โดยทั่วไป นักดื่มมักจะค่อยๆดื่ม ดื่มไปคุยกับเพื่อนไปกินกับแกล้มและเติมเบียร์ไป ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ร่างกายได้ค่อยๆทำลายและขับแอลกอฮอล์ออกจากกระแสเลือดซึ่งนั่นจะทำให้แอลกอฮอล์ไม่คั่งอยู่ในร่างกายของผู้ที่ดื่มมากนัก แต่ในกรณีแข่งดื่มเบียร์เป็นเหยือกๆในเวลาจำกัดนี้ จะมีลักษณะเหมือนเทแอลกอฮอล์พรวดเข้าไปในกระแสเลือดโดยไม่เว้นช่วงเวลาให้ร่างกายขับแอลกอฮอล์ออก จึงเกิดภาวะที่เรียกว่าแอลกอฮอล์เป็นพิษ (alcohol intoxication) ต่อร่างกาย และปริมาณน้ำในร่างกายที่เพิ่มขึ้นขึ้นมามากก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะ water intoxication ซึ่งส่งผลให้เกิดสมองบวมและระดับเกลือแร่ในเลือดเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วซึ่งเป็นอันตรายได้เช่นกัน
ในส่วนของพิษจากแอลกอฮอล์ หากดูตารางระดับของแอลกอฮอล์ในเลือดที่ส่งผลต่ออาการหรือความผิดปกติต่างๆจะพบว่า ที่ระดับแอลกอฮอล์ขนาดสูงอาจทำให้ผู้ดื่มหมดสติ ชีพจรช้าลง การหายใจแย่ลง จนถึงหยุดหายใจได้ ทั้งนี้เนื่องจากแอลกอฮอล์ออกฤทธิ์เป็นสารกดประสาท และในขนาดที่สูงระดับนี้ มันสามารถกดสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการหายใจและการรู้สึกตัวของผู้ที่ดื่มได้ ดังนั้น การดื่มเบียร์ เหล้า หรือไวน์ปริมาณมากในระยะเวลาอันสั้นจึงอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
โดย นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ
หลังจากผลการชันสูตรศพของพริตตี้สาวที่เสียชีวิตหลังจากรับงานเอนเตอร์เทนในปาร์ตี้แห่งหนึ่ง ซึ่งพบว่าพริตตี้รายดังกล่าวเสียชีวิตจากภาวะแอลกอฮอล์เกินขนาด โดยพบว่ามีค่าแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึง 418 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ เราเพิ่งได้รับข่าวสลดใจเรื่องวิศวกรหนุ่มรายหนึ่งที่ไปร่วมงานฉลอง และมีการดื่มเบียร์แข่งขันกันบนเวที กติกาคือใครซดเบียร์หมดเหยือกก่อนคนนั้นชนะ น่าเศร้ามากครับที่กิจกรรมที่หวังจะสร้างความสนุกกลับกลายเป็นกิจกรรมที่คร่าชีวิตคน พรากเอาชีวิตหนุ่มอนาคตไกลไปจากคนรัก
หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ก็มีการเผยแพร่ความรู้ ประชาสัมพันธ์ทั้งจากแพทย์ จากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหลายท่าน จากภัยอันตรายของการรับแอลกอฮอล์เข้าร่างกายปริมาณมากในครั้งเดียว ว่าสามารถทำให้เสียชีวิตได้ เหตุการณ์เพิ่งผ่านไปข่าวยังไม่ทันซา ก็เกิดการเสียชีวิตจากเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง
แอลกอฮอล์เป็นสินค้าไม่ปกติ ต้องควบคุม
ข้อความที่อยากจะเตือนสตินักท่องปาร์ตี้ วัยรุ่นหนุ่มสาว และนักดื่มทั้งหลายอีกครั้งคือ แอลกอฮอล์ไม่เคยเป็นสินค้าปกติ ที่ไม่ต้องการการควบคุมการบริโภค ไม่ว่าจะพิจารณาจากบรรทัดฐานของสังคมใดก็ตาม ในทางวิทยาศาสตร์มีข้อสนับสนุนทางทฤษฎีมากมายว่าแอลกอฮอล์เป็นพิษต่อร่างกายทั้งในระยะสั้น และ ระยะยาว พฤตกิรรมการดื่มหนักในเวลาสั้น ๆ แบบที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตในกรณีพริตตี้หรือหนุ่มวิศวะ มีศัพท์เฉพาะที่เรียกว่า Binge drinking ภาวะดังกล่าวนี้นิยามคือการดื่มที่มากกว่า 5 ดื่มมาตรฐานในเพศชาย และ 4 ดื่มมาตรฐานเพศหญิง ภายในเวลาน้อยกว่า 2 ชั่วโมง (1 หน่วยเท่ากับ เบียร์ 1 กระป๋อง ไวน์ 1 แก้ว เหล้า 1 แก้ว)
การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากในช่วงเวลาสั้น ๆ จะยิ่งเพิ่มอันตรายมากขึ้น ในกรณีดังต่อไปนี้
เมื่อแอลกอฮอล์เข้าไปในเลือดมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะแสดงอาการเป็นพิษออกมาตามระดับแอลกอฮอล์ที่อยู่ในเลือด โดยเริ่มตั้งแต่ การเมา เรื่อยไปจนถึงอาการคลื่นไส้อาเจียน อารมณ์เปลี่ยนแปลง หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดปกติ ไปจนถึงการเสียชีวิต
แอลกอฮอล์จะมือหนึ่งมือสองก็ล้วนอันตราย และสร้างหายนะต่อสังคม
เนื่องจากผมเคยถูกเชิญเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องยาเสพติดหลายเวที ซึ่งผู้ฟังมักเป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำงานด้านยาเสพติดมานาน แต่มีคำถามหนึ่งที่ผมถามแล้วไม่ค่อยได้รับคำตอบที่ถูกต้องนักจากผู้ถูกถาม คำถามนั้นคือ ยาเสพติดชนิดใดที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินมากที่สุด (วัดจากทั่วโลก) ผมมักได้รับคำตอบว่าเป็นเฮโรอีนบ้าง แอมเฟตามีนบ้าง หรือโคเคน ซึ่งคำตอบดังกล่าวมาจากการรับรู้ว่า ใครก็ตามที่เข้าไปในวังวนของเฮโรอีน ยาบ้า หรือ โคเคนแล้ว ยากมากที่จะเอาชีวิตหลุดจากวงจรนี้ เกือบทั้งหมดต้องใช้ชีวิตในฐานะทาสยาเสพติด และมีหลายครั้งที่กลุ่มคนเหล่านี้จบชีวิตด้วยการใช้ยาเสพติดเกินขนาด แต่ในความเป็นจริง ยาเสพติดที่อันตรายที่สุดกลับเป็นยาเสพติดที่หาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป นั่นคือแอลกอฮอล์ คำตอบที่ได้ในเรื่องนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ แต่การวิเคราะห์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากการรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่ทั่วโลก ถึงผลกระทบของยาเสพติดแต่ละชนิด ต่อตัวผู้ใช้ (ผลกระทบด้านร่างกาย จิตใจ ที่สูญเสียจากการติดยาเสพติดนั้น ๆ อัตราการตายจากยาเสพติดนั้น ๆ และการสูญเสียสัมพันธ์ภาพและทรัพย์สิน) และ ผู้อื่นที่ไม่ได้ใช้ (ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม อาชญากรรม และ ครอบครัว) แม้ว่าแอลกอฮอล์จะไม่ใช่ยาเสพติดอันดับหนึ่งที่ฆ่าชีวิตผู้ใช้โดยตรงจากการใช้เกิดขนาด แต่เมื่อรวมผลกระทบทั้งหมดที่มันสร้างขึ้น แอลกอฮอล์คือมหันตภัยอันดับหนึ่งจากยาเสพติดทุกชนิดในโลก ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะแอลกอฮอล์เป็นยาเสพติดที่เข้าถึงง่าย มีจำนวนผู้บริโภคมาก จึงสร้างผลกระทบได้มาก แม้จะมีผลกระทบต่อผู้ดื่มในระยะสั้นไม่มากเท่ายาเสพติดชนิดอื่น แต่ผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ดื่มในระยะยาวมากกว่ายาเสพติดชนิดอื่น ๆ
ในประเด็นเรื่องการเสียชีวิตของพริตตี้สาวที่เกิดจากการดื่มหนักดื่มเร็ว จนทำให้แอลกอฮอล์ในเลือดเกินขนาด อันตรายจากแอลกอฮอล์เป็นพิษไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากในประเทศไทยเรายังไม่มีระบบการเก็บสถิติในเรื่องดังกล่าว จึงเปรียบให้เห็นได้ยากว่าขนาดของปัญหานี้ใหญ่ขนาดไหน แต่จากการเก็บสถิติการเสียชีวิตด้วยภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษในสหรัฐอเมริกา พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วทุก ๆ วัน จะมีผู้เสียชีวิตจากการดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาดในประเทศสหรัฐอเมริกา 6 คน หรือปีละ 2,400 คน ซึ่งไม่ใช่น้อย ๆ เลยสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว การแพทย์เป็นอันดับหนึ่งของโลก มีระบบเฝ้าระวังมากมาย ถ้าลองย้อนกลับมาดูประเทศไทย ที่มีพฤติกรรมการดื่มที่อันตรายมากถึง 3.4% ของประชากร ก็ไม่แน่ว่าเราน่าจะมีการเสียชีวิตจากเหตุดังกล่าวทุก ๆ วัน และมีเพียงบางกรณีเท่านั้นที่ปรากฎในข่าวกระแสหลัก
เป็นข่าวดังที่คนไทยทั่วประเทศให้ความสนใจกับการเสียชีวิตของพริตตีชื่อดังที่เสียชีวิตอย่างปริศนาในล็อบบี้ของคอนโดแห่งหนึ่งในกรุงเทพ สืบสวนเพิ่มเติมทราบว่า ผู้เสียชีวิต ได้รับงานเอนเตอร์เทนในปาร์ตี้หนึ่งที่จัดขึ้นในบ้านพักส่วนตัวของผู้จัด และถูกนำกลับออกจากปาร์ตี้ในสภาพหมดสติโดยพริตตี้บอยที่รับงานเอนเตอร์เทนในปาร์ตี้เดียวกัน
เหตุการณ์ดังกล่าวมีแง่มุมที่น่าสนใจ และเป็นเหตุที่สะท้อนให้เห็นว่าภายใต้เหตุดังกล่าวนี้มีปัญหาสังคมหลายอย่างที่ซ่อนอยู่
ปาร์ตี้เอนเตอร์เทน กิจกรรมยามว่างของวัยรุ่นไทย ?
คำว่าปาร์ตี้ (Party) ความจริงแล้วมีรากศัพท์จากคำว่า partīre ในภาษาละติน ซึ่งมีความหมายว่าการวมตัวกัน ในวัฒนธรรมตะวันตกการจัดปาร์ตี้ คือการสังสรรค์ระหว่างผู้คนที่อยู่ในเครือข่ายสังคมเดียวกัน มักจะจัดในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ที่รองรับผู้คนได้ และมีการจัดเลี้ยงอาหาร ฟังดนตรี และ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การพบปะสังสรรค์ในปาร์ตี้มีเป้าหมายเพื่อการพูดคุยแลกเปลี่ยน และ สร้างและขยายเครือข่ายสังคม วัฒนธรรมดังกล่าวได้เข้าสู่ประเทศไทยหลังการเปิดประเทศให้เป็นเมืองท่องเที่ยว คนไทยจึงเริ่มรู้จักปาร์ตี้
ปาร์ตี้ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ได้พัฒนาจากงานสังสรรค์ที่มีการดื่มกินแบบทั่วไป ไปเป็นกิจกรรมที่มีความน่าตื่นเต้นมากยิ่งขึ้น เช่น การแลกเปลี่ยนยาเสพติด ไปจนถึงการใช้เสพยาเสพติดในปาร์ตี้ เช่นปาร์ตี้ยาอี ปาร์ตี้ยาเค หรือการใช้ปาร์ตี้เป็นพื้นที่กลางในการแสดงออกรสนิยมและความต้องการทางเพศ อย่างเช่น ปาร์ตี้สวิงกิ้ง เป็นต้น
