ถาม-ตอบ ประเด็นร้อน จะเกิดอะไรขึ้น? หากมีการลดภาษีไวน์และสุราชุมชน
โดย รศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร
รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา
อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
______
Q1: การลดราคาหรือภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่อการดื่มของเยาวชนหรือผู้ใหญ่มากกว่ากัน?
A1: การลดราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลกระทบที่แตกต่างกันระหว่างเยาวชนและผู้ใหญ่ ตามการวิจัยของต่างประเทศในปี 2007 พบว่า การลดราคามีผลต่อเยาวชนมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากความยืดหยุ่นในการบริโภคของเยาวชน (-0.39) ต่ำกว่าในกลุ่มผู้ใหญ่ (-0.56) นั่นหมายความว่า เยาวชนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการบริโภคแอลกอฮอล์มากกว่าเมื่อราคาลดลง ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพและสังคม ดังนั้น หากรัฐบาลจะพิจารณาลดราคา ก็ควรคำนึงถึงผลกระทบเหล่านี้ต่อเยาวชนในสังคมไทยด้วยเช่นกัน
Q2: ราคาแอลกอฮอล์ลดลง ทำให้ชีวิตเยาวชนไทยเสี่ยงตายเพิ่ม?
A2: การศึกษาในสหรัฐอเมริกา พบว่าราคาไม่ใช่แค่ตัวเลข เนื่องจากราคาแอลกอฮอล์ที่สูงขึ้นช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายในเยาวชน ดังนั้นในทางกลับกัน การลดราคาอาจทำให้วัยรุ่นไทยเผชิญกับความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นได้
Q3: แอลกอฮอล์ถูกลง ทำให้ความเสี่ยงบนท้องถนนสูงขึ้น?
A3: แอลกอฮอล์ถูกลง ทำให้ความเสี่ยงต่อความปลอดภัยบนท้องถนนสูงขึ้นจริง เนื่องจากงานวิจัยในอเมริกาและแคนนาดา ชี้ให้เห็นว่า “การเพิ่มราคาแอลกอฮอล์ช่วยลดอุบัติเหตุทางถนน” ดังนั้น “การลดราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้เยาวชนไทยเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทางถนนมากขึ้น!”
Q4: แอลกอฮอล์ราคาถูกลง จะทำให้ปัญหาสุขภาพทางเพศเพิ่มขึ้น?
A4: แอลกอฮอล์ถูกลง จะทำให้ปัญหาสุขภาพทางเพศเพิ่มขึ้นจริง เนื่องจากงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาเผยว่า “การเพิ่มราคาแอลกอฮอล์ลดความเสี่ยงด้านสุขภาพเหล่านี้”ดังนั้น “การลดราคาอาจนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงและปัญหาสุขภาพเพิ่มเติมในหมู่เยาวชนไทย!”
Q5: ราคาแอลกอฮอล์ลดลง ทำให้ความปลอดภัยบนท้องถนนลดลง?
A5: การลดราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้การดื่มหนัก (heavy episodic drinking) เกิดง่ายขึ้น ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการขับรถในสภาพเมา ทำให้อุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าหากราคาแอลกอฮอล์ถูกลงอาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่สูงขึ้นบนท้องถนน!
Q6: การลดราคาแอลกอฮอล์จะมีผลอย่างไรต่อพฤติกรรมการดื่มและความปลอดภัยสุขภาพของเรา?
A6: ราคาที่ถูกลงอาจส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการดื่มหนักมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่เพิ่มความเสี่ยงทางถนนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคตับ และปัญหาสังคม เช่น ความรุนแรงในครอบครัวและการทะเลาะวิวาท
Q7: ลดราคาแอลกอฮอล์ ส่งผลต่อเยาวชนไทยอย่างไร?
A7: การลดราคาแอลกอฮอล์อาจทำให้เยาวชนเข้าถึงแอลกอฮอล์ได้ง่ายขึ้น นำไปสู่การเริ่มต้นในการดื่มในวัยที่น้อยลง และอาจส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองและการเรียนรู้ ซึ่งเป็นปัญหาที่สังคมต้องให้ความสำคัญ
ถาม-ตอบ ประเด็นร้อน!! จะเกิดอะไรขึ้น? หากมีการลดภาษีไวน์และสุราชุมชน
โดย ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
___________
Q: ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังมีแนวคิดในการลดอัตราภาษีไวน์และสุราชุมชน เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการชอปปิงและท่องเที่ยว อาจารย์คิดว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลอย่างไร และมีข้อห่วงใยต่อเรื่องนี้อย่างไร
A: ก่อนอื่นเราคงต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มิได้เป็นสินค้าปกติ แม้จะให้อรรถประโยชน์จากการบริโภคแต่ก็ส่งผลกระทบทางสุขภาพต่อผู้บริโภคและต้นทุนสังคมดังเช่นหน่วยงานสากลชี้ให้เห็นประเด็นดังกล่าว งานวิจัยที่ผ่านมาของไทยพบว่าต้นทุนจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2564 สูงถึงร้อยละ 1 ของ GDP ในขณะที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้การลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเป้าหมายหนึ่งของ SDG และทางการไทยได้ดำเนินการในแนวทางลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างยาวนาน ทั้งมาตรการภาษีและไม่ใช่ภาษี อย่างไรก็ตาม เราพบว่ามาตรการด้านภาษีเป็นมาตรการที่มีประสิทธิผล
ประเด็นความเชื่อมโยงระหว่างไวน์กับการดึงดูดนักท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่ยังไม่มีหลักฐานแน่นชัด การบริโภคไวน์ในประเทศมักจะจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้สูงและร้านอาหารต่างชาติที่มักดื่มไวน์ควบคู่กับอาหาร ราคาไวน์ที่ลดลงจะส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเพิ่มขึ้นได้อย่างไรยังเป็นคำถามที่น่าสงสัย ในขณะที่ การลดภาษีสรรพสามิต และภาษีนำเข้าด้วยย่อมส่งผลให้ราคาไวน์ลดลง ผู้บริโภคซึ่งรวมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมีแนวโน้มจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น
ในเชิงโครงสร้างของภาษี งานวิจัยที่ผ่านมาของคณะวิจัยที่ผมร่วมอยู่พบว่าไวน์นำเข้ามีค่าความยืดหยุ่นต่อราคาสูง การลดราคาไวน์จะส่งผลให้การบริโภคเพิ่มขึ้นมากกว่าโดยเปรียบเทียบกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น ในขณะที่ไวน์เป็นสินค้าที่เป็นคู่แข่งกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผู้ผลิตรายย่อย เช่น สุราขาว สุราสี และเบียร์รายย่อย มีความพยายามที่จะผลิต ซึ่งการลดภาษีไวน์น่าจะขัดแย้งกับข้ออ้างของรัฐบาลที่จะส่งเสริมผู้ผลิตรายย่อยและชุมชน
กรณีของสุราชุมชนที่ทางกระทรวงการคลัง จะดำเนินการลดภาษีสรรพสามิตอาจจะต้องคำนึงถึงโครงสร้างตลาด ซึ่งปัจจุบันสุราที่อนุญาตให้ชุมชนผลิตได้เป็นสุราขาว ถูกครอบงำตลาดโดยผู้ผลิตรายใหญ่ และเสียภาษีในอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่น ในขณะที่รายใหญ่มีความสามารถในการลดราคาเพื่อกีดกันผู้ผลิตรายย่อยหน้าใหม่เข้าสู่ตลาด หากทางการต้องการเพิ่มผู้ประกอบประการรายย่อยควรดำเนินมาตรการอื่น
โดยสรุป ผมมีความเห็นว่าภาครัฐยังควรดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอันไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพ และสังคม เครื่องมือทางภาษีเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การปรับปรุงโครงสร้างภาษีควรดำเนินการอย่างรอบคอบ โครงสร้างภาษีควรจะมีลักษณะที่ง่าย และมีเป้าหมายเพื่อลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยไม่บิดเบือนพฤติกรรมการบริโภค มิใช่เพียงการประเมินปริมาณภาษีจะจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นหรือลดลง
วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากล
_________
งด ลด ดื่มแอลกอฮอล์ = ยุติความรุนแรง
“ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากลด้วยการไม่ดื่มแอลกอฮอล์”
นอกจากแอลกอฮอล์จะจัดเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งปี 2030 ในเป้าหมายที่ 3 สุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่แล้วนั้น ยังนับเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายที่ 16 สันติภาพและความยุติธรรม โดยเฉพาะในเป้าหมายที่ 16.1 ลดการใช้ความรุนแรง และการเสียชีวิตจากความรุนแรงทุกรูปแบบ และทุกหนแห่งอีกด้วย ซึ่งสามารถยืนยันได้จากงานวิจัย ดังนี้
จากข้อมูลข้างต้น สะท้อนให้เห็นผลกระทบในมิติของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กและสตรีจากการดื่มแอลกอฮอล์ของบุคคลในครอบครัวและบุคคลรอบข้าง โดยแอลกอฮอล์มีความสัมพันธ์ที่ทำให้ผู้ดื่มขาดการยับยั่งชั่งใจ ควบคุมตัวเองไม่ได้ รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการทำร้ายร่างกายและการคุมคามทางเพศนั่นเอง ดังนั้น การงด ลด การดื่มแอลกอฮอล์ จึงเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดและยุติความเสี่ยงในการเกิดความรุนแรงต่อคนที่คุณรัก ครอบครัว และสังคม
________
เอกสารอ้างอิง
[1] อรทัย วลีวงศ์ และคณะ. (2558). รายงานโครงการศึกษาวิจัย การศึกษาผลกระทบของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อบุคคลรอบข้างผู้ดื่ม ในประเทศไทย (ระยะที่ 1). ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา.
[2] ธวัชชัย อภิเดชกุล และคณะ. (2561). ลักษณะและผลกระทบของภัยเหล้ามือสองต่อสมาชิกครอบครัวในชนเผ่าลาหู่. ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา.
[3] ไมซาเร๊าะ ขุนรักษ์ หมานระเด็น และคณะ. (2564). พื้นที่ชีวิตของผู้หญิง (Living Space of Women) : ประสบการณ์การเผชิญสถานการณ์ (ปัญหา) ของผู้หญิงกับบุคคลในครอบครัวที่ดื่มสุรา. ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา.
[4] พลเทพ วิจิตรคุณากร และคณะ. (2564). การสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อบุคคลรอบข้างผู้ดื่มในประเทศไทย. ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา.
[5] ไพฑูรย์ สอนทน และคณะ. (2566). ความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของสามีกับความรุนแรงจากคู่สมรสในผู้หญิงหลังคลอดในโรงพยาบาลของรัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข. ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา.
สาขาวิชาระบาดวิทยา อาคารบริหาร ชั้น 6 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 15 ถ.กาญจนวนิช ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
โทรศัพท์ : 083-5775533 (เวลาราชการ 08.30 - 16.30 น.)
Copyright © 2019 CAS All rights reserved.