ที่มา: แปลมาจากบทความ The Truth About Alcohol and Exercise ของ Yvonne O Brien (https://www.indi.ie/fact-sheets/fact-sheets-on-sports-nutrition/518-the-truth-about-alcohol-and-exercise.html)
การดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างออกกำลังกาย อาจทำให้สมรรถภาพในการเล่นกีฬาของคุณเปลี่ยนไป เนื่องจาก…
1. การดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายขาดน้ำ แอลกอฮอล์เป็นสารขับปัสสาวะ ทำให้ไตผลิตปัสสาวะมากขึ้น การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปจึงอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ การออกกำลังกายหลังดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้ร่างกายยิ่งขาดน้ำมากขึ้นไปอีก เพราะออกกำลังกายแล้วเสียเหงื่อ และเมื่อเราขาดน้ำ ก็ทำให้สมรรถภาพร่างกายลดลง หากจะออกกำลังกาย ควรดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อให้เลือดไหลไปทั่วร่างกายให้กล้ามเนื้อได้รับออกซิเจนและสารอาหารได้ดี ทำให้ออกกำลังกายได้เต็มที่
2. แอลกอฮอล์ส่งผลต่อการสร้างพลังงานในร่างกาย แอลกอฮอล์ถูกย่อยสลายในตับ และเมื่อตับเราย่อยสลายแอลกอฮอล์ หน้าที่อื่นๆ ของตับจะกลายเป็นเรื่องรอง ซึ่งรวมถึงการผลิตกลูโคสด้วย และร่างกายเราต้องการกลูโคสเป็นพลังงาน หากตับสร้างกลูโคสไม่พอเนื่องจากต้องขับแอลกอฮอล์ออกไป ร่างกายเราจะอ่อนเพลียและวิ่งตามคนอื่นไม่ทัน
3. แอลกอฮอล์ทำให้ระบบประสาทที่ส่งสัญญาณไปทั่วร่างกายทำงานช้าลง ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งฤทธิ์ในส่วนนี้อาจอยู่ได้สักพักหนึ่ง และทำให้ปฏิกิริยา การเคลื่อนไหว ความแม่นยำและสมดุลของร่างกายต่ำกว่าปกติระหว่างออกกำลังกายและแข่งกีฬา
คืนก่อนออกกำลังกาย และวันหลังออกกำลังกาย
– การดื่มแอลกอฮอล์คืนก่อนออกกำลังกายอาจส่งผลเสียต่อสมรรถภาพของร่างกายในวันต่อมาได้ หากเรามีอาการ “เมาค้าง” หรือแฮงค์ เช่น ขาดน้ำ ปวดหัว เราจะไม่สามารถเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายได้อย่างเต็มที่
– ระหว่างที่ออกกำลังกาย กล้ามเนื้อของเราจะเผาผลาญกลูโคสเพื่อให้ได้พลังงาน ทำให้เกิดกรดแลคติก ซึ่งหากมีกรดแลคติกมากเกินไป จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงและเป็นตะคริว หากเราออกกำลังกายหลังดื่มแอลกอฮอล์ ตับจะต้องทำงานหนักเพื่อกำจัดสารพิษจากแอลกอฮอล์ ทำให้กำจัดกรดแลคติกไม่ได้เต็มที่ ทำให้มีโอกาสเป็นตะคริวได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้เราไม่มีแรงหรือรู้สึกเหนื่อยได้ง่ายขึ้นด้วย
– ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ในคืนก่อนออกกำลังกาย โดยเฉพาะหากมีกิจกรรมที่หนักปานกลางหรือหนักมาก อย่างไรก็ดี หากจะดื่ม ควรจำกัดจำนวนแก้วและดื่มระหว่างที่กินอาหาร
– หลังออกกำลังกายก็ไม่ควรดื่มเช่นกัน หากยังไม่ได้ดื่มน้ำอย่างเพียงพอเพื่อทดแทนน้ำในร่างกายที่หายไปกับเหงื่อ
น้ำหนักเพิ่ม
แอลกอฮอล์มีแคลลอรี่สูง กรัมละเจ็ดแคลอรี่ แทบจะมากเท่ากับก้อนไขมัน หากคุณออกกำลังกายเพื่อจัดการน้ำหนัก การดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้คุณได้รับ “แคลลอรี่ไร้ประโยชน์” กลับมาและทำให้ลดน้ำหนักไม่สำเร็จ นอกจากนี้ เมื่อดื่มไปได้สักพัก คุณอาจรู้สึกอยากกินอาหารแคลอรี่สูง ซึ่งยิ่งทำให้การลดน้ำหนักยิ่งมีโอกาสล้มเหลวมากขึ้นอีก
กล้ามเนื้อเติบโตได้น้อย
แอลกอฮอล์ทำให้การนอนไม่เป็นปกติ ซึ่งร่างกายของเราจะหลั่งฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อออกมาในช่วงที่เราหลับสนิท การดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้การนอนหลับไม่เป็นปกติและทำให้กล้ามเนื้อโตได้ช้าลง
อัตราการเต้นหัวใจเปลี่ยนแปลง
เรื่องที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ การดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ ซึ่งความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นมากเมื่อออกกำลังกายภายในสองวันหลังจากดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก ความเสี่ยงนี้แตกต่างกันไปในแต่ละคน การออกกำลังกายทำให้ตัวใจเต้นเร็วขึ้น หากดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก หัวใจยิ่งต้องทำงานหนักยิ่งขึ้นไปอีก
แผลหายช้า
แอลกอฮอล์ทำให้เส้นเลือดที่ผิวหนัง แขน และขา ขยายตัว ทำให้มีเลือดไปหล่อเลี้ยงมากขึ้น เวลาเป็นแผลเลือดจะไหลเยอะและบวมมากกว่าปกติ ทำให้แผลหายช้า
หากเวลาเข้าสังคม ท่านต้องการลด ละ เลิกดื่ม ควรพิจารณาแนวทางต่อไปนี้
– วางแผนล่วงหน้า – คิดดูว่าจะไปไหน ไปเจอใคร และจะดื่มมากแค่ไหน แล้วทำตามแผน
– กินอาหารก่อนหรือระหว่างดื่มแอลกอฮอล์ – การกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตมากหลังออกกำลังกาย ช่วยชดเชยพลังงานที่กล้ามเนื้อสูญเสียไป การกินอิ่มท้องจึงช่วยทำให้เราดื่มแอลกอฮอล์ช้าลง
– ค่อยๆ ดื่ม – ดื่มแอลกอฮอล์สลับกับเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ หากเราหิวน้ำ เราจะดื่มแอลกอฮอล์เร็ว ดังนั้นจึงควรมีเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ดับกระหายก่อนที่จะเริ่มดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะหลังออกกำลังกาย
– ดื่มช้าๆ ค่อยๆ จิบ อย่าดื่มเป็นอึก จิบแล้วให้วางแก้ว
– เลือกเครื่องดื่มดีๆ เลือกเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ต่ำหรือใช้แก้วขนาดใหญ่ผสมเหล้าเข้ากับมิกเซอร์เยอะๆ
– เป็นคนอาสาขับรถพาเพื่อนกลับบ้าน (designated driver) หากคุณตัดสินใจไม่ดื่มและกลัวว่าจะโดนคนอื่นคะยั้นคะยอ ให้บอกคนอื่นว่าคุณตั้งใจจะเป็นคนที่ช่วยขับรถพาเพื่อนกลับบ้าน
– ดื่มให้หมดทีละแก้ว – อย่าให้คนอื่นเติมแก้วให้ก่อนที่จะดื่มหมดแก้ว หากทำแบบนั้น เราจะไม่รู้ว่าดื่มไปมากเท่าไหร่แล้ว
– ทำโน่นทำนี่ระหว่างดื่ม – เวลาที่เรายุ่งกับเรื่องอื่น เราจะดื่มน้อยลง ออกไปเต้นหรือเดินไปโน่นไปนี่ อย่ามัวแต่นั่งดื่มอย่างเดียว
– ก่อนนอนอย่าลืมดื่มน้ำเยอะๆ การดื่มน้ำก่อนนอนช่วยป้องกันการแฮงค์ได้ การดื่มน้ำเยอะๆ คั่นสลับกับการดื่มแอลกอฮอล์ ก็ช่วยป้องกันการแฮงค์ได้เช่นกัน
สาขาวิชาระบาดวิทยา อาคารบริหาร ชั้น 6 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 15 ถ.กาญจนวนิช ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
โทรศัพท์ : 083-5775533 (เวลาราชการ 08.30 - 16.30 น.)
Copyright © 2019 CAS All rights reserved.