ในเมืองใหญ่ของประเทศไทย ที่มีกลุ่มประชากรหนาแน่น มีการรวมตัวจัดปาร์ตี้ของคนหนุ่มสาวไปจนถึงวัยทำงาน ลักษณะการรวมตัวกันของผู้เข้าร่วมปาร์ตี้มักสลับกันไปจัดตามบ้านพักส่วนตัว หรือ เช่าวิลล่า ซึ่งเป็นห้องพักแบบแยกหลัง มีการรวมตัวและสลายตัวภายในหนึ่งหรือสองวัน มีการเปลี่ยนสถานที่บ่อยครั้ง การนัดพบในปาร์ตี้ยิ่งง่ายขึ้นหลังจากมีโซเชียลมีเดีย ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการกำหนดวัน เวลา และ สถานที่ สำหรับสมาชิกในกลุ่มปาร์ตี้ นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กิจกรรมผิดกฏหมายในปาร์ตี้นั้นถูกตรวจจับโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยาก
จากการศึกษาของโธมัส กวาดามูซ และคณะ ในปี 2558-2559 ซึ่งทำการสำรวจเยาวชนนักท่องปาร์ตี้ในเขตกรุงเทพและชลบุรี พบว่า ผู้เข้าร่วมปาร์ตี้ที่ใช้ยาเสพติด มักเลือกใช้สารเสพติดประเภทที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท เช่น Ecstasy หรือ ยาอี Ketamine หรือ ยาเค GHB หรือยาจี ซึ่งเหตุผลสำคัญทำให้นักท่องปาร์ตี้ใช้สารเสพติดเหล่านี้ก็เพื่อ เร่งเร้าความสนุก ผ่อนคลาย มีความสุข จดจ่อกับเสียงเพลง ได้เข้าถึงเพลง แสง สี เสียงรวมถึงมีอารมณ์ทางเพศ เนื่องจากยาอี ยาเค และจีเอชบี เป็นยาที่มีราคาค่อนข้างแพง ปาร์ตี้ที่มีการนำยาประเภทดังกล่าวมาใช้จึงมักเป็นปาร์ตี้ของคนมีฐานะ คนทำงานที่มีรายได้ อาจจะเป็นคนที่ทำงานดี มีการศึกษาดี โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา หรือกลุ่มเยาวชนที่มาจากครอบครัวร่ำรวยเป็นต้น ไม่ใช่ผู้ใช้ยาเสพติดที่จะไปก่ออาชกรรมเพื่อหาเงินมาใช้ยาแบบยาชนิดอื่น ๆ
แม้ว่าปาร์ตี้จะมีหลากหลายรูปแบบ แต่เมื่อกระแสข่าวที่พบพฤติกรรมการมั่วสุมในปาร์ตี้บ่อยครั้งในระยะหลัง จึงทำให้ภาพจดจำของผู้คนทั่วไปต่อปาร์ตี้ จึงเป็นกิจกรรมบันเทิงที่มีแนวโน้มจะมีการมั่วสุมยาเสพติด และ กิจกรรมทางเพศ การเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวจึงไม่ใช่การเข้าร่วมกิจกรรมที่ปลอดภัยต่อร่างกาย ชีวิต และ ทรัพสิน ดังเช่นกิจกรรมบันเทิงในรูปแบบปกติอื่น ๆ
พริตตี้เอนเตอร์เทน อาชีพใหม่ เงินดี ความเสี่ยงสูง
เมื่อปาร์ตี้เป็นกิจกรรมที่หาได้ไม่ยากในหัวเมืองใหญ่ อาชีพหนึ่งที่เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับกิจกรรมความบันเทิงนี้คือ พนักงานเอนเตอร์เทน การคัดเลือกคนเข้ามาทำหน้าที่เอนเตอร์เทนมักเลือกที่รูปร่างหน้าตา และ บุคลิคภาพเป็นหลัก หญิงสาวหน้าตาดีมักเป็นเป้าหมายสำคัญของอาชีพชนิดใหม่นี้ ค่าตอบแทนที่มากกว่าการทำงานปกติหลายเท่า โดยค่าตอบแทนที่จะได้ขึ้นอยู่กับลิมิตของการรับงาน ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่การมาเป็นเด็กชงเหล้า กินเหล้าเป็นเพื่อน ต้องอัพยาในปาร์ตี้ หรือ ไปจนถึงการมีเซ็กส์กับเจ้าของหรือผู้เข้าร่วมปาร์ตี้ ค่าตอบแทนเริ่มต้นตั้งแต่ 3,000 – 100,000 บาท แม้ว่าค่าตอบแทนจะมาก แต่ความเสี่ยงของการรับงานก็เพิ่มขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงเริ่มต้นตั้งแต่ การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การถูกทำร้ายร่างกาย การมอมวางยา การถูกมอมเหล้าเพื่อล่วงละเมิดทางเพศ การถูกแบล็คเมล์ว่ารับงานลักษณะนี้ การสูญเสียชื่อเสียง ใช้ยาเกินขนาด มีแอลกอฮอล์ในเลือดเกินขนาดจนเป็นพิษ ไปจนถึงร้ายแรงที่สุดคือการเสียชีวิต เป็นต้น กรณีข่าวที่เกิดขึ้นล่าสุด น่าจะเป็นสิ่งเตือนใจหญิงสาวหน้าตาดีคนอื่น ๆ ที่เข้ามารับงานลักษณะดังกล่าว แม้ง่าความเสี่ยงในระดับเสียชีวิตอาจเป็นเหตุที่เกิดได้ยาก แต่ความเสี่ยงอื่น ๆ เป็นเรื่องที่พบได้ปกติในการรับงานลักษณะนี้ จากคำบอกเล่าของพริตตี้ที่รับงานนี้ ได้เปิดใจว่าการถูกล่วงละเมิดทางเพศเป็นความเสี่ยงที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งนำมาซึ่งความเสี่ยงอื่น ๆ เช่นการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ การได้รับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมไปจนถึงการได้รับบาดเจ็บจากการถูกทำร้ายร่างกาย เหตุการล่วงละเมิดประเภทนี้มักไม่มีการร้องเรียนหรือฟ้องร้องดำเนินคดี เนื่องจากฝั่งผู้ถูกละเมิดมันกลัวว่าตนจะเสื่อมเสียชื่อเสียง
การเสียชีวิตของพริตตี้สาว ยืนยันอันตรายภัยเหล้ามือสอง
การเสียชีวิตของน้องพริตตี้คนดังกล่าวเป็นสิ่งที่เน้นย้ำให้สังคมเห็นภัยของเหล้ามือสองมากขึ้น ไม่ว่าผลสุดท้ายแล้วน้อพริตตี้คนดังกล่าวจะเสียชีวิตจากสารอะไรหรือสาเหตุใดก็ตาม แต่ความจริงที่ปรากฎขึ้นคือ ก่อนเสียชีวิตลัลลาเบลไปเข้าไปทำงานในฐานะเอนเตอร์เทนเนอร์ในปาร์ตี้ และมีการดื่มเหล้าจำนวนมาก และถูกนำออกจากปาร์ตี้โดยผู้ต้องหาในสภาพที่ไม่ได้สติ สิ่งดังกล่าวคือภัยอันตรายจากแอลกอฮอล์ที่เกิดขึ้นหลายสิบหลายร้อยเหตุการณ์ในทุกวันที่เราดำเนินชีวิตในประเทศนี้ แต่กรณีอื่น ๆ ที่โชคดีกว่ากรณีนี้คือไม่มีใครเสียชีวิต การดื่มสุราในลักษณะที่มีการมั่วสุมในปาร์ตี้เป็นความเสี่ยงที่มากกว่าการทำกิจกรรมปกติแบบอื่น ๆ สิ่งที่ผมกล่าวนั้นไม่ได้เกินเลยความจริง เพราะเราเคยทำการสำรวจข้อมูลภัยเหล้ามือสองในประเทศไทยแล้วเมื่อปี 2560 พบว่าในกลุ่มประชากรทั่วไป มีมากถึง 6.2% ที่เคยถูกคุกคามทางเพศจากนักดื่ม ซึ่งหากเฉพาะเจาะจงไปยังกลุ่มอาชีพพริตตี้เอนเตอร์เทนในปาร์ตี้คงพบสัดส่วนของคนที่เคยโดนคุกคามทางเพศมากกว่านี้ และนี้เป็นเหตุผลสำคัญที่สังคมต้องทบทวนอย่างยิ่งว่า จะมีมาตรการใดที่ทำให้เกิดความปลอดภัยแก่ชีวิตของกลุ่มพริตตี้หญิงที่ต้องรับงานลักษณะนี้ การเลือกรับงานที่มีการดื่มแอลกอฮอล์ และต้องต้อนรับลูกค้าที่อยู่ในอาการมึนเมาแอลกอฮอล์ ไม่เคยเป็นงานที่มีความเสี่ยงเท่ากับงานปกติอื่น ๆ ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ว่า หากเกิดเหตุร้ายใด ๆ ก็ตามกับพริตตี้ที่รับงานดังกล่าว ความรับผิดชอบนั้นควรตกเป็นของผู้จัดจ้าง หรือ เจ้าของสถานที่ด้วย มิเช่นนั้นชีวิตของหญิงสาวหน้าตาดีก็อาจไม่มีความหมายใด ๆ ต่อผู้ว่าจ้าง ที่เห็นเป็นวัตถุทางเพศ มีเงินก็จ้างมาสนองตัณหาอยู่ร่ำไป ไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น
ผู้หญิงต้องไม่เป็นเหยื่อ ผู้หญิงต้องไม่เป็นเครื่องมือทางเพศ
รสนิยมของเจ้าของปาร์ตี้ที่เกือบทั้งหมดเป็นบุรุษผู้มีอันจะกิน มักมีรสนิยมไปในทางเดียวกันว่าในงานปาร์ตี้ที่มีการบันเทิงอย่างสนุกสุดเหวี่ยงนั้น ต้องมีหญิงสาวหน้าตาดีมาเป็นบริกร เพื่อสร้างความสนุกสนานให้ผู้เข้าร่วมปาร์ตี้ ค่านิยมดังกล่าวเหมือนหลุดมาจากยุคโรมัน ที่มองเห็นคนเป็นเครื่องมือหนึ่งในการแสวงหาความบันเทิง เมื่อมีเงินจ่ายก็ซื้อความสนุกที่อยู่ในรูปศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ ค่านิยมดังกล่าวกลายเป็นค่านิยมที่แพร่หลาย งานเลี้ยงที่มีบุรุษผู้มั่งมีเป็นเจ้าของงานเลี้ยง บ่อยครั้งที่มีการแสดงอำนาจบารมีกันผ่านการจ้างหญิงหน้าตาดีมาเพิ่มอารมรณ์ทางเพศให้ผู้ร่วมงาน ยิ่งสืบสวนได้ความว่าเจ้าของบ้านที่จัดปาร์ตี้นี้ ไม่ได้จัดปาร์ตี้เป็นครั้งแรก ยิ่งทำให้เห็นว่ารสนิยมเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องปกติที่ถ้าใครมีเงินมีกำลังก็อยากแสดงพลังในรูปแบบนี้
ที่เลวร้ายกว่าเรื่องรสนิยมการจ้างหญิงสาวหน้าตาดีมาเอนเตอร์เทนในปาร์ตี้ คือทัศนคติทางเพศของผู้ต้องหาชายในเรื่อง ที่เลวร้ายสุด ๆ จากการเปิดเผยในแชทที่หลุดมา บ่งบอกว่ารสนิยมทางเพศของผู้ต้องหาคือการล่าแต้มเก็บคะแนนจากการนับจำนวนผู้หญิงที่เขามีเพศสัมพันธ์ด้วย ใช้หน้าตาและรูปร่างของตัวเองในการเข้าหาผู้หญิงหน้าตาดีที่ตนหมายปอง และเคยมีพฤติกรรมมอมเหล้าหญิงสาวคนอื่นมาก่อนหน้านี้ด้วย หนำซ้ำการแสดงออกรสนิยมดังกล่าวในกลุ่มแชทและได้รับคำชื่นชมจากเพื่อนในกลุ่มเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าว่า พฤติกรรมที่เลวร้ายเช่นนี้เป็นเรื่องที่สามารถเปิดเผยอย่างภาคภูมิใจได้แล้ว นี่คือสถานการณ์ที่บ่งบอกว่าสังคมไทยกำลังประสบวิกฤติเรื่องกรอบทางศีลธรรม การคุกคามชีวิตและศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะสตรีเพศนั้นได้ลุกลามจนเป็นอีกเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข เราจะเป็นสังคมที่ดีไม่ได้หากผู้หญิงในสังคมไม่ปลอดภัยเช่นนี้ เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ควรมองเป็นเพียงปรากฎการณ์ที่จะขายเป็นข่าวให้คนติดตามเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อเกิดกรณีที่มีการรับรู้เป็นวงกว้างเช่นนี้ ควรใช้วิกฤตที่สร้างความหดหู่และสะเทือนใจแก่สังคมเรื่องนี้ เป็นเรื่องราวที่ทำให้เราได้มองสังคมอย่างละเอียดลึกซึ้ง และมุ่งแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นสาเหตุของเหตุการณ์นี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีใครตายก่อนวัยอันควรด้วยเรื่องราวเช่นนี้อีกต่อไป
สาขาวิชาระบาดวิทยา อาคารบริหาร ชั้น 6 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 15 ถ.กาญจนวนิช ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
โทรศัพท์ : 083-5775533 (เวลาราชการ 08.30 - 16.30 น.)
Copyright © 2019 CAS All rights reserved.