News, ข่าวเด่น

ฝากถามรัฐ ผลลัพธ์ของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ สรุปใครได้ประโยชน์⁉️


ฝากถามรัฐ ผลลัพธ์ของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ สรุปใครได้ประโยชน์⁉️
ถามย้ำอีกที เมื่อไหร่รัฐจะให้ความสำคัญกับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน หรือแค่หลับหูหลับตา มองไม่เห็นผลกระทบของมาตรการขยายเวลาเปิดสถานบริการ


เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2566 เวลาประมาณ 06.00 น. เกิดอุบัติเหตุบนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ขาเข้าเมือง หน้าอำนวยมอเตอร์แอร์ 2 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ หนุ่มบิดมอเตอร์ไซค์กลับจากเที่ยวสถานบันเทิงช่วงเช้ามืด พุ่งประสานงารถจักรยานยนต์ตำรวจจราจรกำลังขี่ไปทำงาน บาดเจ็บสาหัส มีสติแต่ไม่สามารถขยับตัวได้

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 ช่วงเวลาประมาณ 04.20 น. เกิดเหตุหนุ่มเมาขับเก๋งซิ่งแหกด่านตำรวจจราจรบนถนนพระราม 4 พุ่งชน “จ่าตำรวจ” ขณะปฏิบัติหน้าที่ตรวจวัดแอลกอฮอล์รถอีกคัน อัดร่างกับประตูรถอย่างจังเจ็บสาหัส แต่ยื้อไม่ไหวจนเสียชีวิตในที่สุด ส่วนหนุ่มผู้ก่อเหตุอยู่ในสภาพเมาพูดจาแทบไม่รู้เรื่อง ตรวจวัดแอลกอฮอล์ได้สูงถึง 187 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หลังสร่างเมายอมรับว่าไปดื่มกับเพื่อนมาจริง และอ้างว่ามองไม่เห็นด่านตำรวจ จากกรณีดังกล่าว แม้แต่ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ บัณฑิต ผู้บังคับการตำรวจจราจร ได้ฝากถึงนักเที่ยวราตรีผ่านสื่อว่า หากรู้ตัวว่าต้องไปดื่มให้นั่งรถแท็กซี่ไป เวลากลับบ้านจะได้ไม่เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และไม่ไปทำร้ายคนในครอบครัวคนอื่น

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 เวลา 04.30 น. เกิดเหตุรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ตํารวจสายตรวจ ซึ่งออกปฏิบัติหน้าที่ตรงสี่แยก รพ.ป่าตอง โดยผู้ก่อเหตุให้การว่า ขี่รถจากห้างสรรพสินค้ามุ่งหน้ามายังแยก รพ.ป่าตอง เมื่อถึงบริเวณ 4 แยกไฟแดง ตนฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง และชนกับรถจักรยานยนต์ตํารวจสายตรวจ ทำให้ได้รับบาดเจ็บ เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจวัดแอลกอฮอล์ที่ สภ.ป่าตอง ผลตรวจปรากฏว่า มีปริมาณแอลกอฮอล์ 114 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จึงจับกุมผู้ก่อเหตุในข้อหา “ขับขี่รถขณะเมาสุราเฉี่ยวชนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ”

แม้ระยะเวลาผ่านไปหลายเดือน แต่ความเสียใจยังตราตรึงอยู่ในใจเสมอของครอบครัวผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากการดื่มแล้วขับ นอกจากเป็นการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักของครอบครัวแล้วนั้น สังคมและประเทศชาติยังต้องสูญเสียบุคคลที่มีศักยภาพอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพียงเพราะการดื่มแล้วขับ

จากทั้งสามเหตุการณ์ข้างต้น อาจเป็นกระจกที่สะท้อนให้เห็นผลกระทบที่เกิดจากการขยายเวลาให้บริการของสถานบันเทิงจาก 02.00 น. ถึง 04.00 น. และเมื่อพิจารณาห่วงโซ่ของผลกระทบนี้ พบว่า จากการขยายเวลาสถานบริการจากเวลา 02.00 น. ถึง 04.00 น. เป็นการเพิ่มภาระงานให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร จากเดิมที่สถานบันเทิงปิดเวลา 02.00 น. เจ้าหน้าที่อาจจะตั้งด่านตรวจถึง 02.30 – 03.00 น. แต่กลับต้องอดหลับอดนอนเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้น ป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิดวินัยจราจรจนถึง 04.30 น. ซ้ำร้ายในขณะปฏิบัติหน้าที่กลับตกเป็นเหยื่ออุบัติเหตุทางถนนจากการดื่มแล้วขับ ซึ่งมีหลักฐานทางวิชาการยืนยันแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงเวลาซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านนั่งดื่มนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอัตราการเกิดอันตรายมากขึ้น แม้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตจะได้รับการเยียวยาจากเงินสวัสดิการเพราะเป็นข้าราชการตำรวจ และเงินเยียวยาจากที่ผู้ก่อเหตุยินดีชดเชยให้นั้น แต่คงไม่คุ้มค่ากับชีวิตคนหนึ่งคนที่ยังสามารถสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติได้มากกว่าตีค่าเป็นเงินตรา หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจที่กำลังออกปฏิบัติหน้าที่และที่กำลังขี่รถจักรยานยนต์ไปทำงานต้องเข้ารับการรักษาตัวและมีโอกาสเป็นบุคคลทุพพลภาพจากอุบัติเหตุ แล้วถ้าหากเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ ไม่ได้เป็นข้าราชการ ไม่มีสิทธิสวัสดิการ ไม่มีต้นทุนชีวิตหรือแม้แต่ค่ารักษาพยาบาล จะมีโอกาสหรือไม่ที่สังคมจะได้เห็นเหตุการณ์นี้ผ่านสื่อออนไลน์ หรือจะได้รับการเยียวยาต่างๆ อย่างที่ควรจะเป็น จึงอยากฝากถามรัฐ ท่านแน่ใจหรือว่าผลลัพธ์ของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้ปากท้องของประชาชนดีขึ้นจริงๆ คนที่ได้ประโยชน์คือประชาชนทุกคน และนี่เป็นแค่ตัวอย่างอุบัติเหตุที่ออกข่าวในพื้นที่จังหวัดนำร่อง แต่ยังมีเหตุการณ์อีกมากมายจากการตกเป็นเหยื่อน้ำเมาที่ไม่ได้เป็นข่าว อยากถามรัฐอีกทีว่า เมื่อไหร่ท่านจะให้ความสำคัญกับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน หรือแค่หลับหูหลับตา มองไม่เห็นผลกระทบของมาตรการขยายเวลาเปิดสถานบริการ สนใจแค่เม็ดเงินที่ยังไม่รู้เลยว่าจะได้มากกว่าเสีย เพราะแม้กระทั่งการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมพฤติกรรมขับขี่ยานพาหนะหลังการดื่ม ก็ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งสถานบริการหรือร้านค้าเองควรมีส่วนรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ เพราะสถานบริการหรือร้านค้าอยู่ในข่ายของการก่อช่องภัยแก่เหตุจะเกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งรัฐสามารถที่จะช่วยยับยั้งไม่ให้ปัญหาลุกลามไว้ได้แต่ต้น หากสนับสนุนการออกกฎหมายการรับผิดของสถานประกอบการ และคงไม่เกิดวาทกรรมอันสวยหรูที่ทางธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำมาใช้ในการสื่อสารการตลาด “ดื่มอย่างรับผิดชอบ” ด้วยการให้นักดื่มทั้งหลายรับผิดชอบอยู่ฝ่ายเดียว หรือตำรวจต้องมาฝากข้อความวอนขอนักเที่ยวราตรีดื่มแล้วกลับด้วยรถแท็กซี่ ทั้งที่รัฐเองสามารถใช้อำนาจโดยชอบธรรมในการคุ้มครองสุขภาพประชาชนไทย

ที่มาข่าว:
https://mgronline.com/local/detail/9660000112927
https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2764071
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_8198152

เอกสารอ้างอิง:
1) Nepal, S., Kypri, K., Tekelab, T., Hodder, R. K., Attia, J., Bagade, T., Chikritzhs, T., & Miller, P. (2020). Effects of extensions and restrictions in alcohol trading hours on the incidence of assault and unintentional injury: systematic review. Journal of studies on alcohol and drugs, 81(1), 5-23.
2) Wilkinson, C., Livingston, M., & Room, R. (2016). Impacts of changes to trading hours of liquor licences on alcohol-related harm: a systematic review 2005-2015. Public health research & practice, 26(4), 1-7.

News, ข่าวเด่น

หลักฐานทางวิชาการชี้ชัด!! ขยายเวลาเปิดสถานทำอัตราการเกิดอันตรายและอุบัติเหตุพุ่ง!!!


หลักฐานทางวิชาการชี้ชัด!! ขยายเวลาเปิดสถานบริการ ทำอัตราการเกิดอันตรายและอุบัติเหตุพุ่ง!!!

จากที่มีผลบังคับใช้ขยายเวลาเปิดสถานบริการถึงตีสี่ ในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา พบว่ามีการเกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บ-เสียชีวิต เนื่องจากการเมาแล้วขับ รวมไปถึงการมึนเมาจนไม่ได้สติ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรืออันตรายขึ้นได้ ซึ่งได้มีหลักฐานทางวิชาการที่ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเวลาการซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พบว่า

จากการศึกษาพบหลักฐานวิชาการส่วนใหญ่สอดคล้องกันว่า การเปลี่ยนแปลงเวลาซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอัตราการเกิดอันตราย

• จากบทความวิชาการที่รวบรวมการศึกษาคุณภาพสูงจำนวน 22 ชิ้น (รวมถึงการศึกษาจำนวน 3 ชิ้นที่เกี่ยวกับเวลาขายของร้านไม่มีที่นั่งดื่ม) และสรุปว่า การขยายเวลาการซื้อขายส่งหรือขยายเวลาเปิดสถานบริการ ส่งผลให้เกิดอันตรายมากขึ้น อาทิเช่น การทำร้ายร่างกาย การบาดเจ็บ เมาแล้วขับ-drink driving ในขณะที่การจำกัดเวลาซื้อขายมักตามมาด้วยการลดลงของอันตรายในแง่ของขนาดของผลกระทบ (effect size)

• การศึกษาใน 18 เมืองของประเทศนอร์เวย์ที่ดำเนินการขยายและจำกัดเวลาซื้อขายช่วงดึกหลายครั้งต่อกัน พบว่าการขยายเวลาซื้อขายเพิ่มขึ้นทุกหนึ่งชั่วโมงมีความสัมพันธ์กับการทำร้ายร่างกายที่รายงานโดยตำรวจซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 16 (โดยลดลงใกล้เคียงกันหากจำนวนชั่วโมงซื้อขายลดลง)

• การศึกษาในรัฐนิวคาสเซิล ประเทศออสเตรเลีย พบว่าการการลดชั่วโมงการขายจาก 05.00 น. เป็น 03.30 น. ส่งผลให้การทำร้ายร่างกายลดลงประมาณร้อยละ 33 โดยมีผลต่อเนื่องยาวนานกว่า 5 ปี

ที่มา: หนังสือสุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา ฉบับปรับปรุงครั้งที่สาม (ฉบับแปลภาษาไทย)

News, ข่าวเด่น

รองผู้อำนวยการ ศวส. ห่วง เปิดผับตีสี่ ไม่ได้มีแค่อุบัติเหตุ แต่เพิ่มผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อบุคคลรอบข้าง จีัรัฐ!! ก่อนปีใหม่นี้ ต้องยืนยันได้ว่ามาตรการนี้ไม่เพิ่มอุบัติเหตุและมีความคุ้มค่า


รศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่างถึงกรณีที่รัฐบาลกำลังจะดำเนินการนโยบายขยายเวลาเปิดสถานบริการถึง 04.00 น. ใน 5 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ สถานบริการในท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดภูเก็ต จังหวัดชลบุรี จังหวัดเชียงใหม่ และท้องที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และตามกฎกระทรวงฉบับนี้จะขยายเวลาให้สถานบริการในทุกท้องที่ทั่วประเทศสามารถเปิดบริการในคืนส่งท้ายปีเก่า 31 ธันวาคม ไปจนถึงเวลา 06.00 น. ของวันปีใหม่ 1 มกราคม 2567 โดยตนเองเป็นห่วงว่านโยบายนี้อาจส่งผลให้เกิดผลกระทบเชิงลบตามมามากกว่าความคาดหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องอุบัติเหตุจราจรที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในช่วงเวลาดังกล่าว และยังเพิ่มการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเยาวชนอีกด้วย ซึ่งยังไม่เห็นมาตรการที่ชัดเจนในการควบคุมหรือจัดการกับผลกระทบเชิงลบ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ และระบบเยียวยาหรือดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ

รศ.ดร.นพ.พลเทพ กล่าวต่อว่า นอกจากการดื่มแล้วขับที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุจราจรแล้วนั้น แอลกอฮอล์ยังมีฤทธิ์ทำให้ผู้ดื่มลดหรือขาดความยับยั้งชั่งใจ และการตัดสินใจบกพร่อง ที่อาจนำไปสู่การคุกคามทางเพศ โดยมีงานวิจัยชี้ชัดว่า บทบาทของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการล่วงละเมิดทางเพศมีความสำคัญมาก ประมาณ 50% ของการล่วงละเมิดทางเพศ กระทำโดยผู้ชายที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งไม่ว่าการคุกคามทางเพศจะเกิดขึ้นในระหว่างหรือหลังการดื่มหรือไม่ก็ตาม เหยื่อหรือผู้ถูกกระทำไม่ได้มีส่วนที่ทำให้เกิดการคุกคามทางเพศนี้ขึ้นมา แต่ผู้กระทำคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบการกระทำของตนเองทั้งทางกฎหมายและศีลธรรมจรรยา นอกจากนี้พฤติกรรมการดื่มสุรายังสัมพันธ์กับจำนวนและความรุนแรงในสังคม และเวลาในการให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานบันเทิงมีความเชื่อมโยงกับสถิติช่วงเวลาการเกิดอาชญากรรม เช่น การทำร้ายร่างกาย การทะเลาะวิวาท การทำลายข้าวของและทรัพย์สินสาธารณะ เป็นต้น ซึ่งการควบคุมเวลาในการขายและการให้บริการของสถาบันเทิงสามารถช่วยป้องกันและลดปัญหาอาชญากรรมลงได้ เพราะอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัดเป็นปัญหาที่ป้องกันและควบคุมได้ ดังนั้น ก่อนปีใหม่นี้ รัฐต้องแสดงให้เห็นว่าหลังจากที่มีการขยายเวลาแล้ว อุบัติเหตุจราจรไม่เพิ่มขึ้น และมาตรการที่ดำเนินการอยู่มีความคุ้มค่า โดยหลังจากวันที่ 15 ธันวาคมนี้ไปจนถึงหลังปีใหม่ รัฐต้องติดตามประเมินผลของมาตรการเป็นระยะและนำเสนอผลที่เกิดขึ้นต่อสาธารณชน เพื่อช่วยในการปรับปรุงมาตรการให้เหมาะสมต่อการปกป้องสุขภาพและชีวิตของประชาชน โดยความเสี่ยงนี้ไม่ควรรอนาน

Privacy Settings
We use cookies to enhance your experience while using our website. If you are using our Services via a browser you can restrict, block or remove cookies through your web browser settings. We also use content and scripts from third parties that may use tracking technologies. You can selectively provide your consent below to allow such third party embeds. For complete information about the cookies we use, data we collect and how we process them, please check our Privacy Policy
Youtube
Consent to display content from - Youtube
Vimeo
Consent to display content from - Vimeo
Google Maps
Consent to display content from - Google
Spotify
Consent to display content from - Spotify
Sound Cloud
Consent to display content from - Sound

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors