บทความ

บทความสาระน่ารู้ในอดีตที่ควรค่าแก่การอ่านซ้ำไว้เป็นคลังปัญญา

1 2 3 8 9
กลับไปหน้าสาระน่ารู้
News, ข่าวเด่น, บทความ

การดื่มเหล้าแบบรวดเดียวและการแข่งดื่ม คนดื่มเสี่ยง คนเชียร์สนุก+ฦ

การดื่มเหล้าแบบรวดเดียวและการแข่งดื่ม คนดื่มเสี่ยง คนเชียร์สนุก⁉️

จากกระแสข่าวเด็กหญิงอายุ 13 ปี ถูกจ้างกระดกเหล้าเพียวๆ ในงานแห่นาค แลกกับเงิน 1 พันบาท น็อกเข้าไอซียู โดยญาติของน้องเล่าว่า เหตุการณ์เกิดจากกลุ่มชายวัยกลางคนหลายคนว่าจ้างและส่งเสียงเชียร์อย่างสนุกสนาน ให้เด็กหญิงวัย 13 ปีและเพื่อน ซึ่งเป็นเด็กชายวัย 13 ปีเช่นเดียวกัน ดื่มสุราเพียวๆ คนละครึ่งขวด หากดื่มหมดจะให้เงินค่าจ้าง 1,000 บาท จนเป็นเหตุให้เด็กหญิงเกิดอาการช็อก หมดสติ และถูกหามส่งโรงพยาบาลในเวลาต่อมา

อาการช็อกหมดสติที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ (alcohol intoxication) ต่อร่างกาย และปริมาณน้ำในร่างกายที่เพิ่มขึ้นมามากก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำเป็นพิษ (water intoxication) ซึ่งส่งผลให้เกิดสมองบวมและระดับเกลือแร่ในเลือดเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากแอลกอฮอล์เป็นสารที่ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง คล้ายยากดประสาท ซึ่งฤทธิ์นี้จะขึ้นโดยตรงกับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ได้รับ ยกตัวอย่างเช่น การดื่มเหล้าหมดทีเดียว 1 ขวด จะทำให้แอลกอฮอล์ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้ถึง 250 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้เสี่ยงต่อการสำลัก อาเจียน หายใจไม่ออก หยุดหายใจ หมดสติ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตจากการได้รับแอลกอฮอล์เกินขนาด ซึ่งโดยทั่วไป นักดื่มมักจะค่อยๆ ดื่ม จะเป็นการเปิดโอกาสให้ร่างกายได้ค่อยๆ ทำลาย และขับแอลกอฮอล์ออกจากกระแสเลือด ทำให้แอลกอฮอล์ไม่คั่งอยู่ในร่างกายของผู้ที่ดื่มมากนัก

แต่ในกรณีการดื่มแบบรวดเดียวในเวลาจำกัดนี้ อย่างกรณีของเด็กหญิงที่นอนอาการโคม่าอยู่นั้น จะมีลักษณะเหมือนเทแอลกอฮอล์พรวดเข้าไปในกระแสเลือดโดยไม่เว้นช่วงเวลาให้ร่างกายขับแอลกอฮอล์ออกมา กอปรกับน้องอายุเพียง 13 ปี นับเป็นเยาวชนที่องค์การอนามัยโลกจัดอยู่ในกลุ่มเปราะบางและแนะนำว่าไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้น้องจะดื่มเพียงครึ่งขวด แต่ส่งผลอันตรายจนทำให้น้องช็อกหมดสติ

จากพยานหลักฐาน พบว่า เหตุการณ์ในคลิปวีดีโอสอดคล้องกับคำบอกเล่าของพยาน โดยชายผู้ว่าจ้างเข้ามามอบตัวด้วยตนเอง และให้การภาคเสธ ยอมรับว่า อยู่ในขบวนแห่นาค จ่ายเงินให้เด็กหลังดื่มสุราจริง แต่ไม่ได้บังคับให้เด็กดื่มหมดขวด พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา บังคับขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร ว่าจ้างให้เด็กดื่มสุรา จนเป็นอันตรายต่อร่างกาย โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 หมวด 2 มาตรา 26 (3) นอกจากนี้ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก ครั้งแรก มีการห้ามขายเหล้าให้เด็กต่ำกว่า 18 ปี เพื่อมุ่งหวังที่จะรักษาผลประโยชน์ ปกป้อง สวัสดิภาพเด็ก และสร้างบรรทัดฐานในการคุ้มครองชีวิตของเด็ก

หากเป็นกรณีที่มีการเชิญชวนเข้าร่วมกิจกรรมแข่งกิน/ดื่มเบียร์หรือเหล้า และมีโปรโมชั่นจัดหนักจัดเต็มด้วยการโพสต์ผ่านทางโซเชียลมีเดียของร้านค้าหรือสถานประกอบการนั้น ถือว่าเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 30 (3) ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการลดราคาเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย และ (4) ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการให้หรือเสนอให้สิทธิในการเข้าชมการแข่งขัน การแสดง การให้บริการ การชิงโชค การชิงรางวัล หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดเป็นการตอบแทนแก่ผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแก่ผู้นำหีบห่อหรือสลากหรือสิ่งอื่นใดเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาแลกเปลี่ยนหรือแลกซื้อ ซึ่งนับเป็นการจูงใจสาธารณชนให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหากการเชิญชวนให้ดื่มนั้น ทำให้ลูกค้าได้รับอันตรายต่างๆ สามารถเอาผิดร้านค้าหรือสถานประกอบการในฐานะผู้ขายที่ควรต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วยเช่นกัน เพราะผู้ขายอยู่ในข่ายของการก่อช่องภัยและอยู่ใกล้แก่เหตุจะเกิดความเสียหาย ซึ่งสามารถจะช่วยยับยั้งไม่ให้ปัญหาลุกลามไว้ได้แต่ต้น ข้อบังคับนี้มีเจตนาเพื่อให้ผู้เสียหายได้รับการชดเชยที่เป็นธรรม และเพื่อให้ผู้ขายมีการขายอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งโดยรวมแล้ว ก็เพื่อเป็นการรักษาสวัสดิภาพและความปลอดภัยในสังคมนั่นเอง

แหล่งที่มา:
https://www.pptvhd36.com/…/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0…/225860
https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/2792068
https://news.ch7.com/detail/733007

Infographic, News, ข่าวเด่น, สื่อเผยแพร่

ผลการทำนายความชุกและการตายที่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุราภายใต้มาตรการควบคุมการดื่มสุราตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกในบริบทประเทศไทย

News, ข่าวเด่น, บทความ

เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้นโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มุมมองจากนานาชาติ


กำหนดการเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้นโยบายควบคุมฯ




Mr. Dag Rekve เจ้าหน้าที่อาวุโส องค์การอนามัยโลกสำนักงานใหญ่ (World Health Organization) นำเสนอข้อมูลความท้าทายในจัดการปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับนานาชาติและระดับประเทศ และทิศทางในอนาคต ชี้ว่าคนทั่วโลกกว่าร้อยละ 56 ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ พฤติกรรมการดื่มไม่ใช่เรื่องปกติของสังคม ร้อยละ 4.7 ของการเสียชีวิตเกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์หรือกว่า 2.6 ล้านคน ในจำนวนนี้กว่าครึ่งหนึ่งเสียชีวิตก่อนวัยหกสิบซึ่งนับเป็นความสูญเสียมหาศาล ทั้งที่ป้องกันได้ด้วยนโยบายแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมราคา การจำกัดการเข้าถึงทางกายภาพ และควบคุมกิจกรรมการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามยุทธศาสตร์โลกและแผนปฏิบัติการระดับโลก แต่อุปสรรคที่สำคัญในบางประเทศที่ทำให้ไม่สามารถออกนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มุ่งเน้นการปกป้องสุขภาพของประชาชนได้ คือ อิทธิพลของกลุ่มธุรกิจในกระบวนการตัดสินทางนโยบาย การปรับแก้กฎหมายใดๆ ต้องไม่เปิดช่องให้ธุรกิจเข้ามาแทรกแซง ซึ่งตอนนี้องค์การอนามัยโลกกำลังเตรียมออกแนวปฏิบัติที่ถูกต้องเพื่อป้องกันปัญหานี้

