News, ข่าวเด่น, บทความ

การควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อปกป้องเยาวชน: บทเรียนจาก สวีเดน นอร์เวย์ ไอร์แลนด์สกอตแลนด์ และอังกฤษ


โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่
ผู้จัดการโครงการการศึกษา พัฒนา ขยายผลการเฝ้าระวังและจัดการความรู้ผลิตภัณฑ์เสี่ยงสุขภาพ

โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบการโฆษณาแบบเดิม โดยลดการโฆษณาในสื่อดั้งเดิมลง ลดการโฆษณาตรง (direct advertising) หรือโฆษณาผลิตภัณฑ์ (product advertising) แต่พบว่าใช้การโฆษณาและสื่อสารการตลาดในสื่อโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม ทำให้พบเห็นการโฆษณาและสื่อสารการตลาดในสื่อโซเชียลมีเดียมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาจากธุรกิจเครื่องดื่มโฆษณาเองหรือการใช้รีวิวเวอร์ Youtuber Influencer หรือดาว Tiktok ช่วยรีวิวสินค้า ดื่มแล้วบรรยายสรรพคุณ ชี้เป้าสินค้า ชวนเที่ยวผับบาร์ แนะนำสินค้าใหม่ หรือชักชวนให้ดื่มในรูปแบบที่แนบเนียนมากขึ้น เป็นธรรมชาติมากขึ้นและกลมกลืนไปกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งการโฆษณาและการสื่อสารการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่พบเห็นได้ทั่วไปและเข้าถึงได้ง่ายผ่านสื่อโซเชียลมีเดียนั้น ย่อมเข้าถึงเยาวชนได้โดยง่ายเช่นกัน การพบเห็นโฆษณาบ่อยครั้งและขาดการกลั่นกรองที่เหมาะสมอาจสร้างและสะสมทัศนคติเชิงบวกเกี่ยวกับการดื่มตั้งแต่อายุยังน้อยและอาจทำให้กลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่ตั้งแต่อายุยังน้อยเช่นกัน การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงยังคงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะป้องกันการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเยาวชน โดยผลวิจัยจำนวนมากยืนยันว่าการดื่มแอลกอฮอล์มีผลกระทบต่อสมองเด็กในวัยเรียน ยกตัวอย่างเช่น เยาวชนอายุ 11-14 ปี ที่พบเห็นโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 3 ชิ้นต่อวันผ่านสื่อต่างๆ รอบตัว พบว่า เยาวชนที่ได้รับอิทธิพลจากแบรนด์ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมกีฬาที่แบรนด์นั้นจัดขึ้นหรือได้รับรางวัลหรือได้รับของที่ระลึกหรือเข้าร่วมกิจกรรมดนตรี ซึ่งมีแนวโน้มที่จะดื่มเครื่องดื่มแบรนด์นั้นๆ มากกว่าเยาวชนที่ไม่ได้รับอิทธิพลของโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึงร้อยละ 77

การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีความมุ่งมั่นในการปกป้องสิทธิของเยาวชน รวมทั้งปกป้องเยาวชนจากการเป็นเหยื่อการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งนับว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีจุดยืนที่เข้มแข็งที่สุด คือ ประเทศนอร์เวย์ เนื่องด้วยนอร์เวย์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบเบ็ดเสร็จหรือ Total ban advertising กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศนอร์เวย์ระบุไว้ว่าจำเป็นต้องควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าปกติและจำเป็นต้องจำกัดปริมาณการดื่มของประชากรนอร์เวย์ให้น้อยที่สุด ดังนั้นจึงต้องมีการควบคุมการสื่อสารและการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทุกด้านโดยมีข้อยกเว้นเพียงเล็กน้อย ซึ่งผลจากการควบคุมการสื่อสารและการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในนอร์เวย์ตั้งแต่ปี 1975 พบว่าการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง การควบคุมการสื่อสารการโฆษณาและการตลาดในนอร์เวย์นั้นมีการควบคุมทุกสื่อ แม้กระทั่งสื่อโซเชียลมีเดียและสื่อดิจิตัล รวมไปถึงเกมส์ ดนตรีออนไลน์ และกิจกรรมการตลาดอื่นๆ เช่น การเป็นสปอนเซอร์กิจกรรมทุกประเภท กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของนอร์เวย์ในหัวข้อการควบคุมเว็บไซต์ ระบุว่าหากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำเป็นต้องเปิดเว็บไซต์เพื่อแสดงบริษัทของตน การเข้าถึงเว็บไซต์จำเป็นต้องใส่รหัสสำหรับพนักงานบริษัทและคู่ค้าเท่านั้น โดยไม่สามารถเปิดให้สาธารณชนรับชมได้ทั้งหมด กฎหมายนี้ไม่อนุญาตให้มีกิจกรรมกีฬาทุกประเภทที่สนับสนุนโดยธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมการตลาดสื่อสารการตลาดทุกประเภท โดยพรรคการเมืองต่างๆ ในนอร์เวย์ให้การสนับสนุนกฎหมายนี้และเห็นพ้องร่วมกันว่า ควรควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะในมาตราที่ 9-2 ตามกฎหมายนี้ห้ามการแสดงโฆษณาและการสื่อสารสินค้าอื่นๆ ที่ใช้ตราเครื่องหมายเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ในประเทศสวีเดน การควบคุมการสื่อสารการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นับว่ามีความเข้มข้นอีกประเทศหนึ่ง เนื่องจากประเทศสวีเดนมีกฎหมาย Marketing Practices Act ซึ่งควบคุมกิจกรรมกลวิธีและ กลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อปกป้องสิทธิของผู้รับสารไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการตลาดที่ไม่เป็นธรรม (unfair marketing) และปกป้องเยาวชนจากโฆษณาและการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยกฎหมายนี้ระบุว่าการสื่อสารโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อบางประเภท เช่น สื่อดิจิตัล หรือการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ การส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือ ถือว่าเป็นกิจกรรมการตลาดที่ต้องห้าม เนื่องจากถือว่าไม่เป็นธรรมต่อการรับสารของผู้รับสาร นอกจากนี้ยังกำหนดนิยามให้ “เยาวชน คือ บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นต้นไป” หากต้องการสื่อสารใดๆ หรือกิจกรรมใดๆ ที่มุ่งตรงไปที่เยาวชนอายุ 12-18 ปี จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองทั้งหมด ส่วนการโฆษณาในสื่อโทรทัศน์วิทยุภาพยนตร์นั้นถูกห้ามทั้งหมด อย่างไรก็ตาม สวีเดนกำลังประสบปัญหาการเลี่ยงโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อโซเชียลมีเดีย ถึงแม้ว่ามีการใช้มาตรการธุรกิจกำกับตนเอง (Self regulating Code) ในกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่พบว่ามาตรการนี้ไม่เพียงพอในการควบคุมการสื่อสารเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโซเชียลมีเดียได้ ทำให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เปลี่ยนวิธีการจากโฆษณาตรงที่ถูกห้าม เป็นการสื่อสารการตลาดใน Facebook และ Instagram เป็นส่วนใหญ่แทน

ไอร์แลนด์ และสกอตแลนด์ เป็นอีกสองประเทศที่กำลังแก้ไขปัญหาการดื่มด้วยการขับเคลื่อนนโยบายควบคุมการโฆษณาและการสื่อสารเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยประเทศไอร์แลนด์มีกฎหมาย Public Health Alcohol Act ที่ควบคุมทั้งเนื้อหาและปริมาณการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งในปี 2019 เป็นต้นมา ประเทศไอร์แลนด์ได้ห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถสาธารณะทุกประเภท ห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโรงภาพยนตร์และสถานที่ใกล้สถานศึกษา ห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกิจกรรมกีฬา ต่อมาในปี 2021 พบว่า การรับรู้โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงหลังจากมีการห้ามโฆษณานั้น และมีการยุติการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโทรทัศน์ในปี 2025 เพื่อปกป้องเยาวชนและลดการดื่มของนักดื่มหน้าใหม่ที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ด้านรัฐบาลสกอตแลนด์ได้กล่าวว่า โรคที่เกิดจากการดื่มและผลกระทบจากการดื่มเป็นหนึ่งในภัยสุขภาพที่ยิ่งใหญ่ของสกอตแลนด์ ทำให้สกอตแลนด์ต้องมีมาตรการหลายประการในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และหนึ่งในนั้นคือการควบคุมการโฆษณานอกเหนือจากการกำหนดราคาขายขั้นต่ำ โดยสกอตแลนด์ได้ยุติการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่สาธารณะ ห้ามกิจกรรมการตลาดเชิงอุปถัมภ์ และควบคุมการส่งเสริมการขายในร้านค้า เมื่อปลายปี 2022 รัฐสภาสกอตแลนด์ได้มีข้อปรึกษาในการยกระดับการควบคุมการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม ตัวอย่างเช่น ลดเนื้อหาเชิงบวกเกี่ยวกับการดื่มและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมกิจกรรมกีฬาและอีเวนท์ที่ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปเกี่ยวข้อง รวมไปถึงการห้ามจัดแสดงสินค้าและบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านค้าและยุติการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อออนไลน์

นอกจากนี้ผลสำรวจในประเทศอังกฤษ พบว่าพ่อแม่กังวลเรื่องโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้าถึงเยาวชนในทุกทางและตลอดทั้งวัน โดยพ่อแม่ 71% ต้องการให้รัฐบาลมีมาตรการลดปริมาณและความถี่โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อโทรทัศน์และควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อโซเชียลมีเดียด้วยเช่นกัน โดยพ่อแม่ 67% คิดว่าการเห็นโฆษณาบ่อยครั้งทำให้เยาวชนคิดว่าการดื่มเป็นเรื่องปกติ ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจที่พบว่าเยาวชนอังกฤษอายุ 10-15 ปี เห็นโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าผู้ใหญ่ เป็นผลให้มีโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภท Alcopop เพิ่มขึ้น 51%

การควบคุมการโฆษณา สื่อสารการตลาด กิจกรรมการตลาด เนื้อหาการสื่อสารและกลยุทธ์การตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นหนึ่งในมาตรการจำเป็นที่ WHO กำหนดนอกเหนือจากมาตรการด้านราคาและภาษี การสื่อสารและโฆษณาที่ WHO กังวลมากที่สุด คือ การสื่อสารข้ามพรมแดนและการโฆษณาแฝงผ่านรายการข้ามพรมแดนที่ควบคุมได้ยาก ในปัจจุบันมีผลวิจัยจำนวนมากมายที่ระบุสอดคล้องตรงกันว่าการพบเห็นโฆษณาบ่อยครั้งในเนื้อหาเชิงบวกต่อสินค้ามีผลต่อการสั่งสมทัศนคติ การจดจำสินค้าและพฤติกรรมในด้านการซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเยาวชนที่รู้ตัวว่าไม่สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เมื่อยังเป็นเยาวชน แต่มีความคาดหมายว่าจะซื้อและดื่มเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้นการควบคุมการโฆษณาและการสื่อสารของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมทั้งเนื้อหา กลยุทธ์การตลาด และการเลี่ยงโฆษณาในสื่อโซเชียลมีเดียจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกประเทศและรวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นเดียวกัน

อ้างอิงข้อมูล:
1) How alcohol companies target young people. Available from https://preventionactionalliance.org/resources/how-alcohol-companies-target-young-people/
2) Marketing Towards kids. Available from https://movendi.ngo/the-issues/alcohol-facts/alcohol-marketing-kids
3) Norway. Availble from https://eucam.info/regulations-on-alcohol-marketing/norway/
4) Prohibition of alcohol advertising in Norway.Available from https://www.nhomd.no/contentassets/2903e65252854beda11b61c0e8d41a2d/prohibition-of-alcohol-advertising-in-norway–0918.pdf
5) Compliance with regulations and codes of conduct at social media accounts of Swedish alcohol brands. Available from https://helda.helsinki.fi/server/api/core/bitstreams/5a5aee2c-cb6f-4511-8956-7c9695e134ee/content
6) Review alcohol marketing restrictions in seven European countries.Available from https://www.drugsandalcohol.ie/36444/1/review-of-alcohol-marketing-restrictions-in-seven-european-countries.pdf
7) Should Alcohol marketing be restricted? Scotland should follow other European countries in banning alcohol sports advertising? Available from https://eucam.info/2023/10/26/should-alcohol-marketing-be-restricted-scotland-should-follow-other-european-countries-in-banning-alcohol-sports-advertising/
8) Parents in the UK Want limit On alcohol advertising-survey. Available from https://eucam.info/2024/05/13/parents-in-the-uk-want-limits-on-alcohol-advertising-survey

Infographic, News, ข่าวเด่น, สื่อเผยแพร่

รู้จักกับนิยามของการโฆษณาหรือการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


รู้จักกับนิยามของการโฆษณาหรือการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในปัจจุบันไม่ได้เป็นเพียง “การกระทำเพื่อให้คนเห็น ได้ยิน หรือรู้จักสินค้านั้น เพื่อประโยชน์ทางการค้า” เท่านั้น องค์การอนามัยโลก ได้แนะนำคำนิยามใหม่ของ การโฆษณาหรือการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้หมายรวมถึง

“การสื่อสารเพื่อการค้าหรือการกระทําในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการโฆษณา การส่งเสริมการขาย และการให้ทุนอุปถัมภ์ ซึ่งออกแบบเพื่อหวังผล/ส่งผล หรือมีแนวโน้มว่าจะส่งผล ในการเพิ่มการจดจำและความดึงดูดของสินค้า และ/หรือการเพิ่มการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์/ยี่ห้อที่อยู่ในท้องตลาดหรือผลิตภัณฑ์/ยี่ห้อใหม่”

ซึ่งหมายรวมถึง การออกแบบผลิตภัณฑ์ การใช้ตราเสมือนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สำหรับสินค้าอื่นที่ไม่ใช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Brand stretching) การรวมตราสินค้า (Co-branding) (การนำเอาตราสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปรวมกับตราสินค้ายี่ห้ออื่น) การแสดงรูปภาพผลิตภัณฑ์หรือตราสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อบันเทิงและการถ่ายทอดสดของสื่อรายการต่าง ๆ การทำกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate social responsibility activities) และการขายหรือให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่สถานศึกษาหรือสถานบริการสุขภาพ ทั้งนี้ยังรวมถึง การใช้เครื่องหมายการค้า (Trade mark) และเครื่องหมายรูปลักษณ์ (Trade Dress) (ได้แก่ ฉลาก บรรจุภัณฑ์ หีบห่อ รูปร่างของสินค้า เป็นต้น) ที่ออกแบบมาเพื่อให้ทำหน้าที่หลายอย่าง และใช้ในการสื่อสารเพื่อการค้าหรือการกระทำดังระบุไว้ข้างต้น”

นอกจากนี้ การโฆษณา ตามนิยามสมาคมการตลาดแห่งสหรัฐอเมริกา (AMA : American Marketing Association) คือ การจ่ายเงินในรูปแบบต่างๆ ของผู้อุปถัมภ์ (Sponsor) เพื่อส่งเสริมการขายสินค้าบริการหรือสนับสนุนแนวความคิด โดยระบุผู้อุปถัมภ์

ในด้านการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การโฆษณา ตามนิยามของ (AANA: The Australian Association of National Advertisers) Code of Ethics แห่งประเทศออสเตรเลีย คือ สารใดที่เผยแพร่ ออกอากาศ ตีพิมพ์โดยผ่านสื่อใดหรือกิจกรรมใดที่กระทำโดย หรือ เป็นตัวแทนของผู้โฆษณาหรือนักการตลาด โดยผู้โฆษณาหรือนักการตลาดสามารถควบคุมได้ และสารนั้นๆ สามารถดึงดูดความสนใจของสาธารณชนในลักษณาการที่ส่งเสริมสินค้า การบริการ บุคคล องค์กร หรือพฤติกรรมใด ทั้งทางตรงและทางอ้อม

นิยามนี้ มีองค์ประกอบหลักในการพิจารณาว่าเข้าข่ายการโฆษณาอยู่ 4 ประการ ดังนี้

  1. สารใดที่เผยแพร่ ออกอากาศ ตีพิมพ์โดยผ่านสื่อใดหรือกิจกรรมใด มีความหมายครอบคลุมทั้งสื่อดั้งเดิมและสื่อใหม่ โดยมีผู้โฆษณา เช่น street performance อาจถูกพิจารณาว่าเป็นโฆษณาด้วยก็ได้
  2. โดยผู้โฆษณาหรือนักการตลาดสามารถควบคุมได้ พิจารณาว่า หมายรวมถึงทั้งการว่าจ้างเป็นเงิน หรืออย่างอื่น หรือผู้โฆษณาหรือนักการตลาดมีส่วนร่วมหรือควบคุมสารนั้นๆ ในทางใดทางหนึ่ง
  3. สารนั้นๆ สามารถดึงดูดความสนใจของสาธารณชนในลักษณะการที่ส่งเสริมสินค้า การบริการ บุคคล องค์กร หรือพฤติกรรมใด พิจารณาว่าสารนั้นๆ คือ โฆษณา
  4. สารนั้นๆ มีกลุ่มเป้าหมายในประเทศออสเตรเลียและสารนั้นประชากรในประเทศสามารถเห็นหรือเข้าถึงได้

เอกสารอ้างอิง:
Pan American Health Organization (2017) Technical note: Background on alcohol marketing regulation and monitoring for the protection of public health. PAHO/NMH/17-003. Washington, DC: PAHO.


News, ข่าวเด่น, บทความ

นักวิชาการชี้ โฆษณาเหล้าเบียร์มีผลให้คนเริ่มดื่มหรือดื่มมากขึ้น


นักวิชาการชี้ โฆษณาเหล้าเบียร์มีผลให้คนเริ่มดื่มหรือดื่มมากขึ้น แนะการควบคุมโฆษณาแบบเบ็ดเสร็จมีประสิทธิภาพมากที่สุด การห้ามโฆษณาเพียงบางส่วนหรือการควคุมตนเองภาคสมัครใจของธุรกิจสุราไม่สามารถป้องกันการสัมผัสโฆษณาในเยาวชนได้

รศ.ดร.วิทย์ วิชัยดิษฐ นักวิชาการ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) และอาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบัน เด็กและเยาวชนทั่วโลกได้รับสื่อโฆษณาและกิจกรรมการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องในระดับสูงและเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ อุตสาหกรรมแอลกอฮอล์มีการขยายฐานลูกค้ามุ่งเป้าไปกลุ่มเยาวชน และกลุ่มผู้หญิง โดยพยายามจะเน้นไปที่ความสำคัญของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการสร้างบุคลิกลักษณะความเป็นตัวตนหรืออัตลักษณ์ของเยาวชน เนื้อหาการโฆษณาจึงได้รับการออกแบบเพื่อนำเสนอความตลกขบขัน ความคิดที่น่าสนใจ ภาพลักษณ์ สำนวน ถ้อยคำและสิ่งอื่นๆ ที่ใช้ได้ในการพูดคุยสื่อสารระหว่างเพื่อน เพื่อให้เยาวชนใช้สร้างอัตลักษณ์ที่สอดคล้องกัน หลักฐานทางวิชาการในปัจจุบันบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า โฆษณาหรือกิจกรรมการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลต่อการดื่ม มีการสรุปข้อมูลจากการทดลองในนักศึกษา ที่ให้ดูโฆษณาแอลกอฮอล์เทียบกับโฆษณาอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งพบว่า การดูโฆษณาแอลกอฮอล์มีผลเพิ่มเจตนาและพฤติกรรมการดื่มชัดเจน การเก็บข้อมูลระยะยาวในประชาชนทั่วไปก็ชี้ว่า การโฆษณามีผลทบต้น ยิ่งได้รับโฆษณาซ้ำๆ กันมากเท่าไหร่ ยิ่งมีพฤติกรรมการดื่มมากขึ้นเท่านั้น ในเยาวชนและคนหนุ่มสาว การได้รับโฆษณามีผลต่อการเริ่มดื่มในผู้ที่ไม่เคยดื่ม และการดื่มหนักในผู้ที่ดื่มอยู่แล้ว

ดร.วิทย์ กล่าวเสริมอีกว่า ในตลาดที่กำลังเติบโต การพยายามเปลี่ยนให้ผู้ที่ไม่ดื่มกลายเป็นนักดื่ม ถือเป็นหน้าที่สำคัญของการตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลยทีเดียว และการตลาดแนวนี้จะพยายามสร้างการยอมรับการดื่มให้กลายเป็นบรรทัดฐานสังคมในหลายวาระโอกาส ถ้าอิงตามทฤษฎีกระบวนการตีความสาร จะเห็นว่า การได้รับสารจากการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซ้ำๆ สารที่ผู้นั้นรับรู้ว่าเชื่อมโยงกับตนเอง จะค่อย ๆ ซึมลึกลงไปสู่ความรู้สึกนึกคิดของผู้รับสาร ทำให้มันพร้อมที่จะโผล่ออกมาในความนึกคิดได้ง่ายขึ้น หากอยู่ในภาวะที่ต้องตัดสินใจ กระบวนการนี้ คือกระบวนการสร้างบรรทัดฐาน หรือทำให้คนมองว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีอยู่อย่างแพร่หลายเป็นเรื่องธรรมดา (normalization) และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตปกติ ซึ่งเป็นการรับรู้ที่น่ากลัว และมีผลต่อพฤติกรรมของประชาชนในอนาคต ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นช้า ๆ และค่อยๆ สะสมมาเรื่อย ๆ จนผู้ที่ได้รับสื่อโฆษณาแทบจะไม่รู้ตัวว่า โฆษณามีผลต่อความรู้สึกนึกคิดของตนเพียงไร

ในด้านการควบคุมโฆษณาการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร.ศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว นักวิชาการ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) และอาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ในยุคปัจจุบันที่มีการใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลาย ทำให้เป็นการยากที่จะควบคุมการเข้าถึงโฆษณาของกลุ่มเยาวชนได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากแพล็ตฟอร์มผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียเอง การทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางโซเชียลมีเดีย พบว่า การกดไลค์ กดแชร์ การคลิกดูโฆษณา หรือการเข้าชมเว็บไซต์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น มีความสัมพันธ์ชัดเจนกับการเพิ่มการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่น่าเป็นห่วง คือ การครอบครองสินค้า ของใช้ ของที่ระลึกที่มีตราสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นที่นิยมในประเทศไทยในช่วงหลายปีมานี้จากการเข้าเป็นผู้สนับสนุนของทีมกีฬาโดยเฉพาะกีฬาฟุตบอลของธุรกิจแอลกอฮอล์ การศึกษาในประชาชนในประเทศไทยเองก็พบว่า ประชาชนที่ใช้สินค้าที่มีตราผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์มีโอกาสดื่มหนักมากกว่าประชาชนที่ไม่ใช้สินค้ามีตราดังกล่าว นอกจากนี้ การศึกษาวิจัยของทีมวิจัยเราเองซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง 89,154 คน จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติก็พบความสัมพันธ์เช่นเดียวกันกับการศึกษาในต่างประเทศ คือ ผู้ที่พบเห็นการโฆษณาแอลกอฮอล์มีโอกาสเป็นผู้ดื่มเพิ่มขึ้น 16% และมีโอกาสเป็นผู้ดื่มหนักเพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้พบเห็นการโฆษณา และในกลุ่มคนที่เป็นนักดื่มอยู่แล้วการพบเห็นโฆษณาจะเพิ่มโอกาสในการดื่มหนักขึ้นถึง 51%

นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้มีข้อมูลทั้งจากของต่างประเทศและประเทศไทยเอง จึงย้ำให้เห็นได้ชัดว่า การทำการโฆษณาการตลาดซึ่งมีเทคนิคหลากหลายส่งผลต่อการกระตุ้นการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งสิ้น ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารแพร่ผ่านกันได้ทางออนไลน์ การควบคุมการเข้าถึงโฆษณาหรือกิจกรรมการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉพาะกลุ่มประชากร รวมทั้งการควบคุมเฉพาะเนื้อหานั้นทำได้ยาก หรือในทางปฏิบัติอาจจะทำไม่ได้เลย การศึกษาในต่างประเทศในเรื่องด่านตรวจอายุในแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างเช่น ยูทูป ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ก็ยังพบว่า เทคโนโลยีในการระบุอายุของผู้เข้าชมไร้ประสิทธิภาพ หากต้องการปกป้องเยาวชนจากการถูกจูงใจให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การยังคงการควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบครบวงจรหรือการควบคุมแบบเบ็ดเสร็จจะส่งผลต่อการปกป้องเยาวชนได้ดีกว่าการควบคุมบางส่วน หรือการควบคุมภาคสมัครใจโดยภาคธุรกิจควบคุมกันเอง

รายงานวิจัย, สื่อเผยแพร่

โครงการศึกษาผลกระทบของงานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทโฆษณาส่งเสริมสังคมที่มีต่อเยาวชนในพื้นที่ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่

51-002-การศึกษาผลกระทบของงานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

รายงานวิจัย, สื่อเผยแพร่

การศึกษาผลกระทบของงานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทโฆษณาส่งเสริมสังคมที่มีต่อเยาวชนในกรุงเทพมหานคร

51-001-การศึกษาผลกระทบของงานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทโฆษณาส่งเสริมสังคม

รายงานวิจัย, สื่อเผยแพร่

ผลของโฆษณาแฝงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อกระบวนการตีความสารสนเทศ การคิดขยายรายละเอียด และการตัดสินใจดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนไทย

56-010-ผลของโฆษณาแฝงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อกระบวนการตีความสารสนเทศ-1-2

รายงานวิจัย, สื่อเผยแพร่

การศึกษางานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีผลต่อความรู้สึกอยากทดลองดื่มและการจดจําตราสินค้าในกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่น

50-059-การศึกษางานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีผลต่อความรู้สึกอยากทดลองดื่ม-1

1 2
Privacy Settings
We use cookies to enhance your experience while using our website. If you are using our Services via a browser you can restrict, block or remove cookies through your web browser settings. We also use content and scripts from third parties that may use tracking technologies. You can selectively provide your consent below to allow such third party embeds. For complete information about the cookies we use, data we collect and how we process them, please check our Privacy Policy
Youtube
Consent to display content from - Youtube
Vimeo
Consent to display content from - Vimeo
Google Maps
Consent to display content from - Google
Spotify
Consent to display content from - Spotify
Sound Cloud
Consent to display content from - Sound

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors