คำค้นหา : พฤติกรรม

คำนี้ค้นหามาแล้ว : 554 ครั้ง
ความเสี่ยงที่แฝงอยู่ในแอปพลิเคชันติดตามการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
https://cas.or.th/content?id=19

ในปัจจุบันกลุ่มผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความสนใจในการดูแลตนเองมากขึ้น ส่งผลให้มีการพัฒนาแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์เพื่อให้ความรู้ ติดตามและประเมินความเสี่ยงของการดื่มส่วนหนึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนาโดยองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ ซึ่งจากการศึกษาก่อนหน้าพบว่าเครื่องมือเหล่านี้อาจมีข้อมูลที่บิดเบือนปะปนอยู่ส่งผลให้ผู้ใชแอปพลิเคชันมีการดื่มที่เพิ่มขึ้นหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ยากขึ้น จึงเกิดคําถามว่าเครื่องมือต่าง ๆ เหล่านั้นมีความแม่นยําและประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด

แอลกอฮอล์เสี่ยงมะเร็ง: หมอสหรัฐเผยข้อมูลประชาชนและหนุนฉลากคำเตือน หมอไทยชี้ต้องปรับด่วน
https://cas.or.th/content?id=22

แอลกอฮอล์เสี่ยงมะเร็ง: หมอสหรัฐเผยข้อมูลประชาชนและหนุนฉลากคำเตือน หมอไทยชี้ต้องปรับด่วน

ข่าวใหญ่ในวงการแพทย์สหรัฐล่าสุดเลย คือการออกมาเรียกร้องของ Dr. Vivek Murthy ประธานองค์กรสาธารณสุขระดับสูงสุดของอเมริกา (US Surgeon General) ให้มีการติดฉลากคำเตือนบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ Dr.Vivek กล่าวถึงความสำคัญของปัญหานี้ว่า “แอลกอฮอล์คือปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อมะเร็ง แต่สังคมไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้สักเท่าไหร่ บางทีเราต้องปรับปรุงฉลากบนผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น” ซึ่งคำสัมภาษณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลวิจัยปัจจุบัน ที่พบว่า แอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็ง 7 ชนิด ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งช่องปาก มะเร็งคอหอย และมะเร็งกล่องเสียง

ที่คิดว่าเรื่องนี้น่าสนใจ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกา อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใหญ่มาก market cap ของตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมูลค่าประมาณปีละ 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 10 ล้านล้านบาท (มากกว่างบแผ่นดินของไทย 2.5 เท่า) เป็นรองแค่ตลาดในประเทศจีนที่มีมูลค่าประมาณ 320,000 ล้านเหรียญเท่านั้น แต่อย่าลืมว่า ประชากรของสหรัฐน้อยกว่าจีนหลายเท่า (340 ล้านคน vs 1,400 ล้านคน) การที่ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรสาธารณสุขที่มีอิทธิพลมากที่สุดองค์กรหนึ่ง พูดถึงเรื่องคำแนะนำที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการกำหนดกฎหมายใหม่ในเรื่องฉลากบนเครื่องดื่ม และจะส่งผลต่อยอดขายของอุตสาหกรรมที่ใหญ่มากอย่างแอลกอฮอล์ หากไม่ยืนอยู่บนหลักฐานที่แม่นยำ มีน้ำหนัก และยืนอยู่บนหลักประโยชน์ทางสุขภาพต่อประชาชนและประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา รับรองว่า คำแนะนำที่เป็น hard line suggestion เช่นนี้จะถูกอัดกลับมาอย่างหนักแน่นอน หากความเห็นนี้สามารถแปลงไปเป็นกฎหมายระดับประเทศได้ (ซึ่งมีโอกาสสูง) จะทำให้ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกมีบรรทัดฐานในการออกแบบกฎหมายเพื่อดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

▶️ ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญชั้นนำในประเทศไทย
รศ.นพ.รังสรรค์ ภูรยานนทชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูแลประชากรใน 14 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่า “โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ มีภารกิจสำคัญทั้งในด้านการรักษาและป้องกันโรคในประชากรภาคใต้ การที่แอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อมะเร็ง ไม่เพียงเพิ่มภาระให้กับระบบสาธารณสุข แต่ยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมอีกด้วย ดังนั้น ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ผมขอสนับสนุนข้อเสนอของ Dr. Vivek Murthy ประธานองค์กรสาธารณสุขระดับสูงสุดของสหรัฐอเมริกา (US Surgeon General) ในการให้มีการติดฉลากคำเตือนบนผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์อย่างชัดเจนและทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการบริโภคแอลกอฮอล์อย่างแท้จริง มาตรการนี้จะช่วยส่งเสริมสุขภาพประชาชน ลดอัตราการเกิดโรคมะเร็ง และส่งเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโทษของแอลกอฮอล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์มีความมุ่งมั่นที่จะเผยแพร่ความรู้ทางการแพทย์และส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่ดีในสังคม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรงและสร้างชุมชนสุขภาพดีอย่างยั่งยืน”

นอกจากนั้นแล้ว ในฐานะอายุรแพทย์เวชบำบัดวิกฤต ที่ทำงานกับผู้ป่วยในสภาวะวิกฤตในห้อง ICU นพ.รังสรรค์ ยังให้ข้อคิดเห็นว่า “ผลกระทบของการดื่มสุราไม่เพียงแต่ทำให้เมา ขาดสติ ก่อการทะเลาะวิวาท หรืออุบัติเหตุในระยะสั้น แต่ยังส่งผลต่อระบบอวัยวะสำคัญ เช่น ตับและหัวใจในระยะยาว ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะวิกฤตได้ง่ายขึ้น”

ศ.นพ.วรวิทย์ จิตติถาวร หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า “ในฐานะศัลยแพทย์ เราพบผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการดื่มสุราในหลายมิติ โดยเฉพาะมะเร็งที่เกี่ยวข้อง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับ ซึ่งมักมาพบแพทย์ในระยะลุกลามจนยากต่อการรักษา ประชากรในภาคใต้รวมทั้งในภาคอื่นๆ ของประเทศไทยยังขาดความเข้าใจในความเสี่ยงนี้ “

รศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เน้นย้ำถึงบทบาทของการวิจัยและการปรับปรุงนโยบาย “ปัจจุบันฉลากคำเตือนบนผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ในประเทศไทยมีข้อจำกัดในด้านความชัดเจน ข้อความเตือนส่วนใหญ่ยังเน้นที่ผลกระทบต่อการขับขี่หรือการตั้งครรภ์ แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลชัดเจนเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านมะเร็ง การปรับปรุงฉลากให้ระบุข้อมูลเชิงลึก เช่น ‘การบริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมและลำคอ’ รวมถึงการใช้กราฟิกที่ชัดเจน จะช่วยเพิ่มการรับรู้ในหมู่ประชาชนได้อย่างมาก”

นพ.พลเทพ ยังให้ข้อแนะนำเพิ่มเติมว่า “การกำหนดให้ฉลากมีขนาดใหญ่ขึ้น และวางในตำแหน่งที่มองเห็นได้ชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์ เช่นเดียวกับที่ประเทศไอร์แลนด์เริ่มดำเนินการ จะเป็นแนวทางที่ประเทศไทยควรพิจารณาเพื่อลดผลกระทบของแอลกอฮอล์ต่อสุขภาพ”

▶️ ไอร์แลนด์: ก้าวนำด้านฉลากคำเตือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ไอร์แลนด์ถือเป็นประเทศแรกในยุโรปที่บังคับใช้ฉลากคำเตือนสุขภาพเกี่ยวกับมะเร็งบนผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ ซึ่งระบุข้อความเตือนอย่างเด่นชัดว่า การดื่มแอลกอฮอล์เสี่ยงต่อโรคมะเร็ง กฎหมายดังกล่าวยังรวมถึงข้อกำหนดเพิ่มเติม เช่น การระบุปริมาณแอลกอฮอล์เป็นหน่วยมาตรฐาน เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถประเมินความเสี่ยงจากการบริโภคได้ง่ายขึ้น การบังคับให้ฉลากมีตำแหน่งที่มองเห็นได้ชัดเจน เช่น ขนาดข้อความใหญ่ขึ้นและมีการใช้ภาพประกอบ และการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว เช่น ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

▶️ แนวทางที่ประเทศไทยสามารถนำไปปรับใช้
การออกมาเตือนจากประธานองค์กรสาธารณสุขระดับสูงของสหรัฐอเมริกา (US Surgeon General) และมาตรการที่ไอร์แลนด์ได้ดำเนินการ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า การปรับปรุงฉลากคำเตือนบนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถสร้างความตระหนักรู้และลดผลกระทบด้านสุขภาพได้อย่างมีนัยสำคัญ ประเทศไทยควรนำบทเรียนเหล่านี้มาปรับใช้ โดยการปรับปรุงฉลากคำเตือนให้ครอบคลุมความเสี่ยงด้านมะเร็งและผลกระทบต่อสุขภาพอื่น ๆ พร้อมใช้ข้อความและกราฟิกที่ชัดเจนในตำแหน่งที่มองเห็นได้ชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์

ในขณะเดียวกัน ควรสนับสนุนการวิจัยเชิงนโยบายเกี่ยวกับผลกระทบของแอลกอฮอล์ เพื่อให้ข้อมูลที่ชัดเจนในการสนับสนุนการออกกฎหมายใหม่ และจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับความเสี่ยงที่แท้จริงของการบริโภคแอลกอฮอล์

นี่คือช่วงเวลาสำคัญที่ทุกภาคส่วนในสังคมจะต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างสังคมที่มีสุขภาพดีขึ้น และลดผลกระทบในระยะยาวจากแอลกอฮอล์อย่างยั่งยืน

เอกสารอ้างอิง:
1) U.S. Department of Health and Human Services. Alcohol and cancer risk [Internet]. Washington, D.C.; [cited 2025 Jan 8]. Available from: https://www.hhs.gov/surgeongeneral/priorities/alcohol-cancer/index.html
2) CNN. Vivek Murthy discusses alcohol consumption and cancer risk [Internet]. Atlanta: CNN; 2025 Jan 3 [cited 2025 Jan 8]. Available from: https://edition.cnn.com/2025/01/03/health/video/vivek-murthy-alcohol-consumption-cancer-sitroom-digvid

งานวิจัยชี้! ร้านขายเหล้าเยอะ วัยรุ่นดื่มมากขึ้น เด็กหญิงไทยเสี่ยงดื่มหนักเพิ่ม 23%
https://cas.or.th/content?id=28

งานวิจัยล่าสุดจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานวิจัยระบบสุขภาพ (สวรส.) ภายใต้การนำของหัวหน้าโครงการวิจัย รศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยข้อมูลชัดเจนว่า ความหนาแน่นของร้านขายสุราส่งผลให้พฤติกรรมการดื่มของวัยรุ่นไทยพุ่งสูงขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นหญิงที่มีแนวโน้มดื่มหนักเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 23

งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567 โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติและข้อมูลใบอนุญาตจากกรมสรรพสามิตระหว่างปี พ.ศ. 2550 ถึง 2566 ครอบคลุมกลุ่มวัยรุ่นไทยอายุ 15 ถึง 19 ปี จำนวนกว่า 10,000 คน

 

 

รศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร หัวหน้าทีมวิจัยให้ความคิดเห็นว่า “ความหนาแน่นของร้านขายเหล้าใกล้บ้านเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วัยรุ่นเข้าถึงแอลกอฮอล์ได้ง่าย ผลลัพธ์ คือ พฤติกรรมการดื่มฯ เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเด็กผู้หญิงที่มีการดื่มหนัก (binge drinking) เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 23 ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ สำหรับวัยรุ่นชายก็เพิ่มโอกาสในการดื่มฯ สุราในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาเช่นกัน ประมาณร้อยละ 9”

การเข้าถึงแอลกอฮอล์ตั้งแต่วัยเยาว์อาจนำไปสู่ผลกระทบทางสุขภาพในระยะยาว ดังนั้น “ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องพิจารณาควบคุมจำนวนร้านขายสุราอย่างเข้มงวด เพื่อลดการเข้าถึงแอลกอฮอล์ในกลุ่มเยาวชนและปกป้องอนาคตของพวกเขา” รศ.ดร.นพ.พลเทพ กล่าวเสริม

จากการศึกษาพบว่า จำนวนใบอนุญาตขายสุราต่อประชากร 1,000 คน ระหว่างปี พ.ศ. 2550 ถึง 2566 มีค่าเฉลี่ยประมาณ 9 ใบอนุญาตฯ ต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งความหนาแน่นระดับนี้ถือว่าสูงเกินธรรมดาเป็นอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ

รศ.ดร.นพ.พลเทพ กล่าวปิดท้ายว่า “ประเทศไทยควรมีการดำเนินการอย่างจริงจังในการลดจำนวนใบอนุญาตจำหน่าย ประเทศไทยควรมีการปรับและพัฒนาแนวทางและกระบวนการออกใบอนุญาตรายใหม่และต่อใบอนุญาตรายเก่าให้เข้มงวดมากขึ้น ควรมีการใช้ข้อมูลต่าง ๆ ในระดับพื้นที่ มาพิจารณาการต่อใบอนุญาต เช่น การละเมิดกฎระเบียบ การมีผลกระทบต่อชุมชน ความคิดเห็นของประชาชนหรือหน่วยงานต่าง ๆ ในชุมชน”


เสียงจากเยาวชน: การเข้าถึงแอลกอฮอล์ง่ายเกินไป เสี่ยงทำร้ายอนาคตเยาวชนไทย

นักศึกษาแพทย์ เขมจิรา เจ๊ะบา นักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนักกิจกรรมเยาวชน ให้ความเห็นว่า “ถึงแม้ว่าตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศได้ขีดเส้นไว้ชัดเจนว่า ผู้ที่สามารถซื้อและบริโภคแอลกอฮอล์ได้ต้องมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ แต่ความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ในกลุ่มเยาวชนรู้ดีว่า แม้แต่เยาวชนอายุ 15 ปี ก็สามารถเข้าถึงแอลกอฮอล์ได้ เส้นที่รัฐธรรมนูญขีดไว้เป็นเพียงอุดมคติ ในฐานะเยาวชนไทยผู้ซึ่งถูกเรียกว่าอนาคตของชาติ ดิฉันมีความกังวลใจเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับการเพิ่มตัวของร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ขัดกับความหนักแน่นของรัฐธรรมนูญ”นอกจากนั้นแล้ว นักศึกษาแพทย์ เขมจิรา ยังให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจว่า “เป็นที่ทราบกันดีว่า แอลกอฮอล์นั้นสามารถเป็นต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ และการทำร้ายร่างกาย ดิฉันเชื่อว่า เยาวชนทุกคนมีสิทธิในการอาศัยอยู่ในประเทศนี้อย่างปลอดภัย ปลอดภัยในที่นี้รวมทั้งสุขภาพกาย จิตและการอยู่อาศัย แต่ปัจจุบันสังคมและสื่อกำลังสนับสนุนภาพลักษณ์ของการดื่มแอลกอฮอล์ในทางบวก สร้างความสวยงามและความหรูหราในยาพิษ นั้นเปรียบเสมือนว่าสังคมกำลังค่อยๆ ละเมิดสิทธิของพวกเราที่ต้องการเติบโตขึ้นอย่างปลอดภัย” นักศึกษาแพทย์ เขมจิรา เจ๊ะบา ทิ้งท้ายไว้ว่า “ดิฉันขอเป็นตัวแทนของเยาวชนเพื่อส่งสาสน์ถึงผู้ใหญ่หรือรัฐบาลในการเรียกร้องสิทธิที่พวกเราควรได้รับความปลอดภัยที่เป็นพื้นฐาน สังคมที่ดีและสุขภาพที่มั่นคง”

 

งานวิจัยที่อ้างอิง:
Vichitkunakorn P, Assanangkornchai S, Thaikla K, Buya S, Rungruang S, Talib M, Duangpaen W, Bunyanukul W, Sittisombut M. Alcohol outlet density and adolescent drinking behaviors in Thailand, 2007-2017: A spatiotemporal mixed model analysis. PLoS One. 2024 Oct 31;19(10):e0308184. doi: 10.1371/journal.pone.0308184.

ทำไมจึงต้องมี “พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”
https://cas.or.th/content?id=106

 

ทำไมจึงต้องมี “พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”

ตอบ เพราะ “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช่สินค้าธรรมดา” เนื่องด้วยเป็นสารที่มีฤทธิ์อันตรายอยู่ ๓ ประการด้วยกัน คือ

๑) เป็นสารพิษ สารก่อมะเร็ง และสารที่ก่อให้เกิดความพิการทั้งทางร่างกายและสมองในเด็กที่อยู่ในครรภ์มารดา

๒) เป็นสารที่ออกฤทธิ์กดประสาททำให้ขาดสติสัมปชัญญะและความยับยั้งชั่งใจ จึงก่ออาชญากรรมและความรุนแรงต่างๆ ได้ง่าย

๓) เป็นสารเสพติดหรือยาเสพติดประเภทหนึ่งนั่นเอง ที่แม้ฤทธิ์เสพติดอาจไม่รุนแรงเท่าเฮโรอีนแต่เนื่องจากเป็นสารเสพติดที่ถูกกฎหมายจึงมีผู้ใช้จำนวนมากส่งผลให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางมากกว่าผลกระทบจากยาเสพติดทุกตัวรวมกันเป็นร้อยเป็นพันเท่า (คล้ายกับโรคอีโบลาเป็นเฮโรอีน​ กับโรคโควิด-19 เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์)

จากสถิติทางสาธารณสุขของไทยเรา พบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของการสูญเสียคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยอันดับต้นๆ และมีแนวโน้มที่จะคุกคามคุณภาพชีวิตของคนไทยรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อลดภาวะคุกคามนี้

จากการศึกษาทั่วโลกพบว่าการที่จะหยุดยั้งภัยคุกคามนี้ที่มีประสิทธิภาพสูง ต้องใช้สามมาตรการดังต่อไปนี้

๑) การจำกัดการเข้าถึงทางกายภาพ (สถานที่/ วันเวลา/ บุคคล)

๒) การจำกัดการเข้าถึงทางเศรษฐศาสตร์ (ภาษี)

๓) การจำกัดการเข้าถึงทางใจ คือ การไม่ให้มีการโฆษณาสื่อสารการตลาด

ซึ่งจากรายงานวิจัยพบว่าไม่อาจจะทำเพียงมาตรการใดมาตรการหนึ่งเพียงอย่างเดียวได้ แต่ต้องดำเนินการทุกมาตรการไปพร้อมๆ กัน จึงจะได้ผล แต่อย่างไรก็ดีมาตรการห้ามการโฆษณานี้สำคัญมากเพราะถ้าไม่ดำเนินการห้ามโฆษณาหรือปล่อยให้มีการสื่อสารการตลาดเชิญชวนเชิญเชื่อได้อิสระแล้ว มาตรการอื่นๆ แม้จะทำเต็มที่แล้วก็จะไม่ได้ผลสำเร็จ

จะเห็นได้ว่ามาตรการที่มีประสิทธิภาพเหล่านี้ จำเป็นต้องมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของคนส่วนหนึ่งบ้าง เพื่อประโยชน์ของมหาชนส่วนรวม จึงมีความจำเป็นต้องตราออกมาเป็นกฎหมายนี้ขึ้น​มา

สำหรับประเด็นที่ขัดรัฐธรรมนูญนั้น ไม่เป็นการขัดรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน เพราะ

๑) กฎหมายฉบับนี้ร่างโดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีศาสตราจารย์ทางกฎหมายมหาชน และกฎหมายอาญาระดับแนวหน้าของประเทศร่วมร่างอยู่ด้วย

๒) ร่างกฎหมายนี้ได้ผ่านการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนจากคณะกรรมการกฤษฎีกา

๓) ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดเจนว่ามิได้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

๔) สำหรับกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ได้จำกัดสิทธิของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ขาย และผู้สูบบุหรี่ไว้มากกว่าที่กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้จำกัดไว้อย่างมาก

จึงขอย้ำว่ากฎหมายนี้ (พรบ​.ควบคุม​เครื่อง​ดื่มแอลกอฮ​อล์)​ ไม่ได้ขัดกับรัฐธรรมนูญ​และหลักสิทธิมนุษยชน​สากลแต่อย่างใด​ ตรงกันข้าม​กลับตรงตามเจตนารมณ์หรือจิตวิญญาณ​ที่แท้จริงอย่างเคร่งครัด​ ดังนี้​

๑) ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และช่วยสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน โดยให้ตระหนักถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งกำหนดมาตรการในการป้องกันเด็กและเยาวชนมิให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๓๒ เป็นมาตรการหนึ่งในการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้กระทำได้ภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด ด้วยเหตุที่อิทธิพลจากการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีผลกระทบโดยตรงต่อพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชน แม้ว่าการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีผลกระทบต่อการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ประกอบอาชีพดังกล่าว ซึ่งหากฝ่าฝืน มีความผิดและมีโทษทางอาญาอันเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพ อยู่บางส่วนก็ตาม แต่ก็เป็นการจำกัดเสรีภาพภายในขอบเขตตามที่รัฐธรรมนูญ ซึ่งให้อำนาจกระทำได้เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นการจัดระเบียบการประกอบอาชีพ และเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่จำกัดเสรีภาพเพียงเท่าที่จำเป็น เนื่องจากมิได้ห้ามการโฆษณาโดยเด็ดขาด หากการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์ย่อมสามารถกระทำได้ มิได้กระทบกระเทือน ต่อสาระสำคัญแห่งเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพของบุคคลแต่อย่างใด โดยมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปกับบุคคลที่ขายสินค้าประเภทนั้น และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง อันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ

๒) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนประกอบด้วยข้อความ ๓๐ ข้อ โดยขอยกเพียงสามข้อแรก ก็สนับสนุนกฎหมายนี้อย่างชัดเจน ข้อ ๑ ทุกคนมีศักดิ์ศรี สิทธิ และเสรีภาพเท่าเทียมกัน และต้องปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้อง ซึ่งถ้าเรามองประชาชนคนไทยเป็นพี่น้องของเรา คงจะไม่โฆษณาเชิญชวนให้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นสารพิษ สารก่อมะเร็ง สารเสพติด มาดื่มอย่างแน่นอนใช่ไหม? ข้อ ๒ ทุกคนมีสิทธิ และเสรีภาพ อย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ชัดเจนแล้วว่ากฎหมายนี้มิได้มีการมุ่งหมายให้ใช้บังคับกับกรณีใดกรณีหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง คือมิได้มีการเลือกปฏิบัตินั่นเอง และ ข้อ ๓ ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิตอยู่ และมีความมั่นคง อันยิ่งชัดเจนว่าการโฆษณาส่งเสริมการขายสารทำลายสุขภาพและชีวิตแบบนี้ย่อมขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนอย่างชัดแจ้ง

ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.)

Centre for Alcohol Studies (CAS)

สาขาวิชาระบาดวิทยา ชั้น 6 อาคารบริหารคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เลขที่ 15 ถนนกาญจนวนิช ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110

083-5775533

https://www.facebook.com/cas.org.th

เข้าชมแล้ว 0 ครั้ง
Copyright © 2025 CAS All rights reserved.