คำค้นหา : ดื่มแล้วขับ

คำนี้ค้นหามาแล้ว : 120 ครั้ง
การลดหย่อนนโยบายควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช่วยการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้จริงหรือ?
https://cas.or.th/content?id=633

การลดหย่อนนโยบายควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วยการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้จริงหรือ

โดย นางสาวจินตนา จันทร์โคตรแก้ว สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ

รัฐบาลได้มีความพยายามลดหย่อนนโยบายควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเอื้อประโยชน์ในการกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา เช่น มาตรการขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การลดภาษีไวน์ การสนับสนุนการผลิตสุราชุมชน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่การดำเนินมาตรการดังกล่าวเกิดประโยชน์มากกว่าความสูญเสียของประเทศจริงหรือ

ประเทศไทยประสบความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีละ 165,450.5 ล้านบาทหรือประมาณร้อยละ 1.05 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (1) รัฐบาลกลับมองผลระยะสั้นที่เกิดขึ้น ผลเสียที่ตามมา กลับทวีคูณ การสูญเสียดังกล่าวเกิดจากการสูญเสียผลิตภาพที่เกิดจากการตายก่อนวัยอันควรและความพิการที่ไม่สามารถทำงานได้ ทั้งที่ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ การดำเนินมาตรการที่ก่อให้การตายก่อนวัยอันควรและความพิการที่เกิดขึ้นย่อมนำไปสู่ผลเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้ไม่คุ้มเสีย แต่ละปีมีประชากรไทยเสียชีวิตเนื่องจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 4 หมื่นคนต่อปีทั้งที่เกิดจากโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บทางถนน (2) โดยเฉพาะในชายไทยอายุ 30-59 ปีที่อยู่ในวัยทำงานเกิดการสูญเสียปีสุขภาวะที่จะมีสุขภาพดีทั้งที่เกิดจากความพิการและการตายก่อนวัยอันควร เนื่องจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 163,000 ปี หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของการสูญเสียปีสุขภาวะทั้งหมด จำนวนปีดังกล่าวแทนที่ชายไทยจะนำไปสร้างผลิตภาพให้กับเศรษฐกิจไทย (3) แทนที่รัฐบาลจะลงทุนกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตในระยะยาว เช่น การพัฒนาคุณภาพการศึกษา การพัฒนาฝีมือแรงงาน แต่กลับใช้นโยบายที่หวังผลระยะสั้น ที่นำไปสู่การสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุหลักนำไปสู่โรคไม่ติดต่อหลายสาเหตุ เช่น มะเร็ง โรคตับ โรคหัวใจ (4) ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำไปสู่ภาระทางสุขภาพที่รัฐบาลจะต้องแบกรับในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยและกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับความคุ้มค่าของการดำเนินนโยบายแอลกอฮอล์ประกอบไปด้วย การควบคุมวัน เวลา สถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการควบคุมโฆษณา การควบคุมการดื่มแล้วขับและการคัดกรองและบำบัดรักษาให้มีประสิทธิภาพ ภายใน 5 ปีหากภาครัฐลงทุนเพียง 22 ล้านล้านบาทจะได้ผลประโยชน์จากการรักษาประสิทธิภาพของคนวัยทำงานที่ไม่ต้องลางานขาดงานสูงถึง 59 ล้านล้านบาท โดยทุก 1 บาทที่รัฐลงทุนในการดำเนินมาตรการจะได้รับประโยชน์กลับมา 2.64 บาท (5)

การลดภาษีไวน์กระตุ้นเศรษฐกิจจริงเหรอ ผู้บริโภคไวน์ส่วนใหญ่ คือ ผู้มีรายได้สูง แทนที่รัฐบาลจะเก็บภาษีจากการจำหน่ายไวน์เพื่อเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ให้เกิดขึ้นในสังคม แต่กลับเอื้อผลประโยชน์ให้บริษัทผลิตไวน์และผู้บริโภคที่มีรายได้สูง จากหลักฐานองค์การอนามัยโลกได้ยืนยันชัดเจนเกี่ยวกับประสิทธิภาพของมาตรการทางภาษีและราคาในการลดการบริโภคการดื่มและความสูญเสียทางสุขภาพและสังคม นอกจากนี้การลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำไปสู่การเพิ่มความเหลื่อมล้ำ คนที่ได้รับผลกระทบจากการดื่มมากที่สุด คือ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทั้งค่าใช้จ่ายทางสุขภาพที่ต้องแบกรับจากโรคไม่ติดต่อ และปัญหาทางสังคม เช่น ปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัวที่พบมากในกลุ่มครัวเรือนที่ยากจน(6) การลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำไปสู่ความถ่างกว้างของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยโดยไม่จำเป็น ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินมาตรการราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อปกป้องสุขภาพประชาชน คือ ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อรัฐบาลประกาศใช้มาตรการนโยบายการกำหนดราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขั้นต่ำ รวมทั้งไวน์ นำไปสู่การลดการตายที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงถึงร้อยละ 13.4 และอัตราการผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลได้ร้อยละ 4.1 (7) จากการศึกษาที่ถูกรวบรวมอย่างเป็นระบบได้ยืนยันประสิทธิผลของมาตรการภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นำไปสู่การลดการป่วยและการตายจากโรคและการบาดเจ็บ (8)

การเพิ่มเวลาขายกระตุ้นให้มีนักท่องเที่ยวมากขึ้น ในทางกลับกัน ประเทศกลับเสียผลประโยชน์จากค่ารักษาพยาบาลและความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนนและการทะเลาะวิวาท รวมทั้งอาชญากรรมที่ตามมา รวมถึงภาพลักษณ์ของประเทศในการเป็นประเทศท่องเที่ยวแบบปลอดภัย จากประสบการณ์ของประเทศออสเตรเลียในรัฐนิวเซาท์เวลส์ในเขตเมืองนิวคาสเซิล ได้มีการลดเวลาเปิดผับจากตี 5 เป็นตี 3.30 และห้ามรับลูกค้าเพิ่มหลังเวลาตี 1.30 แต่ยังนั่งดื่มได้จนถึงตี 3.30 หลังจากการดำเนินมาตรการมีการศึกษาพบว่าคดีทำร้ายร่างกายลดลงร้อยละ 34 เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนดำเนินมาตรการ(9) เช่นเดียวกันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่กรุงอัมสเตอร์ดัมประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้มีการประกาศขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกไป 1 ชั่วโมงเพื่อกระตุ้นนักท่องเที่ยว[1] แต่เมื่อมีการขยายเวลาขายกลับพบว่า อัตราของการเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 ในพื้นที่ที่มีการขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่ไม่ได้ขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (10) นอกจากนี้การขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำไปสู่อาชญากรรม อุบัติเหตุซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยในการท่องเที่ยว

การผลิตสุราชุมชน กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ถึงแม้การผลิตสุราชุมชนจะเป็นการกระจายรายได้จากรายใหญ่ไปสู่รายย่อย แต่ผลที่ตามมาอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย ทั้งการควบคุมมาตรฐานของสุราที่ส่งผลเสียต่อผู้บริโภคในภายหลัง (11) การที่ต้องเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าตรวจโรงผลิตสุราชุมชนที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

สรุป
รัฐบาล มองแห็นผลประโยชน์ระยะสั้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ประเทศจะต้องทนรับผลเสียจากนโยบายที่เล็งเห็นเฉพาะผลระยะสั้นไปอีกยาว และส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะการดำเนินมาตรการขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดภาษีไวน์ และการสนับสนุนการผลิตสุราชุมชน นำไปสู่ความสูญเสียทางสุขภาพและสังคมของประชากรไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาว


เอกสารอ้างอิง
1. Luangsinsiri C, Youngkong S, Chaikledkaew U, Pattanaprateep O, Thavorncharoensap M. Economic costs of alcohol consumption in Thailand, 2021. Glob Health Res Policy. 2023;8(1):51.
2. สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ. รายงานภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย พ.ศ.2562. นนทบุรี: สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ 2566.
3. สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ. รายงานภาระโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย พ.ศ.2562. นนทบุรี: สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ; 2566.
4. Babor TF, Casswell S, Graham K, Huckle T, Livingston M, Österberg E, et al. Alcohol: No Ordinary Commodity: Research and public policy: Oxford University Press; 2022. Available from: https://doi.org/10.1093/oso/9780192844484.001.0001.
5. United Nations Thailand, Ministry of Public Health, United Nations Development Programme (UNDP), United Nations Inter-Agency Task Force (UNIATF) on the Prevention and Control of NCDs. Prevention and control of noncommunicable diseases in Thailand: The case for investment. Bangkok; 2021.
6. Bryant L, Lightowlers C. The socioeconomic distribution of alcohol-related violence in England and Wales. PLOS ONE. 2021;16(2):e0243206.
7. Wyper GMA, Mackay DF, Fraser C, Lewsey J, Robinson M, Beeston C, et al. Evaluating the impact of alcohol minimum unit pricing on deaths and hospitalisations in Scotland: a controlled interrupted time series study. The Lancet. 2023;401(10385):1361-70.
8. Wagenaar AC, Tobler AL, Komro KA. Effects of alcohol tax and price policies on morbidity and mortality: a systematic review. American Journal of Public Health. 2010;100(11):2270-8.
9. Kypri K, Jones C, McElduff P, Barker D. Effects of restricting pub closing times on night-time assaults in an Australian city. Addiction. 2011;106(2):303-10.
10. de Goeij MC, Veldhuizen EM, Buster MC, Kunst AE. The impact of extended closing times of alcohol outlets on alcohol-related injuries in the nightlife areas of Amsterdam: a controlled before-and-after evaluation. Addiction. 2015;110(6):955-64.
11. Manning L, Kowalska A. Illicit alcohol: public health risk of methanol poisoning and policy mitigation strategies. Foods. 2021;10(7).

เหล้า รถหรู สำนึก อำนาจ และการให้อภัย
https://cas.or.th/content?id=816

โดย…ดร.วิทย์ วิชัยดิษฐ

กาลครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ในประเทศสารขัณฑ์

มีชายสองคนทำพลาดเหมือนกัน คือเมาแล้วขับรถชนคนตาย

ทั้งสองเหตุการณ์ ชายที่ก่อเหตุเป็นเศรษฐี-มหาเศรษฐี ผู้ที่เสียชีวิตเป็นตำรวจ ต่างกันที่ยศของผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิตในเหตุการณ์

ทั้งสองเหตุการณ์เป็นข่าวใหญ่ เริ่มแรกสังคมสารขัณฑ์โกรธเศรษฐีผู้ก่อเหตุ และมองว่าเศรษฐีแต่ละคนจะต้องใช้เงิน เส้นสายและอำนาจ ดิ้นให้ตนเองหลุดและไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ แน่ๆ

แล้วความเหมือนก็สิ้นสุดตรงนั้น

เศรษฐีสารขัณฑ์คนแรก ติดต่อครอบครัวผู้เสียหาย พร้อมชดเชยและเยียวยาทั้งทางการเงินอย่างเต็มที่ แต่ที่สังคมคาดไม่ถึงยิ่งกว่า คือ เศรษฐีกลับติดตามอาการผู้เสียหายทุกวัน บวชขอขมา พร้อมแจ้งว่าตนพร้อมรับความผิดตามกระบวนการศาลยุติธรรมอย่างเต็มที่ เมื่อศาลตัดสินแบบพร้อมลดหย่อนโทษ สิ่งแรกที่เศรษฐีคนนั้นทำคือกราบเท้าครอบครัวผู้เสียหายและสัญญาว่าจะเลิกดื่มตลอดชีวิต

เศรษฐีสารขัณฑ์คนที่สองเป็นลูกมหาคหบดี ร่ำรวยกว่าเศรษฐีคนแรกเป็นร้อยเท่า แต่กลับชดใช้ค่าเสียหายให้ครอบครัวผู้ตายไม่ถึงเสี้ยวหนึ่งของที่เศรษฐีคนแรกช่วยผู้ตายในคดีตน และแทนที่จะยอมขึ้นศาล กลับหนีความผิดไปอยู่ดินแดนอันไกลโพ้น โดยที่เจ้าตัวไม่เคยมาสารภาพหรือยอมรับว่าตนเคยทำผิดพลาดใดๆ ไปทั้งสิ้น นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่อง “แปลกๆ” เกิดขึ้นมากมายจนถึงปัจจุบัน

ปฏิกิริยาของสังคมสารขัณฑ์ต่างกันโดยสิ้นเชิง

ผู้คนในสังคมพร้อมให้อภัยเศรษฐีคนแรก ถึงขั้นที่ว่าต่อมามีข่าวว่าเศรษฐีคนนั้นอาจต้องเข้าคุก หลายคนพร้อมจะมาปกป้องเขาด้วยซ้ำ

ในทางกลับกัน ผู้คนในสังคมโกรธเศรษฐีคนที่สองมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเวลาผ่านไปและมีเหตุการณ์ “แปลกๆ” เกิดขึ้น ความแค้นยิ่งทวีคูณ

เศรษฐีคนที่สอง ถึงจะมีเงินหนีไปอยู่ต่างแดนได้ แต่เศรษฐีคนนั้นหนีความจริงไปไม่ได้ เมื่อมีคนอื่นไปพบเห็นหรือจำเขาได้ในต่างแดน และพยายามเรียกชื่อเขาให้เขาเผชิญความจริง สิ่งเดียวที่เขาทำได้คือหลบหน้าด้วยความอับอาย และย้ายที่พักไปเรื่อยๆ โดยต้องระแวงตลอดเวลาว่าจะมีใครมาเห็นตนหรือไม่

ในขณะที่เศรษฐีคนแรก ไม่ได้หนีไปไหน เผชิญหน้ากับความจริง เขาก็ไม่จำเป็นต้องหลบหน้าหรืออยู่ด้วยความอับอาย และที่สำคัญคือครอบครัวของผู้เสียหายพร้อมที่จะให้อภัยเขา หากได้การอภัยเช่นนี้แล้ว หัวใจเขาคงเป็นอิสระ ไม่ว่าตัวเองจะอยู่ที่ไหนหรือทำอะไรก็ตาม

ความสบายใจและเป็นอิสระตรงนี้ ต่อให้เป็นคนรวยขนาดทายาทเศรษฐีหมื่นล้าน ก็หาซื้อไม่ได้ครับ

แต่เศรษฐีคนที่สองมีทางออก

โดยธรรมชาติ มนุษย์เราพร้อมที่จะให้อภัย เพื่อให้ตัวเองก้าวข้ามความโกรธและเริ่มกระบวนการเยียวยาได้

การให้อภัย ไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อได้รับเงินเยียวยา ชดเชยค่าเสียหาย

การชดเชยค่าเสียหายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเยียวยา แต่อาจไม่ใช่ส่วนหลัก

การจ่ายเงินเป็นเรื่องง่าย ไม่ต้องเผชิญหน้าใคร

การยอมรับผิดและการแสดงความรับผิดชอบ เป็นสิ่งที่ยากกว่า เพราะผู้ที่กระทำผิดจะต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่ตนเองทำโดยตรง ยอมรับว่าตนเองทำไม่ดี และพร้อมรับผลที่ตามมาโดยไม่มีเงื่อนไข

ซึ่งการเผชิญหน้ากับสิ่งไม่ดีที่ตนเองได้ทำไปนี้จะต้องใช้ทั้งความกล้าหาญ ความถ่อมตน และสามัญสำนึก — การแสดงออกถึงคุณลักษณะเหล่านี้จะช่วยให้ผู้เสียหายและครอบครัวพร้อมเปิดใจของตนเองมากขึ้น และเริ่มต้นเยียวยาจิตใจตนเองได้

และนั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่หรือ??

อนึ่ง…………..

ทั้งสอง “เหตุการณ์สมมุติ” นี้ จะไม่เกิดขึ้นเลย หากเศรษฐีในเรื่องนั้นไม่ขับรถหลังดื่มเหล้า ดังนั้นขอแนะนำทุกคนว่า หากเราไปดื่มแล้วอยากเอารถกลับบ้าน ควรให้เพื่อนที่ไม่ดื่มช่วยขับรถพาเรากลับ หรือเรียก Grab หรือแท็กซี่ให้ไปส่งกลับบ้าน แล้ววันรุ่งขึ้นหายเมาแล้วค่อยมารับรถ ค่าจอดรถเกินเวลาไม่กี่บาท แต่อนาคตและชีวิตของเราและผู้อื่น เป็นสิ่งที่ประเมินค่ามิได้

อย่างไรก็ดี เนื่องจากทั้งสอง “เหตุการณ์สมมุติ” นี้ มีแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าเราอยากจะทำให้ประเทศสารขัณฑ์มีปัญหาเรื่องอุบัติภัยจราจรลดลง เราน่าจะทำอะไรได้บ้าง

1. “อย่า หา ทำ” — การดื่มสุราทุกระดับมีผลต่อความสามารถในการขับขี่ทั้งสิ้น งานวิจัยในสหรัฐฯ พบว่าอุบัติเหตุเมาแล้วขับและมีคนตาย 15% เกิดขึ้นแม้ว่าผู้ขับจะมีแอลกอฮอล์อยู่ในระดับที่กฏหมายกำหนด [1] หลังดื่มสุราเข้าไป แอลกอฮอล์ในเลือดจะพุ่งสู่ระดับสูงสุดในเวลา 30-90 นาทีหลังดื่ม หลังจากนั้นการขจัดแอลกอฮอล์จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ (ดื่มหนึ่งแก้ว ต้องใช้เวลาขจัดประมาณหนึ่งชั่วโมง) ดังนั้นคนที่ดื่มหนักตอนกลางคืน แม้กระทั่งเช้าวันต่อมาก็ยังอาจมีระดับแอลกอฮอล์สูงเกินกำหนดอยู่ และเกิดอันตรายขณะขับรถได้ ดังนั้นทางที่ดีที่สุด คือ อย่าดื่มแล้วขับรถกลับบ้านเอง ให้เรียกแท็กซี่หรือ Grab กลับบ้าน หรือให้เพื่อนที่ไม่ได้ดื่มช่วยพากลับบ้าน

2. หากผู้ใดใช้แอลกอฮอล์ร่วมกับสารเสพติดกระตุ้นประสาท (เช่น โคเคน) ห้ามขับรถเด็ดขาด!! ไม่ว่าจะดื่มน้อยแค่ไหน หรือใช้สารดังกล่าวน้อยแค่ไหนก็ตาม — เมื่อใช้แอลกอฮอล์ร่วมกับโคเคน แอลกอฮอล์จะทำให้ระดับโคเคนในเลือดพุ่งสูงขึ้น และร่างกายจะสร้างสารโคคาเอทิลีน (cocaethylene) ขึ้นมา ซึ่งส่งผลต่อความนึกคิดและระบบประสาท [2,3] ทำให้ผู้เสพมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น เป็นอันตรายมากต่อตนเอง ผู้โดยสาร และผู้สัญจรทุกคนบนถนน ดังนั้นจึงไม่ควรขับรถเด็ดขาด ไม่ว่าในกรณีใดๆ

3. ควรจะพิจารณาลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ตามกฎหมายลงจากเดิม 0.5 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์เป็น 0.2 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ — หากผู้ขับขี่ใช้แอลกอฮอล์ร่วมกับสารอื่น เช่น โคเคน ยาบ้า ยาไอซ์ อัลปราโซแลม หรือกัญชาทางการแพทย์ สารนั้นสามารถที่จะมีทำปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์ได้ (แม้ในจำนวนน้อยนิด) ส่งผลให้สมรรถนะการขับขี่ด้อยลงจนเป็นอันตรายแก่ผู้อื่นได้ [2,3]

4. ควรจะจัดให้มีจุดสุ่มตรวจแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ทั่วประเทศ ให้ประชาชนที่ขับขี่ยานพาหนะโดยทั่วไปตระหนักว่าทุกคนสามารถถูกสุ่มตรวจได้เสมอ โดยมีโอกาสถูกสุ่มตรวจอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง และดำเนินการจับกุมและลงโทษผู้ละเมิดกฏหมายอย่างจริงจัง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่ดื่มไม่ขับรถ และผู้ที่ขับรถไม่ดื่ม เพิ่มความปลอดภัยทั้งกับตนเองและผู้อื่นได้

5. หากเกิดอุบัติเหตุทางถนน ควรตรวจระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ทุกคน ไม่ว่าจะมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตหรือไม่ และควรตรวจระดับสารเสพติด เช่น กัญชา ยาบ้า โคเคน ยากล่อมประสาทและยานอนหลับด้วย หากพบว่ามีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกินกำหนด หรือมีสารเสพติด ให้ดำเนินคดีกับผู้ขับขี่ตามกฏหมาย รวมทั้งส่งต่อให้ได้รับการดูแลบำบัดรักษาตามความเหมาะสม

หากทำเช่นนี้แล้ว ชาวสารขัณฑ์ทุกคน ไม่ว่าจะดื่มสุราหรือไม่ คนที่มีรถขับ คนที่โดยสารยานพาหนะ หรือแม้แต่คนเดินถนน ต่างก็จะมีความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น หากอุบัติเหตุทางถนนที่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุราและการใช้สารเสพติดลดลง และเป็นการลดภาระการทำงานของตำรวจ อัยการ และผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดด้วย

