การดื่มสุราอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 และเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง การดื่มสุรา (โดยเฉพาะการดื่มหนัก) สามารถกดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน และยังเพิ่มโอกาสเกิดโรคทางเดินหายใจรุนแรงได้
การดื่มสุราเพิ่มการแพร่เชื้อโควิด-19 โดยลดความยับยั้งชั่งใจทางสังคมแม้ดื่มเพียงเล็กน้อยก็ตาม และเป็นเหตุทำให้ความเจ็บป่วยรุนแรงเมื่อดื่มปริมาณมากขึ้น จากการไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันต่าง ๆ เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม และการล้างมือ เป็นต้น
ผู้ที่ดื่มสุราอย่างหนัก และผู้ดื่มประจำควรจะลดหรือหยุดดื่มสุราลงในช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างรุนแรงมากในประเทศไทย
ผู้ดื่มสุราที่ยังไม่สามารถเลิกดื่มได้ ก็ควรจะงดดื่มอย่างน้อย 48-72 ชั่วโมงก่อนและหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะได้อยู่ในสภาพที่พร้อมเต็มที่ในการตอบสนองต่อวัคซีน และเนื่องจากผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนบางคนอาจจะมีอาการข้างเคียงจากวัคซีน เช่น ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย หรืออาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หากร่างกายอ่อนแอจากการดื่มสุรา ก็อาจทำให้อาการเหล่านี้รุนแรงมากขึ้น หรือทนต่ออาการเหล่านี้ไม่ค่อยได้ นอกจากนี้ หากดื่มจนเมาหรือดื่มหนักมากในคืนก่อนฉีด ผู้ดื่มก็อาจจะมีอาการถอนสุรา เช่น อาการเหงื่อออก คลื่นไส้ หรือ อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง กระวนกระวายกระสับกระส่าย และปวดศีรษะ ในวันที่ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งอาจจะแยกได้ยากว่า เป็นอาการข้างเคียงที่เกิดจากการได้รับวัคซีนเข้าไปหรืออาการถอนสุรา และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอย่างอื่นตามมาอีกด้วย
การสำรวจพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และพฤติกรรมสุขภาพในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประชาชนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 15 จังหวัด (ครั้งที่ 1)
Final-Report_Drinking-during-COVID-19_2021_1สาขาวิชาระบาดวิทยา อาคารบริหาร ชั้น 6 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 15 ถ.กาญจนวนิช ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
โทรศัพท์ : 083-5775533 (เวลาราชการ 08.30 - 16.30 น.)
Copyright © 2019 CAS All rights reserved.