คำค้นหา : การวิเคราะห์

คำนี้ค้นหามาแล้ว : 46 ครั้ง
แอลกอฮอล์ฆ่าคนได้ ถ้าดื่มไม่ระวัง
https://cas.or.th/content?id=520

โดย นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

หลังจากผลการชันสูตรศพของพริตตี้สาวที่เสียชีวิตหลังจากรับงานเอนเตอร์เทนในปาร์ตี้แห่งหนึ่ง ซึ่งพบว่าพริตตี้รายดังกล่าวเสียชีวิตจากภาวะแอลกอฮอล์เกินขนาด โดยพบว่ามีค่าแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึง 418 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ เราเพิ่งได้รับข่าวสลดใจเรื่องวิศวกรหนุ่มรายหนึ่งที่ไปร่วมงานฉลอง และมีการดื่มเบียร์แข่งขันกันบนเวที กติกาคือใครซดเบียร์หมดเหยือกก่อนคนนั้นชนะ น่าเศร้ามากครับที่กิจกรรมที่หวังจะสร้างความสนุกกลับกลายเป็นกิจกรรมที่คร่าชีวิตคน พรากเอาชีวิตหนุ่มอนาคตไกลไปจากคนรัก

หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ก็มีการเผยแพร่ความรู้ ประชาสัมพันธ์ทั้งจากแพทย์ จากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหลายท่าน จากภัยอันตรายของการรับแอลกอฮอล์เข้าร่างกายปริมาณมากในครั้งเดียว ว่าสามารถทำให้เสียชีวิตได้ เหตุการณ์เพิ่งผ่านไปข่าวยังไม่ทันซา ก็เกิดการเสียชีวิตจากเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง

            แอลกอฮอล์เป็นสินค้าไม่ปกติ ต้องควบคุม

            ข้อความที่อยากจะเตือนสตินักท่องปาร์ตี้ วัยรุ่นหนุ่มสาว และนักดื่มทั้งหลายอีกครั้งคือ แอลกอฮอล์ไม่เคยเป็นสินค้าปกติ ที่ไม่ต้องการการควบคุมการบริโภค ไม่ว่าจะพิจารณาจากบรรทัดฐานของสังคมใดก็ตาม ในทางวิทยาศาสตร์มีข้อสนับสนุนทางทฤษฎีมากมายว่าแอลกอฮอล์เป็นพิษต่อร่างกายทั้งในระยะสั้น และ ระยะยาว พฤตกิรรมการดื่มหนักในเวลาสั้น ๆ แบบที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตในกรณีพริตตี้หรือหนุ่มวิศวะ มีศัพท์เฉพาะที่เรียกว่า Binge drinking ภาวะดังกล่าวนี้นิยามคือการดื่มที่มากกว่า 5 ดื่มมาตรฐานในเพศชาย และ 4 ดื่มมาตรฐานเพศหญิง ภายในเวลาน้อยกว่า 2 ชั่วโมง (1 หน่วยเท่ากับ เบียร์ 1 กระป๋อง ไวน์ 1 แก้ว เหล้า 1 แก้ว)

การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากในช่วงเวลาสั้น ๆ จะยิ่งเพิ่มอันตรายมากขึ้น ในกรณีดังต่อไปนี้

  • เมื่อดื่มในขณะท้องว่าง เนื่องจากหากมีอาหารอยู่จะช่วยลดการดูดซึมแอลกอฮอล์เข้าสู่กระแสเลือดได้
  • ผู้ดื่มเป็นเพศหญิง เนื่องจากแอลกอฮอล์เป็นสารที่ละลายได้ดีในน้ำ (ส่วนของร่างกายที่มีน้ำมากเช่น กล้ามเนื้อ) ซึ่งหากแอลกอฮอล์ละลายไปยังเนื้อเยื่อแล้ว มันจะอยู่ในเลือดน้อยลง ซึ่งจะทำให้เมาได้ช้ากว่าหรือเมาน้อยกว่า ถ้าร่างกายมีสัดส่วนของน้ำมาก แต่เพศหญิงมีสรีระที่มีไขมันเป็นสัดส่วนมากกว่าผู้ชาย แอลกอฮอล์จึงละลายได้ช้า ทำให้แอลกอฮอล์อยู่ในเลือดมาก ทำให้เมาง่ายกว่า และเกิดอันตรายได้มากกว่าหากดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณเท่ากับผู้ชาย
  • เป็นคนรูปร่างอ้วน ดังที่กล่าวมาในข้อก่อนหน้า ว่าเมื่อมีสัดส่วนไขมันมากขึ้น แอลกอฮอล์จะอยู่ในเลือดมากขึ้น   
  • การใช้แอลกอฮอล์ร่วมกับยาอื่น ๆ โดยเฉพาะยาที่มีฤทธิ์กดประสาท เช่น ยาจิตเวช เฮโรอีน มอร์ฟีน ยานอนหลับ

เมื่อแอลกอฮอล์เข้าไปในเลือดมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะแสดงอาการเป็นพิษออกมาตามระดับแอลกอฮอล์ที่อยู่ในเลือด โดยเริ่มตั้งแต่ การเมา เรื่อยไปจนถึงอาการคลื่นไส้อาเจียน อารมณ์เปลี่ยนแปลง หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดปกติ ไปจนถึงการเสียชีวิต

แอลกอฮอล์จะมือหนึ่งมือสองก็ล้วนอันตราย และสร้างหายนะต่อสังคม

เนื่องจากผมเคยถูกเชิญเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องยาเสพติดหลายเวที ซึ่งผู้ฟังมักเป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำงานด้านยาเสพติดมานาน แต่มีคำถามหนึ่งที่ผมถามแล้วไม่ค่อยได้รับคำตอบที่ถูกต้องนักจากผู้ถูกถาม คำถามนั้นคือ ยาเสพติดชนิดใดที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินมากที่สุด (วัดจากทั่วโลก) ผมมักได้รับคำตอบว่าเป็นเฮโรอีนบ้าง แอมเฟตามีนบ้าง หรือโคเคน ซึ่งคำตอบดังกล่าวมาจากการรับรู้ว่า ใครก็ตามที่เข้าไปในวังวนของเฮโรอีน ยาบ้า หรือ โคเคนแล้ว ยากมากที่จะเอาชีวิตหลุดจากวงจรนี้ เกือบทั้งหมดต้องใช้ชีวิตในฐานะทาสยาเสพติด และมีหลายครั้งที่กลุ่มคนเหล่านี้จบชีวิตด้วยการใช้ยาเสพติดเกินขนาด แต่ในความเป็นจริง ยาเสพติดที่อันตรายที่สุดกลับเป็นยาเสพติดที่หาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป นั่นคือแอลกอฮอล์ คำตอบที่ได้ในเรื่องนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ แต่การวิเคราะห์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากการรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่ทั่วโลก ถึงผลกระทบของยาเสพติดแต่ละชนิด ต่อตัวผู้ใช้ (ผลกระทบด้านร่างกาย จิตใจ ที่สูญเสียจากการติดยาเสพติดนั้น ๆ อัตราการตายจากยาเสพติดนั้น ๆ และการสูญเสียสัมพันธ์ภาพและทรัพย์สิน) และ ผู้อื่นที่ไม่ได้ใช้ (ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม อาชญากรรม และ ครอบครัว) แม้ว่าแอลกอฮอล์จะไม่ใช่ยาเสพติดอันดับหนึ่งที่ฆ่าชีวิตผู้ใช้โดยตรงจากการใช้เกิดขนาด แต่เมื่อรวมผลกระทบทั้งหมดที่มันสร้างขึ้น แอลกอฮอล์คือมหันตภัยอันดับหนึ่งจากยาเสพติดทุกชนิดในโลก ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะแอลกอฮอล์เป็นยาเสพติดที่เข้าถึงง่าย มีจำนวนผู้บริโภคมาก จึงสร้างผลกระทบได้มาก แม้จะมีผลกระทบต่อผู้ดื่มในระยะสั้นไม่มากเท่ายาเสพติดชนิดอื่น แต่ผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ดื่มในระยะยาวมากกว่ายาเสพติดชนิดอื่น ๆ

ในประเด็นเรื่องการเสียชีวิตของพริตตี้สาวที่เกิดจากการดื่มหนักดื่มเร็ว จนทำให้แอลกอฮอล์ในเลือดเกินขนาด อันตรายจากแอลกอฮอล์เป็นพิษไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากในประเทศไทยเรายังไม่มีระบบการเก็บสถิติในเรื่องดังกล่าว จึงเปรียบให้เห็นได้ยากว่าขนาดของปัญหานี้ใหญ่ขนาดไหน แต่จากการเก็บสถิติการเสียชีวิตด้วยภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษในสหรัฐอเมริกา พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วทุก ๆ วัน จะมีผู้เสียชีวิตจากการดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาดในประเทศสหรัฐอเมริกา 6 คน หรือปีละ 2,400 คน ซึ่งไม่ใช่น้อย ๆ เลยสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว การแพทย์เป็นอันดับหนึ่งของโลก มีระบบเฝ้าระวังมากมาย ถ้าลองย้อนกลับมาดูประเทศไทย ที่มีพฤติกรรมการดื่มที่อันตรายมากถึง 3.4% ของประชากร ก็ไม่แน่ว่าเราน่าจะมีการเสียชีวิตจากเหตุดังกล่าวทุก ๆ วัน และมีเพียงบางกรณีเท่านั้นที่ปรากฎในข่าวกระแสหลัก

เปิดผับถึงตี 4 นโยบายที่จะพาการท่องเที่ยวไทยถอยหลังเข้าคลอง
https://cas.or.th/content?id=835
Tags : -

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมได้อ่านข่าว นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ออกมาเสนอแนวคิดเรื่องการเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 โดยจะเริ่มจากเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ๆ เช่น พัทยา เชียงใหม่ สมุย ภูเก็ต

ผมอ่านข่าวแล้วได้แต่ส่ายศีรษะกับไอเดียลักษณะเช่นนี้ ที่จะทำให้การท่องเที่ยวไทยถอยหลังเข้าคลอง

เพื่อความเป็นธรรมแก่ท่านรัฐมนตรี ลองพิจารณาเหตุผลประกอบที่ท่านนำเสนอมาทีละประเด็น และ ผมอยากสะท้อนกลับด้วยข้อมูลที่ผมได้ศึกษามาบ้าง ว่าเหตุใดข้อเสนอของท่านรัฐมนตรีนั้น สำหรับผมแล้วจะเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ

ท่านรัฐมนตรีบอกว่าการเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 นั้นมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มขึ้น 25% นอกจากนั้นท่านได้กล่าวว่า “ประเทศที่มีการกระตุ้นการท่องเที่ยว ด้วยการเปิดสถานบริการ แหล่งท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยว มีหลายประเทศ แต่ประเทศที่คิดว่จะนำมาเป็นโมเดล เพื่อดำเนินการคือ อิตาลี ที่มีสถานบริการตลอดคืนจนสว่าง แต่ผมต้องการเปิดเพียงตี 4 เพราะกลุ่มเป้าหมายไม่ใช่คนไทย แต่เป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายนักท่องเที่ยวต่างชาติ”

ก่อนจะเข้าสู่ประเด็นคัดค้าน ขออนุญาตนำเสนอสถานการการท่องเที่ยวไทยก่อนนะครับ เพื่อให้เห็นภาพว่าเราอยู่จุดไหนของการท่องเที่ยวโลก และ ในสายตาคนต่างชาติมองบ้านเมืองเราเป็นอย่างไร

การท่องเที่ยวของไทยถือเป็น 1 ใน 3 หัวใจสำคัญของเศรษฐกิจประเทศ ร่วมกับ การส่งออก และ เกษตรกรรม ปัจจุบันเรามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในประเทศปีละ 38 ล้านคน ถ้านับจากจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ในอันดับ 9 ของโลก มีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 3 ล้านล้านบาท (คนไทย 1 ล้านล้าน ต่างชาติอีก 2 ล้านล้าน) ถ้านับเรื่องรายได้จากการท่องเที่ยว ประเทศไทยเป็นอันดับ 4 ของโลก

ถ้าดูจากทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวปัจจุบัน ถือว่าประเทศไทยกำลังก้าวหน้าไปข้างหน้า และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้น