หมายเหตุ: เรื่องทั้งหมดที่เล่ามาเป็นเรื่องสมมุติ หากมีเนื้อหาใกล้เคียงกับผู้ใด ถือเป็นเหตุบังเอิญทั้งสิ้น

อ้างอิง

1. https://www.ajpmonline.org/article/S0749-3797(20)30040-4/fulltext

2. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/30195242/

3. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/30007323/

มาตรการควบคุมการบริโภคและปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
https://cas.or.th/content?id=13

องค์การอนามัยโลกและวงการแพทย์และสาธารณสุขทั่วโลก จัดให้แอลกอฮอล์ เป็นสารเสพติดและเป็นสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างไม่มีข้อถกเถียง โดยสามารถ ส่งเสริมให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้กว่า 200 ชนิด ที่สำคัญ เช่น โรคมะเร็งหลอดอาหารจนถึง ลำ ไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม และมะเร็งตับ โรคของระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะโรค ตับและโรคตับอ่อน โรคติดเชื้อ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคสมองเสื่อม รวมถึง โรคเก๊าท์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุทำ ให้เกิดการบาดเจ็บทางถนนและเสียชีวิต อีกปีละหลายหมื่นคน ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทและความรุนแรง ดังที่ปรากฎเป็น ข่าวเกือบทุกวัน ประเทศต่าง ๆ จึงถือว่าแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าธรรมดา แต่เป็นสินค้า ที่ต้องมีการควบคุมไม่สามารถปล่อยให้ขายแบบเสรีไร้ข้อกำ หนดเหมือนเครื่องดื่ม ต่าง ๆ ได้ อย่างไรก็ดีกระแสประชาธิปไตยที่เติบโตขึ้นในสังคมและประเทศต่าง ๆ ทำ ให้ ผู้ประกอบการผลิต การขาย ได้เรียกร้องให้ลดการควบคุมหรือให้ปล่อยเสรีโดยให้ เหตุผลว่า เป็นความรับผิดชอบของคนดื่มต่างหากที่ต้องดื่มอย่างมีสติและรับผิดชอบ แม้ว่าจะฟังดูดี แต่เนื่องจากผลของแอลกอฮอล์นั้นก่อให้เกิดการเสพติดและไปลด การมีสติสัมปชัญญะโดยตรง ดังนั้นการจะปล่อยให้เป็นความรับผิดชอบของผู้ดื่มฝ่าย เดียวจึงไม่ถูกต้อง และยังเป็นการทำ ให้ผู้ไม่ดื่มต้องพลอยรับผลร้ายไปด้วย เช่น เรื่อง การดื่มแล้วขับจนเกิดเหตุ การเกิดความรุนแรงในสังคมและครอบครัว ซึ่งรัฐมีความ ชอบธรรมในการเข้าไปควบคุม ประเทศไทยเองก็อยู่ในกระแสประชาธิปไตยและกระแส ตลาดเสรี จึงเกิดความขัดแย้งจากมุมของผู้ผลิตที่รู้สึกว่ารัฐควบคุมมากไป ในขณะ เดียวกันนักวิชาการและประชาชนจำ นวนมากก็รู้สึกว่ารัฐยังสามารถทำอะไรได้มากกว่า นี้เพื่อปกป้องประชาชน ดังบทสุดท้ายซึ่งเป็นเจตนารมย์ที่แสดงออกในการประชุม วิชาการสุราแห่งชาติเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา คณะทำ งานด้านวิชาการฯ จึงได้ระดมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เป็นนักวิจัยด้านแอลกอฮอล์ หารือกัน หลายครั้งและตกลงว่าจะรวบรวมแนวคิดและมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ควรดำ เนินการและได้รวบรวมเพิ่มเติมเป็นเอกสารนี้

มติการประชุม คณะทำงานด้านวิชาการในการสนับสนุนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
https://cas.or.th/content?id=889

มติการประชุม คณะทำงานด้านวิชาการในการสนับสนุนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
ภายใต้อนุกรรมการวิชาการ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ความเสี่ยงในการแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือประกาศที่ใช้บังคับในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568

1) การยกเลิกกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยการให้โรงแรมที่จดทะเบียนสามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือการขยายเวลาขายให้สถานประกอบการคล้ายสถานบริการขายได้ถึงตีสี่:

        ปัจจุบันมีโรงแรมที่จดทะเบียนประมาณ 15,000 แห่ง แขกในโรงแรมสามารถดื่มจากสินค้าที่วางขายในห้องอยู่แล้ว หากครอบคลุมไปถึงร้านค้า ร้านอาหารในโรงแรม มาตรการนี้จะทำให้เกิดการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างมาก แขกและลูกค้าภายนอกของโรงแรมสามารถเข้ามาใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง จะเกิดการดื่มแล้วขับทำให้บาดเจ็บและการตายบนท้องถนนเพิ่มมากขึ้นในหลายจังหวัดอย่างแน่นอน ประมาณ 15-20% เป็นอย่างน้อย ดังปรากฏข้อเท็จจริงว่าในการขยายเวลาให้สถานบริการในพื้นที่ จังหวัดชลบุรีและภูเก็ตที่รวมประมาณ 1,000 สถานบริการ โดยขยายเวลาบริการได้ถึงตีสี่ ทำให้เกิดอุบัติเหตุในช่วงตีสองถึงเจ็ดโมงเช้าเพิ่มขึ้นทั้งสองจังหวัด เกิดการบาดเจ็บเพิ่ม 900 ราย (เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14%) และมีการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทั้งสองจังหวัดรวมกัน 37 ราย (เพิ่มขึ้น 25%) โดยแม้แต่พื้นที่นำร่องที่ขยายเวลาฯ ก็ยังไม่ได้ดำเนินการให้เป็นตามมาตรการที่กำหนด ยิ่งไปกว่านั้นในพื้นที่เขตโซนนิ่งมีปัญหาอาชญากรรมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ป่าตอง มีเหตุทุกวัน ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว ชาวบ้านในพื้นที่ใช้ชีวิตลำบากมากขึ้น โจรขโมยเยอะขึ้น และแน่นอนว่าเป็นการเพิ่มภาระงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่กู้ภัย และที่พัทยา พบนักท่องเที่ยวโดนคนเมาทำร้าย อย่างไรก็ดีหากโรงแรมที่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศมากและใช้บริการอาหารเที่ยงของโรงแรมมีความประสงค์ขอขยายเวลาการขายในช่วง 14.00-17.00 น. อาจพิจารณาเป็นข้อยกเว้นภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดขึ้น และตรวจสอบรับรองโดยคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของ พ.ร.บ. ฉบับแก้ไขที่กำลังพิจารณาในสภาขณะนี้

2) การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนา:

        การอนุญาตให้ขายในวันสำคัญทางศาสนาเพียง 5 วัน ประชาชนส่วนใหญ่อาจไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะที่นับถือศาสนาพุทธ เนื่องจากมีมิติทางสังคมวัฒนธรรม และเมื่อพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า ประชาชนยังสามารถหาซื้อได้ในร้านขายของชำทั่วไป โดยสามารถซื้อได้ตลอด แม้ว่าเป็นช่วงเวลาห้ามขายก็ตาม สะท้อนให้เห็นถึงการบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมา ไม่มีการตรวจสอบหรือสุ่มตรวจร้านค้า คณะทำงานด้านวิชาการฯ เสนอให้คงการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนาไว้ 5 วันคงเดิม และไม่เห็นด้วยที่จะยกเว้นให้ขายได้ในสถานประกอบการคล้ายสถานบริการ เพราะจะไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งจำนวนสถานประกอบการคล้ายสถานบริการมีมากกว่า 1 แสนราย ส่วนสถานบริการตามกฎหมายสถานบริการ 2,000 ราย ควรจะห้ามเช่นเดิม แต่อาจมีข้อยกเว้นให้กับบางพื้นที่เท่านั้น เช่น ท่าอากาศยานระหว่างประเทศ โรงแรม โดยคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดต้องรับรองตรวจสอบให้มีมาตรการเฝ้าระวัง ติดตาม และป้องกันผลกระทบอย่างจริงจัง

3) การขายออนไลน์:

        ไม่ควรอนุมัติให้มีการยกเลิกกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือประกาศที่ใช้บังคับปัจจุบันเพื่อให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อผู้บริโภคโดยตรงได้ และควรชะลอการตัดสินใจเพื่อสั่งการให้มีคณะศึกษาผลกระทบในเรื่องนี้อย่างละเอียด เนื่องจากปัจจุบันมีร้านค้าที่พร้อมจะขายออนไลน์ เช่น ร้านสะดวกซื้อแบบธุรกิจขนาดใหญ่เกือบสองหมื่นร้าน ร้านอาหาร ผับ บาร์ อีกประมาณสองแสนร้าน หรืออาจเกือบครึ่งหนึ่งจากใบอนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 570,000 ใบ ประกอบกับมีแพลตฟอร์มการสั่งซื้อที่สะดวกมากมายหลากหลายที่ไม่มีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ซื้อ จะทำให้เยาวชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายโดยปราศจากการตรวจสอบอายุตามที่กฎหมายกำหนด ไม่สามารถตรวจสอบตัวตนของผู้ขายและตรวจสอบใบอนุญาตขาย ซึ่งมีความย้อนแย้งกับมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ดำเนินการแก้ไขโดยที่ต้องคำนึงถึงการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่เหมาะสมของเยาวชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อผู้บริโภคโดยตรงนั้นก็ไม่ได้เป็นวิธีการส่งเสริมการท่องเที่ยวแต่อย่างใด และในทางกลับกันอาจกลายเป็นช่องทางที่มีการสั่งสินค้าแอลกอฮอล์จากต่างประเทศได้ ประกอบกับผลจากการบังคับใช้การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ผ่านมา พบว่า มีการสื่อสารโพสต์คอนเทนต์โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และได้ลองดำเนินการแจ้งทางแพลตฟอร์มโซเชียล ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีต่อได้

4) ประเด็นอื่น ๆ:

  • การดำเนินงานในแต่ละประเด็น ควรต้องสร้างตัวเลือกในการดำเนินงาน อาจประกอบด้วยแนวทางหลักและแนวทางสำรอง เช่น อาจจะลองดำเนินการในบางพื้นที่ ซึ่งรัฐต้องมีการควบคุม ติดตาม และรายงานผลของนโยบายให้เป็นที่ประจักษ์ เพื่อลดผลกระทบ โดยมาตรการความพร้อมต้องเกิดก่อนออกมาตรการ
  • ควรมีการศึกษาวิจัยมิติทางสังคมที่มาช่วยยืนยันได้ว่า นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวประเทศไทย มาเพราะอยากดื่มเหล้า มาเล่นคาสิโน และมีงานวิจัยต่างประเทศที่ชี้ว่าการส่งเสริมการท่องเที่ยวในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นไม่ได้ส่งเสริมรายได้ทางเศรษฐานะของประชาชนได้จริง
  • การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ย่อมเพิ่มผลกระทบแน่นอน ส่วนใหญ่จะพบข้อมูลผลกระทบที่เป็นภัยทางถนนเป็นส่วนใหญ่และเห็นแนวโน้มชัดเจน ซึ่งอาจต้องพิจารณาถึงผลกระทบด้านอื่นร่วมด้วย เช่น เหตุทะเลาะวิวาทจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือดื่มจนเสียชีวิต การติดสุรา ข้อมูลความรุนแรง เป็นต้น ซึ่งยังไม่ค่อยมีข้อมูลด้านนี้ จึงไม่สามารถนำมาใช้ในการประกอบการพิจารณาได้อย่างรอบด้าน

5) บทสรุป:

        เนื่องจากการยกเลิกมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการให้ขายออนไลน์ ขยายเวลาขายในโรงแรม 24 ชั่วโมง หรือการขยายเวลาให้สถานบริการและสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการจะมีความเสี่ยงทำให้เกิดการเสียชีวิตประมาณ 600-800 ราย จากการดื่มขับ การเร่งรัดแก้ไขให้เสร็จเร็วเพื่อทันเทศกาลสงกรานต์สำหรับการท่องเที่ยวจึงอาจเป็นการละเลยและประมาทในการปกป้องความปลอดภัยของคนไทยตามหน้าที่ของรัฐที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ คณะทำงานด้านวิชาการฯ เสนอให้มีการศึกษาเพื่อพิจารณาความพร้อมต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ไม่ควรรีบดำเนินการเพราะไม่ได้เป็นภาวะฉุกเฉิน

ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.)

Centre for Alcohol Studies (CAS)

สาขาวิชาระบาดวิทยา ชั้น 6 อาคารบริหารคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เลขที่ 15 ถนนกาญจนวนิช ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110

083-5775533

https://www.facebook.com/cas.org.th

เข้าชมแล้ว 0 ครั้ง
Copyright © 2025 CAS All rights reserved.