คำค้นหา : ธุรกิจ

คำนี้ค้นหามาแล้ว : 547 ครั้ง
ธุรกิจแอลกอฮอล์กับ Pride Month: ฉลองความหลากหลาย หรือฉวยโอกาสทางการตลาด บนความเสี่ยงของ LGBTQ+
https://cas.or.th/content?id=938

ธุรกิจแอลกอฮอล์กับ Pride Month: ฉลองความหลากหลาย หรือฉวยโอกาสทางการตลาด บนความเสี่ยงของ LGBTQ+

ทุกเดือนมิถุนายน โลกเฉลิมฉลอง Pride Month เพื่อสนับสนุนสิทธิ ความเท่าเทียม และอัตลักษณ์ของกลุ่ม LGBTQ+

แต่ในขณะเดียวกัน ธุรกิจแอลกอฮอล์จำนวนไม่น้อยกลับเข้ามา "แทรก" ในพื้นที่เฉลิมฉลองนี้ ด้วย วาทกรรมของความเป็นพันธมิตร การสนับสนุนกิจกรรม Pride หรือแม้แต่การออกแบบขวดรุ่นพิเศษที่ใช้สีรุ้ง ทั้งหมดนี้ดูเหมือนเป็น "ความหวังดี"... แต่จริง ๆ แล้วมีอะไรซ่อนอยู่

ในสิ่งที่ดูเหมือนมิตรภาพ อาจมีความเสี่ยงซ่อนอยู่

  • งานวิจัยพบว่า กลุ่ม LGBTQ+ ดื่มแอลกอฮอล์มากและบ่อยกว่ากลุ่มทั่วไป โดยเฉพาะหญิงรักหญิงและหญิงไบเซ็กชวล ซึ่งเสี่ยงต่อผลกระทบทางสุขภาพมากกว่ากลุ่มอื่น
  • การดื่มของกลุ่ม LGBTQ+ ไม่ใช่แค่ "เพื่อเข้าสังคม" แต่ยังเป็นเครื่องมือคลายความเครียดจากการถูกกีดกัน หรือตอบสนองอัตลักษณ์ทางเพศ
  • สถานบันเทิงใน “gay scene” กลายเป็นพื้นที่ดื่มหลัก ที่มีทั้ง โปรโมชันเหล้าแรง เกมแจกเครื่องดื่ม และพนักงานขายแบบยั่วยวน เพื่อกระตุ้นยอดขาย
  • แบรนด์แอลกอฮอล์จำนวนมากใช้กลยุทธ์ทาง CSR และ “พันธมิตรแท้” เพื่อสร้างภาพลักษณ์ดี แต่แท้จริงแล้วคือ การตลาดแฝง ที่หลีกเลี่ยงกฎหมายและเพิ่มยอดขาย

ทำไมเราควรตั้งคำถาม?

  • เพราะการ "รวมสีรุ้ง" กับธุรกิจที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ อาจกลายเป็นการทำลายสุขภาพของกลุ่มเปราะบางโดยไม่รู้ตัว
  • เพราะการตลาดลักษณะนี้อาจทำให้เราลืมไปว่า “การดื่มคือความเสี่ยง” ไม่ใช่แค่สัญลักษณ์แห่งการเฉลิมฉลอง
  • เพราะสุขภาพของชุมชน LGBTQ+ ไม่ควรตกเป็นเหยื่อของผลประโยชน์ทางธุรกิจ

ขอชวนทุกคนตั้งคำถามว่า... Pride ที่เราฉลองกันนั้น เพื่อใคร? เราสนับสนุนสิทธิและสุขภาพของ LGBTQ+ จริง ๆ หรือแค่เปิดทางให้แบรนด์แสวงหากำไร?

ร่วมกันจับตาการตลาดแฝง และสร้างพื้นที่ปลอดภัย ปลอดเหล้า เพื่อ Pride ที่แท้จริง

อ้างอิง: Souto Pereira S, Lyons A. Rainbow-washing or genuine allyship? How alcohol companies target the LGBTQ+ community [Internet]. London: Institute of Alcohol Studies; 2025 Mar 10 [cited 2025 Jun 12]. Available from: https://www.ias.org.uk/.../rainbow-washing-or-genuine.../

คนไทยส่วนใหญ่เกือบ 90% เห็นด้วยกับการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่!
https://cas.or.th/content?id=926

คนไทยส่วนใหญ่เกือบ 90% เห็นด้วยกับการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่!

ผลสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ระหว่างวันที่ 7 – 21 มีนาคม พ.ศ. 2568 พบว่า 88.8% เห็นว่า... ไทยควรคงการห้ามขายแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ (9.0% ไม่เห็นด้วยให้คงการห้าม, 2.2% ไม่ออกความเห็น)

ข้อมูลนี้มาจากการศึกษาความรอบรู้ด้านสุขภาพในประเด็นเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชนไทย : กรณีศึกษาประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปใน 12 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 7 - 21 มีนาคม พ.ศ. 2568 จำนวน 3,924 ตัวอย่าง โดยศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง “เสียงส่วนใหญ่” ของประชาชนที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าทางศีลธรรมและสุขภาวะทางสังคมในวันสำคัญทางศาสนา

เสียงจากประชาชนคือพลังขับเคลื่อนนโยบายที่ยั่งยืน มาร่วมกันสนับสนุนสังคมสุขภาวะ ปลอดแอลกอฮอล์ในวันสำคัญ เพื่ออนาคตที่ดีของเราทุกคน

ข้อห่วงใยต่อปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ในกาสิโน ผลสืบเนื่องจากความพยายามผลักดัน พ.ร.บ. Entertainment complex ของไทย
https://cas.or.th/content?id=898

ข้อห่วงใยต่อปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ในกาสิโน ผลสืบเนื่องจากความพยายามผลักดัน พ.ร.บ. Entertainment complex ของไทย

โดย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ 
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

จากความพยายามอย่างเร่งรีบของพรรคร่วมรัฐบาลในการผลักดัน พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร หรือที่เราเรียกสั้น ๆ ว่า พ.ร.บ.กาสิโน ในช่วงรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา สังคมได้รับข้อมูลความคิดเห็นทั้งจากฝั่งสนับสนุนและคัดค้านจำนวนมากซึ่งถือเป็นข้อดีของสังคมเสรีที่ความคิดเห็นและข้อมูลสื่อสารและถ่ายทอดอย่างรวดเร็ว ข้อมูลจากฝั่งสนับสนุน ที่เชื่อว่าจากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เป็นประเทศที่มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว หากมีการเปิดกาสิโนได้จริงจะเป็นเครื่องมือพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ทั้งเอกชน ภาคการท่องเที่ยวมีรายได้มากขึ้น ส่วนรัฐบาลก็เก็บภาษีเพิ่มขึ้นเช่นกัน ในขณะที่ฝ่ายคัดค้านนั้นเชื่อว่าเบื้องหลังของโมเดลนี้ มีการซ่อนต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจที่ใหญ่หลวงไม่แพ้กัน

ในฐานะนักวิชาการด้านนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เราพบว่าในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีเรื่องคาบเกี่ยวกับพื้นที่ทางวิชาการที่หน่วยงานเราได้ทำข้อมูลตลอดมานั่นคือ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะยกเว้นกาสิโนจากกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ ซึ่งหมายความว่าผู้เข้าไปเล่นในกาสิโนจะมีอิสระอย่างเต็มที่ในการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องประหลาดแต่อย่างใดหากนับว่าในอบายมุขสถานจะให้อิสระมากที่สุดเพื่อเอื้อให้เกิดความบันเทิงอย่างที่สุดแก่ผู้ใช้บริการและนำมาซึ่งการจับจ่ายใช้สอยมากยิ่งขึ้น “อบายมุขเมื่อรวมตัวกัน จะสร้างความต้องการซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น” ข้อความนี้ไม่ได้มาจากความรู้สึกนึกคิดส่วนตัวของผู้เขียนแต่มาจากงานวิจัยที่สะสมข้อมูลจากหลายแหล่ง

  • การพนัน – เหล้า

​การศึกษาของ Cronce และ Corbin ในปี 2010 (1) ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มเหล้าและการพนัน โดยเฉพาะขนาดของวงเงินเดิมพันและความเร็วในการสูญเสียเงินทุน ​โดยในการศึกษาดังกล่าวได้แบ่งผู้เข้าร่วมจำนวน 130 คน เป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งถูกสุ่มให้กินเหล้าจริง และอีกกลุ่มให้ดื่มเหล้าปลอม หลังจากนั้นให้ผู้เข้าร่วม เล่นเกมสล็อตจำลองที่ถูกตั้งโปรแกรมให้มีผลลัพธ์เริ่มต้นที่แตกต่างกัน (ชนะ, เสมอ, หรือแพ้) ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงที่มีการสูญเสียเพิ่มขึ้น ผลการศึกษาพบว่าคนที่ดื่มเหล้าจริงมีแนวโน้มที่จะวางเดิมพันที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และเสียเงินทุนทั้งหมดเร็วขึ้นเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ดื่มเหล้า อันที่จริงเวลาที่เราเข้าไปในกาสิโน จะมีพนักงานบริการที่เสิร์ฟเหล้าฟรีให้เราตลอดเวลา เหมือนอย่างที่เราเคยดูในหนังฮอลีวูดส์ทั้งหลาย ถ้ามีฉากที่มีการดวลกันในกาสิโนยิ่งเป็นกาสิโนหรู ๆ จะมีเด็กเติมเหล้า แชมเปญ ให้กันไม่อั้นเลย นี่เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้นักพนันหุนหันพลันแล่นและกล้าได้กล้าเสีย และนำมาซึ่งการเพิ่มวงเงินในการเล่นพนันมากยิ่งขึ้น (ซึ่งต้องมากกว่าค่าเหล้าแพง ๆ ที่เขาให้ฟรีแน่นอน)

  • กาสิโน - เหล้าฟรี - อุบัติเหตุจากเมาแล้วขับ

แน่นอนว่าคนขี้สงสัยบางคนสงสัยต่อว่า ถ้ามีกาสิโน และมีการเสิร์ฟเหล้าไม่อั้นแบบนี้ มันจะทำให้อุบัติเหตุจากคนเมาเหล้าเพิ่มขึ้นไหม ซึ่งเราพบว่ามันเพิ่มขึ้นจริง ๆ

การศึกษาของ Chad D. Cotti และ Douglas M. Walker ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Health Economics ในปี 2010 (2) ได้ศึกษาสัมพันธ์ระหว่างการเปิดกาสิโนกับจำนวนอุบัติเหตุทางถนนที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ที่มีผู้เสียชีวิตในสหรัฐอเมริกา ​เพื่อวิเคราะห์ว่าการเปิดกาสิโนในพื้นที่ต่าง ๆ มีผลกระทบต่อจำนวนอุบัติเหตุทางถนนที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์และมีผู้เสียชีวิตหรือไม่​ โดยใช้ข้อมูลจากช่วงเวลา 10 ปีที่มีการเปิดกาสิโนในสหรัฐอเมริกา​ และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการมีกาสิโนในเขตพื้นที่ (county) กับจำนวนอุบัติเหตุทางถนนที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ที่มีผู้เสียชีวิต​ ผลการศึกษาพบว่ามีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างการมีกาสิโนในพื้นที่กับจำนวนอุบัติเหตุทางถนนที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ที่มีผู้เสียชีวิต

  • การพนัน - ปัญหาสังคมอื่น ๆ

ความตั้งใจจริงของการเขียนบทความนี้ไม่ได้เขียนเพื่อค้านทุกอย่างทุกประเด็นสำหรับการพัฒนา ผู้เขียนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศย่อมเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกในสังคมและประเทศชาติ และหากข้อเสนอเรื่องกาสิโนจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมจริงแล้ว ผู้เขียนย่อมไม่คัดค้าน แต่กระนั้นก็ตามความกังวลอย่างยิ่งยวดของผู้เขียนไม่ได้อยู่ที่รายละเอียดเนื้อหาใน พ.ร.บ.กาสิโน ที่มีมาตรการควบคุมความเสียหายไว้พอสมควร เช่น การจำกัดคนไทยที่จะเข้าไปเล่นการพนันต้องมีวงเงินฝากไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท หรือต้องเสียค่าเข้ากาสิโนครั้งละ 5,000 บาท เพื่อคัดกรองเฉพาะคนไทยผู้มีรายได้สูงเท่านั้น และเน้นไปที่การดึงดูดนักพนันต่างชาติ เหมือนที่กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ได้สร้างกาสิโนคอมเพล็กซ์ขึ้นมาก่อนหน้านี้ไปแล้ว แต่กระนั้นก็ตามความน่ากังวลจริง ๆ ของผู้เขียนคือสังคมไทยที่โครงสร้างทางสังคมไม่ได้แข็งแรงขนาดนั้น เราจำเรื่องการเร่งผ่านกฎหมายเพื่อผ่อนปรนอบายมุขอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ได้หรือไม่ พ.ร.บ.กัญชา ที่เคยถูกนำเสนอเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ในช่วงเวลาแรกนั้น ณ วันนี้เราพบว่ามันช่วยใครที่เจ็บป่วยด้วยโรคได้จริงหรือไม่ กัญชากลายเป็นสินค้าในธุรกิจการท่องเที่ยวมากกว่าสินค้าทางการแพทย์ และการซื้อกัญชาในประเทศไทยนั้นง่ายกว่าการซื้อเหล้าเบียร์เสียอีก ภาพที่อันตรายสำหรับสังคมคือ การรับกฎหมายให้รวดเร็วแล้วไปแก้ไขหรือออกกฎหมายเพิ่มเพื่อป้องกันทีหลัง ไม่มีประสิทธิภาพจริงในการป้องกันปัญหาทางสังคมจากอบายมุข 

“อบายมุข” ที่แปลว่า ทางแห่งความเสื่อม เป็นคำที่มีอายุนานหลายพันปี เพราะวิวัฒนาการทางสังคมและภูมิปัญญาที่มนุษย์ร่วมกันสร้างพิสูจน์เสมอว่า ท้ายที่สุดแล้วเมื่อสังคมรับความสุขความสนุกจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป มันจะกัดกร่อนและทำลายสังคม การพัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้ฐานรากทางอบายมุขและความบันเทิงถือเป็นหลักการพัฒนาที่น่ากังวลใจว่าจะทำให้สังคมแย่ลง มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ทำในยุคสมัยแห่งวิทยาศาสตร์สมัยใหม่แล้ว และพิสูจน์ว่า “อบายมุข” ที่ถูกนิยามส่งต่อมานับพันปีและมีคำเตือนให้สังคมหนีห่าง นั้นเป็นข้อความที่เป็นจริง งานวิจัยนี้เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลต่อเนื่องยาวนานและทำการวิเคราะห์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ระดับประเทศของสหรัฐ ของ Grinols และ Mustard (2006) (3) ที่ศึกษาข้อมูลจาก 167 มณฑลในสหรัฐอเมริกา ช่วงปี 1977–1996 พบว่าพื้นที่ที่เปิดกาสิโนมีอัตราอาชญากรรมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8% ภายใน 5 ปีหลังเปิด โดยเฉพาะอาชญากรรมประเภทการปล้น ลักขโมย การทำร้ายร่างกาย และการขโมยรถยนต์ การศึกษานี้ใช้วิธีวิเคราะห์เปรียบเทียบก่อน-หลัง (difference-in-differences analysis) และควบคุมตัวแปรเศรษฐกิจสังคมอย่างละเอียด เพื่อแยกผลกระทบของกาสิโนอย่างแท้จริง นี่คือผลการศึกษาที่สะท้อนให้เห็นว่าการพนันเรื่องเดียวเพิ่มโอกาสในการเกิดอาชญากรรมได้อีกหลายอย่าง

ถึงแม้ในปัจจุบันหลายประเทศในโลกจะอนุญาตให้มีการพนันถูกกฎหมายเกิดขึ้น อังกฤษ อเมริกา หรือ อีกหลายประเทศในโลกตะวันตก การพนันสร้างเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศเหล่านี้ แต่สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญคือ คนนับแสนนับล้านที่เป็นทาสการพนัน การพนันออนไลน์ทำงาน 24/7 ไม่หยุดไม่หย่อน สิ่งที่รัฐบาลพวกเขาทำได้ตอนนี้คือประนีประนอมกับนักเล่นพนัน เพราะคน 2/3 ของประเทศเล่นการพนันจนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว หากรัฐบาลไม่อนุญาตท้ายที่สุดก็จะมีการพนันผิดกฎหมายอยู่ดีจากนักเล่นและเจ้าของบ่อนเถื่อนที่พร้อมเสี่ยงด้วยกัน นี่เป็นสิ่งที่น่ากังวลว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศเล็ก ๆ อย่างไทยด้วย เราเริ่มต้นจากการอนุญาตให้เปิดกาสิโนเฉพาะในเมืองท่องเที่ยว วันต่อไปไม่รู้ว่าการพนันออนไลน์ บ่อนตามตำบลอำเภอ จะถูกอนุญาตหรือไม่  หากกาสิโนมีเหตุผลให้เปิดได้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่นานกิจการพนันออนไลน์ บ่อนรายเล็ก ทั้งหลายคงใช้เหตุผลเช่นเดียวกันในการเรียกร้องให้การพนันเป็นเรื่องปกติของสังคม เมื่อคนจำนวนมากถูกมอมเมาเช่นนี้ รัฐคงไปขวางทางน้ำเชี่ยวไม่ทันแล้ว

อ้างอิง (References)
1. Cronce JM, Corbin WR. Effects of Alcohol and Initial Gambling Outcomes on Within-Session Gambling Behavior. Exp Clin Psychopharmacol. 2010 Apr;18(2):145–57.
2. Cotti CD, Walker DM. The impact of casinos on fatal alcohol-related traffic accidents in the United States. J Health Econ. 2010 Dec 1;29(6):788–96.
3. Mustard D, Grinols E. Casinos, Crime, and Community Costs. Rev Econ Stat. 2006 Feb 1;88:28–45.

มติการประชุม คณะทำงานด้านวิชาการในการสนับสนุนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
https://cas.or.th/content?id=889

มติการประชุม คณะทำงานด้านวิชาการในการสนับสนุนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
ภายใต้อนุกรรมการวิชาการ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ความเสี่ยงในการแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือประกาศที่ใช้บังคับในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568

1) การยกเลิกกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยการให้โรงแรมที่จดทะเบียนสามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือการขยายเวลาขายให้สถานประกอบการคล้ายสถานบริการขายได้ถึงตีสี่:

        ปัจจุบันมีโรงแรมที่จดทะเบียนประมาณ 15,000 แห่ง แขกในโรงแรมสามารถดื่มจากสินค้าที่วางขายในห้องอยู่แล้ว หากครอบคลุมไปถึงร้านค้า ร้านอาหารในโรงแรม มาตรการนี้จะทำให้เกิดการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างมาก แขกและลูกค้าภายนอกของโรงแรมสามารถเข้ามาใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง จะเกิดการดื่มแล้วขับทำให้บาดเจ็บและการตายบนท้องถนนเพิ่มมากขึ้นในหลายจังหวัดอย่างแน่นอน ประมาณ 15-20% เป็นอย่างน้อย ดังปรากฏข้อเท็จจริงว่าในการขยายเวลาให้สถานบริการในพื้นที่ จังหวัดชลบุรีและภูเก็ตที่รวมประมาณ 1,000 สถานบริการ โดยขยายเวลาบริการได้ถึงตีสี่ ทำให้เกิดอุบัติเหตุในช่วงตีสองถึงเจ็ดโมงเช้าเพิ่มขึ้นทั้งสองจังหวัด เกิดการบาดเจ็บเพิ่ม 900 ราย (เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14%) และมีการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทั้งสองจังหวัดรวมกัน 37 ราย (เพิ่มขึ้น 25%) โดยแม้แต่พื้นที่นำร่องที่ขยายเวลาฯ ก็ยังไม่ได้ดำเนินการให้เป็นตามมาตรการที่กำหนด ยิ่งไปกว่านั้นในพื้นที่เขตโซนนิ่งมีปัญหาอาชญากรรมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ป่าตอง มีเหตุทุกวัน ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว ชาวบ้านในพื้นที่ใช้ชีวิตลำบากมากขึ้น โจรขโมยเยอะขึ้น และแน่นอนว่าเป็นการเพิ่มภาระงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่กู้ภัย และที่พัทยา พบนักท่องเที่ยวโดนคนเมาทำร้าย อย่างไรก็ดีหากโรงแรมที่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศมากและใช้บริการอาหารเที่ยงของโรงแรมมีความประสงค์ขอขยายเวลาการขายในช่วง 14.00-17.00 น. อาจพิจารณาเป็นข้อยกเว้นภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดขึ้น และตรวจสอบรับรองโดยคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของ พ.ร.บ. ฉบับแก้ไขที่กำลังพิจารณาในสภาขณะนี้

2) การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนา:

        การอนุญาตให้ขายในวันสำคัญทางศาสนาเพียง 5 วัน ประชาชนส่วนใหญ่อาจไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะที่นับถือศาสนาพุทธ เนื่องจากมีมิติทางสังคมวัฒนธรรม และเมื่อพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า ประชาชนยังสามารถหาซื้อได้ในร้านขายของชำทั่วไป โดยสามารถซื้อได้ตลอด แม้ว่าเป็นช่วงเวลาห้ามขายก็ตาม สะท้อนให้เห็นถึงการบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมา ไม่มีการตรวจสอบหรือสุ่มตรวจร้านค้า คณะทำงานด้านวิชาการฯ เสนอให้คงการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนาไว้ 5 วันคงเดิม และไม่เห็นด้วยที่จะยกเว้นให้ขายได้ในสถานประกอบการคล้ายสถานบริการ เพราะจะไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งจำนวนสถานประกอบการคล้ายสถานบริการมีมากกว่า 1 แสนราย ส่วนสถานบริการตามกฎหมายสถานบริการ 2,000 ราย ควรจะห้ามเช่นเดิม แต่อาจมีข้อยกเว้นให้กับบางพื้นที่เท่านั้น เช่น ท่าอากาศยานระหว่างประเทศ โรงแรม โดยคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดต้องรับรองตรวจสอบให้มีมาตรการเฝ้าระวัง ติดตาม และป้องกันผลกระทบอย่างจริงจัง

3) การขายออนไลน์:

        ไม่ควรอนุมัติให้มีการยกเลิกกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือประกาศที่ใช้บังคับปัจจุบันเพื่อให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อผู้บริโภคโดยตรงได้ และควรชะลอการตัดสินใจเพื่อสั่งการให้มีคณะศึกษาผลกระทบในเรื่องนี้อย่างละเอียด เนื่องจากปัจจุบันมีร้านค้าที่พร้อมจะขายออนไลน์ เช่น ร้านสะดวกซื้อแบบธุรกิจขนาดใหญ่เกือบสองหมื่นร้าน ร้านอาหาร ผับ บาร์ อีกประมาณสองแสนร้าน หรืออาจเกือบครึ่งหนึ่งจากใบอนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 570,000 ใบ ประกอบกับมีแพลตฟอร์มการสั่งซื้อที่สะดวกมากมายหลากหลายที่ไม่มีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ซื้อ จะทำให้เยาวชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายโดยปราศจากการตรวจสอบอายุตามที่กฎหมายกำหนด ไม่สามารถตรวจสอบตัวตนของผู้ขายและตรวจสอบใบอนุญาตขาย ซึ่งมีความย้อนแย้งกับมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ดำเนินการแก้ไขโดยที่ต้องคำนึงถึงการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่เหมาะสมของเยาวชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อผู้บริโภคโดยตรงนั้นก็ไม่ได้เป็นวิธีการส่งเสริมการท่องเที่ยวแต่อย่างใด และในทางกลับกันอาจกลายเป็นช่องทางที่มีการสั่งสินค้าแอลกอฮอล์จากต่างประเทศได้ ประกอบกับผลจากการบังคับใช้การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ผ่านมา พบว่า มีการสื่อสารโพสต์คอนเทนต์โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และได้ลองดำเนินการแจ้งทางแพลตฟอร์มโซเชียล ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีต่อได้

4) ประเด็นอื่น ๆ:

  • การดำเนินงานในแต่ละประเด็น ควรต้องสร้างตัวเลือกในการดำเนินงาน อาจประกอบด้วยแนวทางหลักและแนวทางสำรอง เช่น อาจจะลองดำเนินการในบางพื้นที่ ซึ่งรัฐต้องมีการควบคุม ติดตาม และรายงานผลของนโยบายให้เป็นที่ประจักษ์ เพื่อลดผลกระทบ โดยมาตรการความพร้อมต้องเกิดก่อนออกมาตรการ
  • ควรมีการศึกษาวิจัยมิติทางสังคมที่มาช่วยยืนยันได้ว่า นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวประเทศไทย มาเพราะอยากดื่มเหล้า มาเล่นคาสิโน และมีงานวิจัยต่างประเทศที่ชี้ว่าการส่งเสริมการท่องเที่ยวในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นไม่ได้ส่งเสริมรายได้ทางเศรษฐานะของประชาชนได้จริง
  • การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ย่อมเพิ่มผลกระทบแน่นอน ส่วนใหญ่จะพบข้อมูลผลกระทบที่เป็นภัยทางถนนเป็นส่วนใหญ่และเห็นแนวโน้มชัดเจน ซึ่งอาจต้องพิจารณาถึงผลกระทบด้านอื่นร่วมด้วย เช่น เหตุทะเลาะวิวาทจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือดื่มจนเสียชีวิต การติดสุรา ข้อมูลความรุนแรง เป็นต้น ซึ่งยังไม่ค่อยมีข้อมูลด้านนี้ จึงไม่สามารถนำมาใช้ในการประกอบการพิจารณาได้อย่างรอบด้าน

5) บทสรุป:

        เนื่องจากการยกเลิกมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการให้ขายออนไลน์ ขยายเวลาขายในโรงแรม 24 ชั่วโมง หรือการขยายเวลาให้สถานบริการและสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการจะมีความเสี่ยงทำให้เกิดการเสียชีวิตประมาณ 600-800 ราย จากการดื่มขับ การเร่งรัดแก้ไขให้เสร็จเร็วเพื่อทันเทศกาลสงกรานต์สำหรับการท่องเที่ยวจึงอาจเป็นการละเลยและประมาทในการปกป้องความปลอดภัยของคนไทยตามหน้าที่ของรัฐที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ คณะทำงานด้านวิชาการฯ เสนอให้มีการศึกษาเพื่อพิจารณาความพร้อมต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ไม่ควรรีบดำเนินการเพราะไม่ได้เป็นภาวะฉุกเฉิน

Sweetspot: จุดลงตัวระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจสำหรับสถานประกอบการที่จำหน่ายแอลกอฮอล์
https://cas.or.th/content?id=30

หลังการระบาดของโควิด-19 การจัดการการบริโภคแอลกอฮอล์กลายเป็นประเด็นที่ท้าทาย ส่วนหนึ่งเกิดจากปริมาณการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อการบริโภคนอกสถานที่ (off-trade) ที่เพิ่มขึ้น เช่น ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านขายสุรา รัฐบาลจึงต้องหาวิธีลดอันตรายที่เกิดจากการบริโภคแอลกอฮอล์ ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงการฟื้นตัวของสถานประกอบการที่ให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน (on-trade) เช่น บาร์และร้านอาหาร

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนำไปสู่งานวิจัยเพื่อค้นหาแนวทางที่เรียกว่า “sweetspot” หรือจุดสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอันตรายจากแอลกอฮอล์โดยไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจสถานประกอบการ

แนวทางที่สองคือการควบคุมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์ แม้ว่าปัจจุบันจะยังมีการศึกษาที่เกี่ยวข้องไม่มาก แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการลดความสะดวกในการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านบริการจัดส่ง เช่น การเพิ่มระยะเวลาการขนส่ง การจำกัดปริมาณการซื้อในแต่ละครั้ง และการใช้มาตรการห้ามส่งเสริมการขายหรือลดราคาสำหรับการซื้อในปริมาณมาก จะช่วยป้องกันการบริโภคที่เกินพอดี และลดจำนวนผู้ที่เปลี่ยนจากการดื่มในสถานประกอบการไปสู่การดื่มที่บ้าน ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพและความรุนแรงในครอบครัว

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังระบุว่ามาตรการดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะช่วยดึงลูกค้ากลับมาใช้บริการในสถานที่ที่มีการควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์อย่างเหมาะสม

ความเสี่ยงที่แฝงอยู่ในแอปพลิเคชันติดตามการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
https://cas.or.th/content?id=19

ในปัจจุบันกลุ่มผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความสนใจในการดูแลตนเองมากขึ้น ส่งผลให้มีการพัฒนาแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์เพื่อให้ความรู้ ติดตามและประเมินความเสี่ยงของการดื่มส่วนหนึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนาโดยองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ ซึ่งจากการศึกษาก่อนหน้าพบว่าเครื่องมือเหล่านี้อาจมีข้อมูลที่บิดเบือนปะปนอยู่ส่งผลให้ผู้ใชแอปพลิเคชันมีการดื่มที่เพิ่มขึ้นหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ยากขึ้น จึงเกิดคําถามว่าเครื่องมือต่าง ๆ เหล่านั้นมีความแม่นยําและประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด

เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้นโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มุมมองจากนานาชาติ
https://cas.or.th/content?id=622
Tags : -

กำหนดการเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้นโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มุมมองจากนานาชาติ


Mr. Dag Rekve เจ้าหน้าที่อาวุโส องค์การอนามัยโลกสำนักงานใหญ่ (World Health Organization) นำเสนอข้อมูลความท้าทายในจัดการปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับนานาชาติและระดับประเทศ และทิศทางในอนาคต ชี้ว่าคนทั่วโลกกว่าร้อยละ 56 ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ พฤติกรรมการดื่มไม่ใช่เรื่องปกติของสังคม ร้อยละ 4.7 ของการเสียชีวิตเกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์หรือกว่า 2.6 ล้านคน ในจำนวนนี้กว่าครึ่งหนึ่งเสียชีวิตก่อนวัยหกสิบซึ่งนับเป็นความสูญเสียมหาศาล ทั้งที่ป้องกันได้ด้วยนโยบายแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมราคา การจำกัดการเข้าถึงทางกายภาพ และควบคุมกิจกรรมการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามยุทธศาสตร์โลกและแผนปฏิบัติการระดับโลก แต่อุปสรรคที่สำคัญในบางประเทศที่ทำให้ไม่สามารถออกนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มุ่งเน้นการปกป้องสุขภาพของประชาชนได้ คือ อิทธิพลของกลุ่มธุรกิจในกระบวนการตัดสินทางนโยบาย การปรับแก้กฎหมายใดๆ ต้องไม่เปิดช่องให้ธุรกิจเข้ามาแทรกแซง ซึ่งตอนนี้องค์การอนามัยโลกกำลังเตรียมออกแนวปฏิบัติที่ถูกต้องเพื่อป้องกันปัญหานี้

“นโยบายควบคุมเหล้าไทยจัดว่าก้าวหน้า การแก้กฎหมายครั้งนี้ควรมองไปอนาคตระยะยาวเอาสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตประชากรเป็นตัวตั้ง ข้อมูลภาระโรคปี 2019 ร้อยละ 7.7 ของการเสียชีวิตของประชากรไทยเกิดจากแอลกอฮอล์ หรือกว่า 38,073 ราย รัฐควรตัดสินใจว่าจะลดความสูญเสียนี้อย่างไรต่อไป การจัดการปัญหาแอลกอฮอล์ต้องร่วมกันหลายภาคส่วนและทำในทุกระดับ การลดหย่อนความเข้มข้นของกฎหมายควบคุมเหล้าเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวควรต้องทบทวนให้ดี นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทยไม่ได้มาเพื่อดื่มในประเทศสวยงามทั้งสถานที่ วัฒนธรรม และผู้คน”
 


Professor Thomas F. Babor จาก University of Connecticut School of Medicine สหรัฐอเมริกา นักวิชาการอาวุโสระดับโลกและหัวหน้าบรรณาธิการวารสารวิชาการชั้นนำด้านการเสพติดหลายสำนักและบรรณาธิการหนังสือ “สุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา” ให้ข้อมูลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลประโยชน์และต้นทุนผลกระทบของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจยามราตรีด้วยการส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากต่างประเทศ ที่เนเธอแลนด์พบผลจากขยายเวลาขายเพิ่ม 1 ชั่วโมงในช่วงกลางคืนทำให้มีการเรียกรถพยาบาลจากเหตุการณ์บาดเจ็บจากแอลกอฮอล์มากขึ้นถึง 34% ที่นอร์เวย์ขยายเวลาขายเพิ่ม 1-2 ชั่วโมงทำให้อุบัติการณ์การทำร้ายร่างกายเพิ่มขึ้น 25% การท่องเที่ยวสายปาร์ตี้ (party tourisms) นี้ผลประโยชน์อาจไม่ได้สูงเพราะนักท่องเที่ยวกลุ่มวัยรุ่นกำลังซื้อไม่สูงและอยู่มาเพียงระยะสั้น ในขณะที่สร้างต้นทุนทางสังคมที่เพิ่มขึ้นต่อห้องฉุกเฉินและสถานีตำรวจ และอาจมีความเสี่ยงปัญหายาเสพติดเพิ่มขึ้นด้วย หากไทยจะกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจควรเน้นไปที่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (wellness tourism) และวัฒนธรรมมากกว่า ซึ่งเป็นที่นิยม ไม่สร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดี และสร้างมูลค่าสูงกว่าจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่กำลังซื้อสูงกว่า

การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อปกป้องเยาวชน: บทเรียนจาก สวีเดน นอร์เวย์ ไอร์แลนด์สกอตแลนด์ และอังกฤษ
https://cas.or.th/content?id=625
Tags : -

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่
ผู้จัดการโครงการการศึกษา พัฒนา ขยายผลการเฝ้าระวังและจัดการความรู้ผลิตภัณฑ์เสี่ยงสุขภาพ

โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบการโฆษณาแบบเดิม โดยลดการโฆษณาในสื่อดั้งเดิมลง ลดการโฆษณาตรง (direct advertising) หรือโฆษณาผลิตภัณฑ์ (product advertising) แต่พบว่าใช้การโฆษณาและสื่อสารการตลาดในสื่อโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม ทำให้พบเห็นการโฆษณาและสื่อสารการตลาดในสื่อโซเชียลมีเดียมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาจากธุรกิจเครื่องดื่มโฆษณาเองหรือการใช้รีวิวเวอร์ Youtuber Influencer หรือดาว Tiktok ช่วยรีวิวสินค้า ดื่มแล้วบรรยายสรรพคุณ ชี้เป้าสินค้า ชวนเที่ยวผับบาร์ แนะนำสินค้าใหม่ หรือชักชวนให้ดื่มในรูปแบบที่แนบเนียนมากขึ้น เป็นธรรมชาติมากขึ้นและกลมกลืนไปกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งการโฆษณาและการสื่อสารการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่พบเห็นได้ทั่วไปและเข้าถึงได้ง่ายผ่านสื่อโซเชียลมีเดียนั้น ย่อมเข้าถึงเยาวชนได้โดยง่ายเช่นกัน การพบเห็นโฆษณาบ่อยครั้งและขาดการกลั่นกรองที่เหมาะสมอาจสร้างและสะสมทัศนคติเชิงบวกเกี่ยวกับการดื่มตั้งแต่อายุยังน้อยและอาจทำให้กลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่ตั้งแต่อายุยังน้อยเช่นกัน การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงยังคงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะป้องกันการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเยาวชน โดยผลวิจัยจำนวนมากยืนยันว่าการดื่มแอลกอฮอล์มีผลกระทบต่อสมองเด็กในวัยเรียน ยกตัวอย่างเช่น เยาวชนอายุ 11-14 ปี ที่พบเห็นโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 3 ชิ้นต่อวันผ่านสื่อต่างๆ รอบตัว พบว่า เยาวชนที่ได้รับอิทธิพลจากแบรนด์ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมกีฬาที่แบรนด์นั้นจัดขึ้นหรือได้รับรางวัลหรือได้รับของที่ระลึกหรือเข้าร่วมกิจกรรมดนตรี ซึ่งมีแนวโน้มที่จะดื่มเครื่องดื่มแบรนด์นั้นๆ มากกว่าเยาวชนที่ไม่ได้รับอิทธิพลของโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึงร้อยละ 77

การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีความมุ่งมั่นในการปกป้องสิทธิของเยาวชน รวมทั้งปกป้องเยาวชนจากการเป็นเหยื่อการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งนับว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีจุดยืนที่เข้มแข็งที่สุด คือ ประเทศนอร์เวย์ เนื่องด้วยนอร์เวย์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบเบ็ดเสร็จหรือ Total ban advertising กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศนอร์เวย์ระบุไว้ว่าจำเป็นต้องควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าปกติและจำเป็นต้องจำกัดปริมาณการดื่มของประชากรนอร์เวย์ให้น้อยที่สุด ดังนั้นจึงต้องมีการควบคุมการสื่อสารและการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทุกด้านโดยมีข้อยกเว้นเพียงเล็กน้อย ซึ่งผลจากการควบคุมการสื่อสารและการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในนอร์เวย์ตั้งแต่ปี 1975 พบว่าการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง การควบคุมการสื่อสารการโฆษณาและการตลาดในนอร์เวย์นั้นมีการควบคุมทุกสื่อ แม้กระทั่งสื่อโซเชียลมีเดียและสื่อดิจิตัล รวมไปถึงเกมส์ ดนตรีออนไลน์ และกิจกรรมการตลาดอื่นๆ เช่น การเป็นสปอนเซอร์กิจกรรมทุกประเภท กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของนอร์เวย์ในหัวข้อการควบคุมเว็บไซต์ ระบุว่าหากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำเป็นต้องเปิดเว็บไซต์เพื่อแสดงบริษัทของตน การเข้าถึงเว็บไซต์จำเป็นต้องใส่รหัสสำหรับพนักงานบริษัทและคู่ค้าเท่านั้น โดยไม่สามารถเปิดให้สาธารณชนรับชมได้ทั้งหมด กฎหมายนี้ไม่อนุญาตให้มีกิจกรรมกีฬาทุกประเภทที่สนับสนุนโดยธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมการตลาดสื่อสารการตลาดทุกประเภท โดยพรรคการเมืองต่างๆ ในนอร์เวย์ให้การสนับสนุนกฎหมายนี้และเห็นพ้องร่วมกันว่า ควรควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะในมาตราที่ 9-2 ตามกฎหมายนี้ห้ามการแสดงโฆษณาและการสื่อสารสินค้าอื่นๆ ที่ใช้ตราเครื่องหมายเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ในประเทศสวีเดน การควบคุมการสื่อสารการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นับว่ามีความเข้มข้นอีกประเทศหนึ่ง เนื่องจากประเทศสวีเดนมีกฎหมาย Marketing Practices Act ซึ่งควบคุมกิจกรรมกลวิธีและ กลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อปกป้องสิทธิของผู้รับสารไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการตลาดที่ไม่เป็นธรรม (unfair marketing) และปกป้องเยาวชนจากโฆษณาและการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยกฎหมายนี้ระบุว่าการสื่อสารโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อบางประเภท เช่น สื่อดิจิตัล หรือการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ การส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือ ถือว่าเป็นกิจกรรมการตลาดที่ต้องห้าม เนื่องจากถือว่าไม่เป็นธรรมต่อการรับสารของผู้รับสาร นอกจากนี้ยังกำหนดนิยามให้ “เยาวชน คือ บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นต้นไป” หากต้องการสื่อสารใดๆ หรือกิจกรรมใดๆ ที่มุ่งตรงไปที่เยาวชนอายุ 12-18 ปี จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองทั้งหมด ส่วนการโฆษณาในสื่อโทรทัศน์วิทยุภาพยนตร์นั้นถูกห้ามทั้งหมด อย่างไรก็ตาม สวีเดนกำลังประสบปัญหาการเลี่ยงโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อโซเชียลมีเดีย ถึงแม้ว่ามีการใช้มาตรการธุรกิจกำกับตนเอง (Self regulating Code) ในกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่พบว่ามาตรการนี้ไม่เพียงพอในการควบคุมการสื่อสารเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโซเชียลมีเดียได้ ทำให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เปลี่ยนวิธีการจากโฆษณาตรงที่ถูกห้าม เป็นการสื่อสารการตลาดใน Facebook และ Instagram เป็นส่วนใหญ่แทน

ไอร์แลนด์ และสกอตแลนด์ เป็นอีกสองประเทศที่กำลังแก้ไขปัญหาการดื่มด้วยการขับเคลื่อนนโยบายควบคุมการโฆษณาและการสื่อสารเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยประเทศไอร์แลนด์มีกฎหมาย Public Health Alcohol Act ที่ควบคุมทั้งเนื้อหาและปริมาณการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งในปี 2019 เป็นต้นมา ประเทศไอร์แลนด์ได้ห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถสาธารณะทุกประเภท ห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโรงภาพยนตร์และสถานที่ใกล้สถานศึกษา ห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกิจกรรมกีฬา ต่อมาในปี 2021 พบว่า การรับรู้โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงหลังจากมีการห้ามโฆษณานั้น และมีการยุติการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโทรทัศน์ในปี 2025 เพื่อปกป้องเยาวชนและลดการดื่มของนักดื่มหน้าใหม่ที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ด้านรัฐบาลสกอตแลนด์ได้กล่าวว่า โรคที่เกิดจากการดื่มและผลกระทบจากการดื่มเป็นหนึ่งในภัยสุขภาพที่ยิ่งใหญ่ของสกอตแลนด์ ทำให้สกอตแลนด์ต้องมีมาตรการหลายประการในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และหนึ่งในนั้นคือการควบคุมการโฆษณานอกเหนือจากการกำหนดราคาขายขั้นต่ำ โดยสกอตแลนด์ได้ยุติการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่สาธารณะ ห้ามกิจกรรมการตลาดเชิงอุปถัมภ์ และควบคุมการส่งเสริมการขายในร้านค้า เมื่อปลายปี 2022 รัฐสภาสกอตแลนด์ได้มีข้อปรึกษาในการยกระดับการควบคุมการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม ตัวอย่างเช่น ลดเนื้อหาเชิงบวกเกี่ยวกับการดื่มและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมกิจกรรมกีฬาและอีเวนท์ที่ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปเกี่ยวข้อง รวมไปถึงการห้ามจัดแสดงสินค้าและบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านค้าและยุติการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อออนไลน์

นอกจากนี้ผลสำรวจในประเทศอังกฤษ พบว่าพ่อแม่กังวลเรื่องโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้าถึงเยาวชนในทุกทางและตลอดทั้งวัน โดยพ่อแม่ 71% ต้องการให้รัฐบาลมีมาตรการลดปริมาณและความถี่โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อโทรทัศน์และควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อโซเชียลมีเดียด้วยเช่นกัน โดยพ่อแม่ 67% คิดว่าการเห็นโฆษณาบ่อยครั้งทำให้เยาวชนคิดว่าการดื่มเป็นเรื่องปกติ ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจที่พบว่าเยาวชนอังกฤษอายุ 10-15 ปี เห็นโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าผู้ใหญ่ เป็นผลให้มีโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภท Alcopop เพิ่มขึ้น 51%

การควบคุมการโฆษณา สื่อสารการตลาด กิจกรรมการตลาด เนื้อหาการสื่อสารและกลยุทธ์การตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นหนึ่งในมาตรการจำเป็นที่ WHO กำหนดนอกเหนือจากมาตรการด้านราคาและภาษี การสื่อสารและโฆษณาที่ WHO กังวลมากที่สุด คือ การสื่อสารข้ามพรมแดนและการโฆษณาแฝงผ่านรายการข้ามพรมแดนที่ควบคุมได้ยาก ในปัจจุบันมีผลวิจัยจำนวนมากมายที่ระบุสอดคล้องตรงกันว่าการพบเห็นโฆษณาบ่อยครั้งในเนื้อหาเชิงบวกต่อสินค้ามีผลต่อการสั่งสมทัศนคติ การจดจำสินค้าและพฤติกรรมในด้านการซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเยาวชนที่รู้ตัวว่าไม่สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เมื่อยังเป็นเยาวชน แต่มีความคาดหมายว่าจะซื้อและดื่มเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้นการควบคุมการโฆษณาและการสื่อสารของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมทั้งเนื้อหา กลยุทธ์การตลาด และการเลี่ยงโฆษณาในสื่อโซเชียลมีเดียจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกประเทศและรวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นเดียวกัน

อ้างอิงข้อมูล:
1) How alcohol companies target young people. Available from https://preventionactionalliance.org/resources/how-alcohol-companies-target-young-people/
2) Marketing Towards kids. Available from https://movendi.ngo/the-issues/alcohol-facts/alcohol-marketing-kids
3) Norway. Availble from https://eucam.info/regulations-on-alcohol-marketing/norway/
4) Prohibition of alcohol advertising in Norway.Available from https://www.nhomd.no/contentassets/2903e65252854beda11b61c0e8d41a2d/prohibition-of-alcohol-advertising-in-norway–0918.pdf
5) Compliance with regulations and codes of conduct at social media accounts of Swedish alcohol brands. Available from https://helda.helsinki.fi/server/api/core/bitstreams/5a5aee2c-cb6f-4511-8956-7c9695e134ee/content
6) Review alcohol marketing restrictions in seven European countries.Available from https://www.drugsandalcohol.ie/36444/1/review-of-alcohol-marketing-restrictions-in-seven-european-countries.pdf
7) Should Alcohol marketing be restricted? Scotland should follow other European countries in banning alcohol sports advertising? Available from https://eucam.info/2023/10/26/should-alcohol-marketing-be-restricted-scotland-should-follow-other-european-countries-in-banning-alcohol-sports-advertising/
8) Parents in the UK Want limit On alcohol advertising-survey. Available from https://eucam.info/2024/05/13/parents-in-the-uk-want-limits-on-alcohol-advertising-survey

นักวิชาการชี้ โฆษณาเหล้าเบียร์มีผลให้คนเริ่มดื่มหรือดื่มมากขึ้น
https://cas.or.th/content?id=628


นักวิชาการชี้ โฆษณาเหล้าเบียร์มีผลให้คนเริ่มดื่มหรือดื่มมากขึ้น แนะการควบคุมโฆษณาแบบเบ็ดเสร็จมีประสิทธิภาพมากที่สุด การห้ามโฆษณาเพียงบางส่วนหรือการควคุมตนเองภาคสมัครใจของธุรกิจสุราไม่สามารถป้องกันการสัมผัสโฆษณาในเยาวชนได้

รศ.ดร.วิทย์ วิชัยดิษฐ นักวิชาการ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) และอาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบัน เด็กและเยาวชนทั่วโลกได้รับสื่อโฆษณาและกิจกรรมการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องในระดับสูงและเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ อุตสาหกรรมแอลกอฮอล์มีการขยายฐานลูกค้ามุ่งเป้าไปกลุ่มเยาวชน และกลุ่มผู้หญิง โดยพยายามจะเน้นไปที่ความสำคัญของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการสร้างบุคลิกลักษณะความเป็นตัวตนหรืออัตลักษณ์ของเยาวชน เนื้อหาการโฆษณาจึงได้รับการออกแบบเพื่อนำเสนอความตลกขบขัน ความคิดที่น่าสนใจ ภาพลักษณ์ สำนวน ถ้อยคำและสิ่งอื่นๆ ที่ใช้ได้ในการพูดคุยสื่อสารระหว่างเพื่อน เพื่อให้เยาวชนใช้สร้างอัตลักษณ์ที่สอดคล้องกัน หลักฐานทางวิชาการในปัจจุบันบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า โฆษณาหรือกิจกรรมการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลต่อการดื่ม มีการสรุปข้อมูลจากการทดลองในนักศึกษา ที่ให้ดูโฆษณาแอลกอฮอล์เทียบกับโฆษณาอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งพบว่า การดูโฆษณาแอลกอฮอล์มีผลเพิ่มเจตนาและพฤติกรรมการดื่มชัดเจน การเก็บข้อมูลระยะยาวในประชาชนทั่วไปก็ชี้ว่า การโฆษณามีผลทบต้น ยิ่งได้รับโฆษณาซ้ำๆ กันมากเท่าไหร่ ยิ่งมีพฤติกรรมการดื่มมากขึ้นเท่านั้น ในเยาวชนและคนหนุ่มสาว การได้รับโฆษณามีผลต่อการเริ่มดื่มในผู้ที่ไม่เคยดื่ม และการดื่มหนักในผู้ที่ดื่มอยู่แล้ว

ดร.วิทย์ กล่าวเสริมอีกว่า ในตลาดที่กำลังเติบโต การพยายามเปลี่ยนให้ผู้ที่ไม่ดื่มกลายเป็นนักดื่ม ถือเป็นหน้าที่สำคัญของการตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลยทีเดียว และการตลาดแนวนี้จะพยายามสร้างการยอมรับการดื่มให้กลายเป็นบรรทัดฐานสังคมในหลายวาระโอกาส ถ้าอิงตามทฤษฎีกระบวนการตีความสาร จะเห็นว่า การได้รับสารจากการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซ้ำๆ สารที่ผู้นั้นรับรู้ว่าเชื่อมโยงกับตนเอง จะค่อย ๆ ซึมลึกลงไปสู่ความรู้สึกนึกคิดของผู้รับสาร ทำให้มันพร้อมที่จะโผล่ออกมาในความนึกคิดได้ง่ายขึ้น หากอยู่ในภาวะที่ต้องตัดสินใจ กระบวนการนี้ คือกระบวนการสร้างบรรทัดฐาน หรือทำให้คนมองว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีอยู่อย่างแพร่หลายเป็นเรื่องธรรมดา (normalization) และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตปกติ ซึ่งเป็นการรับรู้ที่น่ากลัว และมีผลต่อพฤติกรรมของประชาชนในอนาคต ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นช้า ๆ และค่อยๆ สะสมมาเรื่อย ๆ จนผู้ที่ได้รับสื่อโฆษณาแทบจะไม่รู้ตัวว่า โฆษณามีผลต่อความรู้สึกนึกคิดของตนเพียงไร

ในด้านการควบคุมโฆษณาการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร.ศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว นักวิชาการ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) และอาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ในยุคปัจจุบันที่มีการใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลาย ทำให้เป็นการยากที่จะควบคุมการเข้าถึงโฆษณาของกลุ่มเยาวชนได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากแพล็ตฟอร์มผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียเอง การทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางโซเชียลมีเดีย พบว่า การกดไลค์ กดแชร์ การคลิกดูโฆษณา หรือการเข้าชมเว็บไซต์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น มีความสัมพันธ์ชัดเจนกับการเพิ่มการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่น่าเป็นห่วง คือ การครอบครองสินค้า ของใช้ ของที่ระลึกที่มีตราสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นที่นิยมในประเทศไทยในช่วงหลายปีมานี้จากการเข้าเป็นผู้สนับสนุนของทีมกีฬาโดยเฉพาะกีฬาฟุตบอลของธุรกิจแอลกอฮอล์ การศึกษาในประชาชนในประเทศไทยเองก็พบว่า ประชาชนที่ใช้สินค้าที่มีตราผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์มีโอกาสดื่มหนักมากกว่าประชาชนที่ไม่ใช้สินค้ามีตราดังกล่าว นอกจากนี้ การศึกษาวิจัยของทีมวิจัยเราเองซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง 89,154 คน จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติก็พบความสัมพันธ์เช่นเดียวกันกับการศึกษาในต่างประเทศ คือ ผู้ที่พบเห็นการโฆษณาแอลกอฮอล์มีโอกาสเป็นผู้ดื่มเพิ่มขึ้น 16% และมีโอกาสเป็นผู้ดื่มหนักเพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้พบเห็นการโฆษณา และในกลุ่มคนที่เป็นนักดื่มอยู่แล้วการพบเห็นโฆษณาจะเพิ่มโอกาสในการดื่มหนักขึ้นถึง 51%

นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้มีข้อมูลทั้งจากของต่างประเทศและประเทศไทยเอง จึงย้ำให้เห็นได้ชัดว่า การทำการโฆษณาการตลาดซึ่งมีเทคนิคหลากหลายส่งผลต่อการกระตุ้นการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งสิ้น ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารแพร่ผ่านกันได้ทางออนไลน์ การควบคุมการเข้าถึงโฆษณาหรือกิจกรรมการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉพาะกลุ่มประชากร รวมทั้งการควบคุมเฉพาะเนื้อหานั้นทำได้ยาก หรือในทางปฏิบัติอาจจะทำไม่ได้เลย การศึกษาในต่างประเทศในเรื่องด่านตรวจอายุในแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างเช่น ยูทูป ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ก็ยังพบว่า เทคโนโลยีในการระบุอายุของผู้เข้าชมไร้ประสิทธิภาพ หากต้องการปกป้องเยาวชนจากการถูกจูงใจให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การยังคงการควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบครบวงจรหรือการควบคุมแบบเบ็ดเสร็จจะส่งผลต่อการปกป้องเยาวชนได้ดีกว่าการควบคุมบางส่วน หรือการควบคุมภาคสมัครใจโดยภาคธุรกิจควบคุมกันเอง

ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.)

Centre for Alcohol Studies (CAS)

สาขาวิชาเวชศาสตร์ครอบครัวและเวชศาสตร์ป้องกัน อาคารศรีเวชวัฒน์ ชั้น 11 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เลขที่ 15 ถนนกาญจนวนิช ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110

083-5775533

https://www.facebook.com/cas.org.th

เข้าชมแล้ว 0 ครั้ง
Copyright © 2025 CAS All rights reserved.