำเป็นแค่ไหน!?


การจำกัดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเพื่อควบคุมผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อความสงบสุข ความปลอดภัย และสุขภาวะของประชาชนโดยรวมจำเป็นแค่ไหน

โดย นางสาวจินตนา จันทร์โคตรแก้ว สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ

กฎหมายได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้เกิดความสงบสุขของคนในสังคมโดยรวม การควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เช่นกัน ปัจจุบันสังคมให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล จนบางครั้งอาจไม่ได้คำนึงถึงความสงบสุขโดยรวมของสังคม เช่นเดียวกันกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นประเด็นในสังคมที่หยิบยกออกมาโต้แย้งว่า ประเทศไทยมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลโดยใช้นโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากจนเกินไปจนไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ทั้งการจำกัดสถานที่ห้ามดื่มและห้ามขาย จำกัดเวลาการขาย การห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บทความนี้จะฉายภาพให้เห็นอีกด้านของผลกระทบและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิส่วนบุคคลเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในสังคม

ขอบเขตและสิทธิเสรีภาพของบุคคลในรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทยฉบับพุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๕ ระบุไว้ว่า สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะ ในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจํากัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทําการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น นั่นแสดงให้เห็นว่าการมีสิทธิเสรีภาพมีขอบเขต บุคคลมีสิทธิในการกระทำใดใด หากการกระทำดังกล่าวไม่ไปกระทบเสรีภาพของบุคคลอื่น ดังนั้นจึงขอไล่เรียงข้อโต้แย้งในคำกล่าวที่ว่า การควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลิดรอนสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเกินความจำเป็นดังนี้

  • การจำกัดสถานที่ห้ามขายและห้ามดื่มเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลหรือไม่ สังคมจะเป็นเช่นไร หากสามารถขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ทุกที่ หากสังคมเป็นเช่นนั้น การกระทำของบุคคลเพียงคนหรือสองคนอาจจะทำให้คนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนชายหาด ซึ่งชายหาดเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่คนทั่วไปใช้ชีวิตเพื่อพักผ่อนและใช้เวลาร่วมกัน แต่หากมีกลุ่มคนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วส่งเสียงดังทะเลาะวิวาท การเรียกร้องสิทธิแบบนี้มีความยุติธรรมกับคนที่ใช้พื้นที่ดังกล่าวจริงหรือ เช่นเดียวกัน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งรถโดยสารสาธารณะเป็นสถานที่สำหรับผู้เดินทางและคนในสังคมต้องการความปลอดภัยในชีวิต หากมีเพียงคนเดียวดื่มและส่งเสียงดัง อาจจะทำให้ผู้ร่วมโดยสารคนอื่นๆ รู้สึกไม่ปลอดภัย จากหลักฐานเชิงประจักษ์ การควบคุมสถานที่ห้ามขายและห้ามดื่มเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (1) นอกจากนี้การจำกัดใบอนุญาตในการห้ามขายก็มีความจำเป็นเนื่องจากจำนวนใบอนุญาตที่มากขึ้นนำไปสู่การดื่ม (2) และปัญหาที่ตามมา (3) ประเทศนิวซีแลนด์เป็นตัวอย่างในการจำกัดใบอนุญาตการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะร้านที่มีที่นั่งดื่ม โดยการที่จะมีร้านที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้นั้นจะต้องได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการหลากหลายภาคส่วน ในกระบวนการออกใบอนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น จะต้องมีการติดประกาศเพื่อให้ทราบล่วงหน้าว่า กำลังจะมีร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เปิดขึ้น และประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงสามารถคัดค้านการเปิดได้หากมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากร้านที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดังกล่าว (4) นอกจากนี้ ในสหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ได้มีความพยายามในการจำกัดจำนวนของร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะร้านแบบนั่งดื่ม (5, 6) เช่น ผับบาร์ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งเสียงและการทะเลาะวิวาทที่ตามมา เพื่อรักษาความสงบของพื้นที่ที่อยู่อาศัย ดังนั้น การจำกัดพื้นที่ห้ามดื่มและห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และจำนวนใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงจำเป็น เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้กระทบเพียงคนดื่ม แต่กระทบความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม
  • การจำกัดเวลาห้ามขายในบางช่วงเวลาเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลหรือไม่ การควบคุมเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความจำเป็น เพราะบางช่วงเวลามีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น จากข่าวกรณีที่มีคนขับรถกลับจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงใกล้รุ่งแล้วรถพุ่งชนนักปั่นจักรยานสองคนเสียชีวิต (7) เป็นกรณีตัวอย่างของผลกระทบว่า การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ทำให้เกิดผลที่ตามมาซึ่งไปกระทบสิทธิของผู้อื่น บางคนอาจจะมองว่า ประเทศอื่นมีการเปิดผับถึงตี 4 แต่หากไปดูสถิติในการลงทุนกับการรักษาความปลอดภัยโดยรวมนั้น ประเทศไทยยังห่างไกลจากประเทศเหล่านั้นอยู่มาก เช่น อัตราการสุ่มตรวจระดับแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ในประเทศนิวซีแลนด์ โดยเฉลี่ยแล้ว ใน 1 ปีพลเมืองที่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์มีโอกาสถูกตรวจระดับแอลกอฮอล์จากลมหายใจอย่างน้อย 1 ครั้ง (8, 9) ซึ่งประเทศชาติต้องลงทุนกับมาตรการดังกล่าวมหาศาลเพื่อทำให้คนไทยมีความปลอดภัยในชีวิตจากการดื่มและขับ และประเทศไทยเองก็มีปัญหาต่าง ๆ ที่ต้องเร่งแก้ไขมากมาย แล้วเราจะมีทรัพยากรเพียงพอเท่าประเทศเหล่านั้นเพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นไม่ให้ได้รับผลกระทบจริงหรือ นอกจากการดื่มแล้วขับ ยังไม่ได้รวมถึงผลกระทบอื่น ๆที่ ตามมา เช่น การส่งเสียงดังและทะเลาะวิวาท คดีอาชญากรรม
  • การห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการลิดรอนสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับพุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๓๔ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน  การควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นหากพิจารณาตามสิทธิส่วนบุคคล อาจจะเป็นการลิดรอนสิทธิในระยะสั้น แต่รัฐไม่ควรพิจารณาเพียงสิทธิเสรีภาพระยะสั้น เพราะการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลกระทบในระยะยาว เพราะการโฆษณาทำงานกับสมอง โดยการสร้างเนื้อหา ภาพและเสียงเพื่อกระตุ้นให้สมองมีการรับรู้และการเปิดรับผลิตภัณฑ์และแบรนด์ นำไปสู่การรู้สึกเป็นเจ้าของในแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์นั้น และหากสินค้าดังกล่าวเป็นอันตรายต่อสุขภาพ รัฐจึงควรเข้ามาปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากผลกระทบในระยะยาว ปัจจุบันสื่อและการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้เข้ามาผ่านช่องทางเดิมที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เทคโนโลยีทำให้สื่อและการโฆษณาเข้ามาอยู่ในทุกมุม ทุกกิจกรรมของชีวิต และหากคนกลุ่มที่น่ากังวลและควรปกป้องมากที่สุด คือ กลุ่มเยาวชน จะเลวร้ายแค่ไหนหากเด็กและลูกหลานของเราเห็นโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากคนที่มีชื่อเสียงและคนที่เขายกย่องเป็นประจำ จนมองว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องปกติและโก้เก๋ นำไปสู่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเขาต่อมา (10) และเมื่อปรากฏการณ์นั้นเกิดขึ้น ก็ไม่ต่างจากการมอมเมาเด็กและเยาวชน และชี้ทิศทางไปในทางที่เขาไม่ได้เลือกจากสิทธิและเสรีภาพที่เขามีจริง ๆ แต่เกิดจากการที่ผู้ใหญ่หรือบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เรียกร้องสิทธิในการโฆษณาเพื่อผลกระโยชน์ของตนในระยะสั้น แต่ลืมสิทธิและเสรีภาพของลูกหลานในอนาคตที่เขาไม่มีสิทธิเลือก ดังนั้น กฎหมายควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นจึงมีความจำเป็นในการจำกัดสิทธิเสรีภาพในระยะสั้น และปกป้องสิทธิเสรีภาพในระยะยาว และสร้างเส้นทางเลือกให้กับสิทธิในการมีสุขภาพดีของลูกหลานประชาชนไทย

สรุป
สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลมีได้ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้น ไม่กระทบกระเทือนความสงบเรียบร้อยและไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น ดังนั้นรัฐจึงมีความชอบธรรมในการจำกัดวัน เวลา และสถานที่ในการขายและดื่ม รวมทั้งการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะสิทธิในการดื่มและขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการโฆษณากระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมและสุขภาวะของสังคมโดยรวม

เอกสารอ้างอิง
1. World Health organization. “Best buys’ and other recommended interventions for the prevention and control of noncommunicable diseases: updated(2017) appendix 3 of the Global Action Plan for the Prevention and Control of Noncommunicable diseases 2013-2020. Geneva: World Health Organization; 2017.
2. Popova S, Giesbrecht N, Bekmuradov D, Patra J. Hours and days of sale and density of alcohol outlets: impacts on alcohol consumption and damage: a systematic review. Alcohol Alcohol. 2009;44(5):500-16.
3. Campbell CA, Hahn RA, Elder R, Brewer R, Chattopadhyay S, Fielding J, et al. The Effectiveness of Limiting Alcohol Outlet Density As a Means of Reducing Excessive Alcohol Consumption and Alcohol-Related Harms. American Journal of Preventive Medicine. 2009;37(6):556-69.
4. Sale and Supply of Alcohol Act 2012, (2012).
5. Wilkinson C, MacLean S, Room R. Restricting alcohol outlet density through cumulative impact provisions in planning law: Challenges and opportunities for local governments. Health & Place. 2020;61:102227.
6. Pliakas T, Egan M, Gibbons J, Ashton C, Hart J, Lock K. Do cumulative impact zones reduce alcohol availability in UK high streets? Assessment of a natural experiment introducing a new licensing policy. The Lancet. 2016;388:S94.
7. เดลินิวส์. ซ่อนเหล้า? หนุ่มวัย 26 ซิ่งเสยกลุ่มนักปั่นเสือภูเขากวาดยกแก๊งดับ2เจ็บ5. เดลินิวส์,. 2567 10 มีนาคม 2567.
8. Police across New Zealand performed more than three million breath screening tests (BSTs) in 2023, more than 26% above 2022 figures, and the most in a decade [Internet]. National News. 2024 [cited March,17, 2024]. Available from: https://www.police.govt.nz/news/release/breath-screening-tests-exceed-3-million-2023.
9. New Zealand Transport Agency. Driver licence holders dataset & API 2024 [Available from: https://opendata-nzta.opendata.arcgis.com/search?q=license%20holder.
10. Padon AA, Rimal RN, Siegel M, DeJong W, Naimi TS, JernFigan DH. Alcohol brand use of youth-appealing advertising and consumption by youth and adults. J Public Health Res. 2018;7(1):1269.

1 2 3 4
Privacy Settings
We use cookies to enhance your experience while using our website. If you are using our Services via a browser you can restrict, block or remove cookies through your web browser settings. We also use content and scripts from third parties that may use tracking technologies. You can selectively provide your consent below to allow such third party embeds. For complete information about the cookies we use, data we collect and how we process them, please check our Privacy Policy
Youtube
Consent to display content from - Youtube
Vimeo
Consent to display content from - Vimeo
Google Maps
Consent to display content from - Google
Spotify
Consent to display content from - Spotify
Sound Cloud
Consent to display content from - Sound

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors