กาลครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ในประเทศสารขัณฑ์
มีชายสองคนทำพลาดเหมือนกัน คือเมาแล้วขับรถชนคนตาย
ทั้งสองเหตุการณ์ ชายที่ก่อเหตุเป็นเศรษฐี-มหาเศรษฐี ผู้ที่เสียชีวิตเป็นตำรวจ ต่างกันที่ยศของผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิตในเหตุการณ์
ทั้งสองเหตุการณ์เป็นข่าวใหญ่ เริ่มแรกสังคมสารขัณฑ์โกรธเศรษฐีผู้ก่อเหตุ และมองว่าเศรษฐีแต่ละคนจะต้องใช้เงิน เส้นสายและอำนาจ ดิ้นให้ตนเองหลุดและไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ แน่ๆ
แล้วความเหมือนก็สิ้นสุดตรงนั้น
เศรษฐีสารขัณฑ์คนแรก ติดต่อครอบครัวผู้เสียหาย พร้อมชดเชยและเยียวยาทั้งทางการเงินอย่างเต็มที่ แต่ที่สังคมคาดไม่ถึงยิ่งกว่า คือ เศรษฐีกลับติดตามอาการผู้เสียหายทุกวัน บวชขอขมา พร้อมแจ้งว่าตนพร้อมรับความผิดตามกระบวนการศาลยุติธรรมอย่างเต็มที่ เมื่อศาลตัดสินแบบพร้อมลดหย่อนโทษ สิ่งแรกที่เศรษฐีคนนั้นทำคือกราบเท้าครอบครัวผู้เสียหายและสัญญาว่าจะเลิกดื่มตลอดชีวิต
เศรษฐีสารขัณฑ์คนที่สองเป็นลูกมหาคหบดี ร่ำรวยกว่าเศรษฐีคนแรกเป็นร้อยเท่า แต่กลับชดใช้ค่าเสียหายให้ครอบครัวผู้ตายไม่ถึงเสี้ยวหนึ่งของที่เศรษฐีคนแรกช่วยผู้ตายในคดีตน และแทนที่จะยอมขึ้นศาล กลับหนีความผิดไปอยู่ดินแดนอันไกลโพ้น โดยที่เจ้าตัวไม่เคยมาสารภาพหรือยอมรับว่าตนเคยทำผิดพลาดใดๆ ไปทั้งสิ้น นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่อง “แปลกๆ” เกิดขึ้นมากมายจนถึงปัจจุบัน
ปฏิกิริยาของสังคมสารขัณฑ์ต่างกันโดยสิ้นเชิง
ผู้คนในสังคมพร้อมให้อภัยเศรษฐีคนแรก ถึงขั้นที่ว่าต่อมามีข่าวว่าเศรษฐีคนนั้นอาจต้องเข้าคุก หลายคนพร้อมจะมาปกป้องเขาด้วยซ้ำ
ในทางกลับกัน ผู้คนในสังคมโกรธเศรษฐีคนที่สองมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเวลาผ่านไปและมีเหตุการณ์ “แปลกๆ” เกิดขึ้น ความแค้นยิ่งทวีคูณ
เศรษฐีคนที่สอง ถึงจะมีเงินหนีไปอยู่ต่างแดนได้ แต่เศรษฐีคนนั้นหนีความจริงไปไม่ได้ เมื่อมีคนอื่นไปพบเห็นหรือจำเขาได้ในต่างแดน และพยายามเรียกชื่อเขาให้เขาเผชิญความจริง สิ่งเดียวที่เขาทำได้คือหลบหน้าด้วยความอับอาย และย้ายที่พักไปเรื่อยๆ โดยต้องระแวงตลอดเวลาว่าจะมีใครมาเห็นตนหรือไม่
ในขณะที่เศรษฐีคนแรก ไม่ได้หนีไปไหน เผชิญหน้ากับความจริง เขาก็ไม่จำเป็นต้องหลบหน้าหรืออยู่ด้วยความอับอาย และที่สำคัญคือครอบครัวของผู้เสียหายพร้อมที่จะให้อภัยเขา หากได้การอภัยเช่นนี้แล้ว หัวใจเขาคงเป็นอิสระ ไม่ว่าตัวเองจะอยู่ที่ไหนหรือทำอะไรก็ตาม
ความสบายใจและเป็นอิสระตรงนี้ ต่อให้เป็นคนรวยขนาดทายาทเศรษฐีหมื่นล้าน ก็หาซื้อไม่ได้ครับ
แต่เศรษฐีคนที่สองมีทางออก
โดยธรรมชาติ มนุษย์เราพร้อมที่จะให้อภัย เพื่อให้ตัวเองก้าวข้ามความโกรธและเริ่มกระบวนการเยียวยาได้
การให้อภัย ไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อได้รับเงินเยียวยา ชดเชยค่าเสียหาย
การชดเชยค่าเสียหายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเยียวยา แต่อาจไม่ใช่ส่วนหลัก
การจ่ายเงินเป็นเรื่องง่าย ไม่ต้องเผชิญหน้าใคร
การยอมรับผิดและการแสดงความรับผิดชอบ เป็นสิ่งที่ยากกว่า เพราะผู้ที่กระทำผิดจะต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่ตนเองทำโดยตรง ยอมรับว่าตนเองทำไม่ดี และพร้อมรับผลที่ตามมาโดยไม่มีเงื่อนไข
ซึ่งการเผชิญหน้ากับสิ่งไม่ดีที่ตนเองได้ทำไปนี้จะต้องใช้ทั้งความกล้าหาญ ความถ่อมตน และสามัญสำนึก — การแสดงออกถึงคุณลักษณะเหล่านี้จะช่วยให้ผู้เสียหายและครอบครัวพร้อมเปิดใจของตนเองมากขึ้น และเริ่มต้นเยียวยาจิตใจตนเองได้
และนั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่หรือ??
อนึ่ง…………..
ทั้งสอง “เหตุการณ์สมมุติ” นี้ จะไม่เกิดขึ้นเลย หากเศรษฐีในเรื่องนั้นไม่ขับรถหลังดื่มเหล้า ดังนั้นขอแนะนำทุกคนว่า หากเราไปดื่มแล้วอยากเอารถกลับบ้าน ควรให้เพื่อนที่ไม่ดื่มช่วยขับรถพาเรากลับ หรือเรียก Grab หรือแท็กซี่ให้ไปส่งกลับบ้าน แล้ววันรุ่งขึ้นหายเมาแล้วค่อยมารับรถ ค่าจอดรถเกินเวลาไม่กี่บาท แต่อนาคตและชีวิตของเราและผู้อื่น เป็นสิ่งที่ประเมินค่ามิได้
อย่างไรก็ดี เนื่องจากทั้งสอง “เหตุการณ์สมมุติ” นี้ มีแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าเราอยากจะทำให้ประเทศสารขัณฑ์มีปัญหาเรื่องอุบัติภัยจราจรลดลง เราน่าจะทำอะไรได้บ้าง
1. “อย่า หา ทำ” — การดื่มสุราทุกระดับมีผลต่อความสามารถในการขับขี่ทั้งสิ้น งานวิจัยในสหรัฐฯ พบว่าอุบัติเหตุเมาแล้วขับและมีคนตาย 15% เกิดขึ้นแม้ว่าผู้ขับจะมีแอลกอฮอล์อยู่ในระดับที่กฏหมายกำหนด [1] หลังดื่มสุราเข้าไป แอลกอฮอล์ในเลือดจะพุ่งสู่ระดับสูงสุดในเวลา 30-90 นาทีหลังดื่ม หลังจากนั้นการขจัดแอลกอฮอล์จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ (ดื่มหนึ่งแก้ว ต้องใช้เวลาขจัดประมาณหนึ่งชั่วโมง) ดังนั้นคนที่ดื่มหนักตอนกลางคืน แม้กระทั่งเช้าวันต่อมาก็ยังอาจมีระดับแอลกอฮอล์สูงเกินกำหนดอยู่ และเกิดอันตรายขณะขับรถได้ ดังนั้นทางที่ดีที่สุด คือ อย่าดื่มแล้วขับรถกลับบ้านเอง ให้เรียกแท็กซี่หรือ Grab กลับบ้าน หรือให้เพื่อนที่ไม่ได้ดื่มช่วยพากลับบ้าน
2. หากผู้ใดใช้แอลกอฮอล์ร่วมกับสารเสพติดกระตุ้นประสาท (เช่น โคเคน) ห้ามขับรถเด็ดขาด!! ไม่ว่าจะดื่มน้อยแค่ไหน หรือใช้สารดังกล่าวน้อยแค่ไหนก็ตาม — เมื่อใช้แอลกอฮอล์ร่วมกับโคเคน แอลกอฮอล์จะทำให้ระดับโคเคนในเลือดพุ่งสูงขึ้น และร่างกายจะสร้างสารโคคาเอทิลีน (cocaethylene) ขึ้นมา ซึ่งส่งผลต่อความนึกคิดและระบบประสาท [2,3] ทำให้ผู้เสพมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น เป็นอันตรายมากต่อตนเอง ผู้โดยสาร และผู้สัญจรทุกคนบนถนน ดังนั้นจึงไม่ควรขับรถเด็ดขาด ไม่ว่าในกรณีใดๆ
3. ควรจะพิจารณาลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ตามกฎหมายลงจากเดิม 0.5 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์เป็น 0.2 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ — หากผู้ขับขี่ใช้แอลกอฮอล์ร่วมกับสารอื่น เช่น โคเคน ยาบ้า ยาไอซ์ อัลปราโซแลม หรือกัญชาทางการแพทย์ สารนั้นสามารถที่จะมีทำปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์ได้ (แม้ในจำนวนน้อยนิด) ส่งผลให้สมรรถนะการขับขี่ด้อยลงจนเป็นอันตรายแก่ผู้อื่นได้ [2,3]
4. ควรจะจัดให้มีจุดสุ่มตรวจแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ทั่วประเทศ ให้ประชาชนที่ขับขี่ยานพาหนะโดยทั่วไปตระหนักว่าทุกคนสามารถถูกสุ่มตรวจได้เสมอ โดยมีโอกาสถูกสุ่มตรวจอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง และดำเนินการจับกุมและลงโทษผู้ละเมิดกฏหมายอย่างจริงจัง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่ดื่มไม่ขับรถ และผู้ที่ขับรถไม่ดื่ม เพิ่มความปลอดภัยทั้งกับตนเองและผู้อื่นได้
5. หากเกิดอุบัติเหตุทางถนน ควรตรวจระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ทุกคน ไม่ว่าจะมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตหรือไม่ และควรตรวจระดับสารเสพติด เช่น กัญชา ยาบ้า โคเคน ยากล่อมประสาทและยานอนหลับด้วย หากพบว่ามีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกินกำหนด หรือมีสารเสพติด ให้ดำเนินคดีกับผู้ขับขี่ตามกฏหมาย รวมทั้งส่งต่อให้ได้รับการดูแลบำบัดรักษาตามความเหมาะสม
หากทำเช่นนี้แล้ว ชาวสารขัณฑ์ทุกคน ไม่ว่าจะดื่มสุราหรือไม่ คนที่มีรถขับ คนที่โดยสารยานพาหนะ หรือแม้แต่คนเดินถนน ต่างก็จะมีความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น หากอุบัติเหตุทางถนนที่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุราและการใช้สารเสพติดลดลง และเป็นการลดภาระการทำงานของตำรวจ อัยการ และผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดด้วย
หมายเหตุ: เรื่องทั้งหมดที่เล่ามาเป็นเรื่องสมมุติ หากมีเนื้อหาใกล้เคียงกับผู้ใด ถือเป็นเหตุบังเอิญทั้งสิ้น
อ้างอิง
1. https://www.ajpmonline.org/article/S0749-3797(20)30040-4/fulltext
2. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/30195242/
3. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/30007323/
ที่มา: แปลมาจากบทความ The Truth About Alcohol and Exercise ของ Yvonne O Brien (https://www.indi.ie/fact-sheets/fact-sheets-on-sports-nutrition/518-the-truth-about-alcohol-and-exercise.html)
การดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างออกกำลังกาย อาจทำให้สมรรถภาพในการเล่นกีฬาของคุณเปลี่ยนไป เนื่องจาก…
1. การดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายขาดน้ำ แอลกอฮอล์เป็นสารขับปัสสาวะ ทำให้ไตผลิตปัสสาวะมากขึ้น การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปจึงอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ การออกกำลังกายหลังดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้ร่างกายยิ่งขาดน้ำมากขึ้นไปอีก เพราะออกกำลังกายแล้วเสียเหงื่อ และเมื่อเราขาดน้ำ ก็ทำให้สมรรถภาพร่างกายลดลง หากจะออกกำลังกาย ควรดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อให้เลือดไหลไปทั่วร่างกายให้กล้ามเนื้อได้รับออกซิเจนและสารอาหารได้ดี ทำให้ออกกำลังกายได้เต็มที่
2. แอลกอฮอล์ส่งผลต่อการสร้างพลังงานในร่างกาย แอลกอฮอล์ถูกย่อยสลายในตับ และเมื่อตับเราย่อยสลายแอลกอฮอล์ หน้าที่อื่นๆ ของตับจะกลายเป็นเรื่องรอง ซึ่งรวมถึงการผลิตกลูโคสด้วย และร่างกายเราต้องการกลูโคสเป็นพลังงาน หากตับสร้างกลูโคสไม่พอเนื่องจากต้องขับแอลกอฮอล์ออกไป ร่างกายเราจะอ่อนเพลียและวิ่งตามคนอื่นไม่ทัน
3. แอลกอฮอล์ทำให้ระบบประสาทที่ส่งสัญญาณไปทั่วร่างกายทำงานช้าลง ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งฤทธิ์ในส่วนนี้อาจอยู่ได้สักพักหนึ่ง และทำให้ปฏิกิริยา การเคลื่อนไหว ความแม่นยำและสมดุลของร่างกายต่ำกว่าปกติระหว่างออกกำลังกายและแข่งกีฬา
คืนก่อนออกกำลังกาย และวันหลังออกกำลังกาย
– การดื่มแอลกอฮอล์คืนก่อนออกกำลังกายอาจส่งผลเสียต่อสมรรถภาพของร่างกายในวันต่อมาได้ หากเรามีอาการ “เมาค้าง” หรือแฮงค์ เช่น ขาดน้ำ ปวดหัว เราจะไม่สามารถเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายได้อย่างเต็มที่
– ระหว่างที่ออกกำลังกาย กล้ามเนื้อของเราจะเผาผลาญกลูโคสเพื่อให้ได้พลังงาน ทำให้เกิดกรดแลคติก ซึ่งหากมีกรดแลคติกมากเกินไป จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงและเป็นตะคริว หากเราออกกำลังกายหลังดื่มแอลกอฮอล์ ตับจะต้องทำงานหนักเพื่อกำจัดสารพิษจากแอลกอฮอล์ ทำให้กำจัดกรดแลคติกไม่ได้เต็มที่ ทำให้มีโอกาสเป็นตะคริวได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้เราไม่มีแรงหรือรู้สึกเหนื่อยได้ง่ายขึ้นด้วย
– ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ในคืนก่อนออกกำลังกาย โดยเฉพาะหากมีกิจกรรมที่หนักปานกลางหรือหนักมาก อย่างไรก็ดี หากจะดื่ม ควรจำกัดจำนวนแก้วและดื่มระหว่างที่กินอาหาร
– หลังออกกำลังกายก็ไม่ควรดื่มเช่นกัน หากยังไม่ได้ดื่มน้ำอย่างเพียงพอเพื่อทดแทนน้ำในร่างกายที่หายไปกับเหงื่อ
น้ำหนักเพิ่ม
แอลกอฮอล์มีแคลลอรี่สูง กรัมละเจ็ดแคลอรี่ แทบจะมากเท่ากับก้อนไขมัน หากคุณออกกำลังกายเพื่อจัดการน้ำหนัก การดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้คุณได้รับ “แคลลอรี่ไร้ประโยชน์” กลับมาและทำให้ลดน้ำหนักไม่สำเร็จ นอกจากนี้ เมื่อดื่มไปได้สักพัก คุณอาจรู้สึกอยากกินอาหารแคลอรี่สูง ซึ่งยิ่งทำให้การลดน้ำหนักยิ่งมีโอกาสล้มเหลวมากขึ้นอีก
กล้ามเนื้อเติบโตได้น้อย
แอลกอฮอล์ทำให้การนอนไม่เป็นปกติ ซึ่งร่างกายของเราจะหลั่งฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อออกมาในช่วงที่เราหลับสนิท การดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้การนอนหลับไม่เป็นปกติและทำให้กล้ามเนื้อโตได้ช้าลง
อัตราการเต้นหัวใจเปลี่ยนแปลง
เรื่องที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ การดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ ซึ่งความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นมากเมื่อออกกำลังกายภายในสองวันหลังจากดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก ความเสี่ยงนี้แตกต่างกันไปในแต่ละคน การออกกำลังกายทำให้ตัวใจเต้นเร็วขึ้น หากดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก หัวใจยิ่งต้องทำงานหนักยิ่งขึ้นไปอีก
แผลหายช้า
แอลกอฮอล์ทำให้เส้นเลือดที่ผิวหนัง แขน และขา ขยายตัว ทำให้มีเลือดไปหล่อเลี้ยงมากขึ้น เวลาเป็นแผลเลือดจะไหลเยอะและบวมมากกว่าปกติ ทำให้แผลหายช้า
หากเวลาเข้าสังคม ท่านต้องการลด ละ เลิกดื่ม ควรพิจารณาแนวทางต่อไปนี้
– วางแผนล่วงหน้า – คิดดูว่าจะไปไหน ไปเจอใคร และจะดื่มมากแค่ไหน แล้วทำตามแผน
– กินอาหารก่อนหรือระหว่างดื่มแอลกอฮอล์ – การกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตมากหลังออกกำลังกาย ช่วยชดเชยพลังงานที่กล้ามเนื้อสูญเสียไป การกินอิ่มท้องจึงช่วยทำให้เราดื่มแอลกอฮอล์ช้าลง
– ค่อยๆ ดื่ม – ดื่มแอลกอฮอล์สลับกับเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ หากเราหิวน้ำ เราจะดื่มแอลกอฮอล์เร็ว ดังนั้นจึงควรมีเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ดับกระหายก่อนที่จะเริ่มดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะหลังออกกำลังกาย
– ดื่มช้าๆ ค่อยๆ จิบ อย่าดื่มเป็นอึก จิบแล้วให้วางแก้ว
– เลือกเครื่องดื่มดีๆ เลือกเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ต่ำหรือใช้แก้วขนาดใหญ่ผสมเหล้าเข้ากับมิกเซอร์เยอะๆ
– เป็นคนอาสาขับรถพาเพื่อนกลับบ้าน (designated driver) หากคุณตัดสินใจไม่ดื่มและกลัวว่าจะโดนคนอื่นคะยั้นคะยอ ให้บอกคนอื่นว่าคุณตั้งใจจะเป็นคนที่ช่วยขับรถพาเพื่อนกลับบ้าน
– ดื่มให้หมดทีละแก้ว – อย่าให้คนอื่นเติมแก้วให้ก่อนที่จะดื่มหมดแก้ว หากทำแบบนั้น เราจะไม่รู้ว่าดื่มไปมากเท่าไหร่แล้ว
– ทำโน่นทำนี่ระหว่างดื่ม – เวลาที่เรายุ่งกับเรื่องอื่น เราจะดื่มน้อยลง ออกไปเต้นหรือเดินไปโน่นไปนี่ อย่ามัวแต่นั่งดื่มอย่างเดียว
– ก่อนนอนอย่าลืมดื่มน้ำเยอะๆ การดื่มน้ำก่อนนอนช่วยป้องกันการแฮงค์ได้ การดื่มน้ำเยอะๆ คั่นสลับกับการดื่มแอลกอฮอล์ ก็ช่วยป้องกันการแฮงค์ได้เช่นกัน
สาขาวิชาระบาดวิทยา อาคารบริหาร ชั้น 6 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 15 ถ.กาญจนวนิช ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
โทรศัพท์ : 083-5775533 (เวลาราชการ 08.30 - 16.30 น.)
Copyright © 2019 CAS All rights reserved.