“นโยบายควบคุมเหล้าไทยจัดว่าก้าวหน้า การแก้กฎหมายครั้งนี้ควรมองไปอนาคตระยะยาวเอาสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตประชากรเป็นตัวตั้ง ข้อมูลภาระโรคปี 2019 ร้อยละ 7.7 ของการเสียชีวิตของประชากรไทยเกิดจากแอลกอฮอล์ หรือกว่า 38,073 ราย รัฐควรตัดสินใจว่าจะลดความสูญเสียนี้อย่างไรต่อไป การจัดการปัญหาแอลกอฮอล์ต้องร่วมกันหลายภาคส่วนและทำในทุกระดับ การลดหย่อนความเข้มข้นของกฎหมายควบคุมเหล้าเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวควรต้องทบทวนให้ดี นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทยไม่ได้มาเพื่อดื่มในประเทศสวยงามทั้งสถานที่ วัฒนธรรม และผู้คน”


Professor Thomas F. Babor จาก University of Connecticut School of Medicine สหรัฐอเมริกา นักวิชาการอาวุโสระดับโลกและหัวหน้าบรรณาธิการวารสารวิชาการชั้นนำด้านการเสพติดหลายสำนักและบรรณาธิการหนังสือ “สุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา” ให้ข้อมูลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลประโยชน์และต้นทุนผลกระทบของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจยามราตรีด้วยการส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากต่างประเทศ ที่เนเธอแลนด์พบผลจากขยายเวลาขายเพิ่ม 1 ชั่วโมงในช่วงกลางคืนทำให้มีการเรียกรถพยาบาลจากเหตุการณ์บาดเจ็บจากแอลกอฮอล์มากขึ้นถึง 34% ที่นอร์เวย์ขยายเวลาขายเพิ่ม 1-2 ชั่วโมงทำให้อุบัติการณ์การทำร้ายร่างกายเพิ่มขึ้น 25% การท่องเที่ยวสายปาร์ตี้ (party tourisms) นี้ผลประโยชน์อาจไม่ได้สูงเพราะนักท่องเที่ยวกลุ่มวัยรุ่นกำลังซื้อไม่สูงและอยู่มาเพียงระยะสั้น ในขณะที่สร้างต้นทุนทางสังคมที่เพิ่มขึ้นต่อห้องฉุกเฉินและสถานีตำรวจ และอาจมีความเสี่ยงปัญหายาเสพติดเพิ่มขึ้นด้วย หากไทยจะกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจควรเน้นไปที่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (wellness tourism) และวัฒนธรรมมากกว่า ซึ่งเป็นที่นิยม ไม่สร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดี และสร้างมูลค่าสูงกว่าจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่กำลังซื้อสูงกว่า

News, ข่าวเด่น, บทความ

การควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อปกป้องเยาวชน: บทเรียนจาก สวีเดน นอร์เวย์ ไอร์แลนด์สกอตแลนด์ และอังกฤษ


โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่
ผู้จัดการโครงการการศึกษา พัฒนา ขยายผลการเฝ้าระวังและจัดการความรู้ผลิตภัณฑ์เสี่ยงสุขภาพ

โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบการโฆษณาแบบเดิม โดยลดการโฆษณาในสื่อดั้งเดิมลง ลดการโฆษณาตรง (direct advertising) หรือโฆษณาผลิตภัณฑ์ (product advertising) แต่พบว่าใช้การโฆษณาและสื่อสารการตลาดในสื่อโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม ทำให้พบเห็นการโฆษณาและสื่อสารการตลาดในสื่อโซเชียลมีเดียมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาจากธุรกิจเครื่องดื่มโฆษณาเองหรือการใช้รีวิวเวอร์ Youtuber Influencer หรือดาว Tiktok ช่วยรีวิวสินค้า ดื่มแล้วบรรยายสรรพคุณ ชี้เป้าสินค้า ชวนเที่ยวผับบาร์ แนะนำสินค้าใหม่ หรือชักชวนให้ดื่มในรูปแบบที่แนบเนียนมากขึ้น เป็นธรรมชาติมากขึ้นและกลมกลืนไปกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งการโฆษณาและการสื่อสารการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่พบเห็นได้ทั่วไปและเข้าถึงได้ง่ายผ่านสื่อโซเชียลมีเดียนั้น ย่อมเข้าถึงเยาวชนได้โดยง่ายเช่นกัน การพบเห็นโฆษณาบ่อยครั้งและขาดการกลั่นกรองที่เหมาะสมอาจสร้างและสะสมทัศนคติเชิงบวกเกี่ยวกับการดื่มตั้งแต่อายุยังน้อยและอาจทำให้กลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่ตั้งแต่อายุยังน้อยเช่นกัน การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงยังคงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะป้องกันการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเยาวชน โดยผลวิจัยจำนวนมากยืนยันว่าการดื่มแอลกอฮอล์มีผลกระทบต่อสมองเด็กในวัยเรียน ยกตัวอย่างเช่น เยาวชนอายุ 11-14 ปี ที่พบเห็นโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 3 ชิ้นต่อวันผ่านสื่อต่างๆ รอบตัว พบว่า เยาวชนที่ได้รับอิทธิพลจากแบรนด์ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมกีฬาที่แบรนด์นั้นจัดขึ้นหรือได้รับรางวัลหรือได้รับของที่ระลึกหรือเข้าร่วมกิจกรรมดนตรี ซึ่งมีแนวโน้มที่จะดื่มเครื่องดื่มแบรนด์นั้นๆ มากกว่าเยาวชนที่ไม่ได้รับอิทธิพลของโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึงร้อยละ 77

การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีความมุ่งมั่นในการปกป้องสิทธิของเยาวชน รวมทั้งปกป้องเยาวชนจากการเป็นเหยื่อการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งนับว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีจุดยืนที่เข้มแข็งที่สุด คือ ประเทศนอร์เวย์ เนื่องด้วยนอร์เวย์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบเบ็ดเสร็จหรือ Total ban advertising กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศนอร์เวย์ระบุไว้ว่าจำเป็นต้องควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าปกติและจำเป็นต้องจำกัดปริมาณการดื่มของประชากรนอร์เวย์ให้น้อยที่สุด ดังนั้นจึงต้องมีการควบคุมการสื่อสารและการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทุกด้านโดยมีข้อยกเว้นเพียงเล็กน้อย ซึ่งผลจากการควบคุมการสื่อสารและการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในนอร์เวย์ตั้งแต่ปี 1975 พบว่าการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง การควบคุมการสื่อสารการโฆษณาและการตลาดในนอร์เวย์นั้นมีการควบคุมทุกสื่อ แม้กระทั่งสื่อโซเชียลมีเดียและสื่อดิจิตัล รวมไปถึงเกมส์ ดนตรีออนไลน์ และกิจกรรมการตลาดอื่นๆ เช่น การเป็นสปอนเซอร์กิจกรรมทุกประเภท กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของนอร์เวย์ในหัวข้อการควบคุมเว็บไซต์ ระบุว่าหากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำเป็นต้องเปิดเว็บไซต์เพื่อแสดงบริษัทของตน การเข้าถึงเว็บไซต์จำเป็นต้องใส่รหัสสำหรับพนักงานบริษัทและคู่ค้าเท่านั้น โดยไม่สามารถเปิดให้สาธารณชนรับชมได้ทั้งหมด กฎหมายนี้ไม่อนุญาตให้มีกิจกรรมกีฬาทุกประเภทที่สนับสนุนโดยธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมการตลาดสื่อสารการตลาดทุกประเภท โดยพรรคการเมืองต่างๆ ในนอร์เวย์ให้การสนับสนุนกฎหมายนี้และเห็นพ้องร่วมกันว่า ควรควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะในมาตราที่ 9-2 ตามกฎหมายนี้ห้ามการแสดงโฆษณาและการสื่อสารสินค้าอื่นๆ ที่ใช้ตราเครื่องหมายเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ในประเทศสวีเดน การควบคุมการสื่อสารการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นับว่ามีความเข้มข้นอีกประเทศหนึ่ง เนื่องจากประเทศสวีเดนมีกฎหมาย Marketing Practices Act ซึ่งควบคุมกิจกรรมกลวิธีและ กลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อปกป้องสิทธิของผู้รับสารไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการตลาดที่ไม่เป็นธรรม (unfair marketing) และปกป้องเยาวชนจากโฆษณาและการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยกฎหมายนี้ระบุว่าการสื่อสารโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อบางประเภท เช่น สื่อดิจิตัล หรือการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ การส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือ ถือว่าเป็นกิจกรรมการตลาดที่ต้องห้าม เนื่องจากถือว่าไม่เป็นธรรมต่อการรับสารของผู้รับสาร นอกจากนี้ยังกำหนดนิยามให้ “เยาวชน คือ บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นต้นไป” หากต้องการสื่อสารใดๆ หรือกิจกรรมใดๆ ที่มุ่งตรงไปที่เยาวชนอายุ 12-18 ปี จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองทั้งหมด ส่วนการโฆษณาในสื่อโทรทัศน์วิทยุภาพยนตร์นั้นถูกห้ามทั้งหมด อย่างไรก็ตาม สวีเดนกำลังประสบปัญหาการเลี่ยงโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อโซเชียลมีเดีย ถึงแม้ว่ามีการใช้มาตรการธุรกิจกำกับตนเอง (Self regulating Code) ในกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่พบว่ามาตรการนี้ไม่เพียงพอในการควบคุมการสื่อสารเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโซเชียลมีเดียได้ ทำให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เปลี่ยนวิธีการจากโฆษณาตรงที่ถูกห้าม เป็นการสื่อสารการตลาดใน Facebook และ Instagram เป็นส่วนใหญ่แทน

ไอร์แลนด์ และสกอตแลนด์ เป็นอีกสองประเทศที่กำลังแก้ไขปัญหาการดื่มด้วยการขับเคลื่อนนโยบายควบคุมการโฆษณาและการสื่อสารเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยประเทศไอร์แลนด์มีกฎหมาย Public Health Alcohol Act ที่ควบคุมทั้งเนื้อหาและปริมาณการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งในปี 2019 เป็นต้นมา ประเทศไอร์แลนด์ได้ห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถสาธารณะทุกประเภท ห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโรงภาพยนตร์และสถานที่ใกล้สถานศึกษา ห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกิจกรรมกีฬา ต่อมาในปี 2021 พบว่า การรับรู้โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงหลังจากมีการห้ามโฆษณานั้น และมีการยุติการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโทรทัศน์ในปี 2025 เพื่อปกป้องเยาวชนและลดการดื่มของนักดื่มหน้าใหม่ที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ด้านรัฐบาลสกอตแลนด์ได้กล่าวว่า โรคที่เกิดจากการดื่มและผลกระทบจากการดื่มเป็นหนึ่งในภัยสุขภาพที่ยิ่งใหญ่ของสกอตแลนด์ ทำให้สกอตแลนด์ต้องมีมาตรการหลายประการในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และหนึ่งในนั้นคือการควบคุมการโฆษณานอกเหนือจากการกำหนดราคาขายขั้นต่ำ โดยสกอตแลนด์ได้ยุติการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่สาธารณะ ห้ามกิจกรรมการตลาดเชิงอุปถัมภ์ และควบคุมการส่งเสริมการขายในร้านค้า เมื่อปลายปี 2022 รัฐสภาสกอตแลนด์ได้มีข้อปรึกษาในการยกระดับการควบคุมการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม ตัวอย่างเช่น ลดเนื้อหาเชิงบวกเกี่ยวกับการดื่มและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมกิจกรรมกีฬาและอีเวนท์ที่ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปเกี่ยวข้อง รวมไปถึงการห้ามจัดแสดงสินค้าและบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านค้าและยุติการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อออนไลน์

นอกจากนี้ผลสำรวจในประเทศอังกฤษ พบว่าพ่อแม่กังวลเรื่องโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้าถึงเยาวชนในทุกทางและตลอดทั้งวัน โดยพ่อแม่ 71% ต้องการให้รัฐบาลมีมาตรการลดปริมาณและความถี่โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อโทรทัศน์และควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อโซเชียลมีเดียด้วยเช่นกัน โดยพ่อแม่ 67% คิดว่าการเห็นโฆษณาบ่อยครั้งทำให้เยาวชนคิดว่าการดื่มเป็นเรื่องปกติ ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจที่พบว่าเยาวชนอังกฤษอายุ 10-15 ปี เห็นโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าผู้ใหญ่ เป็นผลให้มีโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภท Alcopop เพิ่มขึ้น 51%

การควบคุมการโฆษณา สื่อสารการตลาด กิจกรรมการตลาด เนื้อหาการสื่อสารและกลยุทธ์การตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นหนึ่งในมาตรการจำเป็นที่ WHO กำหนดนอกเหนือจากมาตรการด้านราคาและภาษี การสื่อสารและโฆษณาที่ WHO กังวลมากที่สุด คือ การสื่อสารข้ามพรมแดนและการโฆษณาแฝงผ่านรายการข้ามพรมแดนที่ควบคุมได้ยาก ในปัจจุบันมีผลวิจัยจำนวนมากมายที่ระบุสอดคล้องตรงกันว่าการพบเห็นโฆษณาบ่อยครั้งในเนื้อหาเชิงบวกต่อสินค้ามีผลต่อการสั่งสมทัศนคติ การจดจำสินค้าและพฤติกรรมในด้านการซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเยาวชนที่รู้ตัวว่าไม่สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เมื่อยังเป็นเยาวชน แต่มีความคาดหมายว่าจะซื้อและดื่มเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้นการควบคุมการโฆษณาและการสื่อสารของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมทั้งเนื้อหา กลยุทธ์การตลาด และการเลี่ยงโฆษณาในสื่อโซเชียลมีเดียจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกประเทศและรวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นเดียวกัน

อ้างอิงข้อมูล:
1) How alcohol companies target young people. Available from https://preventionactionalliance.org/resources/how-alcohol-companies-target-young-people/
2) Marketing Towards kids. Available from https://movendi.ngo/the-issues/alcohol-facts/alcohol-marketing-kids
3) Norway. Availble from https://eucam.info/regulations-on-alcohol-marketing/norway/
4) Prohibition of alcohol advertising in Norway.Available from https://www.nhomd.no/contentassets/2903e65252854beda11b61c0e8d41a2d/prohibition-of-alcohol-advertising-in-norway–0918.pdf
5) Compliance with regulations and codes of conduct at social media accounts of Swedish alcohol brands. Available from https://helda.helsinki.fi/server/api/core/bitstreams/5a5aee2c-cb6f-4511-8956-7c9695e134ee/content
6) Review alcohol marketing restrictions in seven European countries.Available from https://www.drugsandalcohol.ie/36444/1/review-of-alcohol-marketing-restrictions-in-seven-european-countries.pdf
7) Should Alcohol marketing be restricted? Scotland should follow other European countries in banning alcohol sports advertising? Available from https://eucam.info/2023/10/26/should-alcohol-marketing-be-restricted-scotland-should-follow-other-european-countries-in-banning-alcohol-sports-advertising/
8) Parents in the UK Want limit On alcohol advertising-survey. Available from https://eucam.info/2024/05/13/parents-in-the-uk-want-limits-on-alcohol-advertising-survey

Infographic, News, ข่าวเด่น, สื่อเผยแพร่

รู้จักกับนิยามของการโฆษณาหรือการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


รู้จักกับนิยามของการโฆษณาหรือการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในปัจจุบันไม่ได้เป็นเพียง “การกระทำเพื่อให้คนเห็น ได้ยิน หรือรู้จักสินค้านั้น เพื่อประโยชน์ทางการค้า” เท่านั้น องค์การอนามัยโลก ได้แนะนำคำนิยามใหม่ของ การโฆษณาหรือการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้หมายรวมถึง

“การสื่อสารเพื่อการค้าหรือการกระทําในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการโฆษณา การส่งเสริมการขาย และการให้ทุนอุปถัมภ์ ซึ่งออกแบบเพื่อหวังผล/ส่งผล หรือมีแนวโน้มว่าจะส่งผล ในการเพิ่มการจดจำและความดึงดูดของสินค้า และ/หรือการเพิ่มการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์/ยี่ห้อที่อยู่ในท้องตลาดหรือผลิตภัณฑ์/ยี่ห้อใหม่”

ซึ่งหมายรวมถึง การออกแบบผลิตภัณฑ์ การใช้ตราเสมือนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สำหรับสินค้าอื่นที่ไม่ใช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Brand stretching) การรวมตราสินค้า (Co-branding) (การนำเอาตราสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปรวมกับตราสินค้ายี่ห้ออื่น) การแสดงรูปภาพผลิตภัณฑ์หรือตราสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อบันเทิงและการถ่ายทอดสดของสื่อรายการต่าง ๆ การทำกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate social responsibility activities) และการขายหรือให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่สถานศึกษาหรือสถานบริการสุขภาพ ทั้งนี้ยังรวมถึง การใช้เครื่องหมายการค้า (Trade mark) และเครื่องหมายรูปลักษณ์ (Trade Dress) (ได้แก่ ฉลาก บรรจุภัณฑ์ หีบห่อ รูปร่างของสินค้า เป็นต้น) ที่ออกแบบมาเพื่อให้ทำหน้าที่หลายอย่าง และใช้ในการสื่อสารเพื่อการค้าหรือการกระทำดังระบุไว้ข้างต้น”

นอกจากนี้ การโฆษณา ตามนิยามสมาคมการตลาดแห่งสหรัฐอเมริกา (AMA : American Marketing Association) คือ การจ่ายเงินในรูปแบบต่างๆ ของผู้อุปถัมภ์ (Sponsor) เพื่อส่งเสริมการขายสินค้าบริการหรือสนับสนุนแนวความคิด โดยระบุผู้อุปถัมภ์

ในด้านการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การโฆษณา ตามนิยามของ (AANA: The Australian Association of National Advertisers) Code of Ethics แห่งประเทศออสเตรเลีย คือ สารใดที่เผยแพร่ ออกอากาศ ตีพิมพ์โดยผ่านสื่อใดหรือกิจกรรมใดที่กระทำโดย หรือ เป็นตัวแทนของผู้โฆษณาหรือนักการตลาด โดยผู้โฆษณาหรือนักการตลาดสามารถควบคุมได้ และสารนั้นๆ สามารถดึงดูดความสนใจของสาธารณชนในลักษณาการที่ส่งเสริมสินค้า การบริการ บุคคล องค์กร หรือพฤติกรรมใด ทั้งทางตรงและทางอ้อม

นิยามนี้ มีองค์ประกอบหลักในการพิจารณาว่าเข้าข่ายการโฆษณาอยู่ 4 ประการ ดังนี้

  1. สารใดที่เผยแพร่ ออกอากาศ ตีพิมพ์โดยผ่านสื่อใดหรือกิจกรรมใด มีความหมายครอบคลุมทั้งสื่อดั้งเดิมและสื่อใหม่ โดยมีผู้โฆษณา เช่น street performance อาจถูกพิจารณาว่าเป็นโฆษณาด้วยก็ได้
  2. โดยผู้โฆษณาหรือนักการตลาดสามารถควบคุมได้ พิจารณาว่า หมายรวมถึงทั้งการว่าจ้างเป็นเงิน หรืออย่างอื่น หรือผู้โฆษณาหรือนักการตลาดมีส่วนร่วมหรือควบคุมสารนั้นๆ ในทางใดทางหนึ่ง
  3. สารนั้นๆ สามารถดึงดูดความสนใจของสาธารณชนในลักษณะการที่ส่งเสริมสินค้า การบริการ บุคคล องค์กร หรือพฤติกรรมใด พิจารณาว่าสารนั้นๆ คือ โฆษณา
  4. สารนั้นๆ มีกลุ่มเป้าหมายในประเทศออสเตรเลียและสารนั้นประชากรในประเทศสามารถเห็นหรือเข้าถึงได้

เอกสารอ้างอิง:
Pan American Health Organization (2017) Technical note: Background on alcohol marketing regulation and monitoring for the protection of public health. PAHO/NMH/17-003. Washington, DC: PAHO.


1 2 3 76 77
Privacy Settings
We use cookies to enhance your experience while using our website. If you are using our Services via a browser you can restrict, block or remove cookies through your web browser settings. We also use content and scripts from third parties that may use tracking technologies. You can selectively provide your consent below to allow such third party embeds. For complete information about the cookies we use, data we collect and how we process them, please check our Privacy Policy
Youtube
Consent to display content from - Youtube
Vimeo
Consent to display content from - Vimeo
Google Maps
Consent to display content from - Google
Spotify
Consent to display content from - Spotify
Sound Cloud
Consent to display content from - Sound

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors