ทำไมจึงต้องมี “พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”
ตอบ เพราะ “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช่สินค้าธรรมดา” เนื่องด้วยเป็นสารที่มีฤทธิ์อันตรายอยู่ ๓ ประการด้วยกัน คือ
๑) เป็นสารพิษ สารก่อมะเร็ง และสารที่ก่อให้เกิดความพิการทั้งทางร่างกายและสมองในเด็กที่อยู่ในครรภ์มารดา
๒) เป็นสารที่ออกฤทธิ์กดประสาททำให้ขาดสติสัมปชัญญะและความยับยั้งชั่งใจ จึงก่ออาชญากรรมและความรุนแรงต่างๆ ได้ง่าย
๓) เป็นสารเสพติดหรือยาเสพติดประเภทหนึ่งนั่นเอง ที่แม้ฤทธิ์เสพติดอาจไม่รุนแรงเท่าเฮโรอีนแต่เนื่องจากเป็นสารเสพติดที่ถูกกฎหมายจึงมีผู้ใช้จำนวนมากส่งผลให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางมากกว่าผลกระทบจากยาเสพติดทุกตัวรวมกันเป็นร้อยเป็นพันเท่า (คล้ายกับโรคอีโบลาเป็นเฮโรอีน กับโรคโควิด-19 เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์)
จากสถิติทางสาธารณสุขของไทยเรา พบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของการสูญเสียคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยอันดับต้นๆ และมีแนวโน้มที่จะคุกคามคุณภาพชีวิตของคนไทยรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อลดภาวะคุกคามนี้
จากการศึกษาทั่วโลกพบว่าการที่จะหยุดยั้งภัยคุกคามนี้ที่มีประสิทธิภาพสูง ต้องใช้สามมาตรการดังต่อไปนี้
๑) การจำกัดการเข้าถึงทางกายภาพ (สถานที่/ วันเวลา/ บุคคล)
๒) การจำกัดการเข้าถึงทางเศรษฐศาสตร์ (ภาษี)
๓) การจำกัดการเข้าถึงทางใจ คือ การไม่ให้มีการโฆษณาสื่อสารการตลาด
ซึ่งจากรายงานวิจัยพบว่าไม่อาจจะทำเพียงมาตรการใดมาตรการหนึ่งเพียงอย่างเดียวได้ แต่ต้องดำเนินการทุกมาตรการไปพร้อมๆ กัน จึงจะได้ผล แต่อย่างไรก็ดีมาตรการห้ามการโฆษณานี้สำคัญมากเพราะถ้าไม่ดำเนินการห้ามโฆษณาหรือปล่อยให้มีการสื่อสารการตลาดเชิญชวนเชิญเชื่อได้อิสระแล้ว มาตรการอื่นๆ แม้จะทำเต็มที่แล้วก็จะไม่ได้ผลสำเร็จ
จะเห็นได้ว่ามาตรการที่มีประสิทธิภาพเหล่านี้ จำเป็นต้องมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของคนส่วนหนึ่งบ้าง เพื่อประโยชน์ของมหาชนส่วนรวม จึงมีความจำเป็นต้องตราออกมาเป็นกฎหมายนี้ขึ้นมา
สำหรับประเด็นที่ขัดรัฐธรรมนูญนั้น ไม่เป็นการขัดรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน เพราะ
๑) กฎหมายฉบับนี้ร่างโดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีศาสตราจารย์ทางกฎหมายมหาชน และกฎหมายอาญาระดับแนวหน้าของประเทศร่วมร่างอยู่ด้วย
๒) ร่างกฎหมายนี้ได้ผ่านการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนจากคณะกรรมการกฤษฎีกา
๓) ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดเจนว่ามิได้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
๔) สำหรับกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ได้จำกัดสิทธิของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ขาย และผู้สูบบุหรี่ไว้มากกว่าที่กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้จำกัดไว้อย่างมาก
จึงขอย้ำว่ากฎหมายนี้ (พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) ไม่ได้ขัดกับรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชนสากลแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับตรงตามเจตนารมณ์หรือจิตวิญญาณที่แท้จริงอย่างเคร่งครัด ดังนี้
๑) ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และช่วยสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน โดยให้ตระหนักถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งกำหนดมาตรการในการป้องกันเด็กและเยาวชนมิให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๓๒ เป็นมาตรการหนึ่งในการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้กระทำได้ภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด ด้วยเหตุที่อิทธิพลจากการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีผลกระทบโดยตรงต่อพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชน แม้ว่าการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีผลกระทบต่อการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ประกอบอาชีพดังกล่าว ซึ่งหากฝ่าฝืน มีความผิดและมีโทษทางอาญาอันเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพ อยู่บางส่วนก็ตาม แต่ก็เป็นการจำกัดเสรีภาพภายในขอบเขตตามที่รัฐธรรมนูญ ซึ่งให้อำนาจกระทำได้เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นการจัดระเบียบการประกอบอาชีพ และเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่จำกัดเสรีภาพเพียงเท่าที่จำเป็น เนื่องจากมิได้ห้ามการโฆษณาโดยเด็ดขาด หากการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์ย่อมสามารถกระทำได้ มิได้กระทบกระเทือน ต่อสาระสำคัญแห่งเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพของบุคคลแต่อย่างใด โดยมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปกับบุคคลที่ขายสินค้าประเภทนั้น และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง อันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ
๒) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนประกอบด้วยข้อความ ๓๐ ข้อ โดยขอยกเพียงสามข้อแรก ก็สนับสนุนกฎหมายนี้อย่างชัดเจน ข้อ ๑ ทุกคนมีศักดิ์ศรี สิทธิ และเสรีภาพเท่าเทียมกัน และต้องปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้อง ซึ่งถ้าเรามองประชาชนคนไทยเป็นพี่น้องของเรา คงจะไม่โฆษณาเชิญชวนให้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นสารพิษ สารก่อมะเร็ง สารเสพติด มาดื่มอย่างแน่นอนใช่ไหม? ข้อ ๒ ทุกคนมีสิทธิ และเสรีภาพ อย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ชัดเจนแล้วว่ากฎหมายนี้มิได้มีการมุ่งหมายให้ใช้บังคับกับกรณีใดกรณีหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง คือมิได้มีการเลือกปฏิบัตินั่นเอง และ ข้อ ๓ ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิตอยู่ และมีความมั่นคง อันยิ่งชัดเจนว่าการโฆษณาส่งเสริมการขายสารทำลายสุขภาพและชีวิตแบบนี้ย่อมขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนอย่างชัดแจ้ง