การเติบโตที่ทุกคนคาดหวังคือ ศักยภาพด้านการดึงดูดนักท่องเที่ยวต้องยั่งยืน ทั้งปริมาณและคุณภาพการบริการต้องมากขึ้น  คุณภาพนักท่องเที่ยวที่มาต้องสูงขึ้น รายจ่ายต่อหัวนักท่องเที่ยวต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลจะทำให้การท่องเที่ยวจะทำให้ประเทศไทยมีรายได้มากยิ่งขึ้น

การท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและยั่งยืน เกิดจากการร่วมพัฒนาของภาครัฐและเอกชน ภาครัฐต้องจัดสรรนโยบายและสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว และ เอกชนต้องเติมเต็มด้านการบริการ กลไกลการท่องเที่ยวจึงจะมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่ท่านรัฐมนตรีกำลังจะเสนออาจทำลายประสิทธิภาพการท่องเที่ยวไทยด้วยเหตุผลต่อไปนี้

ไม่ทำให้คุณภาพการท่องเที่ยวไทยสูงขึ้น

หนึ่งในนโยบายการท่องเที่ยวที่รัฐมนตรีการท่องเที่ยวและกีฬาก่อนหน้านี้พยายามพลักดันคือการทำให้ประเทศไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ การท่องเที่ยวที่ไทยจะต้องสร้างตลาดให้ได้ในอนาคตคือ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวในเชิงศึกษาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การจูงใจให้คนเกษียณจากโลกที่หนึ่งมาใช้ชีวิตระยะยาวหลังเกษียณในประเทศ การท่องเที่ยวด้านการแพทย์และสุนทรีย์ทางสุขภาพ (medical and wellness) ลักษณะการท่องเที่ยวที่กล่าวมาจะช่วยทำให้อุตสาหกรรมนี้ยั่งยืน ทำให้เกิดการคัดเลือกนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ที่ยอมจ่ายมากกว่าเพื่อการผ่อนคลาย ซึ่งจะทำให้เราสามารถเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวได้

ในทางกลับกันการนำเสนอนโยบายที่ทำให้ประเทศเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวแบบบันเทิง เมาหัวราน้ำ ดูเหมือนจะเป็นนโยบายที่ดึงดูงนักท่องเที่ยววัยรุ่นที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายต่ำ และยังทำให้ประเทศไทยไม่สามารถสลัดภาพลักษณ์ของการเป็นประเทศแห่งการปลดปล่อยตัณหาราคะของโลกไปได้

                ความเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างอุตสาหกรรมการบริการทางเพศ กับ เวลาการเปิดปิดสถานบันเทิง ก็คือ การบริการทางเพศแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ มักมีสถานบันเทิงเป็นจุดเริ่มต้น ดังนั้นการขยายเวลาให้เปิดได้นานขึ้นจนถึงเช้า ย่อมมีความหมายถึงการสนับสนุนให้ประเทศก้าวหน้าไปในทางอุตสาหกรรมการบริการทางเพศได้

ประเทศไทยได้รับสมญานามว่าเป็น Capital of sex tourist หรือเมืองหลวงของอุตสาหกรรมเซ็กส์ มาอย่างยาวนาน (แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะไม่เคยตรวจพบการขายประเวณีในพัทยาหรือภูเก็ตมาก่อนเลยก็ตาม) แม้ว่าภาพลักษณ์ดังกล่าวทำให้ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว แต่การก้าวไปข้างหน้าเพื่อการสร้างการท่องเที่ยวที่พัฒนา มีคุณค่าและยั่งยืน จำเป็นต้องสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับการท่องเที่ยว เรามีทรัพยากรธรรมชาติที่งดงามมาก มีป่า มีทะเล มีภูเขา มีวัฒนธรรม มีอาหาร มีลักษณะนิสัยของคนไทยที่มีน้ำใจ รักการบริการ เป็นจุดขายที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่ามีศักยภาพพอที่จะทดแทนอุตสาหกรรมการบริการทางเพศได้

ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่

จากการสำรวจของงานวิจัยเรื่องผลกระทบของแอลกอฮอล์ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งได้สอบถามไปยังกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ เราพบว่า การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเพียงกิจกรรที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเข้ามาเที่ยว แต่ไม่ใช่เป้าหมายหลักในการตัดสินใจเลือกแหล่งท่องเที่ยว

นอกจากนั้นจากการวิเคราะห์ศักยภาพในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวโดย World Economic Forum ได้จัดลำดับให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวอยู่ในลำดับ 35 ของโลก โดยมีจุดที่ประเทศไทยต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วนคือ “ความปลอดภัยต่อชีวิตและสุขภาพอนามัยของนักท่องเที่ยว”

ซึ่งความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวที่ว่านี้คงเพิ่มให้ปลอดภัยมากขึ้นได้ยาก หากมีการขยายเวลาการให้บริการของสถานบันเทิง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีการบริโภคแอลกอฮอล์ และมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาด้านความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินแก่นักท่องเที่ยวได้หากมีการบริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น

ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่ได้รับการจากสำรวจ จึงอนุมานได้ว่า สิ่งที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต้องการคือการท่องเที่ยวที่ปลอดภัยมากขึ้น สิ่งนี้ควรเป็นลำดับความสำคัญแรกที่ผู้รับผิดชอบควรสร้างนโยบายขึ้นมาเพื่อตอบสนอง คำถามคือ การขยายเวลาเปิดสถานบริการจะยิ่งทำให้ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นหรือลดลง ถ้าทำให้ความปลอดภัยเพิ่มขึ้นไม่ได้ จะยิ่งทำให้จุดอ่อนของการท่องเที่ยวไทยอ่อนยิ่งขึ้น ซึ่งไม่แน่ใจว่าในระยะยาวจะเป็นผลดีต่อภาพรวมของการท่องเที่ยวหรือไม่

 อิตาลีโมเดล ที่แท้จริงเป็นอย่างไร ?

ท่านรัฐมนตรีได้ยกตัวอย่างประเทศอิตาลีว่า ที่นั่นเปิดให้สถานบันเทิงเปิดได้ถึงเช้า แต่เมื่อผมลองทำการค้นคว้าเรื่องข้อบังคับและกติกาของสถานบันเทิงในอิตาลี ก็พบว่าข้อบังคับในประเทศเดียวกันก็มีความแตกต่างในแต่ละเมือง อย่างในกรุงโรมระเบียบเรื่องสถานบันเทิงเข้มงวดมาก เพราะต้องการควบคุมปัญหาที่เกิดจากแอลกอฮอล์ ที่เมืองนี้สถานบันเทิงต้องปิดก่อนเวลา 02.00 น. และ ตั้งแต่เวลา 21.00 น. ร้านค้าปลีกที่ขายแอลกอฮอล์ (off premise) จะถูกสั่งห้ามไม่ให้ขายแล้ว ส่วนร้านค้าที่ลูกค้านั่งดื่มแอลกอฮอล์ สามารถนั่งดื่มได้จนถึง 02.00 น.

เมืองที่มีระเบียบแตกต่างเช่น เมืองมิลาน ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่ง สถานบันเทิงสามารถเปิดได้ถึง 05.00 น.

ดังนั้นข้อสนับสนุนที่ว่าจะใช้อิตาลีโมเดลนั้นอาจต้องระบุถึงรายละเอียดในการควบคุมปัญหาที่อาจจะตามมาจากการขยายเวลาการให้บริการ และ ต้องมีคำอธิบานถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้เมืองใหญ่ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากสองเมืองมีนโยบายในเรื่องเดียวกันแตกต่างกัน เขียนถึงตรงนี้แล้ว ผมหวังว่าท่านรัฐมนตรี จะพิจารณาข้อเสนอที่กล่าวไป ในฐานะประชาชนที่รักการท่องเที่ยวไทย และอยากให้มันมีคุณค่าต่อประเทศไทย คนไทย และ คนทั่วโลกตราบนานเท่านานครับ

ข้อห่วงใยต่อปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ในกาสิโน ผลสืบเนื่องจากความพยายามผลักดัน พ.ร.บ. Entertainment complex ของไทย
https://cas.or.th/content?id=898

ข้อห่วงใยต่อปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ในกาสิโน ผลสืบเนื่องจากความพยายามผลักดัน พ.ร.บ. Entertainment complex ของไทย

โดย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ 
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

จากความพยายามอย่างเร่งรีบของพรรคร่วมรัฐบาลในการผลักดัน พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร หรือที่เราเรียกสั้น ๆ ว่า พ.ร.บ.กาสิโน ในช่วงรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา สังคมได้รับข้อมูลความคิดเห็นทั้งจากฝั่งสนับสนุนและคัดค้านจำนวนมากซึ่งถือเป็นข้อดีของสังคมเสรีที่ความคิดเห็นและข้อมูลสื่อสารและถ่ายทอดอย่างรวดเร็ว ข้อมูลจากฝั่งสนับสนุน ที่เชื่อว่าจากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เป็นประเทศที่มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว หากมีการเปิดกาสิโนได้จริงจะเป็นเครื่องมือพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ทั้งเอกชน ภาคการท่องเที่ยวมีรายได้มากขึ้น ส่วนรัฐบาลก็เก็บภาษีเพิ่มขึ้นเช่นกัน ในขณะที่ฝ่ายคัดค้านนั้นเชื่อว่าเบื้องหลังของโมเดลนี้ มีการซ่อนต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจที่ใหญ่หลวงไม่แพ้กัน

ในฐานะนักวิชาการด้านนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เราพบว่าในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีเรื่องคาบเกี่ยวกับพื้นที่ทางวิชาการที่หน่วยงานเราได้ทำข้อมูลตลอดมานั่นคือ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะยกเว้นกาสิโนจากกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ ซึ่งหมายความว่าผู้เข้าไปเล่นในกาสิโนจะมีอิสระอย่างเต็มที่ในการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องประหลาดแต่อย่างใดหากนับว่าในอบายมุขสถานจะให้อิสระมากที่สุดเพื่อเอื้อให้เกิดความบันเทิงอย่างที่สุดแก่ผู้ใช้บริการและนำมาซึ่งการจับจ่ายใช้สอยมากยิ่งขึ้น “อบายมุขเมื่อรวมตัวกัน จะสร้างความต้องการซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น” ข้อความนี้ไม่ได้มาจากความรู้สึกนึกคิดส่วนตัวของผู้เขียนแต่มาจากงานวิจัยที่สะสมข้อมูลจากหลายแหล่ง

  • การพนัน – เหล้า

​การศึกษาของ Cronce และ Corbin ในปี 2010 (1) ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มเหล้าและการพนัน โดยเฉพาะขนาดของวงเงินเดิมพันและความเร็วในการสูญเสียเงินทุน ​โดยในการศึกษาดังกล่าวได้แบ่งผู้เข้าร่วมจำนวน 130 คน เป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งถูกสุ่มให้กินเหล้าจริง และอีกกลุ่มให้ดื่มเหล้าปลอม หลังจากนั้นให้ผู้เข้าร่วม เล่นเกมสล็อตจำลองที่ถูกตั้งโปรแกรมให้มีผลลัพธ์เริ่มต้นที่แตกต่างกัน (ชนะ, เสมอ, หรือแพ้) ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงที่มีการสูญเสียเพิ่มขึ้น ผลการศึกษาพบว่าคนที่ดื่มเหล้าจริงมีแนวโน้มที่จะวางเดิมพันที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และเสียเงินทุนทั้งหมดเร็วขึ้นเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ดื่มเหล้า อันที่จริงเวลาที่เราเข้าไปในกาสิโน จะมีพนักงานบริการที่เสิร์ฟเหล้าฟรีให้เราตลอดเวลา เหมือนอย่างที่เราเคยดูในหนังฮอลีวูดส์ทั้งหลาย ถ้ามีฉากที่มีการดวลกันในกาสิโนยิ่งเป็นกาสิโนหรู ๆ จะมีเด็กเติมเหล้า แชมเปญ ให้กันไม่อั้นเลย นี่เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้นักพนันหุนหันพลันแล่นและกล้าได้กล้าเสีย และนำมาซึ่งการเพิ่มวงเงินในการเล่นพนันมากยิ่งขึ้น (ซึ่งต้องมากกว่าค่าเหล้าแพง ๆ ที่เขาให้ฟรีแน่นอน)

  • กาสิโน - เหล้าฟรี - อุบัติเหตุจากเมาแล้วขับ

แน่นอนว่าคนขี้สงสัยบางคนสงสัยต่อว่า ถ้ามีกาสิโน และมีการเสิร์ฟเหล้าไม่อั้นแบบนี้ มันจะทำให้อุบัติเหตุจากคนเมาเหล้าเพิ่มขึ้นไหม ซึ่งเราพบว่ามันเพิ่มขึ้นจริง ๆ

การศึกษาของ Chad D. Cotti และ Douglas M. Walker ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Health Economics ในปี 2010 (2) ได้ศึกษาสัมพันธ์ระหว่างการเปิดกาสิโนกับจำนวนอุบัติเหตุทางถนนที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ที่มีผู้เสียชีวิตในสหรัฐอเมริกา ​เพื่อวิเคราะห์ว่าการเปิดกาสิโนในพื้นที่ต่าง ๆ มีผลกระทบต่อจำนวนอุบัติเหตุทางถนนที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์และมีผู้เสียชีวิตหรือไม่​ โดยใช้ข้อมูลจากช่วงเวลา 10 ปีที่มีการเปิดกาสิโนในสหรัฐอเมริกา​ และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการมีกาสิโนในเขตพื้นที่ (county) กับจำนวนอุบัติเหตุทางถนนที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ที่มีผู้เสียชีวิต​ ผลการศึกษาพบว่ามีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างการมีกาสิโนในพื้นที่กับจำนวนอุบัติเหตุทางถนนที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ที่มีผู้เสียชีวิต

  • การพนัน - ปัญหาสังคมอื่น ๆ

ความตั้งใจจริงของการเขียนบทความนี้ไม่ได้เขียนเพื่อค้านทุกอย่างทุกประเด็นสำหรับการพัฒนา ผู้เขียนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศย่อมเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกในสังคมและประเทศชาติ และหากข้อเสนอเรื่องกาสิโนจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมจริงแล้ว ผู้เขียนย่อมไม่คัดค้าน แต่กระนั้นก็ตามความกังวลอย่างยิ่งยวดของผู้เขียนไม่ได้อยู่ที่รายละเอียดเนื้อหาใน พ.ร.บ.กาสิโน ที่มีมาตรการควบคุมความเสียหายไว้พอสมควร เช่น การจำกัดคนไทยที่จะเข้าไปเล่นการพนันต้องมีวงเงินฝากไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท หรือต้องเสียค่าเข้ากาสิโนครั้งละ 5,000 บาท เพื่อคัดกรองเฉพาะคนไทยผู้มีรายได้สูงเท่านั้น และเน้นไปที่การดึงดูดนักพนันต่างชาติ เหมือนที่กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ได้สร้างกาสิโนคอมเพล็กซ์ขึ้นมาก่อนหน้านี้ไปแล้ว แต่กระนั้นก็ตามความน่ากังวลจริง ๆ ของผู้เขียนคือสังคมไทยที่โครงสร้างทางสังคมไม่ได้แข็งแรงขนาดนั้น เราจำเรื่องการเร่งผ่านกฎหมายเพื่อผ่อนปรนอบายมุขอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ได้หรือไม่ พ.ร.บ.กัญชา ที่เคยถูกนำเสนอเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ในช่วงเวลาแรกนั้น ณ วันนี้เราพบว่ามันช่วยใครที่เจ็บป่วยด้วยโรคได้จริงหรือไม่ กัญชากลายเป็นสินค้าในธุรกิจการท่องเที่ยวมากกว่าสินค้าทางการแพทย์ และการซื้อกัญชาในประเทศไทยนั้นง่ายกว่าการซื้อเหล้าเบียร์เสียอีก ภาพที่อันตรายสำหรับสังคมคือ การรับกฎหมายให้รวดเร็วแล้วไปแก้ไขหรือออกกฎหมายเพิ่มเพื่อป้องกันทีหลัง ไม่มีประสิทธิภาพจริงในการป้องกันปัญหาทางสังคมจากอบายมุข 

“อบายมุข” ที่แปลว่า ทางแห่งความเสื่อม เป็นคำที่มีอายุนานหลายพันปี เพราะวิวัฒนาการทางสังคมและภูมิปัญญาที่มนุษย์ร่วมกันสร้างพิสูจน์เสมอว่า ท้ายที่สุดแล้วเมื่อสังคมรับความสุขความสนุกจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป มันจะกัดกร่อนและทำลายสังคม การพัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้ฐานรากทางอบายมุขและความบันเทิงถือเป็นหลักการพัฒนาที่น่ากังวลใจว่าจะทำให้สังคมแย่ลง มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ทำในยุคสมัยแห่งวิทยาศาสตร์สมัยใหม่แล้ว และพิสูจน์ว่า “อบายมุข” ที่ถูกนิยามส่งต่อมานับพันปีและมีคำเตือนให้สังคมหนีห่าง นั้นเป็นข้อความที่เป็นจริง งานวิจัยนี้เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลต่อเนื่องยาวนานและทำการวิเคราะห์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ระดับประเทศของสหรัฐ ของ Grinols และ Mustard (2006) (3) ที่ศึกษาข้อมูลจาก 167 มณฑลในสหรัฐอเมริกา ช่วงปี 1977–1996 พบว่าพื้นที่ที่เปิดกาสิโนมีอัตราอาชญากรรมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8% ภายใน 5 ปีหลังเปิด โดยเฉพาะอาชญากรรมประเภทการปล้น ลักขโมย การทำร้ายร่างกาย และการขโมยรถยนต์ การศึกษานี้ใช้วิธีวิเคราะห์เปรียบเทียบก่อน-หลัง (difference-in-differences analysis) และควบคุมตัวแปรเศรษฐกิจสังคมอย่างละเอียด เพื่อแยกผลกระทบของกาสิโนอย่างแท้จริง นี่คือผลการศึกษาที่สะท้อนให้เห็นว่าการพนันเรื่องเดียวเพิ่มโอกาสในการเกิดอาชญากรรมได้อีกหลายอย่าง

ถึงแม้ในปัจจุบันหลายประเทศในโลกจะอนุญาตให้มีการพนันถูกกฎหมายเกิดขึ้น อังกฤษ อเมริกา หรือ อีกหลายประเทศในโลกตะวันตก การพนันสร้างเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศเหล่านี้ แต่สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญคือ คนนับแสนนับล้านที่เป็นทาสการพนัน การพนันออนไลน์ทำงาน 24/7 ไม่หยุดไม่หย่อน สิ่งที่รัฐบาลพวกเขาทำได้ตอนนี้คือประนีประนอมกับนักเล่นพนัน เพราะคน 2/3 ของประเทศเล่นการพนันจนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว หากรัฐบาลไม่อนุญาตท้ายที่สุดก็จะมีการพนันผิดกฎหมายอยู่ดีจากนักเล่นและเจ้าของบ่อนเถื่อนที่พร้อมเสี่ยงด้วยกัน นี่เป็นสิ่งที่น่ากังวลว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศเล็ก ๆ อย่างไทยด้วย เราเริ่มต้นจากการอนุญาตให้เปิดกาสิโนเฉพาะในเมืองท่องเที่ยว วันต่อไปไม่รู้ว่าการพนันออนไลน์ บ่อนตามตำบลอำเภอ จะถูกอนุญาตหรือไม่  หากกาสิโนมีเหตุผลให้เปิดได้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่นานกิจการพนันออนไลน์ บ่อนรายเล็ก ทั้งหลายคงใช้เหตุผลเช่นเดียวกันในการเรียกร้องให้การพนันเป็นเรื่องปกติของสังคม เมื่อคนจำนวนมากถูกมอมเมาเช่นนี้ รัฐคงไปขวางทางน้ำเชี่ยวไม่ทันแล้ว

อ้างอิง (References)
1. Cronce JM, Corbin WR. Effects of Alcohol and Initial Gambling Outcomes on Within-Session Gambling Behavior. Exp Clin Psychopharmacol. 2010 Apr;18(2):145–57.
2. Cotti CD, Walker DM. The impact of casinos on fatal alcohol-related traffic accidents in the United States. J Health Econ. 2010 Dec 1;29(6):788–96.
3. Mustard D, Grinols E. Casinos, Crime, and Community Costs. Rev Econ Stat. 2006 Feb 1;88:28–45.

ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.)

Centre for Alcohol Studies (CAS)

สาขาวิชาระบาดวิทยา ชั้น 6 อาคารบริหารคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เลขที่ 15 ถนนกาญจนวนิช ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110

083-5775533

https://www.facebook.com/cas.org.th

เข้าชมแล้ว 0 ครั้ง
Copyright © 2025 CAS All rights reserved.