เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมได้อ่านข่าว นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ออกมาเสนอแนวคิดเรื่องการเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 โดยจะเริ่มจากเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ๆ เช่น พัทยา เชียงใหม่ สมุย ภูเก็ต
ผมอ่านข่าวแล้วได้แต่ส่ายศีรษะกับไอเดียลักษณะเช่นนี้ ที่จะทำให้การท่องเที่ยวไทยถอยหลังเข้าคลอง
เพื่อความเป็นธรรมแก่ท่านรัฐมนตรี ลองพิจารณาเหตุผลประกอบที่ท่านนำเสนอมาทีละประเด็น และ ผมอยากสะท้อนกลับด้วยข้อมูลที่ผมได้ศึกษามาบ้าง ว่าเหตุใดข้อเสนอของท่านรัฐมนตรีนั้น สำหรับผมแล้วจะเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ
ท่านรัฐมนตรีบอกว่าการเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 นั้นมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มขึ้น 25% นอกจากนั้นท่านได้กล่าวว่า “ประเทศที่มีการกระตุ้นการท่องเที่ยว ด้วยการเปิดสถานบริการ แหล่งท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยว มีหลายประเทศ แต่ประเทศที่คิดว่จะนำมาเป็นโมเดล เพื่อดำเนินการคือ อิตาลี ที่มีสถานบริการตลอดคืนจนสว่าง แต่ผมต้องการเปิดเพียงตี 4 เพราะกลุ่มเป้าหมายไม่ใช่คนไทย แต่เป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายนักท่องเที่ยวต่างชาติ”
ก่อนจะเข้าสู่ประเด็นคัดค้าน ขออนุญาตนำเสนอสถานการการท่องเที่ยวไทยก่อนนะครับ เพื่อให้เห็นภาพว่าเราอยู่จุดไหนของการท่องเที่ยวโลก และ ในสายตาคนต่างชาติมองบ้านเมืองเราเป็นอย่างไร
การท่องเที่ยวของไทยถือเป็น 1 ใน 3 หัวใจสำคัญของเศรษฐกิจประเทศ ร่วมกับ การส่งออก และ เกษตรกรรม ปัจจุบันเรามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในประเทศปีละ 38 ล้านคน ถ้านับจากจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ในอันดับ 9 ของโลก มีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 3 ล้านล้านบาท (คนไทย 1 ล้านล้าน ต่างชาติอีก 2 ล้านล้าน) ถ้านับเรื่องรายได้จากการท่องเที่ยว ประเทศไทยเป็นอันดับ 4 ของโลก
ถ้าดูจากทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวปัจจุบัน ถือว่าประเทศไทยกำลังก้าวหน้าไปข้างหน้า และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้น
การเติบโตที่ทุกคนคาดหวังคือ ศักยภาพด้านการดึงดูดนักท่องเที่ยวต้องยั่งยืน ทั้งปริมาณและคุณภาพการบริการต้องมากขึ้น คุณภาพนักท่องเที่ยวที่มาต้องสูงขึ้น รายจ่ายต่อหัวนักท่องเที่ยวต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลจะทำให้การท่องเที่ยวจะทำให้ประเทศไทยมีรายได้มากยิ่งขึ้น
การท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและยั่งยืน เกิดจากการร่วมพัฒนาของภาครัฐและเอกชน ภาครัฐต้องจัดสรรนโยบายและสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว และ เอกชนต้องเติมเต็มด้านการบริการ กลไกลการท่องเที่ยวจึงจะมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่ท่านรัฐมนตรีกำลังจะเสนออาจทำลายประสิทธิภาพการท่องเที่ยวไทยด้วยเหตุผลต่อไปนี้
ไม่ทำให้คุณภาพการท่องเที่ยวไทยสูงขึ้น
หนึ่งในนโยบายการท่องเที่ยวที่รัฐมนตรีการท่องเที่ยวและกีฬาก่อนหน้านี้พยายามพลักดันคือการทำให้ประเทศไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ การท่องเที่ยวที่ไทยจะต้องสร้างตลาดให้ได้ในอนาคตคือ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวในเชิงศึกษาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การจูงใจให้คนเกษียณจากโลกที่หนึ่งมาใช้ชีวิตระยะยาวหลังเกษียณในประเทศ การท่องเที่ยวด้านการแพทย์และสุนทรีย์ทางสุขภาพ (medical and wellness) ลักษณะการท่องเที่ยวที่กล่าวมาจะช่วยทำให้อุตสาหกรรมนี้ยั่งยืน ทำให้เกิดการคัดเลือกนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ที่ยอมจ่ายมากกว่าเพื่อการผ่อนคลาย ซึ่งจะทำให้เราสามารถเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวได้
ในทางกลับกันการนำเสนอนโยบายที่ทำให้ประเทศเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวแบบบันเทิง เมาหัวราน้ำ ดูเหมือนจะเป็นนโยบายที่ดึงดูงนักท่องเที่ยววัยรุ่นที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายต่ำ และยังทำให้ประเทศไทยไม่สามารถสลัดภาพลักษณ์ของการเป็นประเทศแห่งการปลดปล่อยตัณหาราคะของโลกไปได้
ความเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างอุตสาหกรรมการบริการทางเพศ กับ เวลาการเปิดปิดสถานบันเทิง ก็คือ การบริการทางเพศแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ มักมีสถานบันเทิงเป็นจุดเริ่มต้น ดังนั้นการขยายเวลาให้เปิดได้นานขึ้นจนถึงเช้า ย่อมมีความหมายถึงการสนับสนุนให้ประเทศก้าวหน้าไปในทางอุตสาหกรรมการบริการทางเพศได้
ประเทศไทยได้รับสมญานามว่าเป็น Capital of sex tourist หรือเมืองหลวงของอุตสาหกรรมเซ็กส์ มาอย่างยาวนาน (แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะไม่เคยตรวจพบการขายประเวณีในพัทยาหรือภูเก็ตมาก่อนเลยก็ตาม) แม้ว่าภาพลักษณ์ดังกล่าวทำให้ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว แต่การก้าวไปข้างหน้าเพื่อการสร้างการท่องเที่ยวที่พัฒนา มีคุณค่าและยั่งยืน จำเป็นต้องสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับการท่องเที่ยว เรามีทรัพยากรธรรมชาติที่งดงามมาก มีป่า มีทะเล มีภูเขา มีวัฒนธรรม มีอาหาร มีลักษณะนิสัยของคนไทยที่มีน้ำใจ รักการบริการ เป็นจุดขายที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่ามีศักยภาพพอที่จะทดแทนอุตสาหกรรมการบริการทางเพศได้
ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่
จากการสำรวจของงานวิจัยเรื่องผลกระทบของแอลกอฮอล์ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งได้สอบถามไปยังกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ เราพบว่า การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเพียงกิจกรรที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเข้ามาเที่ยว แต่ไม่ใช่เป้าหมายหลักในการตัดสินใจเลือกแหล่งท่องเที่ยว
นอกจากนั้นจากการวิเคราะห์ศักยภาพในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวโดย World Economic Forum ได้จัดลำดับให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวอยู่ในลำดับ 35 ของโลก โดยมีจุดที่ประเทศไทยต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วนคือ “ความปลอดภัยต่อชีวิตและสุขภาพอนามัยของนักท่องเที่ยว”
ซึ่งความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวที่ว่านี้คงเพิ่มให้ปลอดภัยมากขึ้นได้ยาก หากมีการขยายเวลาการให้บริการของสถานบันเทิง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีการบริโภคแอลกอฮอล์ และมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาด้านความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินแก่นักท่องเที่ยวได้หากมีการบริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น
ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่ได้รับการจากสำรวจ จึงอนุมานได้ว่า สิ่งที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต้องการคือการท่องเที่ยวที่ปลอดภัยมากขึ้น สิ่งนี้ควรเป็นลำดับความสำคัญแรกที่ผู้รับผิดชอบควรสร้างนโยบายขึ้นมาเพื่อตอบสนอง คำถามคือ การขยายเวลาเปิดสถานบริการจะยิ่งทำให้ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นหรือลดลง ถ้าทำให้ความปลอดภัยเพิ่มขึ้นไม่ได้ จะยิ่งทำให้จุดอ่อนของการท่องเที่ยวไทยอ่อนยิ่งขึ้น ซึ่งไม่แน่ใจว่าในระยะยาวจะเป็นผลดีต่อภาพรวมของการท่องเที่ยวหรือไม่
อิตาลีโมเดล ที่แท้จริงเป็นอย่างไร ?
ท่านรัฐมนตรีได้ยกตัวอย่างประเทศอิตาลีว่า ที่นั่นเปิดให้สถานบันเทิงเปิดได้ถึงเช้า แต่เมื่อผมลองทำการค้นคว้าเรื่องข้อบังคับและกติกาของสถานบันเทิงในอิตาลี ก็พบว่าข้อบังคับในประเทศเดียวกันก็มีความแตกต่างในแต่ละเมือง อย่างในกรุงโรมระเบียบเรื่องสถานบันเทิงเข้มงวดมาก เพราะต้องการควบคุมปัญหาที่เกิดจากแอลกอฮอล์ ที่เมืองนี้สถานบันเทิงต้องปิดก่อนเวลา 02.00 น. และ ตั้งแต่เวลา 21.00 น. ร้านค้าปลีกที่ขายแอลกอฮอล์ (off premise) จะถูกสั่งห้ามไม่ให้ขายแล้ว ส่วนร้านค้าที่ลูกค้านั่งดื่มแอลกอฮอล์ สามารถนั่งดื่มได้จนถึง 02.00 น.
เมืองที่มีระเบียบแตกต่างเช่น เมืองมิลาน ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่ง สถานบันเทิงสามารถเปิดได้ถึง 05.00 น.
ดังนั้นข้อสนับสนุนที่ว่าจะใช้อิตาลีโมเดลนั้นอาจต้องระบุถึงรายละเอียดในการควบคุมปัญหาที่อาจจะตามมาจากการขยายเวลาการให้บริการ และ ต้องมีคำอธิบานถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้เมืองใหญ่ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากสองเมืองมีนโยบายในเรื่องเดียวกันแตกต่างกัน เขียนถึงตรงนี้แล้ว ผมหวังว่าท่านรัฐมนตรี จะพิจารณาข้อเสนอที่กล่าวไป ในฐานะประชาชนที่รักการท่องเที่ยวไทย และอยากให้มันมีคุณค่าต่อประเทศไทย คนไทย และ คนทั่วโลกตราบนานเท่านานครับ
เมื่อสามปีก่อน หากใครติดตามข่าวสารในวงการแอลกอฮอล์ จะมีข่าวหนุ่มบัณฑิตนิติศาสตร์คนหนึ่ง ถูกตำรวจจับกุมด้วยข้อหาผลิตเบียร์ผิดกฎหมาย และวลีที่ชายหนุ่มคนนั้นสารภาพต่อตำรวจที่ว่า “ผมชอบเบียร์” และหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสแม้วันที่ถูกสรรพสามิตเข้าไปจับกุม ทำให้ข่าวนี้เป็นประเด็นโด่งดัง และได้สร้างกระแสให้ประชาชนรู้จักคำว่า คราฟท์เบียร์ รวมไปถึงการเรียกร้องสิทธิในการผลิตเบียร์เองของผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งนำโดย คุณเท่าพิภพเอง
ปัจจุบัน หนุ่มผลิตเบียร์คนดังกล่าวได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในนามพรรคอนาคตใหม่ และแน่นอนว่าเป้าหมายสำคัญของคุณเท่าพิภพในฐานะ สส. คือ การผลักดันกฎหมายที่เปิดกว้างให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถผลิตเบียร์เพื่อจำหน่ายได้ ในวันนี้เอง (21/09/2019) คุณเท่าพิภพได้ใช้บทบาทของ สส. ในการตั้งกระทู้ถามสด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่อง กฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 ว่าด้วยการอนุญาตให้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์ ก่อนที่เข้าสู่ประเด็นสำคัญของบทความนี้ ว่าทำไมประเทศไทย จึงไม่ควรเปิดกว้าง ให้มีผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์รายย่อย เรามาทำความรู้จักกับคำว่า คราฟท์เบียร์ ซึ่งเป็นสินค้าที่สำคัญที่สุดในตลาดของผู้ผลิตเบียร์รายย่อย
คำว่าคราฟท์เบียร์ แปลความหมายตรงตัวคือ เบียร์ที่รังสรรค์ด้วยความปราณีต พิถีพิถัน จะมีความแตกต่างชัดเจนกับเบียร์ทั่วไป คือ คราฟท์เบียร์คือเบียร์แฮนเมด ที่ผู้ผลิตอยากจะใส่อะไรก็แล้วแต่จินตนาการ ส่วนเบียร์ทั่วไปคืองานโรงงาน ที่ต้องใส่สารประกอบอื่น ๆ เพื่อลดต้นทุน และคุณภาพอาจไม่ปราณีตบรรจงเท่า คราฟท์เบียร์ ในต่างประเทศมีคำจำกัดความที่เฉพาะเจาะจงยิ่งกว่า เช่น
ในเยอรมันซึ่งคนนิยมบริโภคคราฟท์เบียร์มากที่สุด คราฟท์เบียร์ในแต่ละท้องที่จะมีสูตรการผลิตแตกต่างกัน แม้จะมีส่วนผสมหลักคือ มอลต์ ดอกฮ็อบ และ น้ำ แต่มักมีการใส่วัตถุดิบท้องถิ่นของพื้นที่นั้น ๆ ผสมลงไปด้วย เช่น ผลไม้ ดอกไม้ กาแฟ ช็อกโกแลต
ในสหรัฐอเมริกาได้กำหนดกฎและนิยามของคราฟต์เบียร์อย่างเป็นทางการโดย Brewers Association ที่ระบุว่า
1) จะต้องเป็นโรงเบียร์ที่มีขนาดเล็ก
2) เจ้าของเป็นผู้ถือหุ้นมากกว่า 75% และ
3) ใช้วัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติทั้งหมด ห้ามผสมวัตถุดิบสังเคราะห์กลิ่นหรือรสเพื่อลดต้นทุน ถ้าจะผสมแล้วต้องใช้เพื่อให้มีกลิ่นและรสชาติดีขึ้นเท่านั้น จะเห็นได้ว่านิยามแตกต่างกันเล็กน้อย แต่เนื้อหาสาระคือ เป็นเบียร์ที่ผลิตโดยรายย่อย และ เน้นเรื่องรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์
การส่งเสริมให้มีผู้ผลิตและจำหน่ายรายย่อยไม่ได้แปลว่าดีในแง่เศรษฐศาสตร์
จากนิยามข้างต้น หากคิดเผินๆ ตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน การผลิตอะไรก็ตามที่เจ้าของเป็นรายย่อย ย่อมดีกว่าการให้ผู้ผลิตไม่กี่รายผูกขาดตลาดทั้งหมด และ หากมีการผลิตสินค้าที่หลากหลายมากเท่าไหร่ การแข่งขันยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น เมื่อการแข่งขันสูง ผลประโยชน์สูงสุดก็จะตกอยู่กับผู้บริโภค นั้นคือประชาชนนั้นเอง
แต่ เมื่อเราพูดถึงสินค้าชนิดพิเศษอย่างแอลกอฮอล์ รายละเอียดยิบย่อยจะเพิ่มเข้ามาให้พิจารณาเพิ่มขึ้น เพราะการบริโภคเพิ่มขึ้นของแอลกอฮอล์ ไม่ได้ส่งผลให้มีเงินไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นเท่านั้น แต่มันทำให้สังคมมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วยจากการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแอลกอฮอล์ ดังนั้นสินค้าชนิดนี้จึงไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการเศรษศาสตร์พื้นฐานที่ยกมา การเพิ่มขึ้นของผู้ผลิต การเพิ่มขึ้นของการบริโภคสินค้าชนิดนี้ มีผลกระทบที่เลวร้ายตามมาด้วย!
จากการประเมินผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ของประเทศที่เป็นตัวอย่างของการกระจายอำนาจการผลิตเบียร์ที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งคือประเทศเยอรมัน ประเทศที่ได้รับฉายานามว่าเมืองเบียร์ เพราะทุกมุมเมืองมีโรงเบียร์ การดื่มเบียร์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวเยอรมัน และระบบการกระจายอำนาจแก่ผู้ผลิตรายเล็กที่ดี ทำให้ภายในประเทศมีโรงเบียร์มากถึง 1,300 แห่ง มีแบรนด์เบียร์มากถึง 5,000 แบรนด์ เฉพาะเบียร์อย่างเดียวมีการแบ่งประเภทไว้ถึง 40 ชนิด เรียกว่าเป็นประเทศที่มั่งคั่งสมบูรณ์ไปด้วยเบียร์ กระนั้นก็ตามรายได้ที่รัฐเรียกเก็บได้จากกิจการทั้งหลายนั้นมีมูลค่าเพียง 7.5% ของความสูญเสียทางเศรษรฐกิจที่เกิดขึ้นเท่านั้น (รัฐเก็บภาษีได้ 3,000 ล้านยูโร มูลค่าความสูญเสียต่อปีประมาณ 40,000 ล้านยูโร)
แม้จะมีการตั้งสมมติฐานว่าการเพิ่มขึ้นของผู้ผลิดรายย่อยในประเทศไทยนั้น จะทำให้รายได้กระจายไปยังประชาชนมากขึ้น สมมติฐานนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยนั้นถูกเปลี่ยนแปลงโดยอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ไปมาก พฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มเบียร์เป็นผลจากการทำการตลาดอย่างหนักของผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศ จนทำให้เบียร์อุตสาหกรรมกระจายไปทั่วทุกมุมประเทศ ในราคาที่คนทุกชนชั้นเอื้อมถึงได้ การเข้ามาของผู้ผลิตคราฟท์เบียร์ ที่ต้องผลิตบนฐานต้นทุนที่มากกว่าอุตสาหกรรมเบียร์ ดังนั้นราคาจำหน่ายจึงต้องสูงกว่า การแข่งขันเรื่องราคาเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการรายเล็กเสียเปรียบอย่างมากในการประกอบกิจการในระยะยาว สุดท้ายหากต้องผลิตบนฐานต้นทุนที่แพงกว่าแล้ว ก็ยากที่จะเอาตัวรอดจากกลไกลทางเศรษฐกิจได้
อีกกิจกรรมหนึ่งที่กลุ่มรณรงค์เรื่องคราฟท์เบียร์พยายามส่งเสริมคือ การส่งเสริมให้ชาวบ้าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ทำสุราชุมชนทำแบรนด์ของตัวเองออกมาขาย ความจริงแล้วสิ่งนี้ไม่ใช่ไอเดียใหม่ ในยุคเริ่มต้นของโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ก็เคยมีการผลักดันสิ่งนี้ แต่จนถึงทุกวันนี้ แทบไม่มีแบรนด์ไหนที่อยู่รอดและพัฒนาตัวเองเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในตลาดแอลกอฮอล์ได้เลย
เปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการรายย่อยผลิตและจำหน่าย คือ เตะอ้อยเข้าปากช้าง?
เมื่อครั้งที่คุณเท่าพิภพโดนสรรพสามิตเข้าจับกุมเมื่อสามปีก่อน และเป็นข่าวดังทั่วประเทศ หนึ่งในบุคคลสำคัญที่คุณเท่าพิภพได้มีโอกาสพบเจอกันคือทายาทของบริษัทอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ยักษ์ใหญ่รายหนึ่งของประเทศ ซึ่งการพบปะกันนั้นเกิดขึ้นเพราะคุณเท่าพิภพได้เปิดโปรเจคระดมทุนสร้างบาร์ของตัวเอง และทายาทท่านนี้ได้เข้าร่วมสนับสนุนการระดมทุนนี้ด้วย
เรื่องนี้ถ้าอ่านข่าวอย่างไม่สนใจก็คงคิดว่าเป็นการพบปะกันของคนที่น่าสนใจและทำธุรกิจแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่หากจะมองลึกลงไป จะมีอีกหนึ่งความหมายที่สะท้อนออกมาว่า เรื่องทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแอลกอฮอล์นั้น อยู่ในความสนใจของนายทุนใหญ่ของวงการทั้งนั้น
ความพยายามผลักดันส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้มีโอกาสทำฝันให้เป็นจริง ด้วยการปรุงรสเบียร์ของตัวเองให้ลูกค้าที่มีรสนิยมได้ดื่มด่ำกับเบียร์ที่เต็มไปด้วยความใส่ใจ หากได้ฟังประโยคดังกล่าวคงเคลิบเคลิ้ม กับกลิ่นอายของพลังการสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ และรู้สึกดีที่จะได้ดึงแบ่งอำนาจจากกลุ่มทุนผูกขาดในอุตสาหกรรม กระจายความมั่งคั่งให้กับประชาชนมากที่สุด แต่ในความเป็นจริงอาจไม่ใช่เช่นนั้น เรื่องราวอาจตาลปัตรเป็นว่า เมื่อประตูบานเล็กของการผลิตเบียร์ปรุงแต่งรสได้ถูกเปิดออก ยักษ์ใหญ่ทั้งหลายในวงการก็แยกร่าง ออกลูกออกหลาน และวิ่งเข้าประตูเล็กๆ ที่เปิดไว้ จนไม่มีพื้นที่หลังประตูเหลือให้คนตัวเล็กๆ จริงๆ ได้เข้าไปทำมาหากินอีกต่อไป
เรื่องที่กำลังนำเสนอไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น นายทุนในอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ ก็เหมือนกับนายทุนในทุกวงการที่ศักยภาพและความสามารถของกลุ่มทุนที่พวกเขามีนั้นมันมากมายมหาศาล
ตัวอย่างเช่น บริษัท Anheuser-Busch InBev” (AB InBev) บริษัทผู้ผลิตเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มี แบรนด์ลูกในบริษัทแม่ที่ขายเบียร์อย่างเดียวร่วม 500 แบรนด์ แม้ว่ารายได้หลักของบริษัทจะมาจากการขายเบียร์ปกติ แต่เมื่อตลาดคราฟท์เบียร์เติบโตขึ้น AB InBev ก็ไม่รอช้าที่จะกระโดดเข้าตลาดด้วย และ ตั้งแต่ปี 2011 บริษัทเปิดตัวแบรนด์ที่เจาะกลุ่มลูกค้าคราฟท์เบียร์ในระยะเวลาสั้นๆ มากถึง 35 แบรนด์ เข้าไปทำการตลาดใน 30 ประเทศทั่วโลก ซึ่งหลังลงทุนไปแล้วก็ดูเหมือนว่าผลตอบแทนมีแนวโน้มที่จะขยายมากขึ้นด้วย
นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การเปิดช่องให้มีการผลิตและจำหน่ายเบียร์ของผู้ประกอบการรายย่อย ไม่ได้ทำให้เกิดการกระจายอำนาจโดยสัมบูรณ์ ในทางตรงกันข้ามอาจจะเป็นช่องทางที่ทำให้ยักษ์ใหญ่ในวงการ ยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก
รายย่อยผลิตกันมาก ควบคุมยากขึ้น
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กันคือการควบคุมผลกระทบจากการปล่อยให้เกิดผู้ผลิตรายใหม่มากขึ้น ผมเองเพิ่งกลับจากการเดินทางจากประเทศติมอร์เลสเต ในภารกิจเรื่องการออกแบบนโยบายการควบคุมแอลกอฮอล์ให้กระทรวงสาธารณสุข ผมกำลังจินตนาการว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในติมอร์เลสเตคงคล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน เนื่องจากประเทศติมอร์เลสเตเป็นประเทศเกิดใหม่ การผลิตสินค้าหลายอย่างในประเทศจึงยังไม่มีลักษณะเป็นอุตสาหกรรม รวมไปถึงแอลกอฮอล์ด้วย เนื่องจากประเทศติมอร์เลสเตมีวัฒนธรรมการดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ที่ประชาชนดื่มมากกว่าร้อย 70 มาจากการหมักเหล้ากันเองภายในชุมชน โดยใช้วัตถุดิบคือตาล สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐไม่สามารถควบคุมการผลิตได้เลย น้ำตาลเมาที่วางขายในตลาดไม่มีการตรวจสอบดีกรีของแอลกอฮอล์ เราทำการสุ่มเอาน้ำตาลเมาที่วางขายมาจุดไฟ ปรากฎว่าไฟติดสบาย ระดับแอลกอฮอล์ที่สูงขนาดนี้ทำให้คนกินหนัก ๆ อาจเสียชีวิตได้เลย คำถามสำคัญที่เกดขึ้น ณ ตอนนั้นคือ ทำไมรัฐดูแลไม่ได้ คำตอบที่ได้คือ เพราะรัฐไม่มีกำลังพอที่จะดูแล ไม่มีกำลังคนที่จะปฏิบัติงาน ไม่มีระบบติดตาม ดังนั้นความเสี่ยงของการดื่มจึงส่งไปถึงผู้บริโภคเรียกได้ว่าเต็มเม็ดเต็มหน่วย (ปกติรัฐที่ดีจะคัดกรองความเสี่ยงให้ประชาชนได้รับน้อยที่สุด)
สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อกลไกลการบังคับใช้กฎหมายในประเทศนั้น ๆ ไม่แข็งแรง
คำถามสำคัญที่จะถามสำหรับการเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่เปิดกว้างสำหรับผู้ผลิตรายย่อยทั้งหลายได้ผลิตและจัดจำหน่ายคือ ประเทศไทยนั้นมีกลไกลควบคุมและป้องกันผลกระทบที่จะตามมาจากการบริโภคที่มากขึ้นหรือไม่
กับสถานการณ์ความเป็นจริงในปัจจุบันที่ว่าเรามีจุดจำหน่ายแอลกอฮอล์มากถึง 6 แสนจุด ทั่วประเทศ แต่มีเพียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยเรื่องการ จำกัดเวลาในการจำหน่าย จำกัดสถานที่ในการจำหน่าย และ จำกัดอายุของผู้ซื้ออย่างเคร่งครัด
เรามีนักดื่มอยู่แล้วประมาณ 30% ของประชากรทั้งประเทศ แต่มีด่านจราจรตรวจแอลกอฮอล์ไม่สมส่วนกับปริมาณผู้ดื่ม จนนำมาซึ่งการเป็นถนนที่อันตรายที่สุดในโลก และการเมาแล้วขับยังคงเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
หากกลุ่มนักรณรงค์เรื่องคราฟท์เบียร์ผลักดันให้ผลิตรายย่อยสามารถผลิตได้ง่ายขึ้นจริง จะมีกลไกลรัฐแบบใดบ้างที่จะติดตามความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดื่ม และผู้ผลิตรายย่อยที่เข้ามาในตลาดนั้นพร้อมจะจ่ายชดเชยความเสียหายทางเศรษฐกิจที่แท้จริงในรูปแบบภาษีกลับสู่รัฐหรือไม่
ในมุมมองของนักวิชาการด้านการควบคุมแอลกอฮอล์ แน่นอนว่าเป้าหมายสูงสุดของการทำงานคือการลดโอกาสที่สังคมจะเกิดความสูญเสียจากเรื่องแอลกอฮอล์ จากการรวบรวมข้อมูลทางวิชาการจากทั่วโลก เราพบว่ากลุ่มทุนรายใหญ่นั้นคือความเสี่ยงสูงสุดที่จะก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยของการบริโภคแอลกอฮอล์ แต่กระนั้นก็ตาม เรายังไม่เคยค้นพบว่ามีการตั้งสมมติฐานเรื่องการเพิ่มผู้ผลิตเข้ามาในตลาดแล้วโอกาสที่ความเสี่ยงจากการดื่มที่ไม่ปลอดภัยจะลดลงเลย
และดูเหมือนว่าสมมติฐานจะมีแนวโน้มไปในทางที่ว่า ยิ่งมีผู้ผลิตมากรายขึ้นเท่าไหร่ การควบคุมความสูญเสียจะควบคุมยากขึ้น
ถึงแม้ผมจะเห็นด้วยกับเรื่องหลักการกระจายอำนาจ ที่จะทำให้คนทุกคนมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น แต่เรื่องกระจายอำนาจให้คนผลิตเหล้าเบียร์ขอไม่เห็นด้วยสักเรื่อง ถ้าอยากกระจายอำนาจเรื่องนี้ ลองคิดกลับกันว่า กระจายอำนาจให้ประชาชนได้กวดขันคนที่ทำผิดกฎหมายเรื่องเหล้าเบียร์ได้มากขึ้น อันนี้น่าจะลดความเสียหายให้สังคมนะครับ และผมสนับสนุนการกระจายอำนาจแบบนี้แน่นอนครับ
จากข่าวที่ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเตรียมเสนอรัฐบาลให้มีการขยายเวลาปิดสถานบริการออกไปจนถึง 04.00 น. เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภาคกลางคืน ในอีกด้านหนึ่ง สถานบริการที่เปิดให้บริการช่วงกลางคืนมักจะมีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันเป็นกิจกรรมหลักในสถานบริการ การขยายเวลาเปิดสถานบริการ ถือเป็นการเพิ่มการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งการเข้าถึงที่เพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดที่สัมพันธ์กับการบริโภคและผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้น
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อสุขภาพก่อให้เกิดโรคกว่า 200 โรค นอกจากนี้ยังถือเป็นยาเสพติดที่ก่อให้เกิดผลกระทบบุคคลอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดื่มโดยตรงมากที่สุด ซึ่งผลกระทบดังกล่าวก็วกกลับไปก่อให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจ เช่น ต้นทุนในด้านการรักษาพยาบาลผ่านสวัสดิการสุขภาพของรัฐ ความเสียหายจากอุบัติเหตุ ต้นทุนด้านการบังคับใช้กฎหมาย ผลิตภาพในระบบเศรษฐกิจที่สูญเสียไปจากการบาดเจ็บและเสียชีวิต เป็นต้น รัฐจึงควรชั่งน้ำหนักให้ดีระหว่างการรายได้ของกิจการในภาคกลางคืนที่เพิ่มขึ้นกับ ต้นทุนที่เกิดจากการบริโภคแอลกอฮอล์
ทางศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) จึงขอนำเสนอข้อมูลผลกระทบทางเศรษฐกิจจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งจัดทำโดย ผศ.ดร.ธัชนันท์ โกมลไพศาล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการดังกล่าวเป็นการประเมินต้นทุนผลกระทบทางสังคมจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2560 พบว่า ในปีดังกล่าวการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าถึง 86,000 ล้านบาท โดยมูลค่าความเสียหายส่วนใหญ่เกิดจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรคิดเป็น 82,000 ล้านบาท ส่วนต้นทุนที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ต้นทุนในการรักษาพยาบาล และต้นทุนของการังคับใช้กฎหมาย ซึ่งก็ต้องใช้งบประมาณจากภาษีทั้งสิ้น
ดังนั้น รัฐบาลจึงควรตรึกตรองให้ดีว่าการให้สถานบริการเปิดได้ถึงตี 4 และหวังว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้นั้น จะคุ้มค่ากับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรในวัยทำงานที่เพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อผลิตภาพทางเศรษฐกิจที่ลดลงในระยะยาว ผลกระทบอื่นๆ ที่เกิดจากแอลกอฮอล์สุดท้ายก็กลับมาเป็นต้นทุนของรัฐทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นกรณีค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรม แบบนี้อาจเป็นการได้ที่ไม่คุ้มเสีย
เอกสารอ้างอิง: ผศ. ดร.ธัชนันท์ โกมลไพศาล, รายงานวิจัยโครงการการประเมินต้นทุนผลกระทบทางสังคมจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยประจำปี พ.ศ.2560
สาขาวิชาระบาดวิทยา อาคารบริหาร ชั้น 6 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 15 ถ.กาญจนวนิช ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
โทรศัพท์ : 083-5775533 (เวลาราชการ 08.30 - 16.30 น.)
Copyright © 2019 CAS All rights reserved.