ตอบ เพราะ “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช่สินค้าธรรมดา” เนื่องด้วยเป็นสารที่มีฤทธิ์อันตรายอยู่ ๓ ประการด้วยกัน คือ
๑) เป็นสารพิษ สารก่อมะเร็ง และสารที่ก่อให้เกิดความพิการทั้งทางร่างกายและสมองในเด็กที่อยู่ในครรภ์มารดา
๒) เป็นสารที่ออกฤทธิ์กดประสาททำให้ขาดสติสัมปชัญญะและความยับยั้งชั่งใจ จึงก่ออาชญากรรมและความรุนแรงต่างๆ ได้ง่าย
๓) เป็นสารเสพติดหรือยาเสพติดประเภทหนึ่งนั่นเอง ที่แม้ฤทธิ์เสพติดอาจไม่รุนแรงเท่าเฮโรอีนแต่เนื่องจากเป็นสารเสพติดที่ถูกกฎหมายจึงมีผู้ใช้จำนวนมากส่งผลให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางมากกว่าผลกระทบจากยาเสพติดทุกตัวรวมกันเป็นร้อยเป็นพันเท่า (คล้ายกับโรคอีโบลาเป็นเฮโรอีน กับโรคโควิด-19 เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์)
จากสถิติทางสาธารณสุขของไทยเรา พบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของการสูญเสียคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยอันดับต้นๆ และมีแนวโน้มที่จะคุกคามคุณภาพชีวิตของคนไทยรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อลดภาวะคุกคามนี้
จากการศึกษาทั่วโลกพบว่าการที่จะหยุดยั้งภัยคุกคามนี้ที่มีประสิทธิภาพสูง ต้องใช้สามมาตรการดังต่อไปนี้
๑) การจำกัดการเข้าถึงทางกายภาพ (สถานที่/ วันเวลา/ บุคคล)
๒) การจำกัดการเข้าถึงทางเศรษฐศาสตร์ (ภาษี)
๓) การจำกัดการเข้าถึงทางใจ คือ การไม่ให้มีการโฆษณาสื่อสารการตลาด
ซึ่งจากรายงานวิจัยพบว่าไม่อาจจะทำเพียงมาตรการใดมาตรการหนึ่งเพียงอย่างเดียวได้ แต่ต้องดำเนินการทุกมาตรการไปพร้อมๆ กัน จึงจะได้ผล แต่อย่างไรก็ดีมาตรการห้ามการโฆษณานี้สำคัญมากเพราะถ้าไม่ดำเนินการห้ามโฆษณาหรือปล่อยให้มีการสื่อสารการตลาดเชิญชวนเชิญเชื่อได้อิสระแล้ว มาตรการอื่นๆ แม้จะทำเต็มที่แล้วก็จะไม่ได้ผลสำเร็จ
จะเห็นได้ว่ามาตรการที่มีประสิทธิภาพเหล่านี้ จำเป็นต้องมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของคนส่วนหนึ่งบ้าง เพื่อประโยชน์ของมหาชนส่วนรวม จึงมีความจำเป็นต้องตราออกมาเป็นกฎหมายนี้ขึ้นมา
๑) กฎหมายฉบับนี้ร่างโดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีศาสตราจารย์ทางกฎหมายมหาชน และกฎหมายอาญาระดับแนวหน้าของประเทศร่วมร่างอยู่ด้วย
๒) ร่างกฎหมายนี้ได้ผ่านการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนจากคณะกรรมการกฤษฎีกา
๓) ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดเจนว่ามิได้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
๔) สำหรับกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ได้จำกัดสิทธิของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ขาย และผู้สูบบุหรี่ไว้มากกว่าที่กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้จำกัดไว้อย่างมาก
จึงขอย้ำว่ากฎหมายนี้ (พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) ไม่ได้ขัดกับรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชนสากลแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับตรงตามเจตนารมณ์หรือจิตวิญญาณที่แท้จริงอย่างเคร่งครัด ดังนี้
๑) ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และช่วยสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน โดยให้ตระหนักถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งกำหนดมาตรการในการป้องกันเด็กและเยาวชนมิให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๓๒ เป็นมาตรการหนึ่งในการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้กระทำได้ภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด ด้วยเหตุที่อิทธิพลจากการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีผลกระทบโดยตรงต่อพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชน แม้ว่าการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีผลกระทบต่อการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ประกอบอาชีพดังกล่าว ซึ่งหากฝ่าฝืน มีความผิดและมีโทษทางอาญาอันเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพ อยู่บางส่วนก็ตาม แต่ก็เป็นการจำกัดเสรีภาพภายในขอบเขตตามที่รัฐธรรมนูญ ซึ่งให้อำนาจกระทำได้เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นการจัดระเบียบการประกอบอาชีพ และเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่จำกัดเสรีภาพเพียงเท่าที่จำเป็น เนื่องจากมิได้ห้ามการโฆษณาโดยเด็ดขาด หากการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์ย่อมสามารถกระทำได้ มิได้กระทบกระเทือน ต่อสาระสำคัญแห่งเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพของบุคคลแต่อย่างใด โดยมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปกับบุคคลที่ขายสินค้าประเภทนั้น และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง อันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ
๒) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนประกอบด้วยข้อความ ๓๐ ข้อ โดยขอยกเพียงสามข้อแรก ก็สนับสนุนกฎหมายนี้อย่างชัดเจน ข้อ ๑ ทุกคนมีศักดิ์ศรี สิทธิ และเสรีภาพเท่าเทียมกัน และต้องปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้อง ซึ่งถ้าเรามองประชาชนคนไทยเป็นพี่น้องของเรา คงจะไม่โฆษณาเชิญชวนให้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นสารพิษ สารก่อมะเร็ง สารเสพติด มาดื่มอย่างแน่นอนใช่ไหม? ข้อ ๒ ทุกคนมีสิทธิ และเสรีภาพ อย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ชัดเจนแล้วว่ากฎหมายนี้มิได้มีการมุ่งหมายให้ใช้บังคับกับกรณีใดกรณีหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง คือมิได้มีการเลือกปฏิบัตินั่นเอง และ ข้อ ๓ ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิตอยู่ และมีความมั่นคง อันยิ่งชัดเจนว่าการโฆษณาส่งเสริมการขายสารทำลายสุขภาพและชีวิตแบบนี้ย่อมขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนอย่างชัดแจ้ง
กาลครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ในประเทศสารขัณฑ์
มีชายสองคนทำพลาดเหมือนกัน คือเมาแล้วขับรถชนคนตาย
ทั้งสองเหตุการณ์ ชายที่ก่อเหตุเป็นเศรษฐี-มหาเศรษฐี ผู้ที่เสียชีวิตเป็นตำรวจ ต่างกันที่ยศของผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิตในเหตุการณ์
ทั้งสองเหตุการณ์เป็นข่าวใหญ่ เริ่มแรกสังคมสารขัณฑ์โกรธเศรษฐีผู้ก่อเหตุ และมองว่าเศรษฐีแต่ละคนจะต้องใช้เงิน เส้นสายและอำนาจ ดิ้นให้ตนเองหลุดและไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ แน่ๆ
แล้วความเหมือนก็สิ้นสุดตรงนั้น
เศรษฐีสารขัณฑ์คนแรก ติดต่อครอบครัวผู้เสียหาย พร้อมชดเชยและเยียวยาทั้งทางการเงินอย่างเต็มที่ แต่ที่สังคมคาดไม่ถึงยิ่งกว่า คือ เศรษฐีกลับติดตามอาการผู้เสียหายทุกวัน บวชขอขมา พร้อมแจ้งว่าตนพร้อมรับความผิดตามกระบวนการศาลยุติธรรมอย่างเต็มที่ เมื่อศาลตัดสินแบบพร้อมลดหย่อนโทษ สิ่งแรกที่เศรษฐีคนนั้นทำคือกราบเท้าครอบครัวผู้เสียหายและสัญญาว่าจะเลิกดื่มตลอดชีวิต
เศรษฐีสารขัณฑ์คนที่สองเป็นลูกมหาคหบดี ร่ำรวยกว่าเศรษฐีคนแรกเป็นร้อยเท่า แต่กลับชดใช้ค่าเสียหายให้ครอบครัวผู้ตายไม่ถึงเสี้ยวหนึ่งของที่เศรษฐีคนแรกช่วยผู้ตายในคดีตน และแทนที่จะยอมขึ้นศาล กลับหนีความผิดไปอยู่ดินแดนอันไกลโพ้น โดยที่เจ้าตัวไม่เคยมาสารภาพหรือยอมรับว่าตนเคยทำผิดพลาดใดๆ ไปทั้งสิ้น นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่อง “แปลกๆ” เกิดขึ้นมากมายจนถึงปัจจุบัน
ปฏิกิริยาของสังคมสารขัณฑ์ต่างกันโดยสิ้นเชิง
ผู้คนในสังคมพร้อมให้อภัยเศรษฐีคนแรก ถึงขั้นที่ว่าต่อมามีข่าวว่าเศรษฐีคนนั้นอาจต้องเข้าคุก หลายคนพร้อมจะมาปกป้องเขาด้วยซ้ำ
ในทางกลับกัน ผู้คนในสังคมโกรธเศรษฐีคนที่สองมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเวลาผ่านไปและมีเหตุการณ์ “แปลกๆ” เกิดขึ้น ความแค้นยิ่งทวีคูณ
เศรษฐีคนที่สอง ถึงจะมีเงินหนีไปอยู่ต่างแดนได้ แต่เศรษฐีคนนั้นหนีความจริงไปไม่ได้ เมื่อมีคนอื่นไปพบเห็นหรือจำเขาได้ในต่างแดน และพยายามเรียกชื่อเขาให้เขาเผชิญความจริง สิ่งเดียวที่เขาทำได้คือหลบหน้าด้วยความอับอาย และย้ายที่พักไปเรื่อยๆ โดยต้องระแวงตลอดเวลาว่าจะมีใครมาเห็นตนหรือไม่
ในขณะที่เศรษฐีคนแรก ไม่ได้หนีไปไหน เผชิญหน้ากับความจริง เขาก็ไม่จำเป็นต้องหลบหน้าหรืออยู่ด้วยความอับอาย และที่สำคัญคือครอบครัวของผู้เสียหายพร้อมที่จะให้อภัยเขา หากได้การอภัยเช่นนี้แล้ว หัวใจเขาคงเป็นอิสระ ไม่ว่าตัวเองจะอยู่ที่ไหนหรือทำอะไรก็ตาม
ความสบายใจและเป็นอิสระตรงนี้ ต่อให้เป็นคนรวยขนาดทายาทเศรษฐีหมื่นล้าน ก็หาซื้อไม่ได้ครับ
แต่เศรษฐีคนที่สองมีทางออก
โดยธรรมชาติ มนุษย์เราพร้อมที่จะให้อภัย เพื่อให้ตัวเองก้าวข้ามความโกรธและเริ่มกระบวนการเยียวยาได้
การให้อภัย ไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อได้รับเงินเยียวยา ชดเชยค่าเสียหาย
การชดเชยค่าเสียหายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเยียวยา แต่อาจไม่ใช่ส่วนหลัก
การจ่ายเงินเป็นเรื่องง่าย ไม่ต้องเผชิญหน้าใคร
การยอมรับผิดและการแสดงความรับผิดชอบ เป็นสิ่งที่ยากกว่า เพราะผู้ที่กระทำผิดจะต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่ตนเองทำโดยตรง ยอมรับว่าตนเองทำไม่ดี และพร้อมรับผลที่ตามมาโดยไม่มีเงื่อนไข
ซึ่งการเผชิญหน้ากับสิ่งไม่ดีที่ตนเองได้ทำไปนี้จะต้องใช้ทั้งความกล้าหาญ ความถ่อมตน และสามัญสำนึก — การแสดงออกถึงคุณลักษณะเหล่านี้จะช่วยให้ผู้เสียหายและครอบครัวพร้อมเปิดใจของตนเองมากขึ้น และเริ่มต้นเยียวยาจิตใจตนเองได้
และนั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่หรือ??
อนึ่ง…………..
ทั้งสอง “เหตุการณ์สมมุติ” นี้ จะไม่เกิดขึ้นเลย หากเศรษฐีในเรื่องนั้นไม่ขับรถหลังดื่มเหล้า ดังนั้นขอแนะนำทุกคนว่า หากเราไปดื่มแล้วอยากเอารถกลับบ้าน ควรให้เพื่อนที่ไม่ดื่มช่วยขับรถพาเรากลับ หรือเรียก Grab หรือแท็กซี่ให้ไปส่งกลับบ้าน แล้ววันรุ่งขึ้นหายเมาแล้วค่อยมารับรถ ค่าจอดรถเกินเวลาไม่กี่บาท แต่อนาคตและชีวิตของเราและผู้อื่น เป็นสิ่งที่ประเมินค่ามิได้
อย่างไรก็ดี เนื่องจากทั้งสอง “เหตุการณ์สมมุติ” นี้ มีแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าเราอยากจะทำให้ประเทศสารขัณฑ์มีปัญหาเรื่องอุบัติภัยจราจรลดลง เราน่าจะทำอะไรได้บ้าง
1. “อย่า หา ทำ” — การดื่มสุราทุกระดับมีผลต่อความสามารถในการขับขี่ทั้งสิ้น งานวิจัยในสหรัฐฯ พบว่าอุบัติเหตุเมาแล้วขับและมีคนตาย 15% เกิดขึ้นแม้ว่าผู้ขับจะมีแอลกอฮอล์อยู่ในระดับที่กฏหมายกำหนด [1] หลังดื่มสุราเข้าไป แอลกอฮอล์ในเลือดจะพุ่งสู่ระดับสูงสุดในเวลา 30-90 นาทีหลังดื่ม หลังจากนั้นการขจัดแอลกอฮอล์จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ (ดื่มหนึ่งแก้ว ต้องใช้เวลาขจัดประมาณหนึ่งชั่วโมง) ดังนั้นคนที่ดื่มหนักตอนกลางคืน แม้กระทั่งเช้าวันต่อมาก็ยังอาจมีระดับแอลกอฮอล์สูงเกินกำหนดอยู่ และเกิดอันตรายขณะขับรถได้ ดังนั้นทางที่ดีที่สุด คือ อย่าดื่มแล้วขับรถกลับบ้านเอง ให้เรียกแท็กซี่หรือ Grab กลับบ้าน หรือให้เพื่อนที่ไม่ได้ดื่มช่วยพากลับบ้าน
2. หากผู้ใดใช้แอลกอฮอล์ร่วมกับสารเสพติดกระตุ้นประสาท (เช่น โคเคน) ห้ามขับรถเด็ดขาด!! ไม่ว่าจะดื่มน้อยแค่ไหน หรือใช้สารดังกล่าวน้อยแค่ไหนก็ตาม — เมื่อใช้แอลกอฮอล์ร่วมกับโคเคน แอลกอฮอล์จะทำให้ระดับโคเคนในเลือดพุ่งสูงขึ้น และร่างกายจะสร้างสารโคคาเอทิลีน (cocaethylene) ขึ้นมา ซึ่งส่งผลต่อความนึกคิดและระบบประสาท [2,3] ทำให้ผู้เสพมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น เป็นอันตรายมากต่อตนเอง ผู้โดยสาร และผู้สัญจรทุกคนบนถนน ดังนั้นจึงไม่ควรขับรถเด็ดขาด ไม่ว่าในกรณีใดๆ
3. ควรจะพิจารณาลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ตามกฎหมายลงจากเดิม 0.5 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์เป็น 0.2 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ — หากผู้ขับขี่ใช้แอลกอฮอล์ร่วมกับสารอื่น เช่น โคเคน ยาบ้า ยาไอซ์ อัลปราโซแลม หรือกัญชาทางการแพทย์ สารนั้นสามารถที่จะมีทำปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์ได้ (แม้ในจำนวนน้อยนิด) ส่งผลให้สมรรถนะการขับขี่ด้อยลงจนเป็นอันตรายแก่ผู้อื่นได้ [2,3]
4. ควรจะจัดให้มีจุดสุ่มตรวจแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ทั่วประเทศ ให้ประชาชนที่ขับขี่ยานพาหนะโดยทั่วไปตระหนักว่าทุกคนสามารถถูกสุ่มตรวจได้เสมอ โดยมีโอกาสถูกสุ่มตรวจอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง และดำเนินการจับกุมและลงโทษผู้ละเมิดกฏหมายอย่างจริงจัง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่ดื่มไม่ขับรถ และผู้ที่ขับรถไม่ดื่ม เพิ่มความปลอดภัยทั้งกับตนเองและผู้อื่นได้
5. หากเกิดอุบัติเหตุทางถนน ควรตรวจระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ทุกคน ไม่ว่าจะมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตหรือไม่ และควรตรวจระดับสารเสพติด เช่น กัญชา ยาบ้า โคเคน ยากล่อมประสาทและยานอนหลับด้วย หากพบว่ามีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกินกำหนด หรือมีสารเสพติด ให้ดำเนินคดีกับผู้ขับขี่ตามกฏหมาย รวมทั้งส่งต่อให้ได้รับการดูแลบำบัดรักษาตามความเหมาะสม
หากทำเช่นนี้แล้ว ชาวสารขัณฑ์ทุกคน ไม่ว่าจะดื่มสุราหรือไม่ คนที่มีรถขับ คนที่โดยสารยานพาหนะ หรือแม้แต่คนเดินถนน ต่างก็จะมีความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น หากอุบัติเหตุทางถนนที่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุราและการใช้สารเสพติดลดลง และเป็นการลดภาระการทำงานของตำรวจ อัยการ และผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดด้วย
หมายเหตุ: เรื่องทั้งหมดที่เล่ามาเป็นเรื่องสมมุติ หากมีเนื้อหาใกล้เคียงกับผู้ใด ถือเป็นเหตุบังเอิญทั้งสิ้น
อ้างอิง
1. https://www.ajpmonline.org/article/S0749-3797(20)30040-4/fulltext
2. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/30195242/
3. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/30007323/
ผมเขียนบทความชิ้นนี้ ในขณะที่ทั่วประเทศกำลังเผชิญหน้ากับทางแพร่งของการเลือกข้างทางการเมืองที่สำคัญครั้งหนึ่งของประเทศชาติ ในยามที่โลกทั้งใบกำลังเผชิญหน้ากับโรคระบาดครั้งใหญ่ในรอบหนึ่งร้อยปี ในอนาคตอันใกล้นี้วิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในโลกในรอบหลายร้อยปีจะถาโถมเข้าสู่รัฐเล็กรัฐใหญ่ในโลกอย่างไม่เลือกหน้า Globalization ที่ได้กลายเป็นทางเลือกหลักในการพัฒนาโลกตั้งแต่หลังยุครัฐชาติ ได้เชื่อมโลกทั้งใบไว้มากกว่าช่วงสมัยใด ๆ ของมนุษยชาติ ได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่จะทำให้วิกฤตโลกนั้นกระทบต่อกันอย่างที่เห็น เมื่ออนาคตอันใกล้มีวิกฤตขนาดใหญ่เช่นนี้ จึงไม่แปลกอะไรที่ผู้คนจะตั้งคำถามถึงแนวคิดทางการเมืองที่จะนำคนในชาติเผชิญหน้ากับวิกฤต เหตุผลที่สำคัญมาก ๆ ที่ต้องเลือกแนวคิดทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่งในการเผชิญหน้ากับภาวะคุกคามก็เพราะความหมายที่แท้จริงของการเมืองนั้นคือ แนวคิดในการบริหารทรัพยากรในสังคมใดสังคมหนึ่ง หากมีมนุษย์รวมกลุ่มมากกว่าหนึ่งคน เป็นธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันที่ต้องสร้างระบบการเมืองขึ้นมาเพื่อให้ทรัพยากรถูกแจกจ่าย และ ผู้ในในสังคมนั้น ๆ อยู่รอดมากที่สุด อำนาจทางการเมืองจะถูกแปรรูปไปเป็นอำนาจอื่น ๆ อีกหลากหลายรูปแบบ จึงไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไรที่คนรุ่นใหม่หลายพันหลายหมื่นคนทั่วประเทศ จะออกมาเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพื่อความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีกว่า แกนเรื่องสำคัญที่ดึงดูดคนจำนวนมากให้ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องเดียวกันอย่างพร้อมเพรียงกันมิใช่สิ่งอื่นใด นอกจากแกนความคิดทางการเมือง ตัวอย่างเพียงหนึ่งเดียวนี้พอจะแสดงให้เห็นได้ว่า เรื่องการเมืองมันสำคัญต่อจินตนาการของผู้คน และสำคัญต่อระเบียบชีวิตของผู้คนบนโลกนี้เช่นไร
ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา โลกผ่านการถกคิดและการต่อสู้ของแนวคิดทางการเมืองครั้ง สำคัญของคู่ตรงข้ามทางความคิดการเมืองมาหลายครั้งรวมไปถึงการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการเมืองทั้งหลาย แม้เหตุผลที่แท้จริงจะไม่ชัดเจนและไม่ใช่สิ่งที่พิสูจน์ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ได้ง่าย แต่เชื่อว่าการปฏิวัติทุกครั้งในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้น ปรัชญาทางการเมืองได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการหลอมความคิดคนร่วมสร้างจินตนาการแห่งชีวิตให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมทางการเมืองแบบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประชาธิปไตย สังคมนิยม เสรีนิยม อำนาจนิยม เผด็จการนิยม คอมมิวนิสต์ ศาสนานิยม อนุรักษ์นิยม ล้วนแล้วแต่มีปรัชญาที่ร้อยเรียงจินตนาการร่วมของผู้สนับสนุนให้เป็นเนื้อเดียวกันได้ ความเชื่อทางการเมืองได้สร้างแบบแผนของการดำเนินชีวิตจากจินตนาการถึงคุณค่าสำคัญของความเชื่อทางการเมืองนั้น ๆ (core value) จึงเป็นเหตุให้ผู้คนที่มาจากสังคมที่นับถือคนละความเชื่อทางการเมือง มีแนวโน้มที่จะมีความคิด จินตนาการต่อชีวิต และรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน รูปแบบชีวิตในที่นี้หมายถึงรูปแบบชีวิตของคนส่วนมากในทุก ๆ เรื่อง
การยกตัวอย่างเปรียบเทียบที่ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดคงต้องเปรียบเทียบประชากรของประเทศที่ปกครองคนละระบอบการเมืองที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง เช่น หากเรานึกถึงสภาพโดยทั่วไปของชายหนุ่มที่เกิดและเติบโตในประเทศสหรัฐอเมริกา และ สภาพโดยทั่วไปของชายหนุ่มที่เกิดและเติบโตจากประเทศเกาหลีเหนือ แม้เราที่อยู่ประเทศไทยจะไม่เคยเดินทางไปทั้งประเทศสหรัฐอเมริกาและเกาหลีเหนือ แต่จินตนาการจากข้อมูลที่เรารับรู้ที่ผ่านมา จะพอทำให้เราคาดเดาได้ว่า ชายหนุ่มจากสหรัฐอเมริกา น่าจะมีบุคลิคนิสัยเป็นอย่างไร ให้คุณค่ากับเรื่องอะไรบ้าง รวมไปถึง น่าจะมีพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง ในขณะเดียวกันหากเราคิดต่อในประเด็นเดียวกันกับชายหนุ่มจากเกาหลีเหนือ คงพบคำตอบคล้ายกันกับผมที่คิดว่า ชายหนุ่มจากเกาหลีเหนือโดยทั่วไปแล้ว คงมีบุคลิกนิสัยใจคอแตกต่างจากอเมริกัน สิ่งที่เขาให้คุณค่าน่าจะต่างกัน รวมไปถึงพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตในแต่ละวันก็ต่างกันกับอเมริกันหนุ่ม โชคดีที่ผมมีโอกาสได้สัมผัสพบเจอชายหนุ่มทั้งจากเกาหลีเหนือและสหรัฐอเมริกา ทำให้ผมพิสูจน์ได้ว่า ข้อสันนิษฐานในเรื่อง ค่าเฉลี่ยในจินตนาการของผมต่อคนพลเมืองสองประเทศนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจริง ๆ
คราวนี้กลับมาในเรื่องพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งเป็นใจความหลักของเนื้อหาในบทความนี้ มีนักวิจัยช่างสังเกตจำนวนหนึ่งได้ตั้งคำถามว่า หากรูปแบบการเมืองที่ใช้ปกครองส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนภายใต้ระบอบการปกครองนั้น ๆ แล้ว สำหรับพฤติกรรมทางสุขภาพ ความเชื่อทางการเมืองส่งผลอย่างไรกับประเด็นนี้บ้าง ก่อนจะไปที่ผลการสำรวจและการศึกษาที่เคยผ่านมา อยากลองให้ผู้อ่านทุกท่านได้ลองจินตนาการดู เอาแค่พฤติกรรมสุขภาพไม่กี่เรื่องก็พอครับ เรื่องการรับประทานอาหาร การออกกำลัง กายสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ ท่านผู้อ่านคิดว่ารูปแบบการเมืองของรัฐชาติใดรัฐชาติหนึ่ง จะส่งผลต่อพฤติกรรมสุขภาพของคนในรัฐนั้น ๆ อย่างไร ลองใส่ความคิดเห็นของท่านลงในตารางช่องว่างข้างล่างนี้ดูนะครับ
รับประทานอาหาร | ออกกำลังกาย | สูบบุหรี่ | ดื่มแอลกอฮอล์ | |
สังคมนิยม | ||||
คอมมิวนิสต์ | ||||
ประชาธิปไตย | ||||
ศาสนานิยม | ||||
สมบูรณาญาสิทธิราชย์ |
ในปี ค.ศ. 2000 J J Murrow และ คณะ (1) ได้ศึกษาความสัมพันธ์ของความเชื่อทางการเมือง และพฤติกรรมสุขภาพ สมมติฐานที่เขาตั้งขึ้นมาก็คงคล้ายกับคนขี้สงสัยหลายคนในโลกว่า ถ้าคนเราอยู่ภายใต้รูปแบบการปกครองและกระแสความเชื่อทางการเมืองที่ต่างกัน จะมีพฤติกรรมสุขภาพเป็นแบบไหนและเป็นอย่างไร แม้หน้าที่หลักของรัฐบาลใด ๆ ในโลกจะต้องดูแลสวัสดิภาพ (ซึ่งรวมไปถึงสุขภาพ) ของประชาชนเหมือนกัน แต่หากแนวคิดทางการเมืองต่างกัน การจัดลำดับความสำคัญในแต่ละสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจะแตกต่างกันด้วย ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นพื้นที่ศึกษาของงานวิจัยชิ้นนี้แม้จะอยู่ในระบอบปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ในประเทศก็มีแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน เช่น เสรีนิยม – อนุรักษ์นิยม ซึ่งให้คุณค่าในหลายสิ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง นิยามสำคัญของความเป็นเสรีนิยม คือ ความก้าวหน้า ความคิดเปิดกว้าง เปิดรับความหลากหลาย กล้าคิดกล้าทำ พร้อมเปลี่ยนแปลง เสรีนิยมมักตามด้วยการเปิดตลาดเสรีเพื่อให้เกิดการแข่งขันสูงสุด และให้ตลาดควบคุมตัวเอง ส่วนเมื่อเอ่ยถึงอนุรักษ์นิยม นิยามของคำนี้คือ เชื่อมั่นในการปกครองอย่างผูกขาดโดยคนชั้นสูง (aristocratic ideology) เชื่อในการเมืองเชิงประจักษ์ หรือ เรียกว่าไม่โลกสวยทางการเมือง (political pragmatism) คำนึงถึงบริบทและสถานการณ์มากกว่าอุดมการณ์ที่เกินจริง เชื่อในเรื่องการควบคุมความคิดและพฤติกรรม วิธีการสำรวจที่ทีมวิจัยนี้ได้ทำคือการไปสัมภาษณ์เก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างประมาณ 4,200 คน สอบถามพวกเขาด้วยคำถามสองกลุ่มคือ คำถามกลุ่มแรกคือกลุ่มคำถามเกี่ยวกับการให้คุณค่าในสิ่งต่าง ๆ (self-report characterizations) ซึ่งใช้เพื่อแยกกลุ่มตัวอย่างออกตามแนวคิดทางการเมืองที่กลุ่มตัวอย่างนับถือ แบ่งออกเป็นสามกลุ่มคือ อนุรักษ์นิยม ทางสายกลาง และเสรีนิยม
คำถามกลุ่มสองเป็นคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพ โดยถามทั้งในพฤติกรรมสุขภาพด้านบวก เช่น การให้คุณค่าต่อตัวเอง การดูแลตัวเอง เป็นต้น และคำถามที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มพฤติกรรมสุขภาพที่เป็นด้านลบต่อสุขภาพ เช่น การรับประทานอาหาร การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นอนุรักษ์นิยมเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างระมัดระวังในการมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระมัดระวังต่อปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านสิ่งแวดล้อม กฎหมาย โครงสร้างสังคม กลุ่มที่มีค่านิยมทางการเมืองแบบสายกลางโดดเด่นในด้านการเคารพต่อตัวเอง เชื่อมั่นในคุณค่าของตัวเอง (Self-actualization) และมีแนวโน้มที่จะสนใจเรื่องพฤติกรรมสุขภาพด้านบวกน้อยที่สุด ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่มีค่านิยมทางการเมืองแบบเสรีนิยม เป็นกลุ่มที่ใส่ใจเรื่องความเสี่ยงทางสุขภาพและปัจจัยการป้องกันสุขภาพของปัจเจกบุคคล (ตนเอง) สูงสุด
ขยับไปดูการศึกษาจากประเทศที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยบ้าง สังคมนิยม และ แนวทางคอมมิวนิสต์ เคยเป็นปฏิปักษ์สำคัญของแนวทางการปกครองแบบประชาธิปไตย อันที่จริงแล้ว แนวทางทั้งสองต่างถกกันเรื่องสิทธิในการกระจายอำนาจแก่ผู้คนหมู่มากในสังคมทั้งสิ้น แต่ในทางปฏิบัติการกระจายอำนาจของทั้งสองรูปแบบแตกต่างกัน คอมมิวนิสต์ได้กลายเป็นระบอบการปกครองหลักของประเทศในฝั่งยุโรปตะวันออก จากอิทธิพลของการปฏิวัติของบอลเชวิคในรัสเซีย คอมมิวนิสต์ได้รื้อถอน ค่านิยมเดิมในสมัยก่อนโซเวียต อันได้แก่ ระบอบเจ้าขุนมูลนายในสมัยการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใต้ราชวงศ์โรมานอฟของรัสเซีย คำสอนทางศาสนาแบบคริสต์นิกายออโธดอกซ์ ข้อค้นพบจากการเก็บข้อมูลอย่างกว้างขวางของนักวิจัยในยุคสมัยนั้นพบว่า การเปลี่ยนระบอบการปกครองในช่วงเวลานั้น ได้ก่อให้เกิดพฤติกรรมลบต่อสุขภาพหลายอย่าง และ หนึ่งในวัฒนธรรมใหม่ที่เกิดขึ้นหลังคอมมิวนิสต์คือการดื่มเหล้าอย่างหนักของคนในสังคมรัสเซีย (2,3) หนึ่งในข้อสันนิษฐานที่กล่าวถึงกันคือ สังคมใดก็ตามที่มีการอุปถัมภ์ของรัฐในระดับสูง จะลดปราถนาต่อการมีสุขภาพที่ดีของปัจเจกบุคคล และแน่นอนว่าระบอบคอมมิวนิสต์ที่รัฐเป็นผู้จัดการทุกสิ่ง ทำให้ประชาชนเชื่อว่า หากวันหนึ่งเจ็บไข้ได้ป่วย รัฐก็ต้องช่วยรับผิดชอบความเจ็บป่วยนั้น จนละเลยการสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่ดี (4) และอีกเหตุผลสำคัญคือ ความเชื่อการเมืองแบบคอมมิวนิสต์นั้นปฏิเสธความเชื่อทางศาสนาทั้งหมด ซึ่งทำให้ผู้คนในสหภาพโซเวียตดื่มวอดก้าและสูบบุหรี่มากขึ้น (5)
เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายกลายเป็นประเทศเล็กประเทศน้อยกว่าสิบหกประเทศ นักระบาดวิทยาก็ยังคงตั้งคำถามในประเด็นเดิมว่า ในกลุ่มประเทศที่แยกออกมาจากรัสเซีย ความเป็นสังคมนิยมและความเป็นประชาธิปไตยในแต่ละประเทศจะส่งผลต่อพฤติกรรมสุบภาพอย่างไร ก็พบคำตอบคล้ายเดิมคือ ประเทศที่มีแนวโน้มเป็นสังคมนิยมมากกว่า ประชาชนในประเทศมีแนวโน้มจะดูแลรักษาสุขภาพตัวเองได้น้อยกว่า คนที่นิยมในแนวทางสังคมนิยมมีแนวโน้มจะดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าเมื่อเทียบกับคนต่อต้านสังคมนิยม (3) นอกจากนั้นคนที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์มักมีไลฟ์สไตล์ด้านสุขภาพที่ดีมากกว่าเมื่อเทียบกับคนที่นิยมในคอมมิวนิสต์ (2)
จะเห็นได้ว่า แค่ค่านิยมทางการเมืองที่แตกต่างกัน ก็ทำให้คนมีพฤติกรรมสุขภาพแตกต่างกัน แม้ว่าคนจะอยู่ในภูมิภาคหรือชาติพันธ์เดียวกัน แต่เพียงแค่ต่างเวลาต่างการปกครอง ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพแล้ว บทความตอนนี้ขอนำเสนอเกริ่นไว้ก่อน ว่าแนวคิดทางการเมืองที่ใช้สร้างนโยบาย กฎหมาย และ รูปแบบการปกครอง ส่งผลต่อวิถีชีวิตของคนมากขนาดไหน สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านการส่งเสริมและป้องกันสุขภาพ ก็จะได้เห็นภาพชัดขึ้นว่า แนวทางทางการเมืองที่แบบใดจะก่อให้เกิดความคิดตอบสนองต่อประชาชนและสร้างพฤติกรรมสุขภาพแบบไหน เราจะได้นำกลับไปคิดและวางแผนให้เหมาะสมกับบริบทแนวคิดทางการเมืองที่มีอิทธิพล ณ ห้วงเวลานั้น ๆ ครับ ตอนต่อไป ผมจะนำเสนอข้อค้นพบจากการสำรวจแนวคิดทางการเมืองและพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์จากการรวบรวมข้อมูลมากกว่า 50 ปี ในประเทศสหรัฐอเมริกา น่าสนใจมากครับ ติดตามอ่านตอนต่อไปในเร็ว ๆ นี้ครับ
เอกสารอ้างอิง
ข้อค้นพบและประสบการณ์ตีพิมพ์จากงานวิจัย ก. อาการซึมเศร้า เพศสภาพ และพฤติกรรมการดื่มสุราในวัยรุ่นไทย (ข้อค้นพบจากโครงการสำรวจพฤติกรรมการดื่มสุราฯ ปี 2559) โดย ดร.วิทย์ วิชัยดิษฐ
Wichaidit-Ver2-20200804-ww-sa-1ข้อค้นพบจากงานวิจัย ข. ผลของความสัมพันธ์ในครอบครัว สมรรถนะส่วนบุคคลและสิ่งแวดล้อมทางสังคมต่อปัญหาการดื่มสุราของวัยรุ่นไทย (ข้อค้นพบจากโครงการศึกษาติดตามนักเรียนมัธยมในประเทศไทยปี 2561 และ ปี 2562) โดย รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ
200805DrinkingPreventionTeenager-2บทเรียนจากการทำงานกับเด็กและวัยรุ่นในการสร้างเสริมและป้องกันปัญหาการดื่มสุรา โดย คุณธีระ วัชรปราณี
Presentation1-เยาวชน-1แนวทางที่มีประสิทธิภาพในการดูแลและป้องกันปัญหาการดื่มสุราในเด็กและวัยรุ่น โดย ผศ.ดร.พญ.รัศมี สังข์ทอง
Alc-cohort_yr2_-1งานส่งเสริมป้องกันและดูแลเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาจากการดื่มสุราและปัญหาพฤติกรรมในประเทศไทย โดย พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์
การส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตวัยรุ่น-สิงหาคม-2563-1สาขาวิชาระบาดวิทยา อาคารบริหาร ชั้น 6 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 15 ถ.กาญจนวนิช ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
โทรศัพท์ : 083-5775533 (เวลาราชการ 08.30 - 16.30 น.)
Copyright © 2019 CAS All rights reserved.