คำค้นหา : นโยบาย

คำนี้ค้นหามาแล้ว : 279 ครั้ง
เปิดผับถึงตี 4 นโยบายที่จะพาการท่องเที่ยวไทยถอยหลังเข้าคลอง
https://cas.or.th/content?id=835
Tags : -

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมได้อ่านข่าว นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ออกมาเสนอแนวคิดเรื่องการเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 โดยจะเริ่มจากเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ๆ เช่น พัทยา เชียงใหม่ สมุย ภูเก็ต

ผมอ่านข่าวแล้วได้แต่ส่ายศีรษะกับไอเดียลักษณะเช่นนี้ ที่จะทำให้การท่องเที่ยวไทยถอยหลังเข้าคลอง

เพื่อความเป็นธรรมแก่ท่านรัฐมนตรี ลองพิจารณาเหตุผลประกอบที่ท่านนำเสนอมาทีละประเด็น และ ผมอยากสะท้อนกลับด้วยข้อมูลที่ผมได้ศึกษามาบ้าง ว่าเหตุใดข้อเสนอของท่านรัฐมนตรีนั้น สำหรับผมแล้วจะเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ

ท่านรัฐมนตรีบอกว่าการเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 นั้นมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มขึ้น 25% นอกจากนั้นท่านได้กล่าวว่า “ประเทศที่มีการกระตุ้นการท่องเที่ยว ด้วยการเปิดสถานบริการ แหล่งท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยว มีหลายประเทศ แต่ประเทศที่คิดว่จะนำมาเป็นโมเดล เพื่อดำเนินการคือ อิตาลี ที่มีสถานบริการตลอดคืนจนสว่าง แต่ผมต้องการเปิดเพียงตี 4 เพราะกลุ่มเป้าหมายไม่ใช่คนไทย แต่เป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายนักท่องเที่ยวต่างชาติ”

ก่อนจะเข้าสู่ประเด็นคัดค้าน ขออนุญาตนำเสนอสถานการการท่องเที่ยวไทยก่อนนะครับ เพื่อให้เห็นภาพว่าเราอยู่จุดไหนของการท่องเที่ยวโลก และ ในสายตาคนต่างชาติมองบ้านเมืองเราเป็นอย่างไร

การท่องเที่ยวของไทยถือเป็น 1 ใน 3 หัวใจสำคัญของเศรษฐกิจประเทศ ร่วมกับ การส่งออก และ เกษตรกรรม ปัจจุบันเรามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในประเทศปีละ 38 ล้านคน ถ้านับจากจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ในอันดับ 9 ของโลก มีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 3 ล้านล้านบาท (คนไทย 1 ล้านล้าน ต่างชาติอีก 2 ล้านล้าน) ถ้านับเรื่องรายได้จากการท่องเที่ยว ประเทศไทยเป็นอันดับ 4 ของโลก

ถ้าดูจากทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวปัจจุบัน ถือว่าประเทศไทยกำลังก้าวหน้าไปข้างหน้า และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้น

การเติบโตที่ทุกคนคาดหวังคือ ศักยภาพด้านการดึงดูดนักท่องเที่ยวต้องยั่งยืน ทั้งปริมาณและคุณภาพการบริการต้องมากขึ้น  คุณภาพนักท่องเที่ยวที่มาต้องสูงขึ้น รายจ่ายต่อหัวนักท่องเที่ยวต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลจะทำให้การท่องเที่ยวจะทำให้ประเทศไทยมีรายได้มากยิ่งขึ้น

การท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและยั่งยืน เกิดจากการร่วมพัฒนาของภาครัฐและเอกชน ภาครัฐต้องจัดสรรนโยบายและสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว และ เอกชนต้องเติมเต็มด้านการบริการ กลไกลการท่องเที่ยวจึงจะมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่ท่านรัฐมนตรีกำลังจะเสนออาจทำลายประสิทธิภาพการท่องเที่ยวไทยด้วยเหตุผลต่อไปนี้

ไม่ทำให้คุณภาพการท่องเที่ยวไทยสูงขึ้น

หนึ่งในนโยบายการท่องเที่ยวที่รัฐมนตรีการท่องเที่ยวและกีฬาก่อนหน้านี้พยายามพลักดันคือการทำให้ประเทศไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ การท่องเที่ยวที่ไทยจะต้องสร้างตลาดให้ได้ในอนาคตคือ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวในเชิงศึกษาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การจูงใจให้คนเกษียณจากโลกที่หนึ่งมาใช้ชีวิตระยะยาวหลังเกษียณในประเทศ การท่องเที่ยวด้านการแพทย์และสุนทรีย์ทางสุขภาพ (medical and wellness) ลักษณะการท่องเที่ยวที่กล่าวมาจะช่วยทำให้อุตสาหกรรมนี้ยั่งยืน ทำให้เกิดการคัดเลือกนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ที่ยอมจ่ายมากกว่าเพื่อการผ่อนคลาย ซึ่งจะทำให้เราสามารถเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวได้

ในทางกลับกันการนำเสนอนโยบายที่ทำให้ประเทศเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวแบบบันเทิง เมาหัวราน้ำ ดูเหมือนจะเป็นนโยบายที่ดึงดูงนักท่องเที่ยววัยรุ่นที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายต่ำ และยังทำให้ประเทศไทยไม่สามารถสลัดภาพลักษณ์ของการเป็นประเทศแห่งการปลดปล่อยตัณหาราคะของโลกไปได้

                ความเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างอุตสาหกรรมการบริการทางเพศ กับ เวลาการเปิดปิดสถานบันเทิง ก็คือ การบริการทางเพศแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ มักมีสถานบันเทิงเป็นจุดเริ่มต้น ดังนั้นการขยายเวลาให้เปิดได้นานขึ้นจนถึงเช้า ย่อมมีความหมายถึงการสนับสนุนให้ประเทศก้าวหน้าไปในทางอุตสาหกรรมการบริการทางเพศได้

ประเทศไทยได้รับสมญานามว่าเป็น Capital of sex tourist หรือเมืองหลวงของอุตสาหกรรมเซ็กส์ มาอย่างยาวนาน (แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะไม่เคยตรวจพบการขายประเวณีในพัทยาหรือภูเก็ตมาก่อนเลยก็ตาม) แม้ว่าภาพลักษณ์ดังกล่าวทำให้ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว แต่การก้าวไปข้างหน้าเพื่อการสร้างการท่องเที่ยวที่พัฒนา มีคุณค่าและยั่งยืน จำเป็นต้องสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับการท่องเที่ยว เรามีทรัพยากรธรรมชาติที่งดงามมาก มีป่า มีทะเล มีภูเขา มีวัฒนธรรม มีอาหาร มีลักษณะนิสัยของคนไทยที่มีน้ำใจ รักการบริการ เป็นจุดขายที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่ามีศักยภาพพอที่จะทดแทนอุตสาหกรรมการบริการทางเพศได้

ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่

จากการสำรวจของงานวิจัยเรื่องผลกระทบของแอลกอฮอล์ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งได้สอบถามไปยังกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ เราพบว่า การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเพียงกิจกรรที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเข้ามาเที่ยว แต่ไม่ใช่เป้าหมายหลักในการตัดสินใจเลือกแหล่งท่องเที่ยว

นอกจากนั้นจากการวิเคราะห์ศักยภาพในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวโดย World Economic Forum ได้จัดลำดับให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวอยู่ในลำดับ 35 ของโลก โดยมีจุดที่ประเทศไทยต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วนคือ “ความปลอดภัยต่อชีวิตและสุขภาพอนามัยของนักท่องเที่ยว”

ซึ่งความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวที่ว่านี้คงเพิ่มให้ปลอดภัยมากขึ้นได้ยาก หากมีการขยายเวลาการให้บริการของสถานบันเทิง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีการบริโภคแอลกอฮอล์ และมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาด้านความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินแก่นักท่องเที่ยวได้หากมีการบริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น

ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่ได้รับการจากสำรวจ จึงอนุมานได้ว่า สิ่งที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต้องการคือการท่องเที่ยวที่ปลอดภัยมากขึ้น สิ่งนี้ควรเป็นลำดับความสำคัญแรกที่ผู้รับผิดชอบควรสร้างนโยบายขึ้นมาเพื่อตอบสนอง คำถามคือ การขยายเวลาเปิดสถานบริการจะยิ่งทำให้ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นหรือลดลง ถ้าทำให้ความปลอดภัยเพิ่มขึ้นไม่ได้ จะยิ่งทำให้จุดอ่อนของการท่องเที่ยวไทยอ่อนยิ่งขึ้น ซึ่งไม่แน่ใจว่าในระยะยาวจะเป็นผลดีต่อภาพรวมของการท่องเที่ยวหรือไม่

 อิตาลีโมเดล ที่แท้จริงเป็นอย่างไร ?

ท่านรัฐมนตรีได้ยกตัวอย่างประเทศอิตาลีว่า ที่นั่นเปิดให้สถานบันเทิงเปิดได้ถึงเช้า แต่เมื่อผมลองทำการค้นคว้าเรื่องข้อบังคับและกติกาของสถานบันเทิงในอิตาลี ก็พบว่าข้อบังคับในประเทศเดียวกันก็มีความแตกต่างในแต่ละเมือง อย่างในกรุงโรมระเบียบเรื่องสถานบันเทิงเข้มงวดมาก เพราะต้องการควบคุมปัญหาที่เกิดจากแอลกอฮอล์ ที่เมืองนี้สถานบันเทิงต้องปิดก่อนเวลา 02.00 น. และ ตั้งแต่เวลา 21.00 น. ร้านค้าปลีกที่ขายแอลกอฮอล์ (off premise) จะถูกสั่งห้ามไม่ให้ขายแล้ว ส่วนร้านค้าที่ลูกค้านั่งดื่มแอลกอฮอล์ สามารถนั่งดื่มได้จนถึง 02.00 น.

เมืองที่มีระเบียบแตกต่างเช่น เมืองมิลาน ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่ง สถานบันเทิงสามารถเปิดได้ถึง 05.00 น.

ดังนั้นข้อสนับสนุนที่ว่าจะใช้อิตาลีโมเดลนั้นอาจต้องระบุถึงรายละเอียดในการควบคุมปัญหาที่อาจจะตามมาจากการขยายเวลาการให้บริการ และ ต้องมีคำอธิบานถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้เมืองใหญ่ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากสองเมืองมีนโยบายในเรื่องเดียวกันแตกต่างกัน เขียนถึงตรงนี้แล้ว ผมหวังว่าท่านรัฐมนตรี จะพิจารณาข้อเสนอที่กล่าวไป ในฐานะประชาชนที่รักการท่องเที่ยวไทย และอยากให้มันมีคุณค่าต่อประเทศไทย คนไทย และ คนทั่วโลกตราบนานเท่านานครับ

ทำไมต้องควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยใช้ผู้มีชื่อเสียง?
https://cas.or.th/content?id=885

การควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านผู้มีชื่อเสียง เป็นมาตรการสำคัญในการลดผลกระทบด้านสุขภาพและสังคมที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การที่ผู้กำหนดนโยบายให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและลดโอกาสที่เยาวชนจะเข้าสู่พฤติกรรมเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มติการประชุม คณะทำงานด้านวิชาการในการสนับสนุนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
https://cas.or.th/content?id=889

มติการประชุม คณะทำงานด้านวิชาการในการสนับสนุนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
ภายใต้อนุกรรมการวิชาการ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ความเสี่ยงในการแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือประกาศที่ใช้บังคับในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568

1) การยกเลิกกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยการให้โรงแรมที่จดทะเบียนสามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือการขยายเวลาขายให้สถานประกอบการคล้ายสถานบริการขายได้ถึงตีสี่:

        ปัจจุบันมีโรงแรมที่จดทะเบียนประมาณ 15,000 แห่ง แขกในโรงแรมสามารถดื่มจากสินค้าที่วางขายในห้องอยู่แล้ว หากครอบคลุมไปถึงร้านค้า ร้านอาหารในโรงแรม มาตรการนี้จะทำให้เกิดการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างมาก แขกและลูกค้าภายนอกของโรงแรมสามารถเข้ามาใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง จะเกิดการดื่มแล้วขับทำให้บาดเจ็บและการตายบนท้องถนนเพิ่มมากขึ้นในหลายจังหวัดอย่างแน่นอน ประมาณ 15-20% เป็นอย่างน้อย ดังปรากฏข้อเท็จจริงว่าในการขยายเวลาให้สถานบริการในพื้นที่ จังหวัดชลบุรีและภูเก็ตที่รวมประมาณ 1,000 สถานบริการ โดยขยายเวลาบริการได้ถึงตีสี่ ทำให้เกิดอุบัติเหตุในช่วงตีสองถึงเจ็ดโมงเช้าเพิ่มขึ้นทั้งสองจังหวัด เกิดการบาดเจ็บเพิ่ม 900 ราย (เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14%) และมีการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทั้งสองจังหวัดรวมกัน 37 ราย (เพิ่มขึ้น 25%) โดยแม้แต่พื้นที่นำร่องที่ขยายเวลาฯ ก็ยังไม่ได้ดำเนินการให้เป็นตามมาตรการที่กำหนด ยิ่งไปกว่านั้นในพื้นที่เขตโซนนิ่งมีปัญหาอาชญากรรมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ป่าตอง มีเหตุทุกวัน ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว ชาวบ้านในพื้นที่ใช้ชีวิตลำบากมากขึ้น โจรขโมยเยอะขึ้น และแน่นอนว่าเป็นการเพิ่มภาระงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่กู้ภัย และที่พัทยา พบนักท่องเที่ยวโดนคนเมาทำร้าย อย่างไรก็ดีหากโรงแรมที่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศมากและใช้บริการอาหารเที่ยงของโรงแรมมีความประสงค์ขอขยายเวลาการขายในช่วง 14.00-17.00 น. อาจพิจารณาเป็นข้อยกเว้นภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดขึ้น และตรวจสอบรับรองโดยคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของ พ.ร.บ. ฉบับแก้ไขที่กำลังพิจารณาในสภาขณะนี้

2) การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนา:

        การอนุญาตให้ขายในวันสำคัญทางศาสนาเพียง 5 วัน ประชาชนส่วนใหญ่อาจไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะที่นับถือศาสนาพุทธ เนื่องจากมีมิติทางสังคมวัฒนธรรม และเมื่อพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า ประชาชนยังสามารถหาซื้อได้ในร้านขายของชำทั่วไป โดยสามารถซื้อได้ตลอด แม้ว่าเป็นช่วงเวลาห้ามขายก็ตาม สะท้อนให้เห็นถึงการบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมา ไม่มีการตรวจสอบหรือสุ่มตรวจร้านค้า คณะทำงานด้านวิชาการฯ เสนอให้คงการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนาไว้ 5 วันคงเดิม และไม่เห็นด้วยที่จะยกเว้นให้ขายได้ในสถานประกอบการคล้ายสถานบริการ เพราะจะไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งจำนวนสถานประกอบการคล้ายสถานบริการมีมากกว่า 1 แสนราย ส่วนสถานบริการตามกฎหมายสถานบริการ 2,000 ราย ควรจะห้ามเช่นเดิม แต่อาจมีข้อยกเว้นให้กับบางพื้นที่เท่านั้น เช่น ท่าอากาศยานระหว่างประเทศ โรงแรม โดยคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดต้องรับรองตรวจสอบให้มีมาตรการเฝ้าระวัง ติดตาม และป้องกันผลกระทบอย่างจริงจัง

3) การขายออนไลน์:

        ไม่ควรอนุมัติให้มีการยกเลิกกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือประกาศที่ใช้บังคับปัจจุบันเพื่อให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อผู้บริโภคโดยตรงได้ และควรชะลอการตัดสินใจเพื่อสั่งการให้มีคณะศึกษาผลกระทบในเรื่องนี้อย่างละเอียด เนื่องจากปัจจุบันมีร้านค้าที่พร้อมจะขายออนไลน์ เช่น ร้านสะดวกซื้อแบบธุรกิจขนาดใหญ่เกือบสองหมื่นร้าน ร้านอาหาร ผับ บาร์ อีกประมาณสองแสนร้าน หรืออาจเกือบครึ่งหนึ่งจากใบอนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 570,000 ใบ ประกอบกับมีแพลตฟอร์มการสั่งซื้อที่สะดวกมากมายหลากหลายที่ไม่มีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ซื้อ จะทำให้เยาวชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายโดยปราศจากการตรวจสอบอายุตามที่กฎหมายกำหนด ไม่สามารถตรวจสอบตัวตนของผู้ขายและตรวจสอบใบอนุญาตขาย ซึ่งมีความย้อนแย้งกับมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ดำเนินการแก้ไขโดยที่ต้องคำนึงถึงการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่เหมาะสมของเยาวชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อผู้บริโภคโดยตรงนั้นก็ไม่ได้เป็นวิธีการส่งเสริมการท่องเที่ยวแต่อย่างใด และในทางกลับกันอาจกลายเป็นช่องทางที่มีการสั่งสินค้าแอลกอฮอล์จากต่างประเทศได้ ประกอบกับผลจากการบังคับใช้การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ผ่านมา พบว่า มีการสื่อสารโพสต์คอนเทนต์โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และได้ลองดำเนินการแจ้งทางแพลตฟอร์มโซเชียล ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีต่อได้

4) ประเด็นอื่น ๆ:

  • การดำเนินงานในแต่ละประเด็น ควรต้องสร้างตัวเลือกในการดำเนินงาน อาจประกอบด้วยแนวทางหลักและแนวทางสำรอง เช่น อาจจะลองดำเนินการในบางพื้นที่ ซึ่งรัฐต้องมีการควบคุม ติดตาม และรายงานผลของนโยบายให้เป็นที่ประจักษ์ เพื่อลดผลกระทบ โดยมาตรการความพร้อมต้องเกิดก่อนออกมาตรการ
  • ควรมีการศึกษาวิจัยมิติทางสังคมที่มาช่วยยืนยันได้ว่า นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวประเทศไทย มาเพราะอยากดื่มเหล้า มาเล่นคาสิโน และมีงานวิจัยต่างประเทศที่ชี้ว่าการส่งเสริมการท่องเที่ยวในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นไม่ได้ส่งเสริมรายได้ทางเศรษฐานะของประชาชนได้จริง
  • การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ย่อมเพิ่มผลกระทบแน่นอน ส่วนใหญ่จะพบข้อมูลผลกระทบที่เป็นภัยทางถนนเป็นส่วนใหญ่และเห็นแนวโน้มชัดเจน ซึ่งอาจต้องพิจารณาถึงผลกระทบด้านอื่นร่วมด้วย เช่น เหตุทะเลาะวิวาทจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือดื่มจนเสียชีวิต การติดสุรา ข้อมูลความรุนแรง เป็นต้น ซึ่งยังไม่ค่อยมีข้อมูลด้านนี้ จึงไม่สามารถนำมาใช้ในการประกอบการพิจารณาได้อย่างรอบด้าน

5) บทสรุป:

        เนื่องจากการยกเลิกมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการให้ขายออนไลน์ ขยายเวลาขายในโรงแรม 24 ชั่วโมง หรือการขยายเวลาให้สถานบริการและสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการจะมีความเสี่ยงทำให้เกิดการเสียชีวิตประมาณ 600-800 ราย จากการดื่มขับ การเร่งรัดแก้ไขให้เสร็จเร็วเพื่อทันเทศกาลสงกรานต์สำหรับการท่องเที่ยวจึงอาจเป็นการละเลยและประมาทในการปกป้องความปลอดภัยของคนไทยตามหน้าที่ของรัฐที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ คณะทำงานด้านวิชาการฯ เสนอให้มีการศึกษาเพื่อพิจารณาความพร้อมต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ไม่ควรรีบดำเนินการเพราะไม่ได้เป็นภาวะฉุกเฉิน

ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.)

Centre for Alcohol Studies (CAS)

สาขาวิชาระบาดวิทยา ชั้น 6 อาคารบริหารคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เลขที่ 15 ถนนกาญจนวนิช ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110

083-5775533

https://www.facebook.com/cas.org.th

เข้าชมแล้ว 0 ครั้ง
Copyright © 2025 CAS All rights reserved.