News, ข่าวเด่น

ฝากถามรัฐ ผลลัพธ์ของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ สรุปใครได้ประโยชน์⁉️


ฝากถามรัฐ ผลลัพธ์ของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ สรุปใครได้ประโยชน์⁉️
ถามย้ำอีกที เมื่อไหร่รัฐจะให้ความสำคัญกับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน หรือแค่หลับหูหลับตา มองไม่เห็นผลกระทบของมาตรการขยายเวลาเปิดสถานบริการ


เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2566 เวลาประมาณ 06.00 น. เกิดอุบัติเหตุบนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ขาเข้าเมือง หน้าอำนวยมอเตอร์แอร์ 2 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ หนุ่มบิดมอเตอร์ไซค์กลับจากเที่ยวสถานบันเทิงช่วงเช้ามืด พุ่งประสานงารถจักรยานยนต์ตำรวจจราจรกำลังขี่ไปทำงาน บาดเจ็บสาหัส มีสติแต่ไม่สามารถขยับตัวได้

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 ช่วงเวลาประมาณ 04.20 น. เกิดเหตุหนุ่มเมาขับเก๋งซิ่งแหกด่านตำรวจจราจรบนถนนพระราม 4 พุ่งชน “จ่าตำรวจ” ขณะปฏิบัติหน้าที่ตรวจวัดแอลกอฮอล์รถอีกคัน อัดร่างกับประตูรถอย่างจังเจ็บสาหัส แต่ยื้อไม่ไหวจนเสียชีวิตในที่สุด ส่วนหนุ่มผู้ก่อเหตุอยู่ในสภาพเมาพูดจาแทบไม่รู้เรื่อง ตรวจวัดแอลกอฮอล์ได้สูงถึง 187 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หลังสร่างเมายอมรับว่าไปดื่มกับเพื่อนมาจริง และอ้างว่ามองไม่เห็นด่านตำรวจ จากกรณีดังกล่าว แม้แต่ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ บัณฑิต ผู้บังคับการตำรวจจราจร ได้ฝากถึงนักเที่ยวราตรีผ่านสื่อว่า หากรู้ตัวว่าต้องไปดื่มให้นั่งรถแท็กซี่ไป เวลากลับบ้านจะได้ไม่เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และไม่ไปทำร้ายคนในครอบครัวคนอื่น

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 เวลา 04.30 น. เกิดเหตุรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ตํารวจสายตรวจ ซึ่งออกปฏิบัติหน้าที่ตรงสี่แยก รพ.ป่าตอง โดยผู้ก่อเหตุให้การว่า ขี่รถจากห้างสรรพสินค้ามุ่งหน้ามายังแยก รพ.ป่าตอง เมื่อถึงบริเวณ 4 แยกไฟแดง ตนฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง และชนกับรถจักรยานยนต์ตํารวจสายตรวจ ทำให้ได้รับบาดเจ็บ เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจวัดแอลกอฮอล์ที่ สภ.ป่าตอง ผลตรวจปรากฏว่า มีปริมาณแอลกอฮอล์ 114 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จึงจับกุมผู้ก่อเหตุในข้อหา “ขับขี่รถขณะเมาสุราเฉี่ยวชนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ”

แม้ระยะเวลาผ่านไปหลายเดือน แต่ความเสียใจยังตราตรึงอยู่ในใจเสมอของครอบครัวผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากการดื่มแล้วขับ นอกจากเป็นการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักของครอบครัวแล้วนั้น สังคมและประเทศชาติยังต้องสูญเสียบุคคลที่มีศักยภาพอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพียงเพราะการดื่มแล้วขับ

จากทั้งสามเหตุการณ์ข้างต้น อาจเป็นกระจกที่สะท้อนให้เห็นผลกระทบที่เกิดจากการขยายเวลาให้บริการของสถานบันเทิงจาก 02.00 น. ถึง 04.00 น. และเมื่อพิจารณาห่วงโซ่ของผลกระทบนี้ พบว่า จากการขยายเวลาสถานบริการจากเวลา 02.00 น. ถึง 04.00 น. เป็นการเพิ่มภาระงานให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร จากเดิมที่สถานบันเทิงปิดเวลา 02.00 น. เจ้าหน้าที่อาจจะตั้งด่านตรวจถึง 02.30 – 03.00 น. แต่กลับต้องอดหลับอดนอนเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้น ป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิดวินัยจราจรจนถึง 04.30 น. ซ้ำร้ายในขณะปฏิบัติหน้าที่กลับตกเป็นเหยื่ออุบัติเหตุทางถนนจากการดื่มแล้วขับ ซึ่งมีหลักฐานทางวิชาการยืนยันแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงเวลาซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านนั่งดื่มนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอัตราการเกิดอันตรายมากขึ้น แม้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตจะได้รับการเยียวยาจากเงินสวัสดิการเพราะเป็นข้าราชการตำรวจ และเงินเยียวยาจากที่ผู้ก่อเหตุยินดีชดเชยให้นั้น แต่คงไม่คุ้มค่ากับชีวิตคนหนึ่งคนที่ยังสามารถสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติได้มากกว่าตีค่าเป็นเงินตรา หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจที่กำลังออกปฏิบัติหน้าที่และที่กำลังขี่รถจักรยานยนต์ไปทำงานต้องเข้ารับการรักษาตัวและมีโอกาสเป็นบุคคลทุพพลภาพจากอุบัติเหตุ แล้วถ้าหากเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ ไม่ได้เป็นข้าราชการ ไม่มีสิทธิสวัสดิการ ไม่มีต้นทุนชีวิตหรือแม้แต่ค่ารักษาพยาบาล จะมีโอกาสหรือไม่ที่สังคมจะได้เห็นเหตุการณ์นี้ผ่านสื่อออนไลน์ หรือจะได้รับการเยียวยาต่างๆ อย่างที่ควรจะเป็น จึงอยากฝากถามรัฐ ท่านแน่ใจหรือว่าผลลัพธ์ของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้ปากท้องของประชาชนดีขึ้นจริงๆ คนที่ได้ประโยชน์คือประชาชนทุกคน และนี่เป็นแค่ตัวอย่างอุบัติเหตุที่ออกข่าวในพื้นที่จังหวัดนำร่อง แต่ยังมีเหตุการณ์อีกมากมายจากการตกเป็นเหยื่อน้ำเมาที่ไม่ได้เป็นข่าว อยากถามรัฐอีกทีว่า เมื่อไหร่ท่านจะให้ความสำคัญกับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน หรือแค่หลับหูหลับตา มองไม่เห็นผลกระทบของมาตรการขยายเวลาเปิดสถานบริการ สนใจแค่เม็ดเงินที่ยังไม่รู้เลยว่าจะได้มากกว่าเสีย เพราะแม้กระทั่งการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมพฤติกรรมขับขี่ยานพาหนะหลังการดื่ม ก็ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งสถานบริการหรือร้านค้าเองควรมีส่วนรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ เพราะสถานบริการหรือร้านค้าอยู่ในข่ายของการก่อช่องภัยแก่เหตุจะเกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งรัฐสามารถที่จะช่วยยับยั้งไม่ให้ปัญหาลุกลามไว้ได้แต่ต้น หากสนับสนุนการออกกฎหมายการรับผิดของสถานประกอบการ และคงไม่เกิดวาทกรรมอันสวยหรูที่ทางธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำมาใช้ในการสื่อสารการตลาด “ดื่มอย่างรับผิดชอบ” ด้วยการให้นักดื่มทั้งหลายรับผิดชอบอยู่ฝ่ายเดียว หรือตำรวจต้องมาฝากข้อความวอนขอนักเที่ยวราตรีดื่มแล้วกลับด้วยรถแท็กซี่ ทั้งที่รัฐเองสามารถใช้อำนาจโดยชอบธรรมในการคุ้มครองสุขภาพประชาชนไทย

ที่มาข่าว:
https://mgronline.com/local/detail/9660000112927
https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2764071
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_8198152

เอกสารอ้างอิง:
1) Nepal, S., Kypri, K., Tekelab, T., Hodder, R. K., Attia, J., Bagade, T., Chikritzhs, T., & Miller, P. (2020). Effects of extensions and restrictions in alcohol trading hours on the incidence of assault and unintentional injury: systematic review. Journal of studies on alcohol and drugs, 81(1), 5-23.
2) Wilkinson, C., Livingston, M., & Room, R. (2016). Impacts of changes to trading hours of liquor licences on alcohol-related harm: a systematic review 2005-2015. Public health research & practice, 26(4), 1-7.

News, ข่าวเด่น, บทความ

การจำกัดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเพื่อควบคุมผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อความสงบสุข ความปลอดภัย และสุขภาวะของประชาชนโดยรวมจำเป็นแค่ไหน!?


การจำกัดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเพื่อควบคุมผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อความสงบสุข ความปลอดภัย และสุขภาวะของประชาชนโดยรวมจำเป็นแค่ไหน

โดย นางสาวจินตนา จันทร์โคตรแก้ว สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ

กฎหมายได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้เกิดความสงบสุขของคนในสังคมโดยรวม การควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เช่นกัน ปัจจุบันสังคมให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล จนบางครั้งอาจไม่ได้คำนึงถึงความสงบสุขโดยรวมของสังคม เช่นเดียวกันกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นประเด็นในสังคมที่หยิบยกออกมาโต้แย้งว่า ประเทศไทยมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลโดยใช้นโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากจนเกินไปจนไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ทั้งการจำกัดสถานที่ห้ามดื่มและห้ามขาย จำกัดเวลาการขาย การห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บทความนี้จะฉายภาพให้เห็นอีกด้านของผลกระทบและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิส่วนบุคคลเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในสังคม

ขอบเขตและสิทธิเสรีภาพของบุคคลในรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทยฉบับพุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๕ ระบุไว้ว่า สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะ ในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจํากัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทําการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น นั่นแสดงให้เห็นว่าการมีสิทธิเสรีภาพมีขอบเขต บุคคลมีสิทธิในการกระทำใดใด หากการกระทำดังกล่าวไม่ไปกระทบเสรีภาพของบุคคลอื่น ดังนั้นจึงขอไล่เรียงข้อโต้แย้งในคำกล่าวที่ว่า การควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลิดรอนสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเกินความจำเป็นดังนี้

  • การจำกัดสถานที่ห้ามขายและห้ามดื่มเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลหรือไม่ สังคมจะเป็นเช่นไร หากสามารถขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ทุกที่ หากสังคมเป็นเช่นนั้น การกระทำของบุคคลเพียงคนหรือสองคนอาจจะทำให้คนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนชายหาด ซึ่งชายหาดเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่คนทั่วไปใช้ชีวิตเพื่อพักผ่อนและใช้เวลาร่วมกัน แต่หากมีกลุ่มคนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วส่งเสียงดังทะเลาะวิวาท การเรียกร้องสิทธิแบบนี้มีความยุติธรรมกับคนที่ใช้พื้นที่ดังกล่าวจริงหรือ เช่นเดียวกัน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งรถโดยสารสาธารณะเป็นสถานที่สำหรับผู้เดินทางและคนในสังคมต้องการความปลอดภัยในชีวิต หากมีเพียงคนเดียวดื่มและส่งเสียงดัง อาจจะทำให้ผู้ร่วมโดยสารคนอื่นๆ รู้สึกไม่ปลอดภัย จากหลักฐานเชิงประจักษ์ การควบคุมสถานที่ห้ามขายและห้ามดื่มเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (1) นอกจากนี้การจำกัดใบอนุญาตในการห้ามขายก็มีความจำเป็นเนื่องจากจำนวนใบอนุญาตที่มากขึ้นนำไปสู่การดื่ม (2) และปัญหาที่ตามมา (3) ประเทศนิวซีแลนด์เป็นตัวอย่างในการจำกัดใบอนุญาตการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะร้านที่มีที่นั่งดื่ม โดยการที่จะมีร้านที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้นั้นจะต้องได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการหลากหลายภาคส่วน ในกระบวนการออกใบอนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น จะต้องมีการติดประกาศเพื่อให้ทราบล่วงหน้าว่า กำลังจะมีร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เปิดขึ้น และประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงสามารถคัดค้านการเปิดได้หากมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากร้านที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดังกล่าว (4) นอกจากนี้ ในสหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ได้มีความพยายามในการจำกัดจำนวนของร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะร้านแบบนั่งดื่ม (5, 6) เช่น ผับบาร์ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งเสียงและการทะเลาะวิวาทที่ตามมา เพื่อรักษาความสงบของพื้นที่ที่อยู่อาศัย ดังนั้น การจำกัดพื้นที่ห้ามดื่มและห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และจำนวนใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงจำเป็น เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้กระทบเพียงคนดื่ม แต่กระทบความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม
  • การจำกัดเวลาห้ามขายในบางช่วงเวลาเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลหรือไม่ การควบคุมเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความจำเป็น เพราะบางช่วงเวลามีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น จากข่าวกรณีที่มีคนขับรถกลับจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงใกล้รุ่งแล้วรถพุ่งชนนักปั่นจักรยานสองคนเสียชีวิต (7) เป็นกรณีตัวอย่างของผลกระทบว่า การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ทำให้เกิดผลที่ตามมาซึ่งไปกระทบสิทธิของผู้อื่น บางคนอาจจะมองว่า ประเทศอื่นมีการเปิดผับถึงตี 4 แต่หากไปดูสถิติในการลงทุนกับการรักษาความปลอดภัยโดยรวมนั้น ประเทศไทยยังห่างไกลจากประเทศเหล่านั้นอยู่มาก เช่น อัตราการสุ่มตรวจระดับแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ในประเทศนิวซีแลนด์ โดยเฉลี่ยแล้ว ใน 1 ปีพลเมืองที่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์มีโอกาสถูกตรวจระดับแอลกอฮอล์จากลมหายใจอย่างน้อย 1 ครั้ง (8, 9) ซึ่งประเทศชาติต้องลงทุนกับมาตรการดังกล่าวมหาศาลเพื่อทำให้คนไทยมีความปลอดภัยในชีวิตจากการดื่มและขับ และประเทศไทยเองก็มีปัญหาต่าง ๆ ที่ต้องเร่งแก้ไขมากมาย แล้วเราจะมีทรัพยากรเพียงพอเท่าประเทศเหล่านั้นเพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นไม่ให้ได้รับผลกระทบจริงหรือ นอกจากการดื่มแล้วขับ ยังไม่ได้รวมถึงผลกระทบอื่น ๆที่ ตามมา เช่น การส่งเสียงดังและทะเลาะวิวาท คดีอาชญากรรม
  • การห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการลิดรอนสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับพุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๓๔ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน  การควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นหากพิจารณาตามสิทธิส่วนบุคคล อาจจะเป็นการลิดรอนสิทธิในระยะสั้น แต่รัฐไม่ควรพิจารณาเพียงสิทธิเสรีภาพระยะสั้น เพราะการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลกระทบในระยะยาว เพราะการโฆษณาทำงานกับสมอง โดยการสร้างเนื้อหา ภาพและเสียงเพื่อกระตุ้นให้สมองมีการรับรู้และการเปิดรับผลิตภัณฑ์และแบรนด์ นำไปสู่การรู้สึกเป็นเจ้าของในแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์นั้น และหากสินค้าดังกล่าวเป็นอันตรายต่อสุขภาพ รัฐจึงควรเข้ามาปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากผลกระทบในระยะยาว ปัจจุบันสื่อและการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้เข้ามาผ่านช่องทางเดิมที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เทคโนโลยีทำให้สื่อและการโฆษณาเข้ามาอยู่ในทุกมุม ทุกกิจกรรมของชีวิต และหากคนกลุ่มที่น่ากังวลและควรปกป้องมากที่สุด คือ กลุ่มเยาวชน จะเลวร้ายแค่ไหนหากเด็กและลูกหลานของเราเห็นโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากคนที่มีชื่อเสียงและคนที่เขายกย่องเป็นประจำ จนมองว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องปกติและโก้เก๋ นำไปสู่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเขาต่อมา (10) และเมื่อปรากฏการณ์นั้นเกิดขึ้น ก็ไม่ต่างจากการมอมเมาเด็กและเยาวชน และชี้ทิศทางไปในทางที่เขาไม่ได้เลือกจากสิทธิและเสรีภาพที่เขามีจริง ๆ แต่เกิดจากการที่ผู้ใหญ่หรือบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เรียกร้องสิทธิในการโฆษณาเพื่อผลกระโยชน์ของตนในระยะสั้น แต่ลืมสิทธิและเสรีภาพของลูกหลานในอนาคตที่เขาไม่มีสิทธิเลือก ดังนั้น กฎหมายควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นจึงมีความจำเป็นในการจำกัดสิทธิเสรีภาพในระยะสั้น และปกป้องสิทธิเสรีภาพในระยะยาว และสร้างเส้นทางเลือกให้กับสิทธิในการมีสุขภาพดีของลูกหลานประชาชนไทย

สรุป
สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลมีได้ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้น ไม่กระทบกระเทือนความสงบเรียบร้อยและไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น ดังนั้นรัฐจึงมีความชอบธรรมในการจำกัดวัน เวลา และสถานที่ในการขายและดื่ม รวมทั้งการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะสิทธิในการดื่มและขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการโฆษณากระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมและสุขภาวะของสังคมโดยรวม

เอกสารอ้างอิง
1. World Health organization. “Best buys’ and other recommended interventions for the prevention and control of noncommunicable diseases: updated(2017) appendix 3 of the Global Action Plan for the Prevention and Control of Noncommunicable diseases 2013-2020. Geneva: World Health Organization; 2017.
2. Popova S, Giesbrecht N, Bekmuradov D, Patra J. Hours and days of sale and density of alcohol outlets: impacts on alcohol consumption and damage: a systematic review. Alcohol Alcohol. 2009;44(5):500-16.
3. Campbell CA, Hahn RA, Elder R, Brewer R, Chattopadhyay S, Fielding J, et al. The Effectiveness of Limiting Alcohol Outlet Density As a Means of Reducing Excessive Alcohol Consumption and Alcohol-Related Harms. American Journal of Preventive Medicine. 2009;37(6):556-69.
4. Sale and Supply of Alcohol Act 2012, (2012).
5. Wilkinson C, MacLean S, Room R. Restricting alcohol outlet density through cumulative impact provisions in planning law: Challenges and opportunities for local governments. Health & Place. 2020;61:102227.
6. Pliakas T, Egan M, Gibbons J, Ashton C, Hart J, Lock K. Do cumulative impact zones reduce alcohol availability in UK high streets? Assessment of a natural experiment introducing a new licensing policy. The Lancet. 2016;388:S94.
7. เดลินิวส์. ซ่อนเหล้า? หนุ่มวัย 26 ซิ่งเสยกลุ่มนักปั่นเสือภูเขากวาดยกแก๊งดับ2เจ็บ5. เดลินิวส์,. 2567 10 มีนาคม 2567.
8. Police across New Zealand performed more than three million breath screening tests (BSTs) in 2023, more than 26% above 2022 figures, and the most in a decade [Internet]. National News. 2024 [cited March,17, 2024]. Available from: https://www.police.govt.nz/news/release/breath-screening-tests-exceed-3-million-2023.
9. New Zealand Transport Agency. Driver licence holders dataset & API 2024 [Available from: https://opendata-nzta.opendata.arcgis.com/search?q=license%20holder.
10. Padon AA, Rimal RN, Siegel M, DeJong W, Naimi TS, JernFigan DH. Alcohol brand use of youth-appealing advertising and consumption by youth and adults. J Public Health Res. 2018;7(1):1269.

News, ข่าวเด่น, บทความ

ไหวไหมประเทศไทย กับการเปิดผับบาร์ถึงตี 4 !?


ไหวไหมประเทศไทย กับการเปิดผับบาร์ถึงตี 4 ⁉️

ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ
นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา
อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

_____
เช้านี้ดูข่าวที่น่าหดหู่ใจ กับการเสียชีวิตของหนุ่มนักเที่ยวคนหนึ่ง ที่จังหวัดภูเก็ต เหตุเกิดในช่วงเวลา ตี 4 พอดีเป๊ะ ผู้เสียชีวิตที่เมาหมดสตินอนกลิ้งบนถนน และถูกรถยนต์ที่ขับด้วยความเร็วชนจนเสียชีวิต ทั้ง ๆ ที่รอบข้างนั้นมีเพื่อน ๆ รายล้อมอยู่หลายคน

การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรไม่ว่าด้วยสาเหตุใดล้วนเป็นเรื่องน่าเสียใจ ยิ่งกรณีเช่นนี้ที่มีเพื่อนอยู่ในเหตุการณ์หลายคนคงน่าสะเทือนมากยิ่งขึ้น

การขยายเวลาปิดสถานบันเทิงในไทย ทำให้นักเที่ยวดื่มได้มากขึ้น มีโอกาสเมาเพิ่มขึ้น ยิ่งดึกร่างกายยิ่งเหนื่อยล้า บวกกับฤทธิ์แอลกอฮอล์ โอกาสของอุบัติเหตุและเหตุไม่คาดฝันเพิ่มขึ้นเสมอ ตัวเลขจากการวิจัยในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น ประเทศออสเตรเลีย ไอซ์แลนด์ แคนาดา นอร์เวย์ และเนเธอแลนด์ ล้วนไปในทางเดียวกันว่าการผ่อนคลายให้มีการเพิ่มเวลาในการดื่มแบบนั่งดื่มที่ร้าน มีผลเสียด้านอุบัติเหตุ ความรุนแรง อาชญากรรม เพิ่มขึ้น ไม่รู้ว่าส่วนที่ได้มานั้นคุ้มค่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่

อย่างกรณีที่เอามาเล่าประกอบข่าวนั้น คนขับรถที่ขับรถมาอย่างถูกต้องอย่างน้อยก็ต้องเป็นผู้เสียหาย ในฐานะที่ขับรถชนผู้เสียชีวิตที่เมาหมดสติกลางถนนไปแล้ว เหล้าที่เข้าปากคนหนึ่งคนจึงส่งผลกระทบทั้งต่อคนที่ดื่มและไม่ดื่ม

ถ้าสถานการณ์กลับกัน เป็นคนดื่มเหล้าจนเมามายหมดสติเป็นคนขับรถเสียเอง และไล่ชนชาวบ้านชาวช่องที่ทำมาหากินสุจริตในช่วงเช้าของวัน เรื่องน่าเศร้าจะเศร้าแบบทวีคูณเลยครับ อย่าปล่อยให้ถึงขั้นนั้นเลย สำรวจความพร้อมของบ้านเมืองก่อนได้ไหม ก่อนจะปล่อยให้ผับเปิดถึงตีสี่ทั่วประเทศ


News, ข่าวเด่น, บทความ

นักวิชาการต่างประเทศชี้ ยิ่งลดระดับความเข้มข้นของ กม. เสี่ยงดื่มเพิ่ม เจ็บตายเพิ่ม สูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่ม แนะ!! ไทยควรมีกฎในการปกป้องผู้เยาว์ และกลุ่มเปราะบาง




นักวิชาการต่างประเทศชี้ ยิ่งลดระดับความเข้มข้นของ กม. เสี่ยงดื่มเพิ่ม เจ็บตายเพิ่ม สูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่ม แนะ‼️ ไทยควรมีกฎในการปกป้องผู้เยาว์ และกลุ่มเปราะบาง

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ Professor Jϋrgen Rehm ที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกด้านแอลกอฮอล์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยนโยบายสุขภาพจิต มหาวิทยาลัยโตรอนโต ประเทศแคนาดา ให้สัมภาษณ์กับศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ในกรณีที่ว่า “จะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย หากลดการควบคุมการตลาดและการขายแอลกอฮอล์?”

Professor Jϋrgen กล่าวว่า ผมขออ้างถึงผู้ได้รับรางวัลโนเบล ได้แก่ Angus Deaton ที่ศึกษาว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้สังคมมีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งเป็นการศึกษาในอังกฤษและในยุโรป และในหนังสือเล่มนี้มีข้อความในหน้าหนึ่ง เขียนว่า “เหตุผลหนึ่งที่สหภาพโซเวียตล่มสลายเพราะขาดการควบคุมแอลกอฮอล์ ทำให้เศรษฐกิจชะลอการเติบโต และลดประโยชน์ที่สังคมพึงได้รับจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ” สิ่งที่กล่าวถึงนี้ค่อนข้างสุดโต่ง เพราะว่าตอนที่ Deaton ศึกษาและเขียนหนังสือเล่มนั้น สหภาพโซเวียตมีระดับการบริโภคแอลกอฮอล์ค่อนข้างสูง และเป็นประเทศที่มีอัตราโรคติดสุราสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง แต่ในอีกแง่หนึ่ง การไม่ควบคุมแอลกอฮอล์ก็เป็นเรื่องสุดโต่งเช่นกัน นั่นแปลว่า เราจำเป็นต้องมีการควบคุมแอลกอฮอล์บ้าง ไม่มีประเทศใดในโลกไม่เก็บภาษีแอลกอฮอล์ และมีแค่ไม่กี่ประเทศในโลกที่ไม่มีการจำกัดอายุผู้ซื้อแอลกอฮอล์ หรือให้เด็กอายุ 10 ขวบสามารถดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยเสรีเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นผมคิดว่า การควบคุมในตอนนี้ของประเทศไทยก็ไม่ได้เป็นการควบคุมที่เข้มงวดจนกลายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ในทางกลับกันการลดระดับความเข้มงวดของการควบคุมแอลกอฮอล์ในประเทศไทย จะยิ่งเสี่ยงต่อการที่ประชาชนบริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น และนำไปสู่การเสียชีวิต เจ็บป่วย ภาระโรคเพิ่มขึ้น รวมถึงคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่จะส่งผลกระทบตามมา และส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจจากการสูญเสียอำนาจการผลิต การมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เป็นการปกป้องประชาชน และการปกป้องประชาชนที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์นั้นมีพื้นฐานทางชีววิทยา เนื่องจากสมองมนุษย์จะไม่หยุดมีพัฒนาการจนกว่าจะอายุเกิน 20 ปี และสมองนั้นมีโอกาสได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์ค่อนข้างมากในช่วงที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ดังนั้น ประเด็นหลักคือ ประเทศควรมีกฎ และควรมีการปกป้องผู้เยาว์ และปกป้องประชากรกลุ่มเปราะบาง นี่คือหน้าที่ของสังคม Professor Jϋrgen กล่าว

News, ข่าวเด่น, รายงานวิจัย, สื่อเผยแพร่

รายงานวิจัย เรื่อง แนวโน้มสถานการณ์การเจ็บป่วยและเสียชีวิต อันมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยปี 2558-2562

Infographic, News, ข่าวเด่น, สื่อเผยแพร่

ถาม-ตอบ ประเด็นร้อน จะเกิดอะไรขึ้น? หากมีการลดภาษีไวน์และสุราชุมชน กับ รศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร

ถาม-ตอบ-จะเกิดอะไรขึ้น-หากมีการลดภาษีไวน์และสุราชุมชน_รศ.ดร.นพ.พลเทพ-วิจิตรคุณากร


ถาม-ตอบ ประเด็นร้อน จะเกิดอะไรขึ้น? หากมีการลดภาษีไวน์และสุราชุมชน

โดย รศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร
รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา
อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
______


Q1: การลดราคาหรือภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่อการดื่มของเยาวชนหรือผู้ใหญ่มากกว่ากัน?
A1: การลดราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลกระทบที่แตกต่างกันระหว่างเยาวชนและผู้ใหญ่ ตามการวิจัยของต่างประเทศในปี 2007 พบว่า การลดราคามีผลต่อเยาวชนมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากความยืดหยุ่นในการบริโภคของเยาวชน (-0.39) ต่ำกว่าในกลุ่มผู้ใหญ่ (-0.56) นั่นหมายความว่า เยาวชนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการบริโภคแอลกอฮอล์มากกว่าเมื่อราคาลดลง ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพและสังคม ดังนั้น หากรัฐบาลจะพิจารณาลดราคา ก็ควรคำนึงถึงผลกระทบเหล่านี้ต่อเยาวชนในสังคมไทยด้วยเช่นกัน

Q2: ราคาแอลกอฮอล์ลดลง ทำให้ชีวิตเยาวชนไทยเสี่ยงตายเพิ่ม?
A2: การศึกษาในสหรัฐอเมริกา พบว่าราคาไม่ใช่แค่ตัวเลข เนื่องจากราคาแอลกอฮอล์ที่สูงขึ้นช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายในเยาวชน ดังนั้นในทางกลับกัน การลดราคาอาจทำให้วัยรุ่นไทยเผชิญกับความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นได้

Q3: แอลกอฮอล์ถูกลง ทำให้ความเสี่ยงบนท้องถนนสูงขึ้น?
A3: แอลกอฮอล์ถูกลง ทำให้ความเสี่ยงต่อความปลอดภัยบนท้องถนนสูงขึ้นจริง เนื่องจากงานวิจัยในอเมริกาและแคนนาดา ชี้ให้เห็นว่า “การเพิ่มราคาแอลกอฮอล์ช่วยลดอุบัติเหตุทางถนน” ดังนั้น “การลดราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้เยาวชนไทยเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทางถนนมากขึ้น!”

Q4: แอลกอฮอล์ราคาถูกลง จะทำให้ปัญหาสุขภาพทางเพศเพิ่มขึ้น?
A4: แอลกอฮอล์ถูกลง จะทำให้ปัญหาสุขภาพทางเพศเพิ่มขึ้นจริง เนื่องจากงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาเผยว่า “การเพิ่มราคาแอลกอฮอล์ลดความเสี่ยงด้านสุขภาพเหล่านี้”ดังนั้น “การลดราคาอาจนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงและปัญหาสุขภาพเพิ่มเติมในหมู่เยาวชนไทย!”

Q5: ราคาแอลกอฮอล์ลดลง ทำให้ความปลอดภัยบนท้องถนนลดลง?
A5: การลดราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้การดื่มหนัก (heavy episodic drinking) เกิดง่ายขึ้น ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการขับรถในสภาพเมา ทำให้อุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าหากราคาแอลกอฮอล์ถูกลงอาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่สูงขึ้นบนท้องถนน!

Q6: การลดราคาแอลกอฮอล์จะมีผลอย่างไรต่อพฤติกรรมการดื่มและความปลอดภัยสุขภาพของเรา?
A6: ราคาที่ถูกลงอาจส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการดื่มหนักมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่เพิ่มความเสี่ยงทางถนนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคตับ และปัญหาสังคม เช่น ความรุนแรงในครอบครัวและการทะเลาะวิวาท

Q7: ลดราคาแอลกอฮอล์ ส่งผลต่อเยาวชนไทยอย่างไร?
A7: การลดราคาแอลกอฮอล์อาจทำให้เยาวชนเข้าถึงแอลกอฮอล์ได้ง่ายขึ้น นำไปสู่การเริ่มต้นในการดื่มในวัยที่น้อยลง และอาจส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองและการเรียนรู้ ซึ่งเป็นปัญหาที่สังคมต้องให้ความสำคัญ

News, ข่าวเด่น

หลักฐานทางวิชาการชี้ชัด!! ขยายเวลาเปิดสถานทำอัตราการเกิดอันตรายและอุบัติเหตุพุ่ง!!!


หลักฐานทางวิชาการชี้ชัด!! ขยายเวลาเปิดสถานบริการ ทำอัตราการเกิดอันตรายและอุบัติเหตุพุ่ง!!!

จากที่มีผลบังคับใช้ขยายเวลาเปิดสถานบริการถึงตีสี่ ในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา พบว่ามีการเกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บ-เสียชีวิต เนื่องจากการเมาแล้วขับ รวมไปถึงการมึนเมาจนไม่ได้สติ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรืออันตรายขึ้นได้ ซึ่งได้มีหลักฐานทางวิชาการที่ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเวลาการซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พบว่า

จากการศึกษาพบหลักฐานวิชาการส่วนใหญ่สอดคล้องกันว่า การเปลี่ยนแปลงเวลาซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอัตราการเกิดอันตราย

• จากบทความวิชาการที่รวบรวมการศึกษาคุณภาพสูงจำนวน 22 ชิ้น (รวมถึงการศึกษาจำนวน 3 ชิ้นที่เกี่ยวกับเวลาขายของร้านไม่มีที่นั่งดื่ม) และสรุปว่า การขยายเวลาการซื้อขายส่งหรือขยายเวลาเปิดสถานบริการ ส่งผลให้เกิดอันตรายมากขึ้น อาทิเช่น การทำร้ายร่างกาย การบาดเจ็บ เมาแล้วขับ-drink driving ในขณะที่การจำกัดเวลาซื้อขายมักตามมาด้วยการลดลงของอันตรายในแง่ของขนาดของผลกระทบ (effect size)

• การศึกษาใน 18 เมืองของประเทศนอร์เวย์ที่ดำเนินการขยายและจำกัดเวลาซื้อขายช่วงดึกหลายครั้งต่อกัน พบว่าการขยายเวลาซื้อขายเพิ่มขึ้นทุกหนึ่งชั่วโมงมีความสัมพันธ์กับการทำร้ายร่างกายที่รายงานโดยตำรวจซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 16 (โดยลดลงใกล้เคียงกันหากจำนวนชั่วโมงซื้อขายลดลง)

• การศึกษาในรัฐนิวคาสเซิล ประเทศออสเตรเลีย พบว่าการการลดชั่วโมงการขายจาก 05.00 น. เป็น 03.30 น. ส่งผลให้การทำร้ายร่างกายลดลงประมาณร้อยละ 33 โดยมีผลต่อเนื่องยาวนานกว่า 5 ปี

ที่มา: หนังสือสุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา ฉบับปรับปรุงครั้งที่สาม (ฉบับแปลภาษาไทย)

Infographic, News, ข่าวเด่น

ถาม-ตอบ ประเด็นร้อน!! จะเกิดอะไรขึ้น? หากมีการลดภาษีไวน์และสุราชุมชน กับ ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ


ถาม-ตอบ ประเด็นร้อน!! จะเกิดอะไรขึ้น? หากมีการลดภาษีไวน์และสุราชุมชน

โดย ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
___________


Q: ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังมีแนวคิดในการลดอัตราภาษีไวน์และสุราชุมชน เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการชอปปิงและท่องเที่ยว อาจารย์คิดว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลอย่างไร และมีข้อห่วงใยต่อเรื่องนี้อย่างไร

A: ก่อนอื่นเราคงต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มิได้เป็นสินค้าปกติ แม้จะให้อรรถประโยชน์จากการบริโภคแต่ก็ส่งผลกระทบทางสุขภาพต่อผู้บริโภคและต้นทุนสังคมดังเช่นหน่วยงานสากลชี้ให้เห็นประเด็นดังกล่าว งานวิจัยที่ผ่านมาของไทยพบว่าต้นทุนจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2564 สูงถึงร้อยละ 1 ของ GDP ในขณะที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้การลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเป้าหมายหนึ่งของ SDG และทางการไทยได้ดำเนินการในแนวทางลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างยาวนาน ทั้งมาตรการภาษีและไม่ใช่ภาษี อย่างไรก็ตาม เราพบว่ามาตรการด้านภาษีเป็นมาตรการที่มีประสิทธิผล

ประเด็นความเชื่อมโยงระหว่างไวน์กับการดึงดูดนักท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่ยังไม่มีหลักฐานแน่นชัด การบริโภคไวน์ในประเทศมักจะจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้สูงและร้านอาหารต่างชาติที่มักดื่มไวน์ควบคู่กับอาหาร ราคาไวน์ที่ลดลงจะส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเพิ่มขึ้นได้อย่างไรยังเป็นคำถามที่น่าสงสัย ในขณะที่ การลดภาษีสรรพสามิต และภาษีนำเข้าด้วยย่อมส่งผลให้ราคาไวน์ลดลง ผู้บริโภคซึ่งรวมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมีแนวโน้มจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น

ในเชิงโครงสร้างของภาษี งานวิจัยที่ผ่านมาของคณะวิจัยที่ผมร่วมอยู่พบว่าไวน์นำเข้ามีค่าความยืดหยุ่นต่อราคาสูง การลดราคาไวน์จะส่งผลให้การบริโภคเพิ่มขึ้นมากกว่าโดยเปรียบเทียบกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น ในขณะที่ไวน์เป็นสินค้าที่เป็นคู่แข่งกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผู้ผลิตรายย่อย เช่น สุราขาว สุราสี และเบียร์รายย่อย มีความพยายามที่จะผลิต ซึ่งการลดภาษีไวน์น่าจะขัดแย้งกับข้ออ้างของรัฐบาลที่จะส่งเสริมผู้ผลิตรายย่อยและชุมชน

กรณีของสุราชุมชนที่ทางกระทรวงการคลัง จะดำเนินการลดภาษีสรรพสามิตอาจจะต้องคำนึงถึงโครงสร้างตลาด ซึ่งปัจจุบันสุราที่อนุญาตให้ชุมชนผลิตได้เป็นสุราขาว ถูกครอบงำตลาดโดยผู้ผลิตรายใหญ่ และเสียภาษีในอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่น ในขณะที่รายใหญ่มีความสามารถในการลดราคาเพื่อกีดกันผู้ผลิตรายย่อยหน้าใหม่เข้าสู่ตลาด หากทางการต้องการเพิ่มผู้ประกอบประการรายย่อยควรดำเนินมาตรการอื่น

โดยสรุป ผมมีความเห็นว่าภาครัฐยังควรดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอันไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพ และสังคม เครื่องมือทางภาษีเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การปรับปรุงโครงสร้างภาษีควรดำเนินการอย่างรอบคอบ โครงสร้างภาษีควรจะมีลักษณะที่ง่าย และมีเป้าหมายเพื่อลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยไม่บิดเบือนพฤติกรรมการบริโภค มิใช่เพียงการประเมินปริมาณภาษีจะจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นหรือลดลง

1 2 3 4
Privacy Settings
We use cookies to enhance your experience while using our website. If you are using our Services via a browser you can restrict, block or remove cookies through your web browser settings. We also use content and scripts from third parties that may use tracking technologies. You can selectively provide your consent below to allow such third party embeds. For complete information about the cookies we use, data we collect and how we process them, please check our Privacy Policy
Youtube
Consent to display content from - Youtube
Vimeo
Consent to display content from - Vimeo
Google Maps
Consent to display content from - Google
Spotify
Consent to display content from - Spotify
Sound Cloud
Consent to display content from - Sound

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors