ถาม-ตอบ ประเด็นร้อน จะเกิดอะไรขึ้น? หากมีการลดภาษีไวน์และสุราชุมชน
โดย รศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร
รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา
อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
______
Q1: การลดราคาหรือภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่อการดื่มของเยาวชนหรือผู้ใหญ่มากกว่ากัน?
A1: การลดราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลกระทบที่แตกต่างกันระหว่างเยาวชนและผู้ใหญ่ ตามการวิจัยของต่างประเทศในปี 2007 พบว่า การลดราคามีผลต่อเยาวชนมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากความยืดหยุ่นในการบริโภคของเยาวชน (-0.39) ต่ำกว่าในกลุ่มผู้ใหญ่ (-0.56) นั่นหมายความว่า เยาวชนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการบริโภคแอลกอฮอล์มากกว่าเมื่อราคาลดลง ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพและสังคม ดังนั้น หากรัฐบาลจะพิจารณาลดราคา ก็ควรคำนึงถึงผลกระทบเหล่านี้ต่อเยาวชนในสังคมไทยด้วยเช่นกัน
Q2: ราคาแอลกอฮอล์ลดลง ทำให้ชีวิตเยาวชนไทยเสี่ยงตายเพิ่ม?
A2: การศึกษาในสหรัฐอเมริกา พบว่าราคาไม่ใช่แค่ตัวเลข เนื่องจากราคาแอลกอฮอล์ที่สูงขึ้นช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายในเยาวชน ดังนั้นในทางกลับกัน การลดราคาอาจทำให้วัยรุ่นไทยเผชิญกับความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นได้
Q3: แอลกอฮอล์ถูกลง ทำให้ความเสี่ยงบนท้องถนนสูงขึ้น?
A3: แอลกอฮอล์ถูกลง ทำให้ความเสี่ยงต่อความปลอดภัยบนท้องถนนสูงขึ้นจริง เนื่องจากงานวิจัยในอเมริกาและแคนนาดา ชี้ให้เห็นว่า “การเพิ่มราคาแอลกอฮอล์ช่วยลดอุบัติเหตุทางถนน” ดังนั้น “การลดราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้เยาวชนไทยเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทางถนนมากขึ้น!”
Q4: แอลกอฮอล์ราคาถูกลง จะทำให้ปัญหาสุขภาพทางเพศเพิ่มขึ้น?
A4: แอลกอฮอล์ถูกลง จะทำให้ปัญหาสุขภาพทางเพศเพิ่มขึ้นจริง เนื่องจากงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาเผยว่า “การเพิ่มราคาแอลกอฮอล์ลดความเสี่ยงด้านสุขภาพเหล่านี้”ดังนั้น “การลดราคาอาจนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงและปัญหาสุขภาพเพิ่มเติมในหมู่เยาวชนไทย!”
Q5: ราคาแอลกอฮอล์ลดลง ทำให้ความปลอดภัยบนท้องถนนลดลง?
A5: การลดราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้การดื่มหนัก (heavy episodic drinking) เกิดง่ายขึ้น ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการขับรถในสภาพเมา ทำให้อุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าหากราคาแอลกอฮอล์ถูกลงอาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่สูงขึ้นบนท้องถนน!
Q6: การลดราคาแอลกอฮอล์จะมีผลอย่างไรต่อพฤติกรรมการดื่มและความปลอดภัยสุขภาพของเรา?
A6: ราคาที่ถูกลงอาจส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการดื่มหนักมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่เพิ่มความเสี่ยงทางถนนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคตับ และปัญหาสังคม เช่น ความรุนแรงในครอบครัวและการทะเลาะวิวาท
Q7: ลดราคาแอลกอฮอล์ ส่งผลต่อเยาวชนไทยอย่างไร?
A7: การลดราคาแอลกอฮอล์อาจทำให้เยาวชนเข้าถึงแอลกอฮอล์ได้ง่ายขึ้น นำไปสู่การเริ่มต้นในการดื่มในวัยที่น้อยลง และอาจส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองและการเรียนรู้ ซึ่งเป็นปัญหาที่สังคมต้องให้ความสำคัญ
หลักฐานทางวิชาการชี้ชัด!! ขยายเวลาเปิดสถานบริการ ทำอัตราการเกิดอันตรายและอุบัติเหตุพุ่ง!!!
จากที่มีผลบังคับใช้ขยายเวลาเปิดสถานบริการถึงตีสี่ ในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา พบว่ามีการเกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บ-เสียชีวิต เนื่องจากการเมาแล้วขับ รวมไปถึงการมึนเมาจนไม่ได้สติ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรืออันตรายขึ้นได้ ซึ่งได้มีหลักฐานทางวิชาการที่ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเวลาการซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พบว่า
• จากการศึกษาพบหลักฐานวิชาการส่วนใหญ่สอดคล้องกันว่า การเปลี่ยนแปลงเวลาซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอัตราการเกิดอันตราย
• จากบทความวิชาการที่รวบรวมการศึกษาคุณภาพสูงจำนวน 22 ชิ้น (รวมถึงการศึกษาจำนวน 3 ชิ้นที่เกี่ยวกับเวลาขายของร้านไม่มีที่นั่งดื่ม) และสรุปว่า การขยายเวลาการซื้อขายส่งหรือขยายเวลาเปิดสถานบริการ ส่งผลให้เกิดอันตรายมากขึ้น อาทิเช่น การทำร้ายร่างกาย การบาดเจ็บ เมาแล้วขับ-drink driving ในขณะที่การจำกัดเวลาซื้อขายมักตามมาด้วยการลดลงของอันตรายในแง่ของขนาดของผลกระทบ (effect size)
• การศึกษาใน 18 เมืองของประเทศนอร์เวย์ที่ดำเนินการขยายและจำกัดเวลาซื้อขายช่วงดึกหลายครั้งต่อกัน พบว่าการขยายเวลาซื้อขายเพิ่มขึ้นทุกหนึ่งชั่วโมงมีความสัมพันธ์กับการทำร้ายร่างกายที่รายงานโดยตำรวจซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 16 (โดยลดลงใกล้เคียงกันหากจำนวนชั่วโมงซื้อขายลดลง)
• การศึกษาในรัฐนิวคาสเซิล ประเทศออสเตรเลีย พบว่าการการลดชั่วโมงการขายจาก 05.00 น. เป็น 03.30 น. ส่งผลให้การทำร้ายร่างกายลดลงประมาณร้อยละ 33 โดยมีผลต่อเนื่องยาวนานกว่า 5 ปี
ที่มา: หนังสือสุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา ฉบับปรับปรุงครั้งที่สาม (ฉบับแปลภาษาไทย)
ถาม-ตอบ ประเด็นร้อน!! จะเกิดอะไรขึ้น? หากมีการลดภาษีไวน์และสุราชุมชน
โดย ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
___________
Q: ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังมีแนวคิดในการลดอัตราภาษีไวน์และสุราชุมชน เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการชอปปิงและท่องเที่ยว อาจารย์คิดว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลอย่างไร และมีข้อห่วงใยต่อเรื่องนี้อย่างไร
A: ก่อนอื่นเราคงต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มิได้เป็นสินค้าปกติ แม้จะให้อรรถประโยชน์จากการบริโภคแต่ก็ส่งผลกระทบทางสุขภาพต่อผู้บริโภคและต้นทุนสังคมดังเช่นหน่วยงานสากลชี้ให้เห็นประเด็นดังกล่าว งานวิจัยที่ผ่านมาของไทยพบว่าต้นทุนจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2564 สูงถึงร้อยละ 1 ของ GDP ในขณะที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้การลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเป้าหมายหนึ่งของ SDG และทางการไทยได้ดำเนินการในแนวทางลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างยาวนาน ทั้งมาตรการภาษีและไม่ใช่ภาษี อย่างไรก็ตาม เราพบว่ามาตรการด้านภาษีเป็นมาตรการที่มีประสิทธิผล
ประเด็นความเชื่อมโยงระหว่างไวน์กับการดึงดูดนักท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่ยังไม่มีหลักฐานแน่นชัด การบริโภคไวน์ในประเทศมักจะจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้สูงและร้านอาหารต่างชาติที่มักดื่มไวน์ควบคู่กับอาหาร ราคาไวน์ที่ลดลงจะส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเพิ่มขึ้นได้อย่างไรยังเป็นคำถามที่น่าสงสัย ในขณะที่ การลดภาษีสรรพสามิต และภาษีนำเข้าด้วยย่อมส่งผลให้ราคาไวน์ลดลง ผู้บริโภคซึ่งรวมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมีแนวโน้มจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น
ในเชิงโครงสร้างของภาษี งานวิจัยที่ผ่านมาของคณะวิจัยที่ผมร่วมอยู่พบว่าไวน์นำเข้ามีค่าความยืดหยุ่นต่อราคาสูง การลดราคาไวน์จะส่งผลให้การบริโภคเพิ่มขึ้นมากกว่าโดยเปรียบเทียบกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น ในขณะที่ไวน์เป็นสินค้าที่เป็นคู่แข่งกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผู้ผลิตรายย่อย เช่น สุราขาว สุราสี และเบียร์รายย่อย มีความพยายามที่จะผลิต ซึ่งการลดภาษีไวน์น่าจะขัดแย้งกับข้ออ้างของรัฐบาลที่จะส่งเสริมผู้ผลิตรายย่อยและชุมชน
กรณีของสุราชุมชนที่ทางกระทรวงการคลัง จะดำเนินการลดภาษีสรรพสามิตอาจจะต้องคำนึงถึงโครงสร้างตลาด ซึ่งปัจจุบันสุราที่อนุญาตให้ชุมชนผลิตได้เป็นสุราขาว ถูกครอบงำตลาดโดยผู้ผลิตรายใหญ่ และเสียภาษีในอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่น ในขณะที่รายใหญ่มีความสามารถในการลดราคาเพื่อกีดกันผู้ผลิตรายย่อยหน้าใหม่เข้าสู่ตลาด หากทางการต้องการเพิ่มผู้ประกอบประการรายย่อยควรดำเนินมาตรการอื่น
โดยสรุป ผมมีความเห็นว่าภาครัฐยังควรดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอันไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพ และสังคม เครื่องมือทางภาษีเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การปรับปรุงโครงสร้างภาษีควรดำเนินการอย่างรอบคอบ โครงสร้างภาษีควรจะมีลักษณะที่ง่าย และมีเป้าหมายเพื่อลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยไม่บิดเบือนพฤติกรรมการบริโภค มิใช่เพียงการประเมินปริมาณภาษีจะจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นหรือลดลง
รศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่างถึงกรณีที่รัฐบาลกำลังจะดำเนินการนโยบายขยายเวลาเปิดสถานบริการถึง 04.00 น. ใน 5 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ สถานบริการในท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดภูเก็ต จังหวัดชลบุรี จังหวัดเชียงใหม่ และท้องที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และตามกฎกระทรวงฉบับนี้จะขยายเวลาให้สถานบริการในทุกท้องที่ทั่วประเทศสามารถเปิดบริการในคืนส่งท้ายปีเก่า 31 ธันวาคม ไปจนถึงเวลา 06.00 น. ของวันปีใหม่ 1 มกราคม 2567 โดยตนเองเป็นห่วงว่านโยบายนี้อาจส่งผลให้เกิดผลกระทบเชิงลบตามมามากกว่าความคาดหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องอุบัติเหตุจราจรที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในช่วงเวลาดังกล่าว และยังเพิ่มการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเยาวชนอีกด้วย ซึ่งยังไม่เห็นมาตรการที่ชัดเจนในการควบคุมหรือจัดการกับผลกระทบเชิงลบ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ และระบบเยียวยาหรือดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ
รศ.ดร.นพ.พลเทพ กล่าวต่อว่า นอกจากการดื่มแล้วขับที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุจราจรแล้วนั้น แอลกอฮอล์ยังมีฤทธิ์ทำให้ผู้ดื่มลดหรือขาดความยับยั้งชั่งใจ และการตัดสินใจบกพร่อง ที่อาจนำไปสู่การคุกคามทางเพศ โดยมีงานวิจัยชี้ชัดว่า บทบาทของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการล่วงละเมิดทางเพศมีความสำคัญมาก ประมาณ 50% ของการล่วงละเมิดทางเพศ กระทำโดยผู้ชายที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งไม่ว่าการคุกคามทางเพศจะเกิดขึ้นในระหว่างหรือหลังการดื่มหรือไม่ก็ตาม เหยื่อหรือผู้ถูกกระทำไม่ได้มีส่วนที่ทำให้เกิดการคุกคามทางเพศนี้ขึ้นมา แต่ผู้กระทำคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบการกระทำของตนเองทั้งทางกฎหมายและศีลธรรมจรรยา นอกจากนี้พฤติกรรมการดื่มสุรายังสัมพันธ์กับจำนวนและความรุนแรงในสังคม และเวลาในการให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานบันเทิงมีความเชื่อมโยงกับสถิติช่วงเวลาการเกิดอาชญากรรม เช่น การทำร้ายร่างกาย การทะเลาะวิวาท การทำลายข้าวของและทรัพย์สินสาธารณะ เป็นต้น ซึ่งการควบคุมเวลาในการขายและการให้บริการของสถาบันเทิงสามารถช่วยป้องกันและลดปัญหาอาชญากรรมลงได้ เพราะอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัดเป็นปัญหาที่ป้องกันและควบคุมได้ ดังนั้น ก่อนปีใหม่นี้ รัฐต้องแสดงให้เห็นว่าหลังจากที่มีการขยายเวลาแล้ว อุบัติเหตุจราจรไม่เพิ่มขึ้น และมาตรการที่ดำเนินการอยู่มีความคุ้มค่า โดยหลังจากวันที่ 15 ธันวาคมนี้ไปจนถึงหลังปีใหม่ รัฐต้องติดตามประเมินผลของมาตรการเป็นระยะและนำเสนอผลที่เกิดขึ้นต่อสาธารณชน เพื่อช่วยในการปรับปรุงมาตรการให้เหมาะสมต่อการปกป้องสุขภาพและชีวิตของประชาชน โดยความเสี่ยงนี้ไม่ควรรอนาน
จากกระแสข่าวของอดีตนักกีฬาชื่อดัง ถูกเยาวชนอายุ 17 ปี เข้าแจ้งความว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนของข้อเท็จจริงจากการสืบสวน แต่ข้อมูลที่ทราบแน่ชัดแล้วนั้น คือ คู่กรณีทั้งสองฝ่ายมีการดื่มแอลกอฮอล์จากสถานบันเทิงก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ตามที่เป็นข่าว
โดยจากการทบทวนเอกสารวิชาการในประเทศและต่างประเทศ มีข้อมูลที่ชี้ชัดว่า บทบาทของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการล่วงละเมิดทางเพศมีความสำคัญมาก แม้ว่าความรุนแรงทางเพศมักถูกจะประเมินต่ำไปเสมอ เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้รับการรายงาน แต่ประมาณร้อยละ 50 ของการล่วงละเมิดทางเพศที่ได้รับการรายงานนั้น กระทำโดยผู้ชายที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้ว่าผู้ชายก็อาจจะประสบกับความรุนแรงทางเพศที่เกี่ยวข้องกับการดื่มของผู้อื่นได้ด้วยก็ตาม แต่การศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์นี้พบยากมาก ผู้ชายน้อยกว่าร้อยละ 5 รายงานว่า เคยถูกบังคับหรือกดดันทางเพศเนื่องจากการดื่มที่มีปัญหาของสมาชิกในครอบครัว
ซึ่งฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ทำให้ผู้ดื่มลดหรือขาดความยับยั้งชั่งใจ ผู้ชายบางคนจึงมักจะดื่มสุราเพื่อให้ตนเองรู้สึกว่า ได้ปลดปล่อยการควบคุมตนเอง มีอำนาจมากขึ้น ตื่นเต้นกระชุ่มกระชวย หรือท้าทายมากขึ้น หรือดื่มเพื่อย้อมใจตนเองให้มีความกล้ามากขึ้น กลุ่มเพื่อนก็อาจมีส่วนกดดันให้มีพฤติกรรมรุนแรงหลังการดื่มมากขึ้นด้วย ดังนั้น แอลกอฮอล์ทำให้การตัดสินใจบกพร่อง ผู้ที่ดื่มสุราจึงอาจจะคิดว่า เหยื่อที่อาจจะดื่มสุราอยู่ด้วยมีความต้องการทางเพศ หรือยินยอมต่อการกระทำทางเพศนั้นด้วย หรือมองว่าเสื้อผ้า ท่าทางของเหยื่อ แสดงว่าเหยื่อเองก็มีความต้องการทางเพศเช่นกัน จึงพยายามที่จะมีเพศสัมพันธ์กับเหยื่อโดยไม่ได้สนใจว่า เหยื่อนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม และหากเหยื่อของการคุกคามทางเพศเองก็ดื่มสุรา แอลกอฮอล์ทำให้การตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นบกพร่องไป อาจจะไม่ได้คิดว่า ตนเองอยู่ในภาวะที่กำลังจะถูกคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศ และหากเหยื่ออยู่ในภาวะเมาสุราด้วย ก็ยิ่งทำให้ความสามารถในการต่อต้านขัดขืนการล่วงละเมิดทางเพศนั้นลดลง
ไม่ว่าการคุกคามทางเพศจะเกิดขึ้นในระหว่างหรือหลังการดื่มสุราหรือไม่ก็ตาม เหยื่อหรือผู้ถูกกระทำไม่ได้มีส่วนที่ทำให้เกิดการคุกคามทางเพศนี้ขึ้นมา มันไม่ใช่ความผิดของผู้ถูกกระทำ แต่ผู้กระทำคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบการกระทำของตนเองทั้งทางกฎหมายและศีลธรรมจรรยา จะเห็นได้ว่าจากข้อมูลที่กล่าวถึงข้างต้นมีความคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ตอนนี้ และอดีตนักกีฬาคือผู้กระทำ ที่สังคมและผู้ถูกกระทำกำลังเรียกร้องให้ออกมารับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งทางกฎหมายและศีลธรรมจรรยา
___________
ที่มา
• อรทัย วลีวงศ์. (2562) ผลกระทบจากการดื่มสุราของผู้อื่น. ใน: สาวิตรี อัษณางค์กรชัย, สมสมร ชิตตระการ. ข้อเท็จจริงและตัวเลข เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย พ.ศ. 2559-2561. สงขลา: ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
• https://metoomvmt.org/
• สาวิตรี อัษณางค์กรชัย, คำนวณ อึ้งชูศักดิ์, บก. (2566). สุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ฉบับภาษาไทย. สงขลา : ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากล
_________
งด ลด ดื่มแอลกอฮอล์ = ยุติความรุนแรง
“ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากลด้วยการไม่ดื่มแอลกอฮอล์”
นอกจากแอลกอฮอล์จะจัดเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งปี 2030 ในเป้าหมายที่ 3 สุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่แล้วนั้น ยังนับเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายที่ 16 สันติภาพและความยุติธรรม โดยเฉพาะในเป้าหมายที่ 16.1 ลดการใช้ความรุนแรง และการเสียชีวิตจากความรุนแรงทุกรูปแบบ และทุกหนแห่งอีกด้วย ซึ่งสามารถยืนยันได้จากงานวิจัย ดังนี้
จากข้อมูลข้างต้น สะท้อนให้เห็นผลกระทบในมิติของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กและสตรีจากการดื่มแอลกอฮอล์ของบุคคลในครอบครัวและบุคคลรอบข้าง โดยแอลกอฮอล์มีความสัมพันธ์ที่ทำให้ผู้ดื่มขาดการยับยั่งชั่งใจ ควบคุมตัวเองไม่ได้ รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการทำร้ายร่างกายและการคุมคามทางเพศนั่นเอง ดังนั้น การงด ลด การดื่มแอลกอฮอล์ จึงเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดและยุติความเสี่ยงในการเกิดความรุนแรงต่อคนที่คุณรัก ครอบครัว และสังคม
________
เอกสารอ้างอิง
[1] อรทัย วลีวงศ์ และคณะ. (2558). รายงานโครงการศึกษาวิจัย การศึกษาผลกระทบของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อบุคคลรอบข้างผู้ดื่ม ในประเทศไทย (ระยะที่ 1). ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา.
[2] ธวัชชัย อภิเดชกุล และคณะ. (2561). ลักษณะและผลกระทบของภัยเหล้ามือสองต่อสมาชิกครอบครัวในชนเผ่าลาหู่. ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา.
[3] ไมซาเร๊าะ ขุนรักษ์ หมานระเด็น และคณะ. (2564). พื้นที่ชีวิตของผู้หญิง (Living Space of Women) : ประสบการณ์การเผชิญสถานการณ์ (ปัญหา) ของผู้หญิงกับบุคคลในครอบครัวที่ดื่มสุรา. ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา.
[4] พลเทพ วิจิตรคุณากร และคณะ. (2564). การสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อบุคคลรอบข้างผู้ดื่มในประเทศไทย. ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา.
[5] ไพฑูรย์ สอนทน และคณะ. (2566). ความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของสามีกับความรุนแรงจากคู่สมรสในผู้หญิงหลังคลอดในโรงพยาบาลของรัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข. ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา.
สาขาวิชาระบาดวิทยา อาคารบริหาร ชั้น 6 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 15 ถ.กาญจนวนิช ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
โทรศัพท์ : 083-5775533 (เวลาราชการ 08.30 - 16.30 น.)
Copyright © 2019 CAS All rights reserved.