เบียร์มีสารประกอบหลักเป็นแอลกอฮอล์ ซึ่งโดยทั่วไปเบียร์จะมีระดับแอลกอฮอล์ประมาณ 5% by volume นั่นคือ 100 mL ของเบียร์จะมีแอลกอฮอล์อยู่ 5 mL และแอลกอฮอล์มีความหนาแน่นประมาณ 0.79 เท่าของน้ำ ดังนั้นในเบียร์ 100 mL จะมีแอลกอฮอล์อยู่ 5×0.79 = 3.95 กรัม โดยในเบียร์หนึ่งเหยือกจะมีปริมาณเบียร์ประมาณ 1000 mL ฉะนั้น แอลกอฮอล์ในเบียร์หนึ่งเหยือกจะเท่ากับ 39.5 กรัม หรือ 3950 มิลลิกรัม คิดเป็น 395 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ (mg%)
โดยทั่วไป นักดื่มมักจะค่อยๆดื่ม ดื่มไปคุยกับเพื่อนไปกินกับแกล้มและเติมเบียร์ไป ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ร่างกายได้ค่อยๆทำลายและขับแอลกอฮอล์ออกจากกระแสเลือดซึ่งนั่นจะทำให้แอลกอฮอล์ไม่คั่งอยู่ในร่างกายของผู้ที่ดื่มมากนัก แต่ในกรณีแข่งดื่มเบียร์เป็นเหยือกในเวลาจำกัดนี้ จะมีลักษณะเหมือนเทแอลกอฮอล์พรวดเข้าไปในกระแสเลือดโดยไม่เว้นช่วงเวลาให้ร่างกายขับแอลกอฮอล์ออก จึงเกิดภาวะที่เรียกว่าแอลกอฮอล์เป็นพิษ (alcohol intoxication) ต่อร่างกาย
หากดูตารางระดับของแอลกอฮอล์ในเลือดที่ส่งผลต่ออาการหรือความผิดปกติต่างๆจะพบว่า ที่ระดับแอลกอฮอล์ 395 mg% อาจทำให้ผู้ดื่มหมดสติ ชีพจรช้าลง การหายใจแย่ลง จนถึงหยุดหายใจได้ ทั้งนี้เนื่องจากแอลกอฮอล์ออกฤทธิ์เป็นสารกดประสาท และในขนาดที่สูงระดับนี้ มันสามารถกดสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการหายใจและการรู้สึกตัวของผู้ที่ดื่มได้ ดังนั้น การดื่มเบียร์ เหล้า หรือไวน์ปริมาณมากในระยะเวลาอันสั้นจึงอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
ทางศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ได้สอบถามไปยังนักวิชาการด้านกฎหมาย ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วศิน สุวรรณรัตน์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
ผศ.วศิน ได้ให้ความเห็นว่า “กรณีที่ร้านอาหารจัดการแข่งขันจนทำให้มีผู้เสียชีวิต ตามหลักกฎหมายไทย ผู้ประกอบการ (ร้านอาหารที่จัดการแข่งขัน) อาจจะต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้ นอกจากนั้น ในทางแพ่ง ก็ถือเป็นการทำละเมิดของร้าน ซึ่งต้องชดใช้ค่าเสียหายด้วย จึงถือว่าเป็นความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาได้”
สาขาวิชาระบาดวิทยา อาคารบริหาร ชั้น 6 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 15 ถ.กาญจนวนิช ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
โทรศัพท์ : 083-5775533 (เวลาราชการ 08.30 - 16.30 น.)
Copyright © 2019 CAS All rights reserved.