News, ข่าวเด่น

ผลักดันคราฟท์เบียร์ถูกกฎหมาย เตะอ้อยเข้าปากช้าง หรือ กระจายอำนาจสู่ประชาชน

เมื่อสามปีก่อน หากใครติดตามข่าวสารในวงการแอลกอฮอล์ จะมีข่าวหนุ่มบัณฑิตนิติศาสตร์คนหนึ่ง ถูกตำรวจจับกุมด้วยข้อหาผลิตเบียร์ผิดกฎหมาย และวลีที่ชายหนุ่มคนนั้นสารภาพต่อตำรวจที่ว่า “ผมชอบเบียร์” และหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสแม้วันที่ถูกสรรพสามิตเข้าไปจับกุม ทำให้ข่าวนี้เป็นประเด็นโด่งดัง และได้สร้างกระแสให้ประชาชนรู้จักคำว่า คราฟท์เบียร์ รวมไปถึงการเรียกร้องสิทธิในการผลิตเบียร์เองของผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งนำโดย คุณเท่าพิภพเอง

ปัจจุบัน หนุ่มผลิตเบียร์คนดังกล่าวได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในนามพรรคอนาคตใหม่ และแน่นอนว่าเป้าหมายสำคัญของคุณเท่าพิภพในฐานะ สส. คือ การผลักดันกฎหมายที่เปิดกว้างให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถผลิตเบียร์เพื่อจำหน่ายได้  ในวันนี้เอง (21/09/2019) คุณเท่าพิภพได้ใช้บทบาทของ สส. ในการตั้งกระทู้ถามสด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่อง กฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 ว่าด้วยการอนุญาตให้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์ ก่อนที่เข้าสู่ประเด็นสำคัญของบทความนี้ ว่าทำไมประเทศไทย จึงไม่ควรเปิดกว้าง ให้มีผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์รายย่อย เรามาทำความรู้จักกับคำว่า คราฟท์เบียร์ ซึ่งเป็นสินค้าที่สำคัญที่สุดในตลาดของผู้ผลิตเบียร์รายย่อย

นิยามคราฟท์เบียร์

คำว่าคราฟท์เบียร์ แปลความหมายตรงตัวคือ เบียร์ที่รังสรรค์ด้วยความปราณีต พิถีพิถัน จะมีความแตกต่างชัดเจนกับเบียร์ทั่วไป คือ คราฟท์เบียร์คือเบียร์แฮนเมด ที่ผู้ผลิตอยากจะใส่อะไรก็แล้วแต่จินตนาการ ส่วนเบียร์ทั่วไปคืองานโรงงาน ที่ต้องใส่สารประกอบอื่น ๆ เพื่อลดต้นทุน และคุณภาพอาจไม่ปราณีตบรรจงเท่า คราฟท์เบียร์ ในต่างประเทศมีคำจำกัดความที่เฉพาะเจาะจงยิ่งกว่า เช่น

ในเยอรมันซึ่งคนนิยมบริโภคคราฟท์เบียร์มากที่สุด คราฟท์เบียร์ในแต่ละท้องที่จะมีสูตรการผลิตแตกต่างกัน แม้จะมีส่วนผสมหลักคือ มอลต์ ดอกฮ็อบ และ น้ำ แต่มักมีการใส่วัตถุดิบท้องถิ่นของพื้นที่นั้น ๆ ผสมลงไปด้วย เช่น ผลไม้ ดอกไม้ กาแฟ ช็อกโกแลต 

ในสหรัฐอเมริกาได้กำหนดกฎและนิยามของคราฟต์เบียร์อย่างเป็นทางการโดย Brewers Association ที่ระบุว่า

1) จะต้องเป็นโรงเบียร์ที่มีขนาดเล็ก

2) เจ้าของเป็นผู้ถือหุ้นมากกว่า 75% และ

3) ใช้วัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติทั้งหมด ห้ามผสมวัตถุดิบสังเคราะห์กลิ่นหรือรสเพื่อลดต้นทุน ถ้าจะผสมแล้วต้องใช้เพื่อให้มีกลิ่นและรสชาติดีขึ้นเท่านั้น จะเห็นได้ว่านิยามแตกต่างกันเล็กน้อย แต่เนื้อหาสาระคือ เป็นเบียร์ที่ผลิตโดยรายย่อย และ เน้นเรื่องรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์

การส่งเสริมให้มีผู้ผลิตและจำหน่ายรายย่อยไม่ได้แปลว่าดีในแง่เศรษฐศาสตร์

จากนิยามข้างต้น หากคิดเผินๆ ตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน การผลิตอะไรก็ตามที่เจ้าของเป็นรายย่อย ย่อมดีกว่าการให้ผู้ผลิตไม่กี่รายผูกขาดตลาดทั้งหมด และ หากมีการผลิตสินค้าที่หลากหลายมากเท่าไหร่ การแข่งขันยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น เมื่อการแข่งขันสูง ผลประโยชน์สูงสุดก็จะตกอยู่กับผู้บริโภค นั้นคือประชาชนนั้นเอง

 แต่ เมื่อเราพูดถึงสินค้าชนิดพิเศษอย่างแอลกอฮอล์ รายละเอียดยิบย่อยจะเพิ่มเข้ามาให้พิจารณาเพิ่มขึ้น เพราะการบริโภคเพิ่มขึ้นของแอลกอฮอล์ ไม่ได้ส่งผลให้มีเงินไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นเท่านั้น แต่มันทำให้สังคมมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วยจากการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแอลกอฮอล์ ดังนั้นสินค้าชนิดนี้จึงไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการเศรษศาสตร์พื้นฐานที่ยกมา การเพิ่มขึ้นของผู้ผลิต การเพิ่มขึ้นของการบริโภคสินค้าชนิดนี้ มีผลกระทบที่เลวร้ายตามมาด้วย!

จากการประเมินผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ของประเทศที่เป็นตัวอย่างของการกระจายอำนาจการผลิตเบียร์ที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งคือประเทศเยอรมัน ประเทศที่ได้รับฉายานามว่าเมืองเบียร์ เพราะทุกมุมเมืองมีโรงเบียร์ การดื่มเบียร์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวเยอรมัน และระบบการกระจายอำนาจแก่ผู้ผลิตรายเล็กที่ดี ทำให้ภายในประเทศมีโรงเบียร์มากถึง 1,300 แห่ง มีแบรนด์เบียร์มากถึง 5,000 แบรนด์ เฉพาะเบียร์อย่างเดียวมีการแบ่งประเภทไว้ถึง 40 ชนิด เรียกว่าเป็นประเทศที่มั่งคั่งสมบูรณ์ไปด้วยเบียร์ กระนั้นก็ตามรายได้ที่รัฐเรียกเก็บได้จากกิจการทั้งหลายนั้นมีมูลค่าเพียง 7.5% ของความสูญเสียทางเศรษรฐกิจที่เกิดขึ้นเท่านั้น (รัฐเก็บภาษีได้ 3,000 ล้านยูโร มูลค่าความสูญเสียต่อปีประมาณ 40,000 ล้านยูโร)  

แม้จะมีการตั้งสมมติฐานว่าการเพิ่มขึ้นของผู้ผลิดรายย่อยในประเทศไทยนั้น จะทำให้รายได้กระจายไปยังประชาชนมากขึ้น สมมติฐานนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยนั้นถูกเปลี่ยนแปลงโดยอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ไปมาก พฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มเบียร์เป็นผลจากการทำการตลาดอย่างหนักของผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศ จนทำให้เบียร์อุตสาหกรรมกระจายไปทั่วทุกมุมประเทศ ในราคาที่คนทุกชนชั้นเอื้อมถึงได้ การเข้ามาของผู้ผลิตคราฟท์เบียร์ ที่ต้องผลิตบนฐานต้นทุนที่มากกว่าอุตสาหกรรมเบียร์ ดังนั้นราคาจำหน่ายจึงต้องสูงกว่า การแข่งขันเรื่องราคาเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการรายเล็กเสียเปรียบอย่างมากในการประกอบกิจการในระยะยาว สุดท้ายหากต้องผลิตบนฐานต้นทุนที่แพงกว่าแล้ว ก็ยากที่จะเอาตัวรอดจากกลไกลทางเศรษฐกิจได้

อีกกิจกรรมหนึ่งที่กลุ่มรณรงค์เรื่องคราฟท์เบียร์พยายามส่งเสริมคือ การส่งเสริมให้ชาวบ้าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ทำสุราชุมชนทำแบรนด์ของตัวเองออกมาขาย ความจริงแล้วสิ่งนี้ไม่ใช่ไอเดียใหม่ ในยุคเริ่มต้นของโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ก็เคยมีการผลักดันสิ่งนี้ แต่จนถึงทุกวันนี้ แทบไม่มีแบรนด์ไหนที่อยู่รอดและพัฒนาตัวเองเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในตลาดแอลกอฮอล์ได้เลย

          เปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการรายย่อยผลิตและจำหน่าย คือ เตะอ้อยเข้าปากช้าง?

เมื่อครั้งที่คุณเท่าพิภพโดนสรรพสามิตเข้าจับกุมเมื่อสามปีก่อน และเป็นข่าวดังทั่วประเทศ หนึ่งในบุคคลสำคัญที่คุณเท่าพิภพได้มีโอกาสพบเจอกันคือทายาทของบริษัทอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ยักษ์ใหญ่รายหนึ่งของประเทศ ซึ่งการพบปะกันนั้นเกิดขึ้นเพราะคุณเท่าพิภพได้เปิดโปรเจคระดมทุนสร้างบาร์ของตัวเอง และทายาทท่านนี้ได้เข้าร่วมสนับสนุนการระดมทุนนี้ด้วย

เรื่องนี้ถ้าอ่านข่าวอย่างไม่สนใจก็คงคิดว่าเป็นการพบปะกันของคนที่น่าสนใจและทำธุรกิจแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่หากจะมองลึกลงไป จะมีอีกหนึ่งความหมายที่สะท้อนออกมาว่า เรื่องทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแอลกอฮอล์นั้น อยู่ในความสนใจของนายทุนใหญ่ของวงการทั้งนั้น

ความพยายามผลักดันส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้มีโอกาสทำฝันให้เป็นจริง ด้วยการปรุงรสเบียร์ของตัวเองให้ลูกค้าที่มีรสนิยมได้ดื่มด่ำกับเบียร์ที่เต็มไปด้วยความใส่ใจ หากได้ฟังประโยคดังกล่าวคงเคลิบเคลิ้ม กับกลิ่นอายของพลังการสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ และรู้สึกดีที่จะได้ดึงแบ่งอำนาจจากกลุ่มทุนผูกขาดในอุตสาหกรรม กระจายความมั่งคั่งให้กับประชาชนมากที่สุด แต่ในความเป็นจริงอาจไม่ใช่เช่นนั้น เรื่องราวอาจตาลปัตรเป็นว่า เมื่อประตูบานเล็กของการผลิตเบียร์ปรุงแต่งรสได้ถูกเปิดออก ยักษ์ใหญ่ทั้งหลายในวงการก็แยกร่าง ออกลูกออกหลาน และวิ่งเข้าประตูเล็กๆ ที่เปิดไว้ จนไม่มีพื้นที่หลังประตูเหลือให้คนตัวเล็กๆ จริงๆ ได้เข้าไปทำมาหากินอีกต่อไป

 เรื่องที่กำลังนำเสนอไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น นายทุนในอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ ก็เหมือนกับนายทุนในทุกวงการที่ศักยภาพและความสามารถของกลุ่มทุนที่พวกเขามีนั้นมันมากมายมหาศาล

ตัวอย่างเช่น บริษัท Anheuser-Busch InBev” (AB InBev) บริษัทผู้ผลิตเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มี  แบรนด์ลูกในบริษัทแม่ที่ขายเบียร์อย่างเดียวร่วม 500 แบรนด์ แม้ว่ารายได้หลักของบริษัทจะมาจากการขายเบียร์ปกติ แต่เมื่อตลาดคราฟท์เบียร์เติบโตขึ้น AB InBev ก็ไม่รอช้าที่จะกระโดดเข้าตลาดด้วย และ ตั้งแต่ปี 2011 บริษัทเปิดตัวแบรนด์ที่เจาะกลุ่มลูกค้าคราฟท์เบียร์ในระยะเวลาสั้นๆ มากถึง 35 แบรนด์ เข้าไปทำการตลาดใน 30 ประเทศทั่วโลก ซึ่งหลังลงทุนไปแล้วก็ดูเหมือนว่าผลตอบแทนมีแนวโน้มที่จะขยายมากขึ้นด้วย  

นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การเปิดช่องให้มีการผลิตและจำหน่ายเบียร์ของผู้ประกอบการรายย่อย ไม่ได้ทำให้เกิดการกระจายอำนาจโดยสัมบูรณ์ ในทางตรงกันข้ามอาจจะเป็นช่องทางที่ทำให้ยักษ์ใหญ่ในวงการ ยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก

          รายย่อยผลิตกันมาก ควบคุมยากขึ้น

 อีกหนึ่งประเด็นที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กันคือการควบคุมผลกระทบจากการปล่อยให้เกิดผู้ผลิตรายใหม่มากขึ้น ผมเองเพิ่งกลับจากการเดินทางจากประเทศติมอร์เลสเต ในภารกิจเรื่องการออกแบบนโยบายการควบคุมแอลกอฮอล์ให้กระทรวงสาธารณสุข ผมกำลังจินตนาการว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในติมอร์เลสเตคงคล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน เนื่องจากประเทศติมอร์เลสเตเป็นประเทศเกิดใหม่ การผลิตสินค้าหลายอย่างในประเทศจึงยังไม่มีลักษณะเป็นอุตสาหกรรม รวมไปถึงแอลกอฮอล์ด้วย เนื่องจากประเทศติมอร์เลสเตมีวัฒนธรรมการดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ที่ประชาชนดื่มมากกว่าร้อย 70 มาจากการหมักเหล้ากันเองภายในชุมชน โดยใช้วัตถุดิบคือตาล สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐไม่สามารถควบคุมการผลิตได้เลย น้ำตาลเมาที่วางขายในตลาดไม่มีการตรวจสอบดีกรีของแอลกอฮอล์ เราทำการสุ่มเอาน้ำตาลเมาที่วางขายมาจุดไฟ ปรากฎว่าไฟติดสบาย ระดับแอลกอฮอล์ที่สูงขนาดนี้ทำให้คนกินหนัก ๆ อาจเสียชีวิตได้เลย คำถามสำคัญที่เกดขึ้น ณ ตอนนั้นคือ ทำไมรัฐดูแลไม่ได้ คำตอบที่ได้คือ เพราะรัฐไม่มีกำลังพอที่จะดูแล ไม่มีกำลังคนที่จะปฏิบัติงาน ไม่มีระบบติดตาม ดังนั้นความเสี่ยงของการดื่มจึงส่งไปถึงผู้บริโภคเรียกได้ว่าเต็มเม็ดเต็มหน่วย (ปกติรัฐที่ดีจะคัดกรองความเสี่ยงให้ประชาชนได้รับน้อยที่สุด)

สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อกลไกลการบังคับใช้กฎหมายในประเทศนั้น ๆ ไม่แข็งแรง

คำถามสำคัญที่จะถามสำหรับการเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่เปิดกว้างสำหรับผู้ผลิตรายย่อยทั้งหลายได้ผลิตและจัดจำหน่ายคือ ประเทศไทยนั้นมีกลไกลควบคุมและป้องกันผลกระทบที่จะตามมาจากการบริโภคที่มากขึ้นหรือไม่

กับสถานการณ์ความเป็นจริงในปัจจุบันที่ว่าเรามีจุดจำหน่ายแอลกอฮอล์มากถึง 6 แสนจุด ทั่วประเทศ แต่มีเพียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยเรื่องการ จำกัดเวลาในการจำหน่าย จำกัดสถานที่ในการจำหน่าย และ จำกัดอายุของผู้ซื้ออย่างเคร่งครัด

เรามีนักดื่มอยู่แล้วประมาณ 30% ของประชากรทั้งประเทศ แต่มีด่านจราจรตรวจแอลกอฮอล์ไม่สมส่วนกับปริมาณผู้ดื่ม จนนำมาซึ่งการเป็นถนนที่อันตรายที่สุดในโลก และการเมาแล้วขับยังคงเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน

หากกลุ่มนักรณรงค์เรื่องคราฟท์เบียร์ผลักดันให้ผลิตรายย่อยสามารถผลิตได้ง่ายขึ้นจริง จะมีกลไกลรัฐแบบใดบ้างที่จะติดตามความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดื่ม และผู้ผลิตรายย่อยที่เข้ามาในตลาดนั้นพร้อมจะจ่ายชดเชยความเสียหายทางเศรษฐกิจที่แท้จริงในรูปแบบภาษีกลับสู่รัฐหรือไม่

ในมุมมองของนักวิชาการด้านการควบคุมแอลกอฮอล์ แน่นอนว่าเป้าหมายสูงสุดของการทำงานคือการลดโอกาสที่สังคมจะเกิดความสูญเสียจากเรื่องแอลกอฮอล์ จากการรวบรวมข้อมูลทางวิชาการจากทั่วโลก เราพบว่ากลุ่มทุนรายใหญ่นั้นคือความเสี่ยงสูงสุดที่จะก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยของการบริโภคแอลกอฮอล์ แต่กระนั้นก็ตาม เรายังไม่เคยค้นพบว่ามีการตั้งสมมติฐานเรื่องการเพิ่มผู้ผลิตเข้ามาในตลาดแล้วโอกาสที่ความเสี่ยงจากการดื่มที่ไม่ปลอดภัยจะลดลงเลย

และดูเหมือนว่าสมมติฐานจะมีแนวโน้มไปในทางที่ว่า ยิ่งมีผู้ผลิตมากรายขึ้นเท่าไหร่ การควบคุมความสูญเสียจะควบคุมยากขึ้น

ถึงแม้ผมจะเห็นด้วยกับเรื่องหลักการกระจายอำนาจ ที่จะทำให้คนทุกคนมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น แต่เรื่องกระจายอำนาจให้คนผลิตเหล้าเบียร์ขอไม่เห็นด้วยสักเรื่อง ถ้าอยากกระจายอำนาจเรื่องนี้ ลองคิดกลับกันว่า กระจายอำนาจให้ประชาชนได้กวดขันคนที่ทำผิดกฎหมายเรื่องเหล้าเบียร์ได้มากขึ้น อันนี้น่าจะลดความเสียหายให้สังคมนะครับ และผมสนับสนุนการกระจายอำนาจแบบนี้แน่นอนครับ

Privacy Settings
We use cookies to enhance your experience while using our website. If you are using our Services via a browser you can restrict, block or remove cookies through your web browser settings. We also use content and scripts from third parties that may use tracking technologies. You can selectively provide your consent below to allow such third party embeds. For complete information about the cookies we use, data we collect and how we process them, please check our Privacy Policy
Youtube
Consent to display content from - Youtube
Vimeo
Consent to display content from - Vimeo
Google Maps
Consent to display content from - Google
Spotify
Consent to display content from - Spotify
Sound Cloud
Consent to display content from - Sound

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors