News, ข่าวเด่น, สาระที่น่าสนใจ, สาระน่ารู้, เลือกโดยบรรณาธิการ

อิทธิพลของความเชื่อทางการเมือง ต่อพฤติกรรมสุขภาพ (ตอนที่ 1)

โดย…ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

ผมเขียนบทความชิ้นนี้ ในขณะที่ทั่วประเทศกำลังเผชิญหน้ากับทางแพร่งของการเลือกข้างทางการเมืองที่สำคัญครั้งหนึ่งของประเทศชาติ ในยามที่โลกทั้งใบกำลังเผชิญหน้ากับโรคระบาดครั้งใหญ่ในรอบหนึ่งร้อยปี ในอนาคตอันใกล้นี้วิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในโลกในรอบหลายร้อยปีจะถาโถมเข้าสู่รัฐเล็กรัฐใหญ่ในโลกอย่างไม่เลือกหน้า Globalization ที่ได้กลายเป็นทางเลือกหลักในการพัฒนาโลกตั้งแต่หลังยุครัฐชาติ ได้เชื่อมโลกทั้งใบไว้มากกว่าช่วงสมัยใด ๆ ของมนุษยชาติ ได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่จะทำให้วิกฤตโลกนั้นกระทบต่อกันอย่างที่เห็น เมื่ออนาคตอันใกล้มีวิกฤตขนาดใหญ่เช่นนี้ จึงไม่แปลกอะไรที่ผู้คนจะตั้งคำถามถึงแนวคิดทางการเมืองที่จะนำคนในชาติเผชิญหน้ากับวิกฤต เหตุผลที่สำคัญมาก ๆ ที่ต้องเลือกแนวคิดทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่งในการเผชิญหน้ากับภาวะคุกคามก็เพราะความหมายที่แท้จริงของการเมืองนั้นคือ แนวคิดในการบริหารทรัพยากรในสังคมใดสังคมหนึ่ง หากมีมนุษย์รวมกลุ่มมากกว่าหนึ่งคน เป็นธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันที่ต้องสร้างระบบการเมืองขึ้นมาเพื่อให้ทรัพยากรถูกแจกจ่าย และ ผู้ในในสังคมนั้น ๆ อยู่รอดมากที่สุด อำนาจทางการเมืองจะถูกแปรรูปไปเป็นอำนาจอื่น ๆ อีกหลากหลายรูปแบบ จึงไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไรที่คนรุ่นใหม่หลายพันหลายหมื่นคนทั่วประเทศ จะออกมาเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพื่อความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีกว่า แกนเรื่องสำคัญที่ดึงดูดคนจำนวนมากให้ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องเดียวกันอย่างพร้อมเพรียงกันมิใช่สิ่งอื่นใด นอกจากแกนความคิดทางการเมือง ตัวอย่างเพียงหนึ่งเดียวนี้พอจะแสดงให้เห็นได้ว่า เรื่องการเมืองมันสำคัญต่อจินตนาการของผู้คน และสำคัญต่อระเบียบชีวิตของผู้คนบนโลกนี้เช่นไร  

          ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา โลกผ่านการถกคิดและการต่อสู้ของแนวคิดทางการเมืองครั้ง สำคัญของคู่ตรงข้ามทางความคิดการเมืองมาหลายครั้งรวมไปถึงการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการเมืองทั้งหลาย แม้เหตุผลที่แท้จริงจะไม่ชัดเจนและไม่ใช่สิ่งที่พิสูจน์ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ได้ง่าย แต่เชื่อว่าการปฏิวัติทุกครั้งในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้น ปรัชญาทางการเมืองได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการหลอมความคิดคนร่วมสร้างจินตนาการแห่งชีวิตให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมทางการเมืองแบบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประชาธิปไตย สังคมนิยม เสรีนิยม อำนาจนิยม เผด็จการนิยม คอมมิวนิสต์ ศาสนานิยม อนุรักษ์นิยม ล้วนแล้วแต่มีปรัชญาที่ร้อยเรียงจินตนาการร่วมของผู้สนับสนุนให้เป็นเนื้อเดียวกันได้ ความเชื่อทางการเมืองได้สร้างแบบแผนของการดำเนินชีวิตจากจินตนาการถึงคุณค่าสำคัญของความเชื่อทางการเมืองนั้น ๆ (core value) จึงเป็นเหตุให้ผู้คนที่มาจากสังคมที่นับถือคนละความเชื่อทางการเมือง มีแนวโน้มที่จะมีความคิด จินตนาการต่อชีวิต และรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน รูปแบบชีวิตในที่นี้หมายถึงรูปแบบชีวิตของคนส่วนมากในทุก ๆ เรื่อง

การยกตัวอย่างเปรียบเทียบที่ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดคงต้องเปรียบเทียบประชากรของประเทศที่ปกครองคนละระบอบการเมืองที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง เช่น หากเรานึกถึงสภาพโดยทั่วไปของชายหนุ่มที่เกิดและเติบโตในประเทศสหรัฐอเมริกา และ สภาพโดยทั่วไปของชายหนุ่มที่เกิดและเติบโตจากประเทศเกาหลีเหนือ แม้เราที่อยู่ประเทศไทยจะไม่เคยเดินทางไปทั้งประเทศสหรัฐอเมริกาและเกาหลีเหนือ แต่จินตนาการจากข้อมูลที่เรารับรู้ที่ผ่านมา จะพอทำให้เราคาดเดาได้ว่า ชายหนุ่มจากสหรัฐอเมริกา น่าจะมีบุคลิคนิสัยเป็นอย่างไร ให้คุณค่ากับเรื่องอะไรบ้าง รวมไปถึง น่าจะมีพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง ในขณะเดียวกันหากเราคิดต่อในประเด็นเดียวกันกับชายหนุ่มจากเกาหลีเหนือ คงพบคำตอบคล้ายกันกับผมที่คิดว่า ชายหนุ่มจากเกาหลีเหนือโดยทั่วไปแล้ว คงมีบุคลิกนิสัยใจคอแตกต่างจากอเมริกัน สิ่งที่เขาให้คุณค่าน่าจะต่างกัน รวมไปถึงพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตในแต่ละวันก็ต่างกันกับอเมริกันหนุ่ม โชคดีที่ผมมีโอกาสได้สัมผัสพบเจอชายหนุ่มทั้งจากเกาหลีเหนือและสหรัฐอเมริกา ทำให้ผมพิสูจน์ได้ว่า ข้อสันนิษฐานในเรื่อง ค่าเฉลี่ยในจินตนาการของผมต่อคนพลเมืองสองประเทศนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจริง ๆ

          คราวนี้กลับมาในเรื่องพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งเป็นใจความหลักของเนื้อหาในบทความนี้ มีนักวิจัยช่างสังเกตจำนวนหนึ่งได้ตั้งคำถามว่า หากรูปแบบการเมืองที่ใช้ปกครองส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนภายใต้ระบอบการปกครองนั้น ๆ  แล้ว สำหรับพฤติกรรมทางสุขภาพ ความเชื่อทางการเมืองส่งผลอย่างไรกับประเด็นนี้บ้าง ก่อนจะไปที่ผลการสำรวจและการศึกษาที่เคยผ่านมา อยากลองให้ผู้อ่านทุกท่านได้ลองจินตนาการดู เอาแค่พฤติกรรมสุขภาพไม่กี่เรื่องก็พอครับ เรื่องการรับประทานอาหาร การออกกำลัง กายสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ ท่านผู้อ่านคิดว่ารูปแบบการเมืองของรัฐชาติใดรัฐชาติหนึ่ง จะส่งผลต่อพฤติกรรมสุขภาพของคนในรัฐนั้น ๆ อย่างไร ลองใส่ความคิดเห็นของท่านลงในตารางช่องว่างข้างล่างนี้ดูนะครับ

 รับประทานอาหารออกกำลังกายสูบบุหรี่ดื่มแอลกอฮอล์
สังคมนิยม    
คอมมิวนิสต์    
ประชาธิปไตย    
ศาสนานิยม    
สมบูรณาญาสิทธิราชย์    

ในปี ค.ศ. 2000 J J Murrow และ คณะ (1) ได้ศึกษาความสัมพันธ์ของความเชื่อทางการเมือง และพฤติกรรมสุขภาพ สมมติฐานที่เขาตั้งขึ้นมาก็คงคล้ายกับคนขี้สงสัยหลายคนในโลกว่า ถ้าคนเราอยู่ภายใต้รูปแบบการปกครองและกระแสความเชื่อทางการเมืองที่ต่างกัน จะมีพฤติกรรมสุขภาพเป็นแบบไหนและเป็นอย่างไร แม้หน้าที่หลักของรัฐบาลใด ๆ ในโลกจะต้องดูแลสวัสดิภาพ (ซึ่งรวมไปถึงสุขภาพ) ของประชาชนเหมือนกัน แต่หากแนวคิดทางการเมืองต่างกัน การจัดลำดับความสำคัญในแต่ละสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจะแตกต่างกันด้วย ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นพื้นที่ศึกษาของงานวิจัยชิ้นนี้แม้จะอยู่ในระบอบปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ในประเทศก็มีแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน เช่น เสรีนิยม – อนุรักษ์นิยม ซึ่งให้คุณค่าในหลายสิ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง นิยามสำคัญของความเป็นเสรีนิยม คือ ความก้าวหน้า ความคิดเปิดกว้าง เปิดรับความหลากหลาย กล้าคิดกล้าทำ พร้อมเปลี่ยนแปลง เสรีนิยมมักตามด้วยการเปิดตลาดเสรีเพื่อให้เกิดการแข่งขันสูงสุด และให้ตลาดควบคุมตัวเอง  ส่วนเมื่อเอ่ยถึงอนุรักษ์นิยม นิยามของคำนี้คือ เชื่อมั่นในการปกครองอย่างผูกขาดโดยคนชั้นสูง (aristocratic ideology) เชื่อในการเมืองเชิงประจักษ์ หรือ เรียกว่าไม่โลกสวยทางการเมือง (political pragmatism) คำนึงถึงบริบทและสถานการณ์มากกว่าอุดมการณ์ที่เกินจริง เชื่อในเรื่องการควบคุมความคิดและพฤติกรรม  วิธีการสำรวจที่ทีมวิจัยนี้ได้ทำคือการไปสัมภาษณ์เก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างประมาณ 4,200 คน สอบถามพวกเขาด้วยคำถามสองกลุ่มคือ คำถามกลุ่มแรกคือกลุ่มคำถามเกี่ยวกับการให้คุณค่าในสิ่งต่าง ๆ (self-report characterizations) ซึ่งใช้เพื่อแยกกลุ่มตัวอย่างออกตามแนวคิดทางการเมืองที่กลุ่มตัวอย่างนับถือ แบ่งออกเป็นสามกลุ่มคือ อนุรักษ์นิยม ทางสายกลาง และเสรีนิยม

คำถามกลุ่มสองเป็นคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพ โดยถามทั้งในพฤติกรรมสุขภาพด้านบวก เช่น การให้คุณค่าต่อตัวเอง การดูแลตัวเอง เป็นต้น และคำถามที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มพฤติกรรมสุขภาพที่เป็นด้านลบต่อสุขภาพ เช่น การรับประทานอาหาร การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นอนุรักษ์นิยมเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างระมัดระวังในการมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระมัดระวังต่อปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านสิ่งแวดล้อม กฎหมาย โครงสร้างสังคม กลุ่มที่มีค่านิยมทางการเมืองแบบสายกลางโดดเด่นในด้านการเคารพต่อตัวเอง เชื่อมั่นในคุณค่าของตัวเอง (Self-actualization) และมีแนวโน้มที่จะสนใจเรื่องพฤติกรรมสุขภาพด้านบวกน้อยที่สุด ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่มีค่านิยมทางการเมืองแบบเสรีนิยม เป็นกลุ่มที่ใส่ใจเรื่องความเสี่ยงทางสุขภาพและปัจจัยการป้องกันสุขภาพของปัจเจกบุคคล (ตนเอง) สูงสุด

          ขยับไปดูการศึกษาจากประเทศที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยบ้าง สังคมนิยม และ แนวทางคอมมิวนิสต์ เคยเป็นปฏิปักษ์สำคัญของแนวทางการปกครองแบบประชาธิปไตย อันที่จริงแล้ว แนวทางทั้งสองต่างถกกันเรื่องสิทธิในการกระจายอำนาจแก่ผู้คนหมู่มากในสังคมทั้งสิ้น แต่ในทางปฏิบัติการกระจายอำนาจของทั้งสองรูปแบบแตกต่างกัน คอมมิวนิสต์ได้กลายเป็นระบอบการปกครองหลักของประเทศในฝั่งยุโรปตะวันออก จากอิทธิพลของการปฏิวัติของบอลเชวิคในรัสเซีย คอมมิวนิสต์ได้รื้อถอน ค่านิยมเดิมในสมัยก่อนโซเวียต อันได้แก่ ระบอบเจ้าขุนมูลนายในสมัยการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใต้ราชวงศ์โรมานอฟของรัสเซีย คำสอนทางศาสนาแบบคริสต์นิกายออโธดอกซ์ ข้อค้นพบจากการเก็บข้อมูลอย่างกว้างขวางของนักวิจัยในยุคสมัยนั้นพบว่า การเปลี่ยนระบอบการปกครองในช่วงเวลานั้น ได้ก่อให้เกิดพฤติกรรมลบต่อสุขภาพหลายอย่าง และ หนึ่งในวัฒนธรรมใหม่ที่เกิดขึ้นหลังคอมมิวนิสต์คือการดื่มเหล้าอย่างหนักของคนในสังคมรัสเซีย (2,3) หนึ่งในข้อสันนิษฐานที่กล่าวถึงกันคือ สังคมใดก็ตามที่มีการอุปถัมภ์ของรัฐในระดับสูง จะลดปราถนาต่อการมีสุขภาพที่ดีของปัจเจกบุคคล และแน่นอนว่าระบอบคอมมิวนิสต์ที่รัฐเป็นผู้จัดการทุกสิ่ง ทำให้ประชาชนเชื่อว่า หากวันหนึ่งเจ็บไข้ได้ป่วย รัฐก็ต้องช่วยรับผิดชอบความเจ็บป่วยนั้น จนละเลยการสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่ดี (4) และอีกเหตุผลสำคัญคือ ความเชื่อการเมืองแบบคอมมิวนิสต์นั้นปฏิเสธความเชื่อทางศาสนาทั้งหมด ซึ่งทำให้ผู้คนในสหภาพโซเวียตดื่มวอดก้าและสูบบุหรี่มากขึ้น (5)

เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายกลายเป็นประเทศเล็กประเทศน้อยกว่าสิบหกประเทศ นักระบาดวิทยาก็ยังคงตั้งคำถามในประเด็นเดิมว่า ในกลุ่มประเทศที่แยกออกมาจากรัสเซีย ความเป็นสังคมนิยมและความเป็นประชาธิปไตยในแต่ละประเทศจะส่งผลต่อพฤติกรรมสุบภาพอย่างไร ก็พบคำตอบคล้ายเดิมคือ ประเทศที่มีแนวโน้มเป็นสังคมนิยมมากกว่า ประชาชนในประเทศมีแนวโน้มจะดูแลรักษาสุขภาพตัวเองได้น้อยกว่า คนที่นิยมในแนวทางสังคมนิยมมีแนวโน้มจะดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าเมื่อเทียบกับคนต่อต้านสังคมนิยม (3) นอกจากนั้นคนที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์มักมีไลฟ์สไตล์ด้านสุขภาพที่ดีมากกว่าเมื่อเทียบกับคนที่นิยมในคอมมิวนิสต์ (2)   

จะเห็นได้ว่า แค่ค่านิยมทางการเมืองที่แตกต่างกัน ก็ทำให้คนมีพฤติกรรมสุขภาพแตกต่างกัน แม้ว่าคนจะอยู่ในภูมิภาคหรือชาติพันธ์เดียวกัน แต่เพียงแค่ต่างเวลาต่างการปกครอง ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพแล้ว บทความตอนนี้ขอนำเสนอเกริ่นไว้ก่อน ว่าแนวคิดทางการเมืองที่ใช้สร้างนโยบาย กฎหมาย และ รูปแบบการปกครอง ส่งผลต่อวิถีชีวิตของคนมากขนาดไหน สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านการส่งเสริมและป้องกันสุขภาพ ก็จะได้เห็นภาพชัดขึ้นว่า แนวทางทางการเมืองที่แบบใดจะก่อให้เกิดความคิดตอบสนองต่อประชาชนและสร้างพฤติกรรมสุขภาพแบบไหน เราจะได้นำกลับไปคิดและวางแผนให้เหมาะสมกับบริบทแนวคิดทางการเมืองที่มีอิทธิพล ณ ห้วงเวลานั้น ๆ ครับ ตอนต่อไป ผมจะนำเสนอข้อค้นพบจากการสำรวจแนวคิดทางการเมืองและพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์จากการรวบรวมข้อมูลมากกว่า 50 ปี ในประเทศสหรัฐอเมริกา น่าสนใจมากครับ ติดตามอ่านตอนต่อไปในเร็ว ๆ นี้ครับ

เอกสารอ้างอิง

  1. Murrow JJ, Coulter RL, Coulter MK. Political ideologies and health-oriented beliefs and behaviors: an empirical examination of strategic issues. J Health Hum Serv Adm. 2000;22(3):308-345.
  2. Cockerham WC, Hinote BP, Cockerham GB, Abbott P. Health lifestyles and political ideology in Belarus, Russia, and Ukraine. Soc Sci Med. 2006 Apr 1;62(7):1799–809.
  3. Cockerham WC, Snead MC, DeWaal DF. Health Lifestyles in Russia and the Socialist Heritage. J Health Soc Behav. 2002;43(1):42–55.
  4. Shkolnikov VM, Cornia GA, Leon DA, Meslé F. Causes of the Russian mortality crisis: Evidence and interpretations. World Dev. 1998 Nov 1;26(11):1995–2011.
  5. Population NRC (US) C on, Bobadilla JL, Costello CA, Mitchell F. The Anti-Alcohol Campaign and Variations in Russian Mortality [Internet]. Premature Death in the New Independent States. National Academies Press (US); 1997 [cited 2020 Aug 5]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK233403/
News, ข่าวเด่น, บทความ, สาระที่น่าสนใจ, สาระน่ารู้

ตีแผ่ความจริง การดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ทำให้เกิดผลดีเวลาออกกำลังกาย

แปลและเรียบเรียงโดย ดร.วิทย์ วิชัยดิษฐ

หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ที่มา: แปลมาจากบทความ The Truth About Alcohol and Exercise ของ Yvonne O Brien (https://www.indi.ie/fact-sheets/fact-sheets-on-sports-nutrition/518-the-truth-about-alcohol-and-exercise.html)

ผลของแอลกอฮอล์ต่อการเล่นกีฬา

การดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างออกกำลังกาย อาจทำให้สมรรถภาพในการเล่นกีฬาของคุณเปลี่ยนไป เนื่องจาก…

1. การดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายขาดน้ำ แอลกอฮอล์เป็นสารขับปัสสาวะ ทำให้ไตผลิตปัสสาวะมากขึ้น การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปจึงอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ การออกกำลังกายหลังดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้ร่างกายยิ่งขาดน้ำมากขึ้นไปอีก เพราะออกกำลังกายแล้วเสียเหงื่อ และเมื่อเราขาดน้ำ ก็ทำให้สมรรถภาพร่างกายลดลง หากจะออกกำลังกาย ควรดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อให้เลือดไหลไปทั่วร่างกายให้กล้ามเนื้อได้รับออกซิเจนและสารอาหารได้ดี ทำให้ออกกำลังกายได้เต็มที่

2. แอลกอฮอล์ส่งผลต่อการสร้างพลังงานในร่างกาย แอลกอฮอล์ถูกย่อยสลายในตับ และเมื่อตับเราย่อยสลายแอลกอฮอล์ หน้าที่อื่นๆ ของตับจะกลายเป็นเรื่องรอง ซึ่งรวมถึงการผลิตกลูโคสด้วย และร่างกายเราต้องการกลูโคสเป็นพลังงาน หากตับสร้างกลูโคสไม่พอเนื่องจากต้องขับแอลกอฮอล์ออกไป ร่างกายเราจะอ่อนเพลียและวิ่งตามคนอื่นไม่ทัน

3. แอลกอฮอล์ทำให้ระบบประสาทที่ส่งสัญญาณไปทั่วร่างกายทำงานช้าลง ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งฤทธิ์ในส่วนนี้อาจอยู่ได้สักพักหนึ่ง และทำให้ปฏิกิริยา การเคลื่อนไหว ความแม่นยำและสมดุลของร่างกายต่ำกว่าปกติระหว่างออกกำลังกายและแข่งกีฬา

คืนก่อนออกกำลังกาย และวันหลังออกกำลังกาย

– การดื่มแอลกอฮอล์คืนก่อนออกกำลังกายอาจส่งผลเสียต่อสมรรถภาพของร่างกายในวันต่อมาได้ หากเรามีอาการ “เมาค้าง” หรือแฮงค์ เช่น ขาดน้ำ ปวดหัว เราจะไม่สามารถเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายได้อย่างเต็มที่

– ระหว่างที่ออกกำลังกาย กล้ามเนื้อของเราจะเผาผลาญกลูโคสเพื่อให้ได้พลังงาน ทำให้เกิดกรดแลคติก ซึ่งหากมีกรดแลคติกมากเกินไป จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงและเป็นตะคริว หากเราออกกำลังกายหลังดื่มแอลกอฮอล์ ตับจะต้องทำงานหนักเพื่อกำจัดสารพิษจากแอลกอฮอล์ ทำให้กำจัดกรดแลคติกไม่ได้เต็มที่ ทำให้มีโอกาสเป็นตะคริวได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้เราไม่มีแรงหรือรู้สึกเหนื่อยได้ง่ายขึ้นด้วย

– ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ในคืนก่อนออกกำลังกาย โดยเฉพาะหากมีกิจกรรมที่หนักปานกลางหรือหนักมาก อย่างไรก็ดี หากจะดื่ม ควรจำกัดจำนวนแก้วและดื่มระหว่างที่กินอาหาร

– หลังออกกำลังกายก็ไม่ควรดื่มเช่นกัน หากยังไม่ได้ดื่มน้ำอย่างเพียงพอเพื่อทดแทนน้ำในร่างกายที่หายไปกับเหงื่อ

ผลต่อสุขภาพอื่นๆ

น้ำหนักเพิ่ม

แอลกอฮอล์มีแคลลอรี่สูง กรัมละเจ็ดแคลอรี่ แทบจะมากเท่ากับก้อนไขมัน หากคุณออกกำลังกายเพื่อจัดการน้ำหนัก การดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้คุณได้รับ “แคลลอรี่ไร้ประโยชน์” กลับมาและทำให้ลดน้ำหนักไม่สำเร็จ นอกจากนี้ เมื่อดื่มไปได้สักพัก คุณอาจรู้สึกอยากกินอาหารแคลอรี่สูง ซึ่งยิ่งทำให้การลดน้ำหนักยิ่งมีโอกาสล้มเหลวมากขึ้นอีก

กล้ามเนื้อเติบโตได้น้อย

แอลกอฮอล์ทำให้การนอนไม่เป็นปกติ ซึ่งร่างกายของเราจะหลั่งฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อออกมาในช่วงที่เราหลับสนิท การดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้การนอนหลับไม่เป็นปกติและทำให้กล้ามเนื้อโตได้ช้าลง

อัตราการเต้นหัวใจเปลี่ยนแปลง

เรื่องที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ การดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ ซึ่งความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นมากเมื่อออกกำลังกายภายในสองวันหลังจากดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก ความเสี่ยงนี้แตกต่างกันไปในแต่ละคน การออกกำลังกายทำให้ตัวใจเต้นเร็วขึ้น หากดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก หัวใจยิ่งต้องทำงานหนักยิ่งขึ้นไปอีก

แผลหายช้า

แอลกอฮอล์ทำให้เส้นเลือดที่ผิวหนัง แขน และขา ขยายตัว ทำให้มีเลือดไปหล่อเลี้ยงมากขึ้น เวลาเป็นแผลเลือดจะไหลเยอะและบวมมากกว่าปกติ ทำให้แผลหายช้า

หากเวลาเข้าสังคม ท่านต้องการลด ละ เลิกดื่ม ควรพิจารณาแนวทางต่อไปนี้

– วางแผนล่วงหน้า – คิดดูว่าจะไปไหน ไปเจอใคร และจะดื่มมากแค่ไหน แล้วทำตามแผน

– กินอาหารก่อนหรือระหว่างดื่มแอลกอฮอล์ – การกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตมากหลังออกกำลังกาย ช่วยชดเชยพลังงานที่กล้ามเนื้อสูญเสียไป การกินอิ่มท้องจึงช่วยทำให้เราดื่มแอลกอฮอล์ช้าลง

– ค่อยๆ ดื่ม – ดื่มแอลกอฮอล์สลับกับเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ หากเราหิวน้ำ เราจะดื่มแอลกอฮอล์เร็ว ดังนั้นจึงควรมีเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ดับกระหายก่อนที่จะเริ่มดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะหลังออกกำลังกาย

– ดื่มช้าๆ ค่อยๆ จิบ อย่าดื่มเป็นอึก จิบแล้วให้วางแก้ว

– เลือกเครื่องดื่มดีๆ เลือกเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ต่ำหรือใช้แก้วขนาดใหญ่ผสมเหล้าเข้ากับมิกเซอร์เยอะๆ

– เป็นคนอาสาขับรถพาเพื่อนกลับบ้าน (designated driver) หากคุณตัดสินใจไม่ดื่มและกลัวว่าจะโดนคนอื่นคะยั้นคะยอ ให้บอกคนอื่นว่าคุณตั้งใจจะเป็นคนที่ช่วยขับรถพาเพื่อนกลับบ้าน

– ดื่มให้หมดทีละแก้ว – อย่าให้คนอื่นเติมแก้วให้ก่อนที่จะดื่มหมดแก้ว หากทำแบบนั้น เราจะไม่รู้ว่าดื่มไปมากเท่าไหร่แล้ว

– ทำโน่นทำนี่ระหว่างดื่ม – เวลาที่เรายุ่งกับเรื่องอื่น เราจะดื่มน้อยลง ออกไปเต้นหรือเดินไปโน่นไปนี่ อย่ามัวแต่นั่งดื่มอย่างเดียว

– ก่อนนอนอย่าลืมดื่มน้ำเยอะๆ การดื่มน้ำก่อนนอนช่วยป้องกันการแฮงค์ได้ การดื่มน้ำเยอะๆ คั่นสลับกับการดื่มแอลกอฮอล์ ก็ช่วยป้องกันการแฮงค์ได้เช่นกัน

News, ข่าวเด่น, บทความ, สาระน่ารู้

วิจัยถอดรหัสวิธีขายและการกระตุ้นยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่องทางออนไลน์: การเพิ่มโอกาสให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงเหล้าได้ง่ายขึ้นในยุคดิจิตัล

Article-n-14

News, ข่าวเด่น, สาระที่น่าสนใจ, สาระน่ารู้, สื่อเผยแพร่, หนังสือ, เอกสารประกอบการประชุม

แนวทาง ลด ละ เลิกเหล้ากันเถอะ การดูแลเชิงรุกในชุมชนสำหรับผู้มีปัญหาการดื่มสุรา ฉบับประชาชน

เอกสารแนะนำ แนวทาง ลด ลด เลิกเหล้ากันเถอะ การดูแลเชิงรุกในชุมชนสำหรับผู้มีปัญหาการดื่มสุรา ฉบับประชาชน

book_เล่ม-1_เอกสารแนะนำ-1

คู่มือผู้ช่วยเหลือ ตามแนวทาง “ลด ละ เลิกเหล้ากันเถอะ” การดูแลเชิงรุกในชุมชนสำหรับผู้มีปัญหาการดื่มสุรา ฉบับประชาชน

Book_เล่ม-2_คู่มือ-1

แบบบันทึก “ลด ละ เลิกเหล้ากันเถอะ”

โปสเตอร์ เตรียมตัวดี ไม่มีดื่ม

ประชาสัมพันธ์ เชิญชวนเข้าร่วมแนวทาง “ลด ละ เลิกเหล้ากันเถอะ”

News, ข่าวเด่น, บทความ, สาระที่น่าสนใจ, สาระน่ารู้

สรุปประเด็นสำคัญจากผลการสำรวจพฤติกรรมการดื่มสุราและการรับรู้นโยบายในช่วงวิกฤตโควิด

สรุปประเด็นสำคัญสำรวจรอบสอง__๒๑_๐๕_๒๕๖๓

News, ข่าวเด่น, บทความ, สาระที่น่าสนใจ, สาระน่ารู้, เลือกโดยบรรณาธิการ

ทบทวนกลยุทธ์การสื่อสารตราสินค้าธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงสังคม lock down: เมื่อพฤติกรรมการดื่มเปลี่ยน

ทบทวนการสื่อสารตราสินค้า

1 2 11 12 13 14 15 22 23
Privacy Settings
We use cookies to enhance your experience while using our website. If you are using our Services via a browser you can restrict, block or remove cookies through your web browser settings. We also use content and scripts from third parties that may use tracking technologies. You can selectively provide your consent below to allow such third party embeds. For complete information about the cookies we use, data we collect and how we process them, please check our Privacy Policy
Youtube
Consent to display content from - Youtube
Vimeo
Consent to display content from - Vimeo
Google Maps
Consent to display content from - Google
Spotify
Consent to display content from - Spotify
Sound Cloud
Consent to display content from - Sound

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors