“ความวัว” ยังไม่ทันจะจางหายไป แล้ว “ความควาย” กำลังจะเข้ามาทับถม เริ่มจากรัฐบาลปัจจุบัน ได้ประกาศปลดล็อค ให้สถานบริการในโรงแรม และนอกโรงแรมของ 5 พื้นที่นำร่อง สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้ถึงเวลาตี 4 แล้วถัดมาไม่กี่วัน กรมสรรพสามิตเผยว่าอยู่ในระหว่างปรับโครงสร้างภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีความเหมาะสม เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ จึงเสนอให้รัฐบาลลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเน้นการลดภาษีไวน์ และสุราชุมชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้กระจายทั่วไทย
ในทางวิชาการนั้น หลักการเก็บภาษีจากผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็น “ทำนบกั้น” มิให้ปัญหา ต่าง ๆ ลุกลาม ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกประเทศล้วนต้องจำกัดปัญหาต่อสังคมจากการขายและการดื่ม ถ้ารัฐบาลจะลดทำนบนั้นลง โดยลดภาษีให้แก่ผู้ผลิต ประชาชนเราทั่วไป เดาได้ไม่ยากเลยว่า ราคาขายปลีก ย่อมลดลง แล้วผลลัพธ์อันไม่พึงประสงค์จะมีตามมา อย่างไรบ้าง
ผลการศึกษาในต่างประเทศ เช่น ฟินแลนด์ กับ เดนมาร์ก ภายหลังปรับลดภาษีเหล้า เบียร์ ไวน์ 45% ปรากฏว่า ราคาขายได้ลดลงไป 25% คนในประเทศฟินแลนด์ มีการดื่มเพิ่มขึ้น 10% เพราะราคาขายปลีกถูกลง ส่วนคนในประเทศเดนมาร์ก มีการดื่มเท่าเดิม ซึ่งดูเหมือนว่า จะมีการอิ่มตัวของการบริโภคในเดนมาร์ก แต่ถ้าเราตีความจากผลการศึกษาในเดนมาร์ก ให้พึงนึกถึงบริบทวัฒนธรรมการกินดื่มในยุโรปหลายประเทศนั้น ต่างจากในไทยเราอย่างสิ้นเชิง
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในรอบ 4 ปีมานี้ พบว่า คนไทยมีผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 30% อีก 70% ไม่ได้ดื่ม คือ อาจเคยดื่มและเลิกแล้ว หรือไม่ดื่มเลย ที่น่าสนใจคือ ไทยเรามีนักดื่มหน้าใหม่ ที่อายุ 15 ปีขึ้นไปมากขึ้น อย่างในปี 2564 มีราว ๆ 1.4 ล้านคน ที่น่าตกใจกว่านั้น วัยรุ่นหญิงที่ดื่มในปัจจุบัน มีจำนวนเพิ่มขึ้น
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในทางเศรษฐศาสตร์นั้นเป็นสิ่งที่ผู้ซื้อ ไม่ได้สนใจราคามาก คือ ยามต้องการจะดื่ม แม้ราคาสูงขึ้น ก็ยินดีซื้อกินดื่ม แล้วถ้ายิ่งรัฐบาลจะลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยแล้ว ราคาขายปลีกจะถูกลง ย่อมมีผลจูงใจผู้ซื้ออย่างเยาวชน และผู้มีรายได้น้อย ให้ซื้อดื่มมากขึ้นไปอีก
ทำไมรัฐจึงไม่ห่วงใยสุขภาพและความปลอดภัยแก่สาธารณชนโดยรวมเลย แล้วไทยเรายังมีกรอบใหญ่อีกอันรออยู่ คือ กลุ่มประเทศยุโรป (EU) กำลังขอเจรจาเปิดเสรีการค้ากับไทย ซึ่งถ้าผลการเจรจาตกลงแล้วเสร็จ โดยไม่มีการยกเว้นสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกจากกรอบข้อตกลงการค้าเสรี สินค้าผ่านแดนเข้า-ออก ระหว่างไทยกับยุโรป อัตราภาษีจะเป็น 0% หรือ บางรายการเก็บในอัตราที่ต่ำมากในอนาคต รวมถึงไวน์กับเหล้า ที่รอหลากทะลัก เข้ามายังไทยอีกมากมาย
ที่น่ากังวลในทางสาธารณสุข คือ สถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจมีผู้ท้วงว่า การลดภาษีลง ราคาขายปลีกลดลง แล้วถ้าไม่ได้มีอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น ก็จะไม่เป็นปัญหาอันใด ซึ่งก็จริง แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นเล่า ผลจะเป็นอย่างไร ไทยเรามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ปีละ 2 หมื่นคน แล้ว 1 ในสาเหตุนั้น เกิดจากการเมาแล้วขับ มีคนตายประมาณ 1,000–2,000 คน และได้รับบาดเจ็บอีกหลายพันคนต่อปี แล้วยังต้องสูญเสียทรัพย์สิน และสร้างภาระต่อเนื่องไปยังสมาชิกครอบครัวผู้อยู่ข้างหลังในระยะยาว
ดูผิวเผิน รัฐบาลมีเจตนาต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มการจ้างงานและรายได้ ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์นั้น มีอยู่หลายวิธี แต่ครั้นดูจากรายงานข่าว น่าประหลาดที่รัฐบาลจะเลือกวิธีกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวกินดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยมากขึ้น และ แน่นอนว่าคนไทยเราเอง ย่อมดื่มเพิ่มขึ้นด้วย เพราะราคาถูกลง แล้วเช่นนั้น สังคมไทยจะต้องแลกอะไรบ้างกับนโยบายนี้ อย่างแรก รัฐจะเสียรายได้บางส่วนอันควรได้จากภาษี ต่อมา ถ้ามีผู้มึนเมาแล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้น มีผู้ได้รับความเสียหาย ย่อมเกิดภาระยุ่งยากแก่หลายฝ่ายตามมา
คนไทยเราได้รับความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนประกันสังคม และสิทธิ์เบิกจ่ายข้าราชการ กลุ่มนี้มีจำนวนรวม 28% เท่านั้น อีก 70% ได้รับสิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือได้รักษาฟรี 16 อาการ ซึ่ง 1 ในนั้น เป็นการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เหตุเกิดที่ใด ให้เข้ารักษาโรงพยาบาลใกล้จุดนั้น เพื่อเยียวยาเบื้องต้น แต่ท้ายที่สุดแล้ว ผู้ประสบเหตุจะถูกส่งไปรักษาต่อ ในโรงพยาบาลที่ผู้นั้นได้ลงทะเบียนไว้แต่แรก โดยรัฐออกค่าใช้จ่ายเบื้องต้นให้ มีบางรายการที่ผู้ประสบเหตุต้องจ่ายเอง เช่น ค่าสแกนสมอง แล้วยังต้องแบกรับภาระการรักษาต่อเนื่อง การกายภาพบำบัด ความพิการ การสูญเสียหน้าที่การงาน หรือ แม้กระทั่งเสียชีวิต ซึ่งเป็นต้นทุนที่ต้องสูญไปไม่น้อยแก่ครอบครัวเลย
ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลในอดีตเน้นการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยต่อสาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนาคตของเยาวชนและการป้องกันปัญหาดื่มเมาแล้วขับ การตัดสินใจของรัฐบาลปัจจุบัน ด้วยการหย่อนการควบคุมลง ย่อมนำพาให้เกิดการสูญเสียทางสังคมเพิ่มมากขึ้นไปอีก ประชาชนชาวบ้านอาจเกิดคำถามในใจว่า โดยเนื้อในหวังเพียงเพิ่มพูนรายได้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจเหล่านี้ โดยห่อหุ้มด้วยคำว่า “เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทย” รัฐบาลควรทบทวนว่า ประชาชนไทยส่วนใหญ่ คิดเห็นกันอย่างไร และสนับสนุนนโยบายลดทอนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ทยอยออกมากันเช่นนี้ จริงหรือไม่
____________
โดย…
ผศ.ดร.สมัย โกรทินธาคม
ดร.นัฐพร โรจนหัสดิน
คณะเศรษฐศาสตร์ และคณะทำงาน ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
สาขาวิชาระบาดวิทยา อาคารบริหาร ชั้น 6 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 15 ถ.กาญจนวนิช ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
โทรศัพท์ : 083-5775533 (เวลาราชการ 08.30 - 16.30 น.)
Copyright © 2019 CAS All rights reserved.