คำค้นหา : ประเมิน

คำนี้ค้นหามาแล้ว : 267 ครั้ง
แอลกอฮอล์เสี่ยงมะเร็ง: หมอสหรัฐเผยข้อมูลประชาชนและหนุนฉลากคำเตือน หมอไทยชี้ต้องปรับด่วน
https://cas.or.th/content?id=509

แอลกอฮอล์เสี่ยงมะเร็ง: หมอสหรัฐเผยข้อมูลประชาชนและหนุนฉลากคำเตือน หมอไทยชี้ต้องปรับด่วน

ข่าวใหญ่ในวงการแพทย์สหรัฐล่าสุดเลย คือการออกมาเรียกร้องของ Dr. Vivek Murthy ประธานองค์กรสาธารณสุขระดับสูงสุดของอเมริกา (US Surgeon General) ให้มีการติดฉลากคำเตือนบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ Dr.Vivek กล่าวถึงความสำคัญของปัญหานี้ว่า “แอลกอฮอล์คือปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อมะเร็ง แต่สังคมไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้สักเท่าไหร่ บางทีเราต้องปรับปรุงฉลากบนผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น” ซึ่งคำสัมภาษณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลวิจัยปัจจุบัน ที่พบว่า แอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็ง 7 ชนิด ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งช่องปาก มะเร็งคอหอย และมะเร็งกล่องเสียง

ที่คิดว่าเรื่องนี้น่าสนใจ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกา อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใหญ่มาก market cap ของตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมูลค่าประมาณปีละ 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 10 ล้านล้านบาท (มากกว่างบแผ่นดินของไทย 2.5 เท่า) เป็นรองแค่ตลาดในประเทศจีนที่มีมูลค่าประมาณ 320,000 ล้านเหรียญเท่านั้น แต่อย่าลืมว่า ประชากรของสหรัฐน้อยกว่าจีนหลายเท่า (340 ล้านคน vs 1,400 ล้านคน) การที่ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรสาธารณสุขที่มีอิทธิพลมากที่สุดองค์กรหนึ่ง พูดถึงเรื่องคำแนะนำที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการกำหนดกฎหมายใหม่ในเรื่องฉลากบนเครื่องดื่ม และจะส่งผลต่อยอดขายของอุตสาหกรรมที่ใหญ่มากอย่างแอลกอฮอล์ หากไม่ยืนอยู่บนหลักฐานที่แม่นยำ มีน้ำหนัก และยืนอยู่บนหลักประโยชน์ทางสุขภาพต่อประชาชนและประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา รับรองว่า คำแนะนำที่เป็น hard line suggestion เช่นนี้จะถูกอัดกลับมาอย่างหนักแน่นอน หากความเห็นนี้สามารถแปลงไปเป็นกฎหมายระดับประเทศได้ (ซึ่งมีโอกาสสูง) จะทำให้ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกมีบรรทัดฐานในการออกแบบกฎหมายเพื่อดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

▶️ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญชั้นนำในประเทศไทย
รศ.นพ.รังสรรค์ ภูรยานนทชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูแลประชากรใน 14 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่า “โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ มีภารกิจสำคัญทั้งในด้านการรักษาและป้องกันโรคในประชากรภาคใต้ การที่แอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อมะเร็ง ไม่เพียงเพิ่มภาระให้กับระบบสาธารณสุข แต่ยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมอีกด้วย ดังนั้น ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ผมขอสนับสนุนข้อเสนอของ Dr. Vivek Murthy ประธานองค์กรสาธารณสุขระดับสูงสุดของสหรัฐอเมริกา (US Surgeon General) ในการให้มีการติดฉลากคำเตือนบนผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์อย่างชัดเจนและทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการบริโภคแอลกอฮอล์อย่างแท้จริง มาตรการนี้จะช่วยส่งเสริมสุขภาพประชาชน ลดอัตราการเกิดโรคมะเร็ง และส่งเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโทษของแอลกอฮอล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์มีความมุ่งมั่นที่จะเผยแพร่ความรู้ทางการแพทย์และส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่ดีในสังคม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรงและสร้างชุมชนสุขภาพดีอย่างยั่งยืน”

นอกจากนั้นแล้ว ในฐานะอายุรแพทย์เวชบำบัดวิกฤต ที่ทำงานกับผู้ป่วยในสภาวะวิกฤตในห้อง ICU นพ.รังสรรค์ ยังให้ข้อคิดเห็นว่า “ผลกระทบของการดื่มสุราไม่เพียงแต่ทำให้เมา ขาดสติ ก่อการทะเลาะวิวาท หรืออุบัติเหตุในระยะสั้น แต่ยังส่งผลต่อระบบอวัยวะสำคัญ เช่น ตับและหัวใจในระยะยาว ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะวิกฤตได้ง่ายขึ้น”

ศ.นพ.วรวิทย์ จิตติถาวร หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า “ในฐานะศัลยแพทย์ เราพบผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการดื่มสุราในหลายมิติ โดยเฉพาะมะเร็งที่เกี่ยวข้อง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับ ซึ่งมักมาพบแพทย์ในระยะลุกลามจนยากต่อการรักษา ประชากรในภาคใต้รวมทั้งในภาคอื่นๆ ของประเทศไทยยังขาดความเข้าใจในความเสี่ยงนี้ “

รศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เน้นย้ำถึงบทบาทของการวิจัยและการปรับปรุงนโยบาย “ปัจจุบันฉลากคำเตือนบนผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ในประเทศไทยมีข้อจำกัดในด้านความชัดเจน ข้อความเตือนส่วนใหญ่ยังเน้นที่ผลกระทบต่อการขับขี่หรือการตั้งครรภ์ แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลชัดเจนเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านมะเร็ง การปรับปรุงฉลากให้ระบุข้อมูลเชิงลึก เช่น ‘การบริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมและลำคอ’ รวมถึงการใช้กราฟิกที่ชัดเจน จะช่วยเพิ่มการรับรู้ในหมู่ประชาชนได้อย่างมาก”

นพ.พลเทพ ยังให้ข้อแนะนำเพิ่มเติมว่า “การกำหนดให้ฉลากมีขนาดใหญ่ขึ้น และวางในตำแหน่งที่มองเห็นได้ชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์ เช่นเดียวกับที่ประเทศไอร์แลนด์เริ่มดำเนินการ จะเป็นแนวทางที่ประเทศไทยควรพิจารณาเพื่อลดผลกระทบของแอลกอฮอล์ต่อสุขภาพ”

▶️ไอร์แลนด์: ก้าวนำด้านฉลากคำเตือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ไอร์แลนด์ถือเป็นประเทศแรกในยุโรปที่บังคับใช้ฉลากคำเตือนสุขภาพเกี่ยวกับมะเร็งบนผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ ซึ่งระบุข้อความเตือนอย่างเด่นชัดว่า การดื่มแอลกอฮอล์เสี่ยงต่อโรคมะเร็ง กฎหมายดังกล่าวยังรวมถึงข้อกำหนดเพิ่มเติม เช่น การระบุปริมาณแอลกอฮอล์เป็นหน่วยมาตรฐาน เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถประเมินความเสี่ยงจากการบริโภคได้ง่ายขึ้น การบังคับให้ฉลากมีตำแหน่งที่มองเห็นได้ชัดเจน เช่น ขนาดข้อความใหญ่ขึ้นและมีการใช้ภาพประกอบ และการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว เช่น ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

▶️แนวทางที่ประเทศไทยสามารถนำไปปรับใช้
การออกมาเตือนจากประธานองค์กรสาธารณสุขระดับสูงของสหรัฐอเมริกา (US Surgeon General) และมาตรการที่ไอร์แลนด์ได้ดำเนินการ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า การปรับปรุงฉลากคำเตือนบนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถสร้างความตระหนักรู้และลดผลกระทบด้านสุขภาพได้อย่างมีนัยสำคัญ ประเทศไทยควรนำบทเรียนเหล่านี้มาปรับใช้ โดยการปรับปรุงฉลากคำเตือนให้ครอบคลุมความเสี่ยงด้านมะเร็งและผลกระทบต่อสุขภาพอื่น ๆ พร้อมใช้ข้อความและกราฟิกที่ชัดเจนในตำแหน่งที่มองเห็นได้ชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์

ในขณะเดียวกัน ควรสนับสนุนการวิจัยเชิงนโยบายเกี่ยวกับผลกระทบของแอลกอฮอล์ เพื่อให้ข้อมูลที่ชัดเจนในการสนับสนุนการออกกฎหมายใหม่ และจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับความเสี่ยงที่แท้จริงของการบริโภคแอลกอฮอล์

นี่คือช่วงเวลาสำคัญที่ทุกภาคส่วนในสังคมจะต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างสังคมที่มีสุขภาพดีขึ้น และลดผลกระทบในระยะยาวจากแอลกอฮอล์อย่างยั่งยืน

เอกสารอ้างอิง:
1) U.S. Department of Health and Human Services. Alcohol and cancer risk [Internet]. Washington, D.C.; [cited 2025 Jan 8]. Available from: https://www.hhs.gov/surgeongeneral/priorities/alcohol-cancer/index.html
2) CNN. Vivek Murthy discusses alcohol consumption and cancer risk [Internet]. Atlanta: CNN; 2025 Jan 3 [cited 2025 Jan 8]. Available from: https://edition.cnn.com/2025/01/03/health/video/vivek-murthy-alcohol-consumption-cancer-sitroom-digvid

เราทำเต็มที่แล้วหรือยัง เพื่อให้ได้กฎหมายที่ช่วยให้พวกเราทุกคนปลอดภัย!? ปืนที่อยู่ในมือคนไม่ดี และเหล้าที่พร้อมจะทำให้คนดีกลายเป็นคนไม่ดี
https://cas.or.th/content?id=511

เราทำเต็มที่แล้วหรือยังเพื่อให้ได้กฎหมายที่ช่วยให้พวกเราทุกคนปลอดภัย!? ทั้งจากคนที่ไม่ดี ปืนที่อยู่ในมือคนไม่ดี และเหล้าที่พร้อมจะทำให้คนดีกลายเป็นคนไม่ดี

จากข่าวที่ อส. ในอำเภอหาดใหญ่ กราดยิงลูกค้าร้านข้าวต้มเนื่องจากโมโหและทะเลาะกับเจ้าของร้าน จนทำให้ครอบครัวที่มาฉลองจัดงานวันเกิดให้ลูกเสียชีวิตไป 2 คน และเจ้าของร้านได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกยิงที่ศีรษะ ก่อนอื่นผมต้องขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวของผู้เสียชีวิตที่ควรจะเป็นวันที่มีความสุขวันหนึ่งของครอบครัว แต่กลายเป็นวันที่เศร้าที่สุด ครอบครัวของเจ้าของร้านข้าวต้มที่ทำมาหากินปกติแต่มาเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเช่นนี้ จนทำให้หัวหน้าครอบครัวบาดเจ็บสาหัสอาจจะพิการตลอดชีวิต ทั้งหมดนี้เกิดจากสามองค์ประกอบคือ คน ปืน และเหล้า ทั้งสามเป็นส่วนผสมที่มีโอกาสนำมาซึ่งความเลวร้าย แม้ว่าในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ทุกคนในเรื่องจะเป็นสุจริตชนก็ตาม

ปัญหาความรุนแรงในสังคม หลายครั้งที่มีเหล้าเป็นองค์ประกอบ ซึ่งที่น่าเศร้าใจคือ บางครั้งผู้รับเคราะห์นั้นไม่ได้เป็นคนดื่มด้วยซ้ำ อย่างเช่นกรณีนี้ สำหรับประเทศที่คำนึงถึงความปลอดภัยของคนในสังคมเขาอย่างเข้มงวด กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีหน้าที่ปกป้องคนทั้งที่ดื่มและไม่ดื่มเหล้าเบียร์ให้ปลอดภัยจากอันตรายของมัน อันตรายโดยตรงของมันคือทำให้คนมึนเมาขาดสติ ซึ่งคนมึนเมาขาดสติหยิบจับอะไรก็ดูอันตรายไปหมด ที่เห็นชัดคือจับพวงมาลัยรถกับจับปืน คนที่เมาแอ๋ไปแล้วแม้กระทั่งจับโทรศัพท์ยังอันตรายเลย การทำให้เคสนี้หายไปจากความทรงจำของคนไทยทุกคนเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้แล้ว แต่สำหรับอนาคตข้างหน้าเราจะสามารถลดโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้หากกฎหมายเกี่ยวข้องกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่หย่อนยาน และคุ้มครองพวกเราทุกคนจากสถานการณ์ที่จะนำไปสู่อันตรายจากเหล้าเบียร์ได้จริง ๆ

อย่างเช่นในกรณีที่เกิดขึ้นนี้หากเรามีกฎหมายทั้งฝั่งควบคุมอาวุธปืน และควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้มแข็ง เราจะลดโอกาสการเกิดเหตุการณ์นี้ไปได้หลายอย่างเลย ประการแรกสถานที่จำหน่ายถ้าทุกร้านที่จำหน่ายคนขายมีความรู้มีความเข้าใจความเสี่ยงจะประเมินคนซื้อได้ ในต่างประเทศเขามีการให้ใบอนุญาต (license) สำหรับการขายแบบนั่งดื่มในร้าน เข้าใจว่า เคสนี้คนขายในร้านไม่ต้องขออนุญาตสำหรับการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประการที่สอง: เวลาจำหน่าย เหตุการณ์เกิดเวลาใกล้ 22.00 น.แล้ว ซึ่งเป็นยามวิกาล โอกาสเกิดอาชญากรรมง่าย บางประเทศควบคุมหรือห้ามจำหน่ายในเวลาดังกล่าว เช่นในประเทศสิงคโปร์ ที่ห้ามจำหน่ายตั้งแต่ 22.30 น. การจำหน่ายสุราในช่วงเวลากลางคืน มีความเสี่ยงมากกว่าช่วงเวลากลางวัน กฎหมายที่เข้มงวดจึงมีการห้ามขายในช่วงเวลานี้ เพื่อลดโอกาสเกิดอาชญากรรม

นอกจากนั้นในบางประเทศมีกฎหมายเรียกว่า dram shop liability ซึ่งมีเนื้อหาใจความคือ ผู้ขายต้องประเมินได้ว่าผู้ซื้ออยู่ในอาการครองสติได้หรือไม่ หากไม่มีการประเมินหรือประเมินผิดพลาด และจำหน่ายสุราให้คนครองสติไม่ได้ หากผู้ซื้อไปก่อเหตุอะไรก็ตามที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าอาชญากรรมหรือเมาแล้วขับ ผู้ขายต้องมีส่วนรับผิดชอบทางแพ่งด้วย

ความมึนเมาทำให้คนเป็นปิศาจ เพราะขาดความยับยั้งชั่งใจ เราเรียกความยับยั้งชั่งใจนี้ในภาษาการแพทย์ว่า inhibitory process กล่าวคือถ้าคนปกติโกรธโมโห ในความคิดมีเรื่องร้าย ๆ ที่อยากจะทำ ความยับยั้งชั่งใจของคนปกติจะทำงานและบอกว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่เมื่อความโกรธเจอกับคนเมาระบบยั้งคิดนี้จะเสียไปแล้ว ความคิดอะไรที่ไม่ดีก็จะทำทันที กลายเป็นโศกนาฏกรรมอย่างที่เห็นในข่าว
ประชาชนคนไทยตัวเล็กตัวน้อยรับเคราะห์จากเหล้าเบียร์ ตายกันหลายหมื่นคนต่อปี ในขณะที่เจ้าสัวแสนล้านนอนหลับสบายใจ ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่าทำไมเหตุร้ายที่ระบุสาเหตุร่วมของการกระทำได้อย่างการผลิตและจำหน่ายเหล้าเบียร์ คนที่ได้ประโยชน์จากกำไรและการควบคุมตลาดแบบผูกขาด รวมทั้งผู้ผลิตเหล้าเบียร์รายย่อยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดภายใต้สโลแกน “soft power” แทบไม่เคยร่วมรับผิดชอบผลกระทบด้านลบต่อสังคมจากสิ่งที่ทำให้เขาร่ำรวยเลย

ในช่วงวาระนี้จะมีการผลักดันกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ด้วย กลุ่มทุนอุตสาหกรรมสุราพยายามเต็มที่ที่จะผลักดันกฎหมายหนึ่ง ที่จะให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ทำหน้าที่ควบคุมกลั่นกรองกฎหมายต่าง ๆ ในการควบคุมทั้งการผลิตและจำหน่ายแอลกอฮอล์ โดยความพยายามหนึ่งคือ ต้องการให้ตำแหน่งในคณะกรรมการนี้มีที่นั่งจากผู้ผลิตและจำหน่ายเหล้าเบียร์ด้วย หากกรรมการชุดนี้เกิดขึ้นจริงและมีคนจากอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วมด้วย กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยคงไปในทางหย่อนยานลงเรื่อย ๆ

อย่าให้เคสแบบนี้เกิดขึ้นอีกและทำได้แค่เพียงแสดงความเสียใจ เราเห็นกันชัดเจนว่า เหตุการณ์ที่โศกเศร้าเช่นนี้เกิดจากปัจจัยสามอย่างคือ คน ปืน และ เหล้าที่เข้าปาก เราทำเต็มที่แล้วหรือยังเพื่อให้ได้กฎหมายที่ช่วยให้พวกเราทุกคนปลอดภัย ทั้งจากคนไม่ดี ปืนที่อยู่ในมือคนไม่ดี และเหล้าที่พร้อมจะทำให้คนดีกลายเป็นคนไม่ดี และเมื่อคนไม่ดีถือปืน ย่อมมีอันตรายต่อสังคม เราต้องใช้สิทธิและเสียงของเราปกป้องอนาคตเรา ผมมีความรู้เรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมอาวุธปืนไม่มาก แต่ความรู้ที่ผมมีคือ เรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยกฎหมาย สิ่งที่ผมพอจะทำให้สังคมเราปลอดภัยมากขึ้นสำหรับคนไทยทุกคน คือทำให้กฎหมายควบคุมเหล้าเบียร์ของเราแข็งแรง ไม่ปล่อยให้โอกาสเกิดร้าย ๆ แบบนี้เกิดขึ้นได้ง่าย และหากเกิดขึ้นแล้วก็ต้องมีคนรับผิดชอบอย่างเต็มกำลัง

เรียบเรียงโดย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานรินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

รายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายจังหวัด พ.ศ. 2564
https://cas.or.th/content?id=33

การสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มสุราของประชากรเป็นโครงการสำรวจประเด็นการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สำคัญและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ข้อมูลที่ได้รับครอบคลุมตั้งแต่ความชุกของการบริโภค ผลกระทบต่าง ๆ และประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

โดยปกติแล้ว สำนักงานสถิติแห่งชาติจะจัดทำรายงานในระดับประเทศ ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการมองภาพรวมของสถานการณ์ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม คณะผู้จัดทำเล็งเห็นถึงศักยภาพของข้อมูลที่สามารถนำมาใช้รายงานในระดับจังหวัด เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนในระดับที่ลึกลงไป

ข้อมูลจากรายงานฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลที่ช่วยให้ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะในระดับจังหวัด รวมถึงประชาชน สามารถนำไปใช้อ้างอิงและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงประเมินผลกระทบต่าง ๆ และวางแผนดำเนินงานสำหรับการรณรงค์ในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สรุปข้อมูลวิชาการที่สำคัญ มาตรการควบคุมกิจกรรมการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนในยุคดิจิทัลและโลกเสรีทางการค้า
https://cas.or.th/content?id=35

ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) เป็นสถาบันวิชาการชั้นนำที่มุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้และชี้นำ นโยบายสาธารณะ ด้านการจัดการปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย โดยกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานให้สอดคล้องกับ แผนปฏิบัติการระดับโลก พ.ศ. 2565 - 2573 เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์โลกในการ ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบอันตราย

หนึ่งในแผนกิจกรรมสำคัญของ ศวส. คือ การสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ ซึ่งครอบคลุมโครงการวิจัยหลายประเภท ได้แก่

  • โครงการวิจัยแบบมุ่งเป้า ในประเด็นเกี่ยวกับมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตาม กรอบ SAFER และ แผนปฏิบัติการระดับชาติฯ ระยะที่ 2
  • โครงการวิจัยมุ่งเป้าเพื่อสนับสนุนการพัฒนากฎหมายลูกหรือมาตรการใหม่
  • โครงการเฝ้าระวังสถานการณ์
  • งานสังเคราะห์และประเมินผลนโยบาย
  • งานวิจัยทั่วไปและงานวิจัยเร่งด่วนตามสถานการณ์
  • งานพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ
  • โครงการวิจัยสำหรับวิทยานิพนธ์

การดำเนินงานทั้งหมดนี้มุ่งเน้นไปที่ การพัฒนาข้อเสนอทางวิชาการ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและผลักดัน นโยบายด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

งานวิจัยชี้ชัด ขยายเวลาเปิดผับ บาร์ สถานบันเทิง เพิ่มนักดื่ม แนะ!! รัฐควรพิจารณาต้นทุนที่เกิดขึ้นต่อสังคมอย่างจริงจัง
https://cas.or.th/content?id=101

สัมภาษณ์พิเศษ ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หัวหน้าทีมนักวิจัยโครงการการประเมินผลทางเศรษฐกิจ สุขภาพ และสังคม หากมีการอนุญาตให้ผู้ผลิตรายย่อยสามารถผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ หากมีการยกเลิกการกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหากมีการกำหนดพื้นที่พิเศษเพื่อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สำหรับการท่องเที่ยวยามค่ำคืน

ถาม-ตอบ ประเด็นร้อน!! จะเกิดอะไรขึ้น? หากมีการลดภาษีไวน์และสุราชุมชน กับ ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ
https://cas.or.th/content?id=162

 

ถาม-ตอบ ประเด็นร้อน!! จะเกิดอะไรขึ้น? หากมีการลดภาษีไวน์และสุราชุมชน

โดย ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
___________


Q: ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังมีแนวคิดในการลดอัตราภาษีไวน์และสุราชุมชน เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการชอปปิงและท่องเที่ยว อาจารย์คิดว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลอย่างไร และมีข้อห่วงใยต่อเรื่องนี้อย่างไร

A: ก่อนอื่นเราคงต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มิได้เป็นสินค้าปกติ แม้จะให้อรรถประโยชน์จากการบริโภคแต่ก็ส่งผลกระทบทางสุขภาพต่อผู้บริโภคและต้นทุนสังคมดังเช่นหน่วยงานสากลชี้ให้เห็นประเด็นดังกล่าว งานวิจัยที่ผ่านมาของไทยพบว่าต้นทุนจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2564 สูงถึงร้อยละ 1 ของ GDP ในขณะที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้การลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเป้าหมายหนึ่งของ SDG และทางการไทยได้ดำเนินการในแนวทางลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างยาวนาน ทั้งมาตรการภาษีและไม่ใช่ภาษี อย่างไรก็ตาม เราพบว่ามาตรการด้านภาษีเป็นมาตรการที่มีประสิทธิผล

ประเด็นความเชื่อมโยงระหว่างไวน์กับการดึงดูดนักท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่ยังไม่มีหลักฐานแน่นชัด การบริโภคไวน์ในประเทศมักจะจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้สูงและร้านอาหารต่างชาติที่มักดื่มไวน์ควบคู่กับอาหาร ราคาไวน์ที่ลดลงจะส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเพิ่มขึ้นได้อย่างไรยังเป็นคำถามที่น่าสงสัย ในขณะที่ การลดภาษีสรรพสามิต และภาษีนำเข้าด้วยย่อมส่งผลให้ราคาไวน์ลดลง ผู้บริโภคซึ่งรวมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมีแนวโน้มจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น

ในเชิงโครงสร้างของภาษี งานวิจัยที่ผ่านมาของคณะวิจัยที่ผมร่วมอยู่พบว่าไวน์นำเข้ามีค่าความยืดหยุ่นต่อราคาสูง การลดราคาไวน์จะส่งผลให้การบริโภคเพิ่มขึ้นมากกว่าโดยเปรียบเทียบกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น ในขณะที่ไวน์เป็นสินค้าที่เป็นคู่แข่งกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผู้ผลิตรายย่อย เช่น สุราขาว สุราสี และเบียร์รายย่อย มีความพยายามที่จะผลิต ซึ่งการลดภาษีไวน์น่าจะขัดแย้งกับข้ออ้างของรัฐบาลที่จะส่งเสริมผู้ผลิตรายย่อยและชุมชน

กรณีของสุราชุมชนที่ทางกระทรวงการคลัง จะดำเนินการลดภาษีสรรพสามิตอาจจะต้องคำนึงถึงโครงสร้างตลาด ซึ่งปัจจุบันสุราที่อนุญาตให้ชุมชนผลิตได้เป็นสุราขาว ถูกครอบงำตลาดโดยผู้ผลิตรายใหญ่ และเสียภาษีในอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่น ในขณะที่รายใหญ่มีความสามารถในการลดราคาเพื่อกีดกันผู้ผลิตรายย่อยหน้าใหม่เข้าสู่ตลาด หากทางการต้องการเพิ่มผู้ประกอบประการรายย่อยควรดำเนินมาตรการอื่น

โดยสรุป ผมมีความเห็นว่าภาครัฐยังควรดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอันไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพ และสังคม เครื่องมือทางภาษีเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การปรับปรุงโครงสร้างภาษีควรดำเนินการอย่างรอบคอบ โครงสร้างภาษีควรจะมีลักษณะที่ง่าย และมีเป้าหมายเพื่อลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยไม่บิดเบือนพฤติกรรมการบริโภค มิใช่เพียงการประเมินปริมาณภาษีจะจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นหรือลดลง

ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.)

Centre for Alcohol Studies (CAS)

สาขาวิชาระบาดวิทยา ชั้น 6 อาคารบริหารคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เลขที่ 15 ถนนกาญจนวนิช ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110

083-5775533

https://www.facebook.com/cas.org.th

เข้าชมแล้ว 0 ครั้ง
Copyright © 2025 CAS All rights reserved.